ร��ยการเรื่องแต่งในสามก๊ก

บทความรายชื่อวิกิมีเดีย

ต่อไปนี้เป็นรายการเนื้อเรื่องที่แต่งเสริมตามลำดับเหตุการณ์ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน แม้ว่านวนิยายสามก๊กเป็นเป็นการเล่าถึงการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและสืบต่อด้วยยุคสามก๊กด้วยเขียนเรื่องราวแบบยวนใจและเสริมแต่งเรื่องในเชิงนวนิยายอย่างมาก แต่ด้วยความนิยมชมชอบที่แพร่หลาย จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าสามก๊กเป็นบันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคนั้นอย่างเที่ยงตรง แหล่งข้อมูลปฐมภูมิของประวัติศาสตร์ยุคสามก๊กคือจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อหรือสามก๊กจี่) ที่เขียนโดยตันซิ่ว (เฉิน โช่ว) รวมถึงอรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้) โดยเผย์ ซงจือที่นำมาจากบันทึกทางประวัติศาสตร์เช่นเว่ย์เลฺว่และเจียงเปี่ยวจฺว้าน (江表傳) ของยฺหวี หฺว่าน แหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่ครอบคลุมประวัติศาสตร์ในยุคนั้นได้แก่ โฮ่วฮั่นชู (พงศาวดารราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง) ของฟ่าน เย่ และ จิ้นชู (พงศาวดารราชวงศ์จิ้น) ของฝาง เสฺวียนหลิง เนื่องจากสามก๊กเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่องราวหลายเรื่องในนวนิยายจึงเป็นเนื้อเรื่องที่แต่งเสริมขึ้น หรืออิงจากนิทานพื้นบ้าน หรืออิงมาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยอื่น ๆ ของประวัติศาสตร์จีน ต่อไปนี้เป็นรายการที่ยังไม่สมบูรณ์ของเรื่องราวที่เป็นที่รู้จักกันดีในนวนิยายสามก๊ก แต่ละเรื่องราวมีคำอธิบายความแตกต่างระหว่างเนื้อเรื่องนวนิยายและบันทึกในหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ภาพวาดจากหนังสือสามก๊กฉบับในยุคราชวงศ์หมิง

คำสาบานในสวนท้อ

แก้
 
ภาพจิตรกรรม "คำสาบานในสวนท้อ" ที่ระเบียงยาวของพระราชวังฤดูร้อน

เตียวหุยเฆี่ยนต๊กอิ้ว

แก้

หลังเล่าปี่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายอำเภออันห้อกวนจากความชอบในการปราบปรามโจรโพกผ้าเหลือง ต๊กอิ้ว (ตำแหน่งผู้ตรวจการของราชสำนัก) ได้เดินทางมายังอำเภออันห้อกวนและเรียกร้องสินบนจากเล่าปี่ แต่เล่าปี่ไม่ยอมจ่ายสินบนให้ต๊กอิ้ว ต๊กอิ้วจึงนำปลัดอำเภอมาเฆี่ยนเพื่อบังคับให้ใส่ร้ายเล่าปี่ เตียวหุยทราบข่าวก็โกรธมาก จึงบุกเข้าจับตัวต๊กอิ้วออกมา เอาผมต๊กอิ้วผูกกับหลักม้า แล้วจึงเฆี่ยนต๊กอิ้วอย่างสาหัส เล่าปี่เข้ามาห้ามเตียวหุยให้หยุดเฆี่ยน ฝ่ายกวนอูได้แนะนำเล่าปี่ให้ฆ่าต๊กอิ้วเสียแล้วไปอยู่ที่อื่น เล่าปี่ปฏิเสธที่จะฆ่าต๊กอิ้ว ทำเพียงลาออกจากตำแหน่งนายอำเภอพร้อมคืนตราประจำตำแหน่งให้ต๊กอิ้ว แล้วเดินทางออกจากอำเภออันห้อกวนไป [1]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติเล่าปี่ ได้บันทึกไว้ว่าตัวเล่าปี่เองเป็นผู้เฆี่ยนต๊กอิ้ว ในจดหมายเหตุระบุไว้ว่าต๊กอิ้วปฏิเสธที่จะให้เล่าปี่เข้าพบแล้วอ้างว่าตนเองป่วย แต่เล่าปี่กลับบุกเข้าไปในห้องของต๊กอิ้วแล้วลากออกมาผูกกับต้นไม้ แล้วโบยตีกว่าร้อยครั้ง [2]

โจโฉมอบมีด

แก้
 
ภาพจิตรกรรม "โจโฉมอบมีด" (孟德獻刀) ที่ระเบียงยาวของพระราชวังฤดูร้อน

โจโฉอาสาอ้องอุ้นจะไปลอบสังหารตั๋งโต๊ะ โดยได้ขอยืมมีดสั้นของอ้องอุ้นไปใช้ในการสังหาร วันถัดมาโจโฉได้ซ่อนมีดไว้ในเสื้อแล้วเข้าพบตั๋งโต๊ะถึงห้อง โจโฉคิดจะใช้มีดแทงระหว่างที่ตั๋งโต๊ะนอนหันหลังให้ แต่ตั๋งโต๊ะมองเห็นโจโฉถือมีดจากภาพสะท้อนในกระจกจึงหันกลับมาถามโจโฉ โจโฉเห็นการไม่สมความคิดจึงรีบคุกเข่าและยื่นมีดมอบให้ตั๋งโต๊ะอ้างว่าจะมอบเป็นของขวัญให้ตั๋งโต๊ะ หลังจากนั้นโจโฉเห็นว่าอยู่ในเมืองลกเอี๋ยงต่อไปเห็นจะเป็นอันตราย จึงหลบหนีกลับไปบ้านเกิด[3]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติโจโฉ ได้ระบุไว้ว่า ตั๋งโต๊ะต้องการแต่งตั้งให้โจโฉมีตำแหน่งนายพันทหารม้า (驍騎校尉 เซียวฉีเซี่ยวเหว่ย์) และชักชวนโจโฉมาเป็นพวก โจโฉปฏิเสธแล้วปลอมตัวหนีกลับบ้านเกิด [4] ไม่มีการการกล่าวถึงการพยายามลอบสังหารตั๋งโต๊ะของโจโฉก่อนที่จะหลบหนี

ตันก๋งจับและปล่อยตัวโจโฉ

แก้

โจโฉหนีจากเมืองลกเอี๋ยงหลังการลอบสังหารตั๋งโต๊ะล้มเหลว ตั๋งโต๊ะสั่งให้ออกประกาศจับโจโฉไปทุกพื้นที่รอบลกเอี๋ยง ระหว่างที่หลบหนี โจโฉถูกจับได้ที่อำเภอจงพวนแล้วถูกคุมตัวไปให้ตันก๋งผู้เป็นนายอำเภอ ตันก๋งลอบมาสนทนากับโจโฉแล้วประทับใจในอุดมการณ์ของโจโฉ จึงตัดสินใจที่จะปล่อยโจโฉ อีกทั้งยังยอมสละตำแหน่งนายอำเภอจงพวนเพื่อติดตามโจโฉไปด้วย [5]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติโจโฉ ระบุว่า เมื่อโจโฉผ่านอำเภอจงพวน ได้ถูกนายบ้านคนหนึ่งสงสัยจับกุมตัวส่งไปที่ทำการอำเภอ แต่โจโฉก็ถูกปล่อยตัวไปในภายหลัง [6] ไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าโจโฉพยายามที่จะลอบสังหารตั๋งโต๊ะก่อนที่จะถูกจับกุมที่อำเภอจงพวน และชื่อของนายบ้านที่จับกุมโจโฉก็ไม่ได้ถูกบันทึกไว้

โจโฉสังหารแปะเฉีย

แก้

ด้วยความช่วยเหลือของตันก๋งทำให้โจโฉรอดชีวิตและเดินทางกลับบ้านเกิดโดยมีตันก๋งติดตามไปด้วย ในระหว่างทางโจโฉได้แวะพักที่บ้านของแปะเฉีย เพื่อนของพ่อโจโฉ แปะเฉียได้ให้ที่พักพร้อมจัดสุราเลี้ยงแต่ในบ้านไม่มีสุราจึงออกจากบ้านไปซื้อสุรา ปล่อยให้โจโฉและตันก๋งพักผ่อน ในขณะที่ทั้งสองกำลังงีบหลับก็ได้ยินเสียงมีดลับ โจโฉได้พิจารณาและนึกคิดว่า แปะเฉียคิดคดทรยศหวังอยากได้เงินรางวัล เลยคิดจะจับพวกตนไปยังเมืองหลวง จึงได้ชักชวนตันก๋งให้ร่วมมือกันสังหารบ่าวและคนในครอบครัวของแปะเฉียเสียก่อนที่จะฆ่าพวกตน หลังจากทั้งสองได้สังหารทั้งหมดกลับปรากฏว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะพวกเขากำลังเตรียมฆ่าหมูเพื่อจัดเลี้ยงต่างหาก โจโฉและตันก๋งเห็นท่าไม่ดีจึงรีบออกจากบ้านแต่ทว่าก��ับพบกับแปะเฉียซะก่อน แปะเฉียได้ชักชวนกลับไปพักที่บ้าน แต่โจโฉกลับสังหารลงในที่สุด

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติโจโฉ ระบุว่า โจโฉได้หลบหนีตั๋งโต๊ะไปยังบ้านเกิด ระหว่างทางได้ไปพักที่บ้านแปะเฉีย ซึ่งแปะเฉียไม่อยู่บ้าน แต่บรรดาบุตรได้ต้อนรับและให้ที่พักเป็นอย่างดี แต่แท้จริงแล้วบรรดาบุตรแปะเฉียและบ่าวรับใช้รวมหัวกันหวังจะจับโจโฉไปมอบให้แก่เมืองหลวง โจโฉรู้ทันจึงได้ทำการสังหารหมู่บรรดาบุตรแปะเฉียและบ่าวรับใช้พร้อมครอบครัวของแปะเฉียจนหมดสิ้น หลังจากนั้นก็หลบหนีไป ส่วนแปะเฉียเดินทางกลับบ้านก็พบว่าครอบครัวถูกสังหารหมดสิ้นจึงเสียใจและตรอมใจตาย

กวนอูสังหารฮัวหยง

แก้

ศึกด่านเฮาโลก๋วน

แก้

ศึกเอ๊งหยง

แก้

ลิโป้และเตียวเสียน

แก้
 
ภาพจิตรกรรม "ลิโป้เกี้ยวเตียวเสียน" (呂布戲貂嬋) ที่ระเบียงยาวของพระราชวังฤดูร้อน

เตียวเสียน เป็นตัวละครที่ถูกแต่งเสริมเข้ามาในวรรณกรรม อ้องอุ้นผู้เป็นบิดาบุญธรรมของเตียวเสียน ได้ออกอุบายให้เตียวเสียนไปยุให้ตั๋งโต๊ะและลิโป้ขัดแย้งกัน และสามารถทำให้ลิโป้สังหารตั๋งโต๊ะได้เป็นผลสำเร็จ [7]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติลิโป้ และใน โฮ่วฮั่นซู ได้บันทึกว่าลิโป้ลอบมีความสัมพันธ์กับสาวใช้คนหนึ่งของตั๋งโต๊ะ แล้วกลัวว่าตั๋งโต๊ะจะจับได้ [8] นอกจากนี้ ลิโป้ยังไม่พอใจตั๋งโต๊ะที่เคยขว้างทวนใส่เพื่อระบายโทสะ แต่ลิโป้หลบได้ [9] ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ระบุแน่ชัดถึงชื่อของสาวใช้ของตั๋งโต๊ะว่ามีชื่อว่า "เตียวเสียน" ชื่อของ "เตียวเสียน" นั้นเป็นไปได้ว่าอาจจะมีที่มาจาก "เตียว" ที่หมายถึงสัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่งคล้ายกระรอก มีหางเป็นพวงสวย นิยมนำมาใช้ทำพู่ประดับหมวก และ "เสียน" ที่หมายถึงจักจั่น ซึ่งจีนโบราณนิยมทำจักจั่นทองคำเป็นเครื่องประดับ [10]

ศึกแห้ฝือ

แก้

เงื่อนไขสามประการของกวนอู

แก้

โจโฉและเล่าปี่ร่วมกันตีลิโป้ที่ชีจิ๋ว (徐州) และเอาชนะจับตัวลิโป้ประหารได้ในศึกแห้ฝือ โจโฉได้แต่งตั้งกีเหมาเป็นผู้ว่าราชการแคว้นชีจิ๋วแทนลิโป้ ภายหลังเล่าปี่ตัดขาดกับโจโฉแล้วเข้ายึดครองชีจิ๋วหลังกวนอูสังหารกีเหมา โจโฉจึงนำทัพไปตีเล่าปี่และเพื่อยึดชีจิ๋วคืน ในการรบครั้งหนึ่ง เล่าปี่และเตียวหุยนำทัพไปปล้นค่ายโจโฉ แต่ถูกซ้อนกลโดนซุ่มโจมตี ต่างคนต่างก็หนีไปคนละทางในระหว่างชุลมุน ฝ่ายกวนอูซึ่งอยู่รักษาเมืองแห้ฝือ แต่ถูกลวงให้ออกมาจากเมืองและถูกล้อมไว้บนเนินเขาแห่งหนึ่ง โจโฉยึดแห้ฝือที่สำเร็จแล้วให้ทหารรักษาครอบครัวของเล่าปี่ไว้ โจโฉส่งเตียวเลี้ยวไปเกลี้ยกล่อมกวนอูให้ยอมจำนน กวนอูยอมจำนนโดยเสนอเงื่อนไขสามข้อให้โจโฉดังนี้

  1. กวนอูสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ ไม่ใช่สวามิภักดิ์ต่อโจโฉ
  2. ภรรยาของเล่าปี่สองคนคือกำฮูหยินและบิฮูหยิน ซึ่งเป็นพี่สะใภ้ของกวนอูจะต้องไม่ได้รับอันตรายและได้รับการปรนนิบัติอย่างดี
  3. หากได้ข่าวว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด กวนอูจะไปหาเล่าปี่ทันที

โจโฉยอมรับเงื่อนไขสามข้อ กวนอูจึงอยู่รับราชการกับโจโฉชั่วคราว ก่อนจะกลับไปหาเล่าปี่ในภายหลัง[11]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติกวนอู ได้ระบุว่า เล่าปี่เข้าตีแคว้นชีจิ๋วอย่างฉับพลันไม่ให้กีเหมาทันตั้งตัวแล้วสังหารกีเหมา จากนั้นจึงให้กวนอูไปรักษาเมืองแห้ฝือ ส่วนตัวเล่าปี่ไปรักษาเมืองเสียวพ่าย ในปี ค.ศ. 200 โจโฉนำทัพเข้าตีเล่าปี่แตกพ่าย เล่าปี่หนีไปพึ่งอ้วนเสี้ยว ส่วนกวนอูถูกทหารโจโฉจับตัวได้แล้วถูกนำตัวไปเมืองฮูโต๋ โจโฉตั้งให้กวนอูเป็นขุนพลเพียนเจียงจวิน (偏將軍) และปฏิบัติต่อกวนอูอย่างดี[12] ไม่มีการกล่าวถึงการยอมจำนนของกวนอู รวมถึงเรื่องที่กวนอูเสนอเงื่อนไขสามข้อในการยอมจำนน

กวนอูสังหารงันเหลียงและบุนทิว

แก้

ก่อนศึกกัวต๋อระหว่างอ้วนเสี้ยวและโจโฉ ทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกันสองครั้งในยุทธการที่แปะแบ๊และยุทธการที่ท่าน้ำเหยียนจิน อ้วนเสี้ยวส่งขุนพลงันเหลียงมาโจมตีทัพโจโฉที่แปะเบ๊ ระหว่างการศึก ขุนพลชาญศึกฝ่ายโจโฉอย่างซิหลงไปรบกับงันเหลียงแต่แพ้กลับมา โจโฉจึงให้ไปตามกวนอูมารบกับงันเหลียง กวนอูมีชัยสามารถสังหารงันเหลียงได้ บุนทิวอีกหนึ่งขุนพลของอ้วนเสี้ยวได้ยกทัพมาภายหลังเพื่อแก้แค้นให้งันเหลียงแต่ก็ถูกกวนอูสังหารตามไป [13]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติกวนอู ได้ระบุไว้ว่าอ้วนเสี้ยวสั่งให้งันเหลียงยกทัพไปล้อมเล่าเอี๋ยนขุนพลฝ่ายโจโฉที่แปะแบ๊ โจโฉจึงส่งเตียวเลี้ยวและกวนอูให้นำทัพหน้าไปโจมตีงันเหลียง ระหว่างการรบกวนอูได้สังเกตเห็นงันเหลียงจึงบุกฝ่าทหารงันเหลียงเข้าไปถึงตัวงันเหลียงแล้วสังหาร จากนั้นจึงตัดศีรษะงันเหลียงกลับมา ขุนพลของอ้วนเสี้ยวคนอื่นไม่อาจต้านทานได้ กวนอูสลายการล้อมที่แปะเบ๊ได้สำเร็จ [14]

ส่วนในบทชีวประวัติอ้วนเสี้ยวของ จดหมายเหตุสามก๊ก ได้ระบุไว้ว่า หลังงันเหลียงตาย ทหารอ้วนเสี้ยวนำโดยเล่าปี่และบุนทิวได้ข้ามแม่น้ำฮองโหมาที่ด้านใต้ของตำบลเหยียนจิน แล้วถูกทหารโจโฉโจมตีแตกพ่าย บุนทิวถูกสังหารในการรบ แต่ไม่ได้ระบุว่าถูกสังหารโดยกวนอู [15]

กวนอูฝ่าห้าด่านสังหารหกขุนพล

แก้
 
ภาพจิตรกรรมของกวนอู "บุกเดี่ยวพันลี้" (千里走單騎) ที่พระราชวังฤดูร้อน
 
ภาพจิตรกรรม "กวนอูสังหารเปี๋ยนฮี" ที่ระเบียงยาวของพระราชวังฤดูร้อน
 
ภาพวาดสมัยราชวงศ์ชิงของหลวงจีนเภาเจ๋ง

กวนอูได้ข่าวว่าเล่าปี่ยังมีชีวิตอยู่และขณะนั้นอยู่ด้วยอ้วนเสี้ยว จึงตัดสินใจลาโจโฉกลับไปหาเล่าปี่พร้อมด้วยภรรยาทั้งสองคนของเล่าปี่ กวนอูพยายามเข้าพบโจโฉเพื่อคำนับลาแต่โจโฉไม่ยอมให้กวนอูเข้าพบแสร้งทำเป็นป่วย กวนอูจึงเขียนหนังสือลาให้โจโฉแล้วเดินทางจากไป โดยไม่ได้นำทรัพย์สินสิ่งของใดๆที่โจโฉมอบให้ติดตัวไป เว้นแต่ม้าเซ็กเธาว์เท่านั้น กวนอูยังได้สละบรรดาศักดิ์ "ฮั่นสือแต่งเฮา" (ฮั่นโซ่วถิงโหว) แล้วทิ้งตราประจำตำแหน่งไว้ เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาของโจโฉต่างไม่พอใจกวนอูที่แสดงกิริยาโอหังที่จากไปโดยไม่มาคำนับลา จากอาสาโจโฉจะไปไล่ตามจับกวนอูกลับมา โจโฉไม่อนุญาตเพราะรู้ดีว่าไม่มีใครที่สามารถหยุดกวนอูไว้ได้

กวนอูขี่ม้าคุ้มครองรถของพี่สะใภ้ทั้งสองเดินทางไปจนถึงด่านแรกคือด่านตังเหลงก๋วนซึ่งมีนายด่านชื่อขงสิ้ว ซึ่งได้ห้ามกวนอูไม่ให้ผ่านด่านไปเพราะกวนอูไม่มีหนังสือเบิกด่าน กวนอูโมโหจึงสังหารขงสิ้วแล้วเดินทางผ่านด่านตังเหลงก๋วนไป

ต่อมากวนอูคุมรถพี่สะใภ้เดินทางมาถึงเมืองลกเอี๋ยง ฮันฮกผู้รักษาเมืองลกเอี๋ยงได้นำทหารหนึ่งพันนายออกมาสกัดกวนอู ฮันฮกให้เบงทันขุนพลผู้ช่วยไปท้ารบกับกวนอู แต่เบงทันก็ถูกกวนอูฟันตัวขาดเป็นสองท่อนถึงแก่ความตาย ระหว่างที่กวนอูรบกับเบงทัน ฮันฮกได้ลอบยิงเกาทัณฑ์ใส่กวนอู ลูกเกาทัณฑ์ไปถูกไหล่ซ้ายของกวนอู กวนอูจึงชักลูกเกาทัณฑ์ออก แล้วขับม้าตรงไปสังหารฮันฮก ทหารฮันฮกตกใจต่างหลีกทางให้กวนอูผ่านด่านไป

คณะของกวนอูเดินทางมาถึงด่านกิสุยก๋วน นายด่านชื่อเปี๋ยนฮีออกมาต้อนรับกวนอูเข้ามาในด่านแล้วเชิญกวนอูมากินโต๊ะที่วัดตีนก๊กซือ แต่แท้จริงแล้วเปี๋ยนฮีได้แอบสั่งทหารสองร้อยนายให้ซุ่มอยู่ในวัดแล้วให้รุมฆ่ากวนอูเมื่อเปี๋ยนฮีให้สัญญาณ หลวงจีนของวัดตีนก๊กซือชื่อเภาเจ๋งผู้ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกันกับกวนอูได้บอกใบ้กวนอูให้รู้ว่าเปี๋ยนฮีคิดทำร้าย กวนอูรู้ความดังนั้นจึงสังหารเปี๋ยนฮีแล้วผ่านด่านกิสุยก๋วนไป

คณะของกวนอูเดินทางต่อไปถึงเมืองเอ๊งหยง (เอี๋ยงหยง) อองเซ็ก นายด่านเอ๊งหยงได้ใช้อุบายคล้ายๆกับเปี๋ยนฮีในการจะสังหารกวนอู โดยการทำเป็นต้อนรับกวนอูเข้ามาในเมืองแล้วให้พักในที่พักรับรอง หลังจากนั้นอองเซ็กจึงสั่งให้ทหารในบัญชาชื่องอปั้นให้นำทหารหนึ่งพันนายมาล้อมที่พักรับรองของกวนอูแล้วจุดไฟเผาในตอนกลางคืน งอปั้นสงสัยว่ากวนอูมีลักษณะอย่างไรจึงเข้าไปแอบดูกวนอูที่กำลังอ่านหนังสืออยู่ในห้อง กวนอูสังเกตเห็นงอปั้นจึงเชิญให้เข้ามา ก่อนหน้านี้กวนอูเคยพบงอหัวบิดาของงอปั้นซึ่งได้ฝากหนังสือถึงงอปั้นไว้กับกวนอู กวนอูได้มอบหนังสือจากงอหัวให้แก่งอปั้น หลังงอปั้นอ่านหนังสือก็ตัดสินใจที่จะช่วยกวนอูให้พ้นอันตรายจึงเปิดเผยแผนการของอองเซ็กให้กวนอูฟังแล้วไปลอบเปิดประตูเมืองให้กวนอูและคณะหนีออกไป ภายหลังอองเซ็กรู้ว่ากวนอูหนีไปจึงนำทหารไล่ตามแต่ก็ถูกกวนอูสังหารในที่สุด

ท้ายที่สุดคณะของกวนอูก็เดินทางมาถึงท่าเรือข้ามฟากฝั่งใต้ของแม่น้ำฮองโห ขุนพลจินกี๋ได้ยกมาสกัดกวนอูไม่ให้ข้ามแม่น้ำ กวนอูโมโหจึงฆ่าจินกี๋ กวนอูข้ามแม่น้ำมาได้แล้วล่วงเข้าเขตแดนของอ้วนเสี้ยว ต่อมากวนอูได้รู้ข่าวว่าเล่าปี่ไม่ได้อยู่ด้วยกับอ้วนเสี้ยวแล้วและได้ออกไปอยู่ที่ยีหลำ กวนอูจึงนำคณะเดินทางไปทางยีหลำ แล้วได้พบกับเล่าปี่และเตียวหุยอีกครั้งที่เมืองเก๋าเซีย

ระหว่างการเดินทาง กวนอูได้พบคนมากมายที่ต่อมาได้มาเป็นลูกน้องในบังคับบัญชา ได้แก่ เลียวฮัว จิวฉอง และ กวนเป๋ง (ซึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของกวนอู) [16]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติกวนอู มีการบันทึกถึงเรื่องที่กวนอูลาจากโจโฉไป รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่กวนอูจะจากไป [17] แต่ไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่กวนอูฝ่าห้าด่าน รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวนายด่านทั้งหกคน (ขงสิ้ว ฮันฮก เบงทัน เปี๋ยนฮี อองเซ็ก และจินกี๋) ก็ไม่มีการกล่าวถึง

อุบายของกุยแกในการสยบเลียวตั๋ง

แก้

กวนอูสังหารซัวหยงที่เก๋าเซีย

แก้
 
ภาพจิตรกรรม "กวนอูสังหารซัวหยง" ที่ระเบียงยาวของพระราชวังฤดูร้อน

หลังกวนอูฝ่าห้าด่านสังหารหกขุนพล ก็ได้พบเตียวหุยที่เก๋าเซีย (古城) เมื่อแรกพบนั้นเตียวหุยสงสัยกวนอูว่าทรยศต่อคำสาบานเป็นพี่น้องแล้วไปเข้าด้วยโจโฉแล้ว แม้ภรรยาของเล่าปี่ทั้งสองคนจะพยายามอธิบาย แต่เตียวหุยก็ไม่ฟังแล้วจะเข้าสู้กับกวนอู ขณะเดียวกันขุนพลของโจโฉชื่อซัวหยงก็นำทัพตรงมาจะรบกับกวนอูเพื่อแก้แค้นให้จินกี๋ผู้หลานที่ถูกกวนอูฆ่าตาย กวนอูจึงหันกลับไปสังหารซัวหยงเพื่อพิสูจน์ความสัตย์ให้เตียวหุยเห็น เตียวหุยจึงเชื่อใจและกล่าวขอขมาต่อกวนอู [18]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติเล่าปี่ ได้ระบุว่าอ้วนเสี้ยวส่งเล่าปี่ไปเมืองยีหลำเพื่อเกลี้ยกล่อมหัวหน้ากลุ่มโจรชื่อก๋งเต๋าให้มาเป็นพวก โจโฉได้ส่งซัวหยงไปโจมตี ซัวหยงได้ถูกเล่าปี่ฆ่าในศึกครั้งนั้น [19]

เล่าปี่โจนม้าเต๊กเลาข้ามแม่น้ำตันเข

แก้
 
ภาพจิตรกรรม "โจนม้าข้ามแม่น้ำตันเข" (馬躍檀溪)ที่ระเบียงยาวของพระราชวังฤดูร้อน

ขณะเมื่อเล่าปี่อยู่ที่ซินเอี๋ย เล่าเปียวผู้ว่าราชการแคว้นเกงจิ๋ว (荊州) ได้เชิญเล่าปี่ไปเป็นประธานในพิธีฉลองเนื่องในโอกาสที่พืชผลเก็บเกี่ยวได้ผลดีที่เมืองซงหยง เนื่องจากเล่าเปียวกำลังป่วยและบุตรชายทั้งสองของเล่าเปียวคือเล่ากี๋และเล่าจ๋องยังเด็กเกินไป เล่าปี่จึงเดินทางมาถึงเมืองซงหยงพร้อมกับจูล่งและเข้าร่วมในพิธี ชัวมอฉวยโอกาสที่เล่าปี่เข้ามาที่ซงหยงวางแผนจะสังหารเล่าปี่ แต่อีเจี้ยได้ลอบมาบอกเล่าปี่ว่าชัวมอคิดร้าย เล่าปี่จึงขึ้นม้าเต๊กเลา (的盧) ซึ่งเป็นม้าที่เชื่อกันว่าจะนำโชคร้ายมาสู่ผู้ที่ขี่มัน หนีออกจากเมืองซงหยงทางประตูทิศตะวันตก เมื่อชัวมอรู้ว่าเล่าปี่หนีไปได้ไม่นานจึงนำทหารไล่ตาม เล่าปี่ขี่ม้าเต๊กเลามาถึงริมแม่น้ำตันเข (檀溪) ทางตะวันตกของซงหยง แล้วพยายามจะขี่ม้าข้ามแม่น้ำไป หลังม้าเต๊กเลาก้าวลงไปในแม่น้ำได้ไม่กี่ก้าวก็ถลำลงเลน เสื้อผ้าของเล่าปี่เปียกน้ำ เล่าปี่ใช้แส้ม้าเฆี่ยนม้าเต๊กเลาแล้วร้องว่า "วันนี้เต๊กเลามึงจะผลาญเจ้าของเสียแล้วหรือ" พลันม้าเต๊กเลาก็โจนขึ้นจากน้ำได้ระยะถึงสามจ้างข้ามไปถึงฝั่งตรงข้ามได้ ช่วยเล่าปี่ให้พ้นภัย [20]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในบันทึก ชื่อยฺหวี่ (世語) ได้มีการบันทึกถึงเหตุการณ์เดียวกันนี้ [21] อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์จิ้นชื่อซุนเชิ่ง ได้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ในบันทึกนี้ว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง [22]

ชีซี

แก้

เล่าปี่เยือนกระท่อมหญ้าสามครั้ง

แก้
 
ภาพจิตรกรรม "เยือนกระท่อมหญ้าสามครั้ง" (三顧茅廬)ที่ระเบียงยาวของพระราชวังฤดูร้อน ภาพแสดงเหตุการณ์เล่าปี่เยือนกระท่อมจูกัดเหลียงเป็นครั้งที่สอง

ก่อนที่ชีซีจะเดินทางจากไปยังเมืองฮูโต๋ ชีซีได้แนะนำจูกัดเหลียงหรือชื่อรองขงเบ้งให้เล่าปี่ ทั้งยังแนะนำให้เล่าปี่เดินทางไปเชิญจูกัดเหลียงมาเป็นที่ปรึกษาด้วยตนเอง เล่าปี่จึงเดินทางพร้อมด้วยกวนอูและเตียวหุยไปยังหลงจงเพื่อพบจูกัดเหลียง เล่าปี่มาถึงบ้านของจูกัดเหลียง เด็กรับใช้ในบ้านได้มาบอกว่าอาจารย์ไม่อยู่ที่บ้าน เล่าปี่จึงเขียนหนังสือถึงจูกัดเหลียงฝากไว้กับเด็กรับใช้ หลายวันต่อมาในฤดูหนาว เล่าปี่พาพี่น้องร่วมสาบานทั้งสองคนไปเยี่ยมจูกัดเหลียงอีกครั้ง เล่าปี่ถามหา "อาจารย์" กับเด็กรับใช้ เด็กรับใช้จึงพาไปพบคนที่ตนเรียกว่า "อาจารย์" ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นน้องชายของจูกัดเหลียงชื่อจูกัดกิ๋น (จูเก๋อจฺวิน) [23] แล้วเมื่อเล่าปี่เดินออกมาจากบ้านจูกัดเหลียง เล่าปี่เห็นชายคนหนึ่งขี่ลามาก็คิดว่าเป็นจูกัดเหลียง แต่แท้จริงแล้วเป็นพ่อตาของจูกัดเหลียงชื่ออุยสิง่าน (ฮองเสงหงัน) ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิ เล่าปี่ตัดสินใจไปเยี่ยมจูกัดเหลียงอีกครั้งโดยที่น้องร่วมสาบานทั้งสองไม่พอใจนัก เมื่อเล่าปี่ไปถึงบ้านจูกัดเหลียงก็รู้ว่าจูกัดเหลียงอยู่ที่บ้านแต่กำลังนอนหลับอยู่ เล่าปี่จึงรอจนจูกัดเหลียงตื่นขึ้น จูกัดเหลียงได้เสนอยุทธศาสตร์หลงจงให้เล่าปี่ฟัง จากนั้นก็ตกลงใจที่จะออกจากบ้านที่หลงจงติดตามเล่าปี่ไปในฐานะที่ปรึกษานับแต่นั้น [24]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก ไม่มีรายละเอียดเรื่องที่เล่าปี่ได้จูกัดเหลียงเป็นที่ปรึกษา ในบทชีวประวัติจูกัดเหลียงมีการบรรยายไว้สั้นๆว่าหลังชีซีแนะนำจูกัดเหลียงให้เล่าปี่ เล่าปี่ได้ไปเยี่ยมเพื่อพบและสนทนากับจูกัดเหลียงสามครั้ง ระหว่างการสนทนาจูกัดเหลียงได้เสนอยุทธศาสตร์หลงจงให้เล่าปี่ [25] อย่างไรก็ดี ในจดหมายเหตุ เว่ยเลฺว่ (魏略) และ จิ่วโจวชุนชิว (九州春秋) ได้บันทึกถึงเรื่องที่เล่าปี่พบจูกัดเหลียงเป็นครั้งแรก จดหมายเหตุทั้งสองฉบับได้ระบุว่าจูกัดเหลียงเป็นฝ่ายมาพบเล่าปี่ก่อน แทนที่เล่าปี่จะเป็นฝ่ายมาพบจูกัดเหลียง เมื่อแรกพบนั้นทั้งจูกัดเหลียงและเล่าปี่ไม่รู้จักกันมาก่อนและเล่าปี่ไม่สนใจจูกัดเหลียงมากนักเพราะจูกัดเหลียงอายุยังน้อย หลังจากแขกของเล่าปี่คนอื่นๆออกไปแล้ว จูกัดเหลียงยังคงอยู่ แต่เล่าปี่ก็ไม่ได้ถามอะไรจูกัดเหลียง จูกัดเหลียงเป็นฝ่ายไปขอสนทนากับเล่าปี่ หลังจากได้พูดคุยแล้วเล่าปี่เห็นความสามารถของจูกัดเหลียงจึงมองจูกัดเหลียงเปลี่ยนไป ตั้งแต่นั้นมาก็ปฏิบัติต่อจูกัดเหลียงด้วยความนับถือ [26] เผย์ ซงจือวิจารณ์ว่าจดหมายเหตุทั้งสองฉบับมีเนื้อความที่ขัดแย้งกับคำกล่าวของตัวจูกัดเหลียงเองในฎีกาออกศึกครั้งแรกซึ่งกล่าวไว้ว่า "พระองค์(พระเจ้าเล่าปี่)ทรงลดพระเกียรติเสด็จเยือนกระท่อมหญ้าของกระหม่อมถึงสามครั้ง อีกยังได้ทรงขอคำปรึกษาปัญหาบ้านเมืองในปัจจุบันด้วยกระหม่อมอีกต่างหาก" [27][28] เผย์ ซงจือมีความเห็นว่าจากฎีกาออกศึกครั้งแรกนั้นเป็นที่ชัดเจนว่าจูกัดเหลียงไม่ใช่ฝ่ายที่ไปพบเล่าปี่ก่อน [29]

ศึกพกบ๋อง

แก้

ศึกเตียงปัน

แก้

จูกัดเหลียงเป็นทูตไปกังตั๋ง

แก้

ก่อนศึกเซ็กเพ็ก จูกัดเหลียงติดตามโลซกเดินทางไปยังกังตั๋งเพื่อเป็นทูตไปเจรจาประสานพันธมิตรระหว่างเล่าปี่และซุนกวนเพื่อต้านโจโฉ โลซกได้แนะนำจูกัดเหลียงให้กับเหล่าบัณฑิตอันเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือนของซุนกวนซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นว่ากังตั๋งควรยอมจำนนต่อโจโฉ จึงเริ่มทำการโต้คารมกับจูกัดเหลียงที่เดินทางมาโน้มน้าวให้ซุนกวนร่วมเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ จูกัดเหลียงได้ตอบโต้ด้วยเหตุและผลอย่างมีวาทศิลป์ จนเหล่าบัณฑิตกังตั๋งต่างพากันเงียบไม่อาจต่อคำได้อีก บัณฑิตที่โต้คารมกับจูกัดเหลียงได้แก่ เตียวเจียว งีห้วน (ยีหวน) เปาจิด (โปเจ๋า) ซีหอง ลกเจ๊ก เหยียมจุ้น และเทียเป๋ง (เทียตก) ฝ่ายเตียวอุ๋นและลั่วถ่งก็ต้องการจะโต้คารมกับจูกัดเหลียง แต่อุยกายได้ปรากฏตัวมาหยุดการโต้วาทีไว้ [30]

ต่อมาโลซกได้แนะนำจูกัดเหลียงให้จิวยี่ จูกัดเหลียงได้สนทนากับจิวยี่แล้วได้เสนอกับจิวยี่ว่าตนมีอุบายที่จะทำให้โจโฉถอยทัพกลับโดยไม่ต้องรบนั่นคือการส่งนางไต้เกี้ยวและเสียวเกี้ยวให้กับโจโฉ โดยจูกัดเหลียงแกล้งทำเป็นไม่รู้ว่าไต้เกี้ยวเป็นภรรยาของซุนเซ็กและเสียวเกี้ยวเป็นภรรยาของจิวยี่ จิวยี่ถามหาหลักฐานที่โจโฉต้องการสองนางนี้ จูกัดเหลียงจึงบอกว่าตนเคยได้ยินว่าโจโฉให้โจสิดลูกชายเขียนบทกวี ชมปราสาทตั้งเซ็กไต๋ (銅雀臺賦) จูกัดเหลียงท่องบทกวีให้ฟังแล้วชี้ให้เห็นเนื้อความที่โจโฉปรารถนานางทั้งสองในบทกวี จิวยี่ได้ฟังก็โกรธจึงตัดสินใจเสนอให้ซุนกวนเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่รบกับโจโฉ [31]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

การโต้วาทีระหว่างจูกัดเหลียงและบัณฑิตกังตั๋งไม่ถูกกล่าวถึงในบทชีวประวัติของบุคคลใดๆที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ใน จดหมายเหตุสามก๊ก ในบทชีวประวัติของจูกัดเหลียง ซุนกวน จิวยี่ และโลซกต่างระบุตรงกันว่าจูกัดเหลียงได้พบกับซุนกวนเพื่อเจรจาประสานพันธมิตร แต่ไม่มีการระบุว่าจูกัดเหลียงได้พบกับบุคคลอื่นใดในการเดินทางครั้งเดียวกันนี้[32][33][34] ในส่วนบทชีวประวัติจูกัดเหลียงนั้นมีบันทึกรายละเอียดของบทสนทนาระหว่างจูกัดเหลียงและซุนกวน [35]

ปราสาทตั้งเซ็กไต๋หรือปราสาทนกยูงทองแดง (銅雀臺) ถูกสร้างขึ้นในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 210 [36] สามปีหลังศึกเซ็กเพ็ก และบทกวีของโจสิด ชมปราสาทตั้งเซ็กไต๋ ถูกเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 212 สองปีหลังจากปราสาทได้ถูกสร้างขึ้น นอกจากนี้ในวรรณกรรม สามก๊กยังได้เพิ่มเติมบทกวีไปอีก 7 วรรคที่ไม่มีในบทกวีที่ปรากฏในบทชีวประวัติโจสิดใน จดหมายเหตุสามก๊ก[37] ดังนั้นเรื่องราวในวรรณกรรมสามก๊กที่จูกัดเหลียงใช้บทกวียั่วยุจิวยี่ให้โกรธโจโฉจึงเป็นเรื่องที่แต่งเสริมขึ้นมา

จิวยี่หลอกเจียวก้าน

แก้

จูกัดเหลียงใช้เรือฟางยืมเกาทัณฑ์

แก้
 
ภาพจิตรกรรม "ใช้เรือฟางยืมเกาทัณฑ์" (草船借箭) ที่ระเบียงยาวของพระราชวังฤดูร้อน

จิวยี่อิจฉาความสามารถของจูกัดเหลียงและเกรงว่าจูกัดเหลียงจะเป็นภัยต่อซุนกวนในอนาคตจึงคิดหาอุบายที่จะสังหารจูกัดเหลียง ครั้งหนึ่งได้ขอให้จูกัดเหลียงทำลูกเกาทัณฑ์หนึ่งแสนดอกภายในสิบวัน แต่จูกัดเหลียงกลับบอกว่าตนสามารถทำให้เสร็จได้ภายในสามวัน จิวยี่จึงให้จูกัดเหลียงทำทัณฑ์บนไว้ว่าหากทำเกาทัณฑ์ไม่สำเร็จภายในสามวันจะต้องโทษประหารชีวิต จิวยี่รู้สึกยินดีเพราะคิดว่าจูกัดเหลียงคงไม่อาจทำได้สำเร็จทันเวลา ฝ่ายจูกัดเหลียงได้ขอให้โลซกช่วยเตรียมเรือยี่สิบลำ แต่ละลำมีทหารสามสิบคนและมีฟางมามัดเป็นรูปคนวางอยู่สองข้างลำเรือ ในวันที่สามก่อนรุ่งสางมีหมอกลงจัด จูกัดเหลียงนำเรือทั้งยี่สิบลำแล่นไปยังค่ายของโจโฉที่อีกฝั่งของแม่น้ำ แล้วสั่งให้ทหารตีกลองและโห่ร้องอื้ออึงทำทีจะเข้าโจมตี ทหารโจโฉไม่แน่ใจว่าทหารฝ่ายศัตรูมีจำนวนเท่าใดเนื่องจากหมอกลงจัดจึงได้แต่ยิงเกาทัณฑ์ต้านไว้ ลูกเกาทัณฑ์จำนวนมากติดกับหุ่นฟางบนเรือ ในขณะเดียวกับที่จูกัดเหลียงกำลังดื่มสุรากับโลซกภายในเรือ เมื่อหมอกเริ่มจางจูกัดเหลียงจึงแล่นเรือกลับไป เกาทัณฑ์ที่จูกัดเหลียงลวงมาได้จากทัพโจโฉมีมากกว่าหนึ่งแสนดอก จิวยี่จึงไม่อาจเอาผิดจูกัดเหลียงได้ [38]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

เหตุการณ์นี้ไม่มีการบันทึกไว้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เป็นเรื่องที่เสริมแต่งขึ้นมา อย่างไรก็ดี ในจดหมายเหตุเว่ยเลฺว่ได้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่คล้ายๆกันนี้ในศึกยี่สูในปี ค.ศ. 213 เมื่อซุนกวนได้แล่นเรือไปสำรวจฐานทัพของโจโฉ โจโฉเห็นดังนั้นจึงสั่งให้ทหารยิงเกาทัณฑ์ใส่เรือซุนกวน เกาทัณฑ์หลายดอกติดที่ลำเรือข้างหนึ่งจนเรือเอียงด้วยน้ำหนักของลูกเกาทัณฑ์ ซุนกวนจึงสั่งให้หันเรือให้ลำเรืออีกด้านมารับลูกเกาทัณฑ์ เรือจึงกลับมาตั้งลำตรงดังเก่าแล้วซุนกวนจึงให้แล่นเรือกลับไปค่าย [39]

อุบายเจ็บกายของอุยกาย

แก้

บังทองเสนออุบายห่วงโซ่

แก้

จูกัดเหลียงเรียกลมสลาตัน

แก้

จิวยี่เตรียมการพร้อมที่จะตีทัพเรือโจโฉด้วยไฟ แต่จิวยี่ได้ตระหนักในภายหลังว่าการจะสำเร็จได้ลมจะต้องพัดจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ มิเช่นนั้นทัพเรือฝ่ายตนจะถูกเพลิงเผาเสียเอง เมื่อจิวยี่เห็นว่าลมพัดจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือก็ตกใจจนอาเจียนเป็นเลือดแล้วหมดสติ ตั้งแต่นั้นก็ล้มป่วย จูกัดเหลียงไปเยี่ยมจิวยี่แล้วบอกว่าสาเหตุของอาการป่วยของจิวยี่นั้นเพราะความกังวลเกี่ยวกับลมแล้วอ้างว่าตนรู้วิชาเรียกลมจะขออาสาทำพิธีเพื่อเปลี่ยนทิศทางลม จิวยี่จึงให้ทหารไปตั้งโรงพิธี ณ เขาลำปินสาน แล้วจูกัดเหลียงก็ได้ประกอบพิธีเรียกลมจนกระทั่งเมื่อลมตะวันออกเฉียงใต้พัดมา ทันทีทีลมเปลี่ยนทิศจูกัดเหลียงก็หนีออกมาเพราะรู้ดีว่าจิวยี่จะส่งคนมาฆ่า ซึ่งจิวยี่ก็ได้ส่งชีเซ่งและเตงฮองมาเพื่อหวังจะสังหารตามที่จูกัดเหลียงคาดไว้ แต่จูกัดเหลียงก็ขึ้นเรือที่จูล่งแล่นเตรียมไว้หนีไปได้ [40]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

เหตุการณ์นี้ไม่มีการบันทึกไว้ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เป็นเรื่องที่เสริมแต่งขึ้นมา

กวนอูปล่อยโจโฉที่เส้นทางฮัวหยง

แก้

กวนอูถูกส่งไปรักษาเส้นทางฮัวหยงเพื่อไปสกัดโจโฉที่จะผ่านมาทางนี้หลังพ่ายแพ้ในศึกเซ็กเพ็ก เดิมนั้นจูกัดเหลียงไม่ยอมให้กวนอูไปทำการเพราะเกรงว่ากวนอูจะระลึกถึงบุญคุณของโจโฉที่เคยทำนุบำรุงมาแต่ก่อนแล้วอาจจะปล่อยโจโฉให้ผ่านไปได้ กวนอูยืนยันที่จะขอไปทำการพร้อมบอกว่าตนทดแทนบุญคุณโจโฉโดยการสังหารงันเหลียงและบุนทิวแล้ว จากนั้นจึงยอมทำทัณฑ์บนว่าจะไม่ปล่อยให้โจโฉผ่านไปได้ มิฉะนั้นก็ยอมถูกประหาร ฝ่ายจูกัดเหลียงก็ทำทัณฑ์บนเช่นกันว่าหากโจโฉไม่ผ่านมาทางเส้นทางฮัวหยงก็จะยอมถูกประหาร ซึ่งโจโฉก็ผ่านมาทางเส้นทางฮัวหยงตามที่จูกัดเหลียงคาดไว้แล้วเจอเข้ากับกวนอู แต่กวนอูกลับตัดสินใจไว้ชีวิตโจโฉ ปล่อยให้โจโฉและทหารที่เหลืออยู่ผ่านเส้นทางฮัวหยงไปโดยไม่ทำอันตราย เมื่อกวนอูกลับมาหาเล่าปี่และจูกัดเหลียง กวนอูก็สารภาพความที่ตนปล่อยโจโฉไป จูกัดเหลียงสั่งให้ทหารนำตัวกวนอูไปประหารแต่เล่าปี่ได้ขอชีวิตกวนอูไว้ กวนอูจึงได้รับการละเว้นโทษโทษ[41]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

เหตุการณ์ไม่ถูกกล่าวถึงใน จดหมายเหตุสามก๊ก เป็นเรื่องที่แต่งเสริมขึ้น ในจดหมายเหตุ ชานหยางกงไจ้จี้ (山陽公載記) ได้บันทึกไว้ว่าหลังโจโฉพ่ายแพ้ในศึกเซ็กเพ็ก ได้ถอยทัพพร้อมทหารที่เหลือรอดผ่านเส้นทางฮัวหยง ตลอดเส้นทางมีหล่มโคลนเดินทางลำบาก โจโฉจึงสั่งให้ทหารที่อ่อนแอนำฟางและหญ้ามาถมหล่มโคลนให้ทหารม้าผ่านไปได้ ทหารเหล่านี้ถูกม้าเหยียบจมโคลนตายไปหลายนาย เมื่อโจโฉผ่านสถานการณ์วิกฤตนี้มาได้ก็มีความยินดี ขุนพลทั้งหลายจึงถามโจโฉว่าเหตุใดจึงยินดี โจโฉตอบว่า "แม้เล่าปี่จะเทียบได้กับข้าแต่มิอาจคิดการได้ไวเท่า หากเล่าปี่จุดไฟสกัดทางไว้เร็วกว่านี้ข้าก็จะหมดทางหนี" ฝ่ายเล่าปี่นั้นก็คิดการจะจุดเพลิงตามที่โจโฉคาดไว้แต่กระทำการช้าไปเพราะโจโฉหนีไปได้แล้ว [42]

การเสียชีวิตของไทสูจู้

แก้

ศึกเตียงสา

แก้

การแต่งงานของเล่าปี่และซุนฮูหยิน

แก้

จิวยี่เสนอ "อุบายนางงาม" (美人計) ให้ซุนกวนในการยึดครองแคว้นเกงจิ๋ว (荊州) จากเล่าปี่ แผนคือจะลวงเล่าปี่มายังกังตั๋งโดยอ้างว่าจะให้มาแต่งงานกับซุนหยินน้องสาวของซุนกวน (ต่อมาคือซุนฮูหยิน) เพื่อให้ทำให้พันธมิตรซุน-เล่าแน่นแฟ้นขึ้น จากนั้นซุนกวนจะจับเล่าปี่เป็นตัวประกันเพื่อแลกเปลี่ยนกับแคว้นเกงจิ๋ว จูกัดเหลียงรู้ทันอุบายจึงซ้อนกลทำให้การแต่งงานเกิดขึ้นจริง ทั้งทำให้เล่าปี่กลับมาเกงจิ๋วอย่างปลอดภัยพร้อมนางซุนฮูหยิน จิวยี่นำทหารไล่ตามแต่ถูกทหารเล่าปี่ซุ่มโจมตี จากนั้นทหารเล่าปี่ก็ตะโกนเยาะเย้ยว่า "อุบายจิวยี่แสนแยบยล เสียทั้งฮูหยินและรี้พล" (周郎妙計安天下,陪了夫人又折兵!) จิวยี่โกรธจนกระอักเลือดหมดสติไป [43]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

การแต่งงานของเล่าปี่และซุนฮูหยินมีบันทึกจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติเล่าปี่ว่า หลังเล่ากี๋ป่วยเสียชีวิต เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าปี่ได้ขอให้เล่าปี่รับตำแหนงผู้ว่าราชการแคว้นเกงจิ๋วแทน โดยมีเมืองเอกคือกองอั๋น (公安) ซุนกวนกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของเล่าปี่จึงให้เล่าปี่แต่งงานของน้องสาวของคนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของพันธมิตรซุน-เล่า [44] แสดงให้เห็นว่าการแต่งงานนั้นเกิดขึ้นในเมืองกองอั๋นโดยซุนกวนส่งน้องสาวมาแต่งงานกับเล่าปี่ แทนที่เล่าปี่จะเดินทางมาแต่งงานที่กังตั๋งของซุนกวน

อย่างไรก็ได้ ในบทชีวประวัติจิวยี่ได้บันทึกว่าจิวยี่เคยแนะนำซุนกวนให้กักตัวเล่าปี่ไว้ในกังตั๋ง หลังจากเล่าปี่ได้เป็นผู้ว่าราชการแคว้นเกงจิ๋ว เล่าปี่ได้เดินทางมาพบซุนกวนที่เมืองจิง (京) จิวยี่ได้บอกกับซุนกวนว่า "เล่าปี่มีลักษณะของจอมคนผู้โหดเหี้ยมและทะเยอทะยาน หนำซ้ำยังมีขุนพลที่แข็งแกร่งดั่งหมีและพยัคฆ์อย่างกวนอูและเตียวหุย เล่าปี่จึงไม่ใช่คนที่จะยอมอยู่ใต้ผู้อื่นเป็นแน่ ข้าพเจ้าเห็นว่าควรพาเล่าปี่กลับไปแดนง่อสร้างปราสาทให้อยู่ พร้อมปรนเปรอด้วยสตรีและทรัพย์สินของมีค่า จากนั้นเราจะแยกขุนพลสองคน(กวนอูและเตียวหุย)ออกจากกัน หากใช้เล่าปี่เป็นตัวประกัน และโจมตีทหารเล่าปี่ไปพร้อมๆกัน เป้าหมายของเรา(ยึดแคว้นเกงจิ๋ว)ก็จะสำเร็จ แม้นยังคงปล่อยให้พวกเล่าปี่มีดินแดนและปล่อยให้สามคนอยู่ด้วยกันแล้ว เกรงว่าเมื่อใดที่มังกรทะยานสู่เมฆและฝน จะไม่กลับคืนสู่บ่อน้ำอีก" ฝ่ายซุนกวนเห็นว่าโจโฉยังเป็นภัยคุกคามทางเหนือ จึงเห็นว่าควรมีพันธมิตรไว้จะเป็นการดีกว่าทำลายความเป็นพันธมิตร จึงปฏิเสธคำแนะนำของจิวยี่ [45] แสดงให้เห็นว่าจิวยี่ต้องการกักตัวเล่าปี่ไว้ในกังตั๋งเพื่อใช้เป็นตัวประกันในการควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าปี่ (กวนอู เตียวหุย และคนอื่นๆ) แต่ไม่มีการกล่าวถึงการใช้นางซุนฮูหยินเป็นเหยื่อล่อเล่าปี่มาติดกับ สตรีที่ถูกกล่าวถึงในอุบายจะถูกใช้เพื่อปรนเปรอเล่าปี่ระหว่างถูกกักตัวให้หลงระเริงจนลิมผู้ใต้บังคับบัญชา ที่สำคัญคืออุบายไม่ได้ถูกใช้งานจริงเพราะซุนกวนไม่เห็นด้วย เรื่องราวนี้ในวรรณกรรม สามก๊กจึงเป็นเรื่องที่แต่งเสริมขึ้นมา

จดหมายเหตุสามก๊กบทชีวประวัติหวดเจ้งได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเล่าปี่และนางซุนฮูหยินว่าไม่ได้รักใคร่ลึกซึ้งเหมือนในวรรณกรรมสามก๊ก ตรงกันข้าม เล่าปี่มีความระแวงและเกรงกลัวนางซุนฮูหยิน ครั้งหนึ่งจูกัดเหลียงได้กล่าวไว้ว่า "เมื่อครั้งนายท่าน(เล่าปี่)อยู่ที่กองอั๋น ท่านต้องคอยระแวดระวังอิทธิพลของโจโฉทางเหนือและต้องกริ่งเกรงซุนกวนทางตะวันออก แม้แต่ในอาณาบริเวณของบ้านตนเองก็ต้องหวาดกลัวซุนฮูหยินที่อาจก่อปัญหาขึ้นมาได้" [46] บุคลิกลักษณะของซุนฮูหยินที่ถูกกล่าวถึงในบทชีวประวัติหวดเจ้งกล่าวว่า ซุนกวนแต่งน้องสาวให้เล่าปี่ นางเป็นคนดุดันและหัวรั้นเหมือนพี่ชาย นางมีหญิงรับใช้ร้อยนาง ล้วนแล้วแต่ถือกระบี่ยืนให้ความคุ้มครอง ทุกครั้งที่เล่าปี่เข้ามาในห้องของนางเป็นต้องรู้สึกใจสั่นด้วยความกลัว[47]

การเสียชีวิตของจิวยี่

แก้

จิวยี่คิดอุบายช่วยซุนกวนยึดแคว้นเกงจิ๋วจากเล่าปี่ โดยแสร้งทำเป็นจะช่วยเล่าปี่ตีแคว้นเอ๊กจิ๋ว(เสฉวน)โดยจะขอยกทัพผ่านเกงจิ๋ว เมื่อเล่าปี่ตอบตกลง จิวยี่รู้สึกยินดีเพราะความตั้งใจแท้จริงแล้วคือการเข้าครองเกงจิ๋วระหว่างเดินทัพผ่าน แต่จูกัดเหลียงมองอุบายของจิวยี่ออกแล้วซ้อนกล จิวยี่จึงต้องกลอยู่ในวงล้อมของทหารเล่าปี่ จิวยี่โกรธมากจนตกจากหลังม้า ภายหลังจูกัดเหลียงส่งหนังสือถึงจิวยี่บอกให้จิวยี่ยกเลิกการยกไปตีเอ๊กจิ๋วแล้วกลับง่อก๊ก เพราะโจโฉจะฉวยโอกาสที่จิวยี่ไม่อยู่เข้ารุกรานง่อก๊ก ต่อมาจิวยี่ได้เขียนหนังสือถึงซุนกวนและฝากฝังกับขุนพลคนอื่นๆให้ช่วยเหลือราชการให้ซุนกวนอย่างเต็มความสามารถ จากนั้นจิวยี่ก็หมดสติไป เมื่อได้สติอีกครั้งก็ตัดพ้อว่า "เทพดาองค์ใดหนอซึ่งให้เราเกิดมาแล้ว เหตุใดจึงให้จูกัดเหลียงเกิดมาด้วยเล่า" จิวยี่ได้แต่พูดประโยคนี้หลายครั้งจนกระทั่งถึงแก่ความตาย

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามที่จิวยี่ถูกจูกัดเหลียงยั่วให้โกรธ ครั้งแรกหลังจากจิวยี่ถูกเกาทัณฑ์พิษของโจหยินในศึกลำกุ๋น เมื่อเล่าปี่ได้เข้ายึดหลายเมืองในแคว้นเกงจิ๋วตามคำแนะนำของจูกัดเหลียงระหว่างที่จิวยี่ยังคงวุ่นกับการทำศึกกับโจหยิน ครั้งที่สองเมื่อจูกัดเหลียงซ้อนกล "อุบายนางงาม" ของจิวยี่ (ดูที่ #การแต่งงานของเล่าปี่และซุนฮูหยิน) อาการป่วยของจิวยี่จากแผลเกาทัณฑ์พิษแย่ลงเรื่อยๆหลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ จนในที่สุดก็เสียชีวิตจากการถูกยั่วให้โกรธเป็นครั้งที่สามนี้[48]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติจิวยี่ ได้ระบุว่าจิวยี่กำลังเตรียมตัวจะยกทัพเข้าบุกเอ๊กจิ๋วและฮันต๋งทางภาคตะวันตกของจีน แต่ระหว่างทางได้ป่วยกะทันหันจนกระทั่งเสียชีวิตที่ตำบลปาขิว (巴丘)[49] ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องที่จูกัดเหลียงยั่วโมโหจิวยี่จนเสียชีวิต

ตำราพิชัยสงครามของโจโฉ

แก้

เล่าเจี้ยงส่งเตียวสงเป็นทูตไปพบโจโฉที่เมืองฮูโต๋ เตียวสงกล่าววิจารณ์โจโฉต่อหน้าเอียวสิ้วสมุห์บัญชีของโจโฉ เอียวสิ้วจึงนำตำราบังเต๊ก หรือเมิ่งเต๋อซินชู (孟德新書 แปลว่า ตำราเล่มใหม่ของเมิ่งเต๋อ (เมิ่งเต๋อเป็นชื่อรองของโจโฉ) ) ตำราพิชัยสงครามที่โจโฉเขียนขึ้นโดยเป็นการให้อรรถาธิบายขยายความในตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ เตียวสงดูตำราแล้วก็หัวเราะแล้วพูดว่า "หนังสือเช่นนี้เด็ก ๆ ในเมืองเสฉวนอ่านเล่นอึงอยู่ทั้งเมือง เป็นคำโบราณผู้มีปัญญาแต่งไว้ก่อน เหตุใดท่านจึงว่ามหาอุปราชแต่งเองเล่า ลักเอาคำเก่ามาว่า ปดได้ก็แต่ท่านให้หลงนับถือว่าดี"[50] [51] จากนั้นเตียวสงจึงท่องเนื้อความในตำราให้เอียงสิ้วฟังได้ตรงกับในตำราไม่ผิดเพี้ยน เมื่อเอียวสิ้วนำเรื่องนี้ไปแจ้งโจโฉ โจโฉจึงให้เอาตำราบังเต๊กนั้นไปฉีกและเผาไฟทิ้งเสีย

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุเว่ยชู (魏書) ได้บันทึกว่าโจโฉเขียนตำราพิชัยสงครามและมอบให้กับเหล่าขุนพล[52] เนื้อความในตำราบังเต๊กถู��กล่าวอ้างถึงในตำราพิชัยสงครามปุจฉาวิสัชนาจักรพรรดิถังไท่จงกับหลี่เว่ยกง (唐太宗李衛公問對) ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่างจักรพรรดิถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถังกับขุนพลหลี่จิ้ง [53] แสดงให้เห็นว่าเนื้อความตำราพิชัยสงครามบังเต๊กที่โจโฉเขียนขึ้นยังคงมีตกทอดถึงสมัยราชวงศ์ถัง

ศึกด่านตงก๋วน

แก้

การเสียชีวิตของบังทอง

แก้

ศึกด่านแฮบังก๋วน

แก้

กวนอูข้ามฟากไปกินโต๊ะพร้อมง้าวเล่มเดียว

แก้
 
ภาพจิตรกรรม "บุกเดี่ยวข้ามฟาก" (單刀赴會)ที่ระเบียงยาวของพระราชวังฤดูร้อน

กวนอูเดินทางข้ามแม่น้ำไปกินโต๊ะตามคำเชิญของโลซกโดยมีเพียงง้าวมังกรเขียว งานกินโต๊ะครั้งนี้โลซกและทหารฝ่ายซุนกวนจัดขึ้นเพื่อข่มขู่ให้กวนอูคืนแคว้นเกงจิ๋ว โดยมีลิบอง กำเหลง และทหารคนอื่นซุ่มกำลังอยู่บริเวณพื้นที่จัดเลี้ยงเพื่อรอสัญญาณจากโลซกให้ออกมารุมสังหารกวนอู กวนอูรู้ว่าเป็นอุบายแต่ก็ยังคงมาร่วมงานกินโต๊ะและโต้เถียงกับโลซกเรื่องแคว้นเกงจิ๋ว กวนอูแกล้งทำเป็นเมาสุราแล้วจับโลซกเป็นตัวประกันแล้วพามาที่ริมฝั่งน้ำ เมื่อมาถึงจึงปล่อยโลซกไป ส่วนกวนอูก็ขึ้นเรือของตนกลับเกงจิ๋ว [54]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

จดหมายเหตุสามก๊กระบุว่ากวนอูและโลซกได้เจรจากันเรื่องการแบ่งดินแดนของแคว้นเกงจิ๋ว ระหว่างการเจรจา ทั้งสองฝ่ายมีทหารตั้งมั่นอยู่ห่างจากสถานที่เจรจากว่าร้อยก้าว ขุนพลของแต่ละฝ่ายที่ร่วมในสถานที่เจรจาล้วนถืออาวุธ [55]

ฮัวโต๋รักษาแขนของกวนอู

แก้
 
ภาพจิตรกรรม "ขูดกระดูกรักษาพิษ" (刮骨療毒) ที่ระเบียงยาวของพระราชวังฤดูร้อน

ในศึกอ้วนเซีย กวนอูถูกเกาทัณฑ์อาบยาพิษยิงถูกแขนได้รับบาดเจ็บ หมอฮัวโต๋ได้มาที่ค่ายของกวนอูและเสนอตัวรักษาแขนให้กวนอู หลังจากได้ตรวจดูแผล ฮัวโต๋กล่าวว่าพิษได้ซึมลึกเข้าไปในกระดูกแล้ว แล้วบอกว่าต้องทำการผ่าตัดโดยการเอาผ้ามาปิดตากวนอูไม่ให้เห็นแล้วเอาปลอกแขนมารัดแขนกวนอูกับเสาไม่ให้ขยับได้ก่อนจะทำการผ่าตัด กวนอูบอกให้ฮัวโต๋ผ่าตัดโดยไม่ต้องปิดและไม่ต้องเอาปลอกรัด ฮัวโต๋ทำการผ่าเนื้อเปิดแผลที่แขนกวนอูจนเห็นกระดูก ขูดพิษที่กระดูกออก แล้วเย็บแผลให้ผสาน ตลอดการผ่าตัดกวนอูเล่นหมากล้อมกับม้าเลี้ยงโดยไม่แสดงสีหน้าเจ็บปวดให้เห็น กวนอูขอบคุณฮัวโต๋ที่รักษาแผลที่แขนให้พร้อมจะให้ทองเป็นรางวัล แต่ฮัวโต๋ปฏิเสธไม่ขอรับรางวัลแล้วจากไป [56]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติฮัวโต๋ไม่ได้ระบุปีที่ฮัวโต๋เสียชีวิต แต่สามารถอนุมานได้ว่าฮัวโต๋เสียชีวิตก่อนปี ค.ศ. 208 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ #การเสียชีวิตของโจโฉ) ศึกอ้วนเซียเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 219 คือ 11 ปีหลังจากปี ค.ศ. 208 ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ฮัวโต๋จะมารักษาแขนของกวนอู อย่างไรก็ดี ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติกวนอูมีการบันทึกถึงเรื่องที่หมอคนหนึ่งผ่าตัดแขนของกวนอู แต่หมอคนนั้นไม่ใช่ฮัวโต๋

การเสียชีวิตของลิบอง

แก้

ภายหลังจากยึดครองเกงจิ๋วและสามารถสังหารกวนอูจึงถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ซุนกวนได้จัดงานเลี้ยงฉลองชัยชนะแก่ลิบองและขุนพลอื่นๆ แต่จู่ๆลิบองได้ลุกขึ้นมาด่าว่าซุนกวน แท้ที่จริงแล้วถูกอสุรกายกวนอูที่ตายแล้วเข้าสิง หลังจากนั้นลิบองก็กระอักเลือดจนเสียชีวิตกลางงานเลี้ยง

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก ได้ระบุว่า ลิบองล้มป่วยตายอย่างสงบ มิได้ถูกผีสิงแต่ประการใด

เหตุการณ์หลังการเสียชีวิตของกวนอู

แก้

หลังกวนอูเสียชีวิต วิญญาณของกวนอูได้ลอยไปพร้อมร้องว่า "เอาศีรษะมาคืนให้เรา" วิญญาณของกวนอูมาถึงเขาจวนหยกสัน นอกเมืองตงหยง (ตองเอี๋ยง) แล้วได้พบกับเภาเจ๋ง หลวงจีนที่เคยช่วยชีวิตกวนอูเมื่อหลายปีก่อนที่ด่านกิสุยก๋วน เภาเจ๋งได้บอกกับวิญญาณของกวนอูว่า "กงเกวียนกำเกวียนตัวฆ่าเขา เขาฆ่าตัว เมื่อท่านฆ่างันเหลียง บุนทิวแลนายด่านห้าตำบลเสีย ใครมาทวงศีรษะแก่ท่านบ้าง ครั้งนี้ท่านเสียทีแก่ข้าศึกถึงแก่ความตายแล้ว ท่านมาร้องทวงศีรษะแก่ใครเล่า" วิญญาณของกวนอูได้ยินก็คิดได้แล้วหายตัวไป นับแต่นั้นมาก็สิงสถิตอยู่ที่เขาจวนหยกสันและปกป้องชาวบ้านจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ชาวบ้านได้สร้างศาลบนเขาขึ้นเพื่อเคารพวิญญาณของกวนอู ส่วนเภาเจ๋งก็ปลูกกระท่อมหญ้าขึ้นที่บริเวณตีนเขาจวนหยกสันด้านตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปีสุดท้ายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก วัดจวนหยก (玉泉寺) วัดเก่าแก่ของแดนเมืองตงหยงที่เป็นจุดกำเนิดของการสักการะกวนอูได้ถูกสร้างตรงตำแหน่งที่เป็นกระท่อมหญ้าหลังนั้น การสร้างวัดได้แล้วเสร็จในสมัยราชวงศ์สุย

ซุนกวนได้ส่งศีรษะของกวนอูไปให้โจโฉเพื่อผลักความรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของกวนอูให้โจโฉ เมื่อโจโฉเปิดกล่องที่ใส่ศีรษะกวนอู เห็นกวนอูมีสีหน้าปกติเหมือนเมื่อยังมีชีวิตจึงหัวเราะแล้วพูดกับศีรษะกวนอูว่า "กวนอูยังเป็นอยู่ไม่มาหาเรา บัดนี้ยังแต่ศีรษะเปล่าอุตส่าห์มาหาเรา" ทันใดนั้นศีรษะกวนอูก็เกิดลืมตาปากอ้าหนวดเคราขยับ โจโฉตกใจล้มลงหมดสติ เมื่อได้สติโจโฉก็พูดว่า "กวนอูคนนี้ศักดิ์สิทธิ์นัก เหมือนหนึ่งเทพดาลงมาจากชั้นฟ้า " จึงสั่งให้นำศีรษะกวนอูไปฝังอย่างสมเกียรติตามแบบขุนนางผู้ใหญ่ [57]

การเสียชีวิตของโจโฉ

แก้

ช่วงบั้นปลายชีวิตของโจโฉ โจโฉมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง จึงเรียกให้หมอฮัวโต๋มารักษา ฮัวโต๋วินิจฉัยว่าโรคของโจโฉเป็นลมเสียดแทงในกะโหลก และบอกว่าจะทำการรักษาโดยให้โจโฉกินยาชาให้ไม่รู้สึกตัว จากนั้นจึงใช้ขวานอันคมผ่าศีรษะของโจโฉแล้วชำระโรคในศีรษะ โจโฉนั้นเคยถูกหมอเกียดเป๋งพยายามลอบสังหารด้วยยาพิษ จึงระแวงว่าฮัวโต๋นั้นคิดจะฆ่าตนเพื่อแก้แค้นให้กวนอู จึงสั่งให้ทหารนำตัวฮ���วโต๋ไปขังคุก ฮัวโต๋เสียชีวิตในคุกในอีกไม่กี่วันต่อมา ไม่นานหลังจากนั้นโจโฉก็ป่วยหนักจนเสียชีวิต [58]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติโจโฉได้บันทึกว่าโจโฉเสียชีวิตที่เมืองลกเอี๋ยงในปี ค.ศ. 220 ขณะอายุได้ 66 ปี (นับอายุแบบจีน).[59] ส่วนบทชีวประวัติฮัวโต๋ได้บันทึกว่าโจโฉสั่งประหารฮัวโต๋เมื่อฮัวโต๋ปฏิเสธที่จะรักษาอาการปวดศีรษะเรื้อรังของโจโฉ ต่อมาโจโฉเสียใจที่สั่งประหารฮัวโต๋ไป เพราะบุตรของโจโฉชื่อโจฉอง (เฉาชง) ป่วยเสียชีวิตขณะอายุยังน้อย และโจโฉเชื่อว่าถ้าฮัวโต๋ยังอยู่คงสามารถรักษาโจฉองได้ บทชีวประวัติฮัวโต๋ไม่ได้ระบุปีที่ฮัวโต๋เสียชีวิต แต่อนุมานได้ว่าฮัวโต๋เสียชีวิตก่อนปี ค.ศ. 208 ซึ่งเป็นปีที่โจฉองเสียชีวิต[60] ดังนั้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวรรณกรรมสามก๊กจึงเป็นเรื่องที่แต่งเสริมขึ้นมา

ในบันทึกชื่อยฺหวี่ (世語) และเฉาหมานฉวน (曹瞞傳) ได้บันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนโจโฉเสียชีวิต ในชื่อยฺหวี่บันทึกว่าโจโฉต้องการสร้างวังในเมืองลกเอี๋ยง จึงสั่งให้ทำลายศาลเจ้าจั๋วหลง (濯龍祠) แต่บังเกิดเลือดออกจากต้นไม้ข้างศาล [61] ในเฉาหมานฉวนบันทึกว่าโจโฉต้องการย้ายต้นสาลี่ เมื่อคนงานถอนรากต้นสาลี่ขึ้นมาก็เลือดมีเลือดไหลออกจากราก คนงานทั้งหลายต่างตกตะลึง โจโฉได้ยินเรื่องนี้จึงเดินทางไปดูด้วยตนเอง โจโฉได้เห็นก็รู้สึกว่าเป็นลางร้ายเมื่อกลับมาถึงบ้านก็ล้มป่วย [62]

ยุทธการที่อิเหลง

แก้

การเสียชีวิตของเตียวเลี้ยว

แก้

จับและปล่อยเบ้งเฮ็กเจ็ดครั้ง

แก้

เบ้งเฮ็กราชาของชนเผ่าอนารยชนลำมันก่อกบฏต่อจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงจึงนำทัพไปสยบชนเผ่าลำมันแล้วจับเบ้งเฮ็กได้เจ็ดครั้ง แล้วปล่อยตัวเบ้งเฮ็กไปทั้งเจ็ดครั้ง ในหกครั้งแรก เบ้งเฮ็กไม่ยอมรับความพ่ายแพ้เพราะตนถูกจับด้วยกลอุบาย ไม่ได้มาจากการรบจริง ๆ จูกัดเหลียงจึงปล่อยเบ้งเฮ็กเพื่อให้โอกาสรบแก้ตัว ในการถูกจับครั้งที่เจ็ด เบ้งเฮ็กรู้สึกละอายใจตัวเองจึงสาบานกับจูกัดเหลียงขอภักดีต่อจ๊กก๊กตลอดไป [63]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

เผย์ ซงจือได้แทรกอรรถาธิบายในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติจูกัดเหลียง ซึ่งมีการกล่าวถึง "จับเจ็ดครั้งปล่อยเจ็ดครั้ง"[64] แต่ไม่มีรายละเอียดของการจับและปล่อยแต่ละครั้ง ตัวละครที่เกี่ยวข้องกับเบ้งเฮ็กอย่างงากฟัน จกหยง เบ้งฮิว และ บกลกไต้อ๋อง ล้วนเป็นตัวละครสมมติ

กบฏซินเสีย

แก้

การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 2 (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 2)
  2. (督郵以公事到縣,先主求謁,不通,直入縛督郵,杖二百,解綬係其頸著馬枊,五葬反。棄官亡命。 典略曰:其後州郡被詔書,其有軍功為長吏者,當沙汰之,備疑在遣中。督郵至縣,當遣備,備素知之。聞督郵在傳舍,備欲求見督郵,督郵稱疾不肯見備,備恨之,因還治,將吏卒更詣傳舍,突入門,言「我被府君密教收督郵」 。遂就床縛之,將出到界,自解其綬以系督郵頸,縛之著樹,鞭杖百餘下,欲殺之。督郵求哀,乃釋去之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
  3. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 4 (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 4).
  4. (卓表太祖為驍騎校尉,欲與計事。太祖乃變易姓名,間行東歸。魏曰:太祖以卓終必覆敗,遂不就拜,逃歸鄉里。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  5. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 4. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 5)
  6. (出關,過中牟,為亭長所疑,執詣縣,邑中或竊識之,為請得解。世語曰:中牟疑是亡人,見拘於縣。時掾亦已被卓書;唯功曹心知是太祖,以世方亂,不宜拘天下雄俊,因白令釋之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  7. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 7. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 8-9)
  8. (卓常使布守中閤,布與卓侍婢私通,恐事發覺,心不自安。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
  9. (然卓性剛而褊,忿不思難,嘗小失意,拔手戟擲布。布拳捷避之,為卓顧謝,卓意亦解。由是陰怨卓。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 7.
  10. 101 คำถามสามก๊ก, หลี่จวนฉวินและคณะ, ถาวร สิกขโกศล แปล, สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2556, หน้า 41
  11. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 22. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 24-25)
  12. (先主之襲殺徐州刺史車胄,使羽守下邳城,行太守事,魏書云:以羽領徐州。而身還小沛。建安五年,曹公東徵,先主奔袁紹。曹公禽羽以歸,拜為偏將軍,禮之甚厚。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  13. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 23. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 25-26)
  14. (紹遣大將軍顏良攻東郡太守劉延於白馬,曹公使張遼及羽為先鋒擊之。羽望見良麾蓋,策馬刺良於萬眾之中,斬其首還,紹諸將莫能當者,遂解白馬圍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  15. (紹渡河,壁延津南,使劉備、文丑挑戰。太祖擊破之,斬丑,再戰,禽紹大將。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 6.
  16. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 24-25. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 26-28)
  17. (初,曹公壯羽為人, ... 左右欲追之,曹公曰:「彼各為其主,勿追也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  18. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 25. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 28)
  19. (紹遣先主將本兵復至汝南,與賊龔都等合,眾數千人。曹公遣蔡陽擊之,為先主所殺。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
  20. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 31. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 34-35)
  21. (世語曰:備屯樊城,劉表禮焉,憚其為人,不甚信用。曾請備宴會,蒯越、蔡瑁欲因會取備,備覺之,偽如廁,潛遁出。所乘馬名的盧,騎的盧走,墮襄陽城西檀溪水中,溺不得出。備急曰:「的盧:今日厄矣,可努力!」的盧乃一踴三丈,遂得過,乘浮渡河,中流而追者至,以表意謝之,曰:「何去之速乎!」) อรรถาธิบายบันทึก ชื่อยฺหวี่ ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
  22. (孫盛曰:此不然之言。備時羈旅,客主勢殊,若有此變,豈敢晏然終表之世而無釁故乎?此皆世俗妄說,非事實也。) อรรถาธิบายของซุนเซิ่งใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
  23. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกน้องชายของจูกัดเหลียงว่า จูกัดกิ๋น ซ้ำกับจูกัดกิ๋น (จูเก๋อจิ่น) ที่เป็นพี่ชายของจูกัดเหลียง
  24. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 33. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 37-38)
  25. (由是先主遂詣亮,凡三往,乃見。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  26. (亮乃北行見備,備與亮非舊,又以其年少,以諸生意待之。坐集既畢,眾賓皆去,而亮獨留,備亦不問其所欲言。備性好結毦,時適有人以髦牛尾與備者,備因手自結之。亮乃進曰:「明將軍當復有遠志,但結毦而已邪!」備知亮非常人也,乃投毦而答曰:「是何言與!我聊以忘憂耳。」亮遂言曰:「將軍度劉鎮南孰與曹公邪?」備曰:「不及。」亮又曰:「將軍自度何如也?」備曰:「亦不如。」曰:「今皆不及,而將軍之眾不過數千人,以此待敵,得無非計乎!」備曰:「我亦愁之,當若之何?」亮曰:「今荊州非少人也,而著籍者寡,平居發調,則人心不悅;可語鎮南,令國中凡有游戶,皆使自實,因錄以益眾可也。」備從其計,故眾遂強。備由此知亮有英略,乃以上客禮之。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  27. (...三顧臣於草廬之中,諮臣以當世之事。) จูกัดเหลียง. ฎีกาออกศึกครั้งแรก.
  28. อมร ทองสุก (แปลและเรียบเรียง). ตำราพิชัยสงครามขงเบ้ง. บริษัท ชุณหวัตร จำกัด. พ.ศ. 2551.
  29. (臣松之以為亮表云「先帝不以臣卑鄙,猥自枉屈,三顧臣於草廬之中,諮臣以當世之事」,則非亮先詣備,明矣。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  30. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 38. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 44)
  31. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 39.
  32. (備進住夏口,使諸葛亮詣權,權遣同瑜、程普等行。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
  33. (時劉備為曹公所破,欲引南渡江。與魯肅遇於當陽,遂共圖計,因進住夏口,遣諸葛亮詣權。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
  34. (備遂到夏口,遣亮使權,肅亦反命。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
  35. (先主至於夏口,亮曰:「事急矣,請奉命求救於孫將軍。」時權擁軍在柴桑,觀望成敗,亮說權曰:「海內大亂,將軍起兵據有江東,劉豫州亦收眾漢南,與曹操並爭天下。今操芟夷大難,略已平矣,遂破荊州,威震四海。英雄無所用武,故豫州遁逃至此。將軍量力而處之:若能以吳、越之眾與中國抗衡,不如早與之絕﹔若不能當,何不案兵束甲,北面而事之!今將軍外託服從之名,而內懷猶豫之計,事急而不斷,禍至無日矣!」權曰:「苟如君言,劉豫州何不遂事之乎?」亮曰:「田橫,齊之壯士耳,猶守義不辱,況劉豫州王室之冑,英才蓋世,眾士仰慕,若水之歸海,若事之不濟,此乃天也,安能復為之下乎!」權勃然曰:「吾不能舉全吳之地,十萬之眾,受制於人。吾計決矣!非劉豫州莫可以當曹操者,然豫州新敗之後,安能抗此難乎?」亮曰:「豫州軍雖敗於長阪,今戰士還者及關羽水軍精甲萬人,劉琦合江夏戰士亦不下萬人。曹操之眾,遠來疲弊,聞追豫州,輕騎一日一夜行三百餘里,此所謂『彊弩之末,勢不能穿魯縞』者也。故兵法忌之,曰『必蹶上將軍』。且北方之人,不習水戰﹔又荊州之民附操者,逼兵勢耳,非心服也。今將軍誠能命猛將統兵數萬,與豫州協規同力,破操軍必矣。操軍破,必北還,如此則荊、吳之勢彊,鼎足之形成矣。成敗之機,在於今日。」權大悅,即遣周瑜、程普、魯肅等水軍三萬,隨亮詣先主,並力拒曹公。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  36. (十五年春, ... 冬,作銅雀台。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  37. ชมปราสาทตั้งเซ็กไต๋ ในวิกิซอร์ซภาษาจีน เจ็ดวรรคที่เพิ่มเติมขึ้นมาแสดงด้วยตัวอักษรสีแดง (จีน)
  38. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 40. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 46)
  39. (魏略曰:權乘大船來觀軍,公使弓弩亂發,箭著其船,船偏重將覆,權因回船,復以一面受箭,箭均船平,乃還。) อรรถาธิบายจากจดหมายเหตุ เว่ยเลฺว่ ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
  40. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 41. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 49)
  41. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 41-42. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 50-51)
  42. (山陽公載記曰:公船艦為備所燒,引軍從華容道步歸,遇泥濘,道不通,天又大風,悉使羸兵負草填之,騎乃得過。羸兵為人馬所蹈藉,陷泥中,死者甚眾。軍既得出,公大喜,諸將問之,公曰:「劉備,吾儔也。但得計少晚;向使早放火,吾徒無類矣。」備尋亦放火而無所及。) อรรถาธิบายจากจดหมายเหตุ ชานหยางกงไจ้จี้ ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  43. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 45. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 54-55)
  44. (琦病死,群下推先主為荊州牧,治公安。權稍畏之,進妹固好。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
  45. (劉備以左將軍領荊州牧,治公安,備詣京見權,瑜上疏曰:"劉備以梟雄之姿,而有關羽、張飛熊虎之將,必非久屈為人用者。愚謂大計宜徙備置吳,盛為築宮室,多其美女玩好,以娛其耳目,分此二人,各置一方,使如瑜者得挾與攻戰,大事可定也。今猥割土地以資業之,聚此三人,俱在疆場,恐蛟龍得雲雨,終非池中物也。"權以曹公在北方,當廣攬英雄,又恐備難卒制,故不納。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
  46. (亮答曰:「主公之在公安也,北畏曹公之強,東憚孫權之逼,近則懼孫夫人生變於肘腋之下;...」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  47. (初,孫權以妹妻先主,妹才捷剛猛,有諸兄之風,侍婢百餘人,皆親執刀侍立,先主每入,衷心常凜凜;...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  48. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 46. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 56-57)
  49. (是時劉璋為益州牧,外有張魯寇侵,瑜乃詣京見權曰:「今曹操新折衂,方憂在腹心,未能與將軍道兵相事也。乞與奮威俱進取蜀,得蜀而并張魯,因留奮威固守其地,好與馬超結援。瑜還與將軍據襄陽以蹙操,北方可圖也。」權許之。瑜還江陵,為行裝,而道於巴丘病卒,時年三十六。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
  50. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 49. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 60)
  51. (此書吾蜀中三尺小童,亦能暗誦,何為『新書』?此是戰國時無名氏所作,曹丞相盜竊以為己能,止好瞞足下耳!) สามก๊ก ตอนที่ 60 (ภาษาจีน).
  52. (魏書曰:太祖自統禦海內,芟夷群醜,其行軍用師,大較依孫、吳之法,而因事設奇,譎敵制勝,變化如神。自作兵書十萬餘言,諸將征伐,皆以新書從事。) อรรถาธิบายจากจดหมายเหตุเว่ยชู ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  53. ปุจฉาวิสัชนาจักรพรรดิถังไท่จงกับหลี่เว่ยกง ในวิกิซอร์ซภาษาจีน.
  54. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 54.(เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 66)
  55. (肅邀羽相見,各駐兵馬百步上,但諸將軍單刀俱會。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
  56. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 59. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 74-75)
  57. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 61. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 77)
  58. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 62. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 77-78)
  59. (庚子,王崩於洛陽,年六十六。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  60. (佗之絕技,凡此類也。 ... 及後愛子倉舒病困,太祖嘆曰:「吾悔殺華佗,令此兒強死也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 29.
  61. (世語曰:太祖自漢中至洛陽,起建始殿,伐濯龍祠而樹血出。) อรรถาธิบายจากบันทึกชื่อยฺหวี่ ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  62. (曹瞞傳曰:王使工蘇越徙美梨,掘之,根傷盡出血。越白狀,王躬自視而惡之,以為不祥,還遂寢疾。) อรรถาธิบายจากบันทึกเฉาหมานฉวน ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  63. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 67-69. (เนื้อเรื่องตรงกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับภาษาจีนตอนที่ 87-91)
  64. (亮笑,縱使更戰,七縱七禽,而亮猶遣獲。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.