ข้ามไปเนื้อหา

โลโมกราฟี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กล้อง LOMO LC-A ปี 1988
ภาพถ่ายโลโมของปราสาทวากายามะ

โลโมกราฟี (อังกฤษ: Lomography) เป็นเครื่องหมายการค้าของ Lomographische AG ประเทศออสเตรีย สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการเกี่ยวกับการถ่ายภาพ. โดยได้ซื้อสิทธิ์การใช้ชื่อมาจากโลโม (LOMO PLC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเลนส์ของรัสเซีย. กล้อง 35 มม. LOMO LC-A ถูกโปรโมตโดยผู้ที่ชื่นชอบในงานแสดงภาพต่าง ๆ ทั่วโลก

สถานีโทรทัศน์บีบีซีเคยได้นำมาทำเป็นภาพยนตร์สารคดี “Lomo Documentary” [1]

ประวัติ

[แก้]

เดิมทีกล้องโลโม่ออกแบบมาเพื่อใช้ในหน่วยงานสายลับของกองทัพรัสเซีย โดย LOMO ย่อมาจาก Leningrad Optical-Machanical Organization ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ผลิตเลนส์เพื่อใช้ในโครงการอวกาศของกิจการกองทัพและผลิตเลนส์ที่ใช้ในกล้องโทรทัศน์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2526 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงและอุตสาหกรรมของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น มีคำสั่งให้หน่วยงาน LOMO ผลิตกล้องเลียนแบบกล้องคอมแพคท์ของญี่ปุ่นขึ้นมาให้เร็วที่สุด ถูกที่สุดและมากที่สุด เพื่อแจกจ่ายให้พลเมืองรัสเซียทุกคนได้รู้จักการถ่ายรูป โดยมีคำขวัญว่า "คอมมิวนิสต์อันทรงเกียรติทุกคนควรมีกล้อง Lomo Kompakt Automat LC-A เป็นของตัวเอง" โดยผู้ผลิตกล้อง Lomo Kompakt Automat LC-A คือ Michail Aronowitsch Radionov อดีตหน่วยตำรวจลับของส���ภาพโซเวียต[2]

ต่อมาเมื่อในปี พ.ศ. 2534 Matthias Fiegl และ Wolfgang Stranzinger หนึ่งในผู้บริหารบริษัท Lomographische AG เดินทางไปท่องเที่ยวที่เมืองปราก สาธารณรัฐเช็ก แต่ลืมนำกล้องถ่ายรูปไปด้วย จึงไปซื้อและได้รู้จักกับกล้อง Lomo Kompakt Automat โดยบังเอิญ และหลังจากได้ถ่ายและล้างรูปจากร้านล้างรูปธรรมดาในซุเปอร์มาร์เก็ต[2] ผลออกมา พบว่าภาพถ่ายมีสีสันจัดจ้านดูผิดเพี้ยน แต่มีความสวยงามจนทำให้พวกเขาได้หลงใหลกับภาพที่ปรากฏขึ้น และในปี 2535 Fiegl และเพื่อนได้จัดตั้งบริษัท Lomographische AG ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย หลังจากนั้นไม่นานกระแสความนิยมในโลโม่กระจายไปทั่วโลก ภายใต้แนวความคิดว่า "Lomography is an analog lifestyle product"[3]

เอกลักษณ์

[แก้]

โลโมกราฟีเน้นการถ่ายภาพจากระดับเอว การใช้สีจัดเกิน สิ่งปนเปื้อนบนเลนส์ และจุดตำหนิอย่างจงใจ เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นศิลปะ เป็นนามธรรม เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักถ่ายภาพโลโมกราฟีนิยมชมชอบ. ด้วยขนาดที่เล็ก ทำให้กล้องโลโมเป็นที่นิยมสำหรับการพกพา และใช้บันทึกภาพในชีวิตประจำวัน. นอกจากนี้ ความสามารถในการถ่ายในที่ ๆ มีแสงน้อยได้ ทำให้มันเป็นที่นิยมสำหรับการภาพทีเผลอ (แคนดิด) การรายงานด้วยภาพ และภาพเหตุการณ์จริง (photo vérité, คำว่า vérité เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ความจริง)

คุณสมบัติของโลโมแต่ละรุ่นมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน เช่น Holka และ Diana เป็นกล้อง Medium Format, Actionsampler และ Supersampler สร้างภาพได้หลายเฟรมหลายแอคชั่นในการกดชัตเตอร์ครั้งเดียว, Pop- 9 จะให้ภาพซ้ำแบบ Pop Art, Colorsplash มีแฟลชที่เปลี่ยนสีได้, Fisheye ลักษณะภาพจะดูนูน ขอบรูปวงกลม ดีไซน์กล้องที่ดูกึ่งๆ คลาสสิก, LC-A+ มีการ Recite ในเชิงประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นกล้องโลโม่รุ่นแรกตั้งแต่สมัยสายลับรัสเซีย[1]

คติของโลโมกราฟีคือ "ไม่ต้องคิด ถ่ายไปเลย" ("don't think, just shoot")

กฎ 10 ข้อ ของโลโมกราฟี[4]

  1. พกกล้องโลโมของคุณไปทุกที่
  2. ใช้มันตอนไหนก็ได้ - ทั้งกลางวันและกลางคืน
  3. โลโมกราฟีไม่ใช่สิ่งสอดแทรก, แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณ
  4. ถ่ายจากเอว
  5. เข้าใกล้วัตถุที่คุณต้องการความโลโม ให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้
  6. ไม่ต้องคิด
  7. ทำให้เร็ว
  8. คุณไม่จำเป็นต้องรู้ล่วงหน้าว่าคุณจะถ่ายได้อะไรในฟิล์ม
  9. และคุณก็ไม่จำเป็นต้องรู้หลังจากถ่าย เช่นกัน
  10. ไม่ต้องห่วงเรื่องกฎหรอก

สังคมโลโม

[แก้]

แบรนด์โลโมค่อย ๆ เจริญเติบโต จนมีสังคมทางเว็บไซต์ ด้วยอาศัยสมรรถนะของเทคโนโลยี 2.0 ที่ผู้ใช้สามารถทำให้ฐานชุมชนของแบรนด์เติบโตขึ้นได้ด้วยตัวเอง ที่สามารถให้อับโหลดภาพฟรี การโพสต์ข้อเขียน ยังมีการใช้กลยุทธ์การบริหารงานผ่านเครือข่ายตั้งแต่ระดับโลกผ่านเว็บไซต์ lomography.com และในระดับภูมิภาคเอเชียกับ lomographyasia.com ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในฮ่องกง ขณะเดียวกันยังมีการทำตลาดแบบโลคอล ตามหัวเมืองหลักๆ ของโลกกว่า 70 แห่ง ซึ่งแต่ละประเทศในระดับท้องถิ่นมีการจัด ประกวดภาพถ่าย การทำ Workshop การจัดLomo trip การให้บริการหลังการขาย หรือหากเดินทางไปต่างประเทศ ผู้ถือสัญชาติ Lomographer สามารถใช้กล้องเป็นวีซ่า เพื่อเข้าไปขอคำปรึกษาในด้านต่างๆ ได้ เช่น การหาร้านอัดภาพในประเทศนั้นๆ ปัญหาในการใช้กล้อง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมของสาวกโลโม่ทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุด ในงาน Lomo World Congress ซึ่งล่าสุดจัดขึ้นที่ลอนดอน

ส่วนในประเทศไทยมีการก่อตั้งสมาคม Lomography ประเทศไทย ซึ่งเคยมีการจัดงานร่วมกับ“ไทเกอร์เบียร์” นำไปใช้ในการจัดงาน “Tiger Translate” กิจกรรมใหญ่ ดนตรี ศิลปะ กับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ[1]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ศศิขวัญ ศรีกระจ่าง , ถอดรหัส LOMO ปลุกชีพฟิล์ม ได้ใจเด็กแนว Positioning Magazine พฤษภาคม 2551
  2. 2.0 2.1 The World of Lomo /PHOTO MARKETING หน้า 16 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 1999
  3. นิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ 291 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 หน้า 196-201
  4. The 10 Golden Rules of Lomography เก็บถาวร 2007-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Lomographic Society International

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]