นิจิเร็นโชชู
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
นิกายนิจิเร็นโชชู (ญี่ปุ่น: 日蓮正宗) คือหนึ่งในนิกายฝ่ายมหายานของพระพุทธศาสนานิกายนิจิเร็ง โดยยึดตามคำสอนของพระนิจิเร็นไดโชนิง ซึ้งเชื่อในหมู่ผู้นับถือว่าคือพระพุทธเจ้าแท้จริง มีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น การปฏิบัติที่รู้จักกันดีคือการสวดไดโมกุ หรือ ธรรมสารัตถที่ว่านัมเมียวโฮเร็งเงเกียว นิกายนี้จัดเป็นนิกายที่มีคำสอนตรงกันข้ามและหักล้างนิกายอื่นๆอย่างชัดเจน อาทิเช่น นิกายเซ็น นิกายชิงงง นิกายสุขาวดี และวัชรยาน เป็นต้น ซึ่งนิจิเร็งได้เห็นความเบี่ยนเบนทางคำสอนของพระพุทธศาสนา และได้หักล้างความเบี่ยนเบนต่าง ๆ เหล่านั้น สาวกคนสำคัญของพระนิจิเร็นไดโชนิง พระนิกโค โชนิง เป็นผู้ก่อตั้งวัดใหญ่ไทเซกิจิ ปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก มีวัดสาขาและศูนย์กลางเผยแผ่ประจำในประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เกาหลีใ��้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย ศรีลังกา สิงคโปร์ กานา บราซิล อาร์เจนตินา ฮ่องกง มาเลเซีย สเปน และอินเดีย เป็นต้น
คำสอนของนิกายได้รับการดัดแปลงและเผยแพร่โดยองค์กรทางพุทธศาสนาบางองค์กรจนแตกต่างไปในปัจจุบัน ดังนั้นนิกายนิจิเร็นโชชูจึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรเหล่านั้นแต่อย่างใด
นิจิเร็นโชชูได้มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 750 ปีแห่งการก่อตั้งนิกายเมื่อปี ค.ศ. 2002
ประวัติ
[แก้]พระนิจิเร็นไดโชนิงคือผู้สถาปนาคำสอนเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1253 ขณะที่อายุ 32 ปี ณ เมืองคามากูระ 7 ปีต่อมาท่านได้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ริชโชอังโกกูรงหรือการยังสันติสุขสู่บ้านเมืองด้วยการเผยแผ่คำสอนศาสนาพุทธที่แท้จริง เมื่อ ค.ศ. 1260 เพื่อยื่นเสนอต่อรัฐบาลทหารคามากูระซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของผู้สำเร็จราชการลำดับที่ 5 โฮโจ โทกิโยริ ใจความหนังสือเสนอให้รัฐบาลและชาวญี่ปุ่นเลิกนับถือสนับสนุนคำสอนและนิกายอื่น ๆ ของศาสนาพุทธ และให้หันมาปฏิบัติคำสอนแท้จริงสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวคือสัทธรรมปุณฑริกสูตร โดยกล่าวว่าคำสอนต่าง ๆ ที่แพร่หลายในขณะนั้นล้วนแต่นอกรีตบิดเบือนเจตนาที่แท้จริงของพระพุทธ ปฏิเสธพระพุทธ ปะปนคำสอนจนคลุมเครือปราศจากความถูกต้องและไม่เหมาะกับยุคสมัย ท่านเชื่อว่ารากฐานอันมั่นคงที่เกิดจากคำสอนพุทธศาสนาที่แท้จริงจะทำให้ญี่ปุ่นและทั่วโลกสงบสุขและปลอดภัย เนื่องจากญี่ปุ่นในสมัยนั้นประสบปัญหานานัปการ ทั้งภัยธรรมชาติจากแผ่นดินไหวและพายุที่รุนแรง สภาพอากาศผิดธรรมชาติ โรคระบาด ข้าวยากหมากแพง ความระส่ำระสายแย่งชิงอำนาจภายใน และการคุกคามจากจักรวรรดิมองโกล แต่รัฐบาลทหารคามากูระปฏิเสธข้อเรียกร้องของท่านทุกครั้งที่ท่านยื่นหนังสือฉบับนี้ ท่านจึงปลีกตัวจากคามากูระและเริ่มเตรียมรากฐานการเผยแผ่หลักธรรม
เกี่ยวกับนิกาย
[แก้]นิจิเร็นโชชูเป็นนิกายดั้งเดิมของศาสนาพุทธแท้ของพระนิจิเร็นไดโชนิง โดยมีสมาชิกอยู่ทั่วโลก วัดใหญ่ของนิจิเร็นโชชู "วัดไทเซกิจิ" ได้ตั้งอยู่ที่เชิงเขาฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น ชื่อของนิกายนี้คือ นิจิเร็นโชชู แปลว่า "นิกายนิจิเร็งดั้งเดิม" และ ในบางครั้งจะถูกเรียกว่า "นิกายฟูจิ" เพราะที่ตั้งของวัดใหญ่นั้นอยู่ที่เชิงเขาฟูจินั่นเอง นิจิเร็นโชชูมีความเชื่อเรื่อง มรดกแห่งหลักธรรม ซึ่งเป็นการส่งต่อแก่นแท้ของคำสอนศาสนาพุทธของพระนิจิเร็นไดโชนิงให้กับพระสังฆราชนิกโกโชนิง ซึ่งเป็นสาวกคนสำคัญของพระนิจิเร็นไดโชนิง ซึ่งได้ถูกเลือกโดยพระนิจิเร็นไดโชนิงให้เป็นพระสังฆราชที่รับหน้าที่เผยแผ่หลักธรรมของศาสนาพุทธแท้ของพระนิจิเร็นไดโชนิงในสมัยปัจฉิมธรรมหลังการดับขันธ์ของท่าน การส่งต่อมรดกแห่งหลักธรรมนี้ถูกส่งมอบให้กับบุคคลเพียงคนเดียว ตามที่ได้ถูกกล่าวไว้ในงานเขียนของพระนิจิเร็นไดโชนิง เรื่อง "หนึ่งร้อยและหกบทความ"
สิ่งสักการบูชาของนิจิเร็นโชชู คือ ไดโงฮนซง (โกฮนซงที่ยิ่งใหญ่) โกฮนซงทั้งหมดจะถูกคัดลอกโดยสมเด็จพระสังฆราชของนิจิเร็นโชชู โดยทำการคัดลอกจากไดโงฮนซง และสร้างความสัมพันธ์กับไดโงฮนซงด้วยพิธีเปิดเนตรโกฮนซงเหล่านี้ต่อหน้าไดโงฮนซง วัดใหญ่ไทเซกิจินั้นได้มีผู้นับถือนิจิเร็นโชชูจากทั่วโลกเดินทางมานมัสการไดโงฮนซงเป็นจำนวนมากทุกปี นิจิเร็นโชชูมีวัดกว่า 700 วัดในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีวัดในต่างประเทศถึง 22 วัด โดยมี 6 วัดในสหรัฐอเมริกา 9 วัดในไต้หวัน 2 วัดในอินโดนีเซีย รวมไปถึง บราซิล ฝรั่งเศส สเปน สิงคโปร์ และกานา
นิจิเร็นโชชูในปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของประมุขสงฆ์ลำดับที่ 68 พระนิชิเนียว โชนิง ซึ่งได้สืบทอดมรดกแห่งหลักธรรมมาตั้งแต่สมัยของพระนิกโกโชนิง โดยได้ส่งต่อมรดกนี้มาเป็นเวลา 750 ปี
พระสงฆ์นิจิเร็นโชชู ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากพระสงฆ์นิกายอื่น ๆ โดยจะใส่เฉพาะจีวรสีเทาและขาว เท่านั้น ซึ่งเหมือนกับที่พระนิจิเร็นไดโชนิงได้สวมใส่ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่
นิกายนี้ยึดมั่นในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑรีกสูตร (โฮเคเคียว) เป็นหลักโดยถือว่าพระสูตรนี้คือคำสอนที่แท้จริงของพระศากยมุนีพุทธะ พระสูตรอื่น ๆ เป็นเพียงกุศโลบายที่พระองค์ใช้เทศนาสรรพสัตว์เพื่อให้เข้าถึงพระสูตรนี้ในท้ายที่สุด โดยอธิบายว่าพระสูตรอื่น ๆ ในช่วง 42 ปีแรกแห่งการเคลื่อนพระธรรมจักรของพระศากยมุนีคือคำสอนตามใจและสติปัญญาผู้ฟัง ส่วนสัทธรรมปุณฑริกสูตรที่พระองค์เทศนาในช่วง 8 ปีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพคือคำสอนตามใจและสติปัญญาพระพุทธะเอง
เป้าหมายอีกประการคือมุ่งหวังให้ผู้คนในโลกนับถือคำสอนนี้ทั่วกันทุกคนซึ่งเรียกว่าบรรลุ โคเซ็นรูฟุ พระสงฆ์และฆราวาสจึงร่วมกันเผยแผ่ธรรมะโดยถือเป็นวัตรปฏิบัติอย่างหนึ่งเรียกว่าชากูบูกุ และมีการเยี่ยมเยียนบ้านผู้นับถือด้วยกันเพื่อสวดมนต์ร่วมกัน ศึกษาธรรมะร่วมกัน และหรือให้กำลังใจ ให้คำชี้นำในการปฏิบัติแก่ผู้นับถือใหม่
นิจิเร็นโชชูจะมีการรวมตัวกันเพื่อสวดมนต์ ศึกษาธรรมะอย่างน้อยเดือนละครั้งจนถึงสัปดาห์ละครั้ง ณ สมาคมผู้ปฏิบัติ และหรือเข้าฟังเทศนาธรรมะจากพระสงฆ์ในกรณีที่มีศูนย์กลางเผยแผ่ที่มีพระสงฆ์ประจำหรือวัดในพื้นที่นั้น ๆ
พุทธมามกะนิจิเร็นโชชูจะเรียกสังกัดตนเองว่าฮกเกโกะตามที่ปรากฏในไดโงฮนซง
ข้อคติที่แตกต่างจากนิกายอื่น
[แก้]- ปฏิเสธคำสอนและคัมภีร์ของเถรวาท และของมหายานหลาย ๆ นิกาย ยกเว้นพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร
- ถือคติว่าพระศากยมุนีตรัสรู้พระโพธิญาณมานานแล้ว 500 ธุลีกัป ก่อนหน้าพระชาติเจ้าชายสิทธัตถะ
- พุทธภาวะนั้นนิรันดร์ ไม่ดับสูญ
- ปฏิเสธการนิพพานหรือการไม่มาเกิดอีก
- พุทธเกษตรที่แท้จริงคือสหาโลก ไม่มีโลกอื่น
- พระพุทธะองค์อื่น ๆ คือบุคลาธิษฐานของพระศากยมุนี
- พระศากยมุนีพุทธะถ่ายโอนคำสอนทั้งมวลแก่พระโพธิสัตว์จากพื้นโลกที่นำโดยพระวิศิษฐ์จาริตรโพธิสัตต์
- สานุศิษย์ส่วนใหญ่ในนิกายนิจิเร็งสายอื่นๆ เชื่อว่าพระนิจิเร็นไดโชนิงผู้ก่อตั้งเป็นเพียงพระวิศิษฐ์จาริตรโพธิสัตต์มาปรากฏตัวตามคำพยากรณ์ในสัทธรรมปุณฑริกสูตร
- สานุศิษย์นิจิเร็นโชชูเชื่อว่าพระนิจิเร็นไดโชนิงเป็นการอุบัติของพระพุทธะแห่งอนาธิกาลแห่งอดีตที่ยาวนานไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด ด้วยเหตุนี้นิจิเร็นโชชูจึงขานนามท่านว่า ไดโชนิง ที่แปลว่า มหาปราชญ์ ขณะที่นิกายนิจิเร็งสายอื่นขานนามเพียง โชนิง
- สิ่งสักการระบูชาที่แท้จริงและสูงสุดคือ ไดโงฮนซง
- ไม่มีการกราบไหว้เทพเจ้า พระพุทธรูป ภูติผีปิศาจใด ๆ ไม่ว่าจะของญี่ปุ่นหรืออินเดีย
- ไม่มีการนั่งสมาธิวิปัสสนา กรรมฐาน
สิ่งเคารพบูชา
[แก้]นิกายนี้มีสิ่งสักการบูชาเป็นของตนเรียกว่า โกฮนซง หรือ พระบรมปูชนียวัตถุ ซึ่งเป็นดั่งแผนภูมิจำลองธรรมสภาที่ปรากฏในสัทธรรมปุณฑริกสูตร และเป็นดั่งการจำลองพระสูตรให้เป็นกายภาพ จารึกด้วยอักขระจีนโดยมีคำว่านามูเมียวโฮเร็งเงเกียวนิจิเร็ง (นโม สัทธรรมปุณฑริกสูตร นิจิเร็ง) อยู่ตรงกลางในลักษณะแนวตั้งรายล้อมด้วยตัวแทนสภาพภูมิชีวิตต่าง ๆ สี่มุมของโกฮนซงมีชื่อของท้าวจตุโลกบาลปรากฏอยู่ และปรากฏข้อความสิ่งสักการบูชาสูงสุดของโลกนับจากหลังการปรินิพพานของพระพุทธะ
โกฮนซงประดิษฐานโดยการแขวนไว้ในตู้ไม้ (บุตสึดัง) และมีโต๊ะบูชาที่ประกอบด้วยแจกันใบไม้สีเขียว เชิงเทียน กระถางธูปแนวนอน ระฆังทรงบาตรหงาย มีการถวายถ้วยน้ำและถ้วยข้าวที่หุงขึ้นเองเป็นพุทธบูชาทุกวัน บางโอกาสอาจมีการถวายผลไม้หรืออาหารหรือขนมที่ไม่มีกลิ่นฉุนด้วย โกฮนซงตามบ้านเป็นม้วนกระดาษ ที่ประดิษฐานตามวัดจะจารึกสร้างจากแผ่นไม้โดยประดิษฐานบนแท่นสลักดอกบัว การสร้างโกฮนซงเริ่มขึ้นในสมัยพระนิจิเร็นไดโชนิงด้วยตัวท่านเองเพื่อมอบให้สานุศิษย์ โดยโกฮนซงองค์แรกเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์บีฑาธรรมที่ ทัตสึโนกูชิ ขณะที่ท่านถูกเนรเทศไปเกาะซาโดะ ทุกวันนี้ยังมีโกฮนซงเหล่านั้นบางองค์ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
เมื่อผู้นับถือใหม่ผ่านพิธีรับศีล (โกจูไก) ซึ่งประกอบพิธีโดยพระสงฆ์เบื้องหน้าโกฮนซงประจำวัด (โจจูโกฮนซง) จึงจะได้รับมอบโกฮนซงส่วนบุคคลจากทางวัดเพื่อประดิษฐานไว้บูชาในที่พักอาศัย และจะถือเป็นหน้าที่ต้องปกป้องโกฮนซงตลอดไปเสมือนการปกป้องพระพุทธะ ถือประหนึ่งว่าได้นิมนต์พระนิจิเร็นไดโชนิงเข้ามาพำนักในที่พักอาศัยของตน และจะได้รับโกฮนซงเพียงองค์เดียวตลอดชีวิต จะมีการถ่ายโอนให้แก่ลูกหลานที่เป็นนิจิเร็นโชชูเสมือนมรดกทางธรรมะในกรณีเมื่อตนสิ้นชีวิตเท่านั้น หากไม่มีผู้สืบทอดโกฮนซงองค์นั้นจะถูกส่งคืนทางวัดไปเพื่อทำพิธีปิดเนตร แต่เป็นสิ่งที่สะเทือนความรู้สึกชาวนิจิเร็นโชชูเป็นอย่างยิ่ง
โกฮนซงนิจิเร็นโชชูทุกองค์ถือเป็นทรัพย์สินของศาสนจักร โดยถือว่าเป็นการยืมมาสักการะในที่พักอาศัยเท่านั้นและไม่มีการเรียกคืนหรือแลกเปลี่ยนใด ๆ
นิจิเร็นโชชูไม่มีการบูชาเซ่นสรวงพลีกรรมรูปเคารพ พระพุทธรูป เทพเจ้า เทวดาอารักข์ พระภูมิเจ้าที่ต่าง ๆ และเคร่งครัดอย่างยิ่งที่จะไม่ปฏิบัติในศาสนกิจของศาสนาหรือความเชื่ออื่น ๆ อีก
ไดโงฮนซง
[แก้]สิ่งสักการบูชาสูงสุดและเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของนิจิเร็นโชชูคือ ไดโงฮนซง (Daigohonzon-Great gohonzon) หรือพระมหาบรมปูชนียวัตถุ มหามณฑลซึ่งจารึกสร้างขึ้นโดยพระนิจิเร็นไดโชนิง เมื่อ ค.ศ. 1279 ด้วยเหตุปัจจัยจากการประสบบีฑาธรรมร่วมกับสานุศิษย์ที่สละชีวีตของตน ณ ตำบลอัตสึฮาระ โดยถือเป็นโกฮนซงที่จะเปิดสู่สาธารณชนเมื่อการโคเซ็นรูฟุบรรลุผล นิจิเร็นโชชูเชื่อว่าชีวิตจิตใจของพระนิจิเร็นไดโชนิงและพลังพุทธานุภาพไร้ขอบเขตสถีตในไดโงฮนซงองค์นี้ โกฮนซงที่ประดิษฐานตามวัดสาขาหรือตามบ้านของสานุศิษย์ทุกองค์ล้วนมีจุดกำเนิดและรูปแบบจากมหามณฑลนี้ โดยมีพระสังฆนายกเป็นผู้คัดลอกเและประกอบพิธีเบิกเนตรโกฮนซงองค์ใหม่เบื้องหน้าไดโงฮนซงเท่านั้น
ปัจจุบันไดโงฮนซงประดิษฐานอยู่ ณ หอประดิษฐานสถานโฮอันโดะ วัดไทเซกิจิ จังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น วัดนี้จัดอยู่ในทะเบียนสมบัติประจำชาติญี่ปุ่นอีกด้วย ในแต่ละปีจะมีพุทธศาสนิกชนนิจิเร็นโชชูทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ เดินทางมาแสวงบุญ (การโทซัง) ที่วัดไทเซกิจิเพื่อเข้าสักการะไดโงฮนซงเป็นจำนวนมาก (พิธีโกไคฮิ) และเป็นการเจริญรอยตามสานุศิษย์นิจิเร็นโชชูรุ่นแรก ๆ ที่เดินทางเป็นระยะทางไกลเพื่อเยี่ยมเคารพพระนิจิเร็นไดโชนิง
ความสำคัญพิเศษอีกประการหนึ่งคือการกล่าวถึงมหาธรรมเร้นลับ 3 ประการ (ซันไดฮิโฮ) ซึ่งได้แก่
- สิ่งสักการบูชาแห่งคำสอนที่แท้จริง (ฮมมนโนฮนซน) หมายถึงไดโงฮนซง
- คำสวดแห่งคำสอนที่แท้จริง (ฮมมนโนไดโมกุ) หมายถึงนัมเมียวโฮเร็งเงเคียว
- มหาวิหารแห่งคำสอนที่แท้จริง (ฮมมนโนไกดัง) หมายถึงสถานที่ที่ไดโงฮนซงประดิษฐานซึ่งก็คือวัดไทเซกิจิ
ทั้งสามประการขยายมาจากมหาธรรมเร้นลับ 1 ประการซึ่งคือ"ไดโงฮนซงแห่งมหาวิหารที่แท้จริงแห่งคำสอนที่แท้จริง" (ฮมมงไกดังโนไดโงฮนซง) ที่ว่าเร้นลับเพราะนิจิเร็นโชชูเชื่อว่าเป็นส่วนที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกระหว่างบรรทัดของสัทธรรมปุณฑริกสูตร ไม่มีการเปิดเผยตลอดช่วงเวลาก่อนพระนิจิเร็งไดโช
เมื่อความมุ่งหวังให้ทุกตัวคนในโลกปฏิบัติศรัทธาธรรมะนี้ประสบเป็นจริง วัดไทเซกิจิจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดฮมมนจิ (วัดแห่งคำสอนแท้จริง) ตามคำบัญชาของพระนิจิเร็นไดโชนิงก่อนการดับขันธ์
นิจิเร็นโชชูอุปมาความสัมพันธ์ของแหล่งกำเนิดแห่งกุศลผลบุญไว้ว่าไดโงฮนซงเปรียบเสมือนรากของต้นไม้ โกฮนซงตามวัดสาขาเป็นดั่งกิ่งก้าน และโกฮนซงตามบ้านสานุศิษย์คือใบไม้
อนึ่งนิกายนิจิเร็งสายอื่น ๆ ไม่ถือคติว่าไดโงฮนซงคือจุดหมายในการมาเกิดของพระนิจิเร็นไดโชนิงเหมือนนิจิเร็นโชชู และไม่สังกัดต่อวัดไทเซกิจิ บางนิกายสักการะพระพุทธรูป รูปปั้นหรือภาพวาดพระพุทธะองค์อื่นหรือของพระโพธิสัตต์ บางนิกายสักการะเทวรูปหรือยันต์ของชินโต หรือผสมผสานกัน
หลักปฏิบัติ
[แก้]หลักปฏิบัติพื้นฐานของนิกายนี้คือ
- ศรัทธา ปฏิบัติ ศึกษา
ศรัทธา คือการใช้ความศรัทธาที่จริงใจและบริสุทธิ์ใจในพระสัทธรรมปุณฑริกสูตรแทนที่สติปัญญาอันจำกัดของปุถุชน นิจิเร็นโชชูจะเน้นมากในด้านความศรัทธา
ปฏิบัติ คือการนำคำสอนมาใช้ในชีวิต ดำเนินชีวิตถูกต้องตามหลักธรรม หมั่นภาวนาไดโมกุ ขัดเกลาอุปนิสัย และบำเพ็ญเพียรแนะนำธรรมแก่ผู้อื่น
ศึกษา คือการมีหนี่งใจใฝ่หาธรรมะทำความเข้าใจคำสอนให้ถ่องแท้
นิจิเร็นโชชูจะศึกษาคำสอนจากบทธรรมนิพนธ์ของพระนิจิเร็นไดโชนิง (โงโช) ซึ่งก็คือจดหมายหลายร้อยฉบับที่พระนิจิเร็งเขียนถึงสานุศิษย์หรือคำเทศนาปากเปล่าของท่านที่ได้รับการจดบันทึกไว้ โดยมีพระสงฆ์อรรถาธิบายอีกต่อหนึ่ง เมื่อใดที่พระสงฆ์อธิบายข้อธรรมหรือตอบคำถามของผู้นับถือจะต้องหยิบยกข้อความจากบทธรรมนิพนธ์มาเกริ่นนำเสมอ ปัจจุบันบทธรรมนิพนธ์เหล่านี้ทั้งต้นฉบับจริงหรือสำเนาคัดลอกล้วนถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดไทเซกิจิในฐานะสมบัติศักดิ์สิทธิ์ บทธรรมนิพนธ์ที่สำคัญๆตามการจำแนกของนิจิเร็นโชชูอันเปรียบเสมือนเพชรยอดมงกุฎมีอยู่ 10 ฉบับ ได้แก่ 1.ไดโมกุแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร 2.การยังสันติสุขสู่บ้านเมืองด้วยการเผยแผ่ศาสนาพุทธที่แท้จริง 3.เปิดดวงตา 4.วัตถุบูชาที่แท้จริง 5.การเลือกเวลา 6.การตอบแทนหนี้บุญคุณ 7.สาระสำคัญของสัทธรรมปุณฑริกสูตร 8.ความศรัทธา 4 ขั้นและการปฏิบัติ 5 ขั้น 9.ปุจฉาวิสัชนาเกี่ยวกับโกฮนซง และ 10.จดหมายตอบชิโมมายะ
- สวดพระสูตรและไดโมกุ (ธรรมสารัตถ) ที่ว่า นัมเมียวโฮเร็งเงเกียว ("ขอนอบน้อมอุทิศชีวิตแด่พระสัทธรรมปุณฑริกสูตร") ทุกเช้าเย็นต่อโกฮนซงเป็นกิจวัตรอันสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ และต้องถือการปฏิบัตินี้เป็นหนึ่งในชีวิตประจำวัน พิธีการนี้เรียกว่า งงเกียว หรือ การทำวาระเช้าเย็น โดยนิจิเร็นโชชูเชื่อว่าเป็นวิธีปลุกธรรมชาติพุทธะที่อยู่ในตนให้ตื่นขึ้นโดยอาศัย 4 พลังมหัศจรรย์คือ พลังพุทธะ พลังธรรมะในโกฮนซง พลังศรัทธา และ พลังการปฏิบัติ ในผู้ปฏิบัติเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการประสานความจริงกับปัญญา (เคียวชิเมียวโกะ) มีพุทธิปัญญาในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามหลักธรรมะ กำจัดกรรมด้านลบ และชำระอยาตนะทั้ง 6 ให้บริสุทธิ์สะอาดมากยิ่งขึ้น วันละ 2 ครั้งเช้าเย็นโดยแบ่งเป็นเช้า 5 วาระและเย็น 3 วาระ นิจิเร็นโชชูจะทำวาระและสวดไดโมกุเบื้องหน้าโกฮนซงเท่านั้น
-ธรรมสารัตถนี้อธิบายได้ว่า นัมคือ นโม อุทิศชีวิต เมียวคือ มหัศจรรย์ เร้นลับเหนือความเข้าใจคาดคะเน โฮคือ ธรรมะ ความจริง เร็งเงคือ บัวขาวหรือปุณฑริก เคียวคือพระสูตร ฉะนั้นบ่อยครั้งที่คำสอนของพระนิจิเร็นไดโชนิงจะถูกนิจิเร็นโชชูเรียกว่าเมียวโฮ (ธรรมมหัศจรรย์)
-ส่วนพระสูตรนั้น นิจิเร็นโชชูจะสวดพระสูตรเพียง 2 บทใน 28 บทเท่านั้นเพราะเชื่อว่าคือบทที่สำคัญที่สุด สองบทนั้นได้แก่
1.บทโฮเบ็ง (บทกุศโลบาย) บทคัดย่อของบทร��อยแก้วของบทที่ 2 แห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร พระศากยมุนีเปิดเผยว่าคำสอนที่ผ่านมาคือกุศโลบาย ทรงใช้หลากหลายยุทธวิธีในการสั่งสอนสรรพสัตว์ให้หันเข้าสู่พระโพธิญาณ ทรงแสดงธรรมถึงความสอดคล้องของปรากฏการณ์ทั้งปวง
2.บทจูเรียว (บทพระชนมายุกาลของพระตถาคตเจ้า) บทร้อยกรองและร้อยแก้วของบทที่ 16 แห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร พระศากยมุนีเปิดเผยว่าพระองค์บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณมาเนิ่นนานแล้ว และพระชนมายุกาลเป็นนิรันดร์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะพระพุทธะแห่งอดีตอันไกลโพ้น ทรงแสดงธรรมถึงความเป็นไปได้ของสรรพสิ่ง ทุกสภาพชีวิตในการบรรลุพุทธภาวะ บทนี้นิจิเร็นโชชูเชื่อว่าคือใจความหลักของพระสูตร
ขณะทำวาระนิจิเร็นโชชูทั้งพระสงฆ์และฆราวาสจะใช้ลูกปะคำคล้องนิ้วกลางทั้งสองข้างที่พนมมืออยู่โดยบิดสายปะคำให้คล้ายเลข 8 ลูกปะคำใช้แทนความหมายถึงชีวิต นิจิเร็นโชชูบางคนจะพกไว้ติดตัวเสมอแต่ไม่ถือเป็นเครื่องรางของขลังกันภัย
จุดมุ่งหมายของผู้ปฏิบัติคือการขัดเกลาอุปนิสัย บำเพ็ญตนให้ถูกต้องตามหลักธรรม แก้ไขชะตากรรม เป็นอิสระจาก 3 หนทางแห่งกิเลส กรรมและความทุกข์ ได้มีชีวิตดั่งวลีที่ปรากฏในพระสูตรว่า"ชีวิตที่สุขสงบมั่นคงในชาตินี้และสิ่งแวดล้อมที่ดีในชาติหน้า" ท้ายที่สุดคือการบรรลุพุทธภาวะในรูปกายปัจจุบัน (โซกูซินโจบุตสึ) ซึ่งเป็นคำสอนในนิกายนี้ที่ลึกซึ้งที่สุด
หลักคำสอนพื้นฐาน
[แก้]หลักคำสอนมีความคล้ายคลึงกับนิกายเทียนไท้หรือนิกายเท็นได ( นิกายสัทธรรมปุณฑริก ) ของท่านมหาธรรมาจารย์จื้ออี้ (ค.ศ 538-597) พระภิกษุชาวจีน ที่ยึดสัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นพระสูตรหลักเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งคำสอนของพระศากยมุนีเป็น 5 ช่วง ลักษณะคำสอน 4 ประการ หรือคำสอนที่กล่าวถึงเอกภวังคจิตธรรมธาตุ (อิชิเน็นซันเซ็ง-หนึ่งขณะจิตสามพันสภาวะ) ที่ปรากฏในคัมภีร์"มหาสมถวิปัสนา" (มากาชิกัง) ของท่าน แต่นิจิเร็นโชชูถือว่าเทียนไท้เป็นเพียงคำสอนภาคทฤษฎีที่ใช้ทำความเข้าใจพระสูตร แม้กระนั้นนิจิเร็นโชชูก็เคารพท่านจื้ออี้ในฐานะพระพุทธะเช่นกันเนื่องจากท่านได้สนับสนุนส่งเสริมสัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นอย่างมาก ทั้งยังนิพนธ์คัมภีร์และปกรณ์ที่อธิบายความหมายคำสอนและความสูงส่งสำคัญของสัทธรรมปุณฑริกสูตรไว้ ได้แก่ คำและวลีของสัทธรรมปุณฑริกสูตร (ฮกเกมงงุ) ความหมายลึกซึ้งของสัทธรรมปุณฑริกสูตร (ฮกเกเก็นจิ) และมหาสมถวิปัสนา (มากาชิกัง) ทัศนคติที่ต่างกันอีกคือนิจิเร็นโชชูจะแบ่งประเภทโดยมองว่าศาสนาพุทธของพระศากยมุนีเป็นศาสนาพุทธแห่งการสุกงอมและเก็บเกี่ยวผล ในขณะที่ศาสนาพุทธของพระนิจิเร็งคือศาสนาพุทธแห่งการหว่าน (เมล็ดพุทธะ) เนื่องจากปุถุชนในปัจจุบันไม่มีกรรมสัมพันธ์โดยตรงกับพระศากยมุนีมาก่อน
นิจิเร็นโชชูแบ่งพระศาสนกาลออกเป็น 3 ช่วงโดยยึดตามพระสูตรมหายานคือ
- สมัยสุทธิธรรม (โชโฮ) 0ถึง1000ปีหลังพระปรินิพพาน พระธรรมยังบริสุทธิ์ พระสาวกบรรลุธรรมได้ฉับพลันเพราะมีพีชกุศลกับพระศากยมุนี
- สมัยรูปธรรม (โซโฮ) 1001ถึง2000ปีหลังพระปรินิพพาน พระธรรมเน้นที่พิธีกรรม พระสาวกทะยอยดับขันธ์สิ้น
- สมัยปัจฉิมธรรม (มัปโป) 2001ปีหลังพระปรินิพพานจนถึงอนาคตกาล (ยุคปัจจุบันจัดอยู่ในสมัยนี้) พระธรรมสูญหาย คำสอนกุศโลบายสิ้นประสิทธิภาพ เป็นสมัยแห่งความสกปรก มลทิน เป็นเวลาแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร
อนึ่ง เงื่อนเวลาตามความเชื่อในพระสูตรมหายานจะเก่ากว่าปีพุทธศักราชตามคติไทยประมาณ500ปี
นิจิเร็นโชชูปฏิเสธการนิพพานหรือการไม่มาเกิดอีก แต่จะเน้นในเรื่องการรู้แจ้งเห็นจริงของชีวิต โดยมองว่าแท้จริงแล้วการนิพพานคือการบรรลุสภาพภูมิชีวิตพุทธะ และพุทธภาวะนั้นนิรันดร เป็นสากล
นินในมุมมองของนิจิเร็นโชชู พระรัตนตรัยจะประกอบด้วย 1.พระนิจิเร็นไดโชนิงแทนพุทธรัตนะ (บุปโป) 2.ไดโงฮนซงแทนธรรมรัตนะ (โฮโฮ) และ 3.คณะสงฆ์แทนสังฆรัตนะ (โซโบ)
คำสอนอื่น ๆ ที่ลึกซึ้งน่าสนใจมีอาทิเช่น
- กฎแห่งเหตุและผล เหตุและผลเกิดขึ้นพร้อมกัน มิใช่มีเหตุแล้วค่อยเกิดมีผล เหมือนการปลูกมะม่วงในวันนี้ย่อมได้ผลมะม่วงแม้จะยังไม่เห็นการออกดอกผล เพราะความแน่นอนของการออกผลเป็นมะม่วงมิใช่ผลไม้อื่น มีสมบูรณ์พร้อมในเมล็ดมะม่วงที่ใช้ปลูก
- สิ่งแวดล้อมและตัวตนไม่แยกจากกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สะท้อนสภาพชีวิตของคนๆหนึ่ง
- ทุกปรากฏการณ์สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นจรดปลาย
- หนึ่งขณะจิตมีสามพันสภาวะทุกหนึ่งขณะจิตของสรรพสิ่งมีธรรมชาติพุทธะ
- สิบโลกภูมิ สภาพภูมิชีวิตที่จิตมนุษย์วนเวียนในทุกขณะ อันได้แก่
- นรก คือ ภาวะจิตเป็นทุกข์ เดือดร้อน
- เปรต คือ ภาวะจิตกระหายอยากได้ โลภ
- เดรัจฉาน คือ ภาวะจิตเห็นแก่ตัว หลงผิด
- อสุระ คือ ภาวะจิตขุ่นมัว โมโห โกรธ พยาบาท ไม่พอใจ ใช้กำลังห้ำหั่น
- มนุษย์ คือ ภาวะจิตมีเหตุผล รู้หน้าที่ เป็นปรกติ
- เทวะ คือ ภาวะจืตเป็นสุขชั่วขณะ สมหวัง พอใจ
- ศึกษา คือ ภาวะจิตทีมุ่งมั่นศึกษาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
- สมาธิ คือ ภาวะจิตมุ่งมั่นกระทำจนสำเร็จ
- โพธิสัตต์ คือ ภาวะจิตเมตตา ปราณี
- พุทธะ คือ ภาวะจิตเป็นสุข อิ่มเอม มั่นคงถาวรตลอดกาล รู้แจ้งความเป็นจริงแห่งอดีต ปัจจุบัน อนาคต
สิบโลกภูมินี้ยังสามารถซ้อนซึ่งกันและกันด้วยเป็น10x10=100โลกภูมิ เช่น ภาวะจิตที่มารดาเป็นทุกข์เพราะบุตรป่วยไข้เทียบได้กับนรกภูมิซ้อนโพธิสัตต์ภูมิ เป็นต้น คำสอนนี้คือการปฏิเสธนรกใต้ดินและสวรรค์บนชั้นฟ้าภายนอกตัวเรา
- สมบัติ 3 ชนิด คือ สมบัติในคลัง สมบัติในกาย และสมบัติในใจ
- ธรรมบาลเทวะกลับคืนถิ่นที่อยู่ การปฏิเสธคำสอนแท้จริง ยึดถือคำสอนชั่วคราวจึงเป็นเหตุให้ธรรมบาลเทวะผู้มีหน้าที่คุ้มครองสหโลกปราศจากกุศลผลบุญ และกลับคืนถิ่นที่อยู่ คำสอนนี้ใช้อธิบายถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างศาสนาพุทธกับความสงบสุขของบ้านเมือง
- เปลี่ยนพิษเป็นยา เปลี่ยนหนทางชั่วเป็นหนทางแห่งการรู้แจ้ง เหมือนนายแพทย์ผู้ชำนาญสามารถใช้ยาพิษในการรักษาโรคร้าย
- กิเลสคือโพธิญาณ กิเลสเป็นปัจจัยในการใฝ่หาพระโพธิญาณ เพราะมีกิเลสจึงมีพระโพธิญาณ เหมือนเป็นสองแต่ไม่ใช่สอง ชีวิตจะขาดกิเลสมิได้หากแต่ต้องควบคุมมันมิใช่ตัดทิ้งไป พระพุทธะก็มีกิเลสแต่กิเลสไม่มีผลต่อพระพุทธะเปรียบเสมือนตะกอนของน้ำที่นอนก้นอยู่
- การบรรเทาผลกรร��ของคนคนหนึ่ง ด้วยการยึดมั่นในคำสอนแท้จริงจะสามารถบรรเทาผลกรรมให้ได้รับน้อยกว่าไปรอรับในอนาคต
- การบรรลุพุทธภาวะในรูปกายปัจจุบัน การรู้แจ้งเห็นจริงของชีวิตโดยที่ไม่ต้องรอเกิดใหม่หรือเปลี่ยนหน้าตา เพศ รูปร่างไป และยังหมายรวมไปถึงการมีท่าทีที่สงบสุขสามารถสวดไดโมกุได้ในวาระสุดท้าย ลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
เป็นต้น
นิกายและลัทธิที่แตกแขนง
[แก้]คำสอนและคำสวดของนิกายเป็นที่ดลใจให้เกิดลัทธิใหม่ๆในญี่ปุ่น บางลัทธิยืมคำสวดแต่สร้างหรือดัดแปลงคำสอนขึ้นเอง เช่น สมาคมมิตรแห่งจิตวิญญาณหรือไรยูไก (ค.ศ. 1925) ริซโซโกไซไก (ค.ศ. 1938) และสมาคมสร้างคุณค่าหรือโซกางักไกนานาชาติ (SGI) ซึ่งในปัจจุบันลัทธิเหล่านี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับนิกายนิจิเร็นโชชูทั้งสิ้น
นิกายที่แตกแขนงจากนิจิเร็นโชชู
[แก้]- นิจิเร็นชู
- ฮมมมบุตสึริวชู
- เค็มปงฮกเกะ
- ฮกเกชู
- ฮมมงฮกเกะ
- นิจิเร็งฮอนชู
- นิจิเร็นชูฟูจิฟูเซฮะ
- ฮกเกนิจิเร็งชู
- ฮมปานิจิเร็งชู
- ฮงเกนิจิเร็งชู
- ฟูจิฟูเซนิจิเร็งคมมนชู
- โชโบฮกเกชู
- ฮมมงเกียวโอชู
- นิจิเร็งโกมนชู
ลัทธิที่แตกแขนงจากนิจิเร็นโชชู
[แก้]- เคนโชไคอิ - ถูกคว่ำบาตร
- โชชินไคอิ - ถูกคว่ำบาตร
- โซกางักไก หรือ สมาคมสร้างคุณค่า
การขับสมาคมสร้างคุณค่าหรือโซกางักไก (Soka Gakkai)
[แก้](สาขาในประเทศไทยคือสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย) ในปี ค.ศ. 1991 ประมุขสงฆ์ในขณะนั้นพระนิคเค่น โชนิง แห่งพุทธศาสนานิจิเร็นโชชู ได้ประกาศการคว่ำบาตรต่อ ประธานสมาคมโซกางักไก ซึ่งเป็นสมาคมผู้นับถือที่ใหญ่ที่สุด โดยได้ให้เหตุผลว่า การปฏิบัติ คำสอน ของผู้นับถือจากสมคมนี้นั้นถูกเบี่ยนเบนไปโดยผู้นำ หรือประธานสมาคม และประธานสมาคม ยังมีข้อพิพาทกับพระสงฆ์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้นับถืออย่างร้ายแรง อีกทั้งในข้อหาที่ได้มีการประดิษฐ์ "โกฮนซงปลอม" โกฮนซงเป็น สิ่งสักการบูชาของผู้นับถือนิจิเร็นโชชู ซึ่งโดยปกติแล้วโกฮนซงจะต้องถูกคัดลอกโดยประมุขสงฆ์จากวัดใหญ่ไทเซกิจิเท่านั้น และจะต้องมีการทำพิธีเปิดเนตรที่กระทำโดยประมุขสงฆ์ที่วัดใหญ่เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นจะถือเป็น "โกฮนซงปลอม" และในที่สุดในปี ค.ศ. 1997 ผู้นับถือทั้งหมดที่ตัดสินใจยังคงเข้ากับสมาคมโซกางักไก ทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งมีมากกว่า 192 ประเทศเขตแคว้นและเป็นจำนวนมากแทบทั้งหมดของนิกาย ก็ได้ถูกคว่ำบาตรออกจากการเป็นผู้นับถือพุทธศาสนานิจิเร็นโชชูด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ผู้นับถือทั้งหมดไม่สามารถเดินทางไปยังวัดไทเซกิจิ เพื่อนมัสการไดโงฮนซง ซึ่งเป็นสิ่งสักการบูชาสูงสุดได้ นอกเสียจากจะถอนตัวจากสมาคมโซกางักไก และกลับมาเข้ากับนิกายนิจิเร็นโชชู ดังเดิม ซึ่งจะต้องผ่านพิธีสำนึกผิด หรือการล้างบาป โดยพระสงฆ์
นิกายนิจิเร็นโชชูในประเทศไทย
[แก้]- สมาคมธรรมประทีป (ศูนย์ผู้ปฏิบัติธรรมนิจิเร็นโชชูแห่งประเทศไทย) กรุงเทพฯ
- มูลนิธิส่งเสริมการปฏิบัติธรรม นิจิเร็นโชชู ประเทศไทย
- สมาคมผู้ปฏิบัตินิจิเร็นโชชูในประเทศไทย (เมียวเร็น) กรุงเทพฯ
- สมาคม ฮกเขะโคะ นิจิเร็นโชชู ในประเทศไทย
- สมาคมผู้ปฏิบัตินิจิเร็นโชชูภาคเ���นือ
- สมาคมผู้ปฏิบัตินิจิเร็นโชชูอุดรธานี
อ้างอิง
[แก้]- ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น. กทม. สุขภาพใจ. 2545
- สุมาลี มหณรงค์ชัย, พระพุทธศาสนามหายาน, กรุงเทพ, ศยาม, 2550
- สำนักฝ่ายต่างประเทศ นิจิเร็นโชชู, คู่มือการปฏิบัติ, โตเกียว, นิจิเร็นโชชู
ภาษาอังกฤษ
[แก้]- Basic Terminology of Nichiren Shoshu, Vol. 1, Nichiren Shoshu Shumuin, eds. Dainichiren Publishing Co., 2009. ISBN 4904429281, ISBN 978-4904429280
- Nichiren Shoshu Basics of Practice, Nichiren Shoshu Temple, 2003 (revised). No ISBN.
- Nichiren Shoshu Buddhism", Seiganzan Myoshinji Temple, 2007 [available for download and online at http://www.nichirenshoshumyoshinji.org/Introduction/Introduction.htm เก็บถาวร 2009-04-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน]
- The Gosho of Nichiren Daishonin, Vol. 1, Nichiren Shoshu Overseas Bureau, trans. Dainichiren Publishing Co., 2005. ISBN 4904429265, ISBN 978-4904429266
- The Gosho of Nichiren Daishonin, Vol. 2: Rissho Ankoku Ron, Nichiren Shoshu Shumuin, trans. Dainichiren Publishing Co., 2009. ISBN 4904429265, ISBN 978-4904429266
- The Doctrines and Practice of Nichiren Shoshu, Nichiren Shoshu Overseas Bureau, 2002. Also available online in its entirety. เก็บถาวร 2008-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- A Dictionary of Buddhist Terms and Concepts, Nichiren Shoshu International Center (NSIC), Tokyo, 1983. ISBN 4888720142. (Note: Despite its name, NSIC is no longer affiliated with Nichiren Shoshu; however, the dictionary largely reflects Nichiren Shoshu interpretations of terms and concepts.)
ญี่ปุ่น
[แก้]- Nichiren Shōshū yōgi (日蓮正宗要義: "The essential tenets of Nichiren Shoshu"), Taiseki-ji, 1978, rev. ed. 1999
- Nichiren Shōshū nyūmon (日蓮正宗入門: "Introduction to Nichiren Shoshu"), Taiseki-ji, 2002
- Dai-Nichiren (大日蓮), monthly magazine published by Nichiren Shoshu. Fujinomiya, Shizuoka, Japan (numerous issues)
- Dai-Byakuhō (大白法), the Hokkekō organ newspaper. Tokyo (numerous issues)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
[แก้]- http://www.nichirenshoshu.or.th
- http://www.nichirenshoshu.or.jp/page/eng/index_e.htm เก็บถาวร 2008-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (official Nichiren Shoshu web site)
- http://www.nst.org// เก็บถาวร 2010-07-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Nichiren Shoshu temple organization in the US
- http://www.nst.org/articles/100Q&ABook.pdf A PDF book describing Nichiren Shoshu's doctrinal reasons for its excommunication of the Soka Gakkai for deviating from the true teachings of Nichiren Daishonin and Nichiren Shoshu.
- http://www.dhammapratheep.org เก็บถาวร 2018-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ภาษาไทย
[แก้]- นิจิเร็นโชชู ประเทศไทย เก็บถาวร 2013-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เฟซบุ๊คของสมาคมธรรมประทีป
เว็บไซต์ไม่เป็นทางการ
[แก้]