เทศบาลตำบลบางนกแขวก
เทศบาลตำบลบางนกแขวก | |
---|---|
อาสนวิหารแม่พระบังเกิด เป็นอาสนวิหารประจำเขตมิสซังราชบุรี ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่การบังเกิดของพระแม่มารีย์ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบางนกแขวก | |
พิกัด: 13°30′26.8″N 99°55′03.7″E / 13.507444°N 99.917694°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | สมุทรสงคราม |
อำเภอ | บางคนที |
จัดตั้ง | • 26 มีนาคม 2506 (สุขาภิบาลบางนกแขวก) • 25 พฤษภาคม 2542 (ทต.บางนกแขวก) |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 3.72 ตร.กม. (1.44 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566)[1] | |
• ทั้งหมด | 1,706 คน |
• ความหนาแน่น | 458.60 คน/ตร.กม. (1,187.8 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส อปท. | 05750202 |
ที่อยู่ สำนักงาน | เลขที่ 28 หมู่ที่ 2 ถนนบ้านอัมพวา - บ้านคลองแพงพวย ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม 75120 |
เว็บไซต์ | www |
บางนกแขวก เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทเทศบาลตำบลซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของตำบลบางนกแขวก และพื้นที่ทั้งหมดของหมู่ที่ 6 ของตำบลบางคนที ในอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เดิมมีฐานะเป็นสุขาภิบาลบางนกแขวกที่จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2506[2] ซึ่งเป็นสุขาภิบาลแห่งที่ 2 ของอำเภอบางคนทีและจังหวัดสมุทรสงคราม แล้วได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลใน พ.ศ. 2542[3] ปัจจุบันในเขตเทศบาลมีประชากร 1,706 คน
พื้นที่เทศบาลตำบลตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบางคนทีประมาณ 11 กิโลเมตร ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงครามประมาณ 31 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 454 กิโลเมตร มีพื้นที่รับผิดชอบ 3.72 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ตั้งของอาสนวิหารแม่พระบังเกิด สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2433 โดยบาทหลวงเปาโล ซัลมอน มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส และเป็นปลายของคลองดำเนินสะดวก ซึ่งเชื่อมกับแม่น้ำแม่กลองที่ตลาดบางนกแขวกเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นตลาดริมน้ำที่ยาวที่สุดของจังหวัด มีประตูน้ำบางนกแขวกสร้างขึ้นเป็นทางปล่อยเรือเข้าออกคลองซึ่งมีมากมายในสมัยก่อน
บางนกแขวกก่อตั้งชุมชนมาตั้งแต่ในสมัยก่อนรัชการที่ 4 มีการขุดคลองดำเนินสะดวกเชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง เพื่อการขนถ่ายสินค้าเครื่องอุปโภคและบริโภคเข้าสู่พระนคร ดังนั้น บริเวณปากคลองบางนกแขวกจึงเป็นตลาดนัดทางเรือ ส่วนด้านในบริเวณวัดเจริญสุขารามวรวิหาร เป็นสถานที่ตั้งประตูน้ำบางนกแขวก ที่นักเดินเรือมักมาพักเพื่อรอระดับน้ำขึ้น บริเวณนี้จึงกลายเป็นตลาดประตูน้ำบางนกแขวก มีชื่อที่เรียกติดปากชาวบ้านสมัยนั้นว่า “ชุมชนหลักแปด” เพราะคำว่า “หลัก” ใช้เรียกแทนหลักกิโลเมตร ตามที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน
ก่อนปี พ.ศ. 2500 ในร่องสวนผลไม้ชาวบ้านนิยมปลูกข้าวไว้สำหรับรับประทานในครัวเรือน และบริเวณตลาดร้อยปีปากคลองบางนกแขวกมีศาลพ่อปู่ตั้งอยู่ ด้านหลังตลาดร้อยปีปากคลองบางนกแขวกมี โรงงิ้ว และซอยโรงฝิ่นเพื่อเป็นทางเข้า - ออกจากหน้าตลาดสู่หลังตลาด มีโรงหนัง โรงปั่นไฟฟ้า ซึ่งเป็นของชาวตลาดร้อยปีปากคลองบางนกแขวก[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประชากรในท้องถิ่นเทศบาลตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลบางนกแขวก อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 80 (29 ง): 803–804. วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2506
- ↑ "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4 – โดยทาง ให้บรรดาสุขาภิบาลตามกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาลที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีฐานะเป็นเทศบาลตำบลตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาลในพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
- ↑ จากวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การท่องเที่ยวตำบลบางนกแขวก สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2566