นินเท็นโด 64
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
นินเท็นโด 64 (อังกฤษ: Nintendo 64 หรือ N64) เป็นเครื่องเล่นเกมคอนโซลรุ่นที่สามของบริษัทนินเท็นโด วางจำหน่ายครั้งแรกที่ญี่ปุ่น วันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1996 และที่สหรัฐอเมริกา วันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1996
ผู้ผลิต | นินเท็นโด |
---|---|
ชนิด | เครื่องเล่นวิดีโอเกม |
ยุค | ยุคที่ห้า |
วางจำหน่าย | 23 มิถุนายน ค.ศ. 1996 (JP) 29 กันยายน ค.ศ. 1996 (NA) 1 มีนาคม ค.ศ. 1997 (AU) 1 กันยายน ค.ศ. 1997 (FR) |
ยอดจำหน่าย | 32.93 ล้านเครื่อง |
สื่อ | ตลับเกม แผ่นแม่เหล็ก (64ดีดี) |
ซีพียู | 93.75 MHz NEC VR4300 |
กราฟิกการ์ด | SGI 62.5 MHz 64-bit RCP |
เกมที่ขายดีที่สุด | ซูเปอร์มาริโอ 64 |
รุ่นก่อนหน้า | ซูเปอร์แฟมิคอม |
รุ่นถัดไป | เกมคิวบ์ |
ชื่อที่ใช้ในการพัฒนาคือ Project Reality ในภายหลังได้ใช้ชื่อ Nintendo Ultra 64 จากความสามารถในการประมวลผลแบบ 64 บิต ซึ่งนินเท็นโดได้นำคำว่า Ultra ออกเหลือเพียง Nintendo 64
ประวัติ
แก้เริ่มแรกพัฒนาในชื่อโครง���ารว่า "โปรเจกต์ เรียลลิตี้"[1] บริษัทนินเท็นโดคาดการณ์เอาไว้ว่า เครื่องเกมจากโปรเจกต์นี้จะเป็นเครื่องเกมคอนโซลที่สามารถสร้างภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกได้พอๆกับเครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ในยุคนั้นทีเดียว ในฝั่งตะวันตก เครื่องเกมนี้ถูกเรียกกันว่า "อัลตร้า 64" และภาพดีไซน์ของเครื่องถูกนำออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี 1994 ซึ่งมีรูปร่างเหมือนกับเครื่องนินเท็นโด 64 ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วทุกประการยกเว้นที่โลโก้ของเครื่อง และมีการยืนยันว่าเครื่องเกมนี้จะใช้ตลับ ซึ่งถือว่าแตกต่างจากเครื่องเกมคอนโซลเจ้าอื่นๆในยุคนั้น ที่กำลังนิยมใช้ CD-ROM เป็นสื่อในการบันทึกเกม ส่วนในญี่ปุ่น บรรดาแฟนเกมและผู้สื่อข่าวต่างสันนิษฐานกันว่าเครื่องเกมนี้จะออกมาในชื่อ "อัลตร้าแฟมิคอม"[2] แต่เมื่อเครื่องที่พัฒนาเสร็จสมบูรณ์ออกในปี 1995 ทางนินเท็นโดได้ประกาศให้ชื่อเครื่องเกมนี้ว่า "นินเท็นโด 64" และใช้ชื่อนี้ทั่วโลก เหตุผลที่ทางนินเท็นโดตัดสินใจตัดคำว่า "อัลตร้า" ออกจากชื่อเครื่อง เนื่องจากชื่อ "อัลตร้า" ได้ถูกจดลิขสิทธิ์โดยบริษัทโคนามิอยู่ก่อนแล้ว เครื่องเกมนินเท็นโด 64 ออกวางขายครั้งแรกในปี 1996[3]
การขาย
แก้ในอเมริกา เครื่องนินเท็นโด 64ขายได้ 500,000 เครื่องในสี่เดือนแรก[4] แต่ยอดขายในญี่ปุ่นไม่ค่อยดีนัก ในวันที่ 31 ปี ค.ศ.2005 เครื่องนินเท็นโด 64 ขายได้ในญี่ปุ่นได้เพียงจำนวน 5.54 ล้านเครื่อง ส่วนในอเมริกาขายได้ถึง 20.63 ล้านเครื่อง และขายได้ในภูมิภาคอื่นๆอีก 6.75 ล้านเครื่อง รวมแล้วเครื่องนินเท็นโด 64 ขายได้ 32.93 ล้านเครื่อง[5]
ในด้านการตลาด ทางนินเท็นโดได้โฆษณาว่าเครื่องนินเท็นโด 64 เป็นเครื่องเกม 64 บิทเครื่องแรกของโลก[6] ซึ่งขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างของบริษัทอาตาริ ผู้ที่อ้างว่าเครื่องจากัวร์ของตนเป็นเครื่องเกม 64 บิทเครื่องแรกของโลก แต่อย่างไรก็ดี คอมพิวเตอร์ 64 บิทของจากัวร์ เป็นการนำเอาคอมพิวเตอร์ 32 บิท 2 ตัวมาใช้ร่วมกันเท่านั้น
จุดสิ้นสุดของยุคตลับเกม
แก้ทางนินเท็นโดยังคงใช้ตลับเกมเป็นสื่อบันทึกเกมสำหรับนินเท็นโด 64 ตลับเกมนั้นมีความจุตั้งแต่ 4 เมกะไบต์ จนถึง 64 เมกะบิท การเซฟเกมกระทำโดยการบันทึกข้อมูลลงบนแบ็ตเตอรี่แบ็คอัพแรมในตลับ แต่บางเกมที่ใช้เมมโมรี่การ์ดแยกต่างหาก
การตัดสินใจใช้ตลับเกมเป็นสื่อบันทึกเกมของนินเท็นโด ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้นินเท็นโดพ่ายแพ้ต่อโซนี่ในวงการอุตสาหกรรมเกมคอนโซลในยุคนั้น หลังจากที่เป็นผู้ครองตลาดมาหลายสิบปี ทางนินเท็นโดได้พยายามโฆษณาถึงข้อดีของตลับเกม และข้อเสียของซีดีรอม นินเท็นโดโจมตีว่า เกมที่ใช้ซีดีรอมนั้นต้องเสียเวลาโหลดนานและโหลดถี่ ต่างกับตลับที่แทบไม่ใช้เวลาในการโหลดเลย เนื่องจากในยุคนั้นเทคโนโลยีหัวอ่านแผ่นซีดียังไม่ก้าวหน้ามากนัก และยังโจมตีว่าเกมจากแผ่นซีดีนั้นสามารถก๊อปปี้ได้ง่าย ต่างจากตลับเกมที่ก๊อปปี้ได้ยากกว่า นอกจากนั้นแผ่นซีดีนั้นยังบอบบางและเสียหายง่าย หากมีรอยขีดข่วนก็อาจจะอ่านข้อมูลจากแผ่นนั้นไม่ได้เลย ต่างจากตลับที่ทนทานกว่า
แต่ตลับเกมก็มีจุดเสียเปรียบที่ทำให้พ่ายแพ้ต่อแผ่นซีดี ข้อเสียเปรียบที่สำคัญข้อแรกคือ ตลับเกมมีความจุน้อยกว่าแผ่นซีดีมาก ในขณะที่ตลับเกมมีความจุสูงสุดที่ 64 เมกะไบต์[7] แต่ซีดีรอมมีความจุถึง 650 เมกะไบต์[8] ในขณะที่เกมในยุคนั้นมีการพัฒนาจนซับซ้อนกว่าแต่ก่อน ผู้พัฒนาเกมต้องการพื้นที่ความจุที่มากขึ้นเพื่อจะได้ช่องทางในการสร้างสรรค์มากขึ้น ข้อเสียเปรียบข้อถัดไปก็คือตลับเกมนั้นผลิตได้ยากกว่าและแพงกว่าซีดีรอม ในขณะที่ซีดีรอมนั้นผลิตง่ายและต้นทุนไม่สูงนัก ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เหล่าผู้พัฒนาเกมหันไปพัฒนาเกมให้กับเครื่องเกมที่ใช้ซีดีรอมอย่างเพลย์สเตชันหรือเซก้าแซทเทิร์นแทน
อ้างอิง
แก้- ↑ http://www.highbeam.com/doc/1G1-18750905.html [ลิงก์เสีย]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-17. สืบค้นเมื่อ 2009-02-22.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-14. สืบค้นเมื่อ 2012-07-14.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-14. สืบค้นเมื่อ 2012-07-14.
- ↑ NINTENDO DEBUTS 64-BIT GAMING AT E3
- ↑ Nintendo 64 Tech
- ↑ http://www.pcguide.com/ref/cd/mediaCapacity-c.html
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เก็บถาวร 2007-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน