ข้ามไปเนื้อหา

วังลดาวัลย์

พิกัด: 13°46′04″N 100°30′24″E / 13.7678037°N 100.5066204°E / 13.7678037; 100.5066204
หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วังลดาวัลย์
วังลดาวัลย์
แผนที่
ชื่ออื่นวังแดง
ที่มาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทวัง
สถาปัตยกรรมRenaissance Revival
ที่ตั้งแขวงดุสิต เขตดุสิต
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2449
ปรับปรุงพ.ศ. 2530
เจ้าของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างก่ออิฐถือปูน
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

วังลดาวัลย์ ตั้งอยู่ติดถนน 3 ด้าน คือ ถนนพิษณุโลก ถนนนครราชสีมา และถนนลูกหลวง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ปี พ.ศ. 2525

ประวัติ

วังลดาวัลย์ในอดีต

สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (ต้นราชสกุลยุคล) เมื่อคราวใกล้จะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ โดยพระราชทานนาม “วังลดาวัลย์” ตามพระนามเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ผู้เป็นพระอัยกาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพรฯ โดยมีพระสถิตย์นิมานการ เจ้ากรมโยธาธิการ เป็นผู้จัดการเรื่องแปลน ซึ่งขณะนั้นกรมโยธาธิการได้จ้างช่างชาวต่างประเทศออกแบบพระที่นั่ง พระตำหนัก ตำแหน่งและอาคารต่าง ๆ ฉะนั้น ตำหนักหลังนี้คงออกแบบโดยนายช่างชาวต่างประเทศ โดยมีนายจี บรูโน เป็นผู้รับเหมาการก่อสร้าง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เจ้าของวังลดาวัลย์นั้นโปรดการดนตรี นาฏศิลป์ และศิลปะการแสดงแทบทุกแขนง ทำให้วังลดาวัลย์เปรียบเสมือนศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่ง แต่เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2475 วังนี้ตกอยู่ในการดูแลของพระชายา คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล ประจวบกับมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ใน พ.ศ. 2475 ทำให้วังลดาวัลย์ถูกทอดทิ้ง

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงพื้นที่วังในอดีต

ต่อมาในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพารัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นเคยเช่าใช้เป็นหอวัฒนธรรมญี่ปุ่น และเคยใช้เป็นที่พำนักของกองกำลังทหารจากสหประชาชาติ ครั้นในช่วงปลายสงคราม พ.ศ. 2488 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ติดต่อขอซื้อวังลดาวัลย์จากพระทายาทเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นของต่างชาติ วังลดาวัลย์จึงอยู่ในความดูแลของ��ำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตั้งแต่นั้นมา

รูปแบบสถาปัตยกรรม

ลักษณะเป็นตำหนักก่ออิฐถือปูน มีความสูง 2 ชั้น ตำหนักชั้นล่างมีเครื่องตกแต่งเป็นแบบฝรั่ง ได้แก่ ประติมากรรมหินอ่อนรูปพระนางมารีและพระบุตร ชานพักบันไดเป็นหน้าต่างติดตาย ตอนบนเป็นช่องแสงโค้งครึ่งวงกลม ตอนล่างติดกระจกสีเป็นลายดอกไม้ ชั้นบนตกแต่งเป็นแบบจีน ได้แก่รูปเขียนที่ชานพักบันได ภายในห้องโถงกลางตั้งชุดรับแขกแบบจีน ห้องพระซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปในตู้ไม้แบบจีน ลงรักปิดทองทั้งตู้ บานตู้เขียนลายเรื่องพระพุทธประวัติที่งดงามมาก มุขด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นหอคอยมีบันไดเวียนขึ้นไปชั้นสาม ซึ่งเป็นหอประดิษฐานพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชตามแบบฉบับของตำหนักที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5

ห้องรับรอง
โถงภายในพระตำหนักใหญ่




อ้างอิง

13°46′04″N 100°30′24″E / 13.7678037°N 100.5066204°E / 13.7678037; 100.5066204

  • "วังลดาวัลย์" ปฐมบทของการอนุรักษ์ โดย ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต www.oknation.net