ข้ามไปเนื้อหา

ซียูไรเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซียูไรเตอร์
ผู้ออกแบบนายสำนวน หิรัญวงษ์
นักพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่เปิดตัวเมษายน พ.ศ. 2532
รุ่นเสถียร
ภาษาที่เขียนภาษาซี และ ภาษาแอสเซมบลี
ระบบปฏิบัติการเอ็มเอสดอส
แพลตฟอร์มIBM PC compatible
ขนาดรวม 1.17 เมกะไบต์
ภาษาภาษาไทย/ภาษาอังกฤษ
ประเภทโปรแกรมประมวลคำ
สัญญาอนุญาตสาธารณสมบัติ

ซียูไรเตอร์ (อังกฤษ: CU Writer) หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า จุฬาเวิร์ด, เวิร์ดจุฬา หรือ CW เป็นโปรแกรมประมวลคำภาษาไทย ทำงานบนระบบปฏิบัติการเอ็มเอสดอส สร้างขึ้นโดยความร่วมมือจาก สถาบันบริการคอมพิวเตอร์ กับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยนายสำนวน หิรัญวงษ์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2532 พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2536 จึงยุติการพัฒนา รุ่นล่าสุดอยู่ที่รุ่น 1.6

ประวัติ

[แก้]

ซียูไรเตอร์ พัฒนาขึ้นโดยสถาบันบริการคอมพิวเตอร์ ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2530[1] โดยโครงการนี้คาดหวังว่าจะใช้เป็นโปรแกรมสำหรับสร้าง และแก้ไขข้อความสำหรับโปรแกรมจัดการไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์[1] และออกรุ่นทดลองแจกจ่ายให้กับผู้ที่สนใจทดลองใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532[1][2] โดยตัวโปรแกรมมีลักษณะการแสดงผลแบบกราฟิก ใช้งานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM PC compatible ที่มีการ์ดแสดงผลแบบ Hercules แต่เนื่องจากขณะนั้นเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่เป็นแบบ IBM PC หรือ IBM PC XT จึงทำให้ทำงานได้ช้ากว่าคนป้อนข้อมูล

ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2532 ได้เผยแพร่รุ่น 1.1 อย่างเป็นทางการ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยประกาศให้เป็นโปรแกรมสาธารณะ และให้บุคคลทั่วไปคัดลอกสำเนาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ[1][2]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2532 ได้ออกเผยแพร่รุ่น 1.2 โดยพัฒนาขึ้นให้สามารถใช้งานกับการ์ดแสดงผลแบบ VGA และ EGA ได้[1][2]

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ได้พัฒนารุ่น 1.2 ให้สามารถใช้กับจอแสดงผลชนิด EDA ของกระทรวงการต่างประเทศที่ใช้อยู่ในเวลานั้นได้ รุ่นนี้ไม่มีเพลงตอนเริ่มโปรแกรม และสามารถใช้กับเครื่องพิมพ์แบบจุด 24 หัวเข็มได้[1][2]

การพัฒนาต่อมาแบ่งเป็น 2 สายคือ รุ่น 1.21 ออกเผยแพร่ประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 โดยรุ่นนี้สามารถบังคับเลือกใช้จอแสดงผลที่ต้องการได้ และสามารถเลือกได้ว่าจะมีเพลงหรือไม่ อีกสายหนึ่งคือ รุ่น 1.3 รุ่นนี้สามารถใช้งานกับการ์ดแสดงผลชนิด MCGA และ ATT400 (การ์ดแสดงผลของ AT&T 6300, Xerox 6060 หรือ Olivetti M24) ได้[2][3]

จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ได้นำรุ่น 1.21 และ 1.3 มารวมกัน และปรับปรุงโครงสร้างของโปรแกรมให้พัฒนาได้ง่ายขึ้น เป็นรุ่น 1.4 รุ่นทดลอง[2][3]

รุ่น 1.41 ทดลอง ได้พัฒนาให้สามารถปรับระยะระหว่างบรรทัดขณะพิมพ์ ให้เหมาะกับจำนวนบรรทัดต่อหน้าได้[3]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2533 ออกเผยแพร่ รุ่น 1.41 โดยแก้ไขข้อบกพร่องในการพิมพ์กับเครื่องพิมพ์ LQ, FX, LX ข้อบกพร่องในการพิมพ์ตาราง และรายละเอียดอื่นๆเล็กน้อย[2][4]

ต่อมาในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ในงานจุฬาวิชาการ '33 ออกเผยแพร่รุ่น 1.5 รุ่นทดลอง เรียกว่ารุ่น "NOVEMBER" ซึ่งพัฒนาให้สามารถแยกพื้นที่การแก้ไขเอกสาร (ทำงานแบบหน้าต่างหรือช่องแฟ้ม) ได้มากสุดถึง 8 พื้นที่ เพิ่มความสามารถในการคัดลอกส่วนของเอกสารแบบคอลัมน์ และสามารถบันทึกตัวเลือกรวมกับไฟล์เอกสารได้ แต่ยังมีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการพิมพ์บางจุดอยู่[4][3][5]

ต่อมาในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2533 ได้ออกเผยแพร่รุ่น 1.5 เรียกว่ารุ่น "DECEMBER" ซึ่งเป็นรุ่นแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ของรุ่น 1.5 รุ่นทดลอง "NOVEMBER"[4][3]

ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2534 ได้ออกเผยแพร่รุ่น 1.43 รุ่นทดลอง เป็นรุ่นที่ได้พัฒนาต่อจากรุ่น 1.41 โดยพัฒนาให้สามารถแสดงผลภาษาบาลี และภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาสเปน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมันได้[6][4][3]

รุ่น 1.51 เป็นรุ่นแก้ไขข้อผิดพลาดที่ยังมีอยู่ของรุ่น 1.5 ใช้ภายในไม่ได้นำออกเผยแพร่[4][3]

ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2534 ออกเผยแพร่รุ่น 1.52 ในงานคอมพิวเตอร์ไทย '91 เป็นรุ่นปรับปรุงจากรุ่น 1.51 เพื่อให้เลือกการใช้งานช่องแฟ้มเดียว หรือหลายช่องแฟ้มได้ และเพิ่มสีให้กับโปรแกรม เรียกว่ารุ่น "JUN 10"[4][3]

ต่อมาไม่นานในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ได้นำรุ่น 1.52 ซึ่งเป็นรุ่นที่ปรับปรุงจากรุ่น "JUN 10" ออกเผยแพร่ในงานอิเล็คโทรนิคส์ไทย '91 เรียกว่ารุ่น "JUN 26" โดยปรับปรุงแก้ไขปัญหาเครื่องคอมพิวเตอร์หยุดชงัก (hang) เป็นบางครั้งเมื่อใช้กับจอ VGA โมโนโครม และแก้ไข CUPRINT ให้พ��มพ์จดหมายเวียนได้ถูกต้อง[3]

ในปี พ.ศ. 2536 ออกเผยแพร่รุ่น 1.6 ซึ่งพัฒนาต่อจากรุ่น 1.52 โดยเพิ่มความสามารถในการแยกพยางค์ (ตัดคำไทย) โดยใช้พจนานุกรม สามารถเลือกให้ตัวโปรแกรมไม่ทำการตรวจหลักภาษาไทยได้ รองรับการใช้งานแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ เปลี่ยนภาษาของเมนูระหว่างภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้ เพิ่มแบบอักษรให้เลือกใช้ได้ 4 แบบ และสามารถพิมพ์สมการทางคณิตศาสตร์ได้[3]

นอกจากนี้ยังมีรุ่นอื่นๆ อีก เช่น ซียูไรเตอร์ฉบับภาษาลาว[7], ซียูไรเตอร์ซึ่งดัดแปลงสำหรับใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ NEC PC-9801 โดยนายวิวัฒน์ วงศ์วราวิภัทร์ และ CW สุขุม ที่ดัดแปลงจากรุ่น 1.52 เพื่อเพิ่มการทำงานสำหรับอักษรเบรลล์ เป็นต้น

ต่อมามีการพัฒนาโปรแกรมซียูไรเตอร์สำหรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (CU-Writer for Windows) ชื่อมีชื่อว่า "จุฬาจารึก"

องค์ประกอบ

[แก้]

องค์ประกอบของซียูไรเตอร์ ประกอบด้วย 3 หน่วยหน้าที่หลักดังนี้

  1. CW.EXE เป็นหน่วยทำหน้าที่หลักของโปรแกรมประมวลคำ
  2. CUPRINT.EXE เป็นหน่วยทำหน้าที่สนับสนุนด้านการพิมพ์เอกสารทางเครื่องพิมพ์
  3. CUFONT.EXE เป็นหน่วยทำหน้าที่สนับสนุนด้านการออกแบบตัวอักษร

นอกจากนี้ ในชุดโปรแกรมยังมี LASERP.EXE, LASER-PRINT รุ่น 1.0 รุ่นทดสอบ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ที่ใช้สำหรับเครื่องพิมพ์เอชพี เลเซอร์เจ็ทหรือเครื่องพิมพ์เลเซอร์รุ่นเทียบเท่าได้[8] และ CUPRINT.EXE, CUPRINT รุ่น 1.41 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งสามารถพิมพ์ข้อความขนาด 10 และ 12 ตัวอักษรต่อนิ้ว และใช้กับเครื่องพิมพ์เอชพี เลเซอร์เจ็ท[9]และเครื่องพิมพ์แคนนอน บีเจ-10ได้[10]

โปรแกรมนี้ทำงานบนเอ็มเอสดอสเป็นพื้นฐาน สามารถทำงานได้ในโปรแกรมจำลองเช่น DOSBox และเครื่องเสมือน (VM) ที่ติดตั้งเอ็มเอสดอส

คุณลักษณะเด่น

[แก้]
  • เมื่อรันโปรแกรม โปรแกรมจะแสดงหน้าต่างรุ่น และเล่นเมโลดี้เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ จนกว่าผู้ใช้จะกดปุ่มใด ๆ จึงเข้าสู่พื้นที่ทำงาน
  • เปลี่ยนภาษาแป้นพิมพ์ด้วยปุ่ม F10 เข้าสู่เมนูแบบดรอปดาวน์ด้วยปุ่ม ESC
  • ในเอกสารสามารถเลือกชุดฟอนต์ได้หลายชุดพร้อมกันจากทั้งหมดสี่ชุด แต่ละชุดมีสองแบบได้แก่ ตัวตรง และตัวเอน (ส่วนตัวหนาและขีดเส้นใต้จะกระทำขณะรัน) โดยเฉพาะชุดที่สี่ เป็นชุดสำหรับพิมพ์ภาษาต่างประเทศเช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส ลักษณะเหมือนกับชุดที่หนึ่งแต่ต่างกันที่สัญลักษณ์ สามารถแก้ไขฟอนต์ได้ด้วยโปรแกรม CUFONT.EXE
  • การเข้ารหัสภาษาในเอกสาร สามารถเลือกเป็นแบบ สมอ. (เทียบเท่า ISO-8859-11) หรือแบบเกษตรได้ แบบเกษตรจะต่างจาก สมอ. ตรงที่ไม่มี ฃ กับ ฅ
  • สามารถกำหนดตำแหน่งเอกสาร (bookmark) เพื่อกระโดดไปยังตำแหน่งนั้นทันที สามารถบันทึกได้คราวละ 10 ตำแหน่ง
  • สามารถคัดลอกข้อมูลในเอกสารเป็นบล็อกสี่เหลี่ยม เพื่อนำไปวางที่อื่นได้ และคัดลอกข้อมูลข้ามหน้าต่างได้ หาผลรวมข้อมูลในบล็อก สามารถใส่เครื่องหมายจุลภาคแสดงหลักพันได้อัตโนมัติ และสามารถวาดตารางได้โดยใช้วิธีตีเส้นรอบบล็อกที่เลือก
  • สามารถสร้างสูตรคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเช่น ตัวยก ตัวห้อย วงเล็บใหญ่ ขีดคร่อม เศษส่วน อินทิเกรต ลิมิต รากที่สอง ค่าสัมบูรณ์ ผลรวม ผลคูณ เรียกใช้โดยพิมพ์ ".M" ที่คอลัมน์แรกตามด้วยคำสั่งต่าง ๆ
  • สามารถเลือกหรือไม่เลือกทำการตรวจหลักภาษาไทยได้ (ถ้าไม่เลือกก็จะสามารถพิมพ์วรรณยุกต์ลงบนอักษรอังกฤษได้เป็นอาทิ) สามารถเลือกใช้แป้นพิมพ์เกษมณีหรือปัตตะโชติ เปลี่ยนภาษาของเมนูระหว่างภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้
  • สามารถแก้ไขเอกสารได้ 8 ไฟล์พร้อมกัน
  • สร้างไฟล์สำรองนามสกุล .bak โดยอัตโนมัติเมื่อทำการบันทึก
  • ไม่มีนามสกุลไฟล์ที่เป็นเอกสารซียูไรเตอร์โดยเฉพาะ สามารถตั้งอะไรก็ได้ในรูปแบบชื่อไฟล์ 8.3

อ้างอิง

[แก้]
  • เดือน สินธุพันธ์ประทุม, สำนวน หิรัญวงษ์. CU Writer : ศึกษาด้วยตนเอง เวอร์ชัน 1.52 และ 1.6. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536.
  • ส.อ.บุญเรือน คงเขียว. คู่มือการใช้งาน CU Writer เวอร์ชัน 1.52 และ 1.6. ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2537. ISBN 974-510-276-8
  • CU-Writer (http://www.cp.eng.chula.ac.th/~pizzanu/temp/cuwriter.pdf), สืบค้นเมื่อ 2015-09-20
  • เอกสารคู่มือ CW.DOC และ CW16.DOC ซึ่งมาพร้อมกับโปรแกรมซียูไรเตอร์ (สาธารณสมบัติ)
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 ส.อ.บุญเรือน คงเขียว, 2537, หน้า 12
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 เดือน สินธุพันธ์ประทุม, สำนวน หิรัญวงษ์, 2536, หน้า 14
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 ส.อ.บุญเรือน คงเขียว, 2537, หน้า 12-13
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 ส.อ.บุญเรือน คงเขียว, 2537, หน้า 13
  5. เดือน สินธุพันธ์ประทุม, สำนวน หิรัญวงษ์, 2536, หน้า 15
  6. บุญเรือน คงเขียว. CUWRITER เวอร์ชันพิเศษ 1.43 สำหรับภาษาต่างประเทศ. คอมพิวเตอร์ บิซิเนสแมกะซีน 3, 28 (มิ.ย.2534), หน้า 195-199.
  7. ดุสิต เลาหสินณรงค์. CU WRITER ฉบับภาษาลาว. คอมพิวเตอร์ทูเดย์ ปีที่ 4, ฉบับที่ 38 (ส.ค.2537). หน้า 125-127.
  8. ส.อ.บุญเรือน คงเขียว, 2537, หน้า 301-303
  9. ส.อ.บุญเรือน คงเขียว, 2537, หน้า 294-299
  10. ส.อ.บุญเรือน คงเขียว, 2537, หน้า 299-300

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]