ธงชาติปากีสถาน
ชื่ออื่น ๆ | Sabz Hilali Parcham (ธงเขียวมีเดือนเสี้ยว), Parcham-e-Sitāra-o-Hilāl (ธงเดือนเสี้ยวและดาว) |
---|---|
การใช้ | ธงราชการ และ ธงกองทัพ |
สัดส่วนธง | 2:3 |
ประกาศใช้ | 11 สิงหาคม พ.ศ. 2490 (77 ปี) |
ลักษณะ | ธงรูปดาวและจันทร์เสี้ยวสีขาวบนพื้นสีเขียว ที่ด้านคันธงมีแถบสีขาว |
ออกแบบโดย | ไซเอ็ด อาเมียร์ อุดดิน เก็ดวาอี |
การใช้ | ธงเรือพลเรือน |
สัดส่วนธง | 2:3 |
ลักษณะ | ธงพื้นแดง มีรูปธงชาติที่มุมธงด้านคันธง |
การใช้ | ธงนาวี |
สัดส่วนธง | 1:2 |
ลักษณะ | ลักษณะอย่างธงชาติ แต่ขยายขนาดให้ยาวขึ้น |
ธงชาติปากีสถาน มีลักษณะเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ภายในแบ่งเป็น 2 ส่วนตามแนวตั้ง ตอนต้นพื้นสีขาว กว้างเป็น 1 ใน 4 ส่วนของความยาวธง ส่วนที่เหลือเป็นพื้นสีเขียว ภายในมีรูปพระจันทร์เสี้ยวและดาวห้าแฉกสีขาว ธงนี้ออกแบบโดย ไซเอ็ด อาเมียร์ อุดดิน เก็ดวาอี (Syed Amir uddin Kedwaii) โดยอาศัยต้นแบบจากธงสันนิบาตมุสลิม (Muslim League) สภาแห่งชาติปากีสถานได้ประกาศให้ใช้ธงนี้เป็นธงชาติ[1] เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2490 ก่อนหน้าการประกาศเอกราชจากบริติชราชในวันถัดมา[2][3][4] ในเพลงชาติปากีสถาน ได้กล่าวถึงธงชาติไว้ในชื่อ "ธงเดือนเสี้ยวและดาว" (ภาษาอูรดู: Parcham-e-Sitāra-o-Hilāl)
พื้นสีเขียวในธงชาติ หมายถึงศาสนาอิสลาม อันเป็นศาสนาของชนส่วนใหญ่ในประเทศ แถบสีขาวที่ต้นธง หมายถึงศาสนาอื่น ๆ ของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในปากีสถาน[5] รูปพระจันทร์เสี้ยวที่กลางธงหมายถึงความก้าวหน้า ส่วนดาวห้าแฉกสีขาวคือแสงสว่างและความรู้[5] ความหมายของธงโดยรวมจึงหมายถึงศาสนาอิสลาม โลกอิสลาม และสิทธิของชนกลุ่มน้อยผู้นับถือศาสนาอื่น[6] ธงชาติปากีสถานจะใช้ประดับในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ของแต่ละปี เช่น วันสาธารณรัฐ (23 มีนาคม) และวันเอกราช (14 สิงหาคม) เป็นต้น
เดิมธงชาติปากีสถานออกแบบโดย มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้ก่อตั้งประเทศปากีสถาน ลักษณะเป็นธงพื้นสีเขียว กลางธงมีรูปจันทร์เสี้ยวและดาวสีขาว ใช้ในสันนิบาตมุสลิมทั่วอินเดีย (All-India Muslim League) ในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของเป้าหมายในการตั้งรัฐเอกราชของชาวมุสลิม แถบสีขาวได้ถูกเพิ่มเข้ามาในภายหลังเมื่อปากีสถานประกาศเอกราชในปี พ.ศ. 2490 เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ
แบบธง
[แก้]รายละเอียดของแบบธงชาติปากีสถานที่ถูกต้อง ซึ่งได้รับการรับรองจากสภาแห่งชาติปากีสถาน มีดังนี้[1]
- "(ธงชาติปากีสถานเป็น) ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นสีเขียวเข้ม ยาว 3 ส่วน กว้าง 2 ส่วน มีแถบแนวตั้งสีขาวประดับไว้ที่ด้านคันธง ในพื้นสีเขียวมีรูปจันทร์เสี้ยวและดาวห้าแฉกสีขาวอยู่ตรงกลาง ความกว้างของแถบสีขาวเป็น 1 ใน 4 ส่วนของ (ความยาว) ธง และอยู่ติดกับคันธง ส่วนที่เหลือ 3 ใน 4 ส่วนเป็นพื้นสีเขียวเข้ม สำหรับสัดส่วนของรูปจันทร์เสี้ยวและดาวมีดังนี้:
- ให้วาดเส้นทแยงมุมจากมุมบนขวาของรูปสีเหลี่ยมสีเขียวมายังมุมล่างซ้ายของรูปนั้น จากนั้นกำหนดจุด 'A' และจุด 'B' ลงบนเส้นดังกล่าว จุด 'A' มีระยะห่างจากมุมขวาบนและมุมซ้ายล่างของพื้นสีเขียวเท่ากัน ซึ่งก็คือตรงจุดกึ่งกลางรูปดังกล่าวพอดี ส่วนจุด 'B' ให้มีระยะห่างจากมุมขวาบนของรูปสี่เหลี่ยมสีเขียวเป็น 13/20 ส่วนของความกว้างธง วาดวงกลมจากจุด 'A' และจุด 'B' โดยรัศมีวงกลมแต่ละวงนั้นยาว 1.1/4 ส่วนของความกว้างธง การวาดรูปดังกล่าวจะเป็นการสร้างรูปจันทร์เสี้ยวขึ้น สัดส่วนของรูปดาวห้าแฉกนั้น กำหนดขึ้นโดยการวาดวงกลมความกว้าง 1/10 ส่วนของความกว้างธง รูปดังกล่าวจะล้อมรูปดาวห้าแฉกนี้ไว้ ตำแหน่งรูปดาวนั้นให้ปลายด้านหนึ่งหันไปตามแนวเส้นทแยงมุมที่ตำแหน่งของโค้งใหญ่ของรูปจันทร์เสี้ยว เมื่อเสร็จแล้วให้ลบเส้นทแยงมุมออก"
อนึ่ง กระทรวงมหาดไทยของปากีสถานยังได้กำหนดขนาดธงสำหรับใช้ในกรณีต่างๆ ไว้ดังนี้
- สำหรับใช้ในพิธีการ ใช้ธงขนาด 21" x 14", 18" x 12", 10' x 6 2/3" หรือ 9" x 6 1/4"
- สำหรับใช้ประดับอาคาร ใช้ธงขนาด 6" x 4" หรือ 3" x 2"
- สำหรับใช้ในรถยนต์ ใช้ธงขนาด 12" x 8"
- สำหรับใช้ตั้งโต๊ะ ใช้ธงขนาด 10 1/4" x 8 1/4"
การชักธงชาติในโอกาสสำคัญ
[แก้]วันที่ | การชักธง | เหตุผล[7] |
---|---|---|
23 มีนาคม | เต็มเสา (ไม่ลดธง) | วันประกาศรั���รองข้อตกลงเมืองลาฮอร์ (พ.ศ. 2483) และวันก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลาม (พ.ศ. 2499) |
21 เมษายน | ครึ่งเสา | วันคล้ายวันเสียชีวิตของมูฮัมหมัด อิกบาล (Muhammad Iqbal) กวีแห่งชาติปากีสถาน (พ.ศ. 2481) |
14 สิงหาคม | เต็มเสา | วันเอกราช (พ.ศ. 2490) |
11 กันยายน | ครึ่งเสา | วันคล้ายวันเสียชีวิตของมูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ (Muhammad Ali Jinnah) บิดาแห่งประเทศปากีสถาน (พ.ศ. 2491) |
16 ตุลาคม | ครึ่งเสา | วันคล้ายวันเสียชีวิตของลิอาควัต อาลี ข่าน (Liaquat Ali Khan) นายกรัฐมนตรคนแรกของประเทศ (พ.ศ. 2494) |
25 ธันวาคม | เต็มเสา | วันคล้ายวันเกิดของมูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ (พ.ศ. 2419) |
กรณีอื่นนอกเหนือจากนี้รัฐบาลจะกำหนดเป็นคราว ๆ ไป |
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Pakistan Flag specification: Resolution Passed by Constituent Assembly". Pakistani.org. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
- ↑ "Parliamentary History". National Assembly of Pakistan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-24. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
- ↑ "Parliamentary History of Pakistan" (PDF). Parliamentary Division, Government of Pakistan. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
- ↑ "Legislative Assembly of Sind under the Pakistan (Provincial Constitution) Order, 1947". Provincial Assembly of Sindh. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-15. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
- ↑ 5.0 5.1 "Pakistan flag". Ministry of Information and Broadcasting, Government of Pakistan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-05. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
- ↑ "Basic Facts". Ministry of Information and Broadcasting, Government of Pakistan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-27. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
- ↑ "Pakistan Flag". Ministry of the Interior, Government of Pakistan. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "Pakistan Flag". Ministry of the Interior, Government of Pakistan. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
- ธงชาติปากีสถาน ที่ Flags of the World (อังกฤษ)