ประเวช กุมุท
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ประเวช กุมุท | |
---|---|
เกิด | 10 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ตำบลคานหาม อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
เสียชีวิต | 11 มิถุนายน พ.ศ. 2540 (73 ปี) โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สวนดอก) จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย |
อาชีพ | นักร้อง นักดนตรี ครูสอนขับร้องและดนตรี |
บิดามารดา |
|
รางวัล | ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) |
ประเวช กุมุท เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ที่ ตำบลคานหาม อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ นายวง กุมุท มารดาชื่อชุ่ม กุมุท ปู่และย่า ชื่อกลับและสาย มีพี่ชายร่วมบิดามารดา ชื่อ โกวิท กุมุท บิดาของประเวช มีอาชีพทำนาเป็นงานหลัก และเล่นดนตรีไทยเป็นงานอดิเรก นายวงกับเพื่อนบ้านร่วมกันเล่นดนตรีไทยในงานต่าง ๆ เป็นประจำ ทำให้ประเวชมีความสนใจและรักดนตรีไทยมาตั้งแต่เด็ก เมื่อประเวชอายุประมาณ 3 - 4 ขวบ ผู้เป็นบิดาได้ซื้อกลองจีน (ลักษณะคล้ายกลองของคนจีนที่รับย้อมผ้า) มาให้ประเวชเล่น ประเวชก็แกว่งเล่นทั้งวันโดยมิได้เบื่อหน่าย ต่อมาเมื่ออายุได้ 6 ขวบ บิดาจึงเริ่มหัดให้ตีขิม ตีกลองแขก และหัดขับร้องเพลง หากมีโอกาสก็จะติดตามบิดาไปตามงานดนตรีอยู่เสมอ โดยทำหน้าที่ตีฉิ่งบ้าง ตีกลองบ้าง บิดาได้สอนประเวชให้ขับร้องเพลง 2 ชั้น โดยเพลงแรกที่ร้องได้คือ เพลงเชื้อ 2 ชั้น ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบและเอ็นดูในบรรดาญาติมิตรและเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังมีเพลง เพลงจระเข้หางยาว เพลงเขมรพระปทุม เพลงจีนขิมเล็ก
การศึกษา
[แก้]ประเวช กุมุท เริ่มการศึกษาในระดับประถมศึกษาที่ โรงเรียนวัดคานหาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่เรียนได้ระยะหนึ่งบิดาก็ได้พาไปศึกษาต่อที่ โรงเรียนดำเนินศึกษา ถนนราชดำเนิน จังหวัดพระนคร จนจบชั้นมัธยมศึกษา 1 จึงย้ายไปศึกษาต่อวิชาดนตรีและขับร้องเพลงไทยจนจบชั้นสูงสุดที่ โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ โดยที่โรงเรียนนาฎดุริยางค์แห่งนี้ประเวชสมัครเข้าเรียนวิชาดนตรีไทย สาขาเครื่องสาย ประเวชสามารถสีซออู้ ซอด้วง และตีขิม ดีดจะเข้ได้อย่างถูกต้องตามทำนองเพลงและมีกลเม็ดในการเล่นเครื่องดนตรีดังกล่าวให้เกิดความไพเราะ ทำให้ครูผู้สอนกล่าวยกย่องชมเชย ประเวชเป็นคนที่เล่นดนตรีได้รวดเร็ว เนื่องจากมีความจำดีและมีฝีมือดีมาก่อนที่จะเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนาฏดุริยางค์ นอกจากประเวชจะเรียนวิชาดนตรีไทยประเภทเครื่องสายจนมีความรู้ความสามารถได้ดีแล้ว ยังเรียนปี่พาทย์จนสามารถเล่นเครื่องดนตรีปีพาทย์ได้ทุกชนิด นับได้ว่าประเวชเป็นนักดนตรีไทยที่มีความรู้ความสามารถ ครูของประเวชมีมากมายหลายคน เช่น
- มี พูลเจริญ
- โสภณ ซื่อต่อชาติ
- ปลั่ง วนเขจร
- นางสนิทบรรเลงการ (ละเมียด จิตตเสวี)
- อนันต์ ดูรยะชีวิน
- หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยะชีวิน)
- เหนี่ยว ดุริยพันธุ์
- แช่มช้อย ดุริยพันธุ์ เป็นต้น
ประเวชได้สมัครเข้าศึกษาที่ โรงเรียนเตรียมธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) รุ่นที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2484 และจบการศึกษา พ.ศ. 2486 ในปีนั้นมารดาของประเวชถึงแก่กรรมประกอบกับถูกเกณฑ์ทหาร จึงไม่ได้เรียนต่อในระดับปริญญา เพราะต้องกลับบ้านที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การรับราชการและการทำงาน
[แก้]- พ.ศ. 2486 - 2490 เป็นครูสอนบรรเลงเครื่องสายใน วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร
- พ.ศ. 2490 เป็นศิลปินดนตรี แผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร ทำหน้าที่การบรรเลงและขับร้องในโรงละคร กรมศิลปากร (โรงเก่า) ร่วทบรรเลงและขับร้องออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2500 เป็น��ักร้องและนักดนตรีบันทึกแผ่นเสียงของ กองการสังคีต กรมศิลปากร
- พ.ศ. 2505 - 2522 ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็นครูสอนดนตรี ที่ชุมนุมดนตรีไทย
- พ.ศ. 2507 ลาออกจากกรมศิลปากร ไปทำหน้าที่ ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ฝึกสอน และหัวหน้าวงดนตรีไทยของธนาคารไทยพาณิชย์
- พ.ศ. 2515 เป็นสมาชิก สมัชชาแห่งชาติ เลขที่ 1014
- พ.ศ. 2522 กลับเข้ารับราชการใหม่ เป็นครูและผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย ประจำวิทยาลัยนาฏศิลป จังหวัดเชียงใหม่
- พ.ศ. 2522 ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นครูสอนดนตรีไทย ที่ชุมนุมดนตรีไทย
- พ.ศ. 2525 ลาออกจากวิทยาลัยนาฏศิลป จังหวัดเชียงใหม่ ย้ายมาทำงาน ณ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จนถึงปี พ.ศ. 2529
- พ.ศ. 2529 พักผ่อนอยู่กับบ้าน เป็นครูสอนพิเศษ และเป็นที่ปรึกษาของชมรมดนตรีไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- พ.ศ. 2532 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ประเวช กุมุท เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2535 และได้เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533
- พ.ศ. 2533 - 2542 ได้รับเชิญจาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้เป็นครูสอนดนตรี ที่ชุมนุมดนตรีไทย
ประเวช กุมุท ได้พักผ่อนอยู่กับครอบครัวที่บ้าน จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์ป่วยเป็นโรคทางสมอง แต่ก็มิได้อยู่เฉย ยังคงสอนและให้คำปรึกษาทางด้านดนตรีแก่ลูกศิษย์อยู่ตลอดมา จนเมื่ออาการป่วยหนักขึ้นเรื่อย ๆ ต้องเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สวนดอก) จังหวัดเชียงใหม่ อยู่หลายครั้งแพทย์ได้ตรวจพบว่าประเวชป่วยเป็นโรคมะเร็งในหลอดอาหาร ประเวชได้กลับมาพักรักษาตัวที่บ้านครั้งสุดท้ายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2542 และได้เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อเวลา 06.30 น. ของวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2542 สิริอายุรวม 76 ปี[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ (2543). ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ครูประเวช กุมุท.