ประวัติศาสตร์แอลเบเนีย

แอลเบเนียเป็นประเทศในยุโรปที่มีวัฒนธรรมแบบมุสลิม ประวัติศาสตร์ของประเทศเริ่มจากเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันและจักรวรรดิไบแซนไทน์จากนั้นจึงถูกยึดครองโดยจักรวรรดิออตโตมัน เมื่อจักรวรรดิออตโตมันเสื่อมลงจึงแยกเป็นประเทศเอกราช แต่ก็ประสบความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพทางการเมืองจนกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันได้มีการปฏิรูปการเมืองเพื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจเสรี

ตราแผ่นดินแอลเบเนีย

ยุคโบราณ

แก้

เดิมประเทศแอลเบเนียเป็นที่อยู่ของชาวอิลลิเรียอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันและจักรวรรดิไบแซนไทน์ตามลำดับ คำว่าแอลเบเนีย เริ่มใช้ในสมัยจักรพรรดิอะเล็กซีอุสที่ 1 คอมนีนุส ซึ่งหมายถึงดินแดนที่อยู่ห่างไกล

เมื่ออำนาจจักรวรรดิไบแซนไทน์เสื่อมลง ชาวเซิร์บเข้ามาปกครองแอลเบเนีย เกิดการรบพุ่งแย่งชิงอำนาจกันเอง ชาวเซิร์บกลุ่มหนึ่งขอให้ชาวเติร์กมาช่วยฝ่ายตน ชาวเติร์กจึงถือโอกาสนั้นเข้ายึดครองแอลเบเนียใน พ.ศ. 1973 แอลเบเนียสามารถขับไล่ชาวเติร์กออกไปได้ในช่วงสั้นๆ ระหว่าง พ.ศ. 1987 - 2021 ภายใต้การนำของเกออร์กี คาสตรีออกี สกินเดอร์เบก แต่เมื่อสกินเดอร์เบกสิ้นพระชนม์ แอลเบเนียตกอยู่ใต้การปกครองชองชาวเติร์กอีกจนถึงยุคจักรวรรดิออตโตมัน แอลเบเนียเป็นอิสระจากการปกครองของจักรวรรดิออตโตมันเมื่อ พ.ศ. 2455

ได้รับเอกราช

แก้
 
พระเจ้าซ็อกที่ 1 แห่งแอลเบเนีย

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 จักรวรรดิออตโตมันผ่อนคลายความเข้มงวดในการปกครองคาบสมุทรบอลข่าน แอลเบเนียได้สิทธิปกครองตนเองในฐานะเป็นรัฐอิสระ ช่วงนี้ปัญญาชนในแอลเบเนียเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชและจัดตั้งสันนิบาตแห่งพริซเรนเมื่อ พ.ศ. 2421 จนกระทั่งเกิดสงครามบอลข่านในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2454 กลุ่มประเทศพันธมิตรบอลข่าน ได้แก่ บัลแกเรีย เซอร์เบีย กรีซ และมอนเตเนโกรทำสงครามกับจักรวรรดิออตโตมัน แอลเบเนียจึงชิงประกาศเอกราชของตนเมื่อ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 และได้รับการรับรองเมื่อสงครามบอลข่านสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2456

เมื่อได้รับเอกราช เจ้าชายวิลเฮล์มแห่งราชวงศ์วีดได้เป็นกษัตริย์ปกครองแอลเบเนีย แต่เกิดปัญหาทางการเมืองจนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อ 7 กันยายน พ.ศ. 2457 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 อิตาลี กรีซ ยูโกสลาเวีย ต่างอ้างสิทธิเหนือแอลเบเนีย แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ประเทศมหาอำนาจในขณะนั้นยังคงรับรอใความเป็นเอกราชของแอลเบเนีย อย่างไรก็ตาม การเมืองภายในแอลเบเนียยังไม่สงบ มีการแย่งชิงกันเป็นรัฐบาลจนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2464 ประเทศมหาอำนาจจึงตั้งคณะผู้สำเร็จราชการบริหารราชการแผ่นดินปกครองแอลเบเนียจนถึง พ.ศ. 2467 ต่อมาใน พ.ศ. 2468 อาห์เม็ด ��บย์โซกูเข้ายึดอำนาจเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐและโซกูเป็นประธานาธิบดี จน พ.ศ. 2471 โซกูจึงตั้งตัวเป็นกษัตริย์ในนามพระเจ้าซ็อกที่ 1 แห่งแอลเบเนีย ปกครองประเทศจนถึง พ.ศ. 2482

สงครามโลกครั้งที่ 2

แก้

พระเจ้าซ็อกที่ 1 ปกครองประเทศโดยใช้อำนาจเด็ดขาดและดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นมิตรกับอิตาลี เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้น อิตาลีในยุคของเบนิโต มุสโสลินี เข้ายึดครองแอลเบเนียเป็นส่วนหนึ่งของอิตาลีเมื่อ 7 เมษายน พ.ศ. 2482 ปลดพระเจ้าซ็อกที่ 1ออกจากราชบัลลังก์

เมื่อเยอรมันส่งกองทัพเข้ายึดครองคาบสมุทรบอลข่านเมื่อ พ.ศ. 2484 ได้เข้ามาปกครองแอลเบเนียด้วย ในช่วงนี้มีการ��ัดตั้งขบวนการใต้ดินเพื่อต่อต้านเยอรมัน ขบวนการที่สำคัญคือแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติที่มีเอนเวอร์ โฮซา ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แอลเบเนียเป็นผู้นำ เมื่อเยอรมันเริ่มเป็นผู้แพ้สงคราม และถอนกำลังออกจากแอลเบเนียเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2487 พรรคคอมมิวนิสต์จึงเข้ายึดครองประเทศ และจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังจากสงครามยุติเมื่อ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ผลปรากฏว่าพรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น รัฐสภาได้ประกาศชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาชนแอลเบเนียเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2489 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ใช้รัฐธรรมนูญของสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวียเป็นแม่แบบเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2489

ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์

แก้

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แอลเบเนียดำเนินนโบบายใกล้ชิดกับยูโกสลาเวียมาก จนถึงกับมีนโยบายที่จะรวมแอลเบเนียเข้ากับยูโกสลาเวีย จนกระทั่งยูโกสลาเวียถูกขับออกจากองค์กรโคมินฟอร์มเมื่อ พ.ศ. 2491 สหภาพโซเวียตเรียกร้องให้ประเทศบริวารตัดความสัมพันธ์กับยูโกสลาเวีย สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แอลเบเนียส่วนใหญ่ที่ไม่พอใจนโยบายใกล้ชิดกับยูโกสลาเวียจึงหันไปสร้างความสัมพันธ์กับโซเวียตโดยตรง ตัดความสัมพันธ์กับยูโกสลาเวีย และพยายามกวาดล้างฝ่ายที่นิยมยูโกสลาเวียออกจากพรรค

ต่อมาเมื่อนีกีตา ครุชชอฟขึ้นมามีอำนาจใน พ.ศ. 2499 และมีนโยบายผูกมิตรกับยูโกสลาเวียอีกครั้ง และปรับเปลี่ยนนโยบายไปจากยุคของสตาลิน ทำให้ผู้นำแอลเบเนียที่นิยมสตาลินไม่พอใจหันไปสร้างความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนแทน สหภาพโซเวียตประณามแอลเบเนียที่ไม่ร่วมล้มล้างอิทธิพลของสตาลิน แอลเบเนียจึงโต้ตอบด้วยการปิดฐานทัพเรือดำน้ำของโซเวียตที่เมืองวโลเรอร์

เมื่อเหมา เจ๋อตงถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2519 และจีนเริ่มดำเนินนโยบายผ่อนปรน ผูกมิตรกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น โซซา ผู้นำพรรคอมมิวนิสต์แอลเบเนียไม่พอใจ ตัดความสัมพันธ์กับประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 2520 จากนั้น แอลเบเนียดำเนินนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว

ในขณะเดียวกัน การเมืองภายในแอลเบเนียมีความขัดแย้งมากขึ้น เมห์เมต เซฮู ไม่พอใจนโยบายตัดความสัมพันธ์กับจีน พยายามก่อรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ เซฮูถูกประหารชีวิต โซซาปกครองประเทศแบบเผด็จการจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 11 เมษายน พ.ศ. 2528 รามิซ อาเลีย ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากโซซาดำเนินนโยบายที่ผ่อนปรนมากขึ้น ในที่สุดได้มีการปฏิรูปการเมืองจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 ผลปรากฏว่าพรรคแรงงานแอลเบเนียได้เสียงส่วนใหญ่ รามิซ อาเลียได้เป็นประธานาธิบดี มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐแอลเบเนีย

หลังยุคคอมมิวนิสต์

แก้

รัฐบาลของอาเลียปกครองประเทศได้เพียงช่วงสั้นๆ เกิดการชุมนุมประท้วงของกรรมกรที่ต้องการค่าแรงเพิ่ม รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านไปทั้งประเทศ จนรัฐบาลต้องลาออก หลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง ซาลี เบรีชาได้เป็นประธานาธิบดี เบรีชาปรับระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นแบบเสรี เปิดรับความช่วยเหลือจากต่างชาติมากขึ้น

ในปัจจุบัน แอลเบเนียมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชาติต่างๆในคาบสมุทรบอลข่าน และเข้าร่วมกิจกรรมระหว่างประเทศต่างๆ แอลเบเนียเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 นอกจากนั้นยังเป็นสมาชิกนาโตในฐานะภาคีสันติภาพ และร่วมจัดตั้งกลุ่มกฎบัตรเอเดรียติกกับโครเอเชีย มาซิโดเนีย และสหรัฐเมื่อ พ.ศ. 2546

อ้างอิง

แก้
  • สัญชัย สุวังบุตร. สาธารณรัฐแอลเบเนีย ใน สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2550. หน้า 19-29