ข้ามไปเนื้อหา

โรคมือ เท้า และปาก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรคมือ เท้า และปาก
(Hand, foot and mouth disease)
ชื่ออื่นEnteroviral vesicular stomatitis with exanthem
รอยโรคที่ปากของเด็กอายุ 11 เดือน
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
อาการมีไข้, ผื่นแดงแบนหรือนูน อาจกลายเป็นตุ่มน้ำใส[1][2]
ภาวะแทรกซ้อนTemporary loss of nails, viral meningitis[3]
การตั้งต้น3–6 วันหลังได้รับเชื้อ[4]
ระยะดำเนินโรค1 สัปดาห์[5]
สาเหตุCoxsackievirus A16, Enterovirus 71[6]
วิธีวินิจฉัยวินิจฉัยจากอาการหรือการตรวจเพาะเชื้อไวรัส[7]
การป้องกันการล้างมือ[8]
การรักษารักษาตามอาการ[5]
ยายาแก้ปวดลดไข้ เช่น ibuprofen[9]
ความชุกเกิดการระบาดเป็นครั้งๆ[1]

โรคมือ เท้า และปาก (อังกฤษ: Hand, foot and mouth disease) เป็นโรคติดเชื้อในมนุษย์ เกิดจากไวรัสในแฟมิลีพิคอร์นาไวริดี ซึ่งสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคนี้ที่พบบ่อยที่สุดคือไวรัสคอกแซคกี เอ และ Enterovirus 71 เชื้อก่อโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ ค็อกแซกกีเอชนิด 16 ซึ่งทำให้เกิดอาการที่ไม่รุนแรง และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ ที่พบน้อยแต่รุนแรงคือ ไวรัสเอนเทอโรชนิด 71

โรคมือ เท้า และปากส่วนใหญ่พบในเด็ก เป็นโรคที่พบได้บ่อย การติดต่อค่อนข้างง่ายผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วย โรคนี้ส่วนใหญ่ติดต่อจากการกินอาหาร น้ำดื่ม การดูดเลียนิ้วมือ หรือของเล่นที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง หรือละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย พบน้อยที่จะติดต่อโดยการสูดเอาละอองน้ำมูกน้ำลายที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด มักมีการระบาดเป็นกลุ่มเล็กในสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาล ส่วนใหญ่พบในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วง ระยะฟักตัวประมาณ 3-7 วัน

โรคนี้พบน้อยในผู้ใหญ่ แต่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจติดเชื้อได้ง่าย โรคนี้เป็นคนละโรคกับโรคเท้าและปาก (Foot-and-mouth disease) ซึ่งเกิดกับวัว แกะ แม้จะเกิดจากไวรัสในแฟมิลีพิคอร์นาไวริดีเหมือนกันก็ตาม

พยาธิสรีรวิทยา

[แก้]

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อผ่านทางการสัมผัสอุจจาระผ่านทางปาก (fecal-oral route) หรือทางการสัมผัสรอยโรคที่ผิวหนังหรือสารคัดหลั่งจากช่องปากโดยตรง ต่อมาจึงเกิดมีการเพิ่มจำนวนของไวรัสในเลือด จากนั้นไวรัสจึงรุกรานเข้าไปยังผิวหนังและเยื่อบุ การตายของเซลล์เยื่อบุแบบอะพอพโทซิสที่เกิดเป็นบริเวณกว้างจะทำให้เกิดรอยโรคซึ่งมีลักษณะเฉพาะของโรคนี้

อาการ

[แก้]

อาการแรกเริ่มเหมือนกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป คือมีความรู้สึกไม่สบายตัวประมาณ 1-2 วัน จากนั้นเริ่มมีไข้ หลังติดเชื้อ 3-7 วัน เด็กจะมีอาการไข้ และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย หลังจากนั้น 1-2 วัน จะมีน้ำมูก เจ็บปาก เจ็บคอ ไม่ยอมดูดนม ไม่อยากกินอาหาร เด็กเล็กอาจร้องงอแง เมื่อตรวจดูในปากพบจุดนูนแดงๆ หรือมีน้ำใสอยู่ข้างใต้ ขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้นและเหงือก ซึ่งต่อมาจะแตกกลายเป็นแผลตื้นๆ และมีอาการเจ็บมาก ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นแผลในปาก อาจขึ้นบนลิ้น กระพุ้งแก้ม หรือเพดานอ่อนได้

ในเวลาไล่เลี่ยกันก็จะมีผื่นขึ้นที่มือและเท้า ในเด็กบางคนขึ้นในฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือแก้มก้น โดยตอนแรกมักขึ้นเป็นจุดแดงราบก่อน แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำตามมา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-7 มิลลิเมตร มักไม่คันไม่เจ็บ บางรายเป็นส่วนน้อยที่มีอาการคัน อาการไข้มักเป็นอยู่ 3-4 วันก็ทุเลาไปเอง ส่วนแผลในปากมักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ และตุ่มน้ำที่มือและเท้าจะหายได้เองภายใน 10 วัน ในรายที่เป็นรุนแรง (ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย) อาจมีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนรุนแรง ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว มีอาการชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบเหนื่อย

ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน (เต็มที่ไม่เกิน 2 สัปดาห์) โดยจะมีไข้อยู่เพียง 3-4 วันแรก ส่วนน้อยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวตามมา ซึ่งหากรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้

พยากรณ์โรค

[แก้]

พยากรณ์โรคโดยทั่วไปดีมาก ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะหายเป็นปกติได้แม้ไม่ได้รับการรักษา ภาวะแทรกซ้อนนั้นพบได้น้อยมาก โดยอาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ (aseptic meningitis) และภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทอื่นๆ ได้ แต่ส่วนใหญ่หายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจำเพาะ

ผู้ป่วยบางส่วนอาจเจ็บแผลในปากมาก จนทำให้ไม่สามารถกินอาหารและน้ำได้ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่ง

aseptic meningitis อาจพบในโรคมือ เท้า และปาก ที่เกิดจากไวรัสคอกแซคกี ส่วนการติดเชื้อ EV-71 นั้นมีอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทมากกว่า ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ เช่น กลุ่มอาการคล้ายโปลิโอ เยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไม่พบเชื้อ สมองอักเสบ สมองและไขสันหลังอักเสบ ภาวะกล้ามเนื้อเสียการประสานงานจากสมองน้อยเฉียบพลัน โรคไขสันหลังอักเสบตามขวางเฉียบพลัน กลุ่มอาการกิลแลง บาร์เร opsomyoclonus syndrome และความดันในกะโหลกศีรษะสูงชนิดไม่ร้าย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุทาง immunopathology หรือความเสียหายต่อเกรย์แมทเทอร์ที่เกิดจากไวรัส

ภาวะแทรกซ้อนกับระบบหัวใจและปอดนั้นเกิดขึ้นได้แต่น้อยมาก ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ interstitial pneumonitis และ pulmonary edema ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสคอกแซกกีมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทและผลที่ตามมาได้น้อยกว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อ EV-71 โดย Chang และคณะ ได้วิเคราะห์การระบาดของโรคมือ เท้า และปากในไต้หวันเมื่อ ค.ศ. 1998 พบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อ EV-71 68% ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ[10] 32% มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่ง 7.3% มี aseptic meningitis, 4.5% มี encephalomyelitis และ 6.8% มี pulmonary edema ที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต (ผู้ป่วย 7.9% เสียชีวิต และ 4% มีผลติดตัวจากภาวะแทรกซ้อน) ส่วนในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ coxsackievirus A16 94% ไม่มีภาวะแทรกซ้อน มีเพียง 6.3% ที่มีภาวะแทรกซ้อนเป็น aseptic meningitis และไม่มีผู้เสียชีวิตหรือมีผลติดตัวจากภาวะแทรกซ้อน

Chong และคณะ ศึกษาการระบาดในสิงคโปร์เมื่อ ค.ศ. 2000 พบว่าการมีอาการอาเจียน เม็ดเลือดขาวสูง และการไม่พบรอยโรคในปาก เป็นปัจจัยเสี่ยงที่พยากรณ์ว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนถึงเสียชีวิตได้[11]

การสังเกตแยกโรค

[แก้]

ในระยะแรกที่มีไข้ เจ็บคอ น้ำมูก อาจคิดว่าเป็นเพียงไข้หวัด ถ้าเป็นไข้หวัดก็มักจะไม่มีอาการเป็นแผลในปาก และมีตุ่มน้ำตามมือและเท้าตามมา ในระยะที่พบแผลในปากอาจทำให้คิดว่าเป็น แผลแอฟทัส (aphthous ulcer) ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ และตุ่มน้ำตามมือและเท้า แผลในปากมักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ นอกจากนี้ อาการขึ้นตุ่มน้ำใสตามผิวหนัง อาจเกิดจากโรคอื่น เช่น เริม จะมีตุ่มขึ้นเป็นหย่อมเล็กๆ เพียงหย่อมเดียว ไม่กระจายอยู่หลายแห่ง และมักไม่มีไข้ มักจะแตกเป็นแผลตกสะเก็ด และหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ อีสุกอีใส จะมีไข้และผื่นขึ้นพร้อมกันใน 1-2 วันแรก ผื่นมีลักษณะเป็นจุดแดง ตุ่มนูนและกลายเป็นตุ่มใส กระจายตามใบหน้า ลำตัว และแขนขา บางครั้งอาจขึ้นในช่องปากร่วมด้วย เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ และไม่พบว่ามีอาการแทรกซ้อน ก็จะให้การดูแลรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาชาทาแผลในปาก (ถ้าเจ็บมาก) ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองหรือพุพองก็จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน เป็นต้น ถ้ามีภาวะขาดน้ำเนื่องจากกินและดื่มไม่ได้ ก็จะให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ก็จำเป็นต้องรับเด็กไว้รักษาในโรงพยาบาลหรือส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลต่อไป

การรักษา

[แก้]

ส่วนใหญ่หายได้โดยไม่ต้องใช้ยา เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคจากเชื้อไวรัส ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาจำเพาะที่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายได้ดีกว่าการรักษาประคับประคอง เพราะฉะนั้นการรักษาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การบรรเทาอาการตามที่มี เช่น การใช้ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาความเจ็บแผล เป็นต้น ผู้ป่วยเด็กโตหรือผู้ใหญ่มักมีอาการไม่มาก และเป็นอยู่ไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรืออาจเป็นนานกว่านั้นได้แต่พบน้อย

การป้องกัน

[แก้]

วัคซีน

[แก้]

มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ EV71 ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคนี้ ผลิตโดยประเทศจีน มีใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 2015[12]

ข้อแนะนำสำหรับการป้องกันดูแลโรค มือ เท้า ปาก

[แก้]

1.พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรแนะนำสุขอนามัยส่วนบุคคลแก่บุตรหลาน และผู้ดูแลเด็ก โดยเฉพาะ การล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการเตรียมอาหารหรือก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย ผู้ดูแลควรมีการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่โดยเฉพาะอย่างยิ���ง หลังทำความสะอาดก้นให้เด็ก การรักษาสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร เช่น การใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำร่วมกัน นอกจากนั้น ควรให้เด็กอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี ไม่พาเด็กเล็กไปในที่แออัด

2.ผู้ประกอบการในสถานเลี้ยงเด็กควรดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานด้าน สุขลักษณะของสถานที่อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเช็ดถูอุปกรณ์เครื่องเรือน เครื่องเล่น หรืออุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำ รวมทั้งการกำจัดอุจจาระให้ถูกต้องและล้างมือบ่อยๆ

3.ในโรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถมศึกษา ควรเพิ่มเติมความรู้เรื่องโรคและการป้องกันตนเอง เช่น ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กป่วย การล้างมือและการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ผู้ดูแลสระว่ายน้ำ ควรรักษาสุขลักษณะของสถานที่ตามประกาศของกรมอนามัย เพื่อป้องกันการระบาดของ โรคมือ เท้า ปาก

4.ในกรณีที่เด็กมีอาการป่วยซึ่งสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที และแยก เด็กอื่นไม่ให้คลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ที่มีการระบาด หากเด็กมีตุ่ม ในปาก โดยที่ยังไม่มีอาการอื่น ให้หยุดเรียน อยู่บ้านไว้ก่อน ให้เด็กที่ป่วยขับถ่ายอุจจาระลงในที่รองรับ แล้วนำไปกำจัดให้ถูกสุขลักษณะในส้วม หากเด็กมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น เช่น ไม่ยอม ทานอาหาร ไม่ยอมดื่มน้ำ ต้องรีบพาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

5.สำหรับท่านที่จะพาบุตรหลานที่เป็นเด็กเล็กไปต่างประเทศที่มีการระบาด สามารถเดินทางได้ตามปกติ โดยให้ปฏิบัติตนตามสุขลักษณะที่ดี หลีกเลี่ยงพาบุตรหลานไปสถานที่แออัด และหากบุตรหลานมีอาการป่วยที่สงสัยโรคมือ เท้า ปาก ให้พาไปพบแพทย์

6.การทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ที่เด็กป่วยสัมผัส ทั้งในบ้าน สถานศึกษา สถานที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า แนะนำให้ทำความสะอาดด้วยแบบสบู่ หรือผงซักฟอก ปกติก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว เช่น คลอรอกซ์ ไฮเตอร์ ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้าง/เช็ด/แช่ ด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง ส่วนของเล่นที่เด็กอาจเอาเข้าปากได้ ให้ทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติ และนำไปผึ่งแดด

การระบาดใน พ.ศ. 2555

[แก้]

การระบาดของโรคใน พ.ศ. 2555 นับว่ามีการระบาดมากที่สุดในรอบ 30 ปี[13] ส่งผลให้โรงเรียนทั่วประเทศไทยต้องปิดการเรียนการสอนเป็นจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา[14] มีผู้ป่วยรวม 17,000 ราย เสียชีวิต 2 ราย[15] ทั้งนี้เชื้อที่ระบาดในครั้งนี้เป็น คอกแซคกี เอ6 ซึ่งส่วนใหญ่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปาก มีโอกาสน้อยที่จะทำให้เกิดสมองอักเสบหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ[16]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Kam2013
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Lancet2010
  3. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ CDC2015Comp
  4. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Hoy2012
  5. 5.0 5.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Harrison's
  6. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Repass2014
  7. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ CDC2015Diag
  8. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ CDC2015Cau
  9. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ CDC2015Tx
  10. Chang LY, Lin TY, Huang YC, Tsao KC, Shih SR, Kuo ML, et al. Comparison of enterovirus 71 and coxsackie-virus A16 clinical illnesses during the Taiwan enterovirus epidemic, 1998. Pediatr Infect Dis J. Dec 1999;18(12):1092-6.
  11. Chong CY, Chan KP, Shah VA, Ng WY, Lau G, Teo TE, et al. Hand, foot and mouth disease in Singapore: a comparison of fatal and non-fatal cases. Acta Paediatr. Oct 2003;92(10):1163-9.
  12. Mao, QY; Wang, Y; Bian, L; Xu, M; Liang, Z (May 2016). "EV71 vaccine, a new tool to control outbreaks of hand, foot and mouth disease (HFMD)". Expert Review of Vaccines. 15 (5): 599–606. doi:10.1586/14760584.2016.1138862. PMID 26732723. S2CID 45722352.
  13. http://www.thairath.co.th/content/edu/279920
  14. http://www.thairath.co.th/content/edu/276024/
  15. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1343552781&grpid=&catid=19&subcatid=1904
  16. http://www.thairath.co.th/content/edu/279920

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก