มาลีรัตน์ แก้วก่า
มาลีรัตน์ แก้วก่า | |
---|---|
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 15 ตุลาคม พ.ศ. 2496 อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร |
คู่สมรส | ธัญญา ชุนชฎาธาร |
มาลีรัตน์ แก้วก่า (เกิด 15 ตุลาคม พ.ศ. 2496) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร และ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสกลนคร
ประวัติ
[แก้]นางมาลีรัตน์ แก้วก่า เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2496 ที่อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีชื่อเล่นว่า "ติ๊ก" สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต (เกษตร) จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นิติศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) จาก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกาศนียบัตรชั้นสูง หลักสูตรการเมืองการปกครองสำหรับผู้บริหารระดับสูง สถาบันพระปกเกล้า ประกาศนียบัตรหลักสูตรกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มาลีรัตน์ สมรสกับนายธัญญา ชุนชฎาธาร อดีตผู้นำนักศึกษา 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ จากเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 มีบุตรชายหนึ่งคนคือ นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาผู้นำทางเศรษฐศาสตร์ การเมือง และสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นพิธีกรรายการรู้ทันประเทศไทย ร่วมกับ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ทาง ASTV ช่อง NEWS1, รายการไทบ้านทันโลก ทาง ASTV ช่อง 4 อีสานดิสคัฟเวอรี่, รายการสองวัยใจตรงกัน ทาง ASTV ช่อง 5 สุวรรณภูมิ และรายการเวทีเสรี ทางไททีวี 2
ชีวิตในวัยเรียน
[แก้]มาลีรัตน์เคยเข้าร่วมขบวนการนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในเขตเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร ต่อมาหลังการออกประกาศ 66/23 ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี พ.ศ. 2523 เมื่อบ้านเมืองคลี่คลายได้กลับเข้าเมือง โดยเป็นอาสาสมัครให้กับพรรคการเมือง
งานการเมือง
[แก้]มาลีรัตน์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในนามพรรคประชาชน ในปี พ.ศ. 2531 แต่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งในช่วงที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจจาก พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี พ.ศ. 2534 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคความหวังใหม่ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 แต่ไม่ได้รับเลือก หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีการเลือกตั้งใหม่ในนามพรรคชาติพัฒนา เนื่องจากพรรคความหวังใหม่ไม่ส่งลงสมัคร เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 แต่ไม่ได้รับเลือกอีกครั้ง
หลังจากนั้น ได้ลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคชาติพัฒนาอีกครั้ง เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 กระทั่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.สกลนคร มีผลงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเด็ก เยาวชน และสตรี โดยเฉพาะการจัดตั้งชมรมผู้นำสตรีท้องถิ่น จังหวัดสกลนคร (ปัจจุบันคือ สมาคมผู้นำสตรีท้องถิ่น สกลนคร)
ต่อมานายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาอีกครั้ง ได้ลงสมัคร ส.ส.อีกครั้งแต่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งต่อมาได้ร่วมก่อตั้ง เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ประสานงานองค์กรสตรีทั่วประเทศ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเผยแพร่ความรู้ตามรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับสิทธิและกลไกในการคุ้มครองสิทธิของตนและชุมชน และได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.สกลนคร เมื่อปี พ.ศ. 2543 และได้รับเลือกตั้ง[1] โดยดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา คนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เช่น คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ฯลฯ
ระหว่างที่ทำหน้าที่ ได้รับรางวัล ผู้หญิงเก่ง สาขานักการเมือง จากสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา เมื่อปี พ.ศ. 2545 และได้รับความไว้วางใจจาก ส.ส. และ ส.ว.หญิง เลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย เมื่อปี พ.ศ. 2546-2548 บทบาทที่สำคัญ คือ การส่งเสริมให้สตรีเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยจัดการฝึกอบรมให้ , การนำร่างพระราชัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำจากความรุนแรงในครอบครัว ออกรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ใน 4 ภูมิภาค, การร่วมมือกับกรรมกาธิการการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร และผู้ทรงคุณวุฒิ ทำการยกร่าง พระราชบัญญัติอนามัยการเจริญพันธุ์ ฯลฯ
ระหว่างดำรงตำแหน่ง ส.ว.เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย[2]
ปัจจุบัน เป็นนายกสมาคมผู้นำสตรีท้องถิ่น สกลนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ และคณะทำงานขบวนผู้หญิงผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง นอกจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังเป็นกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กรรมการมูลนิธิรพีพร เพื่อสวัสดิการนักเขียน และ กรรมการมูลนิธิ สุภาว์ เทวกุล ด้วย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2549 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[3]
- พ.ศ. 2546 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เขตเลือกตั้งจังหวัดสกลนคร (นางมาลีรัตน์ แก้วก่า)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-04-07. สืบค้นเมื่อ 2018-03-12.
- ↑ "เปิดชื่อ 109 กก.บริหาร "พปช.-ชาติไทย-มัชฌิมาฯ" ถูกยุบ-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-18. สืบค้นเมื่อ 2011-06-10.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒๒, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๖๑, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ส่วนตัวของมาลีรัตน์ แก้วก่า เก็บถาวร 2008-10-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บล็อกส่วนตัวของมาลีรัตน์ แก้วก่า ในเว็บไซต์โอเคเนชั่น
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2496
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากอำเภอเมืองสกลนคร
- นักการเมืองสตรีชาวไทย
- นักเคลื่อนไหวชาวไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร
- สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสกลนคร
- พรรคประชาชน (พ.ศ. 2531)
- พรรคความหวังใหม่
- พรรคชาติพัฒนา (พ.ศ. 2535)
- พรรคมัชฌิมาธิปไตย
- พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
- บุคคลจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- บุคคลจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- บุคคลจากสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา
- บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา
- การเมืองภาคประชาชน
- นักการเมืองที่เป็นแนวร่วมกปปส.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.