เติ้ง ลี่จวิน
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
เติ้ง ลี่จวิน | |
---|---|
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ชื่อเกิด | เติ้ง ลี่ยวิน (จีนตัวย่อ: 邓丽筠; จีนตัวเต็ม: 鄧麗筠; พินอิน: Dèng Lìyūn) |
เกิด | 29 มกราคม ค.ศ. 1953 เปาจง เทศมณฑลยฺหวินหลิน ประเทศไต้หวัน |
เสียชีวิต | 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1995 อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ประเทศไทย | (42 ปี)
แนวเพลง | ป็อป, เจป็อป, เอ็งกะ Mandopop, Cantopop |
อาชีพ | นักร้อง |
ช่วงปี | พ.ศ. 2510 - 2538 (28 ปี) |
เว็บไซต์ | http://www.teresa-teng.org/ |
เติ้ง ลี่จวิน หรือ เทเรซา เติ้ง (จีนตัวย่อ: 邓丽君; จีนตัวเต็ม: 鄧麗君; พินอิน: Dèng Lìjūn, ญี่ปุ่น: テレサ・テン, 29 มกราคม พ.ศ. 2496 – 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2538) นักร้องเพลงจีนสากลชาวไต้หวันชื่อดังและมีอิทธิพลอย่างสูง เธอเกิดที่เปาจง เทศมณฑลยฺหวินหลิน ประเทศไต้หวัน โดยบรรพบุรุษของเธอมาจากมณฑลเหอเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน เสียงและเพลงของเธอเป็นที่จดจำทั่วทั้งเอเชียตะวันออกและในหมู่ชาวจีนทั้งในประเทศจีน ประเทศไต้หวัน และชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก จนมีคำกล่าวว่า "มีชาวจีนอยู่ที่ไหน ก็จะได้ยินเพลงของเติ้ง ลี่จวินที่นั่น" นอกจากนี้ เพลงของเธอยังเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวญี่ปุ่น ชาวเกาหลี ชาวไทย ชาวเวียดนาม ชาวมาเลเซีย และชาวอินโดนีเซียจำนวนมากเช่นกัน
เติ้ง ลี่จวิน มีชื่อเสียงจากบทเพลงรัก และเพลงพื้นเมืองภาษาหมิ่นหนาน (ภาษาฮกเกี้ยน) เพลงที่โด่งดังจนรู้จักกันทั่วไปทั่วเอเชีย ได้แก่เพลง เถียนมี่มี่ (甜蜜蜜, tián mì mì แปลว่า หวานปานน้ำผึ้ง) และเพลง เยว่เหลียงไต้เปี่ยวหวอเตอซิน (月亮代表我的心, yuè liàng dài biǎo wǒ de xīn แปลว่า พระจันทร์แทนใจฉัน) เป็นต้น ไม่เพียงเพลงภาษาจีนกลางเท่านั้น เธอยังเคยมีผลงานเพลงภาษาไต้หวัน ภาษากวางตุ้ง ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอินโดนีเซีย และภาษาอังกฤษด้วย
เติ้ง ลี่จวิน เสียชีวิตอย่างกะทันหันเนื่องจากโรคหอบหืด ขณะเดินทางมาพักผ่อนที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ขณะอายุได้เพียง 42 ปี
ประวัติ
[แก้]ชีวิตวัยเยาว์
[แก้]เติ้ง ลี่จวิน เกิดที่ตำบลเปาจง เทศมณฑลยฺหวินหลิน ประเทศไต้หวัน ครอบครัวของเธอมาย้ายมาจากมณฑลเหอเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน เธอนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก โดยเธอยังคงนำชื่อที่เธอโปรดศีลล้างบาปตั้งเเต่ยังเด็ก คือชื่อ “เทเรซ่า” จากนักบุญเทเรซ่า มาใช้ในวงการอีกด้วย เธอได้เข้าเรียนในโรงเรียนสตรีกินหลิง เมื่อสมัยเด็ก เธอเคยชนะการประกวดร้องเพลงหลายรางวัล รางวัลใหญ่รางวัลแรกในชีวิตของเธอได้จากเพลง "พบอิงไถ" เพลงประกอบภาพยนตร์งิ้วหวงเหมย เก็บถาวร 2018-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนของชอว์บราเดอร์ เรื่อง "ม่านประเพณี" (梁山伯與祝英台, liáng shān bó yǔ zhù yīng tái, The Love Eterne) ในการประกวดที่จัดขึ้นโดยองค์การกระจายเสียงแห่งจีน (中國廣播公司, Broadcasting Corporation of China) เมื่อ พ.ศ. 2507 เธอได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวตลอดมา และเมื่อถึงทศวรรษที่ 1960 ประเทศไต้หวันได้ปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ชาวไต้หวันซื้อหาแผ่นเสียงได้ง่ายขึ้น จนทำให้พ่อของเธออนุญาตให้เธอออกจากโรงเรียน และหันมาเป็นนักร้องอาชีพอย่างเต็มตัว
ชีวิตนักร้อง
[แก้]ใน พ.ศ. 2511 (1968) เติ้ง ลี่จวิน เริ่มมีชื่อเสียงครั้งแรก เมื่อเธอได้ร้องเพลงในรายการเพลงที่มีชื่อเสียงรายการหนึ่งของไต้หวัน ทำให้ต่อมา เธอได้เซ็นสัญญาบันทึกเสียงกับบริษัทไลฟ์เรคคอร์ด และออกอัลบั้มหลายอัลบั้มในปีต่อมา
ใน พ.ศ. 2516 (1973) เติ้ง ลี่จวิน ได้สร้างชื่อในวงการเพลงของญี่ปุ่น โดยออกอัลบั้มเพลงภาษาญี่ปุ่นกับโพลิดอร์เรคคอร์ด และเข้าร่วมการประกวดร้องเพลงประจำปีของสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค (NHK) ในรายการ โคฮะคุ อุตะ กัสเซน (ญี่ปุ่น: 紅白歌合戦; โรมาจิ: Kōhaku Uta Gassen) ซึ่งจะนำนักร้องที่ประสบความสำเร็จในปีนั้นๆมาแข่งขันกัน เติ้ง ลี่จวินได้รับรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมในปีนั้น เป็นผลให้เธอประสบความสำเร็จอย่างสูงในญี่ปุ่น และออกอัลบั้มภาษาญี่ปุ่นอีกหลายอัลบั้ม
ใน พ.ศ. 2517 (1974) เพลง "คูโค" (ญี่ปุ่น: 空港; โรมาจิ: kuukou) หรือ สนามบิน โด่งดังในญี่ปุ่น ทำให้เติ้ง ลี่จวิน ยังสามารถรักษาชื่อเสียงในญี่ปุ่นไว้ได้ ในทศวรรษ 1970 หลังจากที่เปิดตัวในญี่ปุ่น ชื่อเสียงของเติ้ง ลี่จวินก็เริ่มกระจายออกไปทั่วโลก ในช่วงนั้น เธอได้ออกผลงานเพลงภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีนกวางตุ้ง และภาษาอังกฤษ ควบคู่ไปกับภาษาจีนกลาง และเธอโด่งดังอย่างรวดเร็วในมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ในไต้หวัน เติ้ง ลี่จวินไม่เพียงเป็นที่รู้จักในนาน "นักร้องอินเตอร์" เท่านั้น เธอยังเป็น "ขวัญใจทหารหาญ" อีกด้วย เนื่องจากเธอเปิดแสดงให้เหล่าทหารชมอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ เธอยังเป็นลูกสาวของครอบครัวทหารอีกด้วย ในการแสดงของเธอสำหรับกองทัพนั้น เธอได้ร้องเพลงพื้นเมืองภาษาไต้หวัน เพื่อให้เข้าถึงใจชาวไต้หวันเดิม และยังร้องเพลงภาษาจีนกลางยอดนิยม ที่ทำให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีน รู้สึกคิดถึงบ้านมากยิ่งขึ้น
ในช่วงต้นของทศวรรษ 1980 ความตึงเครียดระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันยังคงคุกรุ่น เหล่านักร้องจากทั้งไต้หวันและฮ่องกงถูกแบนในจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากถูกมองว่ามีความเป็นทุนนิยมเกินไป ถึงกระนั้น เติ้ง ลี่จวินก็ยังมีชื่อเสียงในหมู่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากชาวจีนส่วนหนึ่งนิยมหาเพลงจากตลาดมืด เพลงของเธอถูกเปิดทุกที่ ตั้งแต่สถานเริงรมย์จนถึงสถานที่ราชการ จนทางการสั่งแบนเพลงของเธอในที่สุด ชาวจีนให้ฉายาเติ้ง ลี่จวินว่า "เติ้งน้อย" (小鄧, xiǎo dèng) เนื่องจากเธอมีแซ่เดียวกับเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยนั้น จนมีคำกล่าวว่า "เติ้ง เสี่ยวผิงครองเมืองจีนยามกลางวัน เติ้ง ลี่จวินครองเมืองจีนยามราตรี"
ใน พ.ศ. 2522 (1979) เธอถูกต่อต้านในประเทศบ้านเกิดเป็นเวลาสั้นๆ จากการที่เธอถูกทางการญี่ปุ่นพบว่าได้ใช้หนังสือเดินทางปลอม สัญชาติอินโดนีเซียราคา 20,000 เหรียญสหรัฐในการเดินทางเข้าญี่ปุ่น และถูกขับออกจากประเทศ เหตุการณ์นี้เป็นข้ออ้างเล็กๆข้ออ้างหนึ่งที่รัฐบาลไต้หวันใช้ในการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่สาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน ถูกบีบให้ออกจากสหประชาชาติ และสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาเป็นสมาชิกแทนเพียงเล็กน้อย
ปลาย พ.ศ. 2524 (1981) เติ้ง ลี่จวิน หมดสัญญากับโพลิดอร์เรคคอร์ด ต่อมาเธอออกอัลบั้มที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด ชื่อ "ต้าน ต้าน โยว ฉิง" (淡淡幽情, dàn dàn yōu qíng, Light Exquisite Feeling) เพลงในอัลบั้มนี้ เป็นเพลงที่แต่งจากบทกลอนสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง 12 บท ประพันธ์ดนตรีโดยนักประพันธ์จากเพลงยอดนิยมของเธอเพลงก่อนๆ โดยใช้ดนตรีร่วมสมัยและมีกลิ่นอายของโลกตะวันออกและตะวันตกอยู่ร่วมกัน เพลงที่โด่งดังที่สุดจนบัดนี้นี้เพลง "ต้าน ย่วน เหยิน ฉาง จิ่ว" (但願人長久, dàn yuàn rén cháng jiǔ, Wishing We Last Forever) จากนั้น เธอเซ็นสัญญากับทอรัสเรคคอร์ดใน พ.ศ. 2526 (1983) และประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นอีกครั้ง ในช่วง พ.ศ. 2527 (1984 - 2532 (1989) เติ้ง ลี่จวิน ออกเพลงยอดนิยมมากมาย จนแฟนๆ ยกให้เป็น "ปีทองของเติ้ง ลี่จวิน" เธอเป็นนักร้องคนแรกที่ได้รับรางวัลออลเจแปนเรคคอร์ดอวอร์ด (All-Japan Record Awards) 4 ปีติดต่อกัน (พ.ศ. 2527 (1984) - 2531 (1988)
ใน พ.ศ. 2532 (1989) เติ้ง ลี่จวิน ได้เปิดคอนเสิร์ตในกรุงปารีสของฝรั่งเศส ขณะนั้น เกิด (1989) เหตุการณ์การชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของนักศึกษาชาวจีนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 (1989) เติ้ง ลี่จวิน ได้เปิดคอนเสิร์ตในนามของกลุ่มนักศึกษา เพื่อประกาศจุดยืนสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนักศึกษาในกรุงปักกิ่งของจีน คอนเสิร์ตดังกล่าวมีชื่อว่า "บทเพลงประชาธิปไตยเพื่อเมืองจีน" (民主歌聲獻中華, mín zhǔ gē shēng xiàn zhōng huá) จัดขึ้นที่สนามม้าแฮปปี้วัลเลย์ ฮ่องกง มีผู้เข้าชมกว่าสามแสนคน เธอได้ประกาศจุดยืนว่า "บ้านของฉันอยู่คนละฝั่งกับภูผาใหญ่" อันตีความได้ว่า เธอจะต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั่นเอง
แม้ว่า เติ้ง ลี่จวินจะได้เดินทางไปแสดงตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกตลอดชีวิตการเป็นนักร้อง แต่เธอก็ไม่เคยไปแสดงในสาธารณรัฐประชาชนจีนเลย แม้เธอหวังมาโดยตลอด จนในที่สุด ในช่วงทศวรรษ 1990 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เชิญเธอไปแสดงในประเทศจีน แต่ยังไม่ทันที่ความฝันของเธอจะเป็นจริง เติ้ง ลี่จวินก็มาเสียชีวิตเสียก่อน
การเสียชีวิตและการรำลึก
[แก้]ตั้งแต่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เติ้ง ลี่จวิน ป่วยด้วยโรคหอบหืดเรื้อรังมาตลอด จนในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 (1995) เติ้ง ลี่จวิน เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยโรคหอบหืดขั้นรุนแรง ขณะมาพักผ่อน ณ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง (ปัจจุบันคือโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง) ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ด้วยอายุ 42 ปี (43 ปีตามปฏิทินจีน)
พิธีศพของเติ้ง ลี่จวิน ถูกจัดขึ้นแบบรัฐพิธี หีบศพขอเธอถูกคลุมด้วยธงชาติสาธารณรัฐจีน โดยอดีตประธานาธิบดี หลี่ เติงฮุย และประชาชนจำนวนหลายพันเข้าร่วมพิธีด้วยความอาลัยรัก
ศพของเติ้ง ลี่จวิน ถูกฝังที่สุสานจินเป่าซาน อันเป็นสุสานติดภูเขาในตำบลจินชาน เทศมณฑลไทเป ประเทศไต้หวัน (ปัจจุบันคือเขตจินชาน นครซินเป่ย์) ป้ายหลุมศพมีรูปปั้นของเติ้ง ลี่จวิน และคีย์บอร์ดเปียโนไฟฟ้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ที่พื้น เมื่อมีคนเหยียบที่แต่ละแป้น จะมีเสียงออกมาต่างกัน แม้ว่าชาวจีนจะเชื่อว่าควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสุสานก็ตาม แต่สุสานของเธอมักมีแฟนเพลงจากทั่วโลกเข้ามาเคารพและรำลึกถึงเธออยู่เสมอ
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2545 (2002) ได้มีการเปิดตัวหุ่นขี้ผึ้งของ เติ้ง ลี่จวิน ที่พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซส์ ฮ่องกง
ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 (2009) ได้มีการจัดคอนเสิร์ต “15 ปี เติ้งลี่จวิน A Special Tribute” ขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร โดยมี 13 นักร้องชาวไทยขึ้นขับกล่อมบทเพลงของเติ้ง ลี่จวิน เพื่อเป็นการรำลึกการจากไปครบ 15 ปีของเธอ
รางวัลจากญี่ปุ่น
[แก้]เติ้ง ลี่จวิน หลังจากได้ไปออกอัลบั้มภาษาญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว เธอก็ประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัลมากมาย ดังต่อไปนี้
- รางวัลนักร้องดาวรุ่ง จาก เพลง "คูโค" (空港, Kuukou) เมื่อ พ.ศ. 2517
- รางวัลเหรียญทอง จาก เพลง "โทกิ โนะ นางาเรนิ มิ โวะ มากาเสะ" (時の流れに身をまかせ, Toki no nagareni mi wo makase) หรือในฉบับภาษาจีนกลาง ชื่อเพลง "หว่อ จื่อ ไจ้ ฮู หนี่" (我只在乎你, wǒ zhǐ zài hū nǐ เมื่อ พ.ศ. 2529
- รางวัลกรังด์ปรีซ์ 3 ปีซ้อน โดยก่อนหน้าเธอ ยังไม่มีนักร้องคนใดทำได้มาก่อน จากเพลง
- รางวัลดาวเด่น จาก เพลง “วากาเระ โนะ โยกัง” (別れの予感, Wakare no Yokan) เมื่อ พ.ศ. 2530
- รางวัลเคเบิลเรดิโอมิวสิคอวอร์ด จาก เพลง “วากาเระ โนะ โยกัง” (別れの予感, Wakare no Yokan) เมื่อ พ.ศ. 2530 และ พ.ศ. 2531
- รางวัลเคเบิลเรดิโอมิวสิคเมอริตอวอร์ด (รางวัลเกียรติยศ) เมื่อ พ.ศ. 2538 สำหรับการชนะรางวัลกรังด์ปรีซ์ 3 ปีซ้อน ถือเป็นรางวัลสุดท้ายก่อนที่เธอจะเสียชีวิต
���้างอิง
[แก้]
ค้นคว้าเพิ่มเติม
[แก้]- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2496
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2538
- นักร้องหญิงชาวไต้หวัน
- นักร้องเสียงคอนทราลโต
- เสียชีวิตจากหอบหืด
- นักแสดงภาพยนตร์หญิงชาวไต้หวัน
- บุคคลจากเทศมณฑลยฺหวินหลิน
- นักร้องเพลงภาษาญี่ปุ่น
- นักร้องเพลงภาษาอินโดนีเซีย
- นักร้องเพลงภาษาอังกฤษ
- นักร้องเพลงภาษาจีนกลาง
- นักร้องเพลงภาษาจีนกวางตุ้ง
- นักแสดงหญิงชาวไต้หวันในศตวรรษที่ 20
- พุทธศาสนิกชนชาวไต้หวัน
- บุคคลจากศาสนาคริสต์ที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ