วัดละมุด (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
วัดละมุด | |
---|---|
ที่ตั้ง | 138 บ้านละมุด หมู่ที่ 2 ตำบลปากจั่น อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระมหามนตรี วลฺลโภ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดละมุด เป็นวัดราษฎร์ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกายตั้งอยู่ที่ ตำบลปากจั่น อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 31 ไร่
วัดละมุดสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2100 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2110 ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ได้มีการกล่าวถึงวัดละมุดว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี มาผนวชที่วัดละมุดแห่งนี้ ในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประชวรหนักใกล้สวรรคต พระภิกษุเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ได้ลาผนวชและมาเฝ้าพระอาการโดยประทับที่พระตำหนักสวนกระต่ายของเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต พระอนุชาร่วมพระมารดา
ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ก็โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดละมุดที่พระองค์เคยผนวชใหม่ทั้งพระอารามเมื่อปี พ.ศ. 2308[1]
ยังมีเรื่องเล่ากันว่า ประมาณ พ.ศ. 2305 เจ้าจอมละมุด ซึ่งเป็นพระสนมของพระเจ้าเอกทัศน์ ได้มาสร้างวิหาร ขนาดใหญ่และยาว (เดิมวิหาร มีลักษณะรูปท้องสำเภาสันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนกลาง) ในการนี้ได้สร้างพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยขึ้น 15 องค์ เป็นพระพุทธรูปหน้านาง สร้างด้วยหินทรายแดง ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อหิน ส่วนประตูโขลง ซึ่งเป็นประตูเข้าขนาดใหญ่ทางด้านทิศเหนือขนานไปกับแม่น้ำป่าสัก มีเรื่องเล่ากันว่า พระเจ้าเอกทัศน์ ได้มาผนวชที่วัดละมุดนี้ นัยว่า เพื่อรักษาโรคเรื้อนที่ท่านเป็นอยู่ โดยการรักษานั้น จะกระทำภายในวิหารใหญ่ของวัดละมุด พระองค์ได้ให้สืบหาหมอยาดี ๆ มาเพื่อรักษา และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ความลับเรื่องที่พระองค์อาพาธด้วยโรคร้ายนี้แพร่ขยายออกไป จึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตหมอยาทุกคนที่มาถวายการรักษาแล้วไม่สามารถรักษาได้สำเร็จ โดยสถานที่ประหารนั้น คือ ประตูโขลง หมายความว่า มีคนมาตายกันเป็นโขลง ๆ[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ตำนานวัดละมุด.. วัดของกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอยุธยา น่าสะพรึงกลัว!! "อาถรรพ์ประตูวิญญาณ" คนลองดีฉี่ใส่ จน...บวมเป่ง.
- ↑ "วัดละมุด". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.