เฮนรี สแตฟฟอร์ด ดยุกที่ 2 แห่งบักกิงแฮม
เฮนรี สตาฟฟอร์ด ดยุคแห่งบัคคิงแฮมที่ 2 | |
---|---|
ภาพวาดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของเฮนรี สตาฟฟอร์ด | |
เกิด | 4 กันยายน ค.ศ. 1455 |
อสัญกรรม | 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1483 (28 ปี) |
บรรดาศักดิ์ | ผู้มีบทบาทในสงครามดอกกุหลาบ |
คู่สมรส | แคทเธอรีน วูดวิลล์ ดัชเชสแห่งบักกิงแฮม |
บุตร | เอ็ดเวิร์ด สตาฟฟอร์ด ดยุคที่ 3 แห่งบักกิงแฮม เอลิซาเบธ สตาฟฟอร์ด เคาน์เตสแห่งซัสเซ็กซ์ เฮนรี สตาฟฟอร์ด เอิร์ลที่ 1 แห่งวิลต์เชอร์ แอนน์ สตาฟฟอร์ด เคาน์เตสแห่งฮันติงดอน |
ขุนนางอังกฤษ - กษัตริย์อังกฤษ - ชาวอังกฤษ |
เฮนรี สตาฟฟอร์ด ดยุคแห่งบัคคิงแฮมที่ 2 (อังกฤษ: Henry Stafford, 2nd Duke of Buckingham) (4 กันยายน ค.ศ. 1455 - 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1483) เฮนรี สตาฟฟอร์ดเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อความรุ่งเรืองและการตกอับของสมเด็จพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 และหนึ่งในผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนในการหายสาบสูญ (หรือฆาตกรรม) ของเจ้าชายแห่งหอคอย ดยุคแห่งบัคคิงแฮมมีความสัมพันธ์กับพระราชวงศ์อังกฤษหลายทาง แต่โอกาสที่จะมีสิทธิในราชบัลลังก์ออกจะเป็นเรื่องที่ไกลจากความเป็นจริง แต่เมื่อฝ่ายยอร์คและแลงคาสเตอร์ผู้สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 มีความขัดแย้งกัน โอกาสของบัคคิงแฮมก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้ นักประวัติศาสตร์อ้างว่าบัคคิงแฮมจงใจวางแผนที่จะยึดบัลลังก์มาตั้งแต่ระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 และเกือบจะประสบความสำเร็จถ้าทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามแผน
ฮัมฟรีย์ สตาฟฟอร์ด เอิร์ลแห่งสตาฟฟอร์ดบิดาของเฮนรีสนับสนุนฝ่ายแลงคาสเตอร์ในยุคแรกของสงครามดอกกุหลาบ[1] และมาเสียชีวิตจากการได้รับบาดเจ็บในยุทธการเซนต์อัลบันส์ครั้งที่ 1 แต่เฮนรีสนับสนุนฝ่ายยอร์ค
สายตระกูล
[แก้]ตระกูลสตาฟฟอร์ดเป็นตระกูลขุนนางที่ดองกับราชวงศ์อังกฤษในปี ค.ศ. 1390 เมื่อธอมัส สตาฟฟอร์ด เอิร์ลที่ 3 แห่งสตาฟฟอร์ดสมรสกับแอนน์แห่งกลอสเตอร์ พระราชนัดดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 โดยเธอเป็นธิดาของธอมัสแห่งวูดสต็อก ดยุคแห่งกลอสเตอร์ พระราชโอรสคนสุดท้ายของกษัตริย์ ทว่าหลังสมรสได้สองปี ธอมัส สตาฟฟอร์ดถึงแก่กรรมโดยไร้ทายาท
ในปี ค.ศ. 1398 แอนน์สมรสกับเอ็ดมันด์ เอิร์ลที่ 5 แห่งสตาฟฟอร์ด น้องชายของธอมัส ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันสามคน ฮัมฟรีย์ สตาฟฟอร์ด บุตรชายคนเดียวของทั้งคู่เป็นผู้นำที่มีชื่อเสียงทั้งในช่วงสงครามร้อยปีและสงครามดอกกุหลาบ ในปี ค.ศ. 1444 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นดยุคที่ 1 แห่งบักกิงแฮม และได้สมรสกับแอนน์ เนวิลล์ ธิดาของราล์ฟ เนวิลล์ เอิร์ลแห่งเวสต์มอร์แลนด์ กับโจน โบฟอร์ท พระราชนัดดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 โดยเธอเป็นธิดาของจอห์นแห่งกอนท์ ดยุคแห่งแลงคัสเตอร์ พระราชโอรสคนที่สามของกษัตริย์ การสมรสทำให้ฮัมฟรีย์กลายเป็นคู่เขยของริชาร์ด ดยุคแห่งยอร์ก และเป็นน้องเขยของริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 5 แห่งซอลส์บรี
ฮัมฟรีย์กับแอนน์มีบุตรด้วยกันหลายคน บุตรชายคนโตของทั้งคู่ คือ ฮัมฟรีย์ สตาฟฟอร์ด เอิร์ลแห่งสตาฟฟอร์ด ซึ่งสมรสกับมาร์กาเร็ต โบฟอร์ท ธิดาของเอ็ดมันด์ โบฟอร์ท ดยุคที่ 2 แห่งซอเมอร์เซ็ตซึ่งเป็นบุตรชายของจอห์น โบฟอร์ท เอิร์ลที่ 1 แห่งซอเมอร์เซ็ต พี่ชายของโจน โบฟอร์ท
เฮนรี สตาฟฟอร์ดซึ่งเป็นบุตรชายของฮัมฟรีย์ สตาฟฟอร์ด เอิร์ลแห่งสตาฟฟอร์ดกับมาร์กาเร็ตโบฟอร์ทจึงถือเป็นญาติใกล้ชิดของราชวงศ์ เนื่องจากปู่ย่าตายายสามในสี่คนของเขาสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3
วัยเยาว์
[แก้]ดยุคน้อยแห่งบักกิงแฮม
[แก้]เฮนรี สตาฟฟอร์ด เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1455 โดยเป็นบุตรชายของฮัมฟรีย์ สตาฟฟอร์ด เอิร์ลแห่งสตาฟฟอร์ด กับมาร์กาเร็ต โบฟอร์ด บิดาของเฮนรีเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายแลงคัสเตอร์ในช่วงแรกของสงครามดอกกุหลาบและถึงแก่กรรมก่อนบิดาของตนในปี ค.ศ. 1458 จากบาดแผลที่ได้มาจากยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ครั้งที่ 1 ขณะต่อสู้ให้พระเจ้าเฮนรีที่ 6 เฮนรีจึงกลายเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งดยุคแห่งบักกิงแฮมของฮัมฟรีย์ สตาฟฟอร์ด ดยุคที่ 1 แห่งบักกิงแฮมผู้เป็นปู่ที่ภักดีต่อฝ่ายแลงคัสเตอร์เช่นกันและถูกสังหารในยุทธการที่นอร์แธมป์ตันเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1460 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 กษัตริย์จากราชวงศ์ยอร์กรีบเอาตัวเฮนรีมาอยู่มาอยู่ในการอุปถัมป์ เด็กน้อยได้กลายเป็นเด็กในอุปถัมป์คนสำคัญของกษัตริย์ ขุนนางหลายคนอยากให้ธิดาของตนได้สมรสกับเฮนรี เพื่อให้ได้ตำแหน่งขุนนางเจ้าของที่ดินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตำแหน่งหนึ่งมาเป็นส่วนหนึ่งของตระกูลตน
การสมรสกับแคทเธอรีน วูดวิลล์
[แก้]พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ได้อภิเษกสมรสกับเอลิซาเบธ วูดวิลล์ ภรรยาม่ายของจอห์น เกรย์แห่งกรอบี โดยจัดพิธีสมรสอย่างลับๆ ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1464 การสมรสของทั้งคู่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานการณ์ทางการเมืองของกษัตริย์ พันธมิตรแทบทุกคนของกษัตริย์เอาใจออกห่างจากพระองค์เมื่อคนในตระกูลวูดวิลล์และตระกูลเกรย์ได้รับการปูนบำเหน็จมากมาย หนึ่งในสิ่งที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ข้าราชสำนักของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดคือการที่กษัตริย์ให้เฮนรี สตาฟฟอร์ดซึ่งขณะนั้นมีอายุ 11 ปีสมรสกับแคทเธอรีน วูลวิลล์ พระขนิษฐาวัย 6 ปีของพระราชินีเอลิซาเบธ พิธีสมรสถูกจัดขึ้นอย่างลับๆ ในช่วงก่อนการราชาภิเษกของพระราชินีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1465
ในฐานะคนของฝ่ายแลงคัสเตอร์ ดยุคแห่งบักกิงแฮมไม่มีอำนาจใดๆ ได้ในช่วงที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ครองบัลลังก์ ดยุคแห่งบักกิงแฮมกับภรรยาถูกเลี้ยงดูในครัวเรือนของพระราชินี ยกเว้นในช่วงที่ฝ่ายแลงคัสเตอร์ยึดบัลลังก์กลับคืนมาได้เป็นเวลาสั้นๆ ในช่วงปี ค.ศ. 1470-71 ซึ่งเขาได้ย้ายไปอยู่กับย่า เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 กลับมาจากการถูกเนรเทศเพื่อกอบกู้บัลลังก์กลับคืนมา ดยุคแห่งบักกิงแฮมอยู่เคียงข้างพระองค์จนฝ่ายยอร์กได้รับชัยชนะที่บาร์เน็ตและทิวก์ส์บรีจนได้รับตำแหน่งมากมายเป็นรางวัลตอบแทนความจงรักภักดี ดยุคยังคงเป็นผู้สนับสนุนที่ภักดีของฝ่ายยอร์กแม้ว่าบิดาและปู่ของเขาจะถูกสังหารโดยฝ่ายยอร์ก และไม่เคยแสดงออกว่าไม่พึงพอใจในตัวเจ้าสาวที่ถูกจับสมรสกันตั้งแต่ยังเด็ก
ไม่มีหลักฐานว่าดยุคแห่งบักกิงแฮมกับแคทเธอรีนมีความสุขกับชีวิตสมรสมากน้อยแค่ไหน ทั้งคู่มีบุตรที่รอดชีวิตด้วยกันสี่คน คือ
- เอ็ดเวิร์ด สตาฟฟอร์ด ดยุคที่ 3 แห่งบักกิงแฮม (เกิด ค.ศ. 1478)
- เอลิซาเบธ สตาฟฟอร์ด เคาน์เตสแห่งซัสเซ็กซ์ (เกิด ค.ศ. 1479)
- เฮนรี สตาฟฟอร์ด เอิร์ลที่ 1 แห่งวิลต์เชอร์ (เกิด ค.ศ. 1479)
- แอนน์ สตาฟฟอร์ด เคาน์เตสแห่งฮันติงดอน (เกิด ค.ศ. 1483)
ผู้สร้างกษัตริย์
[แก้]ดยุคแห่งบักกิงแฮมมีความซื่อสัตย์ต่อริชาร์ด ดยุคแห่งกลอสเตอร์ผู้เป็นพระอนุชาของกษัตริย์มากเป็นพิเศษ ริชาร์ดนั้นเกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1452 จึงมีอายุมากกว่าดยุคแห่งบักกิงแฮมเพียงสองปี ทั้งคู่เติบโตมาด้วยกันฉันท์พี่น้องในราชสำนักของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1483 ได้เกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นระหว่างริชาร์ด ดยุคแห่งกลอสเตอร์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าผู้อารักขาตามพินัยกรรมของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด กับพระราชินีและครอบครัวของพระนาง ในช่วงเดือนเมษายน ค.ศ. 1483 ดยุคแห่งบักกิงแฮมช่วยดยุคแห่งกลอสเตอร์ "ปลดปล่อย" พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจากเครือญาติฝั่งวูดวิลล์ โดยได้นำตัวกษัตริย์น้อยมาอยู่ที่สตอนี สแตรตฟอร์ด ระหว่างที่เขามุ่งหน้าจากลัดโลว์ไปลอนดอน ริชาร์ดได้ทำการจับกุมตัวแอนโธนี วูดวิลล์ เอิร์ลริเวอร์ส์ที่ 2 พระมาตุลาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 กับลอร์ดริชาร์ด เกรย์ พระเชษฐาต่างบิดาของกษัตริย์ ซึ่งต่อมาทั้งคู่ถูกประหารชีวิต
ดยุคแห่งบักกิงแฮมให้ความช่วยเหลือริชาร์ดอีกครั้งในการจับกุมตัววิลเลียม เฮสติงส์ บารอนเฮสติงส์ที่ 1 อดีตจางวางมหาดเล็กของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาองคมนตรีและเป็นผู้สนับสนุนที่แข็งแกร่งที่สุดของกษัตริย์น้อยในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1483 ต่อมาเขาถูกประหารชีวิตเช่นกัน
ดยุคแห่งบักกิงแฮมได้เกลี้ยกล่อมพระราชินีให้ส่งตัวริชาร์ด ดยุคแห่งยอร์ก พระอนุชาของกษัตริย์ไปอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอนกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ที่กำลังรอการทำพิธีราชาภิเษก หลังได้ตัวดยุคแห่งยอร์กมาอยู่ในการควบคุม ริชาร์ด ดยุคแห่งกลอสเตอร์กล่าวหาเจ้าชายในหอคอยทั้งสองว่าเป็นบุตรนอกสมรส เนื่องจากบิดาของทั้งคู่หมั้นหมายอยู่แล้วกับเอเลนอร์ แทลบ็อตในตอนที่สมรสกับเอลิซาเบธ วูดวิลล์ ริชาร์ดได้ทำการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะขึ้นครองบัลลังก์เสียเอง ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1483 ดยุคแห่งบักกิงแฮมเป็นหนึ่งในขุนนางชั้นสูงที่พูดปลุกเร้าประชาชนในศาลากลางให้สนับสนุนริชาร์ดเป็นกษัตริย์
ดยุคแห่งบักกิงแฮมเคลื่อนไหวสนับสนุนการทำรัฐประหารของพระเจ้าริชาร์ดเนื่องจากไม่พอใจอิทธิพลของพวกวูดวิลล์ ญาติฝั่งภรรยาที่มีชาติกำเนิดต่ำต้อยและเพื่อรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินที่ดินเดอ โบฮันของตน เขาได้รับสืบทอดทรัพย์สินของเอเลนอร์ เดอ โบฮัน เทียดซึ่งเป็นชายาของธอมัสแห่งวูดสต็อกและเป็นธิดาของฮัมฟรีย์ เดอ โบฮัน เอิร์ลแห่งเฮริฟอร์ด แมรี เดอ โบฮัน น้องสาวและทายาทร่วมของเอเลนอร์สมรสกับเฮนรี โบลิงโบรกที่ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ทำให้ทรัพย์สินที่ดินเดอ โบฮันส่วนของเธอถูกรวมอยู่ในการครอบครองของราชวงศ์แลงคัสเตอร์ เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ถูกพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ปลดจากบัลลังก์ ดินแดนเหล่านั้นถูกจัดเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่เฮนรี สตาฟฟอร์ด ดยุคที่ 2 แห่งบักกิงแฮมมองว่าดินแดนดังกล่าวควรเป็นของตนซึ่งเป็นหลานชายของฮัมฟรีย์
ริชาร์ดรู้ซึ้งถึงความสำคัญของดยุคแห่งบักกิงแฮมและมองว่าเขาคือเพื่อนสนิทและพันธมิตรที่ไว้ใจได้ เขาได้เป็นผู้ถือชายผ้าคลุมในพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ของริชาร์ดในวันที่ 6 กรกฎาคม และเป็นผู้นำกลุ่มขุนนางถวายบังคมต่อกษัตริย์คนใหม่ พระเจ้าริชาร์ดได้ตอบแทนความซื่อสัตย์และภักดีของดยุคแห่งบักกิงแฮมด้วยการตั้งเขาเป็นหัวหน้าตุลาการและจางวางมหาดเล็กแห่งเวลส์ และเป็นตำรวจพระราชวังประจำปราสาททั้งหมดในเวลส์และรัฐชายแดนเวลส์ที่มีมากกว่าสี่โหล พร้อมกับพระราชทานดินแดนเดอ โบฮันที่เขาต้องการให้
กบฏบักกิงแฮม
[แก้]แผนล้มล้างกษัตริย์
[แก้]ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ผู้สนับสนุนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ได้วางแผนก่อกบฏต่อพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 มีการวางแผนที่จะช่วยเหลือเจ้าชายทั้งสองและคืนบัลลังก์ให้แก่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ซึ่งกษัตริย์โดยชอบธรรมตามกฎหมาย แต่ความพยายามดังกล่าวประสบความล้มเหลว และเจ้าชายทั้งสองได้หายตัวไป
ดยุคแห่งบักกิงแฮมได้เข้าร่วมแผนการร้ายครั้งนี้โดยไม่ทราบเหตุผลในช่วงต้นเดือนสิงหาคม โดมินิก มันซินี ชาวอิตาลีที่อาศัยอยู่ในลอนดอนในช่วงที่พระเจ้าริชาร์ดขึ้นครองอำนาจอ้างว่าดยุคแห่งบักกิงแฮมหักหลังพระเจ้าริชาร์ดเพราะไม่พอใจที่ถูกบังคับให้สมรสกับแคทเธอรีน[2] หรือไม่อาจเป็นเพราะรู้ว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ได้ฆาตกรรมเจ้าชายในหอคอยทั้งสองซึ่งเป็นพระภาติยะของพระองค์เอง ทว่าตัวดยุคแห่งบักกิงแฮมเองก็มีแรงจูงใจให้สังหารเจ้าชายทั้งสองเช่นกัน คือเพื่อที่ตนจะได้อ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ หรือไม่เขาอาจคิดว่ารางวัลที่ได้มายังไม่มากพอสมกับการลงทุนแย่งชิงอำนาจมาให้พระเจ้าริชาร์ด
ก่อนหน้าที่ดยุคแห่งบักกิงแฮมจะเข้าร่วมก่อกบฏ (แม้จะถูกเรียกว่ากบฏบักกิงแฮม แต่ตัวการสำคัญที่ชักใยอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ คือ เอลิซาเบธ วูดวิลล์, มาร์กาเร็ต โบฟอร์ท, บิชอปมอร์ตัน และเรจินัลด์ เบรย์) จุดมุ่งหมายของการก่อกบฏ คือ เพื่อกอบกู้บัลลังก์กลับคืนมาให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 โดยมาร์กาเร็ต โบฟอร์ทต้องการเพียงรักษาสิทธิ์ในการสืบทอดตำแหน่งเอิร์ลแห่งริชมอนด์ให้เฮนรี ทิวดอร์ผู้เป็นบุตรชายซึ่งอยู่ระหว่างถูกเนรเทศ แต่เมื่อดยุคแห่งบักกิงแฮมตัดสินใจเข้าร่วมและมีข่าวลือว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 กับพระอนุชาสิ้นพระชนม์แล้ว เป้าหมายได้เปลี่ยนไปเป็นการทำให้เฮนรี ทิวดอร์ได้ขึ้นครองบัลลังก์และสมรสกับเอลิซาเบธแห่งยอร์ก พระเชษฐภคินีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5
จุดจบ
[แก้]ในช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1483 การก่อกบฏของดยุคแห่งบักกิงแฮมความแตก ดยุคแห่งบักกิงแฮมได้ระดมกำลังพลจากทรัพย์สินที่ดินในเวลส์และรัฐชายแดนเวลส์ของตนและนำทัพเดินทางเข้าสู่เฮริฟอร์ดเชอร์เพื่อก่อกบฏ ทว่าเรือของเฮนรี ทิวดอร์เจอกับพายุจนต้องถอยกลับไปเบรอตาญ การเดินหน้าของดยุคแห่งบักกิงแฮมชะงักไปเนื่องจากแม่น้ำเซเวิร์นไหลบ่าเข้าท่วมเส้นทางสู่ลอนดอน คนในกองทัพหนีหายไปเป็นจำนวนมากในตอนที่กองทัพของพระเจ้าริชาร์ดมาถึง
ดยุคแห่งบักกิงแฮมพยายามหนีด้วยการปลอมตัวไปขอรับการคุ้มภัยที่วิหารบิวลีในนิวฟอเรสต์ แต่เมื่อพระเจ้าริชาร์ดตั้งค่าหัวเขาเป็นเงินก้อนโต ราล์ฟ แบนนิสเตอร์ ลูกน้องของเขาได้หักหลังเขาและนำตัวเขาไปให้พระเจ้าริชาร์ดที่ซอลส์บรี แม้จะร้องขอความเมตตาแต่กษัตริย์ปฏิเสธที่จะให้เขาเข้าเฝ้า เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานกบฏและถูกตัดหัวในซอลส์บรีในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1483
หลังดยุคแห่งบักกิงแฮมเสียชีวิต บัลลังก์ของพระเจ้าริชาร์ดก็ไม่มั่นคงอีกต่อไป พระองค์ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สังหารเจ้าชายในหอคอยทั้งสอง ทำให้เฮนรี ทิวดอร์ได้รับการต้อนรับจากขุนนางกบฏที่พากันให้การสนับสนุนเมื่อเขารุกรานอังกฤษในปี ค.ศ. 1485
หลังความปราชัยของพระเจ้าริชาร์ดในยุทธการที่บอสเวิร์ธฟิลด์ในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1485 เฮนรี ทิวดอร์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 7 กษัตริย์คนใหม่ได้ตั้งเอ็ดเวิร์ด บุตรชายวัย 7 ปีของบักกิงแฮมเป็นดยุคที่ 3 แห่งบักกิงแฮมและอัศวินแห่งบาธ และให้เข้าร่วมพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าเฮนรี แคทเธอรีน วูดวิลล์ ภรรยาม่ายของเฮนรีสมรสกับแจสเปอร์ ทิวดอร์ซึ่งเป็นพระปิตุลาของกษัตริย์ ทว่าในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เอ็ดเวิร์ด สตาฟฟอร์ด ดยุคที่ 3 แห่งบักกิงแฮมถูกตัดสินประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1521 ด้วยโทษฐานเป็นกบฏ
อ้างอิง
[แก้]- English Monarchs, Henry Stafford, 2nd Duke of Buckingham 1455 - 1483
- KYRA CORNELIUS KRAMER, WHY DID BUCKINGHAM TURN ON RICHARD III?
- Matthew Lewis, A Glimpse of the War of the Roses, Independent Publishing Platform, 2013.
- ↑ Warsoftheroses.com, Wars of the Roses[1] เก็บถาวร 2012-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ C.A.J. Armstrong, The Usurpation of Richard III, 2nd edition, 1969.