ข้ามไปเนื้อหา

หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รองอำมาตย์เอก ศาสตราจารย์

หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์
(ป่วน อินทุวงศ์)

เกิดป่วน อินทุวงศ์
2 ธันวาคม พ.ศ. 2440
อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
เสียชีวิต7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 (88 ปี)
บ้านบุรีภัณฑ์ ตำบลนครชัยศรี อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
อาชีพนักเขียน, ครู, นักประวัติศาสตร์. นักโบราณคดี
บิดามารดา
  • นายกลั่น (บิดา)
  • นางปาด (มารดา)

รองอำมาตย์เอก ศาสตราจารย์ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) เป็นบุคคลสำคัญทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ เข้าทำงานในหอพระสมุดสำหรับพระนคร ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประวัติ

[แก้]

หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) เกิดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2440 ที่บ้านปลายคลองใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรของนายกลั่น กับนางปาด เมื่ออายุ 8 ปี บิดาได้พาไปฝากเป็นศิษย์กับพระอาจารย์เชย เจ้าคณะตะวันออก รองเจ้าอาวาสวัดท่าข้าม โดยได้ศึกษาอักขระสมัย หนังสือขอม และอ่านหนังสือพระมาลัย เป็นเวลา 3 ปี จากนั้นศึกษากับพระอาจารย์แหวน วัดบางช้างเหนือ จนถึง พ.ศ. 2452 พระอาจารย์แหวนได้นำไปฝากท่านพระครูสังฆกิจจารักษ์ (จืด) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร อยู่ที่คณะ 10 หลังจากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้เข้าเรียนบาลีไวยากรณ์ในมหาธาตุวิทยาลัย และได้สอบบาลีสนามหลวงเมื่อ พ.ศ. 2458 ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ต่อมาเป็นครูในโรงเรียนบาลีไวยากรณ์รุ่นแรก และเป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์ที่วัดทองนพคุณ เมื่อ พ.ศ. 2461 จนกระทั่งได้ลาสิกขาบทในปี พ.ศ. 2465

ท่านได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กเรือนนอกกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เข้าทำงานในหอพระสมุดแผนกต่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2466 ต่อมาได้รับบรรจุในตำแหน่งรองบรรณารักษ์หอพระสมุดสำหรับพระนคร พ.ศ. 2467 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ในการตรวจพระราชพงศาวดารและจดหมายเหตุต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้ย้ายจากตำแหน่งหน้าที่เดิมในหอสมุดสำหรับพระนครมาอยู่ประจำทำการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร[1] จากนั้นดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร[2] ระหว่าง พ.ศ. 2498–2504

การศึกษาของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ได้จำแนกรูปแบบศิลปวัตถุตามฝีมือช่างและการลำดับอายุโดยเรียงลำดับเวลาจากราชวงศ์ที่เรืองอำนาจ ซึ่งเป็นลำดับเวลาตามแบบพงศาวดารไทย ต่อมาได้กลายเป็นมาตรฐานในการลำดับยุคสมัยในงานโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ของไทยในเวลาต่อมา[3]

หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ณ บ้านบุรีภัณฑ์ ตำบลนครชัยศรี อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 รวมอายุได้ 88 ปี[4]

ผลงาน

[แก้]

หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) มีผลงานวิชาการด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ เช่น[5]

หนังสือ

[แก้]
  • ตำราฟ้อนรำของอินเดีย
  • เรื่องโบราณคดี
  • The Royal Monasteries And Their Significance เขียนร่วมกับ A.B. Griswold กรมศิลปากร[6]
  • พระพุทธรูปสมัยต่างๆในประเทศไทย[7]
  • โบราณวัตถุสถานในสยาม จำนวน 3 เล่ม

บทความและคำแปลจากภาษาต่างประเทศ

[แก้]
  • มิชชันนารีอเมริกันมาประเทศไทย ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31
  • แปลศิลาจารึกหลักที่ 12 จารึกที่รอยพระพุทธบาทอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ ในหนังสือประชุมศิลาจารึกสุโขทัยเล่ม 1 ของศ.ยอร์ช เซเดส์
  • เกวียน[8]
  • บทความวิจารณ์ เรื่อง พระพุทธรูปศิลาในวิหารน้อย[9] วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
  • ปราสาทหินพิมาย[10]
  • เราเคารพพระพุทธรูปอย่างไร
  • ความรู้ด้านโบราณคดี วารสารตำรวจ
  • พระพิฆเนศร ฉบับแปล (Hindu Mythology) ในวารสารไทยเขษม
  • ตำนานพระพิมพ์ในสยาม ฉบับแปลจาก ศ.ยอร์ช เซเดส์ ในวารสาร Journal Of Siam Society
  • Sculpture Of Peninsular Siam In The Ayuthya Period ในวารสาร The Siam Society Journal Vol. II (1929–1953)
  • สังคโลกไทย
  • แท่นท้าววิกรม แ��ลจากเรื่อง The Throne Of 32 Puppets พราหมณ์กุปปุสวามิอารย
  • The Images Of The Buddha (พ.ศ. 2496)
  • เที่ยวพระนครศรีอยุธยา
  • เที่ยวเมืองพิมาย
  • สำรวจโบราณสถาน
  • การพิพิธภัณฑ์หัวเมือง
  • รูปพระมหายาน
  • พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
  • พระพุทธบาทเมืองสระบุรี
  • ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์สถานพระนคร
  • รอยพระพุทธบาท
  • พระมหาธาตุไชยา
  • พระพุทธสิหิงค์กับวิจารณ์
  • พระพุทธชินราชทางโบราณคดี
  • เงินตราสยาม
  • ตำนานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
  • พระสถูป และพระธรรมจักร ในจดหมายเหตุของราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2479 เล่ม 2 ตอน 1
  • กถา - กุสุมะ - มัญชรี

ยศและบรรดาศักดิ์

[แก้]
  • พ.ศ. 2470 – รองอำมาตย์ตรี ป่วน อินทุวงศ์
  • พ.ศ. 2471 – รองอำมาตย์ตรี ขุนบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์)
  • พ.ศ. 2471 – รองอำมาตย์ตรี หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์)
  • พ.ศ. 2472 – รองอำมาตย์โท หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์)
  • พ.ศ. 2474 – รองอำมาตย์เอก หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ศาสตราจารย์ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดตระกูลต่างๆ ดังนี้[5]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. ธงทอง จันทรางศุ (3 กุมภาพันธ์ 2564). "พระทัยกว้าง". มติชนสุดสัปดาห์.
  2. "เด็กม.ปลาย อยากเข้าคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ต้องเตรียมอะไรบ้าง?". สนุก.คอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-28. สืบค้นเมื่อ 2021-07-12.
  3. ณัฎฐา ชื่นวัฒนา. "แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น: พัฒนาการของโบราณคดีชาตินิยมอลังการ กับ มื้ออาหารที่หายไป (2)".
  4. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์). หจก. โรงพิมพ์ยูไนเต็ดโปรดักชั่น. 2531.
  5. 5.0 5.1 บริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์), หลวง. เรื่องโบราณคดี. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) ท.ช., ท.ม., ต.จ.ว. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๑. กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531. 345 หน้า.
  6. LUANG BORIBAL BURIBHAND and A.B. GRISWOLD. (2015). THE ROYAL MONASTERIES AND THEIR SIGNIFICANCE. (4th Ed.). Bangkok : Rungsilp Printing. ISBN 978-616-283-210-9
  7. บริบาลบุรีภัณฑ์, หลวง. พระพุทธรูปสมัยต่างๆในประเทศไทย ของ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และ พุทธศิลปในประเทศไทย ของ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2503.
  8. กรมศิลปากร. (2475, ตุลาคม). วารสารศิลปากร, 6(5).
  9. กรมศิลปากร. (2490, กรกฎาคม). วารสารศิลปากร, 1(1).
  10. กรมศิลปากร. (2495, ตุลาคม). วารสารศิลปากร, 6(5)
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๖๙, ๔ มกราคม ๒๕๐๖
  12. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๘๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๓๗, ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๗
  13. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2012-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๕๓ ง หน้า ๑๔๐๒, ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๒
  14. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๖๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๖๑, ๒๐ ธันวาคม ๒๔๙๒