ข้ามไปเนื้อหา

รัตนสูตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รัตนสูตร เป็นพระสูตรในพระสุตตันตปิฎก หมวดขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ และยังปรากฏในหมวดสุตตนิบาต เป็นพระคาถาจำนวน 17 บท แต่ปรากฏในพากย์ภาษาสันสกฤตจำนวน 19 บท ดังที่มีอยู่ในคัมภีร์มหาวัสตุอวทานของนิกายโลโกตตรวาท และนิกายมหาสังฆิกะ[1] พระสูตรนี้พรรณนาคุณของพระรัตนตรัย และป่าวประกาศความยิ่งใหญ่ และคุณลักษณะของพระอริยะเจ้า มีพระโสดาบัน เป็นอาทิ จุดประสงค์ของการประกาศพระสูตรนี้ก็เพื่อโปรดชาวเมืองเวสาลีให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งหลวงทั้งปวงที่กำลังรุมเร้าเมืองแห่งนี้ และเพื่อยังให้ชาวเมืองทั้งหลายได้มีดวงตาเห็นธรรม

รัตนสูตร หรือรัตนปริตร จัดเป็นหนึ่งในพระปริตร หรือพระคาถาพรรณนาอานุภาพของพระรัตนตรัย โดยได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในพระคาถาหลักของคัมภีร์จตุภาณะวารปาลี หรือตำรารวบรวมพระปริตรที่เป็นที่นิยมสวดสาธยายกันในศรีลังกา รวบรวมขึ้นในช่วงยุคกลางของประวัติศาสตร์พุทธศาสนา หรือในยุคที่พระพุทธศาสนากำลังรุ่งเรืองในลังกา นอกจากนี้ ยังมีอรรถกถาอธิบายพระปริตรนี้ในคัมภีร์ปรมัตถโชติกา อรรกถาขุททกนิกาย[2]

เสาอโศกในเมืองเวสาลี

ที่มา

[แก้]

ครั้งหนึ่งกรุงเวสาลีนั้นเกิดทุพภิกขภัย ฝนแล้งข้าวกล้าตายเกลื่อนกลาด จนชาวเมืองมากมายต้องล้มตาย ต้องนำศพไปทิ้งนอกเมือง ครั้นพวกอมนุษย์ได้กลิ่นคนตายก็พากันเข้าพระนคร รบกวนมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ต่าง ๆ นา ๆ แต่นั้นผู้คนก็ล้มตายเพิ่มมากขึ้น ทั้งเพราะความอดอยาก ทั้งเพราะความปฏิกูลจนเกิดอหิวาตกโรค และทั้งจากอมนุษย์เบียดเบียน ชาวเมืองจึงพากันไปกราบทูลพระราชาว่า แต่ก่อนนี้ นับได้ 7 ชั่วราชสกุล ไม่เคยเกิดภัยเช่นนี้เลย ชะรอยพระองค์ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม ครั้นพระราชาทรงเรียกพระประยุรญาติเจ้าเจ้าลิจฉวีมาประชุมโดยพร้อมกัน เพื่อพิจารณาว่า พระองค์ได้ตั้งอยู่ในความบกพร่องหรือไม่ แต่ไม่ปรากฏว่าพระราชาทรงมิได้กระทบกพร่องแต่อย่างใด จึงมีการถกเถียงกันถึงหนทางที่จะปัดเป่าภยันตรายที่เกิดขึ้น สุดท้าย บรรดาเจ้าลิจฉวีจึงตกลงให้เชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาโปรด[3]

เมื่อเจ้าลิจฉวีจากนครเวสาลีได้เข้าเฝ้าและการาบทูลความเป็นไปแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาว่า เมื่อตรัสรัตนสูตรในกรุงเวสาลี การอารักขาจักแผ่ไปแสนโกฏิจักรวาล จบสูตร สัตว์ 84,000 จักตรัสรู้ธรรม แล้วจึงทรงรับนิมนต์ นับเป็นประโยชน์ถึง 2 ทาง จึงทรงรับนิมนต์ไป ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสาร ผู้ทรงอุปฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบเช่นนั้น ก็โปรดให้รีบแต่งทางเสด็จพระพุทธดำเนินระยะทางจากกรุงราชคฤห์ถึงแม่น้ำคงคา อันเป็นพรมแดนแห่งแคว้นทั้งสองนั้น 5 โยชน์ รับสั่งให้ปราบพื้นถมดิน ทำทางให้เรียบ ให้ปลูกที่ประทับแรมทุกโยชน์ เตรียมให้เสด็จวันละโยชน์ แล้วทูลเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุ 500 รูป มีการส่งเสด็จอย่างเอิกเกริกมโหฬาร [4]

ครั้นเมื่อเสด็จถึงเขตแดนนครเวสาลี ลำดับนั้น พอพระผู้มีพระภาคเจ้ายกพระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็โปรยเม็ดลงมา ซากศพทั้งปวงถูกน้ำพัดส่งลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาดสะอ้าน และเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลี ท้าวสักกะจอมทวยเทพ อันหมู่เทพห้อมล้อมก็เสด็จมาถึง ยังผลให้อมุษย์ทั้งหลายต้องหลบลี้หนีไปจากเมืองเวสาลีเป็นอันมาก[5]

สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เมืองเวสาลี

ลำดับต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนใกล้ประตูพระนครทรงเรียกท่านพระอานนท์มา สั่งว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนรัตนสูตรนี้ ถือเครื่องประกอบพลีกรรม เที่ยวเดินไประหว่างปราการ 3 ชั้นแห่งกรุงเวสาลีกับพวกเจ้าลิจฉวีราชกุมาร ทำพระปริตร แล้วได้ตรัสรัตนสูตร พอพระเถระกล่าวว่า ยงฺกิญฺจิ เท่านั้น พวกอมนุษย์ที่อาศัยกองขยะและที่ฝาเรือนเป็นต้น ซึ่งยังไม่หนีไปในตอนแรก ก็พากันหนีไปทางประตูทั้ง 4 ประตูทั้งหลายก็ไม่มีที่ว่าง อมนุษย์บางพวก เมื่อไม่ได้ที่ว่างที่ประตูทั้งหลาย ก็ทลายกำแพงเมืองหนีไป[6]

พอพวกอมนุษย์พากันไปแล้ว ที่เนื้อตัวของพวกมนุษย์ทั้งหลาย โรคก็สงบไป พวกมนุษย์ทั้งหลายก็พากันออกมาบูชาพระเถระด้วยดอกไม้ของหอมเป็นต้นทุกอย่าง มหาชนเอาของหอมทุกอย่างฉาบทาสัณฐาคารที่ประชุม ท่ามกลางพระนคร ทำเพดานขจิตด้วยรัตนะ ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ปูพุทธอาสน์ลง ณ ที่นั้นแล้วนำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามา[7]

เนื้อหา

[แก้]

เนื้อหาของรัตนสูตรโดยหลัก เป็นการกล่าวถึง คุณแห่งพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ โดยเฉพาะในส่วนของการประกาศคุณของพระสงฆ์นั้น��ีจำนวนคาถามากกว่าเนื้อหาเรื่องอื่นๆ โดยคร่าวๆ แล้ว สามารถแบ่งเนื้อหาของรัตนสูตรออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก เป็นการประกาศให้ เหล่าภูตคุ้มครองรักษาพวกมนุษย์ ที่นำเครื่องพลีกรรมมาบวงสรวงทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน ซึ่งพลีกรรมนี้หมายถึงการทำบุญตามหลักพุทธศาสนานั่นเอง

ส่วนที่ 2 เป็นการบรรยายคุณพระรัตนตรัย ว่าเป็นรัตนะอันประเสริฐสุด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องการคุณของพระสงฆ์ หรือพระอริยะเจ้านั้น มีการบรรยายคุณของท่านอย่างละเอียดว่า เป็นผู้ประกอบด้วยศีลเป็นอันดี มีใจมั่นคง ไม่มีกามกิเลส เป็นผู้ไม่มีความห่วงใย ไม่มีความหวั่นไหวด้วยโลกธรรม และมีพระนิพพานอันเป็นอมตะเป็นที่สุด ด้วยคุณของพระสงฆ์ดังที่พระคาถาพรรณนามานี้ ถือเป็นสัจจะอันยิ่งใหญ่ ยังซึ่งความสวัสดีมีชัยแก่ผู้ประกาศ หรือสาธยายคุณของท่าน

ทั้งนี้ รัตนสูตรยังให้น้ำหนักกับการพรรณนาคุณลักษณะของพระโสดาบันเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการระบุว่า พระโสดาบันจะไม่ถือเอาภพที่แปด คือ เกิดอย่างมากอีกเพียงเจ็ดครั้ง และยังสามารถละสังโยชน์ 3 ประการคือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ทำให้พระอริยะเจ้าชั้นนี้ คือพระโสดาบัน พ้นแล้วจากการตกลงสู่อบายภูมิ และจะไม่อาจทำอภิฐาน 6 คือ อนันตริยกรรม 5 ประการ รวมถึงการเปลี่ยนใจไปนับถือศาสนาอื่น อันมิใช่สัมมาทิฏฐิอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม พระโสดาบันยังอาจทำกรรมชั่วด้วยกาย วาจา หรือใจ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่อาจปิดบังกรรมชั่วที่กระทำไว้นั้น เพราะการที่บุคคลผู้เห็นทางพระนิพพานแล้ว จะปิดบังกรรมชั่วของตนไว้นั้นพระตถาคต กล่าวว่า ไม่อาจปิดบังได้

ส่วนที่ 3 เป็นการประกาศให้ภูตทั้งหลายจงนมัสการพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ และอำนวยพรให้สรรพสัตว์เหล่านี้มีความสวัสดี

ความเชื่อ

[แก้]

โดยเหตุที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระสูตรนี้ เพื่อขจัดปัดเป่าภัยความอดอยาก ภัยจากโรคระบาด และภัยจากอมนุษย์เบียดเบียน ชาวพุทธจึงถือเป็นธรรมเนียมสวดพระสูตรนี้เพื่อขจัดโรคภัยเช่นโรคห่า เป็นต้น [8] นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า การสาธยายรัตนสูตร หรือรัตนปริตรจะทำให้ได้รับความสวัสดี และพ้นจากอุปสรรคอันตรายทั้งหลาย [9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Anandajoti Bhikkhu (ed., trans.) (2004)
  2. Anandajoti Bhikkhu (ed., trans.) (2004)
  3. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ
  4. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ
  5. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ
  6. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ
  7. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ
  8. เสฐียรพงษ์ วรรณปก. (2555).
  9. พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). (2550)

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Anandajoti Bhikkhu (ed., trans.) (2004). Safeguard Recitals. Kandy: Buddhist Publication Society. ISBN 955-24-0255-7.
  • ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ว่าด้วย พรรณารัตนสูตร ใน "อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ" http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=7
  • เสฐียรพงษ์ วรรณปก. (2555). "สวดมนต์ผีไม่หลอก-เทวดารัก" จากคอลัมน์ "รื่นร่ม รมเยศ" หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 25 พ.ย. 2555
  • พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). (2550). บทสวดมนต์พระปริตรธรรม. ลำปาง. วัดท่ามะโอ

ตัวบท

[แก้]
  • รัตนสูตร (บาลี)

http://trisarana.org/hymns/01idrtn.htm เก็บถาวร 2012-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

  • รัตนสูตร ในขุททกปาฐะ (แปล)

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=73&Z=154

  • รัตนสูตร (อรรถกถา)

http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=7

  • รัตนสูตร (สันสกฤต)

http://www.ancient-buddhist-texts.net/Buddhist-Texts/C1-Ratanasutta/Ratanasutta.htm