เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร
เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร | |
---|---|
กำกับ | ฮายาโอะ มิยาซากิ |
เขียนบท | ฮายาโอะ มิยาซากิ |
อำนวยการสร้าง | โทะชิโอะ ซุซุกิ |
นักแสดงนำ | โยจิ มัตสุดะ ยูริโกะ อิชิดะ ยูโกะ ทะนะกะ คะโอะรุ โคะบะยะชิ |
กำกับภาพ | Atsushi Okui |
ตัดต่อ | Takeshi Seyama |
ดนตรีประกอบ | โจ ฮิซาอิชิ |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | โทะโฮะ (ญี่ปุ่น) มิราแมกซ์ (สหรัฐฯ) |
วันฉาย | 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 (ญี่ปุ่น) 29 ตุลาคม ค.ศ. 1999 (สหรัฐอเมริกา) |
ความยาว | 134 นาที |
ประเทศ | ญี่ปุ่น |
ภาษา | ญี่ปุ่น |
ทุนสร้าง | 2,135,666,804.93 เยน (23.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) |
ทำเงิน | 14,487,325,138.75 เยน (159.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) |
เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร (ญี่ปุ่น: もののけ姫; โรมาจิ: Mononoke Hime; ทับศัพท์: โมโมโนเกะ ฮิเมะ) เป็นภาพยนตร์อนิเมะแฟนตาซีอิงประวัติศาสตร์ ที่เขียนและกำกับโดยฮายาโอะ มิยาซากิแห่งสตูดิโอจิบลิ โมะโนะโนะเกะ (ญี่ปุ่น: 物の怪; โรมาจิ: "Mononoke") ไม่ใช่ชื่อแต่เป็นคำที่ใช้เรียกภูตผีปีศาจ ภาพยนตร์เรื่องนี้เผยแพร่ในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม และ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ตามลำดับ
เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพรเป็นภาพยนตร์ย้อนยุคซึ่งมีฉากอยู่ในปลายยุคมุโระมะจิของญี่ปุ่น แต่แต่งเติมด้วยองค์ประกอบจากจินตนาการลงไปจำนวนมาก เนื้อเรื่องกล่าวถึงอะชิตะกะซึ่งเป็นคนภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับพลังเหนือธรรมชาติที่ดูแลป่าและผู้คนของโลหะนครซึ่งใช้ทรัพยากรจากป่า ในเรื่องนี้มิได้แสดงถึงฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่วที่เด่นชัด และจุดยืนของผู้สร้างภาพยนตร์ก็เปลี่ยนไปมาระหว่างทั้งสองฝ่าย ไม่มีชัยชนะของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ชัดเจน มีเพียงความหวังที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติจะดำเนินเป็นวัฎจักรต่อไป[1]
โรเจอร์ เอเบิร์ต จัดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในอันดับที่หกในรายชื่อภาพยนตร์ที่ดีที่สุดสิบเรื่องแห่งปี พ.ศ. 2542 [2] เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร ยังเคยเป็นภาพยนตร์ที่สร้างรายได้สูงสุดในญี่ปุ่น ซึ่งถูกทำลายสถิติลงด้วยภาพยนตร์เรื่องไททานิคในหลายเดือนถัดมา[3] ปัจจุบันเจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพรเป็นภาพยนตร์อนิเมะที่ทำรายได้สูงที่สุดอันดับสี่ในญี่ปุ่น[ต้องการอ้างอิง] รองลงมาจาก เซ็น โทะ ชิฮิโระ โนะ คะมิกะกุชิ (Spirited Away) ใน พ.ศ. 2544 ฮารุ โนะ ยุโงะคุชิโระ (Howl's Moving Castle) ใน พ.ศ. 2547 และ โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย ใน พ.ศ. 2551 ซึ่งทั้งหมดเป็นผลงานของมิยะซะกิทั้งสิ้น
เรื่องย่อ
[แก้]อะชิตะกะเจ้าชายองค์สุดท้ายแห่งเอะมิชิต่อสู้กับปีศาจหม���ป่ายักษ์ที่รุกเข้ามา เขาจำต้องยิงธนูฆ่าปีศาจเพื่อปกป้องหมู่บ้าน ระหว่างการต่อสู้เขาได้รับบาดเจ็บที่แขน มิโกะเฒ่าประจำหมู่บ้านทำนายว่าแผลที่แขนขวาต้องคำสาปและจะขยายไปทำให้ถึงแก่ชีวิตในที่สุด อะชิตะกะบอกว่ายอมรับผลที่ตามมาได้ตั้งแต่ชักคันธนูขี้นแล้ว เขาตัดสินใจเดินทางไปยังดินแดนทางตะวันตกเพื่อตามหาที่มาของหมูป่า และหาสาเหตุที่ทำให้เทพเจ้าหมูป่ากลายร่างเป็นปีศาจ ซึ่งอาจมีทางช่วยแก้ไขคำสาปได้แทนที่จะอยู่รอความตาย อะชิตะกะตัดมวยผมออกต่อหน้าที่ประชุมเป็นสัญลักษณ์ของการจากไปอย่างถาวรและตายจากสังคมที่เขาอยู่[4] อะชิตะกะได้รับกริชแก้วจากเด็กสาวในหมู่บ้านไว้แล้วขี่ยักกุรุกวางแดงคู่ใจของเขาออกจากหมู่บ้านไปในกลางดึก
ระหว่างทางอะชิตะกะผ่านหมู่บ้านที่ถูกซามูไรรุกราน เขาจำเป็นต้องป้องกันตัวเพราะถูกขวางทางและถูกโจมตี แขนที่ต้องคำสาปได้แสดงพลังเหนือธรรมชาติ ทำให้ลูกธนูของเขาตัดแขนขาหรือศีรษะมนุษย์ได้ เมื่อถึงเมืองถัดไปอะชิตะกะได้พบกับจิโกะนักบวชพเนจร จิโกะและอะชิตะกะค้างแรมด้วยกัน จิโกะรู้ว่าอะชิตะกะเป็นชาวเอะมิชิเพราะเห็นกวางแดง ธนูหิน และชามที่เขาใช้ เขาบอกอะชิตะกะว่าเขาอาจพบกับสิ่งที่ตามหาได้ในป่าของเทพเจ้ากวาง "ชิชิกะมิ" ในภูเขาทางตะวันตกที่เต็มไปด้วยเทพเจ้าสัตว์ป่าขนาดยักษ์ จิโกะยังบอกอีกด้วยว่าป่านั้นเป็นแดนหวงห้ามที่มนุษย์ไม่อาจรุกล้ำ
ใกล้กับภูเขาทางตะวันตกมีเมืองโลหะนคร คนในเมืองตัดไม้จากป่ามาใช้หลอมแร่เหล็กอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการต่อสู้กับสัตว์ป่าที่ต้องการปกป้องถิ่นอาศัยของตน การต่อสู้ครั้งหนึ่งมีหมาป่ายักษ์สามตัว นำโดยเทพเจ้าหมาป่าโมะโระ ลอบโจมตีชาวบ้านที่กำลังขนข้าว นอกจากหมาป่าสามตัวมีซัง เด็กหญิงที่โมะโระเลี้ยงไว้ติดตามมาด้วย ชาวเมืองเรียกเด็กหญิงนี้ว่า "เด็กหญิงหมาป่า" หรือ "เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร" (แปลว่า ปีศาจที่สร้างความรำคาญ หรือ ผีร้ายที่คอยก่อกวน) การต่อสู้ครั้งนี้ทั้งโมะโระและชาวบ้านต่างบาดเจ็บ วันต่อมาอะชิตะกะเดินทางมาถึงก็ได้พบผู้บาดเจ็บสลบอยู่สองคนในลำธาร ขณะที่เขาลากทั้งสองขึ้นจากน้ำก็เห็นซังกำลังรักษาแผลให้โมะโระ เมื่อซังหันมาอะชิตะกะจึงแนะนำตัวและถามหาชิชิกะมิ ซังและกลุ่มหมาป่ามิได้โต้ตอบและหายตัวไปอย่างรวดเร็ว อะชิตะกะนำชาวบ้านกลับคืนสู่หมู่บ้านถลุงเหล็กผ่านป่าที่เต็มไปด้วยวิญญาณต้นไม้ขนาดเล็กที่เรียกว่าโคะดะมะ ระหว่างทางเขายังได้เห็นชิชิกะมิ (เทพเจ้าแห่งชีวิตและความตาย ซึ่งเป็นกวางคิรินในเวลากลางวัน และเป็นเงาเดินได้ในเวลากลางคืน) เดินผ่านไป แผลที่ต้องคำสาปของเขาตอบสนองกับสิ่งที่เห็นอย่างรุนแรงจนเขาต้องกดแขนข้างนั้นลงในน้ำ
ชาวโลหะนครต้อนรับอะชิตะกะอย่างอบอุ่น เอะโบะชิ ผู้นำของเมืองนี้เล่าว่า นะโกะหมูป่ายักษ์ที่เป็นต้นเหตุนำเขามาที่นี้เคยเป็นเทพเจ้าประจำป่าแห่งนี้ แต่เอะโบะชิยิงนะโกะทำให้คุ้มคลั่งกลายร่างเป็นปีศาจ เมื่อทราบเรื่องแขนขวาของอะชิตะกะก็มีความคลั่งแค้นจะฆ่าเอะโบะชิ เขาต้องใช้มือซ้ายระงับไว้ คนโรคเรื้อนที่เอะโบะชิชุบเลี้ยงไว้เพื่อประดิษฐ์ปืนร้องขอชีวิตของเอะโบะชิ และรับรองว่านางเป็นคนดี เป็นผู้ดูแลพวกเขามาโดยตลอดโดยมิได้รังเกียจ เอะโบะชิยังซื้อหญิงโสเภณีมาทำงานเพื่อปลดปล่อยหญิงเหล่านั้นจากซ่อง ระหว่างที่เอะโบะชิพาอะชิตะกะชมเมืองอยู่นั่นเอง ซังก็ลอบเข้ามาในเมืองเพื่อสังหารเอะโบะชิ อะชิตะกะเข้าขัดขวางโดยแสดงให้ทุกคนเห็นว่าความแค้นนี่แหละเป็นเหตุให้เขาต้องเขาสาปและใช้พลังจากแขนนั้นหยุดยั้งการต่อสู้ของทั้งสอง ทั้งสองสลบไปเพราะโดนอะชิตะกะทุบ อะชิตะกะตัดสินใจพาซังออกไปจากเมือง แม้จะถูกยิงทะลุอกอะชิตะกะก็ยังดึงดันใช้พลังจากแขนที่ต้องคำสาปเปิดประตูเมืองขี่ยักกุรุนำซังที่หมดสติออกไปยังป่าได้โดยมีหมาป่าสองตัวติดตามไป แต่ในที่สุดอะชิตะกะก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวร่วงลงจากหลังยักกุรุ
ซังไม่พอใจที่อะชิตะกะเข้ามาขัดขวางและสั่งสอนเธอมิให้ต่อสู่กับมนุษย์แต่ให้มีชีวิตอยู่ต่อไป ด้วยความโกรธเธอเกือบจะฆ่าอะชิตะกะ ขณะที่เธอกำลังจะลงดาบอะชิตะกะก็พูดว่าเธอสวย ทำให้เธอตกใจและทิ้งดาบลง ในที่สุดซังตัดสินใจนำอะชิตะกะไปหาชิชิกะมิซึ่งรักษาแผลที่อกของเขาแต่มิได้ถอนคำสาป อะชิตะกะพักฟื้นอยู่ในถ้ำหมาป่าโดยมีซังดูแลเขาอย่างดี กระทั่งเขี้ยวใบไม้ป้อนให้อะชิตะกะด้วยปาก โมะโระซึ่งได้รับพิษจากบาดแผลที่เอะโบะชิยิงในการต่อสู้คราวก่อนเตือนอะชิตะกะว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะนำซังออกจากเผ่าหมาป่า หากไม่มีป่าซังก็ต้องตาย ในที่สุดเมื่ออะชิตะกะหายดีเขาฝากกริชแก้วให้หมาป่านำไปมอบแก่ซัง ซึ่งเมื่อเธอได้เห็นก็รับไว้โดยไม่ลังเล
ซังทราบว่าพวกหมูป่าภายใต้ผู้นำคือโอคโคะโตะเทพเจ้าหมูป่ากำลังเตรียมแผนโจมตีหมู่บ้านถลุงเหล็ก ส่วนเอะโบะชิก็เตรียมการที่จำทำลายชิชิกะมิเช่นกัน มีความเชื่อกันว่าศีรษะของชิชิกะมิให้ความเป็นอมตะแก่ผู้ครอบครอง จิโกะซึ่งแท้จริงแล้วเป็นพ่อค้า-คนเก็บของป่าล่าสัตว์ ต้องการจะมอบศีรษะชิชิกะมิให้แก่พระจักรพรรดิ เพื่อให้ทรงใช้พระราชอำนาจปกป้องโลหะนครจากไดเมียวที่อยากเข้ามาช่วงชิงความมั่งคั่งในเมือง เอะโบะชิก็รู้ดีอยู่ว่าซามูไรอาจใช้โอกาสบุกยึดโลหะนครได้ในช่วงที่ออกไปล่าชิชิกะมิ แต่เธอก็ดึงดันที่จะออกไปล่าชิชิกะมิกับจิโกะ คนของจิโกะทำหลุมพรางสำหรับหมู่ป่า และยิงโอคโคะโตะด้วยลูกเหล็กพิษชนิดเดียวที่ใช้กับนะโกะ โอคโคะโตะจึงต้องเข้าป่าไปหาชิชิกะมิเพื่อหวังว่าจะได้รับการรักษา
อะชิตะกะกลับไปยังโลหะนครแต่พบว่าเมืองกำลังถูกโจมตีและเอะโบะชิกำลังออกไปล่าชิชิกะมิ เขาสัญญากับชาวเมืองว่าจะจำเอะโบะชิกลับมา ระหว่างทางยักกุรุถูกยิงแต่อะชิตะกะพบหมาป่าเผ่าโมะโระในซากหมูป่า จึงฝากยักกุรุไว้ที่โลหะนครและขี่หมาป่าตามไป เมื่อเขาพบเอะโบะชิก็รีบเตือนว่าเมืองกำลังถูกโจมตีแต่เธอก็ไม่ถอยกลับ โอคโคะโตะกลายร่างเป็นปีศาจใกล้สระน้ำของชิชิกะมิ ซังพยายามยับยั้งไว้แต่ไม่สำเร็จและติดอยู่ในจมูกของหมูป่ายักษ์ที่มีหนอนน่าเกลียดชอนไช ซังกำลังจะต้องคำสาปอย่างเดียวกับที่อะชิตะกะได้รับจากนะโกะ อะชิตะกะเข้าช่วยเหลือซังแต่ถูกสลัดกระเด็นตกน้ำไป โมะโระต่อสู้กับโอคโคะโตะเพื่อช่วยซังและมอบเธอให้กับอะชิตะกะ ชิชิกะมิเข้ามาเอาชีวิตของโมะโระและโอคโคะโตะไป ทั้งสองจึงสิ้นลมอย่างสงบ
ดวงจันทร์เริ่มแจ่มชัดขึ้นบนท้องฟ้า ชิชิกะมิกลายร่างจากกวางเป็นเงาเดินได้ในยามกลางคืน อะชิตะกะพยายามยับยั้งเอะโบะชิด้วยการปาดาบไปปักที่ปืนของเอะโบะชิ เธอก็ยังสามารถใช้ปืนยิงตัดหัวชิชิกะมิที่กำลังแปลงร่างได้ จิโกะรีบนำหัวใส่หม้อเหล็กปิดฝาแล้วให้คนหามวิ่งหนีออกไปอย่างรวดเร็ว ระหว่างนี้หัวของโมะโระคืนชีพมาชั่วคราวกัดแขนของเอะโบะชิขาดไป ร่างที่ไร้หัวของชิชิกะมิกลายเป็นเทพเจ้าแห่งความตายที่ไร้ใจ ซึ่งเป็นเมือกสีดำที่แผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว เมือกนี้ทำลายทุกสิ่งที่มันสัมผัส ชาวบ้านต้องทิ้งโลหะนครไปหลบอยู่ในทะเลสาบเพราะเมือกดำนี้ได้ทำลายเมืองลงขณะที่ตามหาหัวของตัวเอง อะชิตะกะช่วยทำแผลให้เอะโบะชิและให้ชาวเมืองพาเธอกลับไป และขอให้ซังช่วยเขา ซังเสียใจและโกรธที่ป่าและชิชิกะมิถูกทำลาย เธอเห็นว่าอะชิตะกะอยู่ฝ่ายตรงข้ามและใช้กริชแก้วที่เขามอบให้ปักอกอะชิตะกะ แต่อะชิตะกะไม่เป็นไรเพราะกริชนั้นปักโดนแผลต้องคำสาปที่ลามถึงอกของเขาแล้ว อะชิตะกะกอดซังและขอให้เธอร่วมมือ
อะชิตะกะและซังตามศีรษะชิชิกะมิมาทันในที่สุด จิโกะบอกว่าใกล้รุ่งเช้าแล้วร่างเมือกดำกำลังจะสลายไปไม่จำเป็นต้องคืนหัวแก่ชิชิกะมิ อะชิตะกะและซังไม่เชื่อฟังและตัดสินใจใช้มือของมนุษย์ชูหัวขึ้นคืนให้กับร่างเมืองดำที่ตามมาอย่างไม่เกรงกลัวความตายและขอให้ชิชิกะมิไปสู่สุขคติ เมือกดำถาโถมลงสู่ทั้งสองซึ่งมีรอยแผลดำที่เกิดจากการต้องคำสาปอยู่ทั่วร่างกาย ทั้งสองใช้มือคนละข้างชูศีรษะชิชิกะมิขึ้นและกอดกันไว้แน่นจนหมดสติด้วยพลังอันมหาศาลของเมือกดำที่ถาโถมใส่ ทุกสิ่งทุกอย่างเงียบลงไปชั่วขณะ ร่างเมือกดำล้มลงสู่โลหะนครและทะเลสาบหลังจากรับศีรษะคืน ทุกสิ่งเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แผ่นดินกลับเขียวขจี คนที่เป็นโรคเรื้อน คนที่ต้องคำสาป รวมถึงอะชิตะกะ ต่างก็ได้รับการเยียวยา อะชิตะกะและซังต้องแยกจากกัน ซังยังไม่อาจให้อภัยมนุษย์และเธอตัดสินใจกลับไปอยู่กับหมาป่า อะชิตะกะตัดสินใจอยู่ที่โลหะนครซึ่งเอะโบะชิปฏิญาณตนว่าจะทำให้ดีกว่าเดิม แต่ทั้งสองสัญญาว่าจะมาพบกันอีก เรื่องราวจบลงด้วยฉากของโคะดะมะกลับคืนมาในป่าแสดงให้เห็นว่าในที่สุดชีวิตก็ได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
ตัวละคร
[แก้]- อะชิตะกะ Ashitaka - ให้เสียงโดย: Yōji Matsuda (Japanese), Billy Crudup (English)
- ซัง San - ให้เสียงโดย: Yuriko Ishida (Japanese), แคลร์ เดนส์ (English)
- โมะโระ Moro - ให้เสียงโดย: Akihiro Miwa (Japanese), จิลเลียน แอนเดอร์สัน (English)
- ท่านหญิงเอะโบะชิ Lady Eboshi - ให้เสียงโดย: ยูโกะ ทะนะกะ (Japanese), Minnie Driver (English)
- จิโกะ Jigo/Jiko Bou - ให้เสียงโดย: Kaoru Kobayashi (Japanese), Billy Bob Thornton (English)
- โทะคิ Toki - ให้เสียงโดย: Sumi Shimamoto (Japanese), Jada Pinkett Smith (English)
- โอคโคะโทะ Okkoto/Okkotonushi - ให้เสียงโดย: Hisaya Morishige (Japanese), Keith David (English)
- กอนซะ Gonza - ให้เสียงโดย: Tsunehiko Kamijō (Japanese), John DiMaggio (English)
- โคโระคุ Kohroku - ให้เสียงโดย: Masahiko Nishimura (Japanese), John DeMita (English)
- คะยะ Kaya - ให้เสียงโดย: Yuriko Ishida (Japanese), ทารา สตรอง (English)
- หญิงโลหะนคร Iron Town Women - ให้เสียงโดย: Takako Fuji (Japanese), Sherry Lynn และ Tress MacNeille (English)
- เพลงของผู้หญิงแห่งทะทะระ Tatara's Women Song - ให้เสียงโดย: (Japanese), Jennifer Cihi, Leslie Ishii และ Mary Elizabeth McGlynn (English)
การสร้าง
[แก้]มิยะซะกิใช้เวลาถึง 16 ปีในการผูกเรื่องและสร้างตัวละครของเจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร โครงเรื่องและการแต่งกายที่คล้ายกันอาจพบได้ในมังงะเรื่อง The Journey of Shuna ใน ค.ศ. 1983 ของมิยะซะกิ เนื่อเรื่องและตัวละครได้เปลี่ยนแปลงอย่างมากระหว่างขั้นวางแผนสร้างภาพยนตร์ เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพรเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้หลังจากมิยะซะกิและทีมงานไปเที่ยวป่าเก่าแก่แห่งเกาะยุคุชิมะ แต่มิยะซะกิก็ยังเขียนโครงเรื่องไม่เสร็จสมบูรณ์กระทั่งได้เริ่มสร้างภาพยนตร์ไปแล้ว แผนผังโครงตอนจบเพิ่งจะเสร็จสิ้นเพียงไม่กี่เดือนก่อนวันฉายรอบปฐมทัศน์ในญี่ปุ่น[5]
เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพรวาดด้วยมือเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยประมาณห้านาทีในภาพยนตร์ [6] การใช้คอมพิวเตอร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ออกแบบมาให้เข้ากับการทำภาพยนตร์อนิเมะแบบ cell ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมในสร้างภาพยนตร์อนิเมะ นอกจากนี้อีกประมาณ 10 นาทีของภาพยนตร์ยังใช้สีดิจิทัล ซึ่งเป็นเทคนิคที่สตูดิโอจิบลิได้ใช้ในภาพยนตร์เรื่องอื่นต่อไป ส่วนที่เหลือของภาพยนตร์ใช้สีจริงทั้งสิ้น ผู้ผลิตภาพยนตร์ตกลงยินยอมใช้คอมพิวเตอร์เพื่อจะทำภาพยนตร์ให้เสร็จตามกำหนดปฐมทัศน์ในญี่ปุ่น[5]
มิยะซะกิตรวจเซลราว 144,000 เซลด้วยตนเอง[7] และในจำนวนนี้เขาได้วาดแก้ไขเซลราว 80,000 เซล[8][9]
เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพรเป็นภาพยนตร์อนิเมะที่แพงที่สุดที่เคยมีการจัดสร้างมา [ต้องการอ้างอิง] ด้วยต้นทุนทั้งสิ้นราว 2.35 พันล้านเยน[9][10][11]
มิยะซะกิไม่ต้องการให้อะชิตะกะเป็นพระเอกทั่วไป:[12]
อะชิตะกะมิใช่เด็กผู้ชายที่ร่าเริงไร้ความกังวล เขาเป็นเด็กที่มีความเศร้าหมองฝังลึกอยู่ในใจ เขามีโชคชะตาเป็นของตัวเอง ผมคิดว่าตัวผมเองก็เป็นอย่างนั้น แต่ผมไม่มีโอกาสได้สร้างภาพยนตร์ที่มีตัวละครอย่างนี้สักที อะชิตะกะต้องคำสาปด้วยเหตุผลอันสุดแสนบัดซบ แน่นอนว่าเขาได้ทำสิ่งที่เขาไม่ควรทำ คือการปลิดชีวิตทะทะริกะมิ แต่มันก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะต้องทำเช่นนั้นจากมุมมองของมนุษย์ แม้กระนั้นเขาก็ต้องคำสาปที่อาจคร่าชีวิตเขาได้ ผมคิดว่านี่คล้ายกับเรื่องราวในชีวิตผู้คนสมัยนี้ มันเป็นสิ่งบัดซบที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
— ฮายาโอะ มิยาซากิ
เขาบอกว่าเอะโบะชิมีประวัติที่น่าเศร้า แม้ว่ามันจะไม่ได้กล่าวถึงโดยตรงในภาพยนตร์ เอะโบชิมีบุคลิกภาพที่แช็งแกร่งและมั่นคง เห็นได้จากการที่เธอปล่อยให้อะชิตะกะไปมาอย่างเสรีในเมืองของเธอโดยไม่มีผู้ติดตาม แม้ว่าจุดประสงค์การมาเยือนของเขาไม่แน่ชัด เอะโบชิไม่เคยยอมรับพระราชอำนาจแห่งพระจักรพรรดิในเมืองของเธอเลย นี่เป็นมุมมองที่ก้าวหน้ามากสำหรับสมัยนั้นและทัศนะคติที่เธอยอมสละทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความฝันเป็นทัศนะที่ไม่ธรรมดาในผู้หญิงยุคนั้น[12]
เมื่อมิยะซะกิสร้างจิโกะ เขาไม่แน่ใจว่าจะสร้างให้เป็นสายลับของรัฐบาล นินจา นักบวช หรือ "คนที่ดีมาก" ในที่สุดเขาตัดสินใจที่จะใส่องค์ประกอบของทุกกลุ่มที่กล่าวมาลงไป[12]
ภูมิทัศน์ที่ปรากฏในภาพยนตร์ได้แรงบันดาลใจมากจาป่าโบราณแห่งเกาะยะกุ ในคิวชู และภูเขาแห่งเทือกเขาชิระคะมิ ทางตอนเหนือของฮอนชู[13]
การเผยแพร่
[แก้]ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศญี่ปุ่นและประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ในประเทศเหล่านี้มีการตีความกันอย่างกว้างขวางว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่บอกเล่าในรูปแบบตำนานโบราณของญี่ปุ่น มิราแมกซ์ แห่ง ดิสนีย์ ได้ซื้อสิทธิ์การจัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาไปและต้องการจะตัดภาพยนตร์ให้เหมาะกับผู้ชมในสหรัฐอเมริกา (สำหรับการจัดเรตติ้ง PG) อย่างไรก็ตามมิยะซะกิไม่อนุญาตและในที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เผยแพร่ในอเมริกาโดยไม่มีการตัดต่อโดยได้รับการจัดเรตติ้ง PG-13 Miramax ได้ลงทุนมหาศาลในการสร้างเสียงภาษาอังกฤษของภาพยนตร์โดยใช้นักพากย์ที่มีชื่อเสียง อย่างไรก็ดีเมื่อถึงเวลาฉายในโรงภาพยนตร์ปรากฏว่าไม่มีการโฆษณาเท่าที่ควร ทำให้จัดฉายในโรงภาพยนตร์ที่จำนวนไม่มากในเวลาอันสั้น ซึ่งต่อมาดิสนีย์ประกาศว่าภาพยนตร์เรื่องทำเงินจากการฉายในโรงได้ไม่ดี ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกำหนดออกจำหน่าวนรูปแบบ DVD ในสหรัฐอเมริกา แต่มิราแม็กซ์ประกาศว่าจะมีเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น แฟนที่คลังไคล้ภาพยนตร์จึงต่อต้าน ด้วยกลัวว่าจะขายไม่ดีมิราแมกซ์จึงต้องจ้างคนแปลซับไตเติ้ล และทำให้ DVD ออกช้ากว่ากำหนดไปเกือบสามเดือน เมื่อ DVD ออกมาในที่สุดก็ปรากฏว่าสามารถขายดีอย่างมาก
ฉบับภาษาอังกฤษ
[แก้]ดีวีดีที่เผยแพร่ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร มีซาวด์แทรกทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น และซับไตเติ้ลทั้งสองภาษา และมีการแปลตามตัวอักษรมากขึ้น
ภาพยนตร์ในฉบับภาษาอังกฤษเผยแพร่เหมือนต้นฉบับในญี่ปุ่นโดยไม่มีการตัดต่อเพราะมิยะซะกิดึงดันอย่างแข็งขัน[14] เฉพาะซาวด์แทรกเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลง เสียงภาษาอังกฤษแปลโดย Neil Gaiman ผู้แต่ง The Sandman การปรับปรุงส่วนใหญ่เป็นการให้ความหมายคำเฉพาะในวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่คนนอกทวีปเอเชียอาจเข้าใจได้ยาก รวมถึงชื่อเฉพาะเช่น Jibashiri และ Shishigami ในภาษาญี่ปุ่นถูกเปลี่ยนเป็น Mercenary และ Forest Spirit ในภาษาอังกฤษ เพราะคำเหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จักของผู้ชมนอกญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์ เช่น ไมเคิล แอทคินสัน, มร.สโนบิซ กล่าวว่าการแปลเช่นนี้ทำให้เนื้อหาของภาพยนตร์อ่อนลง
การตอบรับจากสังคม
[แก้]เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร เป็นภายยนตร์อันดับหนึ่งในญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2540 ทำรายได้ 11.3 พันล้านเยน[15] โดยนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นในเชิงบวกต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ อาทิเช่น ได้รับคะแนน 93% "Certified Fresh" บนเว็บ Rotten Tomatoes Leonard Klady แห่งนิตยสาร Variety ได้เขียนคำวิจารณ์เชิงบวกเมื่อได้ชม an early release of the picture.[16] ในรายการ Roger Ebert & The Movies เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร ได้รับ two thumbs up จาก Harry Knowles และ Roger Ebert.[17] Ebert ยังจัดอันดับภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ได้รับดาวสี่ดวงจากทั้งหมดสี่ดวงและใส่ภาพยนตร์เรื่องนี้ลงรายชื่อสิบภาพยนตร์ที่ดีที่สุดแห่งปีของเขา[18]
เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร ได้รับอันดับที่ 488 จาก 500 ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล (ใน พ.ศ. 2551) ของเอมไพร์แมกกาซีน[19]
เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร ยังอยู่ในรายการภาพยนตร์อเนิเมชันที่ดที่สุด 50 เรื่องของ เทอร์รี่ กิลเลียม[20]
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพรเป็นภาพยนตร์อนิเมะชันที่ขายดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา แต่อย่างไรก็ดีภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จทางการเงินเท่าที่ควรในสหรัฐอเมริกา โดยมียอดรายได้ได้ทั้งสิ้น 2,298,191 ดอลลาร์สหรัฐนช่วงแปดสัปดาห์แรก[21]
รางวัล
[แก้]- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จาก Japanese Academy Awards ครั้งที่ 21
- ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยม, แอนิเมชันยอดเยี่ยม และรางวัล Japanese Movie Fans' Choice จาก Mainichi Movie Competition ครั้งที่ 52
- ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยม และรางวัล Readers' Choice จากเทศกาล Asahi Best Ten Film Festival
- รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จาก The Agency for Cultural Affairs
- แกรนด์ไพร์ส ในประเภทแอนิเมชัน จากงาน มีเดียอาร์ทเฟสติวอล ครั้งที่ 1
- ผู้กำกับยอดเยี่ยม จากเทศกาล ทาคาซากิฟิล์มเฟสติวอล
- ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยม จาก The Association of Movie Viewing Groups
- มูฟวี่อะวอร์ด จาก Mainichi Art Award ครั้งที่ 39
- ผู้กำกับยอดเยี่ยม จาก Tokyo Sports Movie Award
- Nihon Keizai Shinbun Award for Excellency จาก Nikkei Awards for Excellent Products/Service
- Theater Division ได้รับจาก Asahi Digital Entertainment Award
- MMCA สเปเชียล ได้รับจาก Multimedia Grand Prix 1997
- ผู้กำกับยอดเยี่ยม และ Yujiro Ishihara Award จาก Nikkan Sports Movie Award
- รางวัลความสำเร็จพิเศษ ได้รับจาก The Movie's Day
- รางวัลพิเศษ จาก Houchi Movie Award
- รางวัลพิเศษจาก Blue Ribbon Award
- รางวัลพิเศษ จากเทศกาล โอซาก้าฟิล์มเฟสติวอล
- รางวัลพิเศษ จาก Elandore Award
- รางวัลด้านวัฒนธรรม จาก Fumiko Yamaji Award
- Grand Prize และ Special Achievement Award จาก Golden Gross Award
- First Place ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี จาก "Pia Ten" ครั้งที่ 26
- First Place จาก Japan Movie Pen Club ในฐานะ 5 ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยม ปี 1997
- First Place จาก 1997 Kinema Junpo Japanese Movies Best 10 (Readers' Choice)
- Second Place จาก 1997 Kinema Junpo Japanese Movies Best 10 (Critics' Choice)
- ผู้กำกับยอดเยี่ยม จาก 1997 Kinema Junpo Japanese Movies (Readers' Choice)
- First Place จาก Best Comicker's Award
- First Place จาก CineFront Readers' Choice
- Nagaharu Yodogawa Award; RoadShow
- ผู้แต่งเพลงยอดเยี่ยม และ Best Album Production จาก Japan Record Award ครั้งที่ 39
- รางวัลยอดเยี่ม จาก Yomiruri Award for Film/Theater Advertisement
เพลงประกอบภาพยนตร์
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Critics' Picks: 'Princess Mononoke' - NYTimes.com/Video, A. O. Scott reviews 'Princess Mononoke,' Hayao Miyazaki's anime masterpiece.
- ↑ Roger Ebert. "Roger Ebert's Top Ten Lists 1967-2006". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-31. สืบค้นเมื่อ 2007-12-22.
- ↑ Ebert, Roger (1999-10-24). "Director Miyazaki draws American attention". Chicago Sun-Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-18. สืบค้นเมื่อ 2009-08-27.
- ↑ "Mononoke Hime Annotated Script with Japanese Text". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-13. สืบค้นเมื่อ 2007-05-07.
- ↑ 5.0 5.1 Toshio Uratani (2004). Princess Mononoke: Making of a Masterpiece (Documentary). Japan: Buena Vista Home Entertainment.
- ↑ "The Animation Process". Official film site.
- ↑ "Transcript on Miyazaki interview". Official film site.
- ↑ "Mononoke DVD Website". Disney.
- ↑ 9.0 9.1 "Wettbewerb/In Competition". Moving Pictures, Berlinale Extra. Berlin: 32. February 11–22, 1998.
- ↑ "Movie-Vault.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-04. สืบค้นเมื่อ 2011-02-07.
- ↑ "Articles about Mononoke Hime". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-25. สืบค้นเมื่อ 2009-10-25.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 "Miyazaki on Mononoke-hime". Nausicaa.net. สืบค้นเมื่อ 2010-06-14.
- ↑ もののけ姫 ロケ地情報 (ภาษาญี่ปุ่น).
- ↑ Brooks, Xan (September 14, 2005). "A god among animators". London: The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2010-05-22.
- ↑ "Kako haikyū shūnyū jōi sakuhin 1997-nen" (ภาษาญี่ปุ่น). Motion Picture Producers Association of Japan. สืบค้นเมื่อ 16 February 2011.
- ↑ Leonard Klady review
- ↑ Roger Ebert & The Movies review[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Roger Ebert's print review". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-21. สืบค้นเมื่อ 2021-09-02.
- ↑ "The 500 Greatest Movies of All Time". Empireonline.com. สืบค้นเมื่อ 2010-06-14.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-08. สืบค้นเมื่อ 2011-02-24.
- ↑ "Anime Radar: News". Animerica. San Francisco, California: Viz Media. 9 (2): 32. March 2001. ISSN 1067-0831. OCLC 27130932.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ทางการ at Disney
- Princess Mononoke Production Diary at Studio Ghibli (ในภาษาญี่ปุ่น)
- Mononoke-hime ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- Mononoke Hime ที่บิกการ์ตูนเดตาเบส
- เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร ที่ออลมูวี
- เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร ที่บ็อกซ์ออฟฟิศโมโจ
- เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร ที่รอตเทนโทเมโทส์
- เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร (ภาพยนตร์) ที่เครือข่ายข่าวอนิเมะ
- Animerica review ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เก็บถาวร เมษายน 7, 2004)