เลียวฮัว (ราวปลายทศวรรษ 180 - ค.ศ. 264)[1] หรือชื่อในภาษาจีนกลางว่า เลี่ยว ฮฺว่า (จีน: 廖化; พินอิน: Liào Huà) ชื่อรอง ยฺเหวียนเจี่ยน (จีน: 元儉; พินอิน: Yuánjiǎn) มีชื่อเดิมว่า เลียวซุน หรือในภาษาจีนกลางว่า เลี่ยว ฉุน (จีน: 廖淳; พินอิน: Liào Chún) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นหนึ่งในข้าราชการไม่กี่คนที่รับราชการในจ๊กก๊กตลอดช่วงเวลาที่ดำรงอยู่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนล่มสลาย เช่นเดียวกับเตียวเอ๊กและจองอี้

เลียวฮัว (เลี่ยว ฮฺว่า)
廖化
รูปเคารพของเลียวฮัวในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สร้างในปี ค.ศ. 1849
ขุนพลทหารม้าและรถรบฝ่ายขวา
(右車騎將軍)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ข้าหลววงมณฑลเป๊งจิ๋ว (并州刺史)
(ในนาม)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
เจ้าเมืองงิเต๋า (宜都太守)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 221 (221) – ค.ศ. 223 (223)
กษัตริย์เล่าปี่
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ปรากฏ
เซียงหยาง มณฑลหูเป่ย์
เสียชีวิตค.ศ. 264[1]
อาชีพขุนพล
ชื่อรองยฺเหวียนเจี่ยน (元儉)
บรรดาศักดิ์จงเซียงโหฺว
(中鄉侯)
ชื่อเดิมเลียวซุน (廖淳 เลี่ยว ฉุน)

ประวัติช่วงต้นในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของกวนอู

แก้

เลียวฮัวเป็นชาวเมืองซงหยง (เซียงหยาง) มณฑลเกงจิ๋ว (จิงโจว) รับราชการเป็นเสมียน (主簿 จู่ปู้) ภายใต้บังคับบัญชาของกวนอู ขุนพลผู้รับใช้ขุนศึกเล่าปี่และทำหน้าที่รักษาอาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋ว ช่วงปลายปี ค.ศ. 219 กวนอูยกทัพไปทำศึกในยุทธการที่อ้วนเสีย ซุนกวนที่เป็นพันธมิตรของเล่าปี่ทำลายความเป็นพันธมิตรระหว่างทั้งสองฝ่ายโดยการยกทัพรุกรานมณฑลเกงจิ๋ว และยึดได้อาณาเขตส่วนใหญ่ของเล่าปี่ในมณฑ��เกงจิ๋ว กวนอูถูกจับและถูกประหารชีวิตโดยทัพของซุนกวน เลียวหัวกลายเป็นเชลยศึกของซุนกวน แต่คิดจะกลับไปฝ่ายเล่าปี่อยู่ตลอด จึงแกล้งตายลวงคนของฝ่ายซุนกวนและหลบหนีไปได้สำเร็จ เลียวฮัวพามารดาชราไปด้วยแล้วมุ่งหน้าทิศตะวันตกไปยังมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง) ที่ซึ่งฐานอำนาจของเล่าปี่ตั้งอยู่[2]

รับราชการในจ๊กก๊ก

แก้

ในปี ค.ศ. 221 เล่าปี่ขึ้นเป็นจักรพรรดิและสถาปนารัฐจ๊กก๊ก ต่อมาในปีเดียวกัน เล่าปี่ยกทัพทำศึกเพื่อชิงอาณาเขตคืนและแก้แค้นให้กวนอู เลียวฮัวและมารดาไปเจอเข้ากับทหารจ๊กก๊กที่อำเภอจีกุ๋ย (จื่อกุย) เล่าปี่ยินดีมากที่พบเลียวฮัวจึงแต่งตั้งให้เลียวฮัวเป็นเจ้าเมืองงิเต๋า (宜都郡 อี๋ตูจวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองอี๋ตู มณฑลหูเป่ย์) หลังเล่าปี่เสียชีวิตในปี ค.ศ. 223 เลียวฮัวได้เป็นที่ปรึกษาทัพ (參軍; ชานจวิน) ภายใต้สังกัดของจูกัดเหลียง อัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊ก ต่อมาเลียวฮัวได้ไปกำกับอำเภอกวั๋งอู่ (廣武郡 กวั๋งอู่จวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณอำเภอหย่งเติง มณฑลกานซู่) และต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นขุนพลรถรบและม้าศึกฝ่ายขวา (右車騎將軍; โยฺ่วเชอฉีเจียงจวิน) และยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงมณฑลเป๊งจิ๋ว (ปิ้งโจว) แม้ว่ามณฑลเป๊งจิ๋วไม่ได้อยู่ในอาณาเขตของจ๊กก๊กก็ตาม และยังได้รับบรรดาศักดิ์เป็นจงเซียงโหฺว (中鄉侯) เลียวฮัวมีชื่อเสียงจากบุคลิกรุนแรงและมุ่งมั่น ตำแหน่งทางการทหารของเลียวฮัวในจ๊กก๊กเทียบเท่ากับเตียวเอ๊กและสูงกว่าจองอี้[3]

ราวเดือนกันยายน ค.ศ. 238 เลียวฮัวนำกองกำลังเข้าโจมตีค่ายที่กุยห้วย ข้าหลวงมณฑลยงจิ๋ว (雍州刺史 ยงโจวชื่อฉื่อ) ในเวลานั้นตั้งมั่นอยู่พร้อมกับทัพหลักของวุยก๊กในยงจิ๋ว กุยห้วยโต้ตอบด้วยการส่งผู้ใต้บังคับบัญชาคือหวัง ยฺวิน (王赟) เจ้าเมืองกวั่งเว่ย์ (廣魏) และโหยว อี้ (游奕) เจ้าเมืองลำอั๋น (南安 หนานอัน) ไปรับศึก แม่ทัพฝ่ายวุยก๊กต้องการกระจายกำลังเข้าโอบล้อมทหารจ๊กก๊กและยึดครองจุดยุทธศาสตร์ระหว่างภูเขาเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารจ๊กก๊กหนี แต่เวลาเดียวกันกลยุทธ์การกระจายกำลังของวุยก๊กก็ทำให้ค่ายของโหยว อี้อยู่ในตำแหน่งที่อันตราย เลียวฮัวเห็นเป็นโอกาสจึงเข้าโจมตีจนเอาชนะได้โดยข้าศึกไม่ทันตั้งตัว กองกำลังของโหยว อี้จึงจำต้องถอย ส่วนหวัง ยฺวินถูกเกาทัณฑ์เสียชีวิตในที่รบ[4]

เลียวฮัวเคยวิจารณ์เกียงอุยขุนพลของจ๊กก๊กที่สานต่อนโยบายของจูกัดเหลียงในการยกทัพโจมตีวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊กในระหว่าง ค.ศ. 240 ถึง 2562 ทั้งหมดสิบเอ็ดครั้ง เลียวฮัวเข้าร่วมในการบุกครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ในปี ค.ศ. 247 และ ค.ศ. 249 ตามลำดับ ครั้นปี ค.ศ. 260 เมื่อเกียงอุยกำลังจะเริ่มการบุกครั้งที่ 11 เลียวฮัวให้ความเห็นว่า "'ผู้ที่ไม่ละเว้นจากการใช้กำลังทางทหารจะต้องจบลงด้วยการเผาตัวเอง' นี่คือสถานการณ์ในบัดนี้ของปั๋วเยฺว่ (ชื่อรองของเกียงอุย) เขาด้อยกว่าข้าศึกในด้านสติปัญญาและกำลังทหาร แต่ก็ยังคงโจมตีข้าศึกต่อไป จะคาดหวังชัยชนะได้อย่างไร เหตุการณ์ในทุกวันนี้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในวรรคนี้จากซือจิงที่ว่า 'เหตุใดสิ่งเหล่านี้จึงไม่อยู่ต่อหน้าข้า หรือเหตุใดจึงไม่เกิดขึ้นด้านหลังข้า'"[5]

ประวัติหลังจ๊กก๊กล่มสลาย

แก้

ปลายปี ค.ศ. 263 วุยก๊กรัฐอริของจ๊กก๊กยกทัพเข้ายึดจ๊กก๊กเป็นผลสำเร็จภายในเวลาหนึ่งปีเมื่อเล่าเสี้ยนจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กยอมจำนน หลังจากการล่มสลายของจ๊กก๊ก เลียวฮัวได้รับคำสั่งให้ย้ายจากดินแดนจ๊กก๊กเดิมไปยังลกเอี๋ยง (ลั่วหยาง) นครหลวงของวุยก๊ก เลียวฮัวป่วยเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง[6]

ปีที่เลียวฮัวเกิดไม่สามารถรระบุได้เพราะไม่มีการบันทึกอายุขณะที่เลียวฮัวเสียชีวิตในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่สามารถอนุมานได้ว่าเลียวฮัวมีอายุราวเจ็ดสิบปีเมื่อเขาเสียชีวิต เพราะเมื่อราวปี ค.ศ. 261 เมื่อจูกัดเจี๋ยมเข้ามาดูแลกิจการในราชสำนักจ๊กก๊ก เลียวฮัวไปเยี่ยมจองอี้ จองอี้พูดว่า "เราทั้งคู่ต่างก็อายุเกินเจ็ดสิบปีแล้ว ..."[7]

ในนิยายสามก๊ก

แก้

ในนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เขียนเมื่อศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก มีเรื่องราวเกี่ยวกับเลี่ยวฮัวที่ไม่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์

เลียวฮัวนั้นเดิมเคยเป็นทหารของโจรโพกผ้าเหลือง แต่หลังจากโจรโพกผ้าเหลืองล่มสลาย ก็ไปตั้งซ่องสุมกับพวกโจรทั้งหลาย เช่นจิวฉอง หุยง่วนเสียว เลียวฮัวแม้จะเป็นโจรมาก่อนแต่ก็มีคุณธรรม บันทึกไว้ว่า เมื่อกวนอูและภรรยาของเล่าปี่มาถึงเขาที่พวกโจรสุมกำลังอยู่ พวกโจรจับตัวภรรยาของเล่าปี่จะเอามาทำเมีย แต่เลียวฮัวเห็นว่าเป็นสิ่งไม่สมควร จึงฆ่าโจรตาย และนำภรรยาของเล่าปี่มาคืนให้กวนอู เลียวฮัวเมื่อเห็นกวนอูแล้วก็ขอร่วมทางกับกวนอูไปด้วย แต่กวนอูรังเกียจที่เลียวฮัวเป็นโจร จะปฏิเสธอย่างหน้าด้าน ๆ ก็น่าเกลียด จึงบอกให้เลียวฮัวรอไปก่อน ส่วนกวนอูก็พาจิวฉองไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เลียวฮัวก็ได้มารับราชการกับเล่าปี่อยู่ดี หลังจากนั้นเลียวฮัวก็ไม่ค่อยมีบทบาทอะไรมากนัก แต่บทบาทสำคัญของเลียวฮัวก็คือ การช่วยกวนอูรักษาเมืองเกงจิ๋วในปี ค.ศ. 219 กวนอูที่กำลังเป็นฝ่ายเสียเปรียบต้องหนีไปเมืองเป๊กเสีย ก็ขอคนที่ส่งจดหมายไปขอความช่วยเหลือจากเล่าฮองและเบ้งตัด เลียวฮัวเป็นผู้ถือจดหมายไปให้ แต่ก็ถูกเล่าฮองและเบ้งตัดปฏิเสธ เลียวฮัวยัวะจึงไปหาเล่าปี่ สุดท้ายกวนอูพร้อมกวนเป๋งก็ตาย จิวฉองและฮองฮูที่ช่วยกวนอูรบก็ฆ่าตัวตาย เล่าฮองก็ตาย เบ้งตัดก็หนีไปอยู่กับโจผี

ต่อมาติดตามขงเบ้งปราบวุยก๊ก จากนั้นก็เป็นแม่ทัพหน้าเมื่อเกียงอุยบุกวุยก๊ก ถึงแม้เลียวฮัวจะไม่มีฝีมือสูงส่งจนคนเล่าลือกันว่า "จ๊กก๊กไร้ขุนพล เลียวฮัวเป็นทัพหน้า" และเมื่อครั้งวุยก๊กยกทัพบุกจ๊กก๊ก เลียวฮัว เกียงอุย และเตียวเอ๊กช่วยกันรักษาด่านเกียมโก๊ะอย่างสุดชีวิตแต่ก็ไม่สำเร็จ หลังจ๊กก๊กล่ม เลียวฮัวล้มป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา รวมอายุได้ถึง 95 ปี นับว่าเป็นขุนศึกที่เจนสงครามมากคนนึง

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Brill. p. 464. ISBN 978-90-04-15605-0.
  2. (廖化字元儉,本名淳,襄陽人也。為前將軍關羽主簿,羽敗,屬吳。思歸先主,乃詐死,時人謂為信然,因携持老母晝夜西行。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 45.
  3. (會先主東征,遇於秭歸。先主大恱,以化為宜都太守。先主薨,為丞相參軍,後為督廣武,稍遷至右車騎將軍,假節,領并州刺史,封中鄉侯,以果烈稱。官位與張翼齊,而在宗預之右。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 45.
  4. (《魏书》:九月,蜀阴平太守廖惇反,攻守善羌侯宕蕈营。雍州刺史郭淮遣广魏太守王赟、南安太守游奕将兵讨惇。淮上书:"赟、奕等分兵夹山东西,围落贼表,破在旦夕。"帝曰:"兵势恶离。"促诏淮敕奕诸别营非要处者,还令据便地。诏敕未到,奕军为惇所破;赟为流矢所中死。) อรรถาธิบายจาก เว่ย์ชู ใน สามก๊กจี่
  5. (漢晉春秋曰:景耀五年,姜維率衆出狄道,廖化曰:「『兵不戢,必自焚』,伯約之謂也。智不出敵,而力少於寇,用之無厭,何以能立?詩云『不自我先,不自我後』,今日之事也。」) อรรถาธิบายจาก ฮั่นจิ้นชุนชิว ใน สามก๊กจี่ เล่มที่ 45.
  6. (咸熈元年春,化、預俱內徙洛陽,道病卒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 45.
  7. (時都護諸葛瞻初統朝事,廖化過預,欲與預共詣瞻許。預曰:「吾等年踰七十,所竊已過,但少一死耳,何求於年少輩而屑屑造門邪?」遂不往。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 45.

บรรณานุกรม

แก้