ภาษาบาสก์
บาสก์ | |
---|---|
Euskara - เออุสการา | |
ประเทศที่มีการพูด | สเปนและฝรั่งเศส |
ภูมิภาค | แคว้นประเทศบาสก์ |
จำนวนผู้พูด | 1,063,700 คน (ผู้พูดเป็นภาษาแรก: 700,000 คน) (ไม่พบวันที่) |
ตระกูลภาษา | |
สถานภาพทางการ | |
ภาษาทางการ | แคว้นประเทศบาสก์และแคว้นนาวาร์ (สเปน) |
ผู้วางระเบียบ | ราชบัณฑิตยสถานภาษาบาสก์ |
รหัสภาษา | |
ISO 639-1 | eu |
ISO 639-2 | baq (B) eus (T) |
ISO 639-3 | eus |
บาสก์ (อังกฤษ: Basque) เป็นภาษาที่พูดโดยชาวบาสก์ซึ่งอาศัยอยู่แถบเทือกเขาพีเรนีสในตอนกลางของภาคเหนือของประเทศสเปน รวมทั้งในบริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศสที่มีอาณาเขตติดต่อกัน หรือลึกลงไปกว่านั้นคือ ชาวบาสก์ได้ครอบครองแคว้นปกครองตนเองที่มีชื่อว่าแคว้นประเทศบาสก์ (Basque Country autonomous community) ซึ่งมีวัฒนธรรมและอิสระในการปกครองตนเองทางการเมือง นอกจากนี้ก็ยังมีชาวบาสก์ที่อยู่ในเขตนอร์เทิร์นบาสก์ในฝรั่งเศสและแคว้นปกครองตนเองนาวาร์ในสเปนอีกด้วย ชื่อเรียกภาษาบาสก์อย่างเป็นทางการ (ในภาษาตนเอง) คือ เออุสการา (euskara) ส่วนในรูปภาษาถิ่นอื่น ๆ ได้แก่ เออุสเกรา (euskera) เอสกูอารา (eskuara) และ อุสการา (üskara) แม้ว่าในทางภูมิศาสตร์จะถูกล้อมรอบด้วยภาษาในตระกูลอินโด-ยูโรเปียน แต่ภาษาบาสก์กลับจัดเป็นภาษาโดดเดี่ยว (language isolate) ไม่ใช่ภาษาในตระกูลดังกล่าว
ระบบการเขียน
[แก้]ภาษาบาสก์ใช้อักษรละตินในการเขียน
ตัวอักษรในปัจจุบัน | |||||
---|---|---|---|---|---|
A | a อา | J | jota โยตา | R | ere เอเร |
B | be เบ | K | ka กา | S | ese เอเซ |
D | de เด | L | ele เอเล | T | te เต |
E | e เอ | M | eme เอเม | U | u อู |
F | efe เอเฟ | N | ene เอเน | X | ekis เอกิส |
G | ge เก | Ñ | eñe เอญเญ | Z | zeta เซตา |
H | atxe อัตเช | O | o โอ | ||
I | i อี | P | pe เป |
ตัวอักษรพิเศษที่ใช้กันทั่วไป คือ ñ บางครั้งยังมีการใช้ ç และ ü ด้วย แต่จะไม่ใช้ตัว c (เซ), q (กู), v (อูเบ), w (อูเบบีโกอิตซา) และ y (อีเกรโกอา) ยกเว้นในคำยืม โดยไม่จัดว่าตัวอักษรเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในพยัญชนะบาสก์ ส่วนทวิอักษร (digraphs) dd, ll, rr, ts, tt, tx และ tz ซึ่งมีความสำคัญในการออกเสียง ถูกจัดให้เป็นอักษรคู่ (double letters)
ตัวอักษรและทวิอักษรแต่ละตัวจะแทนหน่วยเสียงเพียงหนึ่งเดียว ข้อยกเว้นหลักคือ เมื่อ l หรือ n มี i นำหน้า ในหลายภาษาถิ่นจะออกเสียง l และ n โดยยกลิ้นส่วนหน้าขึ้นสู่เพดานแข็ง (palatalization) ไปเป็นเสียง ll และ ñ แม้ว่าจะไม่ได้เขียนไว้ก็ตาม ดังนั้นคำว่า อีกูร์รีญา (ikurriña) อาจเขียนได้ว่า ikurrina โดยไม่มีการเปลี่ยนเสียง ในขณะที่คำว่า ไอย์โนอา (Ainhoa) จำเป็นต้องใช้ h (ซึ่งไม่ออกเสียง) เพื่อหยุดการแปรทางเสียงของ n
h โดยทั่วไปไม่ออกเสียง แต่ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือ หลายแห่งจะออกเสียงโดยมีเหตุผลหลักคือเพื่อการคงอยู่ของตัวอักษรนี้ในภาษาบาสก์
ในระบบการเขียนของซาบีโน อารานา (Sabino Arana - 1865-1903) ได้ใช้ตัว ĺ และ ŕ แทนที่ ll (เอเย) และ rr (เอเร) ตามลำดับ