ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอเมืองตาก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอเมืองตาก
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Mueang Tak
คำขวัญ: 
ต้นกระบากใหญ่ ริมน้ำปิงประทับใจ
แกรนิต ไม้ แร่เฟลสปาร์
แผนที่จังหวัดตาก เน้นอำเภอเมืองตาก
แผนที่จังหวัดตาก เน้นอำเภอเมืองตาก
พิกัด: 16°52′54″N 99°7′25″E / 16.88167°N 99.12361°E / 16.88167; 99.12361
ประเทศ ไทย
จังหวัดตาก
พื้นที่
 • ทั้งหมด1,599.356 ตร.กม. (617.515 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด102,166 คน
 • ความหนาแน่น63.88 คน/ตร.กม. (165.4 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 63000
รหัสภูมิศาสตร์6301
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอเมืองตาก ถนนมหาดไทยบำรุง ตำบลหนองหลวง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก 63000
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

เมืองตาก เป็นอำเภอในจังหวัดตาก ศูนย์กลางทางด้านคมนาคม และจุดเชื่อมต่อไปยังอำเภอแม่สอด ศูนย์กลางค้าชายแดนไทย-พม่า อำเภอเมืองตากเดิมชื่อ "เมืองระแหง" อดีตมีชาวมอญอาศัยอยู่มาก่อน ดังมีหลักฐานศิลปะมอญปรากฏอยู่[ต้องการอ้างอิง] ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตาก เมืองนี้สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี[ต้องการอ้างอิง] ต่อมาเมื่อได้สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว เมืองตากมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญด้านฝั่งตะวันตก ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตัวเมืองตากจากฝั่งขวาของแม่น้ำปิงมายังฝั่งซ้ายบริเวณตำบลบ้านระแหงจนกระทั่งทุกวันนี้

ประวัติเมืองตาก

[แก้]

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

[แก้]

เมืองตากในอดีตเป็นเมืองที่มีชาวมอญอยู่มาก่อน ดังมี หลักฐานศิลปมอญปรากฏอยู่ที่อำเภอบ้านตาก มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ และเป็นหนึ่งในหัวเมืองที่มีอายุขัยเกินกว่าสองพันปีขึ้นไป เมื่อมีการ อพยพ ของชนชาติไทยจากลุ่มน้ำแยงซีเกียงตอนใต้ ลงมาตามแนวลำน้ำดง (ลำน้ำสาละวิน) มีพวกหนึ่งได้ข้ามลำน้ำสาละวิน ผ่านลุ่มน้ำเมยหรือแม่น้ำต่องยินเข้ามาทางช่องเขาด้าน อำเภอแม่สอดและมาถึงบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า “เมืองตาก”

ผู้นำกลุ่มคนไทยที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองตากในยุค นั้น ได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ปกครองสืบทอดต่อเนื่อง กันมาจนถึงปี พ.ศ. 560 รัชสมัยพระเจ้าสักดำ ซึ่งเป็นกษัตริย์เมืองตากที่ยิ่งใหญ่มาก มีอาณาเขตที่อยู่ในอำนาจแผ่ไปจนจรดทะเลอันดามันดังมีบันทึกในพงศาวดารเหนือกล่าวว่าในรัชสมัยพระเจ้าสักดำนั้นเมืองตากมีการค้าขายกับเมืองอินเดียด้วย

เมืองตากคงจะเสื่อมลงในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 พระยากาฬวรรณดิสผู้เป็นกษัตริย์เมืองตากที่อพยพมาจาก ตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ได้โยกย้ายไปสร้างราชธานีขึ้นใหม่ที่เมืองละโว้ทางตอนใต้ของเมืองตากลงไปอีก

สมัยประวัติศาสตร์

[แก้]

เมืองตากมีบางยุคเมืองตากถูกทอดทิ้ง กลายเป็นเมืองร้างดังในพงศาวดารเหนือได้ กล่าวถึงการเสด็จทางชลมารคของพระนางจามเทวี พระราชธิดากษัตริย์ละโว้ (พระยากาฬวรรณดิส) เพื่อไปปกครองแคว้นหริภุญไชย (ลำพูน) ในราว พ.ศ. 1176 โดยทาง ลำน้ำปิง พระนางจามเทวีขึ้นไปสำรวจบนฝั่งแม่น้ำพบร่องรอยกำแพงเมืองเก่าๆ ถูกทิ้งร้าง จึงโปรดให้สร้างเป็นบ้านเมืองใหม่ชื่อว่า “เมืองตาก”

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 1805 ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกทัพ มาประชิดเมืองตาก ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงจัดกองทั��ออกไปรบ โดยมีพระราชโอรสองค์เล็กซึ่งมีพระชนมายุได้ 19 พรรษา ติดตามไปด้วย กองทัพ ทั้งสองฝ่ายปะทะกันที่บริเวณเชิงดอยนอกเมืองตากประมาณกิโลเมตรเศษ ราชโอรสองค์เล็กได้ทรงชนช้าง กับขุนสามชนกระทำยุทธหัตถีกัน ขุนสามชนสู้ไม่ได้แตกพ่ายไป ต่อมาภายหลังทรงพระนามว่า “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” และได้โปรดสร้างเจดีย์ขึ้นเป็นที่ระลึกถึงชัยชนะในการทำยุทธหัตถีครั้งนั้น องค์หนึ่งเป็นศิลปแบบสุโขทัย ซึ่งเจดีย์ยุทธหัตถีนี้อยู่ที่วัดพระบรมธาตุ อำเภอบ้านตาก ห่างจากตัวเมืองไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงราว 31 กิโลเมตร

ต่อมาในแผ่นดินมหาธรรมราชา ได้ย้ายเมืองตากลงมาทางตอนใต้ตามลำน้ำปิง ไปตั้งอยู่ที่ป่ามะม่วง ฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำปิง ซึ่งอยู่ในเขตตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมืองตากในปัจจุบัน

เมืองตากที่ย้ายมาตั้งใหม่นี้มิใช่เมืองหน้าด่าน สำหรับป้องกันกองทัพพม่าที่จะยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองที่กองทัพไทยใช้เป็นที่ชุมนุมพลในเวลา ที่จะยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่อีกด้วย ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จมาชุมนุมกองทัพที่เมืองตากนี้ทุกพระองค์

โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชสมบัตินั้น พระองค์ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระที่นั่งสุริยาอมรินทร ให้เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราราชสีห์ ไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือและต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ปลัดเมืองตาก พระยาวชิรปราการแล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยลำดับ

กล่าวโดยสรุป จังหวัดตากเป็นจังหวัดที่มีความเป็นมาในประวัติศาสตร์ ควรค่าแก่การสนใจ เป็นเมืองที่พระมหากษัตริย์ในอดีตได้เสด็จมาชุมนุมกองทัพที่เมืองตากนี้แล้วถึง 4 พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง และทรงยกทัพกลับราชอาณาจักรไทยโดยผ่านดินแดนเมืองตากเป็นแห่งแรก สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงนำทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ และได้สร้างวัดพระนารายณ์ที่เชิงสะพานกิตติขจรปัจจุบัน และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตาก และเป็นผู้กอบกู้เอกราชของชาติไทยจากพม่า ครั้งที่ 2

ที่มาของชื่ออำเภอเมืองตาก

[แก้]

ทุกวันนี้มีผู้อธิบายที่มาของนามเมืองจังหวัดตากใหม่แล้ว โดยอ้างอิงจากหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทย บรรพชนของชาวตากเป็นมอญ ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายเอาไว้ใน “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง” ว่าเมืองตากเก่านี้พวกมอญเข้ามาตั้งเป็นแน่ไม่ต้องสงสัย เพราะอยู่ทางฝั่งตะวันตก (ของแม่น้ำปิง) และอยู่ตรงปากน้ำวัง ทางไปเมืองนครลำปางออกลำน้ำพิงเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในทางคมนาคม มีวัดและพระเจดีย์องค์หนึ่งเรียกว่าพระมหาธาตุเมืองตากจากนั้นประวัติศาสตร์จังหวัดตากในสมัยสุโขทัยยังบ่งบอกว่าเมืองตากเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญเมืองหนึ่งในสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จากนั้นไม่นานขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดก็ยกทัพมาตีเมืองตากแต่ก็พ่ายแพ้ให้แก่พ่อขุนรามคำแหง (ซึ่งเป็นโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ในสมัยนั้น)เมืองตากดูเหมือนจะถูกลดความสำคัญลงในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะไม่ปรากฏหลักฐานหรือเอกสารใดๆ ที่ระบุถึงเมืองตากเป็นเพียงแค่หัวเมืองทางเหนือที่บางครั้งก็เป็นเส้นทางผ่านของกองทัพพม่าในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพให้แก่กรุงศรีอยุธยา เมืองตากถูกย้ายมาอยู่ที่บ้านป่ามะม่วง กลายเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกอีกครั้งหนึ่ง และยังเป็นเมืองที่ใช้ชุมนุมพลไปตีเมืองเชียงใหม่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้วยเหตุที่ประวัติศาสตร์ของเมืองตากเกี่ยวพันอยู่กับเรื่องรบพุ่ง ทำสงครามมาตั้งแต่อดีต นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบางคนจึงสันนิษฐานว่านามเมือง “ตาก” น่าจะแปลว่า “ตี” ในภาษามอญโดยที่ไม่น่าจะข้องเกี่ยวกับเรื่องดินฟ้าอากาศแต่อย่างใด

ประเพณีท้องถิ่นเมืองตาก

[แก้]

งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

[แก้]

งานประเพณีลอยกระทงของไทย มีประวัติยาวนานเท่าที่มีบันทึกเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี โดยมีแนวความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชาขอขมาต่อแม่พระคงคา ได้มีการพัฒนากระทงเป็นรูปดอกบัวบาน โดยท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศคนแรกในประวัติศาสตร์การลอยกระทง และกลายเป็นประเพณีสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ในส่วนของประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงนั้น มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตมาว่า มีสามเณรน้อยชอบทำบาป ยิงนกตกปลา ทำร้ายไก่ วัว เต่า และพญานาค ตาย จึงเกิดสำนึกในบาปที่ตัวเองได้ทำ จึงขออธิษฐานให้ได้เกิดมาเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ต่อมาเกิดมาเป็นไข่ของกาขาวคู่หนึ่ง และฟักออกมาเป็นเด็กทารก 5 คน คือ เณรน้อย ไก่ วัว เต่า และพญานาค กาขาวที่ตายลงจึงได้เข้าฝันลูก ๆ ทั้ง 5 ว่าถ้าระลึกถึงพ่อแม่ก็ให้นำด้ายมาฟั่นเป็น รูปตีนกา แล้วลอยแม่น้ำคงคาไป ต่อมาเด็กทั้ง 5 คนได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ดังนั้นการลอยฟั่นด้ายไปเปรียบเสมือนเป็นการบูชาพระคุณของบิดามารดา และเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ด้วย หลังจากนั้นจึงได้มีการพัฒนาวัสดุการทำกระทงสายเป็นกะลามะพร้าวที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เนื่องจากชาวเมืองตากนั้นนิยมรับประทานเมี่ยงเป็นอาหารว่าง ถ้าเหลือก็นำมา��ำหน่าย “เมี่ยง” ทำจากมะพร้าวใช้เฉพาะส่วนเนื้อ ถั่วลิสง และใบเมี่ยงเป็นส่วนประกอบหลัก จึงมีกะลาที่เหลือจากการทำเมี่ยงเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความคิดนำกะลามะพร้าวมาทำเป็นกระทง โดยขัดทำความสะอาดเลือกเฉพาะด้านที่สมบูรณ์ไม่มีรู มาตกแต่งให้สวยงาม ภายในใส่ฟั่นด้ายรูปตีนกาตามตำนานประเพณีที่สืบต่อกันมา โดยเทียนขี้ผึ้งที่ใช้ยึดฟั่นด้ายนำมาจากเทียนจำนำพรรษาของพระสงฆ์ที่ไม่ได้ใช้หลังจากช่วงออกพรรษาไปแล้ว จึงถือว่าเป็นศิริมงคลสำหรับตนเอง งานประเพณีกระทงสายไหลประทีปพันดวง เดิมเป็นเพียงการสาธิตการลอยกระทงสายในแม่น้ำปิงเท่านั้น จนปี 2540 ได้มีการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงเกิดเป็นประเพณีการแข่งขันลอยกระทงสายชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิจกรรมภายในงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงนั้น เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าที่มีการกิจกรรมการแข่งขันต่าง ๆ ของเด็กนักเรียนจากชุมชมต่าง ๆ มีการจัดแสดงกระทงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ จัดการประกวดกระทงนำ กระทงสาย และกระทงตามจากตัวแทนชุมชนต่าง ๆ ในเมืองตาก และกระทงเหล่านี้จะนำไปแข่งลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงในช่วงตอนค่ำด้วย ช่วงค่ำเริ่มจากการขบวนอัญเชิญกระทงพระราชทาน ไปประดิษฐาน ณ เวทีแข่งขันกลางแม่น้ำปิง ตามด้วยขบวนเชิญกระทงสายที่จะเข้าแข่งในวันนั้นจากชุมชนต่าง ๆ เมื่อเข้าประจำการแข่งขันลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงนั้น จะเริ่มแข่งที่ละชุมชน เริ่มที่ปล่อยกระทงนำอันสวยงาม ตามด้วยกระทงตามที่ทำจากกะลาจุดไฟที่ฟั่นด้ายรูปตีนกาพันใบ และปิดท้ายขบวนกระทงด้วยกระทงปิดท้ายที่มีลักษณะคล้ายกระทงนำ แต่มีขนาดเล็กกว่า ขบวนกระทงสายที่สว่างโดดเด่นไหลยาวต่อเนื่องไปตามลำน้ำปิงอย่างสวยงามตามแนวโค้งของสันทรายใต้น้ำ ดูเป็นเส้นสายธารแห่งความหวังของการดำรงไว้ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมที่ควรภาคภูมิใจ ประกอบความตื่นเต้นของกองเชียร์แต่ละชุมชนที่ลุ้นให้ชุมชนของตัวเองมีขบวนกระทงสายที่ต่อเนื่องและงดงามที่สุด

งานตากสินมหาราชานุสรณ์และงานกาชาด จังหวัดตาก

[แก้]

ประวัติ / ความเป็นมา

[แก้]

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ทรงได้รับคำต่อท้ายพระนามว่า มหาราชแสดงถึงการประกอบพระราชกรณียกิจ อันเอนกอนันต์ต่อชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจในการกอบกู้เอกราช และการรวบรวมคนไทยเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนเราสามารถเป็นชาติมาได้ในปัจจุบัน พระราชประวัติของพระองค์ก่อนเสวยราชสมบัตินั้น นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าพระองค์ท่านทรงมีเชื้อสายจีน โดยมีบิดาเป็นคนจีน และมารดาเป็นคนไทย จากความสามารถพระองค์ได้เข้ารับราชการในสมัยอยุธยาตอนปลาย และได้ประกอบความดีความชอบมากมายจนได้เป็นถึงเจ้าเมืองตาก ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกพระองค์ท่านทางมีมุมมองอันกว้างไกล และคาดเดาเหตุการณ์ได้ถูกต้องว่า ถ้ายังอยู่ในอยุธยาต่อไปก็คงจะไม่รอดแน่ ดังนั้น จึงทรงรวบรวมไพร่พลตีฝ่าวงล้อมของข้าศึกออกไป แล้วจึงรวบรวมไพร่พลกลับมากู้เอกราชได้ภายในระยะเวลาอันสั้น จากพระราชกรณียกิจดังกล่าว ชาวจังหวัดตาก จึงร่วมใจกันจัดงานตากสินมหาราชานุสรณ์ขึ้น เพื่อน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อบ้านเมืองมาในอดีต

กำหนดงาน

[แก้]

วันที่ 28 ธันวาคม ถึง 3 มกราคม ณ บริเวณศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดตาก

ประเพณีสงกรานต์ถนนข้าวแคบ หาดทรายทอง จังหวัดตาก

[แก้]

ประเพณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากอาชีพส่วนใหญ่ของชาวจังหวัดตาก คือ ทำนา ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการทำนา คือ ข้าว นอกจากข้าวเป็นอาหารหลักแล้วยังสามารถแปรรูปได้หลายอย่าง อย่างเช่น ข้าวแคบ หรือ ข้าวเกรียบ โดยเป็นอาหารพื้นเมืองของชาวเมืองตาก และเป็นอาหารว่างชนิดหนึ่ง ที่มีวิธีทำคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ แต่การทำข้าวแคบ เริ่มจากการไล้แผ่นแป้งพร้อมโรยงาดำ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนำเอาแผ่นแป้งไปตากแดดให้แห้ง การรับประทาน สามารถทำได้รูปแบบ เช่น เมี่ยงคำ ยำข้าวเกรียบ ปิ้งหรือทอด รับประทานได้ในทุกเทศกาลและโอกาสต่าง ๆ สถานที่ที่เหมาะสมในการจัดงานประเพณีในครั้งนี้ คือ หาดทรายทอง แม่น้ำปิง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนและเล่นน้ำของชาวเมืองตาก นักท่องเที่ยวจังหวัดใกล้เคียง สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวและเล่นน้ำได้โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงทะเล โดยมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ห่วงยาง อีกทั้งยังเหมาะสำหรับการเล่นกีฬาทางน้ำทุกชนิด รวมถึงการจัดการแข่งขันกีฬา เช่น วอลเล่ย์บอลชายหาด ฟุตบอลชายหาด นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดตากทุกคน

อาหารพื้นบ้าน

[แก้]
  • เมี่ยงคำเมืองตาก หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เมี่ยงจอมพล ลักษณะเด่น และส่วนประกอบของเมี่ยง คือ มะพร้าวขูด ข้าวตากแห้งทอด ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง แคบหมู มะนาว หัวหอมแดง ขิงหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พริกขี้หนูสด เต้าเจี้ยว ข้าวเกรียบชุบน้ำให้อ่อนตัว แล้วนำส่วนประกอบทั้งหมดห่อด้วยข้าวเกรียบ ใส่น้ำเต้าเจี้ยวห่อให้พอดีคำรับประทานเป็นของว่างซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองที่นิยมกันมากในจังหวัดตาก และจังหวัดใกล้เคียง
  • ก๋ว���เตี๋ยวพื้นเมือง ลักษณะเด่นของก๋วยเตี๋ยวที่นี่ คือ ใช้เส้นเล็กปรุงด้วยกุ้งแห้งป่น แคบหมูชิ้นเล็ก หอม กระเทียมเจียว หมูบะช่อ ถั่วฝักยาวหั่นเฉียง น้ำตาลทราย น้ำมะนาว น้ำปลา มีทั้งก๋วยเตี๋ยวแห้ง และน้ำ ปัจจุบันมีเหลืออยู่เพียง 3 ร้าน ได้แก่ ร้านป้าบาง ในเขตอำเภอเมืองตาก และร้านป้าหล้า ถนนอินทรคีรี อำเภอแม่สอด ร้านแม่ดี ใต้ต้นหูกวาง ถนนวัดดอยคีรี อำเภอเมือง จังหวัดตาก
  • แกงมะแฮ้(มะแฮะ) ใช้ถั่วมะแฮ้ต้มให้เปื่อยแล้วใช้พริกแกงส้มผสมปลาย่าง โดยเอาพริกแกงผัดกับหมูที่จะใส่แล้วใส่หม้อต้มรวมกับถั่วมะแฮ้ปรุงรสตามชอบ ใส่น้ำปลา น้ำมะขามเปียก ใบชะอม กินกับข้าวเกรียบทอดหรือย่าง ถ้าจะให้อร่อยมากขึ้นต้องใส่ปลาร้าและใบส้มป่อย
  • ยำข้าวเกรียบ ใช้ข้าวเกรียบมีงาทำเองของพื้นบ้านมายำรวมกับน้ำพริกกุ้งน้ำพริกเผาใส่ถั่วฝักยาว แครอท แค็บหมู

ภูมิศาสตร์

[แก้]

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอเมืองตากตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดตาก ตามแนวเทือกเขาถนนธงชัย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 16 องศา 52 ลิปดา 54 พิลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 7 ลิปดา 25 พิลิปดาตะวันออก สูงกว่าระดับน้ำทะเล 116.2 เมตร ณ ที่ตั้งที่ศูนย์ราชการจังหวัดตาก (ศาลากลางจังหวัดตาก) อำเภอแม่สอดมีพื้นที่ประมาณ 1,599.356 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 999,597.5 ไร่ ใหญ่เป็นลำดับที่ 5 ของจังหวัดตาก

อำเภอเมืองตากมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภออื่นในประเทศไทย 8 อำเภอ ดังนี้

ลักษณะภูมิประเทศ

[แก้]

อำเภอเมืองตากมีพื้นที่ทั้งสิ้น 1,599.356 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 999,597.5 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.75 ของเนื้อที่จังหวัด (เนื้อที่จังหวัด 16,406,650 ตารางกิโลเมตร) สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของเมืองตาก ประกอบด้วยป่าไม้ และเทือกเขาสูง มีพื้นที่ราบสำหรับการเกษตรน้อย พื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง มีอยู่ประมาณร้อยละ 65 ของพื้นที่ ซึ่งปกคลุมไปด้วยป่าไม้โปร่งและป่าเบญจพรรณ และเป็นพื้นที่ราบลาดเอียงลงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ราบแคบๆ ริม 2 ฝั่งแม่น้ำ

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

เนื่องจากจังหวัดตากมีสภาพภูมิประเทศแบ่งออกเป็นสองซีก คือ ตะวันออกและตะวันตก โดยมีเทือกเขาถนนธงชัยแบ่งกลาง ทำให้ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดแตกต่างกันไปด้วย เนื่องจากเทือกเขาถนนธงชัยเป็นตัวปะทะมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย และทะเลอันดามัน ทำให้ซีกตะวันออกจะได้รับความชื้นจากลมมรสุมไม่เต็มที่

สภาพอากาศ

[แก้]

โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป จนถึง เดือนพฤษภาคม
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป จนถึง เดือนตุลาคม โดยฝนจะตกทางด้านตะวันตกมากกว่าด้านตะวันออก เนื่องจากอยู่ในเขตอิทธิพลของมรสุมและดีเปรสชัน นอกจากนี้ด้านตะวันตกมีพื้นที่ป่าไม้สูงกว่าด้วย ทำให้เก็บความชุ่มชื่นได้เป็นอย่างดี
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป จนถึง เดือนกุมภาพันธ์ อากาศจะหนาวจัดในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม

ฝน

[แก้]

ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยของจังหวัดตาก ระหว่างปี 2535 ถึง 2545 จะอยู่ ในช่วง 651.10 มม. ถึง 1,556.30 มม. ฝนตกมากที่สุดในปี 2542 วัดได้ถึง 1,556.30 มม. จำนวนวันฝนตก 154 วัน ส่วนฝนตกน้อยที่สุด ในปี 2536 วัดได้ 651.10 มม. จำนวนวันฝนตก 93 วัน

อุณหภูมิ

[แก้]

ในช่วงระหว่างปี 2535 ถึง 2545 จังหวัดตากมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี มีค่าอยู่ในช่วง 27.73 องศาเซลเซียส ถึง 29.31 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดค่าเฉลี่ยปานกลาง 18.38 องศาเซลเซียส ถึง 20.23 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิต่ำที่สุดวัดได้ 5.7 องศาเซลเซียส เมื่อเดือน มกราคม 2517 และอุณหภูมิสูงสุดค่าเฉลี่ยปานกลาง 36.16 ���งศาเซลเซียส ถึง 38.38 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิสูงสุดวัดได้ 44.1 องศาเซลเซียส เมื่อเดือน มีนาคม 2506

ความชื้นสัมพัทธ์

[แก้]

ในช่วงระหว่างปี 2535 ถึง 2545 จังหวัดตากมีความชื้นเฉลี่ยตลอดปี มีค่าอยู่ในช่วง 69 เปอร์เซ็นต์ ถึง 71.8 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นเฉลี่ยต่ำสุดปานกลางอยู่ในช่วง 28 เปอร์เซ็นต์ ถึง 36 เปอร์เซ็นต์ และความชื้นสัมพัทธ์ค่าเฉลี่ยสูงสุดปานกลาง 92 เปอร์เซ็นต์ ถึง 96 เปอร์เซ็นต์

แหล่งน้ำ

[แก้]
  • แม่น้ำปิง ต้นน้ำอยู่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ไหลผ่าน อ.สามเงา อ.บ้านตาก และอ.เมืองตาก ตามลำดับ เป็นแม่น้ำสายใหญ่มีน้ำไหลตลอดปี ไหลผ่านที่ราบตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของจังหวัดตาก มีระยะทาง 580 กม.
  • แม่น้ำวัง ต้นน้ำอยู่ที่ จ.ลำปาง ไหลผ่าน อ.สามเงา และอ.บ้านตาก ไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่บ้านปากวัง อ.บ้านตาก จ.ตาก ทำให้เกิดที่ราบดินตะกอนค่อนข้างกว้างเป็นแหล่งการเพาะปลูกอีกแหล่งหนึ่ง มีระยะทาง 335 กม.
  • ห้วยแม่ท้อ เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ได้ในฤดูฝนและฤดูหนาว ในฤดูแล้งจะแห้งขอดเป็นช่วง ๆ

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอเมืองตากแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 14 ตำบล 102 หมู่บ้าน ได้แก่

ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน จำนวนประชากร
(ธันวาคม 2565)[1]
1. ระแหง Rahaeng
5,513
2. หนองหลวง Nong Luang
4,630
3. เชียงเงิน Chiang Ngoen
2,429
4. หัวเดียด Hua Diat
3,002
5. หนองบัวเหนือ Nong Bua Nuea
4,587
6. ไม้งาม Mai Ngam
11,498
7. โป่งแดง Pong Daeng
9,328
8. น้ำรึม Nam Ruem
13,998
9. วังหิน Wang Hin
9,638
10. แม่ท้อ Mae Tho
8,388
11. ป่ามะม่วง Pa Mamuang
4,334
12. หนองบัวใต้ Nong Bua Tai
6,207
13. วังประจบ Wang Prachop
13,443
14. ตลุกกลางทุ่ง Taluk Klang Thung
4,570

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอเมืองตากประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลเมืองตาก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลระแหง ตำบลหนองหลวง ตำบลเชียงเงิน และตำบลหัวเดียดทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลไม้งาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไม้งามทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลหนองบัวใต้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัวใต้ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัวเหนือทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโป่งแดงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำรึม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำรึมทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลวังหิน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังหินทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ท้อ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ท้อทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะม่วง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่ามะม่วงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลวังประจบ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังประจบทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลตลุกกลางทุ่ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลตลุกกลางทุ่งทั้งตำบล

การคมนาคม

[แก้]

รถยนต์

[แก้]

จากกรุงเทพมหานคร สามารถใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ถนนสายเอเชีย ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 อีกครั้ง ผ่านเข้ากำแพงเพชร และตรงไปจังหวัดตาก รวมระยะทาง 426 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง

โครงการคมนาคมในอนาคต

[แก้]
  • โครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะทาง 68.8 กิโลเมตร สถานีต้นทาง สถานีรถไฟวิทยาลัยลุ่มน้ำปิง สถานีปลายทาง สถานีรถไฟชายแดนไทย-พม่า บ้านริมเมย

ทางหลวงแผ่นดิน

[แก้]
  • ทางหลวงหมายเลข 1 ตอน วังเจ้า-ตาก (กม.407+925-กม.431+166)
  • ทางหลวงหมายเลข 1(แนวเก่า)ตอน แยก กม.411+713-บรรจบทางหลวงหมายเลข 105 (กม.22+000-กม.25+335)
  • ทางหลวงหมายเลข 12 ตอน อำเภอเมืองตาก-กม.83+023 (ต่อเขตแขวงฯ สุโขทัย) (กม.83+023-กม.118+537)
  • ทางหลวงหมายเลข 104 ตอน แยกทางหลวงหมายเลข 1 (วังเจ้า-เมืองตาก) (กม.497+082-กม.522+855)
  • ทางหลวงหมายเลข 105 ตอน อำเภอเมืองตาก-แม่สอด (กม.0+000-กม.26+900)
  • ทางหลวงหมายเ��ข 1107 ตอน แยกทางหลวงหมายเลข 1 (เชิงสะพานกิตติขจร)-เจดีย์ยุทธหัตถี (กม.0+000-กม.18+618)
  • ทางหลวงหมายเลข 1108 ตอน (ค่ายพระเจ้าตาก)-บ.นาโบสถ์ (กม.0+000-กม.18+628)
  • ทางหลวงหมายเลข 1111 ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 12-บ.โป่งแดง (กม.0+000-กม.17+363)
  • ทางหลวงหมายเลข 1132 ตอน ทางหลวงหมายเลข101 (พรานกระต่าย)-บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 ตำบลวังประจบ (กม.29+925-กม.42+083)

สถานที่สำคัญ

[แก้]

สถานที่หน่วยงานราชการ

[แก้]
  • ศูนย์ราชการจังหวัดตาก
  • สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตาก
  • กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก
  • ศาลจังหวัดตาก
  • ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
  • สำนักงานอัยการจังหวัดตาก
  • สำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่ตาก
  • สำนกังานสรรพสามิตเขตพื้นที่ตาก
  • มณฑลทหารบกที่ 310

สาธารณสุข

[แก้]
  • โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 310 เตียง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองตาก หลักกิโลเมตรที่ 420 เลขที่ 295 ถนนพหลโยธิน ตำบลระแหง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก มีพื้นที่ขนาด 30 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา รับผิดชอบงานสาธารณสุขในเครือข่าย 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตาก และอำเภอวังเจ้า
  • ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งใช้ในภาษาอังกฤษว่า Medical Education Center มีฐานะเป็นฝ่ายหนึ่งของโรงพยาบาล มีหน้าที่จัดการเรียนการสอนชั้นคลินิก ให้กับนิสิตแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ในโครงการแพทย์แนวใหม่ (New Tract) โดยได้เปิดดำเนินการสอนเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2548 มีนิสิตแพทย์ระดับคลินิก ชั้นปีที่ 4-6
  • โรงพยาบาลค่ายวชิรปราการตั้งอยู่บริเวณ ถนนจรดวิถีถ่อง ต.ไม้งาม อ.เมืองตาก จังหวัดตาก
  • สถานีกาชาดเทพรัตน์ ตั้งอยู่บริเวณ ต.ป่ามะม่วง อ.เมืองตาก จังหวัดตาก

สถานศึกษา

[แก้]

สถาบันอุดมศึกษา

[แก้]
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตตากตั้งอยู่ที่เทศบาลตำไม้งาม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก เปิดสอน 4 คณะวิชา ประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม มีนักศึกษาประมาณ 5,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นวิทยาเขตมากเป็นอันดับ 2 รองจากวิทยาเขตภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในอนาคตมีโครงการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยตากสิน
  • วิทยาลัยลุ่มน้ำปิงตั้งอยู่ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก เปิดการสอนระดับปริญญาตรีและปริญญาโท รวม 4 คณะวิชา ประกอบด้วย คณะบริหารธุรกิจ คณะรัฐศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย
  • วิทยาลัยชุมชนตากตั้งอยู่ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก เปิดการสอนระดับอนุปริญญา 4 สาขาวิชา ได้แก่ การปกครองท้องถิ่น การศึกษาปฐมวัย การแพทย์แผนไทย และคอมพิวเตอร์ธุรกิจ รวมนักศึกษาประมาณ 806 คน

อาชีวศึกษา

[แก้]
  • วิทยาลัยเทคนิคตาก ตั้งอยู่ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก เปิดการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวส.)จำนวน 8 สาขาวิชา ได้แก่ สาขางานการขาย สาขางานการบัญชี สาขางานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาเครื่องกล สาขาวิชาโลหะ การสาขาวิชาการก่อสร้าง สาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สาขางานการโรงแรม
  • โรงเรียนกรุงเทพการบัญชีตั้งอยู่ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก เปิดการสอนระดับชั้น ปวช. และปวส. ทางพานิชยกรรม เช่น สาขาการบัญชี การตลาด คอมพิวเตอร์ธุรกิจ

แหล่งการเรียนรู้

[แก้]
  • ห้องสมุดประชาชน ��เฉลิมราชกุมารี” และพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นอาคารแบบแปลนพิเศษ ๔ ชั้น ตั้งอยู่ด้านหลังบริเวณศาลตากสินมหาราช ถ.ตากสิน ต.หนองหลวง อ.เมืองตาก จ.ตาก เป็นห้องสมุดประชาชน “ เฉลิมราชกุมารี” ที่ มีพื้นที่ ๒ ไร่ ๑๔ ตารางวา
  • พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตาก ตั้งอยู่บริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตากหลังเก่า ถนนตากสิน ตำบลระแหง อำเภอเมืองตาก พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติจะเป็นสถานที่จัดแสดงและรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทรัพย์สินทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดตาก ที่มีอยู่จำนวนมากและเก็บรักษาไว้กระจัดกระจายในที่ต่างๆ ให้มาอยู่ในที่เดียวกัน ให้ประชาชนได้มาศึกษาเยี่ยมชมได้อย่างสะดวก รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดตากต่อไป
  • ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญากระทงสาย ตั้งอยู่บริเวณวัดไผ่ล้อม อำเภอเมืองตาก จ.ตาก เพื่อใช้สำหรับเผยแพร่วัฒนธรรมของชาวเมืองตาก โดยเฉพาะประเพณีลอยกระทงสาย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น ของจังหวัดตาก เป็นหนึ่งเดียวในโลก ที่ควรรักษาและหวงแหน

สวนสาธารณะ

[แก้]
  • ริมสายธารลานกระทงสาย ตั้งอยู่ริมถนนกิตติขจร ตำบลหนองหลวง บริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิง ฝั่งตะวันออก ตลอดทั่งแนวเป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองตาก ซึ่งช่วงยามเย็นจะมองเห็นพระอาทิตย์ตกลับเหลี่ยมเขาสวยงามมากและเป็นที่จัดกิจกรรมงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง และบริเวณเดียวกันนั้นยังเป็นที่ตั้งของคลาดกลางตากสินและหอกิตติคุณ ซึ่งเป็นอาคารเอนกประสงค์ใช้จัดนิทรรศการงานสำคัญต่างๆ ของจังหวัด
  • สวนแม่ปิงปาร์คและลานออกกำลังกายตั้งบริเวณระหว่าง ถนนกิติขจรกับถนนจอมพล ตำบลระแหง อำเภอเมืองตาก
  • หนองน้ำมณีบรรพต (เกาะลอย)เป็นบึงใหญ่อยู่กลางเมืองตาก ริมถนนพหลโยธินก่อนเข้าตัวเมืองเล็กน้อย หนองน้ำมีอาณาเขตถึง 60 ไร่ ภายในบริเวณร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆมีศาลาพักผ่อน
  • สวนประติมากรรมกระทงสายตั้งอยู่ตรงข้ามกับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคเหนือเขต 4 เป็นสวนสาธารณะที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ งานประเพณีลอยกระทงสาย ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวเมืองตากมีความภาคภูมิใจและมีเอกลักษณ์เฉพาะที่หาชมได้แห่งเดียวในประเทศไทย

สถานที่ท่องเที่ยว

[แก้]

แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

[แก้]
  • สะพานแขวนสมโภช กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นสะพานที่สร้างขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 200 ปี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก เพื่อเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำปิงระหว่างเทศบาลเมืองตาก และตำบลป่ามะม่วง ซึ่งในอดีตสามารถใช้รถจักรยานและรถจักรยานยนต์สัญจร แต่ปัจจุบันเป็นสะพานสำหรับเดินชมทิวทัศน์แม่น้ำปิงและมีการประดับไฟสวยงามมากในยามค่ำคืน โครงสร้างของสะพานมีขนาดความกว้าง 250 เมตร ยาว 400 เมตร ฐานรากและจุดพื้นเป็นไม้โยงยึดด้วยลวดสลิงขนาดใหญ่
  • ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ที่ถนนจรดวิถีถ่อง ใกล้กับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศาลนี้แต่เดิมอยู่ที่วัดดอยเขาแก้วฝั่งตรงข้ามกับตัวเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ชาวเมืองเห็นว่าศาลนั้นไม่สมพระเกียรติ จึงช่วยกันสร้างศาลขึ้นใหม่ พร้อมกับให้กรมศิลปากร หล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อย ในพระอิริยาบถที่กำลังประทับอยู่บนราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา ที่ฐานพระบรมรูปมีคำจารึกว่า พระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2277 สวรรคต พ.ศ. 2325 รวม 48 พรรษา ศาลนี้เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป
  • ศาลหลักเมืองสี่มหาราช ตั้งอยู่เชิงสะพานกิตติขจร ก่อนเข้าตัวเมืองตาก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมืองตากเป็นเมืองเก่ามีมาก่อนสมัยกรุงสุโขทัย เป็นเมืองที่มีพระมหาราชเจ้าในอดีต ได้เสด็จมาชุมนุมกองทัพที่เมืองตากถึง 4 พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแกรง แล้วยกทัพกลับราชอาณาจักรไทย โดยเสด็จผ่านดินแดนเมืองตากเป็นแห่งแรก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงนำทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ และได้สร้างวัดพระนารายณ์ ปัจจุบันอยู่ที่เชิงสะพานกิตติขจร และ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตาก เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของอดีตมหาราช ทั้งสี่พระองค์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจังหวัดตาก จึงได้จัดสร้างศาลหลักเมืองสี่มหาราชขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2535
  • หาดทรายทองแม่ปิงเมืองตาก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก ตำบลป่ามะม่วง ตรงข้ามตัวเมืองตาก เป็นหาดทรายที่สร้างขึ้น ทอดตัวยาวตลอดแนวแม่น้ำปิง มีความยาวถึง 1.5 กิโลเมตร เป็นหาดทรายที่มีต้นไม้ ร่มรื่น ทรายขาว สะอาดไม่แพ้ชายทะเล เป็นสถานที่พักผ่อนและเล่นน้ำของชาวเมืองตาก นักท่องเที่ยวจังหวัดใกล้เคียง สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวและเล่นน้ำได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงทะเล นังหวัดตากได้จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ห่วงยาง เก้าอี้ ชายหาดไว้ให้เช่า อีกทั้งยังเหมาะสำหรับการเล่นกีฬาทางน้ำทุกชนิด นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองตากทุกคน
  • ตรอกบ้านจีน ตั้งอยู่ที่ถนนตากสิน ใกล้วัดสีตลาราม ตำบลระแหง เป็นชุมชนการค้าขายที่รุ่งเรืองมากในอดีต โดยมีชาวจีนชื่อ "จีนเต็ง" ซึ่งอพยพเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ มาทำการค้าขายไปถึงเชียงใหม่ และได้ขยายกิจการลงมาถึงเมืองตาก ได้เข้าหุ้นส่วนค้าขายกับพ่อค้าจีนอีกสองคนชื่อ "จีนบุญเย็น" และ "จีนทองอยู่" ต่อมาได้เข้าเกี่ยวพันกับระบบราชการไทยกล่าวคือ "จีนบุญเย็น" ได้รับแต่ตั้งเป็น "หลวงนราพิทักษ์" ปลัดฝ่ายจีนเมืองตาก แล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็น "หลวงจิตรจำนงค์วานิช" สังกัดกรมท่าซ้าย ส่วนจีนทองอยู่ได้เป็นหลวงบริรักษ์ประชากรกรมการพิเศษเมืองตาก อากรเต็งและหุ้นส่วนทั้งสองใช้ยี่ห้อการค้าว่า "กิมเซ่งหลี" ห้างกิมเซ่งหลีได้เข้ารับช่วงผูกขาดการจัดเก็บภาษีอาการ ที่เมืองเชียงใหม่จึงได้นำพวกคนจีนเข้ามาอยู่ละแวกบ้านนี้ และได้แต่งงานกับผู้หญิงชาวเมืองตากชื่อ "นางก้อนทอง" มีบุตรชายหนึ่งคนและตั้งบ้านเรือนทำการค้าขายขยายวงขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 "จีนเต็ง" ได้มอบหมายให้ "หลวงบริรักษ์ประชากร" (จีนทองอยู่) เป็นผู้จัดเก็บภาษีฝิ่น อากรสุรา บ่���นเบี้ย และหวย ก.ข. จนกระทั่ง พ.ศ. 2452 รัฐบาลเริ่มเข้ามาจัดเก็บเอง ภายหลังละแวกหมู่บ้านนี้จึงมีแต่ลูกหลานจีนดำเนินการค้าขาย ปลูกบ้าน ร้านค้า เริ่มมีถนนหนทางแต่เป็นเพียงทางเดินเท้า ร้านค้าจะมีของขายทุกอย่าง ในซอยตรอกบ้านจีนจะมุงหลังคาบ้านชนกัน จึงเป็นท่ร่มใช้เดินถึงกันได้ตลอด มีร้านขายถ้วยชาม ร้านผ้า ร้านหนังสือเรียน ร้านเครื่องอัฐบริขารในการบวชพระ สถานที่ควรพูดถึงในสมัยนั้น คือ สะพานทองข้ามปากคลองน้อยซึ่ง "คุณย่าทอง ทองมา" เป็นผู้สร้างและม่เสาโทรเลขซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกว่า เสาสูง ต่อมามีการปกครองในระบอบประขาธิไตย "นายหมัง สายชุ่มอินทร์" ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรคนแรก ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในละแวกนั้น ตรอกบ้านจีนในสมัยนั้นมี 3 หมู่บ้าน หมู่บ้านเสาสูง หมู่บ้านปากครองน้อย หมู่บ้านบ้านจีน ต่อมาปี 2495 ทางเทศบาลได้รื้อสะพานทองและถมเป็นถนน เริ่มมีรถยนต์ใช้และหมู่บ้านก็เริ่มกั้นเขตแดนล้อมรั้ว ปี 2497 มีรถยนต์เล็กๆ วิ่งเข้าออกได้ ตรอกบ้านจีนเริ่มซบเซาลงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2484 ร้านค้าเปิดอพยพไปอยู่ที่อื่นเมื่อ สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง การค้าขายจึงได้ขยายขึ้นไปทางทิศเหนือ ปัจจุบันบ้านจีนจึงเหลือแต่บ้านเก่าๆ ซึ่งยังคงลักษณะของสถาปัตยกรรมเดิมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ เหมาะสำหรับเดินทางเที่ยวชมสภาพบ้านเรือนโดยรอบ และวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชุมชนตรอกบ้านจีน
  • ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยผลิตตาก อยู่ที่บ้านมูเซอ หมู่ 6 ตำบลแม่ท้อ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและให้ความรู้ทางด้านการเกษตา (Agro-tourism) แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนผู้สนใจทั่วไปโดยดำเนินการค้นคว้าทดลองและวิจัยพืชสวนต่างๆ ทั้งพืชเมืองร้อนและกึ่งเมืองร้อน อาทิเช่น กาแฟ อโวคาโด้ มะคาเดเมียนัท ชา ลิ้นจี่ กุหลาบ กล้วยไม้ป่า หน้าวัว พืชผักพื้นเมือง และพืชสมุนไพร เช่น วานิลา อบเชย กระวานไทย กระวานเทศและอื่นๆ มากกว่า 252 ชนิดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นจุดที่ตั้งเรือนประทับทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คร้งเสด็จทรงงานที่จังหวัดตากอีกด้วย

วัดสำคัญ

[แก้]
  • วัดมณีบรรพตวรวิหารอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ใกล้โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และหนองน้ำมณีบรรพต อยู่ก่อนเข้าตัวเมืองเล็กน้อย ตั้งอยู่บนเนินเขา เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี เป็นวัดหลวงประจำจังหวัด และวัดพัฒนาตัวอย่าง มีอีกชื่อว่า "วัดเขาแก้ว" เนื่องจากในอดีดพื้นที่วัดเป็นภูเขาเตี้ยๆ มีหินแก้วน้ำค้าง หรือเขี้ยวหนุมานในบริเวณวัด จึงเป็นที่มาของชื่อวัด สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2390 ภายในบริเวณวัดมีเจดีย์ทรงมอญย่อเหลี่ยมไม้ 16 ภายในอุโบสถมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่วัดนี้ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแสงทอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว ชาวบ้านอัญเชิญมาจากวัดร้างแห่งหนึ่งในเขตตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด เมื่อปี พ.ศ. 2473 ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองตาก และด้านหลังมีหอไตรกลางน้ำ กุฏิเรือนไทยหมู่
  • วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง ตั้งอยู่ที่บ้านรมณีย์ ถนนตากสิน ตำบลหนองหลวง วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2401 บูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2533 ภายในวัดมีเจดีย์ทรงมอญบรรจุพระธาตุไว้ ได้บูรณะฉัตร และบรรจุพระธาตุไว้ที่ส่วนบนของยอดฉัตร ส่วนในวิหารประดิษฐานพระประธานที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อพุทธมนต์ สร้างสมัยสุโขทัย ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก
  • วัดสีตลาราม หรือ วัดน้ำหัก ตั้งอยู่ที่บ้านจีน ถนนตากสิน ตำบลระแหง เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัด เหตุที่ชาวบ้านเรียกวัดน้ำหัก เพราะในสมัยก่อนบริเวณด้านตะวันตกของวัดเป็นแม่น้ำปิง กระแสน้ำไหลหักวน เนื่องจากเมื่อถึงหน้าน้ำหลาก น้ำจากห้วยแม่ท้อซึ่งไหลแรงมากได้ไหลตัดกระแสน้ำของแม่น้ำปิงให้เบนหักมายังท่าน้ำหน้าวัดนี้ ต่อมาได้มีการถมดินสองฝั่งแม่น้ำ ร่องน้ำเปลี่ยนไป จึงไม่มีคุ้งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลวนให้เห็นอีก ภายในวัดมีบรรยากาศร่มรื่น โบสถ์ และอาคารเรือนไม้สร้างตามศิลปะยุโรป พระอุโบสถของวัดเคยถูกไฟไหม้แต่ได้มีการสร้างขึ้นใหม่ หน้าอุโบสถมีวิหารคต สร้างด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอยุธยา
  • วัดดอยข่อยเขาแก้ว และวัดกลางสวนดอกไม้ หรือวัดพระเจ้าตาก หรือวัดเสี่ยงทายบารมีพระเจ้าตาก ตั้งอยู่ริมถนนเลี่ยงเมือง ตำบลแม่ท้ ห่างจากลำน้ำปิงฝั่งตะวันตกประมาณ 250 เมตร ในสมัยเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดำรงตำแหน่งพระยาตาก พระองค์ได้เสี่ยงทายที่วัดนี้ โดยกล่าวว่า "ถ้าข้าพเจ้ามีบุญญาบารมี มากพอที่จะเป็นที่พึ่งของอาณาประชาราษฎร์ได้อย่างเที่ยงแท้แน่นอน ขอให้ไม้เคาะระฆังที่จะขว้างไปยังถ้วยแก้ว แล้วแตกหักออกไป ขออย่าให้ส่วนอื่นของถ้วยแก้วแตกเสียหาย ฯลฯ" ปรากฏว่า เมื่อพระองค์ขว้างไม้เคาะระฆังออกไป ก็เป็นอย่างที่พระองค์ได้เสี่ยงอธิษฐาน เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของบรรดาพุทธบริษัท ที่มาร่วมบำเพ็ญกุศลที่วัดดอยข่อยเขาแก้ว จนเล่าลือกันว่า "พระยาตากเป็นผู้มีบุญญาธิการและบารมีที่มหัศจรรย์ยิ่ง" ภายหลังจากการเสี่ยงทายแล้ว พระองค์ได้ให้ช่างนำลูกแก้วไปติดไว้ที่ยอดเจดีย์วัดดอยข่อยเขาแก้วลูกหนึ่ง อีกลูกหนึ่งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ได้ขออนุญาตนำไปติดไว้ที่ยอดเจดีย์วัดกลางสวนดอกไม้ หลายปีเวลาผ่านไป ลูกแก้วที่ติดยอดเจดีย์ทั่งสองแห่งนั้นได้หลุดหายไป เนื่องจากยอดพระเจดีย์ได้หักพังลงมา และในพงศาวดาร กล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปยังเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2317 เสด็จไปหาสมภารวัดดอยข่อยเขาแก้ว และตรัสถามถึงเรื่องลูกแก้ว ที่พระองค์ทรางเสี่ยงทายเมื่อครั้งยังเป็นพระยาตากอยู่วัดนี้ สันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีโบาณสถานที่สำคัญ ประกอบด้วยโบสถ์มีใบเสมาคู่ที่แสดงว่าพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์เจดีย์ และพระพุทธบาทจำลองอยู่ในโบสถ์ ด้านหน้ามีเจดีย์ 2 องค์ บรรจุอังคารบิดา มารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
  • วัดพระนารายณ์��หาราช วัดนี้อยู่บนเนินเขาแก้ว ตำบลแม่ท้อใต้วัดดอยข่อยเขาแก้วลงไปประมาณ 12 กิโลเมตร มีซากพระอุโบสถซึ่งผูกพัทธสีมา 2 ชั้น จึงทำให้เข้าใจว่าน่าจะเป็นวัดหลวงมาก่อน แต่เดิมมีกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ ทางกำแพงด้านในทำเป็นช่องเล็กๆ เต็มไปหมดทั้ง 4 ด้าน ช่องเหล่านี้คล้ายกับช่องสำหรับตามประทีปที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ในบริเวณวัดพระนารายณ์มหาราชนั้น มีวิหารน้อยอยู่อีกแห่งหนึ่ง เป็นสิ่งปลูกสร้างในสมัยอยุธยาเหมือนกัน และต่อจากวิหารน้อยออกไป มีเจดีย์ฝีมือช่างอยุธยาสร้างหรือปฏิสังขรณ์ แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะช่องตามประทีป ซึ่งทำไว้ตามกำแพงและฐานเจดีย์นั้น เป็นของที่นิยมสร้างในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เพราะก่อนและหลังรัชกาลนี้ไม่ค่อยนิยมสร้างกัน ต่อจากเจดีย์คู่นี้ไปก็มีเจดีย์ใหญ่ฐานสี่เหลี่ยมอีกองค์หนึ่งซึ่งองค์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเข้าพระทัยว่า น่าจะเป็นของสมเด็จพระชัยราชาธิราช ทรงสร้างไว้แต่ครั้งตีเมืองเชียงใหม่ได้ ใน พ.ศ. 2088

อุทยาน วนอุทยาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

[แก้]
  • อุทยานแห่งชาติลานสาง อยู่ที่บ้านลานสาง ตำบลแม่ท้อ ห่างจากตัวจังหวัดตากประมาณ 20 กิโลเมตร มีพื้นที่ 65,000 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนติดต่อกันเกือบตลอดพื้นที่ ส่วนที่สูงที่สุดอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตก และทิศใต้ และลาดต่ำลงมาทางด้านทิศตะวันออก มีลำธารไหลผ่านหลายสาย เช่น ลำห้วยลานสาง ห้วยท่าเล่ย์ คลองห้วยทราย ห้วยอุมยอม ป่าในเขตอุทยานฯ มีทั้งป่า ดงดิบ ป่าสนเขา ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ สลับกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ สัตว์ป่าที่พบเห็น ได้แก่ หมูป่า เก้ง เต่าปูลู เลียงผา ชะมด นกปรอดเหลืองหัวจุก เป็นต้น ตามตำนานเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ได้ทรงหยุดพักพลที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก มีชาวมอญเข้ามาสวามิภักดิ์ด้วยเป็นจำนวนมาก ทหารพม่าจึงติดตามเข้ามา สมเด็จพระเจ้า กรุงธนบุรีได้เสด็จยกทัพไปขับไล่ และพลัดหลงกับกองทัพ ประจวบกับเป็นเวลากลางคืน และสภาพพื้นที่เป็นป่าเขารกทึบยากแก่การติดตาม กองทัพไทยจึงหยุดพัก ขณะที่พักกันอยู่นั้นได้เกิดมีแสงสว่างพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า และได้ยินเสียงม้าศึกร้อง จึงรีบพากันไปยังจุดนั้น ก็พบสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับม้าอยู่กลางลานหิน มีแสงสว่างออกมาจากพระวรกาย มีทหารพม่าคุกเข่าหมอบอยู่โดยรอบ และขณะนั้นเป็นเวลาฟ้าสางพอดี จึงเรียกบริเวณนั้นว่า ลานสาง และสถานที่ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับม้ายังคงมีอยู่ในปัจจุบัน คือ บริเวณน้ำตกลานสาง และที่บริเวณลานหินจะมีรอยเกือกม้าของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ด้วย
  • อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตป่าแม่ท้อ ตำบลแม่ท้อ ตำบลพะวอ อำเภอเมือง และป่าแม่ละเมา อำเภอแม่สอด มีเนื้อที่ 165,250 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชัน มีภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าสมบูรณ์ เป็นอุทยานฯ ที่มีป่าหลายชนิด เช่น ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ อุทยานฯ มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส ฝนตกชุกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ส่วนฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม จะมีอุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส พื้นที่ป่าแห่งนี้ในอดีตเคยใช้เป็นเส้นทางเดินทัพของไทย และพม่า ในปี พ.ศ. 2305 พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าได้ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างยกทัพกลับประชวร และสิ้นพระชนม์ในป่านี้

ธนาคาร

[แก้]

สถาบันการเงินและธนาคารในอำเภอเมืองตากที่เปิดบัญชีกับผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีจำนวน 15 แห่ง ซึ่งมีรายชื่อและสาขา ดังนี้

  1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาตาก
  2. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาโลตัสตาก
  3. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาตาก
  4. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาตาก
  5. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อย ริมปิง
  6. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาโลตัสตาก
  7. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาตาก
  8. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาตาก
  9. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาโลตัสตาก
  10. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาตาก
  11. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาตาก
  12. ธนาคารออมสิน สาขาตาก
  13. ธนาคารออมสิน สาขาบิ๊กซี ตาก
  14. ธนาคารธนชาต สาขาตาก
  15. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาตาก
  16. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สาขาตาก
  17. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สาขาตาก
  18. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือเอสเอ็มอีแบงก์) สาขาตาก
  1. "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.