พระมเหสีเจิน
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
พระมเหสีเจิน | |
---|---|
พระมเหสี (ฮองกุ้ยเฟย์) | |
ประสูติ | 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2419 |
สิ้นพระชนม์ | 15 สิงหาคม พ.ศ. 2443 (พระชนมายุ 24 พรรษา) |
พระราชสวามี | กวังซวี่ |
ราชวงศ์ | ชิง |
พระราชบิดา | นายจางซู |
พระมเหสีเจิน (จีน: 珍妃; พินอิน: Zhēn Fēi; ประสูติ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2419 — สิ้นพระชนม์ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2443) พระนามที่ทรงได้รับหลังจากการสิ้นพระชนม์แล้วว่า พระมเหสีเค่อชุ่น (恪顺皇贵妃; Kèshùn Huángguìfēi) หรือพระสมัญญานามอย่างไม่เป็นทางการว่า มเหสีไข่มุก (Pearl Consort) เป็นพระมเหสีในพระเจ้ากวังซวี่แห่งราชวงศ์ชิงของประเทศจีน
เดิมทรงเป็นที่รู้จักด้วยพระนาม ทาทาลา (จีน: 他他拉; พินอิน: Tātālā) ทรงเป็นธิดาของนายจางซฺวี่ (Changxu) ชาวแมนจูเผ่าทาทาลา และเป็นพระน้องนางของพระสนมจิ่น (จีน: 瑾妃; พินอิน: Jīnfēi) ซึ่งร่วมสามีเดียวกันคือพระเจ้ากวังซวี่
นางทาทาลาถวายตัวเข้าวังใน พ.ศ. 2431 และเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้ากวังซวี่อย่างยิ่ง ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2432 ก็โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นพระสนม มีนามว่า เจิน
ในระยะเริ่มแรก ซูสีไทเฮาโปรดในทักษะความสามารถของพระมเหสีเจินอย่างยิ่ง ทรงให้ว่าจ้างศิลปินชั้นนำของประเทศมาสอนสนมเจินในด้านศิลปะและการดนตรีด้วย อย่างไรก็ดี สนมเจินได้ชักนำให้พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชหฤทัยที่กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และเป็นพระองค์เองขึ้น นอกจากนี้ ยังทรงผันพระราชหฤทัยพระเจ้าแผ่นดินให้หันไปศึกษาและรับเอามาซึ่งสิ่งที่ดีจากต่างชาติ และยังมีบันทึกว่าพระมเหสีเจินทรงสนพระทัยในการถ่ายภาพและทรงเชื้อเชิญให้ชาวตะวันตกเข้ามายังนครต้องห้ามเพื่อมาสอนพระองค์เกี่ยวกับนวัตกรรมนี้ด้วย การนิยมคบค้าสมาคมกับต่างชาติและพระบุคลิกลักษณะอันประหลาดของสนมเองคือโปรดฉลองพระองค์เป็นบุรุษ ยังให้ซูสีไทเฮาทรงเริ่มจงชังพระมเหสีเจินพระองค์นี้ขึ้นเรื่อย ๆ และเพื่อเป็นการประชดประชัน ซูสีไทเฮาทรงออกพระนามพระมเหสีว่า "ย่าเจิน" (Grandma Zhen)
เมื่อพระมเหสีเจินสนับสนุนให้สมเด็จพระจักรพรรดิก่อรัฐประหารเพื่อชิงอำนาจทางการเมืองจากซูสีไทเฮา ซูสีไทเฮาซึ่งทรงสดับความก่อนก็เสด็จไปบริภาษสนมต่าง ๆ นานา และด้วยข้อหาว่าพระมเหสีทรงก้าวก่ายกิจการบ้านเมืองก็มีพระราชเสาวนีย์ให้ลงโทษเฆี่ยนตีและนำสนมไปจำขังไว้ ณ ตำหนักเย็นนับแต่นั้น
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2443 ในเหตุการณ์ที่กองทหารผสมแปดชาติบุกยึดกรุงปักกิ่งอันเนื่องมาจากการที่ซูสีไทเฮาทรงสนับสนุนกบฏนักมวยให้ทำร้ายชาวต่างชาติ ก่อนกองผสมนานาชาติจะเข้ากรุงได้ ซูสีไทเฮาและบรรดาบุคลากรในพระราชสำนักได้ลี้ภัยไปยังนครซีอาน มณฑลฉ่านซี และก่อนหน้าจะเสด็จลี้ภัย ซูสีไทเฮาได้ทรงเบิกสนมเจินมาเฝ้าและมีรับสั่งว่า[1]
เมื่อแรก เราตั้งใจจะนำเจ้าไปกับเราด้วย แต่เจ้านั้นยังอ่อนวัยและจิ้มลิ้มนัก เกรงว่าจะถูกพวกทหารต่างชาติกระทำทารุณข่มขืนเอาได้ ดังนั้น เราเชื่อว่าเจ้าคงเข้าใจว่าควรทำเช่นไรต่อไป
เมื่อทรงเข้าพระทัยว่าซูสีไทเฮาหมายให้ทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม พระมเหสีเจินก็ทรงร้องขอต่อซูสีไทเฮาให้ทรงอนุญาตให้พระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ในพระนครเพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนและเพื่อเจรจากับต่างชาติ ซูสีไทเฮาทรงสดับแล้วก็ทรงพระพิโรธยิ่งนัก มีพระราชเสาวนีย์ให้บรรดาขันทีเข้ากลุ้มรุมจับพระนางไปทิ้งลงบ่อน้ำนอกตำหนักหนิงเซี่ย (Ningxia Palace) ทางเหนือของนครต้องห้าม พระนางจึงสิ้นพระชนม์ในเวลานั้น
อย่างไรก็ดี นายสเตอร์ลิง ซีเกรฟ (Sterling Seagrave) นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอาจไม่ได้เป็นพระราชเสาวนีย์โดยตรงของซูสีไทเฮาก็ได้ แต่อาจเป็นการริเริ่มหรือนำเสนอของพวกขันที หรือพระมเหสีอาจทรงกระโดดลงบ่อน้ำด้วยพระองค์เองก็ได้
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ "I originally planned to bring you along with us. But you are young and pretty, and are likely be raped by the foreign soldiers on the way. I trust you know what you should do."