จีระพันธ์ วีระพงษ์
จีระพันธ์ วีระพงษ์ | |
---|---|
ชื่อเกิด | จีระพันธ์ วีระพงษ์ |
รู้จักในชื่อ | นะ |
เกิด | 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 |
ที่เกิด | อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
แนวเพลง | ลูกทุ่ง |
อาชีพ | นักร้อง |
จีระพันธ์ วีระพงษ์ เป็นนักร้องลูกทุ่งชายเสียงดี ที่อยู่ในวงการเพลงลูกทุ่งมามากกว่า 35 ปี และมีผลงานเพลงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางหลายเพลง เสียงของจีระพันธ์ วีระพงษ์ ออกมาในทางเดียวกับ ระพิน ภูไท ปัจจุบันก็ยังคงผลิตผลงานเพลงออกสู่ท้องตลาด จีระพันธ์ วีระพงษ์ โด่งดังมาจากเพลง คุณนายใจบุญ และโด่งดังอย่างมากจากเพลง ไก่นาตาฟาง และ มาดามดิงดอง
ประวัติ
[แก้]จีระพันธ์ วีระพงษ์ มีชื่อเล่นว่า นะ เกิดเมื่อ 10 ก.พ. 2494 เป็นชาว อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครอบครัวนักดนตรีพิณพาทย์ โดยมีพ่อเป็นมือระนาด ดนตรีจึงอยู่ในสายเลือดของเขามาตั้งแต่เด็ก ตอนยังเล็กเขาก็ช่วยครอบครัวในเรื่องดนตรีด้วยการตีฉิ่ง และอื่นๆ พร้อมๆกับชอบการร้องเพลง โดยเขาชอบเพลงแนวเพลงของสมยศ ทัศนพันธ์ แต่ก็ไม่ได้ร้องเป็นชิ้นเป็นอัน
เข้าวงการ
[แก้]ต่อมาเมื่อครอบครัวที่พอมีพอกินของเขา (เคยมีเรือยนต์ เรือเมล์ ) ถูกโกง และหมดเนื้อหมดตัว เมื่อเรียนจบโรงเรียนภาคบังคับ (ประถม) จีระพัน วีระพงษ์ ก็ออกมาหางานทำ โดยเขาทำงานมาหลากหลาย รวมทั้งการเป็นเด็กขายขนมปัง เด็กเสิร์ฟ และพออายุ 15 ก็มาเป็นกระเป๋ารถเมล์ โดยเมื่อครั้งที่เป็นกระเป๋ารถเมล์ เมื่อมีงานชุมนุมรื่นเริงในหมู่เพื่อนฝูงที่ทำงานด้วยกัน เขาก็มักเป็นต้นเสียงในการร้องเพลงในกลุ่มเสมอ ในช่วงนั้น เขาได้ลองไปสมัครร้องเพลงในรายการเลียนแบบดารา โดยการร้องเพลงเลียนแบบแนวเสียงของระพิน ภูไท ที่โทรทัศน์ช่อง 3 ปรากฏว่า ตกรอบแรก
ต่อมาเมื่ออายุ 17 ลูกพี่ที่ขับรถเมล์มองเห็นแววดัง จึงพาเขามาฝากกับวงดนตรี โดยเริ่มต้นกับวงเทวัญ ขวัญพนา แถวห้วยขวาง ซึ่งที่นี่เขาทั้งเป็นนักร้องและมือกลอง จากนั้นก็มาอยู่กับวงกาสะลอง ซึ่งเป็นวงคอมโบ้ ต่อมาเมื่ออายุ 19 ปีก็ย้ายมาจับงานจัดรายการอยู่ที่สถานีวิทยุยานเกราะแถวบางกระบือ และกลับไปเป็นนักร้อง ก่อนจะเลิก และหันไปทำขนมขาย ก่อนที่จะย้ายมาอยู่กับวงบรรจบ เจริญพร ซึ่งที่นี่เขาได้เจอกับครูฉลอง ภู่สว่าง ครูเพลงชื่อดัง ครูฉลองเห็นแววดังของเขาจึงแต่งเพลงให้ 5 เพลง และพาไปบันทึกเสียงเมื่อ 7 พ.ค. 2515 โดยหนึ่งในเพลงชุดแรกของเขาก็คือเพลง ” คุณนายใจบุญ “ หลังจากที่เชียร์อยู่กว่า 4 เดือน พอถึงเดือนตุลาคม จีระพันธ์ วีระพงษ์ ก็แจ้งเกิดในวงการลูกทุ่งอย่างเต็มภาคภูมิกับเพลงคุณนายใจบุญ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าเพลงนี้ดังได้ เพราะเป็นเพลงต่อเนื่องจากเพลงคุณนายโรงแรม ของระพิน ภูไท ที่ครูฉลองแต่ง และดังมาก่อนแล้ว
หลังเพลงดัง และผู้ฟังอยากเห็นหน้าค่าตา จีระพันธ์ วีระพงษ์ จึงได้ตั้งวงออกรับงานแสดงทั่วไป ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมาก จากนั้นก็ตั้งหน้าตั้งแต่ผลิตผลงานเพลงดังออกมามากมาย โดยในยุคแรกเป็นผลงานของครูฉลองเป็นหลัก ในยุคต่อมาก็ได้เพลงของครูชลธี ธารทอง มาเสริม เขาทำวงอยู่ 7 ปี เมื่อความนิยมเริ่มเสื่อม เขาก็ยุบวงเมื่อปี 2522
หลังยุบวง
[แก้]ในยุคที่วงการลูกทุ่งซบเซาขนาดหนัก จีระพันธ์ วีรพงษ์ ก็หันไปจับงานร้านอาหาร – คาเฟ่ อยู่ 2 ปี ก็เลิก จากนั้นก็หยิบเพลงเก่ามาบันทึกเสียงใหม่ให้กับบริษัทนิธิทัศน์โปรโมชั่นอยู่ 2 ชุด และเมื่อวงการเพลงเริ่มฟื้นจากเพลง “สมศรี” ของยิ่งยง ยอดบัวงาม กลุ่มนักร้องลูกทุ่งยุคก่อน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น ก็มีจีระพันธ์ วีรพงษ์ รวมอยู่ด้วย ก็พยายามที่จะให้นักร้องรุ่นเก่าได้กลับสู่วงการ แต่ด้วยจุดอ่อนหลายประการ พวกเขาจึงออกมาในรูปของการนำเพลงเก่ามาทำเป็นจังหวะรำวงสนุกสนาน และรวมกันร้องทีละหลายคน โดยให้ชื่องานชุดนี้ว่า “บุญหลาย” โดยให้เหตุผลว่า การที่พวกเขาโด่งดังและอยู่รอดจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะว่าต่างคนต่างก็มีบุญหลายกันทุกคน งานเพลงชุดบุญหลายถูกผลิตออกมารวม 3 ชุด และเมื่อผู้ฟังเริ่มต้อนรับนักร้องเก่ากลับมา จากนั้นต่างคนก็กระจัดกระจายกันไปผลิตผลงานของตนเองอีกครั้ง ซึ่งก็รวมถึงวีระพันธ์ วีระพงษ์ ด้วย จีระพันธ์ วีรพงษ์ บอกว่าเสื้อลายดอก แบบที่นิยมใส่กันในช่วงสงกรานต์ปัจจุบัน มาจากอิทธิพลของชุดบุญหลาย [1]
ผลงานเพลงดัง
[แก้]- ไก่นาตาฟาง
- มาดามดิงดอง
- โห่....กำนัน
- คุณนายใจบุญ
- เมษาเศร้า
- รักเธอไม่ได้
- ขอพบเธอเพียงครึ่งนาที
- เจ้าซินอนกอดไผ๋
- ฝากใจไว้ที่พิษณุโลก
- ยิ้มระดับโลก
- แท็กซี่ป้ายเหลือง
- ขาอ่อนเงินล้าน
- ผู้หญิงใจดำ
- กลัวกรุงเทพฯ
- คนจนไม่หวาน
- บ๊ายบายผู้หญิง
- เจ้าทึม
- หัวใจชั่ว
- ซึมๆโซๆ
ภาพยนตร์
[แก้]- อ้อนรักแฟนเพลง (2533)
- สัตว์มนุษย์ (2519)
ปัจจุบัน
[แก้]จีระพันธ์ วีระพงษ์ ยังคงผลิตผลงานออกมาอยู่บ้าง รวมทั้งรับงานร้องเพลงตามที่ได้รับเชิญ นอกจากนั้นก็ยังทำสวนผลไม้ด้วย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประวัติจีระพันธ์ วีระพงษ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-25. สืบค้นเมื่อ 2014-02-06.