นกกะรางหัวขวาน
นกกะรางหัวขวาน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Coraciiformes |
วงศ์: | Upupidae Leach, 1820 |
สกุล: | Upupa ลินเนียส, 1758 |
สปีชีส์: | U. epops |
ชื่อทวินาม | |
Upupa epops ลินเนียส, 1758 | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ ทำรัง ทั้งปี ฤดูหนาว |
นกกะรางหัวขวาน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Upupa epops) เป็นนกขนาดกลาง มีสีสวย มีลักษณะเด่นที่จำง่ายคือมีหงอน (หัวขวาน) คล้ายหมวกของพวกอินเดียแดง พบทั่วทั้งทวีปแอฟริกาและยูเรเชียพร้อมทั้งทั่วประเทศไทย เป็นชนิดเดียวของวงศ์ Upupidae ที่ยังหลงเหลืออยู่ มีชนิดย่อยเฉพาะเกาะเซนต์เฮเลนา (ในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้) ที่สูญพันธ์ไปแล้ว และเฉพาะเกาะมาดากัสการ์ที่บางครั้งจัดเป็นชนิดของตนเอง ชื่อสกุลภาษาละตินว่า Upupa คล้ายกับชื่อภาษาอังกฤษว่า "hoopoe" (อ่านว่า ฮูโพ) โดยเป็นชื่อเลียนเสียงร้องของนก นกกะรางหัวขวานเป็นนกประจำชาติของประเทศอิสราเอล เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[2]
อนุกรมวิธาน
แก้นกกะรางหัวขวานจัดอยู่ใน clade ของอันดับนกตะขาบ ซึ่งรวมทั้งวงศ์นกกระเต็น วงศ์นกจาบคา และวงศ์นกตะขาบ[3] ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างนกพันธุ์นี้กับนกวงศ์ Phoeniculidae (อังกฤษ: woodhoopoe) เห็นได้ที่กระดูกรูปโกลน (คือ stapes ในหูชั้นกลาง) ที่ไม่เหมือนใครในวงศ์นกทั้งสอง[4] ในอนุกรมวิธานนกของ Sibley-Ahlquist (ซึ่งจัดอันดับตามผลงานศึกษาดีเอ็นเอ) นกพันธุ์นี้มีอันดับต่างหากเป็น Upupiformes (ไม่ใช่ Coraciiformes) และนักวิชาการบางท่านก็รวมนกวงศ์ Phoeniculidae เข้าไปในอันดับต่างหากนี้ด้วย[5]
หลักฐานซากดึกดำบรรพ์ของนกพั���ธุ์นี้มีน้อยมาก โดยมีซากเก่าที่สุดมาจากยุคควอเทอร์นารี[6] ซึ่งมีอายุน้อยกว่าหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ของนกชนิดที่เป็นญาติใกล้ชิดอื่น ๆ เช่น พบซากของ woodhoopoe จากสมัยไมโอซีน (5.322 ถึง 23.03 ล้านปีก่อน) และซากของวงศ์ญาติ Messelirrisoridae ที่สูญพันธ์ไปแล้ว จากสมัยอีโอซีน (33.9 ถึง 56 ล้านปีก่อน)[5]
เป็นนกชนิดเดียวที่เหลือในวงศ์ แม้ว่านักวิชาการพิจารณาชนิดย่อยของเกาะมาดากัสการ์ (U. e. marginata) และของแอฟริกา (U. e. africana) ให้เป็นชนิดต่างหาก ความแตกต่างทางสัณฐานระหว่างชนิดย่อยที่นิยมแยกที่สุดคือ U. e. marginata กับชนิดย่อยอื่น ๆ เล็กน้อยมากเพียงเสียงร้องเท่านั้นไม่เหมือนชนิดย่อยอื่น ๆ[7] ชนิดที่แยกออกมาจากความแตกต่างที่มากพอเป็นมติยอมรับคือ นกกะรางหัวขวานเกาะเซนต์เฮเลนา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Upupa antaios, อังกฤษ: Saint Helena hoopoe) แต่สูญพันธุ์ไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยสันนิษฐานจากสาเหตุการนำชนิดต่างถิ่นใหม่ ๆ เข้าไปบนเกาะ[6]
คาโรลัส ลินเนียสบัญญัติสกุล Upupa ในหนังสือ Systema naturae ในปี ค.ศ. 1758 ซึ่งในตอนนั้นรวมนกชนิดสามอย่างอื่นที่มีปากยาวโค้ง คือ[8]
- U. eremita (ปัจจุบันจัดเป็น Geronticus eremita, อังกฤษ: northern bald ibis)
- U. pyrrhocorax (ปัจจุบันจัดเป็น Pyrrhocorax pyrrhocorax) คือ นกกาภูเขาปากแดง
- U. paradisea
ชนิดย่อย
แก้ในหนังสือภาษาอังกฤษชุด คู่มือนกของโลก (Handbook of the Birds of the World)[9] ที่แสดงนกทุกชนิดในโลกที่รู้จัก มีชนิดย่อยของนกกะรางหัวขวาน 9 ชนิด แตกต่างกันส่วนมากโดยขนาด และโดยความเข้มสีขน หลังการพิมพ์หนังสือจากนั้น ก็มีชนิดย่อยอีก 2 อย่างที่ได้รับการเสนอคือ U. e. minor ในประเทศแอฟริกาใต้ และ U. e. orientalis ในประเทศอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ
ชนิดย่อย[7] | แหล่งที่อยู่[7] | ลักษณะเฉพาะ[7] |
---|---|---|
U. e. epops Linnaeus, 1758 |
แอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ กานาเรียส จากยุโรปไปถึงประเทศรัสเซียกลางตอนใต้ ประเทศจีนตะวันตกเฉียงเหนือ ประเทศอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือจนถึงภาคใต้ | พันธุ์ต้นแบบ (Nominate) |
U. e. major C.L. Brehm, 1855 |
แอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ | ขนาดใหญ่กว่าพันธุ์ต้นแบบ ปากยาวกว่า หางเรียวกว่า ด้านบนมีสีเทากว่า |
U. e. senegalensis William John Swainson, 1913 |
ประเทศเซเนกัล ไปจนถึง ประเทศเอธิโอเปีย | ขนาดเล็กกว่าพันธุ์ต้นแบบ ปีกสั้นกว่า |
U. e. waibeli Reichenow, 1913 |
ประเทศแคเมอรูนจนถึงประเทศเคนยาตอนเหนือ | เหมือนกับ U. e. senegalensis แต่มีขนเข้มกว่าและมีสีขาวมากกว่าบนปีก |
U. e. africana Johann Matthäus Bechstein, 1811 |
แอฟริกากลางจนถึงแอฟริกาใต้ | มีสีแดง/น้ำตาลยิ่งกว่าพันธุ์ต้นแบบ |
U. e. marginata (Madagascan Hoopoe) Cabanis & Heine, 1860 |
เกาะมาดากัสการ์ | ใหญ่กว่า แต่สีจางกว่า U. e. africana |
U. e. saturata Lönnberg, 1909 |
ประเทศญี่ปุ่น ไซบีเรีย จนถึง ทิเบตและประเทศจีนตอนใต้ | เหมือนกับพันธุ์ต้นแบบ แต่มีขนคลุมตัวที่เทากว่า มีสีชมพูน้อยกว่าด้านล่าง |
U. e. ceylonensis Reichenbach, 1853 |
ประเทศอินเดีย | ขนาดเล็กกว่าพันธุ์ต้นแบบ มีสีแดง/น้ำตาลยิ่งกว่า ไม่มีสีขาวที่หงอน |
U. e. longirostris Thomas C. Jerdon, 1862 |
เอเชียอาคเนย์ | ขนาดใหญ่กว่าพันธุ์ต้นแบบ สีจางกว่า |
ลักษณะ
แก้นกกะรางหัวขวานเป็นนกขนาดกลาง ลำตัวเพรียวยาวประมาณ 25-32 ซ.ม. ปีกกว้างประมาณ 44-48 ซ.ม. หนักประมาณ 46-89 กรัม เป็นนกที่เด่นมาก มีลักษณะที่จำง่ายคือ มีหงอนคล้ายหมวกของชนพื้นเมืองในอเมริกาสมัยก่อน มีปากยาวที่ค่อย ๆ เรียวโค้งลงเป็นสีดำ ที่โคนปากมีสีน้ำตาลอ่อน ลำตัวมีลายขวางสีน้ำตาลอ่อน หรือขาวสลับดำ มีลักษณะเหมือนกันทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า และสีจางกว่าตัวผู้เล็กน้อย
กล้ามเนื้อที่แข็งแรงของหัวทำให้สามารถอ้าปากได้เมื่อสอดเข้าไปในดินเพื่อสำรวจหาเหยื่อ มีปีกที่กว้างและกลมรีที่ช่วยให้บินได้ดี ชนิดย่อยทางเหนือที่เป็นนกย้ายถิ่นมีปีกขนาดใหญ่เป็นพิเศษ มีลักษณะการบินเฉพาะตัวที่ขึ้นลง ๆ ดูคล้ายคลื่น ซึ่งเหมือนกับผีเสื้อยักษ์ เกิดขึ้นจากปีกที่หุบลงครึ่งหนึ่งเมื่อกระพือปีกแต่ละครั้ง หรือเมื่อกระพือปีกช่วงสั้น ๆ[7] (ดูภาพยนตร์) และสามารถบินได้เร็วถึง 40 กม./ชม.[10]
เสียงร้องปกติมีสามพยางค์คือ "ฮูป ฮูป ฮูป" หรือ "ฮูป ปู ปู" ซึ่งอาจเป็นต้นกำเนิดของทั้งชื่อภาษาอังกฤษและชื่อทางวิทยาศาสตร์ แต่การร้องเป็นสองพยางค์ หรือสี่พยางค์ ก็สามัญเหมือนกัน ส่วนต้นกำเนิดที่เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งของชื่อภาษาอังกฤษและชื่อวิทยาศาสตร์ก็คือ มาจากชื่อภาษาฝรั่งเศสของนกคือ "Huppée" ซึ่งแปลว่ามีหงอน ในแถบเทือกเขาหิมาลัย เสียงนกอาจจะฟังคล้ายกับนกคัคคูพันธุ์หิมาลัย (Cuculus saturatus) แม้ว่านกคัคคูปกติมีเสียงร้องเป็นสี่พยางค์ เสียงร้องอื่น ๆ มีทั้งเสียงห้าวคล้ายกบหรือกาเมื่อตกใจ และเสียงฟู่ ตัวเมียจะส่งเสียงคล้ายกับสูดหายใจอย่างเหนื่อย ๆ ในระหว่างรับอาหารจากตัวผู้ในช่วงที่จีบกัน[11] ทั้งตัวเมียตัวผู้ เมื่อถูกกวน จะส่งเสียงหยาบ "การรรร" คล้ายกับเสียงเตือนของนกปีกลายสก็อต ส่วนเสียงขออาหารของลูกนกคล้ายกับเสียงของลูกนกนางแอ่นชนิด Apus apus
การกระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่
แก้นกกะรางหัวขวานกระจายไปทั่วในยุโรป เอเชีย แอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้สะฮารา และมาดากัสการ์[7] นกส่วนมากที่อยู่ในยุโรปและเอเชียเหนืออพยพไปสู่เขตร้อนในฤดูหนาว[12] เมื่อเทียบกับนกในแอฟริกาซึ่งเป็นนกประจำถิ่น ที่อยู่ที่เดียวกันตลอดทั้งปี มีการพบนกชนิดนี้โดยเป็นนกจรจัดในรัฐอะแลสกา[13] คือพบชนิดย่อย U. e. saturata ที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำยูคอน ในปี ค.ศ. 1975[14] มีการพบนกที่อยู่เหนือเขตปกติในยุโรป[15] และในสหราชอาณาจักรตอนใต้ ในช่วงฤดูร้อนที่อุ่นและไม่มีฝน ที่มีตั๊กแตนและแมลงคล้ายกันอื่น ๆ มากเป็นอาหาร[16] แม้ว่า เริ่มตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 นกในยุโรปตอนเหนือเริ่มมีจำนวนลดลง ซึ่งอาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ[15] ในประเทศไทย นกกะรางหัวขวานเป็นนกประจำถิ่นที่พบทั่วทั้งประเทศไทย
ที่อยู่ของนกต้องมีองค์ประกอบสองอย่าง คือ มีพื้นโล่งหรือมีใบและหญ้าน้อยเพื่อหาอาหาร และเวิ้งที่อยู่ที่พื้นผิวแนวตั้งต่าง ๆ เช่นต้นไม้ หน้าผา กำแพง กล่องที่ทำให้นกอยู่ กองฟาง หรือแม้แต่รังสัตว์ขุดในดินที่สัตว์เจ้าของทิ้งไปแล้ว[15] เนื่องจากว่า องค์เหล่านี้หาได้ในระบบนิเวศน์มากมาย ดังนั้น นกจึงสามารถเข้าไปอยู่ในที่ต่าง ๆ เช่น ทุ่งโล่ง ทุ่งหญ้าสเตปป์มีต้นไม้ ทุ่งหญ้าสะวันนา ป่าละเมาะ ที่โล่งในป่า และป่าเบญจพรรณ ชนิดย่อยในเกาะมาดากัสการ์ยังสามารถเข้าไปอยู่ในป่าใหญ่ที่ทึบกว่าอีกด้วย การปรับนิเว���น์ธรรมชาติเพื่อการเพาะปลูกเกษตรกรรม มีผลให้นกกะรางหัวขวานมีเพิ่มขึ้นในสวน ไร่ และนา ซึ่งการทำเกษตรกรรมอย่างกว้างขวางในพื้นที่มีผลต่อจำนวนประชากรนกที่ลดลง[7] การล่านกเป็นปัญหาในยุโรปตอนใต้และในเอเชีย[14]
นกกะรางหัวขวานบางพื้นที่อพยพเนื่องจากฝน เช่นในประเทศศรีลังกาและในเทือกเขาฆาฏตะวันตก ในประเทศอินเดียฝั่งตะวันตก[17] มีการพบเห็นนกบินย้ายถิ่นฐานข้ามเทือกเขาสูง เช่น ผู้ที่ปีนขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นคณะแรกเห็นนกที่ความสูง 6,400 เมตร เพื่อข้ามเทือกเขาหิมาลัย[11] และมีการติดตามนกอพยพข้ามเทือกเขาแอลป์ด้วยจีพีเอสอีกด้วย[10]
พฤติกรรม
แก้เชื่อกันมานานแล้วว่าเป็นท่าทางป้องกันตัว นกกะรางหัวขวานอาบแดดโดยกางปีกและหางให้ต่ำใกล้กับพื้น แล้วเงยหัวขึ้น แต่บางครั้งก็พับปีกลงครึ่งหนึ่งแล้วเสยขนด้วยปากไปด้วย[18] บางครั้งก็ชอบอาบฝุ่นและทรายด้วย[19]
อาหาร
แก้อาหารโดยมากของนกเป็นพวกแมลง บางครั้งกินสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก กบ และพืชเช่นเมล็ดและผลเบอรรี่ เป็นนกหากินตัวเดียวบนพื้น น้อยครั้งที่จะโฉบกินแมลงที่ออกมาเป็นฝูงในอากาศ มีปีกที่แข็งแรงและกลมรีที่ช่วยให้บินได้เร็วและคล่องแคล่ว วิธีหาอาหารทั่วไปคือ เดินก้าวยาว ๆ ไปตามพื้นที่ค่อนข้างโล่ง เดินส่ายหัวไปมา แล้วหยุดเป็นที่ ๆ เพื่อที่สำรวจหาอาหารในพื้น นกสามารถควานหาหนอนแมลง ดักแด้ และแมลงกระชอน ด้วยปากที่ยาว หรืออาจขุดออกด้วยเท้าที่แข็งแรง นอกจากนี้ยังกินแมลงที่เดินตามพื้น ในกองใบไม้ หรือแม้แต่จะใช้ปากงัดหินและใต้เปลือกไม้ แมลงที่กินโดยทั่วไป คือจิ้งหรีด, จักจั่น, ด้วง, แมลงหางหนีบ, ตั๊กแตน, แมลงวงศ์ Myrmeleontidae, แมลงอื่น ๆ ในอันดับ Hemiptera, และมด ซึ่งมักมีขนาดยาวประมาณ 10-150 มม ที่ชอบที่สุดยาวประมาณ 20-30 มม นกตีเหยื่อขนาดใหญ่ที่พื้นหรือที่หินเพื่อฆ่าเสียก่อนและเพื่อเอาส่วนที่ย่อยไม่ได้เช่นปีกและขาออกด้วย[7]
การสืบพันธุ์
แก้นกกะรางหัวขวานเป็นนกผัวเดียวเมียเดียว แม้ว่าเป็นเพียงแค่ฤดูเดียว และเป็นสัตว์ปกป้องอาณาเขต ตัวผู้ร้องบ่อย ๆ เพื่อประกาศอาณาเขตของตน การไล่และการต่อสู้ระหว่างคู่แข่งตัวผู้ แ���ะบางครั้งก็ตัวเมียด้วย เกิดบ่อย ๆ และอาจรุนแรง[7] นกแทงคู่ต่อสู้ด้วยปาก บางครั้งทำให้ตาบอด[20] รังเป็นโพรงในต้นไม้หรือกำแพง และมีทางเข้าเล็ก ๆ[19] อาจไม่ปูด้วยอะไร หรืออาปูด้วยวัสดุ[15] เช่นฟางและเศษขน รังนกกะรางหัวขวานเป็นรังที่สกปรกมาก มีทั้งเศษอาหารและมูลนก และตัวเมียเท่านั้นที่ฟักไข่ จำนวนไข่ที่วางขึ้นอยู่กับภูมิภาค นกในซีกโลกเหนือจะวางไข่มากกว่านกในซีกโลกใต้ และนกที่อยู่ในละติจูดที่สูงกว่าวางไข่มากกว่านกที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร วางไข่ประมาณ 12 ฟอง ในยุโรปเหนือ ยุโรปกลาง เอเชียเหนือ และเอเชียกลาง, 4 ฟองในเขตร้อน, และ 7 ฟองในกึ่งเขตร้อน ไข่มีรูปกลมและมีสีขุ่นออกฟ้า ๆ เมื่อวางใหม่ ๆ แต่สีหม่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความสกปรกของรังที่เพิ่มขึ้น[7] ไข่หนักประมาณ 4.5 กรัม[18] นกอาจวางไข่ชุดใหม่ถ้าชุดแรกเสียไป[15]
นกกะรางหัวขวานมีกลยุทธ์ป้องกันรังที่วิวัฒนาการมาอย่างดีเพื่อป้องกันสัตว์ล่าเหยื่อ ต่อมน้ำมัน (uropygial gland) ของแม่นกที่กำลังฟักไข่หรือกำลังเลี้ยงลูกจะผลิตน้ำมันที่มีกลิ่นหม็น และของลูกนกก็เช่นกัน โดยไซ้ให้เข้าไปในขน น้ำมันมีกลิ่นคล้ายกับเนื้อเน่า เชื่อว่าเพื่อป้องกันสัตว์ล่าเหยื่อ เพื่อช่วยสกัดพวกปรสิต และอาจเป็นสารปฏิชีวนะ[21] ต่อมจะหยุดผลิตน้ำมันก่อนที่ลูกนกออกจากรัง[18] นอกจากนั้นแล้ว ตั้งแต่อายุ 6 วันเป็นต้นไป ลูกนกยังสามารถยิงมูลไล่สัตว์ที่มาบุกรุก ส่งเสียงขู่ฟ่อ ๆ คล้ายงู[7] และอาจโจมตีสัตว์บุกรุกด้วยปากและปีกข้างหนึ่ง[18]
ช่วงเวลาวางและฟักไข่อยู่ที่ 15-18 วัน เป็นช่วงที่ตัวผู้เลี้ยงตัวเมีย การฟักตัว (incubation) เริ่มทันทีที่วางไข่ใบแรก ดังนั้นลูกนกจะออกจากไข่ไม่พร้อมกัน ลูกนกออกจากไข่โดยมีขนอ่อน ช่วงอายุ 3-5 วัน ก้านขนนกจะเริ่มงอกขึ้น กลายเป็นขนนกสมบูรณ์แบบ แม่นกกกไข่ (brood) ประมาณ 9-14 วัน[7] และในเวลาต่อ ๆ มา แม่นกจะเริ่มนำอาหารมาเหมือนกับพ่อนก[19] ลูกนกเริ่มหัดบินที่ประมาณ 26-29 วัน และอยู่กับพ่อแม่ต่อมาอีกประมาณ 1 อาทิตย์หลังจากนั้น[15]
ความสัมพันธ์กับมนุษย์
แก้นกกะรางหัวขวานเป็นนกที่เด่นและมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในเขตที่มันอยู่ ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในอียิปต์โบราณ โดย "มีภาพบนผนังของสุสานและวิหาร" และได้รับการยกย่องเช่นเดียวกันในอารยธรรมไมนวน[18]
ในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมในหมวดเบญจบรรณเล่มที่ 3 (Leviticus 11:13-19[22]) นกกะรางหัวขวานเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่น่ารังเกียจ ไม่ควรรับประทาน และในเล่มที่ 5 (Deuteronomy 14:18) กำหนดว่า เป็นของที่ไม่สามารถกินได้ (not kosher)
นอกจากนั้นแล้ว ยังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน (ในซูเราะฮ์ Al-Naml 27:20-22) เป็นผู้นำข่าวจากพระราชินีแห่งชีบามาถวายให้พระเจ้าโซโลมอน นอกจากนั้นแล้ววรรณกรรมอื่นของอิสลามก็แสดงว่า นกได้ป้องกันโมเสสและลูกหลานของอิสราเอลจากยักษ์อ็อก[23][24] หลังจากที่ได้ข้ามทะเลแดงแล้ว[25]
นกเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมในเปอร์เชีย และปรากฏในหนังสือกลอนของ Attar of Nishapur ว่าเป็นนกผู้นำ[26]
แต่ว่า นกกะรางหัวขวานเชื่อว่าเป็นขโมยเกือบทั่วทั้งยุโรป และเป็นลางสงครามในประเทศสแกนดิเนเวีย[27] ส่วนในประเพณีของชนประเทศเอสโตเนีย นกเกี่ยวข้องกับความตายและปรโลก เสียงร้องของมันเชื่อว่าเป็นลางมรณะของทั้งคนและปศุสัตว์[28]
นกกะรางหัวขวานเป็นพระราชาของพวกนกในละครตลกกรีกโบราณ "นก" ของอริสโตฟานเนส ส่วนในมหากาพเมทามอร์โฟซีสโดยนักเขียนโอวิด กษัตริย์ Tereus ถูกสาปให้กลายเป็นนกกะรางหัวขวาน หลังจากทรงข่มขืนพระภคินีของพระชายา และทรงพยายามสำเร็จโทษทั้งพระชายาและพระภคินี[29] หงอนของนกเป็นสัญลักษณ์แสดงเชื้อกษัตริย์ และปากแหลมยาวของนกแสดงความรุนแรง
นกกะรางหัวขวานได้รับเลือกเป็นนกประจำชาติของประเทศอิสราเอลในปี ค.ศ. 2008 ที่เป็นปีฉลองอายุ 60 ปีของประเทศ หลังจากได้สำรวจประชากร 155,000 คน ชนะนกปรอดหัวโขนก้นเหลือง[30][31] นกปรากฏในตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยโจฮันเนสเบิร์ก และเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของทีมกีฬาของมหาวิทยาลัย ส่วนเมือง Armstedt ในประเทศเยอรมนี มีนกในตราสัญลักษณ์ของเมือง
การอนุรักษ์
แก้เนื่องจากว่า อาหารหลายชนิดของนกเป็นสัตว์ทำลายพืช[32] ดังนั้น ชนิดนี้จึงได้รับการป้องกันจากฎหมายในหลายประเทศ[7] ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 จึงห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามเก็บหรือทำอันตรายรัง การห้ามการครอบครองและการค้ามีผลไปถึงไข่และซาก[2]
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ภาพยนตร์บีบีซีภาษาอังกฤษ (การกลับมาของพวกฮูพู) แสดงนกในไร่องุ่นประเทศออสเตรีย นกร้องหาคู่ นกผสมพันธุ์ นกในกล่องที่อยู่สร้างโดยมนุษย์ คนให้ที่อยู่นกเพื่อกำจัดแมลงทำลายพืช นกสู้กันแย่งที่อยู่ นกกกไข่ ตัวผู้เลี้ยงตัวเมีย งูกินไข่ที่แม่ทิ้ง นกหากินขุดทราย ลูกหมาจิ้งจอกเล่น ลูกนกออกจากไข่ คนเลี้ยงลูกนก ลูกนกร้องขออาหาร ลูกนกยิงอุจจาระใส่ลูกหมาจิ้งจอก ลูกนก(ขนฟูสวยมาก)ยืดปีกหัดบิน นกบินในอากาศเป็นรูปคลื่น เหยี่ยวเคสเตรลล่าหนู คนปล่อยลูกนก นกอพยพจากแอฟริกาไปทางยุโรปหลังหน้าหนาว[10]
- Hoopoe- Species text in The Atlas of Southern African Birds.
- Ageing and sexing (PDF; 5.3 MB) by Javier Blasco-Zumeta & Gerd-Michael Heinze เก็บถาวร 2016-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Hoopoe videos, photos & sounds on the Internet Bird Collection
- Collier's New Encyclopedia. 1921. .
- Encyclopedia Americana. 1920. .
เชิงอรรถและอ้างอิง
แก้- ↑ BirdLife International (2020). "Upupa epops". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T22682655A181836360. doi:10.2305/IUCN.UK.2020-3.RLTS.T22682655A181836360.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
- ↑ 2.0 2.1 "สัตว์ป่าคุ้มครอง". โลกสีเขียว. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-26. สืบค้นเมื่อ 2015-04-23.
- ↑ Hackett, Shannon J.; และคณะ (2008). "A Phylogenomic Study of Birds Reveals Their Evolutionary History". Science. 320 (1763): 1763–1768. doi:10.1126/science.1157704. PMID 18583609.
- ↑ Feduccia, Alan (1975). "The Bony Stapes in the Upupidae and Phoeniculidae: Evidence for Common Ancestry" (PDF). The Wilson Bulletin. 87 (3): 416–417.
- ↑ 5.0 5.1 Mayr, Gerald (2000). "Tiny Hoopoe-Like Birds from the Middle Eocene of Messel (Germany)". Auk. 117 (4): 964–970. doi:10.1642/0004-8038(2000)117[0964:THLBFT]2.0.CO;2.
- ↑ 6.0 6.1 Olson, Storrs (1975). Paleornithology of St Helena Island, south Atlantic Ocean (PDF). Smithsonian Contributions to Paleobiology. Vol. 23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2015-04-22.
- ↑ 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 7.12 Krištin, A. (2001). "Family Upupidae (Hoopoes)". ใน del Hoyo, J.; Elliott, A.; Sargatal, J. (บ.ก.). Handbook of the Birds of the World. Vol. 6: Mousebirds to Hornbills. Barcelona, Spain: Lynx Edicions. pp. 396–411. ISBN 978-84-87334-30-6.
- ↑ Linnaeus, C (1758). Systema naturae per regna tria naturae, secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis. Tomus I. Editio decima, reformata. Holmiae. (Laurentii Salvii). pp. 117–118. (ละติน)
- ↑ del Hoyo, Josep; Elliott, Andrew; Sargatal, Jordi, บ.ก. (1992–2013). Handbook of the Birds of the World. Spain: Lynx Edicions.
{{cite book}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์) - ↑ 10.0 10.1 10.2 Return of the Hoopoe [การกลับมาของพวกฮูพู (ภาษาอังกฤษ)]. YouTube (ภาพยนตร์). ฺBBC. สืบค้นเมื่อ 2015-04-21.
- ↑ 11.0 11.1 Ali, Sálim; Ripley, S. Dillon (1970). Handbook of the Birds of India and Pakistan, together with those of Nepal, Sikkim, Bhutan and Ceylon. Vol. 4: Frogmouths to Pittas. Bombay, India: Oxford University Press. pp. 124–129.
- ↑ Reichlin, T.S.; Schaub, M.; Menz, M.H.M.; Mermod, M.; Portner, P.; Arlettaz, R.; Jenni, L. (2009). "Migration patterns of Hoopoe Upupa epops and Wryneck Jynx torquilla: an analysis of European ring recoveries". Journal of Ornithology. 150 (2): 393–400. doi:10.1007/s10336-008-0361-3.
- ↑ Dau, Christian; Paniyak, Jack (1977). "Hoopoe, A First Record for North America" (PDF). Auk. 94 (3): 601.
- ↑ 14.0 14.1 Heindel, Matthew T. (2006). Jonathan Alderfer (บ.ก.). Complete Birds of North America. National Geographic Society. p. 360. ISBN 978-0-7922-4175-1.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 Pforr, Manfred; Alfred Limbrunner (1982). The Breeding Birds of Europe 2: A Photographic Handbook. London: Croom and Helm. p. 82. ISBN 978-0-7099-2020-5.
- ↑ Soper, Tony (1982). Birdwatch. Exeter, England: Webb & Bower. p. 141. ISBN 978-0-906671-55-9.
- ↑ Champion-Jones, RN (1937). "The Ceylon Hoopoe (Upupa epops ceylonensis Reichb.)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 39 (2): 418.
- ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 Fry, Hilary C. (2003). Christopher Perrins (บ.ก.). Firefly Encyclopedia of Birds. Firefly Books. p. 382. ISBN 978-1-55297-777-4.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 Harrison, C.J.O.; Christopher Perrins (1979). Birds: Their Ways, Their World. The Reader's Digest Association. pp. 303–304. ISBN 978-0-89577-065-3.
- ↑ Martín-Vivaldi, Manuel; Palomino, José J.; Soler, Manuel (2004). "Strophe length in spontaneous songs predicts male response to playback in the Hoopoe Upupa epops". Ethology. 110 (5): 351–362. doi:10.1111/j.1439-0310.2004.00971.x.
- ↑ Martín-Platero, Antonio M.; และคณะ (2006). "Characterization of antimicrobial substances produced by Enterococcus faecalis MRR 10-3, isolated from the uropygial gland of the Hoopoe (Upupa epops)". Applied and Environmental Microbiology. 72 (6): 4245–4249. doi:10.1128/AEM.02940-05. PMC 1489579. PMID 16751538.
- ↑ "Deuteronomy Chapter 14:18". mechon-mamre.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-22. สืบค้นเมื่อ 2015-04-22.
- ↑ Houtsma, M. Th (1987). E.J. Brill's First Encyclopaedia of Islam, 1913-1936. Brill Academic Publishers. p. 990. ISBN 9789004082656.
- ↑ Houtsma, M. Th (1987). E.J. Brill's First Encyclopaedia of Islam, 1913-1936. Brill Academic Publishers. p. 990. ISBN 9789004082656.
- ↑ Phillott, D.C. (1908). The Baz-Nama-Yi Nasiri: A Persian Treatise on Falconry. London: Bernard Quaritch. p. 151.
- ↑ Smith, Margaret (1932). The Persian Mystics 'Attar'. New York: E.P.Dutton and Company. p. 27.
- ↑ Dupree, N (1974). "An Interpretation of the Role of the Hoopoe in Afghan Folklore and Magic". Folklore. 85 (3): 173–93. doi:10.1080/0015587X.1974.9716553. JSTOR 1260073.
- ↑ Hiiemäe, Mall. "Forty birds in Estonian folklore IV". translate.google.com.
- ↑ Kline, A.S. (2000). "The Metamorphoses: They are transformed into birds". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-11. สืบค้นเมื่อ 2009-02-17.
- ↑ Lotan, Ofir (ช่างถ่ายภาพของรอยเตอร์ส) (2008-05-29). "Day in pictures". San Francisco Chronicle. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-28. สืบค้นเมื่อ 2022-05-26.
- ↑ "Hoopoe Israel's new national bird". ynet.
- ↑ Battisti, A; Bernardi, M.; Ghiraldo, C. (2000). "Predation by the hoopoe (Upupa epops) on pupae of Thaumetopoea pityocampa and the likely influence on other natural enemies". Biocontrol. 45 (3): 311–323. doi:10.1023/A:1009992321465. S2CID 11447864.