ข้ามไปเนื้อหา

ห้องสมุดโรงเรียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ห้องสมุดโรงเรียน จัดตั้งขึ้นในสถาบันการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ระดับอนุบาล ระดับประถม ระดับมัธยม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนตามหลักสูตรของโรงเรียนและเป็นแหล่งค้นคว้าของครูและนักเรียน ปัจจุบันเพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันได้กว้างขวางขึ้น ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์บริการไทยสารอินเทอร์เน็ต และองค์การสื่อสารแห่งประเทศไทย ร่วมกันดำเนินโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย หรือ School Net โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โรงเรียนมัธยมศึกษาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายข้อมูลกลุ่มรงเรียนทั่วโลก เพื่อเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนเอกสาร สื่อการสอน ฐานข้อมูลของห้องสมุดระหว่างโรงเรียนและระหว่างโรงเรียนกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา (ปราณี วงศ์จำรัส, 2548:48)

คุณสมบัติของบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียน

[แก้]

1.มีวุฒิทางวิชาชีพบรรณารักษ์ศาสตร์ ต้องได้ผ่านการศึกษาหรืออบรมมาทาง สาขาวิชานี้โดยเฉพาะ เพราะงานห้องสมุดเป็นงานวิชาชีพขั้นสูงอย่างหนึ่ง จะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ไม่มีคุณสมบัติมาปฏิบัติงานอาจทำให้งานไม่สัมฤทธิ์ผล และอาจเสียหายได้ ผู้ผ่านการศึกษาในทางสาขาวิชาชีพนี้แล้ว จะมีความรู้ในเรื่องการบริหารดำเนินงานห้องสมุดการจัดโปรแกรมห้องสมุด การวิเคราะห์เลขหมู่การทำบัตรรายการ กรให้บริการอ้างอิงแก่ผู้ใช้ อันเป็นหลักประกันว่าในกิจการงานเทคนิคนั้นบรรณารักษ์สามารถดำเนินการได้

2.มีวุฒิทางการศึกษา ต้องได้ผ่านวิชาชีพทางการศึกษา และถ้ายิ่งมีประสบการณ์ในการสอนด้วยจะเป็นการดีความรู้ทางวิชาชีพทางการศึกษาพื้นฐานที่ควรรู้ เช่น การบริหารและการนิเทศการศึกษา ทฤษฎีการเรียนรู้ การปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร การให้คำปรึกษาและแนวแนว การสื่อสารมวลชน จิตวิทยาการศึกษา จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาวัยรุ่น ความรู้ทางด้านการศึกษาจะเป็นประโยชน์ต่อบรรณารักษ์ในแง่ที่ช่วยให้เข้าใจถึงหลักการจัดการศึกษาว่าเป็นอย่างไร จะได้ดำเนินงานห้องสมุดให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาได้ ส่วนความรู้ทางด้านจิตวิทยาจะช่วยให้เข้าใจในตัวผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น กิจกรรมต่างๆที่จะจัดจะได้ตรงความสนใจของผู้ใช้

3.มีความรู้เกี่ยวกับวัสดุการศึกษาทุกชนิด เนื่องจากความคิดปัจจุบันห้องสมุดมิใช่จะมีเพียงหนังสือวารสารเท่านั้น แต่ห้องสมุดจะพยายามรวบรวมวัสดุการศึกษาทุกชนิดเอาไว้บริการหรือใช้เป็นสื่อนำความรู้ ประสบการณ์ไปยังนักเรียน ดังนั้นบรรณารักษ์จึงต้องพยายามค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องวัสดุการศึกษาว่ามีอะไรบ้าง แต่ละประเภทใช้ประโยชน์อย่างไร มีคุณค่าในด้านใด ควรใช้ในโอกาสใด คุณสมบัติข้อนี้จะช่วยให้ห้องสมุดก้าวไปถึงสภาพสมบูรณ์ตามอุดมคติ

4.มีความศรัทธาในอาชีพบรรณารักษ์ แม้ว่างานบรรณารักษ์หลายวงการจะยอมรับว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง แต่ในด้านการสนับสนุนในด้านฐานะของวิชาชีพบรรณารักษ์ยังไม่ดีนักทั้งในต่างประเทศและในเมืองไทยเราเอง จากหลักการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นว่าหน้าที่บรรณารักษ์จริงๆนั้นมิใช่น้อยเลย ฉะนั้นในสภาวะปัจจุบันผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ จำต้องมีความศรัทธา เสียสละพอสมควร

5.มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี งานบรรณารักษ์ตามแนวคิดปัจจุบันดังที่กล่าวแล้วต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย ทั้งผู้บริหาร ทั้งครูผู้สอน ทั้งตัวนักเรียนเอง บรรณารักษ์จึงต้องเป็นบุคคลที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีบุคคลที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีมักมีลักษณะดังนี้คือ มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความสามารถในการพูดจา มีอารมณ์ขัน มีความเป็นกันเองกับทุกๆคน มีความจริงใจกับผุมาติดต่ออย่างสม่ำเสมอ มีความใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้งานประสบผลสำเร็จเร็วขึ้น และในแง่ของบรรณารักษ์ การมีบุคลิกเช่นนี้จะเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อห้องสมุดให้แก่นักเรียน และผู้ใช้ได้


อ้างอิง

[แก้]

ปราณี วงศ์จำรัส. 2548. เอกสารคำสอนกระบวนวิชา009105สารสนเทศศึกษา.เชียงใหม่:ภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์.

พวา พันธุ์เมฆา. 2528. ห้องสมุดโรงเรียนทฤษฎีและปฏิบัติ. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.