ข้ามไปเนื้อหา

วังเชอนงโซ

พิกัด: 47°19′30″N 1°04′14″E / 47.3250°N 1.0706°E / 47.3250; 1.0706
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วังเชอนงโซ
Château de Chenonceau
วังเชอนงโซ
ประเภทวัง
พื้นที่เชอนงโซ, ฝรั่งเศส
ประวัติศาสตร์
สร้างค.ศ. 1515 - ค.ศ. 1521
สร้างโดยพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศส

ชาโตเดอเชอนงโซ หรือ พระราชวังเชอนงโซ (ฝรั่งเศส: Château de Chenonceau) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเชอนงโซ (Chenonceaux) ในจังหวัดแอ็งเดรลัวร์ แคว้นซ็องทร์-วาลเดอลัวร์ ประเทศฝรั่งเศส วังเดิมสร้างบนโรงป่นแป้งเก่า[2]บนฝั่งแม่น้ำแชร์ และสร้างมาก่อนหน้าที่จะมีหลักฐานทางเอกสารเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11 วังปัจจุบันออกแบบโดยฟีลีแบร์ เดอ ลอร์ม[1] (Philibert De l'Orme) สถาปนิกเรอเนซองซ์

ประวัติ

[แก้]
ชาโตเชอนงโซมองจากสวนดียาน เดอ ปัวตีเย
ภาพเขียนของวัง

ปราสาทเดิมถูกวางเพลิงเมื่อปีค.ศ. 1411 เพื่อเป็นการแก้แค้นที่ฌ็อง มาร์ก (Jean Marques) ผู้เป็นเจ้าของใช้อำนาจในทางที่ผิด หลังจากนั้นเมื่อราวปีค.ศ. 1430 ฌ็อง มาร์กก็สร้างปราสาทใหม่โดยมีการสร้างเสริมอย่างแข็งแรง ปีแยร์ มาร์ก (Pierre Marques) ผู้เป็นเจ้าของต่อมาไปทำหนึ้เป็นสินมากจนต้องขายปราสาทให้กับทอมัส โบเย (Thomas Bohier) ผู้เป็นราชมนตรีของพระเจ้าชาร์ลที่ 7 แห่งฝรั่งเศสเมื่อปีค.ศ. 1513 โบเยรื้อปราสาทเดิมทิ้งแล้วสร้างวังใหม่ระหว่างปี ค.ศ. 1515 ถึงปี ค.ศ. 1521 โดยให้กาเตอรีน บรีซอเน (Catherine Briçonnet) ผู้เป็นภรรยาเป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง กาเตอรีนชอบจัดงานเลี้ยงสำหรับข้าราชสำนักรวมทั้งพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1[3] ถึงสองครั้ง

ต่อมาพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 ก็ยึดวังจากลูกของโบเย ผู้เป็นหนี้หลวงเป็นจำนวนมากมาย หลังจากพระเจ้าฟร็องซัวสิ้นพระชนม์เมื่อปีค.ศ. 1547 พระเจ้าอ็องรีที่ 2 ก็พระราชทานเชอนงโซให้กับดียาน เดอ ปัวตีเย[4] (Diane de Poitiers) ผู้เป็นพระสนมคนโปรด ดียานติดใจเชอนงโซและชอบทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำแชร์มาก จนสั่งให้สร้างสะพานเชื่อมตัววังกับฝั่งตรงข้าม และสร้างสวนดอกไม้ สวนครัว และสวนผลไม้ขนาดใหญ่ สวนที่อยู่ริมแม่น้ำได้รับการป้องกันจากน้ำท่วมด้วยกำแพงหิน ตัวสวนเป็นรูปสามเหลี่ยมสี่อัน

ตามกฎหมายแล้วเชอนงโซเป็นของหลวง แต่ดียาน เดอ ปัวตีเยก็อยู่อย่างเป็นเจ้าของเต็มตัวมาจนถึงปี ค.ศ. 1555 เมื่อมีปัญหาว่าใครควรจะเป็นเจ้าของที่ถูกต้อง แต่ในที่สุดดียานก็ได้เป็นเจ้าของถูกต้องตามกฎหมาย แต่เพียงสี่ปีต่อมาเมื่อพระเจ้าอ็องรีที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อปี ค.ศ. 1559 พระราชินีแคทเธอรีน เดอ เมดิชิ[5] (Catherine de' Medici) พระอัครมเหสีของพระเจ้าอ็องรีก็ขับดียานออกจากเชอนงโซ แต่เพราะวังไม่ได้เป็นของหลวง แคทเธอรินจึงไม่ทรงสามารถยึดได้โดยไม่มีข้อแลกเปลี่ยน จึงทรงบังคับให้ดียานแลกเชอนงโซกับวังโชมง[6] (Château Chaumont) หลังจากนั้นก็ทรงปรับปรุงเชอนงโซและสร้างสวนเพิ่มอีกหลายสวน จนกลายเป็นวังที่ทรงโปรดปรานมาก

ในฐานะที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จพระราชชนนีแคทเธอริน เด เมดิชิสามารถใช้เงินจำนวนมากในการปรับปรุงและจัดงานหรูหราที่เชอนงโซได้ เมื่อปี ค.ศ. 1560 ก็ทรงจัดให้มีการแสดงดอกไม้ไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในฝรั่งเศสที่เชอนงโซ เพื่อเป็นการฉลองการขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 2 ผู้เป็นพระโอรสของพระองค์

หลังจากสมเด็จพระราชินีแคทเธอรินเสด็จสวรรคตเมื่อปี ค.ศ. 1589 วังก็ตกไปเป็นของหลุยส์ เดอ ลอแรน-โวเดมง (Louise de Lorraine-Vaudémont) พระอัครมเหสีของพระเจ้าอ็องรีที่ 3 ผู้เป็นพระโอรสอีกองค์หนึ่งของพระราชินีแคทเธอริน เมื่อพระราชินีหลุยส์ได้รับข่าวการปลงพระชนม์ของพระสวามีก็ทรงโศกเศร้ามากจนไม่ทรงมีสติสัมปชัญญะและทรงใช้เวลาบั้นปลายของชีวิตอย่างเป็นแม่ม่ายเต็มตัว เที่ยวเดินเทียวไปเทียวมาในชุดแม่ม่ายภายในวังที่ตกแต่งด้วยพรมแขวนผนัง[7]ดำที่ปักเป็นหัวกะโหลกไขว้

พระสนมอีกคนหนึ่งที่ได้อยู่ที่วังนี้เมื่อปี ค.ศ. 1624 คือกาเบรียล แด็สเทร (Gabrielle d'Estrées) ในพระเจ้าอ็องรีที่ 4 หลังจากนั้นเชอนงโซก็ตกไปเป็นของผู้สืบสายมาจากพระราชินีหลุยส์--ดยุกเซซาร์ เดอ บูร์บง, ดยุกแห่งว็องโดม (César de Bourbon, duc de Vendôme) และภรรยาดัชเชสฟร็องซวซ เดอ ลอแรน (Françoise de Lorraine) และผ่านต่อมาทางสายวาลัว (Valois) หลังจากนั้นวังก็มีผู้พำนักไม่พำนักบ้างมากว่าร้อยปี

เมื่อปี ค.ศ. 1720 ดยุกแห่งบูร์บงก็ซื้อวังเชอนงโซ แล้วค่อย ๆ ขายสมบัติภายในวังไปทีละน้อย รูปปั้นหลายรูปก็ตกไปเป็นของพระราชวังแวร์ซาย ในที่สุดวังเชอนงโซก็ถูกขายให้กับโกลด ดูว์แป็ง (Claude Dupin)

มาดามหลุยส์ ดูว์แป็ง ภรรยาของโกลด ดูว์แป็งเป็นลูกสาวของซามูเอล แบร์นาร์ (Samuel Bernard) นักลงทุน และเป็นย่าของนักประพันธ์ฌอร์ฌ ซ็องด์ (George Sand) เป็นผู้ทำให้เชอนงโซกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งหนี่งโดยการจัดงานเลี้ยงสำหรับผู้นำในยุคภูมิปัญญาเช่น วอลแตร์ มองแต็สกีเยอ (Montesquieu) ฌอร์ฌ-หลุยส์ เลอแกลร์ก (Georges-Louis Leclerc) แบร์นาร์ เลอ บอวีเย เดอ ฟงเตอแนล (Bernard le Bovier de Fontenelle) ปีแยร์ เดอ มารีโว (Pierre de Marivaux) และฌ็อง-ฌัก รูโซ มาดามหลุยส์ปกป้องเชอนงโซจากการถูกทำลายระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เพราะเชอนงโซเป็นจุดเดียวสำหรับข้ามแม่น้ำแชร์ในบริเวณนั้น จึงมีประโยชน์ต่อการเดินทางและการค้าขาย

นอกจากนั้นก็ยังกล่าวกันว่ามาดามหลุยส์เป็นผู้เปลี่ยนการสะกดคำว่า “Chenonceaux” เป็น “Chenonceau” เพื่อเอาใจชาวบ้านระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เพราะ “x” เป็นสัญลักษณ์ของฐานันดร เมื่อเอาอักษร “x” ออกก็เป็นการแสดงความจงรักต่อระบบการปกครองใหม่ แต่เรื่องนี้ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่การสะกด “Chenonceau” โดยไม่มี “x” ก็ยังใช้กันอยู่จนทุกวันนี้

เมื่อปี ค.ศ. 1864 แดเนียล วิลสัน (Daniel Wilson) ชาวสกอตแลนด์ผู้ร่ำรวยจากการติดตั้งตะเกียงแก๊สทั่วปารีสซื้อวังนี้ให้ลูกสาว ผู้ใช้เงินจำนวนมากจัดงานเลี้ยงจนกระทั่งหมดตัว ในที่สุดวังถูกยึดและขายให้โฮเซ เอมีเลียว เตร์รี (José-Emilio Terry) มหาเศรษฐีชาวคิวบา เมื่อปีค.ศ. 1891 เทอรีขายเชอนงโซต่อให้กับฟรานซิสโก เทอรีผู้เป็นญาติ และเมื่อปีค.ศ. 1896 ในที่สุดตระกูลเมอนีเย (Menier) ที่มีชื่อเสียงจากการทำช็อกโกแลตก็ซื้อเชอนงโซเมื่อปีค.ศ. 1913 และเป็นเจ้าของมาจนถึงปัจจุบันนี้

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตัววังก็ใช้เป็นโรงพยาบาล และระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เชอนงโซถูกใช้เป็นที่หนีจากบริเวณที่ยึดครองโดยนาซี ไปอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำแชร์ที่เป็นวิชีฝรั่งเศสที่เป็นอิสระจากส่วนที่ยึดครองโดยเยอรมนี

เมื่อปี ค.ศ. 1951ตระกูลเมอนีเยมอบให้แบร์นาร์ วัวแซ็ง (Bernard Voisin) เป็นผู้บูรณะเชอนงโซซึ่งอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมมากและสวนที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากน้ำท่วมเมื่อปี ค.ศ. 1940 ให้คืนสู่สภาพที่สวยงามตามที่เคยเป็นมา

ลักษณะของสถาปัตยกรรมของเชอนงโซ เป็นแบบผสมระหว่างสถาปัตยกรรมกอธิคและสถาปัตยกรรมเรอเนซองซ์ตอนต้น ในปัจจุบันวังเปิดให้คนเข้าชมและเป็นวังที่มีผู้เข้าชมเป็นอันดับสองรองจากพระราชวังแวร์ซาย

ภายใน

[แก้]

ลานด้านหน้าและหอมาร์ก

[แก้]
ทางเข้า

เมื่อทอมัส โบเยสร้างเชอนงโซใหม่เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก็ได้รื้อส่วนที่อยู่อาศัยเดิมและโรงบดแป้งของตระกูลมาร์กออกหมดยกเว้นหอเก่า และสร้างวังใหม่บนตอม่อของโรงบดแป้งเก่า หอเก่าหรือหอมาร์ก (Marques Tower) มาต่อเติมเปลี่ยนแปลงเป็นแบบเรอเนซองซ์ ลานหน้าวางแบบลานปราสาทยุคกลางล้อมรอบด้วยคู ใกล้ ๆ หอมาร์กมีบ่อที่แต่งด้วยไคเมร่าและเหยี่ยวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของตระกูลมาร์ก

ประตูทางเข้าขนาดใหญ่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 ทำจากไม้แกะสลัก ทางด้านซ้ายเป็นตราประจำตัวของทอมัส โบเย ทางขวาเป็นของกาเตอรีน บรีซอเน ผู้เป็นภรรยา เหนือตราเป็นตัวซาลาแมนเดอร์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1[8] และคำสลัก “François, by the grace of God, King of France and Claude, Queen of the French” (ฟร็องซัว, โดยพรจากพระเป็นเจ้า, พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส และโกลด, พระราชินีฝรั่งเศส)

ห้องยาม

[แก้]

เดิมเป็นห้องที่���ามใช้พักเมื่อออกเวร บนเตาผิงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ตกแต่งด้วยตราประจำตัวของทอมัส โบเย และบนประตูไม้โอคคริสต์ศตวรรษที่ 16 ภายใต้นักบุญผู้พิทักษ์—นักบุญแคทเธอริน และนักบุญทอมัส--เป็นคำขวัญของทอมัส โบเยและกาเตอรีน บรีซอเน “S'il vient à point, me souviendra” ซึ่งแปลว่า “ถ้าสามารถสร้างวังได้ก็จะมีคนระลึกถึง”

บนกำแพงมีพรมแขวนผนังแบบเฟลมมิชจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นฉากชีวิตของการอยู่ในปราสาท การขอแต่งงาน และการล่าสัตว์ หีบ[9]เป็นแบบกอธิค และเรอเนซองซ์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ใช้เป็นที่เก็บเครื่องเงิน, เครื่องครัว และพรมแขวนผนัง หีบเป็นสิ่งทางราชสำนักใช้ขนย้ายสิ่งของเมื่อย้ายที่อยู่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง

เพดานเป็นอักษร “H” ไขว้กับ “C” ซึ่งเป็นอักษรย่อของแคทเธอริน เดอ เมดิชิ และ พระเจ้าอ็องรีที่ 2 แต่เพราะความรักที่พระเจ้าอ็องรีมีต่อดียาน เดอ ปัวตีเยพระองค์ก็ให้ทำอักษรให้ดูเหมือน “D” และ “H” พื้นเป็นกระเบื้องจากอิตาลีที่เรียกว่า “majolica” ที่สร้างเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16

ชาเปล

[แก้]
หน้าต่างประดับกระจกสีภายในชาเปล
ห้องนอนของดียาน เดอ ปัวตีเย
หน้าต่างประดับกระจกสีภายในชาเปล

จากห้องพักทหารยามเป็นทางเข้าสู่ชาเปลซึ่งมีประตูที่มีรูปปั้นพระแม่มารีอยู่เหนือประตู บนบานประตูเป็นสัญลักษณ์ของพระเยซูและนักบุญทอมัสสาวก และมีประโยคจากพระวรสารนักบุญจอห์นว่า “เอานิ้วจิ้มตรงนี้” (“Lay your finger here”) และ “ท่านคือลอร์ดและพระเจ้าของข้า” (“You are my Lord and my God”) จาก ยน 20:27

หน้าต่างประดับกระจกสีเดิมของชาเปลได้ถูกระเบิดทำลายระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2เมื่อปี ค.ศ. 1944 หน้าต่างสมัยใหม่ที่สร้างแทนทำโดยแม็กซ์ อินกรองด์ (Max Ingrand) ผู้เชี่ยวชาญทางการประดับกระจกสีเมื่อปี ค.ศ. 1954 ในซุ้มทางด้านขวามีรูปแกะพระแม่มารีและพระบุตรจากหินอ่อนที่มาจากคาร์ราราในประเทศอิตาลี โดยมิโน ดา ฟิเอโซโล (Mino da Fiesole) ทางเดินกลางของชาเปลเป็นที่ที่พระราชินีเข้าร่วมพิธีมิสซาซึ่งสลักปี ค.ศ. 1521 ไว้

ทางด้านขวาของแท่นบูชาเป็นโต๊ะพิธีที่แกะสลักอย่างสวยงามพร้อมกับคำขวัญของทอมัส โบเย บนกำแพงมีคำจารึกโดยทหารรักษาพระองค์ของ พระราชินีแมรีสจ๊วต ทางด้านขวา “Man's anger does not accomplish God's Justice” จารึกเมื่อปี ค.ศ. 1543 และ “Do not let yourself be won over by Evil” จารึกเมื่อปี ค.ศ. 1546 ภาพเขียน:

  • “พระแม่มารีกับผ้าคลุมสีฟ้า” (The Virgin in a blue veil) โดยจิโอวานนี บัททิสตา ซาลวิ ดา ซัสโซเฟอร์ราโต (Giovanni Battista Salvi da Sassoferrato)
  • “พระเยซูเทศนาพระเจ้าเฟอร์ดินานด์และพระราชินีอิสซาเบลลา” (Jesus preaching before Ferdinand and Isabella) โดยอลอนโซ คาโน (Alonso Cano)
  • นักบุญแอนโทนีแห่งปาดัว” (Saint Anthony of Padua) โดย บาโทโลเม เอสเตบาน มูริลโล
  • อัสสัมชัญ” โดยฌอง จูเวเนท์ (Jean Jouvenet)

มาดามดูว์แป็งช่วยให้ชาเปลรอดมาจากถูกทำลายระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสโดยใช้ชาเปลเป็นที่เก็บไม้ฟืน

ห้องนอนของดียาน เดอ ปัวตีเย

[แก้]

ห้องที่ใช้โดยดียาน เดอ ปัวตีเยผู้เป็นพระสนมเอกของพระเจ้าอ็องรีที่ 2 มีเตาผิงโดยฌ็อง กูฌง (Jean Goujon) ผู้เป็นประติมากรตระกูลฟองเทนโบล บนเตาผิงมีอักษรไขว้ของพระเจ้าอ็องรีที่ 2 และแค็ทเธอริน เด เมดิชิ เป็นตัว “H” และ “C” ซึ่งเมื่อดูแล้วก็คล้ายตัว “H” ไขว้กับ “D”[10] สำหรับ “Diane” เพดานเป็นแบบ coffer[11] ก็มีอักษรไขว้เช่นกัน เหนือเตาผิงเป็นภาพ แค็ทเ��อริน เด เมดิชิ ที่เขียนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยโซวาจ (Sauvage)

เตียงสี่เสา[12]สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และเก้าอี้ของพระเจ้าอ็องรีที่ 2 หุ้มด้วยหนัง cordovan นอกจากนั้นก็ยังมีพรมทอแขวนผนังจากฟลานเดิร์สสองผืนใหญ่จากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพ:

  • “ชัยชนะของความแข็งแกร่ง” (The triumph of Strength) ทรงรถม้าลากด้วยสิงห์โตสองตัวล้อมรอบไปด้วยฉากจากพันธสัญญาเดิม ขอบบนเป็นคำจารึกภาษาละติน ซึ่งแปลว่า “ผู้ซึ่งพอใจในของขวัญจากสวรรค์จะไม่ถอยจากการทำความดีที่เรียกร้อง”
  • “ชัยชนะของความเผื่อแผ่” (The triumph of Charity) ทรงรถม้า ในมือหนึ่งถือหัวใจอีกมือหนึ่งชี้ไปยังพระอาทิตย์ มีคำจารึกภาษาละติน ซึ่งแปลว่า “ผู้ซึ่งแสดงความแข็งแกร่งเมื่อเผชิญอันตรายจะได้รับการให้อภัยเป็นรางวัลเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง”

ทางซ้ายของห้องนอนเป็นหน้าต่าง “พระแม่มารีและพระบุตร” โดย บาโทโลเม เอสเตบาน มูริลโล ทางด้านขวาของเตาผิงมีภาพเขียนแบบอิตาลีจากคริสต์ศตวรรษที่ 18 “พระเยซูถูกสั่งให้ถอดพระภูษา” โดยฟรานซิสโก ริบาลตา (Francisco Ribalta) ภายใต้ภาพเขียนเป็นชั้นหนังสือที่มีเอกสารเกี่ยวกับเชอนงโซ เล่มหนึ่งมีลายเซ็นของทอมัส โบเย และ ดียาน เดอ ปัวตีเย

ห้องเขียว

[แก้]

เมื่อพระราชินีแคทเธอริน เด เมดิชิได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส พระราชโอรสเมื่อยังทรงพระเยาว์เมื่อปี ค.ศ. 1560 ทรงปกครองฝรั่งเศสจากห้องทรงพระอักษรในวังเชอนงโซห้องนี้ บนเพดานคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งยังเป็นเพดานเดิมยังพอมองเห็นอักษรไขว้ “C” และตู้อิตาลีจากคริสต์ศตวรรษเดียวกัน 2 ตู้สองข้างประตู

งานชิ้นที่เด่นที่สุดในห้องคืองานพรมทอแขวนผนังของบรัสเซลส์จากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่เรียกว่า “To the birthwort” เป็นลักษณะศิลปะแบบกอธิค และ เรอเนซองซ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการพบทวีปอเมริกาและพฤกษชาติที่พบที่นั่น ในภาพทอจะมีไก่ฟ้าเปรู, สับปะรด, กล้วยไม้, ทับทิม, สัตว์ และพืชพันธ์ไม้หลากหลายที่จนบัดนั้นก็ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือเห็นกันในทวีปยุโรป แต่สีเดิมของพรมที่เป็นสีเขียวปัจจุบันเป็นสีน้ำเงินตามกาลเวลา

บนผนังแขวนภาพไว้หลายภาพแต่ที่สำคัญ ๆ คือ

  • “พระราชินีแห่งชีบา” (The Queen of Sheba) และ ภาพเหมือนของ Doge โดย ทินโทเรตโต
  • “Ivory Catchfly” โดย จาค็อป จอร์แดงส์ (Jacob Jordaens)
  • “แซมซันและสิงห์โต” (Samson and the Lion) โดย เฮ็นดริค โกลทเซียส (Hendrik Goltzius)
  • “พระเยซูไล่พ่อค้าออกจากวัด” (Jesus chasing the merchants from the Temple) โดยฌอง จูเวเนท์ (Jean Jouvenet)
  • “x” (Allegorical Scene) บนโลหะ โดยบาร์โทโลเมียส สแปรงเกอร์ (Bartholomeus Spranger)
  • “ศึกษาศีรษะสตรี” (Study of a woman's head) โดย เพาโล เวโรเนเซ
  • “หนีไปอียิปต์” (The flight to Egypt) โดย นิโคลาส์ ปูแซน
  • “เด็กกับผลไม้” (Child with Fruits) โดย แอนโทนี แวน ไดค์

ห้องสมุด

[แก้]
ห้องรับรอง
เตาในครัว
ห้องนอนพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1
ห้องนั่งเล่นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
บันได

ห้องนี้เป็นห้องเล็ก ๆ ที่ใช้โดยพระราชินีแคทเธอริน เดอ เมดิชิ มีทิวทัศน์แม่น้ำแชร์และสวนของดียาน เพดานแบบ coffer แบบอิตาลีทำจากไม้โอคเมื่อปีค.ศ. 1525 ซึ่งมีที่ห้อยกุญแจเล็ก ๆ เป็นงานแบบนี้ชิ้นแรกที่ทำในฝรั่งเศส และมีอักษรย่อ “T.B.K.” ของผู้สร้างวัง ทอมัส โบเย และกาเตอรีน บรีซอเน เหนือประตูเป็นภาพเขียน “ครอบครัวพระเยซู” โดย อันเดรีย เดล ซาร์โต อันเดรอา เดล ซาร์โต ภาพเขียนอื่น ๆ ก็มี

  • “ฉากจากชีวิตของนักบุญเบ็นเนดิค” (Scenes from the life of Saint Benedict) โดย จาโคโป บาสสาโน (Jacopo Bassano)
  • “ผู้พลีชีพ” (A Martyr) โดย อันโทนิโอ ดา คอร์เรจจิโอ
  • “ครอบครัวพระเยซู” โดย ฌอง จูเวเนท์ (Jean Jouvenet)
  • ภาพเขียนในกรอบกลม[13] “Hébé and Ganymède, the cupbearers of the Gods, relieved near Olympia” เขียนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 แบบฝรั่งเศส

ห้องรับรอง

[แก้]

จากห้องนอนของดียาน เดอ ปัวตีเยเป็นทางแคบไปสู่แกลเลอรี เมื่อปี ค.ศ. 1576 พระราชินีแคทเธอริน เด เมดิชิสร้างห้องรับรองใหญ่เป็นโถงยาวเบนสะพานข้ามแม่น้ำแชร์ของดียาน เดอ ปัวตีเย ตามผังของฟิลิแบรต์ เดอ ลอร์เม (Philibert de l'Orme) ห้องยาว 60 เมตรและกว้าง 6 เมตร มีหน้าต่าง 18 บาน พึ้นเป็นหินชอล์คและหินชนวน เพดานแสดงโครง ห้องนี้เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1577 ในงานที่แคทเธอริน เด เมดิชิทรงเป็นจัดสำหรับพระเจ้าอ็องรีที่ 3

ทางด้านยาวทั้งสองของห้องเป็นเตาผิงแบบเรอเนซองซ์ซึ่งทางด้านใต้อยู่ใกล้ประตูที่ออกไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแชร์ ภาพเขียนในกรอบกลมมาเพิ่มในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นภาพคนสำคัญ ๆ

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กัสตง เมอนีเย (Gaston Menier) เจ้าของวังแปลงห้องทุกห้องในวังเป็นโรงพยาบาลด้วยเงินส่วนตัว ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2ห้องรับรองใช้เป็นทางเดินข้ามจากบริเวณที่ถูกยึดครองโดยเยอรมนีไปอึกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำแชร์ที่มิได้ถูกยึดครอง

ห้องโถง

[แก้]

ห้องโถงตกแต่งด้วยเพดานโค้งสันที่มีหินหลักแยกจากกันเป็นเส้นขาด ตะกร้าตกแต่งด้วยใบไม้ ดอกกุหลาบ ยุวเทพ (cherubs) ปนาลี และ สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ห้องนี้สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1515 ถือว่าเป็นห้องที่แกะสลักที่สวยที่สุดห้องหนึ่งในการตกแต่งแบบเรอเนซองซ์แบบฝรั่งเศส

ตรงทางเข้าเหนือประตูมีฐานที่เว้าเข้าไปที่เป็นที่ตั้งรูปปั้นนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ผู้เป็นนักบุญผู้พิทักษ์วังเชอนงโซ และ Masdone อิตาเลียนแบบลูคา เดลลา รอบเบีย (Luca della Robbia) โต๊ะหินอ่อนเป็นแบบเรอเนซองซ์ เหนือประตูทางเข้า เป็นหน้าต่างประดับกระจกสีทึ่สร้างเมื่อ ปี ค.ศ. 1954 โดยแม็กซ์ อินกรองด์ (Max Ingrand) เป็นตำนานของนักบุญอูแบร์

ครัว

[แก้]

ครัวของวังเชอนงโซตั้งอยู่ชั้นล่างสุดซึ่งมีฐานอยู่บนแม่น้ำแชร์ใกล้ครัวมีที่จอดเรือส่งของ ตามตำนานว่ากันว่าเป็นที่ที่ดียานอาบน้ำ ที่เก็บอาหารอยู่ต่ำกว่าครัวภายใต้หลังคาโค้ง เตาผิงในครัวสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งตั้งอยู่ข้างเตาอบขนมปังเป็นเตาผิงที่ใหญ่ที่สุดในวังเชอนงโซ สาเหตุที่เตาผิงในครัวมีขนาดใหญ่เพราะในสมัยโบราณก่อนที่จะมีเตาที่เห็นในรูปการทำอาหารทุกอย่างทำที่เตาผิง นอกจากครัวแล้วก็มี ห้องเก็บเนื้อสัตว์ซึ่งยังมีขอแขวนเนื้อและเขียงใหญ่สำหรับสับและตัดเนี้อ และห้องเก็บอาหารอื่น ๆ

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ครัวก็ถูกปรับปรุงโดยติดตั้งอุปกรณ์เครื่องครัวที่ทันสมัยเพื่อให้เหมาะกับการเป็นโรงพยาบาล

ห้องนอนพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1

[แก้]

ในห้องนี้มีเตาผิงแบบเรอเนซองซ์บนแท่นเหนือเตาผิงเป็นคำขวัญของทอมัส โบเย “S'il vient à point, me souviendra” ซึ่งแปลว่า “ถ้าสร้างวังได้ก็จะมีคนระลึกถึง” เหนือประตูเป็นตราของโบเย เครื่องตกแต่งก็มีโต๊ะแบบฝรั่งเศส สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ ตู้แบบอิตาลีที่สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สิ่งที่น่าสนใจคือปากกาหมึกซึมงาช้างฝังมุกซึ่งเป็นของขวัญแต่งงานที่แมรีสจ๊วตมอบให้พระเจ้าฟร็องซัวที่ 2

บนผนังแขวนภาพดียาน เดอ ปัวตีเย ในภาพเทพีไดแอนนาแห่งการล่าสัตว์ โดยฟรันเชสโก ปรีมาติชโช จิตรกรตระกูลการเขียนแบบฟงแตนโบล พริมาทิชชิโอวาดภาพที่วังเชอนงโซเมื่อ ปี ค.ศ. 1556 บนกรอบเป็นตราของดียานดัชเชสแห่งเอทอมพส์

ทั้งสองด้านเป็นภาพเขียนโดย มิเรเวลท์ (Mirevelt) เรเวนสไตน์ (Ravenstein) และภาพเหมือนของแอนโทนี แวน ไดค์ ถัดไปเป็นภาพวาดใหญ่ของกาเบรียล แด็สเทรแต่งตัวเป็นไดแอนนาเทพีแห่งการล่าสัตว์โดยอ็องบรวซ ดูว์บัว (Ambroise Dubois) ที่หน้าต่างเป็นภาพอาร์คิมิดีส ฟรานซิสโก เซอบาราน และรูป “บาทหลวงสองคน” แบบเยอรมนีจากคริสต์ศตวรรษที่ 17 ด้านขวาของเตาผิงเป็นภาพ “The Three Graces”[14] โดย ฌอง แบ็พทิสต์ แวน ลู (Jean-Baptiste van Loo) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสามสาวพี่น้องจากเนสเล มาดามแห่งชาโตรู มาดามแวนทิมีล และมาดามเมอีผู้เป็นคนโปรดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15

ห้องพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

[แก้]

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1650 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14เสด็จมาเยี่ยมวังเชอนงโซ หลังจากนั้นทรงมอบภาพเหมือนโดยอิยาซินธ์ ริโกด์[15] (Hyacinthe Rigaud) ให้แก่ดยุกเซซาร์ เดอ แวงดมผู้เป็นลุงซึ่งมีกรอบที่ทำอย่างสวยงามทำด้วยไม้สี่ชิ้นโดยเลอโปทร์ (Lepautre) พร้อมกับเฟอร์นิเจอร์ที่บุด้วยพรมทอจากโอบูซองและตู้แบบบูล (Boulle) เพื่อเป็นที่ระลึกในการทรงมาเยี่ยม

เหนือเตาผิงเป็นตราซาลาแมนเดอร์และเออร์มิน ซึ่งคล้ายกับตราซาลาแมนเดอร์ของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 และพระราชินีโกลด เพดานเป็นแบบที่แสดงคาน บนบัวคอร์นิชมีอักษรย่อ “T.B.K.” ของครอบครัวโบเย เหนือตู้เป็นภาพ “พระบุตรและนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์” โดยปีเตอร์ พอล รูเบนส์ซึ่งโจเซฟ โบนาปาร์ต น้องชายของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1ซื้อมาจากพระเจ้าแผ่นดินสเปนเมื่อ ปี ค.ศ. 1889

ภายในห้องนี้มีภาพเขียนแบบฝรั่งเศสของคริสต์ศตวรรษที่ 18:

  • ภาพเหมือนพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ฌอง แบ็พทิสต์ แวน ลู
  • “เจ้าหญิงแห่งโรฮัน” (Princess of Rohan) โดย นาติเย (Nattier)
  • “ภาพเหมือนของชามิลลาร์ด ราชมนตรีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14” และ “ภาพเหมือนของผู้ชาย” โดย เนท์แชร์
  • “ภาพเหมือนพระเจ้าฟิลลิปที่ 5 แห่งสเปน” โดยรองซ์ (Ranc)
  • “ภาพเหมือนแซมมูเอล เบอร์นาร์ด” นายธนาคารของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14โดยมืยาร์ด .

บันได

[แก้]

บันไดสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สลักเป็นใบไม้เป็นสัญลักษณ์ของกฎหมายเก่า (ภายใต้สตรีที่มีผ้าผูกตากับหนังสือและไม้เท้านักแสวงบุญ) และกฎหมายใหม่ (สตรีไม่มีผ้าผูกตาถือใบปาล์มและถ้วยศักดิ์สิทธิ์)

บันไดนี้น่าสนใจตรงที่เป็นบันไดแรกที่เป็นบันไดตรงแทนที่จะเวียนตามแบบจากอิตาลีเหนือบันไดเป็นเพดานโค้งสัน ส่วนตัดกันตัดฉากตกแต่งด้วยหินปุ่ม ในช่วงระหว่างสันตกแต่งด้วยคน, ผลไม้, และดอกไม้ แต่ถูกทำลายไปบ้างระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส ราวบันไดสองข้างมาพบกันที่ลานบันไดที่เป็นซุ้มโค้ง บนผนังชั้นสองของบันไดตกแต่งรูปในกรอบกลมของสตรีปล่อยผมสลวย จากบันไดไปเป็นทิวทัศน์แม่น้ำแชร์

โถงกาเตอรีน บรีซอเน

[แก้]

ชั้นล่างปูด้วยดินเผาประทับตราเฟลอร์เดอลี[16] (fleur de lis) ไขว้กริช เพดานแบบเปิดคาน

เหนีอประตูเป็นภาพเขียนในกรอบกลมซึ่งนำมาจากอิตาลีโดยพระราชินีแคทเธอริน เด เมดิชิเป็นรูปจักรพรรดิโรมัน: กาลบา, คลอเดียส, เจอร์มันนิคัส, วิเทลเลียส, และ เนโร นอกจากนั้นก็ยังมีพรมทอแบบแขวนผนังเป็นรูปการล่าสัตว์ทอจากรูปที่ร่างโดยแวน เดอร์ มูเล็ง (Antony Francis van der Meulen)

ห้องนอนห้าราชินี

[แก้]
ห้องนอนห้าราชินี
ห้องนอนแคทเธอริน เด เมดิชิ

ห้องนี้ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระธิดาสององค์และพระธิดาสะไภ้สามองค์ของพระราชินีแคทเธอริน เด เมดิชิ:

  • พระราชินีมาร์โกท์ (Marguerite de Valois) พระชายาของพระเจ้าอ็องรีที่ 4
  • พระราชินีเอลิซาเบธแห่งวาลัวร์ (Elisabeth of Valois) พระชายาของพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปน
  • พระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ พระชายาของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 2
  • พระราชินีเอลิซาเบธแห่งออสเตรีย (Elisabeth of Valois) พระชายาของพระเจ้าชาร์ลที่ 9
  • พระราชินีลุยส เดอ ลอเรน-โวเดมง พระชายาของพระเจ้าอ็องรีที่ 3

บนเพดานคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นตราประจำพระองค์ของพระราชินีทั้งห้า เตา��ิงสร้างสมัยเรอเนซองซ์ บนผนังแขวนพรมทอเป็นฉากการยึดเมืองทรอยและการลักตัวเฮเล็นแห่งทรอย, การแสดงการต่อสู้ที่โคลีเซียม, การสวมมงกุฏของพระเจ้าเดวิด และฉากจากชีวิตของแซมซัน เฟอร์นิเจอร์เป็นเตียงสี่เสา โต๊ะแบบกอธิคสองตัวบนโต๊ะมีรูปปั้นหัวผู้หญิงสองหัว และหีบฝังสิ่งตกแต่ง

ภาพเขียน

  • “Worshipping the Wise Men” โดย ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ เป็นภาพร่างของภาพใหญ่ที่พิพิธภัณฑ์ปราโด
  • “ภาพเหมือนดัชเชสแห่งโอลอน” (Portrait of the Duchess of Olonne) โดยมีญาร์ (Mignard)
  • อพอลโลที่บ้านของแอดมีทแห่งอาร์โกโน” (Apollo at the home of Admete the Argonaut) แบบอิตาลี คริสต์ศตวรรษที่ 17

ห้องนอนแคทเธอริน เด เมดิชิ

[แก้]

ห้องนอนนี้ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แกะสลักจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 และพรมทอเฟล็มมิชจากคริสต์ศตวรรษเดียวกันเป็นรูปชีวิตของแซมซัน นอกจากนั้นก็ตกแต่งสัตว์จากตำนานและสุภาษิตเช่นจากเรื่อง “ความชำนาญดีกว่าความฉลาดแกมโกง” เตาผิงและพื้นสร้างสมัยเรอเนซองซ์ ทางขวาของเตียงมีภาพ “สอนเรี่องรัก” (The teaching of Love) โดยอันโทนิโอ ดา คอร์เรจจิโอ วาดบนไม้ซึ่งภาพเดียวกันที่วาดบนผ้าใบอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงลอนดอน

ห้องนอนเซซาร์แห่งวองโดม

[แก้]

ห้องนอนนี้ทำให้ระลึกถึงเซซาร์ เดอ วองโดม[17] (Cesar Vendôme) พระโอรสของพระเจ้าอ็องรีที่ 4 กับกาเบรียล แด็สเทรผู้กลายมาเป็นเจ้าของวังเชอนงโซเมื่อปี ค.ศ. 1624 สิ่งที่น่าสนใจในห้องนี้ก็มี

  • เพดานแบบเปิดคานตกแต่งด้วยบัวคอร์นิชเป็นปืนใหญ่
  • เตาผิงสมัยเรอเนซองซ์ทางตะวันตกจากทาสีเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีตราประจำตัวของทอมัส โบเย แบกด้วยรูปผู้หญิงเทินเสา[18] (caryatids) แกะจากไม้
  • หน้าต่างทางตะวันตกมีกรอบเป็นผู้หญิงเทินเสาแกะจากไม้จากคริสต์ศตวรรษที่ 17
  • บนผนังมีพรมทอบรัสเซลล์จากคริสต์ศตวรรษที่ 17 สามผืนเป็นตำนานของเทพีดีมีเทอร์ (Demeter) และเทพีเพอร์เซ็พโฟนี (Persephone)
  • การเดินทางของดีมีเทอร์ และ เพอร์เซ็พโฟนีไปนรก ให้ผลไม้แก่มวลมนุษย์ และเพอร์เซ็พโฟนีกลับมาใช้ชีวิตบนโลกหกเดือนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนฤดูกาล
  • ขอบพรมทำอย่างงดงามตามแบบพรมบรัสเซลล์ตกแต่งด้วยช่อผลไม้ ดอกไม้ออกมาจาก "กรวยแห่งความอุดมสมบูรณ์" (cornucopia)
  • เตียงสี่เสาและเฟอร์นิเจอร์ในห้องนี้ทำในคริสต์ศตวรรษที่ 16
  • ทางด้านซ้ายของหน้าต่างเป็นภาพเขียน “ภาพเหมือนนักบุญโจเซฟ” โดย บาร์โตโลเม เอสเตบัน มูรีโย

ห้องนอนกาเบรียล แด็สเทร

[แก้]
ห้องนอนลุยส เดอ ลอเรน-โวเดมง
ผนังห้องนอนลุยส เดอ ลอเรน-โวเดมง

ห้องนี้เป็นห้องของกาเบรียล แด็สเทรพระสนมคนโปรดในพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ผู้เป็นพระมารดาของเซซาร์แห่งวองโดมพระโอรสนอกสมรสของพระเจ้าอ็องรี เป็นเพดานแบบเปิดคาน พื้น เตาผิงและเฟอร์นิเจอร์เป็นสมัยเรอเนซองซ์ ใกล้เตียงสี่เสาแขวนพรมทอเฟลมมิชจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผนังอีกสามด้านมีพรมแขวนเช่นกัน ร่างโดยลูคาส แวน เลย์เด็น (Lucas van Leyden) เป็นพรมชุดที่หายากเรียกันว่าชุด “The Lucas months” ซึ่งประกอบด้วย

เหนือตู้เป็นภาพเขียนแบบฟลอเรนซ์จากคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นรูปนักบุญซิซิเลียซึ่งเป็นนักบุญผู้พิทักษ์นักดนตรี เหนือประตูเป็นภาพเขียน “Child to the Lamb” โดยฟรานซิสโก ริบาลตา

โถงชั้นสอง

[แก้]

ห้องนี้มิได้ถูกซ่อมแซมโดยสถาปนิกโรเก(Roguet) ผู้เป็นลูกศิษย์ของเออแฌน วียอเล-เลอ-ดุ๊ก (Eugène Viollet-le-Duc) ในห้องนี้มีพรมทอเนอยี (Neuilly) จากคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำแชร์ซึ่งมีเรือกอนโดลาลอยอยู่ เรือนึ้นำมาจากเวนิสพร้อมกับผู้พายเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมาดามเพลูซ (Madame Pelouze) เจ้าของวังในขณะนั้น โต๊ะและพื้นหินเป็นแบบสมัยเรอเนซองซ์

ห้องนอนของหลุยส์แห่งลอแรน-โวเดมง

[แก้]

หลังจากที่ได้รับข่าวการปลงพระชนม์ของพระเจ้าอ็องรีที่ 3 พระสวามีโดยพระเคลมองท์ (Jacques Clément) เมี่อวันที่ 1 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1589 พระราชินีหลุยส์แห่งลอแรน-โวเดมงก็ทรงย้ายมาดำรงชีวิตอยู่ที่เชอนงโซเพื่อสวดมนต์และวิปัสนา ทรงล้อมรอบด้วยชีจนวังเป็นเหมือนสำนักชี และมักทรงเสื้อขาวซึ่งเป็นสีไว้ทุกข์หลวง จึงเป็นที่รู้จักกันว่า “พระราชินีขาว” ห้องนอนสร้างใหม่แต่เพดานเป็นของเดิม ตกแต่งด้วยสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของการไว้ทุกข์เช่น น้ำตาเงิน, widows' cordons, มงกุฏหนาม, และอักษรกรีก “l” - “lambda” สำหรับ “Louise” ซึ่งเป็นอักษรย่อของพระองค์เองไขว้กับ “H” สำหรับ “Henri III”

ภายในห้องมีภาพเขียนพระเยซูสวมมงกุฏหนามภาพเขียนบนไม้จากคริสต์ศตวรรษที่ 16 อยู่บนเตาผิง เฟอร์นิเจอร์จากคริสต์ศตวรรษเดียวกัน

สวน

[แก้]
สวนพระราชินีแคทเธอริน เด เมดิชิ

วังเชอนงโซล้อมรอบไปด้วยสวน ทางด้านขวาเป็นสวนดียาน เดอ ปัวตีเย ซึ่งทางเข้าเป็นบ้านผู้ดูแล “ลาแชนเซลเลอรี” (La Chancellerie) สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 16 กลางสวนมีน้ำพุซึ่ง (Jacques Androuet du Cerceau) กล่าวถึงในหนังสือชื่อ “สิ่งก่อสร้างที่สวยที่สุดในฝรั่งเศส” (Les plus Excellents Bâtiments de France) ค.ศ. 1576 สวนกันจากน้ำท่วมจากแม่น้ำแชร์โดยเทอเรสซึ่งทำให้เห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำจากวัง

ทางด้านซ้ายเป็นสวนพระราชินีแคทเธอริน เดอ เมดิชิ ซึ่งมีสระกลางสวน จากสวนจะเห็นฟาซาดด้านตะวันตกของวัง

ทางสวนปลูกต้นไม้ตกแต่ง 130,000 ต้นทุกครั้งที่เปลี่ยนสวนจากฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูร้อน นอกจากนั้นก็มีโรงม้า และฟาร์มตัวหม่อนซึ่งนำเข้ามาในฝรั่งเศสโดยแคทเธอริน เดอ เมดิชิ และฟาร์ม และ ปาร์คที่มีเนื้อที่ทั้งหมด 70 เฮ็คตาร์

ถนนใหญ่รายด้วยต้นเพลน ด้านหนึ่งเป็นสวนเขาวงกต[19] ตัดแต่งจากพุ่มต้นยู (yew) สองพันพุ่มตามแบบอิตาลีจากคริสต์ศตวรรษที่ 18

อ้างอิง

[แก้]
  1. Catholic Encyclopedia, Philibert de l'Orme. [1]

ข้อมูลเพิ่มเติม

[แก้]

สมุดภาพ

[แก้]

47°19′30″N 1°04′14″E / 47.3250°N 1.0706°E / 47.3250; 1.0706