พระเจ้าชัยวรมันที่ 2
พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระบาทปรเมศวร | |||||
พระมหากษัตริย์พระนคร | |||||
ครองราชย์ | ค.ศ. 802–850 | ||||
ก่อนหน้า | พระเจ้ามหิปติวรมัน (ในฐานะพระมหากษัตริย์เจนละ) | ||||
ถัดไป | พระเจ้าชัยวรมันที่ 3 | ||||
เจ้าชายพระนคร | |||||
ดำรงพระยศ | ราว ค.ศ. 770–802 | ||||
ถัดไป | พระเจ้าชัยวรมันที่ 3 | ||||
พระราชสมภพ | ราว ค.ศ. 770 | ||||
สวรรคต | ค.ศ. 850 (80 พรรษา) อังกอร์, อาณาจักรพระนคร | ||||
คู่อภิเษก | พระนางปาวิตราเทวี (พระนางกัมพุชราลักษมี) | ||||
พระราชบุตร | พระเจ้าชัยวรมันที่ 3 | ||||
| |||||
ราชสกุล | วรมัน (ราชสกุลเกาฑิณญะ-จันทรวงศ์) | ||||
ศาสนา | พราหมณ์-ฮินดู |
พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (เขมร: ជ័យវរ្ម័នទី២; ป. 770–850)[1] (ค. 802–850) เป็นเจ้าชายพระนคร และเป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนครองค์แรก หลังจากรวมอารยธรรมขอมเป็นหนึ่งเดียว อาณาจักรพระนครเป็นอารยธรรมที่โดดเด่นในอินโดจีนตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ถึงกลางศตวรรษที่ 15 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เป็นกษัตริย์พระนครผู้ประกาศอิสรภาพจากชวา โดยพระองค์ได้ทำการสถาปนาเมืองหลวงหลายแห่ง เช่น มเหนทรบรรพต อินทรปุระ และหริหราลัย ก่อนที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 จะเสด็จขึ้นครองราชย์ มีการต่อสู้กันมากในหมู่ผู้ปกครองท้องถิ่นซึ่งปกครองส่วนต่าง ๆ ของอาณาจักร โดยพบจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้พรรณนาพระองค์ว่าเป็นนักรบและกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจสูงสุดในสมัยนั้น[2] นักประวัติศาสตร์เคยลงความเห็นว่ารัชสมัยของพระองค์เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 802 - 835[3]
พระราชประวัติ
[แก้]จารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เมื่อเสด็จกลับจากชวา ในขณะนั้นพระชนมายุได้ 20 พรรษา พระองค์ได้รวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น ต่อมาได้ทรงประกอบพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมกุเลน หรือ มเหนทรบรรพต โดยการประกาศเอกราชจากชวา และสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระจักรพรรดิราช จากนั้นทรงทำสงครามเพื่อรวมเอาดินแดนของอาณาจักรใกล้เคียงรวมเข้ากับ อาณาจักรพระนคร พระองค์ได้ทำสงครามปราบปรามอาณาจักรตะบองขะมุม (อาณาจักรของชาวกูย) ซึ่งมีฐานอำนาจอยู่บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก เมืองอัตตะปือ และบริเวณอีสานใต้ เพื่อสงบศึกพระนางพิณสวรรครามาวตีผู้ปกครองเมืองวิเภทะ (ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ, ประเทศไทย) จึงถวายธิดานามว่าปาวิตรา แด่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เพื่อให้อภิเษกสมรส ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงสถาปนาพระนางปาวิตราเทวี ขึ้นเป็นพระอัครมเหสีพระนามว่า พระนางกัมพุชราชลักษมี[4] และแต่งตั้งพระเชษฐาของพระนางปาวิตราคือ วิษณุวาล เป็น ลักษมินทรา ขุนพลและผู้ดูแลพระคลังส่วนพระองค์ ต่อมาวิษณุวาลกลายเป็นขุนพลผู้ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ในการทำสงครามเพื่อขยายอาณาจักรพระนครออกไปจนกว้างใหญ่ จารึกศิวศักติ[5] กล่าวว่าพระเจ้าชัยวรมันที่2 ทรงโปรดให้สร้างปราสาทพระวิหารเพื่อถวายแด่พระศิวะ และใด้กำหนดพื้นที่หลายแห่งบริเวณพระวิหารและใกล้เคียงเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า "ภวาลัย"
สถาปนาลัทธิเทวราชา
[แก้]พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ผู้วางรากฐานของระบอบกษัตริย์แบบสมมุติเทพ หรือลัทธิบูชาบุคคลที่นิยามว่ากษัตริย์คือเทพเจ้าที่ลงมาจุติเพื่อปกครองและให้ความช่วยเหลือมนุษย์ กษัตริย์ทรงเปรียบเสมือนองค์สมมุติเทพ เป็นอวตารของเทพเจ้าปางต่างๆที่เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ โดยจุดเริ่มต้นของระบอบเทวราชในอาณาจักรขะแมร์เกิดจากการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อส่งผ่านจิตวิญญาณของเทพเจ้าลงในร่างของกษัตริย์มนุษย์พิธีนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 802 บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ "มเหนทรบรรพต" ปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนาม พนมกุเลน เพื่อเฉลิมฉลองความเป็นอิสระของ "อาณาจักรพระนคร" และเพื่อประกาศพระเกียรติยศของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เป็นดั่งเทพเจ้า ในพิธีนี้พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์และสมมุติเทพโดยพราหมณ์ศิวไกวัลย์ จารึกจากปราสาทสด๊กก๊อกธมระบุว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้ให้พราหมณ์ขึ้นไปประกอบพิธีเทวราชเพื่อสถาปนาให้พระองค์เป็นเทวราชาที่เขาพนมกุเลน และพระองค์ทรงประกาศเอกราชจากชวาด้วย[6]
ประกาศเอกราชจากชวา
[แก้]พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงเป็นเจ้าชายจากอาณาจักรเจละทรงไปศึกษาเล่าเรียนบนเกาะชวาในฐานะ “ราชบุตรบุญธรรม” ซึ่งมีความหมายเดียวกับการเป็น “องค์ประกัน” เมื่อเจ้าชายชัยวรมันที่ 2 เสด็จกลับจากชวาทรงรวบรวมอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นในนาม “อาณาจักรพระนคร” (Khmer Empire) ทรงนำคติในลัทธิบูชาบุคคลมาเผยแพร่และทรงเริ่มต้นสร้างศาสนสถานเพื่อบูชาเทพเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จกลับมาครองอาณาจักรเจนละน้ำแล้วพระองค์จึงวางแผนที่จะประกาศอิสรภาพจากชวา เมื่อชวาล่วงรู้ ในปี ค.ศ. 780 กษัตริย์ชวาแห่งราชวงศ์ ไศเลนทร์ (Sailendra) ได้ยกทัพเรื��บุกเข้าปราบปราม พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้หลบหนีไปยังอินทรปุระในปี ค.ศ. 781 ต่อมาในปี ค.ศ. 790 ได้ประกาศสงครามขับไล่ชาวชวาออกจากดินแดนของ "อาณาจักรเจนละน้ำ" ทรงสามารถขับไล่ชวาออกไปได้สำเร็จในปี ศ.ศ. 800 จากนั้นทรงรวมอาณาจักรเจนละบก และอาณาจักรเจนละน้ำเข้าด้วยกันสถาปนาเป็นอาณาจักรพระนคร และย้ายเมืองหลวงไปยังเทือกเขาพนมกูเลน โดยมีเมืองหลวงคือ "มเหนทรบรรพต" ทรงทำพิธีปราบดาภิเษกและประกาศเอกราชจากชวาในปี ค.ศ. 802
สวรรคต
[แก้]พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 สวรรคตเมื่อประมาณ ค.ศ.850 มีพระนามเมื่อสวรรคตแล้วว่า "พระบาทปรเมศวร"
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Jean Boisselier (1956). Trends in Khmer Art Volume 6 of Studies on Southeast Asia. Ithaca, N.Y. : Southeast Asia Program, Cornell University, 1989. p. 118. ISBN 0877277052.
- ↑ Wolters, O. (1973). Jayavarman II's Military Power: The Territorial Foundation of the Angkor Empire. Journal of the Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland, (1), 21. Retrieved July 8, 2020, from www.jstor.org/stable/25203407
- ↑ Charles Higham (2001). The Civilization of Angkor. University of California Press. p. 192-54. ISBN 9780520234420.
- ↑ ปาวิตรา-กัมพุชลักษมี สุดยอดสาวงามดินแดนเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ พ.ศ. 1348.bloggang.com,2555
- ↑ จารึกปราสาทเขาพระวิหาร ศิวศักติ K. ๓๘๒.
- ↑ เจ้าพิธีลัทธิเทวราช อยู่สด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว ชุมทางเครือข่ายอำนาจ.สุจิตต์ วงษ์เทศ,มติชนสุดสัปดาห์,2562
ก่อนหน้า | พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
มหิปติวรมัน | พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (อาณาจักรพระนคร ) (พ.ศ. 1345 - พ.ศ. 1393) |
พระเจ้าชัยวรมันที่ 3 |