ข้ามไปเนื้อหา

ศรีสุดา รัชตะวรรณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศรีสุดา รัชตะวรรณ
ศรีสุดา รัชตวรรณ ในวัยสาว
ศรีสุดา รัชตวรรณ ในวัยสาว
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473
ศรีสุดา รัชตะวรรณ
จังหวัดยะลา ประเทศสยาม
เสียชีวิต1 สิงหาคม พ.ศ. 2548 (74 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสวินัย จุลละบุษปะ (พ.ศ. 2499 - 2542) (43 ปี)
อาชีพนักร้อง นักแสดง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2491 - 2543 (52 ปี)

ศรีสุดา จุลละบุษปะ (นามสกุลเดิม: รัชตะวรรณ) (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548) เป็นอดีตหัวหน้างานบันเทิงวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และนักร้องยุคกลางของ วงดนตรีสุนทราภรณ์ เจ้าของฉายา มะดันดอง ดุเหว่าเสียงใส ราชินีรำวง ราชินีเพลงสนุก

ประวัติ

[แก้]

วัยเยาว์

[แก้]

ศรีสุดา รัชตะวรรณ เกิดที่ตำบลพร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นบุตรของหลวงอรรถจารีวรานุวัตร(​บุญมาก รัชตะวรรณ)​ (2444-2494) รับราชการตำแหน่งอัยการจังหวัด และนางบุญทวน (2447-2524) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน ได้แก่

  1. นายบัณฑิต รัชตะวรรณ
  2. นายจิระ รัชตะวรรณ
  3. นายเสริม รัชตะวรรณ
  4. นางศรีสุดา รัชตะวรรณ (จุลละบุษปะ)
  5. นางสุมล รัขตะวรรณ (ฤชุพันธุ์)
  6. น.ท.รัชตะ รัชตะวรรณ

บิดามารดามีพื้นเพเป็นชาวมอญ อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี คุณพ่ออาศัยอยู่บริเวณวัดสำแล ต้นคลองประปา คุณแม่อาศัยอยู่ใกล้วัดไก่เตี้ย แต่ศรีสุดาเกิดที่ยะลาเพราะบิดารับราชการเป็นอัยการ ย้ายไปอยู่ที่นั่น เริ่มศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 ที่ โรงเรียนดัดรุนี จังหวัดฉะเชิงเทรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4 ที่ โรงเรียนอาจศึกษา และศึกษาระดับมัธยมศึกษาโรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วต่อที่โรงเรียนสตรีวัดระฆัง ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

ชีวิตนักร้อง

[แก้]

ศรีสุดาชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก แต่คุณพ่อของศรีสุดาไม่ชอบดนตรี และไม่สนับสนุนให้ลูก ๆ เอาดีทางด้านนี้เลย ต่างจากคุณปู่ หลวงชำนาญรักษาราษฎร์ ซึ่งรับราชการเป็นนายอำเภอที่รักชอบดนตรี จนถึงมีวงดนตรีไทยเป็นของตนเอง ในวัยเด็กศรีสุดาจะหาเพลงฟังได้ยากมากเนื่องจากบ้านอยู่นอกเมือง โดยส่วนมากจะฟังจากวิทยุกรมโฆษณาการเธอจะนั่งจดเนื้อเพลงจากวิทยุ บางครั้งกินข้าวอยู่ก็ทิ้งจานข้าวมาจดเนื้อเพลง และเมื่อตอนศึกษาอยู่ตนจะเป็นผู้นำเต้นและร้องเพลงยั่วสีอื่นเมื่อคราวแข่งกีฬาสีจนได้รับชัยชนะทุกครั้ง

ในปี พ.ศ. 2489-2490 ศรีสุดาได้ย้ายมาอยู่สี่แยกพรานนก โดยตั้งใจมาเรียนต่อที่วัดระฆัง แต่ด้ววใจรักการร้องเพลงจึงได้ไปสมัครเป็นนักร้องวงดนตรีกรมโฆษณาการหรือวงดนตรีสุนทราภรณ์จากการชักชวนของครูแก้ว อัจฉริยะกุลเมื่อปี พ.ศ. 2491 แต่อัตรานักร้องหญิงเต็ม จึงไปสมัครงานเป็นเสมียนที่กรมไปรษณีย์กลาง และได้พบกับครูพจน์ จารุวณิช เจ้าของคณะละครวิทยุ และวงดนตรีจารุกนก จึงได้มีโอกาสเล่นละครและร้องเพลงร่วมกับวงในระหว่าง พ.ศ. 2491-2495 ผลงานในช่วงนี้ เช่น อาวรณ์รัก พบกันด้วยเพลง ความรักที่ไม่แน่นอน น้ำตาลน้ำตา ครวญถึงคู่ รักอะไรดี เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2495 ช่วง���ปลี่ยนจากกรมโฆษณาการเป็นกรมประชาสัมพันธ์ ตำแหน่งนักร้องหญิงของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ว่างลง เนื่องจากมัณฑนา โมรากุล, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และจันทนา โอบายวาทย์ ลาออก ศรีสุดา รัชตะวรรณจึงไปสมัครเป็นนักร้องอีกครั้ง โดยใช้เพลงทดสอบคือ ดอกไม้ใกล้มือ คนึงครวญ และ คลื่นกระทบฝั่ง ในครั้งนั้น มีผู้สอบผ่านเข้าเป็นนักร้องในคราวเดียวกัน 3 คน โดยวรนุช อารีย์สอบได้ที่ 1 ศรีสุดาได้ที่2 และ พูลศรี เจริญพงษ์ได้ที่3 [1]

เมื่อมาอยู่วงดนตรีสุนทราภรณ์ได้บันทึกเสียงเพลงกามฤทธิ์เป็นเพลงแรก ตามด้วยเพลงอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งลักษณะพิเศษของศรีสุดา รัชตะวรรณ คือ เป็นผู้มีพรสวรรค์ด้านน้ำเสียงที่เป็นอมตะเป็นสัญลักษณ์ของความสดชื่นในด้านเสียงเพลง เพราะเมื่อใดก็ตามถ้ามีงานหรือมีการแสดงหรือขับร้องเพลงในแนวของเพลงที่ให้ความสนุกสนานสดชื่นหรือเพลงปลุกใจชื่อของศรีสุดา รัชตะวรรณ จะโดดเด่นขึ้นมาทันทีอีกทั้งยังสะกดท่านผู้ฟังและผู้ชมให้สนุกสนานไปด้วยจากท่วงทำนองของเพลงในจังหวะร่าเริง ที่ใช้นำมาขับร้องประกอบการเต้นรำในจังหวะต่าง ๆ แม้กระทั่งในวันประเพณีสำคัญ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทง โดยเธอนับได้ว่าเป็นนักร้องแม่เหล็กของวงดนตรีสุนทราภรณ์อีกหนึ่งคน ซึ่งหากจะบอกว่า"ใครฟังเพลงสุนทราภรณ์แต่ไม่รู้จักศรีสุดาเป็นไปไม่ได้"ก็เห็นจะจริง

ศรีสุดาโด่งดังเป็นอย่างมากเมื่อได้ขับร้องเพลงสนุกๆคู่กับคู่ขวัญ คือเลิศ ประสมทรัพย์ โดยทั้งคู่มีผลงานร้องร่วมกันทั้งเพลงคู่ เพลงรำวง เพลงตลุง จนหลายคนคิดว่าทั้งสองเป็นคู่ชีวิตกัน และเธอเองก็ได้รับฉายาจากเลิศ ประสมทรัพย์คู่ขวัญของตัวเองว่ามะดันดองซึ่งมาจากน้ำเสียงและลีลาการร้องที่เปรี้ยว ๆ ฉายาที่สองคือดุเหว่าเสียงใสมาจากเสียงสดใสร่าเริง นอกจากนี้ยังมีฉายาอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ราชินีรำวง, ราชินีเพลงสนุก

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ที่วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ได้พบรักกับ วินัย จุลละบุษปะนักร้องรุ่นพี่ และใช้ชีวิตคู่กันมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2499 โดยไม่มีบุตร (ทั้งคู่เพิ่งจดทะเบียนสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2533)

เกษียณอายุราชการ

[แก้]

ศรีสุดา รัชตะวรรณ รับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์เป็นเวลา 39 ปี ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้างานบันเทิง คนที่ 5 ต่อจาก เอื้อ สุนทรสนาน, ระวี พงษ์ประภาส, วินัย จุลละบุษปะ และใหญ่ นภายน นับว่าเป็นหัวหน้างานบันเทิงหญิงคนแรก จนกระทั่งเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2534

หลังวินัย จุลละบุษปะ เกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2526 ทั้งคู่ร่วมกันตั้งวงดนตรีชื่อว่า วงดนตรีสังคีตสัมพันธ์ โดยมีเสถียร ปานคง อดีตข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ควบคุมวง [1] และได้ฝึกหัดลูกศิษย์มากมาย เช่น โฉมฉาย อรุณฉาน สุภาภรณ์ ชำนิราชกิจ ชลาธิป ปิ่นสุวรรณ กฤติยาพร กลพิสุทธิ์ โสมรัศมิ์ เกาวนันท์ ภรพรรณ เอี่ยมวุฒิ กอบศักดิ์ ชมวัน เป็นต้น

ผลงานด้านการแสดง

[แก้]

เริ่มจากการพากย์เสียงละครวิทยุของคณะจารุกนก และเล่นละครประกอบเพลงให้กับคณะสุนทราภรณ์ จากนั้นก็แสดงเป็นตัวประกอบละครเวทีและตัวประกอบละครที่ช่อง 4 บางขุนพรหมหลายเรื่อง เช่น เรื่องไซซี นุสรา เรือมนุษย์ ขุนศึก ทางด้านภาพยนตร์เคยแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง พล นิกร กิมหงวน รับเชิญแสดงภาพยนตร์เรื่องอกธรณี ผลงานการแสดงในช่วงหลัง ๆ เช่น ละครเรื่องมายา พ.ศ. 2524 ได้รับบทเป็น ศุภลักษณ์ น้องสาวของอินทนิล เรื่องพรหมไม่ได้ลิขิต เรื่องอีสา พ.ศ. 2525 เป็นต้น

อาการเจ็บป่วย และบั้นปลายชีวิต

[แก้]

วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ได้รับการผ่าตัดทำการฉีดสี เพื่อทำบอลลูนหัวใจ แต่เธอเองก็มีความกลัวเพราะเคยแพ้ยาสลบ ในขณะที่กำลังผ่าตัดได้เกิดไฟดับขึ้น ทำให้เธอมีอาการสมองขาดเลือด ไม่รู้สึกตัวอยู่ห้อง ICU 2 เดือน

ต่อมาพี่น้องของศรีสุดานำมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีอาการดีขึ้นทานอาหารได้พูดได้พยุงเดินได้ แต่ไม่สามารถลืมตาเองได้ สามารถมองเห็นได้ชัดเมื่อเปิดหนังตาข้างหนึ่งแล้วปิดข้างหนึ่งไว้

ต่อมาก็มาพักรักษาตัวที่บ้านพูดได้ไม่กี่คำ ลืมตาไม่ได้ ทำตามคำสั่งพอได้ นอนอยู่กับเตียงให้อาหารทางสายยาง อุจจาระปัสสาวะโดยใช้ผ้าอ้อม ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติเช่นคนธรรมดาได้ อีกทั้งไม่สามารถประกอบกิจการงานใด ๆ ด้วยตนเองได้ โดยได้เข้ารับการรักษาตัวครั้งสุดท้ายที่วชิรพยาบาล จนถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548 สิริอายุ 75 ปี[2]

ขณะที่ศรีสุดา รัชตะวรรณ เจ็บป่วยอยู่นั้น นางสุมล ฤชุพันธุ์ นาวาโท รัชต รัชตะวรรณ ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวและน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวของศรีสุดา รัชตะวรรณ และนางประไพ รัชตะวรรณ ผู้เป็นพี่สะใภ้ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งให้ศรีสุดา รัชตะวรรณ เป็นคนเหมือนไร้ความสามารถ ศาลได้ไต่สวนพยานหลักฐานของบรรดาน้อง���ายน้องสาวและพี่สะใภ้แล้ว มีคำสั่งให้ศรีสุดา รัชตะวรรณ เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของน้องสาวน้องชายและพี่สะใภ้ดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543[3]

บทเพลงที่ได้รับความนิยม

[แก้]

บทเพลงขับร้องเดี่ยว

[แก้]

พบกันด้วยเพลง, กบใต้กอบัว, แมวกะหนู, กิเลสคน, กีฬาหัวใจ, ช้าช้า, ทะเลรัก, เงิน, เพลงอภินันท์, เมื่อมาอย่ากลัว, รักเอ๋ยรัก, สวรรค์สวิง, อารมณ์หวัง, ยิ้ม, ช่างร้ายนัก, รักฉันสักคน, รักจริงไหม, สวรรค์อุรา, งานเงิน, เปล่า, ช้ำช้ำช้ำ, ชายไร้เชิง, อย่ามัวมอง, อาวรณ์รัก, เริงเพลงสวิง, บาปบุญมีจริง เป็นต้น

ขับร้องนำหมู่

[แก้]

สุขกันเถอะเรา, ชื่นชีวิต (นำหมู่ร่วมกับวินัย จุลละบุษปะ), เพลงฟ้า, โลกอลวน, ชะชะช่าพาเพลิน, ชะชะช่ากล่อมใจ, เพลงพาสุข, กามฤทธิ์, นี่แหละสวรรค์, จะเป็นอย่างไรถ้าหญิงชายไม่รักกัน (นำหมู่ร่วมกับวรนุช อารีย์), ศรรัก, ป่วยการรัก, เพลงเนรมิตร, ภัยพ่ายน้ำใจไทย, เพลงพาชื่น (นำหมู่คู่วรนุช อารีย์), คนอลเวง เป็นต้น

บทเพลงขับร้องคู่

[แก้]

ไพรพิศดาร (คู่เลิศ ประสมทรัพย์), นกเขาไพร (คู่เลิศ ประสมทรัพย์), รักจำร้าง (คู่วินัย จุลละบุษปะ), ไม่รักใครเลย (ร่วมกับวินัย จุลบุษปะ, เลิศ ประสมทรัพย์, สมศักดิ์ เทพานนท์), จุดไต้ตำตอ (ร่วมกับเลิศ ประสมทรัพย์, สมศักดิ์ เทพานนท์), หนีไม่พ้น (ร่วมกับเลิศ ประสมทรัพย์, สมศักดิ์ เทพานนท์), รื่นเริงใจ (ร่วมกับ วรนุช อารีย์, มาริษา อมาตยกุล), สามนัด (ร่วมกับเลิศ ประสมทรัพย์, วรนุช อารีย์, มาริษา อมาตยกุล), ตามทุย (คู่ชวลี ช่วงวิทย์, เลิศ ประสมทรัพย์, สมศักดิ์ เทพานนท์), คู่รักคู่ขอ (คู่เลิศ ประสมทรัพย์), พนาโศก (คู่เลิศ ประสมทรัพย์), สัญญารัก (คู่เลิศ ประสมทรัพย์), หนุ่มง้อสาวงอน (คู่เลิศ ประสมทรัพย์), รักแท้ (คู่สมศักดิ์ เทพานนท์), อย่าลืมฉัน (คู่สมศักดิ์ เทพานนท์) เป็นต้น

รำวง/ตลุง

[แก้]

รำวงสาวบ้านแต้, รำวงหนุ่มบ้านแต้, รำวงปูจ๋า, รำวงลีลารัก, รำวงหมองู, เริงตลุง, ตลุงจำลา, ตลุงถ้ารักจริง, ตลุงแมลงแฝงดอกไม้, รำวงดาวพระศุกร์, ระบำบ้านนา, ยายกะตา, รับขวัญปีใหม่, ตลุงมอญซ่อนผ้า, เริงสงกรานต์, ตลุงดับเพลิงรัก, ตลุงขำจริง, รำวงสงกรานต์หวานใจ, ตลุงสุขสงกรานต์, รำวงฝนตกฟ้าร้อง, รำวงฝนมาทุยหาย, รำวงมาลัยรจนา, รำวงชมสวรรค์, เฮฮาวาตูซี่, สวรรค์สลูปี้, ขวัญข้าว เป็นต้น

ผลงานนำมาบันทึกเสียงใหม่

[แก้]

บ้านเรือนเคียงกัน(ต้นฉบับสุปาณี พุกสมบุญ, มองอะไร(ต้นฉบับสุปาณี พุกสมบุญ, หนูเล็ก(ต้นฉบับจันทนา โอบายวาทย์, รื่นเริงใจ(ต้นฉบับมัณฑนา โมรากุล), ปากกับใจ(ต้นฉบับสุปาณี พุกสมบุญ) เป็นต้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • ไพบูลย์ สำราญภูติ. เพลงลูกกรุง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 168 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-82-3
  1. 1.0 1.1 "ประวัติ ศรีสุดา รัชตะวรรณ จาก เว็บสุนทราภรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-10. สืบค้นเมื่อ 2008-03-14.
  2. 'ศรีสุดา' แห่งวงสุนทราภรณ์ลาโลก
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เรื่อง ศาลมีคำสั่งให้ นางศรีสุดา รัชตะวรรณ หรือจุลละบุษปะ เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ความอนุบาลของนางสุมล ฤชุพันธุ์ ที่ 1, นางประไพ รัชตะวรรณ ที่ 2 นาวาโท รัชต รัชตะวรรณ ที่ 3, เล่ม 117, ตอนที่ 101 ง, 19 ธันวาคม 2543, หน้า 42.
  4. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2533 เล่ม 108 ตอนที่ 111 ราชกิจจานุเบกษา 24 มิถุนายน พ.ศ. 2534