อาทิบรรพ
อาทิบรรพ (อักษรโรมัน: Adi Parva) แปลว่า "บรรพแห่งการเริ่มต้น" คือ เรื่องราวบทแรกของมหาภารตะ[1] จากทั้งหมด 25 ตอน โดยเรื่องราวของมหาภารตะเริ่มต้นจากการเปิดตำนานเล่าเรื่องโดยเริ่มต้นจากการลำดับวงศ์กษัตริย์แห่งราชวงศ์กุรุ ตำนานเริ่มจากพระราชาชื่อ ท้าวศานตนุแห่งราชวงศ์กุรุเป็นสำคัญ แต่เมื่อเล่าไปก็จะย้อนถึงจำนานกษัตริย์ในราชวงศ์กุรุถอยหลังขึ้นไปโดยละเอียด และพิสดารมากขึ้นตามการเสริมแต่งในเวลาต่อมา
เรื่องราวในบรรพนี้
[แก้]ท้าวศานตนุแต่งงานกับพระแม่คงคามีลูกชายด้วยกันคนเดียวชื่อ ภีษมะ ต่อมาท้าวศานตนุแต่งงานใหม่กับลูกสาวชาวประมงชื่อ สัตยวดี มีลูกชายด้วยกันสองคนคือ จิตรางคทะ กับ วิจิตรวีรยะ ลูกชายของท้าวศานตนุที่เกิดจากนางสัตยวดี ต่อมาตายไปโดยไม่มีลูกสืบวงศ์ต่อทั้งคู่ ในขณะที่ภีษมะเองก็ถือคำสัตย์สาบานจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิง ทำให้พระนางสัตยวดีต้องไปขอร้องให้ฤษีวยาสซึ่งเป็นลูกนอกสมรสเกิดกับฤๅษีปราศร ตั้งแต่ยังไม่ได้กับท้าวศานตนุ ซึ่งบวชเป็นฤๅษีให้มาช่วยเป็นต้นเชื้อเพื่อมิให้สิ้นราชวงศ์ ฤๅษีวยาสซึ่งมีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดและสกปรกรกรุงรังยอมตกลงมามีความสัมพันธ์กับเมียหม้ายของวิจิตรวีรยะทั้งสองคน คนแรกตอนมีความสัมพันธ์กันนั้นนอนหลับตาด้วยความขยะแขยงลูกที่ออกมาจึงตาบอดและมีชื่อว่า ธฤตราษฎร์ ส่วนคนที่สองตอนมีความสัมพันธ์กัน แม้ไม่ได้หลับตาแต่ก็กลัวจนเนื้อตัวซีดขาวไปหมด ลูกที่ออกมาจึงไม่แข็งแรงและมีเนื้อตัวซีดขาวตามไปด้วย เด็กคนนี้มีชื่อว่า ปาณฑุ พระนางสัตยวดียังให้วยาสมีความสัมพันธ์กับคนรับใช้ในราชสำนัก แบบเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้อีกคน สำหรับรายนี้ซึ่งมีความสัมพันธ์กันปกติและไม่ได้รังเกียจอะไรลูกที่ออกมาจึงเป็นปกติมีชื่อว่า วิฑูร[ต้องการอ้างอิง] เมื่อลูกชายสามคนของวยาสโตขึ้นตามลำดับ ภีษมะซึ่งทำหน้าที่อภิบาลร่วมกับพระนางสัตยวดีได้จัดการให้หลานชายทั้งสามคนแต่งงาน เจ้าชายคนที่ตาบอดแต่งงานกับเจ้าหญิงคานธารีและมีลูกด้วยกัน 100 คน ลูกชายคนโตชื่อ ทุรโยธน์ ส่วนเจ้าชายที่เนื้อตัวซีดนั้นมีเมียสองคน เมียคนแรกชื่อ กุนตี ซึ่งก่อนจะมาแต่งงานก็มีลูกนอกสมรสเหมือนกันชื่อว่า กรรณะ มาก่อนแล้วเมื่อมาแต่งงานกับเจ้าชายปาณฑุมีลูกด้วยกันสามคน คือ ยุธิษฐิระ ภีมะ และอรชุน ส่วนเมียคนที่สองชื่อ มัทรี นั้นมีลูกแฝดชื่อ นกุล กับ สหเทพ เรื่องลูกชายทั้งห้าของเจ้าชายปาณฑุกับเจ้าหญิงกุนตีและเจ้าหญิงมัทรีนั้น ในภายหลังก็มีการแต่งเรื่องเสริม��ห้ดูศักดิ์สิทธิ์พิสดารขึ้นไปอีก โดยให้เป็นลูกของเทพเจ้าห้าองค์คือ ยุธิษฐิระเป็นลูกที่เกิดจากธรรมเทพ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความยุติธรรม ภีษมะเป็นลูกที่เกิดจากเทพวายุ อรชุนเป็นลูกที่เกิดจากพระอินทร์ ส่วนนกุลกับสหเทพนั้นเกิดจากเทพแฝดคือ เทพอัศวิน เจ้าชายปาณฑุขึ้นครองราชย์เป็นพระราชาแคว้นกุรุเมื่อถึงวัยอันควร หลังจากที่ท้าวภีษมะและพระนางสัตยวดีทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการมาระยะหนึ่ง เจ้าชายปาณฑุขึ้นครองราชย์เพราะพี่ชายคือเจ้าชายธฤตราษฎร์ตาบอด แต่พระชนมายุไม่ยืนสิ้นพระชนม์ไปก่อนเลาอันควร ทำให้ราชสมบัติตกเป็นของพี่ชายคือเจ้าชายธฤตราษฎร์ไปโดยปริยาย และมีข้อตกลงเป็นนัยว่าจะส่งมอบราชสมบัติให้กับลูกของท้าวปาณฑุกลับคืนไปเมื่อถึงเวลาอันควร[ต้องการอ้างอิง] ด้วยเหตุนี้ลูกทั้งห้าของพระราชาปาณฑุและลูกทั้งร้อยของพระราชาธฤตราษฎร์จึงได้รับการเลี้ยงดูภายในราชสำนักกรุงหัสตินาปุระแบบโตมาด้วยกัน แต่น่าเสียดายว่าได้เกิดความบาดหมางระหว่างลูกพี่ลูกน้องตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเรื่องอนาคตว่าฝ่ายใดคือลูกของท้าวปาณฑุหรือว่าลูกของท้าวธฤตราษฎร์จะได้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์เป็นสำคัญ
ในการอบรมเจ้าชายทั้ง 105 คน นั้นทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การอำนวยของท้าวภีษมะที่เป็นปู่โดยมีอาจารย์สองคนทำหน้าที่เป็นผู้สอนศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ ให้ นั่นก็คือ กฤปาจารย์ และ โทรณาจารย์ ในการนี้ยังมีเด็กชายอีกสองคนที่มิใช่ลูกหลานกษัตริย์โดยตรงเข้าร่วมเรียนด้วย คนแรกคือ อัศวถามา ซึ่งเป็นลูกชายของโทรณาจารย์ ส่วนอีกคนคือ กรรณะ ซึ่งเป็นลูกนอกสมรสของพระนางกุนตี ในตอนเด็กกรรณะเป็นที่รังเกียจของลูกชายทั้งห้าของท้าวปาณฑุ ในขณะที่ลูกชายทั้งร้อยของท้าวธฤตราษฎร์รักใคร่ชอบพอกับกรรณะเป็นอันมาก ด้วยเหตุที่เป็นลูกของท้าวธฤตราษฎร์พระราชาแห่งแคว้นกุรุ เด็กทั้งร้อยคนจึงได้รับการขนานนามว่า เการพ ส่วนลูกชายของท้าวปาณฑุได้รับการขนานนามว่าพวก ปาณฑพ[ต้องการอ้างอิง]
ในเวลาต่อมาเมื่อท้าวธฤตราษฎร์พระชนมายุมากขึ้น ก็แต่งตั้งให้ยุธิษฐิระพี่ชายคนโตของพวกปาณฑพขึ้นครองราชย์เป็นพระราชาแห่งแคว้นกุรุตามสิทธิในการขึ้นครองราชย์ แต่เดิมของท้าวปาณฑุ ผลจากการนี้ทำให้พวกปาณฑพยิ่งได้รับการยกย่องนับถือและมีอำนาจมากขึ้น การวางแผนเพื่อจะทำลายล้างพวกปาณฑพ โดยทุรโยธน์พี่ชายคนโตของพวกเการพเป็นต้นคิดก็เกิดขึ้นโดยมีน้องชายคนสำคัญคือ ทุหศาสัน และลุงของพี่น้องเการพคือ ท้าวศุกุนิพี่ชายของพระนางคานธารี ซึ่งเป็นมีเล่ห์เหลี่ยมร้ายกาจและเป็นจอมวางแผนให้ รวมทั้งยังมีกรรณะเป็นคนให้การสนับสนุนเป็นสำคัญรวมอยู่ด้วย
แผนการสังหารพวกพี่น้องปาณฑพถูกวางเอาไว้อย่างแยบยล ด้วยการให้มีการสร้างบ้านรับรองที่ทำด้วยขี้ผึ้งติดไฟง่ายรอท่าไว้ และหลังจากนั้นก็ไปเชื้อเชิญให้เจ้าชายปาณฑพทั้งห้าพร้อมกับพระนางกุนตีไปพักผ่อน เมื่อพวกปาณฑพเข้าไปพักก็ตัดการวางเพลิงเพื่อหวังให้ไฟคลอกตายทั้งเป็น เผอิญว่าวิฑูรเป็นผู้เป็นอาทราบข่าวแผนการลอบสังหารนี้ก่อน จึงได้แจ้งเตือนล่วงหน้าทำให้พวกปาณฑพหนีตายรอดชีวิตไปได้อย่างหวุดหวิด ทั้งหมดหลบหนีไปทางใต้ดินที่ขุดเอาไว้และไปอาศัยอยู่ในป่า พวกเจ้าชายฝ่ายเการพต่างก็คิดว่าแผนการทั้งหมดลุล่วงไปด้วยดีถึงขนาดจัดให้มีการทำพิธีพระศพให้ ส่วนพวกปาณฑพที่ไปอยู่ในป่าก็ถูกพวกรากษสที่อาศัยอยู่ในป่าโดยการนำของ หิฑิมพะมุ่งหมายจะสังหาร แต่ว่าภีมะสามารถเอาชนะพวกรากษสและฆ่าหิฑิมพะผู้เป็นหัวหน้าได้และยังแต่งงานกับน้องของหัวหน้ารากษสที่เผอิญมาชอบพอกัน และในภายหลังมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคนชื่อว่า ฆโตฏกัจ[ต้องการอ้างอิง] ทางด้านท้าวทรุบทซึ่งเป็นพระราชาแคว้นปัญจาละ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำศึกแพ้อรชุนเพื่อแก้แค้นให้โทรณาจารย์ที่เคยเป็นสหายกันสมัยเรียนหนังสือ แต่กลับคำไม่ยอมให้ความช่วยเหลือเมื่อโทรณาจารย์เดินทางไปขอความช่วยเหลือ หลังจากเลิกรากันไปแล้ว มาบัดนี้ท้าวทรุบทได้จัดพิธีสยุมพรให้กับลูกสาวคือเจ้าหญิงเทราปที สำหรับพิธีสยุมพรนั้นเป็นการแต่งงานตามประเพณีเดิมของอินเดียโบราณ ที่เปิดโอกาสให้เจ้าสาวสามารถเลือกว่าที่เจ้าบ่าวที่ได้รับการเชื้อเชิญมาให้เลือกได้ พวกเจ้าชายปาณฑพซึ่งได้รับการแนะนำจากพราหมณ์ให้เดินทางไปยังเมืองหลวงขแงแคว้นปัญจาละ เพื่อร่วมพิธีสยุมพรครั้งนี้ด้วยเพียงแต่ไปในคราบของพราหมณ์
ณ ที่นั้นบรรดาเจ้าชายเการพและเจ้าชายจากแว่นแคว้นอื่น ๆ ก็มารวมตัวกันเพื่อให้เจ้าหญิงเทราปทีเลือกคู่รวมอยู่ด้วย เมื่อถึงเวลาเจ้าชายธฤตทยุมน์ ซึ่งเป็นพี่ชายของเจ้าหญิงเทราปทีก็ประกาศต่อที่ประชุมว่า ถ้าหากเจ้าชายคนไหนสามารถใช้คันธนูขนาดใหญ่ของท้าวทรุบทผู้บิดายิงลูกศรไปยังเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้อย่างแม่นยำ ก็จะได้เจ้าหญิงเทราปทีไปครอง ปรากฏว่าบรรดาเจ้าชายหลายต่อหลายคนได้พยายามยกคันธนูและยิงลูกศรไปยังเป้าหมายที่จัดเตรียมเอาไว้ แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จแม้แต่คนเดียว จนกระทั่งเหลือกรรณะเป็นคนสุดท้ายที่จะออกมาแสดงฝีมือให้เห็น แต่ก่อนที่กรรณะจะแสดงฝีมือให้ปรากฏ ทางเจ้าหญิงเทราปที ซึ่งรู้ว่ากรรณะคงสามารถทำได้เป็นแน่ ก็ประกาศว่าจะไม่ยอมรับลูกของสารถีมาเป็นสามี[ต้องการอ้างอิง] เรื่องนี้มีคำอธิบายแทรกเพิ่มเติมว่าเมื่อพระนางกุนตีทอดทิ้งกรรณะตั้งแต่ยังเด็ก ปรากฏว่าสองสามีภรรยา คือ อธิราช ซึ่งเป็นสารถีคนสนิทของท้าวธฤตราษฎร์และนางราธา ซึ่งเป็นเมียและไม่มีลูกด้วยกันได้เก็บกรรณะไปเลี้ยงเป็นบุตรของตน ทำให้กรรณะมีวรรณะที่ต่ำต้อยเป็นพวกในวรรณะศูทร ทำให้เจ้าหญิงเทราปทีใช้เป็นข้ออ้างเรื่องวรรณะต่ำต้อยกว่า เมื่อกรรณะได้รับการปฏิเสธและบรรดาเจ้าชายจากแว่นแคว้นต่าง ๆ ไม่มีใครสามารถทำได้ตามที่เจ้าชายธฤตทยุมน์ประกาศ คราวนี้ก็มาถึงกลุ่มของพวกพราหมณ์ที่เข้ามาร่วมในพีธีสยุมพรปรากฏว่าในกลุ่มของพราหมณ์นั้นมีชายหนุ่มคนหนึ่งลุกขึ้นมาจากแถว ผู้แต่งตัวเป็นพาหมณ์คนนั้นก็คือ อรชุน และเป็นไปตามที่คาดหมายคืออรชุนสามารถแสดงฝีมือยิงธนูได้ตรงเป้าหมายตามกติกา เจ้าหญิงเทราปทีก็เข้ามาสวมพวงมาลัยคล้องคอให้อันเป็นการยอมรับและการตัดสินใจเลือกสามีของนางเป็นที่สุด ทำให้บรรดาเจ้าชายที่ยังอยู่ในมณฑลพิธีต่างก็ไม่พอใจและพยายามจะรุมสังหารท้าวทรุบทที่เรียกมาทำให้ขายหน้า แต่ว่าภีมะและอรชุนได้เข้ามาช่วยท้าวทรุบท หลังจากนั้นเจ้าชายปาณฑพทั้งห้าพร้อมกับเจ้าหญิงเทราปทีก็เดินทางกลับไปยังบ้านพัก ซึ่งที่นั่นพระนางกุนตีได้ขอให้เจ้าหญิงเทราปทีรับเป็นภรรยาของเจ้าชายปาณฑพทั้งห้าในเวลาเดียวกันโดยมีกฤษณะและพี่ชายคือ พระพลราม ที่ทราบข่าวจึงมาร่วมแสดงความยินดีด้วย แต่ผลจากากรนี้ทำให้การซ่อนตัวของเจ้าชายปาณฑพทั้งห้าไม่เป็นความลับอีกต่อไป ท้าวธฤตราษฎร์พระราชาแห่งแค้วนกุรุที่เป็นลุงจึงได้เชื้อเชิญให้เดินทางกลับไปยังกรุงหัสตินาปุระ พร้อมกันนั้นก็แบ่งอาณาจักรแคว้นกุรุให้พวกปาณฑพไปครองครึ่งหนึ่ง พวกปาณฑพก็เลยไปตั้งถิ่นฐานสร้างเมืองหลวงใหม่ที่กรุงอินทรปรัสถ์ริมแม่น้ำยมุนา ซึ่งก็เป็นบริเวณเดียวกับกรุงนิวเดลฮีของอินเดียในปัจจุบันนั่นเอง ในการใช้ชีวิตร่วมกันอันแปลกประหลาดระหว่างเจ้าหญิงเทราปที กับสามีเจ้าชายปาณฑพทั้ง 5 คนนั้น เพื่อมิให้มีข้อขัดแย้งและเกิดความกินแหนงแคลงใจกัน ได้มีข้อตกลงในหมู่เจ้าชายปาณฑพทั้งห้าคนว่า ในเวลาที่เจ้าหญิงเทราปทีอยู่สองต่อสองกับสามีคนใดคนหนึ่ง อีกสี่คนที่เหลือจะต้องไม่ไปรบกวน แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งอรชุนซึ่งต้องการจะเข้าไปเอาอาวุธคู่มือเพื่อไปช่วยผู้ได้รับความเดือดร้อนที่มาขอความช่วยเหลือ เกิดลืมข้อตกลงบุกเข้าไปในห้องพักซึ่งเจ้าหญิงเทราปทีอยู่กับเจ้าชายยุธิษฐิระสองต่อสองโดยไม่ตั้งใจ แต่ก็เป็นเหตุให้ถูกลงโทษโดยต้องลี้ภัยไปอยู่ที่อื่น และกลายเป็นการเดินทางผจญภัยของอรชุน ในการนี้อรชุนเดินทางไปยังแคว้นทวารกาเพื่อพบกับ กฤษณะ ผู้เป็นสหายและยังเป็นลูกพี่ลูกน้องกันด้วยและเกิดไปตกหลุมรัก เจ้าหญิงสุพัตรา ซึ่งเป็นน้องสาวของกฤษณะ อรชุนพาเจ้าหญิงสุพัตราหนีไปอยู่ร่วมกันและต่อมาให้กำเนิดลูกชายนหนึ่งคือเจ้าชาย อภิมันยุ และยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกฤษณะกับอรชุนแน่นแฟ้นมากขึ้นไปอีก[ต้องการอ้างอิง]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "มหาภารตยุทธ ตอน อาทิบรรพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-21. สืบค้นเมื่อ 2020-09-20.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Sanskrit classics including Mahabharata Brown University Archives, with original, translations and commentaries by scholars
- Adi Parva Mahabharata, Translated by Manmatha Nath Dutt (1894)
- English Translation by Kisari Mohan Ganguli
- English Translation Readable, with various research tools, Translated by Kisari Mohan Ganguli, another archive
- Adi Parva in Sanskrit by Vyasadeva and commentary by Nilakantha (Editor: Kinjawadekar, 1929)
- French translation of Le Mahabharata, Adi Parva, by H. Fauche (Paris, 1868)
- A review of critical, less corrupted edition of Adi Parva by Vishnu S. Sukthankar; Reviewed by Franklin Edgerton, Journal of the American Oriental Society, Vol. 48, (1928), pages 186-190