จักรพรรดิศิวาจี
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
จักรพรรดิศิวาจี | |
---|---|
รัชสมัย | 6 มิถุนายน ค.ศ. 1674 – 3 เมษายน ค.ศ. 1680 |
ราชาภิเษก | 6 มิถุนายน ค.ศ. 1674, ป้อมรายคัท |
รัชกาลก่อนหน้า | สถาปนาจักรวรรดิมราฐา |
รัชกาลถัดไป | สมเด็จพระจักรพรรดิสัมภาจี |
ประสูติ | 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1630 ป้อมศิวเนรี |
สวรรคต | 3 เมษายน ค.ศ. 1680 ป้อมรายคัท |
พระอัครมเหสี | สาอีบาอี โสยาราบาอี สักวาบาอี |
พระราชบุตร | สัมภาจี โภสเล ราชาราม โภสเล |
ฉัตรปตี ศิวาจี โภสเล | |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์โภสเล |
พระราชบิดา | ศาหจี โภสเล |
พระราชมารดา | ชาชีบาอี |
ฉัตรปตี ศิวาจีราเช โภสเล (มราฐี: छत्रपती शिवाजीराजे भोसले; 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1630 – 3 เมษายน ค.ศ. 1680) เป็นจักรพรรดิองค์แรกแห่ง จักรวรรดิมราฐา ครองราชย์ตั้งแต่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1674 ถึง 3 เมษายน ค.ศ. 1680 เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดชาตินิยมต่อ มหาตมา คานธี และนักสู้เพื่ออิสรภาพชาวอินเดียอีกหลาย ๆ คน
ชีวิตแรกเริม
[แก้]ฉัตรปตี ศิวาจีราโช โภสเล หรือพระนามเดิม ศิวาจี โภสเล ประสูติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1630 (บ้างว่า 6 เมษายน ค.ศ. 1627) ณ ป้อมภูเขาศิวเนรี ใกล้เมืองจุนนา เขตปูเน รัฐมหาราษฏระ ในปัจจุบัน พระนามของพระองค์มีที่มาจากเทพเจ้าศิวาอีซึ่งพระนางชีชาบาอีได้บูชาอยู่ตลอดเวลาที่ทรงครรภ์ศิวาจีอยู่ โดยพระบิดามีพระนามว่า ศาหจี โภสเล เป็นนักรบมราฐีผู้รับใช้อาณาจักรสุลต่านทักขิน (เดคกัน) พระมารดามีพระนามว่า ชีชาบาอี (หรือ ชีชาไบ) บุตรีของราชาลาขุชีราว ชาธัวแห่งสินทเขท ในเวลานั้น อำนาจในแผ่นดินทักขินถูกปกครองร่วมโดยอาณาจักรอิสลาม 3 อาณาจักร คือ อาณาจักรพีชปุร , อาณาจักรอาเหม็ดนคร และ อาณาจักรโคลโกณทา ศาหจีมักจะเลือกจงรักภักดีอยู่ระหว่าง นิซัมชาห์ฮี แห่ง อาเหม็ดนคร, อทิลศาห์ แห่ง พีชปุร และจักรวรรดิมุคัล แต่ก็ยังครอบครองชาคีร์ (เขตศักดินา) และกองทัพไว้กับตัวอยู่ตลอด
ศิวาจีทรงทุ่มเทเวลากับพระมารดาผู้ศรัทธาและเลื่อมใสต่อศาสนาไว้อย่างหนักแน่น สภาพแวดล้อมทางศาสนาส่งผลกระทบต่อศิวาจีเป็นอย่างมาก และยังได้ทรงศึกษาเรื่องราววรรณคดีฮินดูที่ยิ่งใหญ่ 2 เรื่องคือ รามายณะ (รามเกียรติ์) และ มหาภารตะ อย่างหนักแน่น ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ทำให้ศิวาจีทรงปกป้องความเชื่อทางศาสนาฮินดูไว้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ โดยตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์สนพระทัยในคำสอนทางศาสนาอย่างลึกซึ้ง และมักจะแสวงหาเรื่องราวของศาสนาฮินดูและอิสลามนิกายซูฟีอย่างลึกซึ้ง
การศึกษาและแนวคิดเรื่อง ฮินทวี สวาราชยะ
[แก้]อย่างไรก็ตาม เมื่อศาหจี ได้สมรสกับตุกาบาอี โมฮีเต เขาได้ย้ายไปอาณาจักรพีชปุรเพื่อเป็นแม่นำในกองทัพของอทิลศาห์ เขาทิ้งศิวาจีและชีชาบาอีไว้ในปูเน และฝากฝังศิวาจีไว้กับ ทาโทจี โกทเทวะ ผู้ดูแลชาคีร์ ซึ่งได้คอยเลี้ยงดูและสอนสั่งศิวาจี ซึ่งศิวาจีเมื่อทรงพระเยาว์มักโปรดอยู่นอกป้อม และดูเหมือนจะไม่โปรดทรงพระอักษร แต่พระองค์มักจะทรงบอกเสมอว่าทรงรู้มาก นอกจากนี้ พระองค์ทรงนำพระสหายที่ไว้พระทัยพร้อมทหารจำนวนมากมาจากเขตมาวัฬ โดยในกลุ่มพระสหายชาวมาวัฬ พระองค์มักจะทรงชอบฝึกฝนพระองค์เองอยู่ในแถบป่าเขาของภูเขาสหยาทรีอยู่เสมอ ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการทหารในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ความประพฤตินอกลู่นอกทางทำให้ทาโทจีมักจะไม่สบอารมณ์และมักจะบ่นอยู่ตลอดเวลาอยู่กับศาหจีว่าเลี้ยงได้ไม่ดีเท่าใดนัก
เมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษา ได้ทรงย้ายไปเมืองบังคาลอร์ กับพระเชษฐาและพระอนุชาต่างพระมารดา และได้ฝึกฝนเรียนรู้กันอย่างเต็มเปี่ยม พระองค์อภิเษกสมรสกับสาอีบาอีจากตระกูลนิมบัลการ์ในปี ค.ศ. 1640 ประมาณ ค.ศ. 1645–1646 ศิวาจีในวัยหนุ่ม เกิดความคิด ฮินทวี สวาราชยะ (ฮินดูปกครองตนเอง) อันเป็นแนวคิดชาตินิยมแรก ๆ ของอินเดียฮินดู โดยมีการกล่าวถึงในจดหมายที่ส่งไปให้ดาดาจี นาราส ปราภู
ความขัดแย้งกับอาณาจักรอทิลศาห์
[แก้]เมื่ออายุได้ 15 ปี ศิวาจีได้ทรงเกลี้ยกล่อมอินายัต ข่าน ผู้บัญชาการป้อมโตรนา ให้ยกป้อมให้พระองค์ ขณะเดียวกันนั้น ฟิรันโคจี นรสาฬา ผู้บัญชาการป้อม ได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อศิวาจี และ ป้อมโกนทณาถูกครอบครองโดยการติดสินบนผู้ตรวจการของอทิลศาห์ ส่งผลให้ศาหจีถูกอทิลศาห์รับสั่งจับกุมและจำคุก โทษฐานสมคบคิดกับศิวาจี จนกระทั่งเมื่อศิวาจีและพระเชษฐายอมแพ้ ศาหจีจึงถูกปล่อยตัวในปี ค.ศ. 1649 บ้างก็ว่าถูกจำคุกจนกระทั่งปี ค.ศ. 1653 หรือ ค.ศ. 1655 โดยในระหว่างที่พระบิดาถูกจับกุมนั้น ศิวาจีไม่กล้าเสี่ยงอันตรายเพื่อพระบิดา โดยหลังจากการปล่อยตัวแล้ว ศาหจีได้เกษียณตนเองออกจากชีวิตสาธารณะและถึงแก่กรรมจากอุบัติเหตุล่าสัตว์ จากการตายของพระบิดา ทำให้ศิวาจีทรงกลับมาโจมตีและยึดครองหุบเขาชวาลีจากจันทราราว โมเร ผู้เป็นเจ้าศักดินาและพระสหายของอทิลศาห์
ปะทะกับอัฟซาล ข่าน
[แก้]ปี ค.ศ. 1659 อทิลศาห์ส่ง อัฟซาล ข่าน แม่ทัพผู้เปี่ยมประสบการณ์ กำจัดศิวาจีจากความพยายามในสิ่งที่พระองค์เห็นว่าเป็นเพียงการก่อจราจลระดับท้องถิ่น ทั้งสองได้พบกันในกระท่อมที่เชิงเขาประตาปคัฐในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1659 โดยนัดหมายกันให้เตรียมมาแค่ดาบและผู้ติดตามเท่านั้น ศิวาจีทรงสงสัยว่าอัฟซาลกำลังจะทำร้ายพระองค์ หรืออาจจะวางแผนทำร้ายพระองค์อย่างลับ ๆ โดยในฉลองพระองค์ได้ใส่เกราะทองเอาไว้ พระหัตถ์ซ้ายใส่วาฆะนัข (กรงเล็บเสือ/อาวุธชนิดหนึ่งของอินเดียโบราณ) พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พงศาวดารระบุแตกต่างออกไปว่าใครทำร้ายใครก่อน พงศาวดารของมราฐีกล่าวว่าอัฟซาลเป็นฝ่ายพยายามทำร้ายศิวาจีก่อน ส่วนพงศาวดารของเปอร์เซียกล่าวว่าศิวาจีเป็นฝ่ายทำร้ายก่อน อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ในครั้งนั้นกล่าวว่าอัฟซาลลงดาบใส่ศิวาจีแต่ไม่สำเร็จเพราะศิวาจีใส่เกราะ และศิวาจีก็สวนกลับด้วยการใช้วาฆะนัขจิกใส่ตัวของอัฟซาลจนตาย แล้วส่งสัญญาณให้ทหารมราฐีที่ซ่อนตัวอยู่โจมตีกับทหารพีชปุระ
ศึกประตาปกัฐ
[แก้]ในการรบครั้งนั้น ทหารของศิวาจีเป็นฝ่ายตีทหารพีชปุระ การจู่โจมของทหารราบและม้าของมราฐาโดยที่ทหารพีชปุระไม่ทันตั้งตัวทำให้ทหารของพีชปุระต้องถอยหนีไปเมืองวาอี ทหารพีชปุระกว่า 3,000 คนถูกสังหาร และลูกชายของอัฟซาลถูกจับไว้ 2 คน ชัยชนะครั้งนั้นทำให้ศิวาจีได้การยกย่องจากชาวมราฐาให้เป็นวีรบุรุษ อาวุธ, เกราะ, ม้าและของสำคัญอื่น ๆ ที่ทหารพีชปุระทิ้งไว้ ถูกนำมาใช้และเสริมสร้างกองกำลังที่แข็งแกร่งให้แก่กองทัพมราฐา เหตุการณ์ครั้งนั้นยังทำให้โอรังเซบ จักรพรรดิของมุคัลในเวลานั้น ระบุว่าศิวาจีคือภัยคุมคามใหญ่ของจักรวรรดิมุคัล หลังจากนั้นไม่นาน ศิวาจีและพรรคพวกได้ตัดสินใจเข้าตีอาณาจักรอทิลศาห์ที่พีชปุระ
ศึกโกลหาปุระ
[แก้]โดยเพื่อล้างแค้นให้แก่ศึกที่ประตาปกัฐและต่อต้านอำนาจใหม่ของพวกมราฐา กองทัพอีก 10,000 คน ถูกส่งไปต้านศิวาจี โดยการนำทัพของรุสตัม ซามัน ศิวาจีพร้อมทัพม้าอีก 5,000 นาย ได้เข้าตีทัพของรุสตัมใกล้กับเมืองโกลหาปุระในวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1659 ด้วยการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว ศิวจีได้นำทัพม้าตีกลางทัพ ขณะที่กองทัพม้าอีกส่วนได้ตีเข้าด้านข้าง การรบใช้เวลาหลายชั่วโมงและจบด้วยชัยชนะของกองทัพมราฐา และรุสตัมได้หลบหนีแตกพ่ายออกไป กองทัพพีชปุระเสียม้าไป 2,000 ตัว และเสียช้างไปอีก 12 เชือก การรบครั้งนี้ทำให้โอรังเซบตื่นตัวจากกองทัพมราฐาและเรียกศิวาจีว่า "ไอ้หนูภูเขา" และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับกองทัพมราฐาไว้
การปิดล้อมปันหาฬาและศึกที่ปาวัน คินท์
[แก้]ในปี ค.ศ. 1660 อทิลศาห์ส่งแม่ทัพสิททิ ชาอุหาร์ ไปโจมตีเขตพรมแดนทางทิศใต้ โดยที่จักรวรรดิมุคัลจะเข้าโจมตีด้านเหนือ ในเวลานั้น ศิวาจีประทับพักแรมอยู่ที่ป้อมปันหาฬากับกองทัพของพระองค์ กองทัพของสิททิชาอุหาร์ได้เข้าล้อมป้อมในช่วงกลางปี โดนพยายามตัดเส้นทางเสบียงของป้อม และสั่งซื้อระเบิดจากอังกฤษ รวมทั้งนำกองทัพปืนใหญ่อังกฤษมาเพื่อเสริมการโจมตี การกระทำดังกล่าวทำให้ศิวาจีกริ้วอังกฤษมาก ในเดือนธันวาคม พระองค์จึงสั่งให้ทหารเข้าปล้นโรงงานอังกฤษและจับกุมแรงงานโรงงาน 4 คน ไปจำคุกจนกลางปี ค.ศ. 1663
มีหลายหลักฐานระบุถึงการสิ้นสุดการปิดล้อม บ้างว่าศิวาจีทรงหนีจากป้อมและถอยทัพไปยังราคนา เนื่องจากอทิลศาห์องค์ใหม่เข้ามาบัญชาการด้วยพระองค์เองและได้ยึดป้อมหลังจากปิดล้อมมา 4 เดือน บ้างก็ว่าศิวาจีทรงเจรจากับสิททิชาอุหาร์และมอบป้อมให้ในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1660 และถอยทัพไปวิศาลคัฐ และภายหลังก็ได้ยึดป้อมคืนได้ในปี ค.ศ. 1673 ซึ่งทำให้เกิดความสับสนระหว่างสาเหตุที่ศิวาจีทรงถอนทัพถอยออกไป (หลบหนี หรือ ทำสนธิสัญญา?) และจุดหมายปลายทาง (ราคนา หรือ วิศาลคัฐ) แต่เรื่องที่นิยมเล่ามักเป็นเรื่องที่เขาหนีออกไปวิศาลคัฐมากกว่า ซึ่งได้หลบหนีไปในเวลากลางคืน และได้มีทหารและแม่ทัพเข้าปกป้องเพื่อทำให้ศิวาจีและทหารที่เหลือหลบหนีไปวิศาลคัฐได้ โดยเฉพาะพาชี ประภู เทศปานเท แม่ทัพม้าผู้ที่เสียสละชีวิตเพื่อให้ศิวาจีสามารถหนีไปวิศาลคัฐได้ และสู้ศึกกับทหารพีชปุระจนตัวตาย ในภายหลัง ช่องเขาที่เป็นที่ต่อสู้กัน ได้เปลี่ยนชื่อจาก โคท คินท์ (ช่องเขาม้า) เป็น ปาวัน คินท์ (ช่องเขาศักดิ์สิทธิ์) เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ประภู เทศปานเท และทหารที่สู้กับทหารพีชปุระ
ปะทะกับพวกมุคัล
[แก้]จนถึงปี ค.ศ. 1657 ศิวาจีทรงพยายามรักษาความสัมพันธ์กับมุคัลเอาไว้ และได้ทรงส่งข้อเสนอไปยังโอรังเซบในการยึดครองพีชปุระ และในทางกลับกัน พระองค์ยังมั่นใจในการรับรู้สิทธิในการครอบครองป้อมพีชปุระและหมู่บ้านในอำนาจอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้ากันระหว่างมราฐาและมุคัลเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1657 เมื่อขุนนางของศิวาจีรุกล้ำเขตของมุคัลใกล้เมืองอาเหม็ดนคร ตามมาด้วยการบุกปล้นเมืองจุนนา และได้เงินประมาณ 300,000 เหรียญ และ ม้า 200 ตัว โอรังเซบซึ่งในเวลานั้นเป็นอุปราชแห่งทักขิน ได้ส่งนาสิริ ข่าน เข้าโจมตีศิวาจีแต่กลับพ่ายแพ้ออกมา อย่างไรก็ตาม การสู้รบกับศิวาจีโดยโอรังเซบในเวลานั้นได้หยุดชั่วคราวโดยฤดูฝนและการทำสงครามแย่งชิงบัลลังก์กับพี่น้องร่วมสายเลือดขณะที่จักรพรรดิชาห์ จาฮัน กำลังประชวร
บุกตีชาอิสตา ข่าน
[แก้]จากการร้องขอของ พาทีเพคุม แห่ง พีชปุระ โอรังเซบส่งพระปิตุลา ชาอิสตา ข่าน พร้อมทหารกว่า 150,000 คนและกองปืนใหญ่ โดยร่วมกับทหารของพีชปุระ โดย สิททิ ชาอุหาร์ โดย ชาอิสตา ข่าน พร้อมทหาร 300,00 คน และ อาวุธครบมือ เข้ายึดเมืองปูเนและบริเวณใกล้เคียงป้อมจากัณ โดยเข้าล้อม 1 เดือนกับอีกครึ่งเดือน จนกระทั่งทำลายกำแพงลงได้ โดยชาอิสตา ข่าน ได้อาวุธที่แข็งแกร่งขึ้น กองทัพที่ใหญ่ขึ้น และได้เข้ายึดเมืองปูเน และใช้พระราชวังของศิวาจีเป็นที่อยู่ของตน
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1663 ศิวาจีได้แอบโจมตีอย่างไม่ทันตั้งตัวที่ปูเน ว่ากันว่าศิวาจีและทหารกว่า 200 คน เข้าแฝงตัวในเมืองปูเนโดยอาศัยงานแต่งงานเป็นจุดกำบัง และได้เข้าไปในวังของชาอิสตา และลงมือสังหารผู้ที่อยู่ในวังหลาย ๆ คน ชาอิสตา ข่าน หนีไปได้ แต่เขาเสียนิ้วโป้งขณะสู้กับกลุ่มของศิวาจี และยังสูญเสียลูกชายและญาติ ๆ อีกหลาย ๆ คน ชาอิสตาหนีไปที่กองกำลังมุคัลที่นอกเมืองปูเน และถูกโอรังเซบลงโทษด้วยการสั่งให้ย้ายไปอยู่ที่เขตบังคลา (ปัจจุบันคือ ประเทศบังคลาเทศ และ รัฐบังคลาตะวันตก)
เวลาไม่นาน ชาอิสตาได้ส่ง กาตาลิบ ข่าน แม่ทัพชาวอุสเบก เข้าโจมตีและทำลายป้อมที่อยู่ในเขตโกนกัณในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1661 ทหารมุคัล 3,000 คน เดินทัพออกจากปูเนผ่านเขตชนบทเพื่อเตรียม "เซอร์ไพรส์" ทหารมราฐา และในศึกที่อุมเบร์ขินท์ ทหารของศิวาจีทั้งทหารราบและทหารม้าได้ซ่อนตัวและล้อมทหารของกาตาลิบไว้ในทางผ่านอุมเบร์ขินท์ใกล้เมืองเปนในปัจจุบัน
เพื่อตอบโต้การโจมตีของชาอิสตา และ การเติมเต็มคลังที่หมดไป ใน ค.ศ. 1664 ศิวาจีสั่งให้ทำลายเมืองสุรัตอันเป็นแหล่งการค้าของพวกมุคัลจนสิ้น
สนธิสัญญาปุรันดาร์
[แก้]จากการโจมตีต่อชาอิสตาและเมืองสุรัต ทำให้จักรพรรดิโอรังเซบกริ้วมาก ดังนั้���จึงได้ส่งมีร์ซาชัยสิงห์ที่ 1 พร้อมกับทหาร 150,000 คน ไปโจมตีศิวาจี กองทัพของชัยสิงห์ได้โจมตีและยึดป้อมหลายแห่งของพวกมราฐาได้ ทำให้ศิวาจีต้องยอมเข้าตกลงกับชัยสิงห์ดีกว่าเสียป้อมและผู้คนไป
ศิวาจีและชัยสิงห์ ได้ทำสัญญาปุรันดาร์ในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1665 ศิวาจีต้องมอบป้อม 23 ป้อม และจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวน 400,000 รูปี ให้แก่มุคัล และต้องส่งสัมภาจีไปเป็นซาดาร์ของมุคัล และรับใช้ราชสำนักมุคัลและสู้เคียงข้างกับมุคัลในสงครามกับพีชปุระ ผู้บัญชาการของกองทัพมราฐาคนหนึ่ง คือ เนตาจี ปาลการ์ ไปเป็นพวกมุคัล จะได้รับรางวัลอย่างดีสำหรับความกล้าหาญของเขา และ ต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม เปลี่ยนชื่อเป็น กุลี มุฮัมหมัด ข่าน และถูกส่งไปชายแดนอัฟกาน เพื่อสู้กับพวกชนเผ่าต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เขาได้กลับไปรับใช้ศิวาจีในปี 1676 สิบปีให้หลัง และกลับไปนับถือศาสนาฮินดูอีกครั้ง
ถูกจับที่อัคราและหนีไป
[แก้]ปี ค.ศ. 1666 จักรพรรดิโอรังเซบเชิญศิวาจีมาที่อัครา พร้อมกับพระโอรส 9 พรรษา สัมภาจี โอรังเซบวางแผนจะส่งศิวาจีไปที่กานดาหาร์ (ปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถาน) เพื่อรวบรวมอาณาจักรชายแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจักรวรรดิมุคัล อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1666 โอรังเซบให้ศิวาจียืนข้างหลังกลุ่มเสนาบดีทหาร ทำให้ศิวาจีไม่พอใจ บริภาษโอรังเซบและเดินออกไป แต่ก็ถูกจับกุมอยู่ในบ้านพักโดยฟาอุรัด ข่าน ผู้บัญชาการป้อมแห่งอัครา
ศิวาจีทรงแกล้งประชวรและขอให้ได้ใช้ชีวิตที่เหลือในดินแดนทักขิน ด้วยความมั่นใจและได้หลอกลวงโอรังเซบ หลังจากนั้นพระองค์ได้รับอนุญาตให้ส่งของหวานและของถวายแก่สาธุ โยคี และวิหารในอัคราเพื่อให้คุ้มครองสุขภาพของพระองค์ ผ่านไปหลายวัน สัมภาจีได้ถูกปล่อยตัวออกไปเนื่องจากยังทรงพระเยาว์อยู่ และหลังจากนั้น ศิวาจีก็ทรงหลบหนีไปโดยปลอมเป็นคนงานขนตระกร้าของหวานออกไปในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1666 เอกสารของมุคัลอ้างว่า ศิวาจีและพระโอรสทรงปลอมตัวเป็นสาธุกลับไปทักขิน หลังจากนั้นไม่นั้น ศิวาจีทรงปล่อยข่าวลือการสิ้นพระชนม์ของสัมภาจีเพื่อหลอกลวงมุคัลและปกป้องสัมภาจี ผลการค้นคว้าล่าสุดพบว่าศิวาจีอาจจะปลอมเป็นพราหมณ์หลังจากได้ทำพิธีทางศาสนาในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1666 และหลบหนีไปโดยการแฝงตัวรวมกับพราหมณ์กวินทรา ปรมานันทะ ส่วนสัมภาจีได้หนีออกจากอัคราและไปมธุราโดยคนสนิทของศิวาจี
สงบศึกกับพวกมุคัล
[แก้]หลังจากที่ศิวาจีทรงหนีจากพวกมุคัลได้แล้ว ความแค้นระหว่างมุคัลกับมราฐาก็ถูกระงับโดยชาสวาน สิงห์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางของระหว่างศิวาจีกับโอรังเซบ สำหรับข้อเสนอเพื่อสันติฉบับใหม่ ระหว่างปี ค.ศ. 1668 ถึง ค.ศ. 1670 โอรังเซบได้แต่งตั้งตำแหน่งราชาให้แก่ศิวาจี สัมภาจีได้รับตำแหน่งเสนาบดีทหารคืนพร้อมม้า 5,000 ตัว ศิวาจีได้ส่งสัมภาจีและแม่ทัพประตาปราว คุชาร์ ไปรับใช้เจ้าชายมูอัสสัม อุปราชแห่งอุรังคบัต สัมภาจียังได้เบราร์ไว้สำหรับเป็นที่เก็บภาษีอีกด้วย โอรังเซบยังอนุญาตให้ศิวาจีตีอาณาจักรของอทิลศาห์ ซึ่งอทิลศาห์ได้ขอร้องให้มีสันติและมอบดินแดนสาเทศมุขีและฉอุทาอี ให้แก่ศิวาจี
พิชิตอีกครั้ง
[แก้]สันติสุขระหว่างโอรังเซบกับศิวาจีสิ้นสุดลงหลังปี ค.ศ. 1670 เมื่อโอรังเซบเกิดสงสัยความสนิทชิดเชื้อระหว่างศิวาจีและเจ้าชายมูอัสสัมซึ่งกำลังถูกเพ่งเล็งว่าคิดจะโค่นล้มบัลลังก์ของพระองค์ และยังเรียกคืนทหารที่อยู่ในแถบทักขินคืนแต่ปรากฎว่าทหารเหล่านั้นกลับเข้ากับพวกมราฐาอย่างรวดเร็ว และยังพยายามเอาชาคีร์เบราร์จากศิวาจีเพื่อชดเชยส่วนที่เสียให้แก่พวกมราฐาไป ด้วยเหตุนี้ ศิวาจีจึงทรงเริ่มไม่พอพระทัยกับพวกมุคัล และขอให้คืนดินแดนที่เสียไปให้แก่พวกมุคัลในช่วงสี่เดือนกลับคืนมา ในช่วงนี้เอง ตานาจี มาลุสเร แม่ทัพของศิวาจี ได้ชนะศึกเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1670 ที่สิงหคัท แต่ชัยชนะในครั้งนั้นแลกกับชีวิตของตานาจีเอง หลังจากนั้น ศิวาจีจึงได้ทรงเข้าทำลายเมืองสุรัตเป็นครั้งที่ 2 และระหว่างเสด็จกลับก็ถูกดาวูด ข่าน แม่ทัพมุคัลขวางทัพไว้แต่ก็ตีแตกพ่ายไปได้ที่ วานีดินโดรี (ใกล้เมืองนาศิกในปัจจุบัน)
ต่อรองกับอังกฤษ
[แก้]ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1670 ศิวาจีส่งทหารไปก่อกวนอังกฤษที่เมืองมุมไบ เนื่องจากอังกฤษปฏิเสธที่จะขายอาวุธให้แก่มราฐา กองกำลังของมราฐาจึงได้ตัดทางขนไม้ของอังกฤษ ต่อมาเดือนกันยายน ค.ศ. 1671 ศิวาจีส่งทูตไปบัมบาอีเพื่อมองหาอาวุธเพื่อทำศึกกับ ดันดา–ราชปุรี อังกฤษเกิดสงสัยผลประโยชน์ที่ศิวาจีจะได้ในศึกครั้งนี้แต่กลับยังไม่ต้องการชดเชยการทำลายโรงงานผลิตอาวุธของอังกฤษที่ราชปุระ อังกฤษจึงส่งร้อยโทสตีเฟน อุสติก ไปหว่านล้อมกับศิวาจี แต่การเจรจาเพื่อชดเชยกลับล้มเหลว หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างก็ส่งทูตไปมาซึ่งกันและกันอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำข้อตกลงในการซื้อขายอาวุธในปี ค.ศ. 1674 แต่ศิวาจีไม่เคยทรงจ่ายค่าชดเชยใด ๆ เลย จนกระทั่งเสด็จสวรรคตและโรงงานก็ปิดตัวลงหลัง ค.ศ. 1682
เมื่อศิวาจีเสด็จไปตันชาวุระเพื่อทำสงครามกับพระอนุชาต่างพระมารดา พระองค์ได้พบกับพวกอังกฤษที่เมืองมัทราส (ปัจจุบันคือเมือง เจนไน) ในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1677 ตามที่หลักฐานที่จารึกในแผ่นโลหะที่วัดกาลีกัมบัลระบุไว้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทอินเดียตะวันออกซึ่งดูแลป้อมเซนต์จอร์จในเวลานั้นอยู่ได้ระบุว่า ศิวาจีได้มาที่ประตูป้อมมาและถามหาช่างอังกฤษแต่ถูกปฏิเสธอย่างสุภาพ
ศึกที่เนสารี
[แก้]ในปี ค.ศ. 1674 ประตาปราว คุชาร์ แม่ทัพใหญ่ของมราฐาถูกส่งไปตีโต้กองทัพของบาห์โลล์ ข่าน แห่งอทิลศาห์ กองทัพของประตาปราวได้ชัยชนะและจับกุมแม่ทัพฝ่ายตรงข้ามได้ หลังจากที่ได้ตัดเส้นทางส่งน้ำโดยการล้อมรอบทะเลสาบอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ โดยบาห์โลล์ ข่าน เรียกร้องขอให้ยุติศึก ประตาปราวเมตตาปล่อยตัวบาห์โลล์ ข่าน ออกไป แม้ว่าศิวาจีจะเตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ตาม ซึ่งหลังจากนั้น บาห์โลล์ ข่าน ก็ได้พยายามคิดจะรุกรานอีกครั้งหนึ่ง
ศิวาจีส่งจดหมายแสดงความไม่พอพระทัยให้แก่ประตาปราว และไม่สนพระทัยคำทัดทานของเขาจนกระทั่งสามารถจับกุมบาห์โลล์ ข่าน ได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นาน ศิวาจีจึงได้รู้ว่าบาห์โลล์ ข่าน ตั้งค่ายที่มีทหารกว่า 15,000 นาย ที่เนสารีใกล้เมืองโกลหาปุระ เพื่อไม่ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียกองกำลังของมราฐาอันมีน้อยนิด ประตาปราวและข้ารับใช้ 6 คน จึงเสียสละชีวิตด้วยการเข้าโจมตีค่ายของบาห์โลล์ ข่าน เพื่อถ่วงเวลาให้อนันด์ราว โมหิเต ส่งกองกำลังเข้าช่วยเหลือศิวาจี หลังจากนั้น อนันต์ราวจึงเข้าตีทัพของบาห์โลล์ ข่าน แตกพ่ายออกไป และเข้ายึดชาคีร์ของเขา ศิวาจีเสียพระทัยอย่างมากเมื่อได้รู้ข่าวการตายของประตาปราว จึงได้ให้ราชาราม พระโอรสองค์รอง เข้าอภิเษกสมรสกับลูกสาวของประตาปราว อนันด์ราวได้เปลี่ยนชื่อเป็น ฮัมบีร์ราว และแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่คนใหม่ของมราฐา และป้อมรายคัทถูกสร้างใหม่โดยฮิโรจี อินทุลการ์ เพื่อเตรียมเป็นเมืองหลวงของว่าที่อาณาจักรใหม่
ราชาภิเษก
[แก้]ศิวาจีได้แผ่นดินและทรัพย์สมบัติมากมายจากสงคราม แต่ยังขาดตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และโดยทั่วไปยังถือว่าเป็นแค่เจ้าศักดินาของมุคัลหรือยังเป็นบุตรของเจ้าศักดินาอทิลศาห์ โดยไม่มีสิ่งใดรับรองว่าพระองค์ทรงปกครองแผ่นดินเหล่านั้นอย่างเป็นทางการ การเป็นพระเจ้าแผ่นดินคือทางเลือกหนึ่ง และยังสามารถป้องกันการแข็งข้อจากผู้นำมราฐาคนอื่นซึ่งยังมีฐานะเท่าเทียมกันได้ และที่สำคัญ นั้นคือโอกาสในการสถาปนาแผ่นดินฮินดู ขณะที่แผ่นดินรอบข้างเป็นอาณาจักรของมุสลิมไปแล้ว
ศิวาจีทรงขึ้นครองและราชาภิเษก (ราชยภิเษก ในภาษามราฐี) อย่างยิ่งใหญ่ ณ ป้อมรายคัท ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1674 ตรงกับวันที่ 13 เดือน 3 ปี 1596 ตามปฏิทินฮินดู บัณฑิต กากา ภัตต์ เป็นผู้ทำพิธี เป็นผู้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่มาจาก 7 แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของฮินดู คือ ยมุนา สินธุ คงคา โคทาวรี กฤษณะ และ กาเวรี นำมารดพระเศียรต่อศิวาจี และทำพิธีสวด หลังจากรับน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้ว ศิวาจีทรงกราบเท้าพระมารดาชีชาไบ ผู้คนกว่า 5,000 คน รวมตัวกัน ณ พิธีราชาภิเษกนี้ ศิวาจียังได้ทรงรับมอบสายสิญจน์ พระเวท และลงอาบในบ่อราชาภิเษก ศิวาจีทรงได้รับการเฉลิมพระนามว่า ศากกรตา (ผู้สถาปนายุค) กษัตริยะ กุลาวตานสะ (ผู้นำกษัตริย์) และ ฉัตรปตี (จักรพรรดิ) และยังได้รับพระนามอีกว่า ฮาอินทวา ธรรโมธราอารัก
พระมารดาชีชาบาอี สิ้นพระชนม์ในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1674 ไม่กี่วันหลังพิธีราชาภิเษก คาดการณ์กันว่าจะเป็นลางร้าย พิธีราชาภิเษกรอบที่ 2 จัดขึ้นในวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1674 เวลานี้ถูกจัดขึ้นโดยกลุ่มตันตระเบงกอล ของ นิสจาล ปุรี
อาณาจักรของศิวาจีกินพื้นที่ประมาณ 4.1% ของคาบสมุทรอินเดียในช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จสวรรคต แต่เมื่อถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 อาณาจักรมราฐาก็ได้ขยายอาณาเขตขึ้นเกือบทั่วอินเดีย โดยเฉพาะในช่วงยุคที่ปกครองโดยเปชวาร์และมีพื้นที่ครอบคลุมทั่วภาคเหนือและภาคกลางของอินเดีย
พิชิตอินเดียใต้
[แก้]ต้นปี ค.ศ. 1674 จักรวรรดิมราฐาเริ่มทำสงครามอย่างแข็งกร้าว โดยเริ่มตีเขตขันเทศ ยึดโปนทา การ์วาร์ และ โกลหาปุระ ของพีชปุระ และเข้าทำยุทธนาวีกับพวกสิททิแห่งจันจิรา และในต้นปี ค.ศ. 1676 เปชวาร์ ปินคาเล ได้ทำสงครามร่ว��กับราชาแห่งรามนครที่สุรัต หลังจากนั้นศิวาจีได้เข้าตีอถาณีในเดือนมีนาคม และได้เข้าล้อมเมืองเบฬคาวและวาเยมรายิม เมื่อถึงสิ้นปี ศิวาจีได้เปิดฉากสงครามในอินเดียตอนใต้ ด้วยกองกำลังกว่า 30,000 พลม้า และ 20,000 พลบก พระองค์เข้ายึดป้อมของพวกอทิลศาห์ที่เวลลุร์และชินจีจา ในการขยายดินแดนครั้งนี้ ศิวาจีทรงเรียกร้องปลุกใจให้ชาวทักขินมีจิตใจรักชาติบ้านเมือง เช่น ให้ทักขินเป็นมาตุภูมิที่ควรป้องกันการรุกรานจากคนนอก การเรียกร้องครั้งนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จ กุตาบข่านแห่งรัฐสุลต่านโควฬโกนทาแห่งทักขินตะวันออกเชิญชวนพระองค์ให้มาทำสนธิสัญญากัน การพิชิตดินแดนทางตอนใต้ของศิวาจีถือว่าสำคัญต่อสงครามในอนาคต และชินชีจาก็ถูกเมืองหลวงของพวกมราฐาในระหว่างการทำสงครามเพื่ออิสรภาพ
ศิวาจียังตั้งพระทัยจะกลับมาผูกมิตรกับพระเชษฐาต่างพระมารดาของพระองค์ คือ เอโกจีที่ 1 บุตรของศาหจีกับต���กาบาอี ผู้ครอบครองเมืองตันชาวุระต่อจากศาหจี แต่การผูกมิตรกลับไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นระหว่างกลับไปป้อมรายคัท ศิวาจีจึงทรงตีทัพของเอโกจีในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1677 และสามารถยึดครองพื้นที่ที่ราบสูงไมซูร์ได้ ทีปาบาอี มเหสีของเอโกจี ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของศิวาจี ได้ขอเจรจาใหม่กับศิวาจี และยังเชื่อว่าพระสวามียังห่างไกลจากพวกข้ามุสลิม ท้ายที่สุด ศิวาจียินยอมคืนแผ่นดินให้นางและลูกหลานหญิงของนางได้ครอบครองถือสิทธิ์คืนเดิม และ เอโกจียังได้ยินยอมเงื่อนไขในการปกครองแผ่นดินและรักษาอนุสรณ์ของศิวาจีในอนาคต
สวรรคตและการสืบราชสมบัติ
[แก้]การตั้งคำถามเรื่องรัชทายาทของศิวาจีเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนเนื่องจากสัมภาจี พระโอรสองค์โต มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีนัก ทั้งยังไร้ความรับผิดชอบและหมกหมุ่นอยู่แต่กับความสุขส่วนตน เพื่อตัดปัญหานี้ ศิวาจีจึงรับสั่งให้คุมขังสัมภาจีอยู่ที่เมืองปันหาฬาในปี 1678 สัมภาจีทรงหนีไปพร้อมกับพระชายาและไปเข้ากับพวกมุคัลประมาณปีหนึ่งก่อนที่จะกลับมาอย่างไม่คิดอะไร และถูกสั่งให้คุมขังอยู่ที่ปันหาฬาอีกครั้งหนึ่ง
ประมาณปลายเดือนมีนาคม 1680 ศิวาจีประชวรด้วยพระโรคไข้และโรคบิด และเสด็จสวรรคตลงในต้นเดือนต่อมาก่อนจะถึงวันหนุมานชยันตี พระมเหสีใหญ่ผู้ทรงไร้พระโอรสได้กระโจนลงกองฟอนของพระองค์สิ้นพระชนม์ตามไป ส่วนพระมเหสีองค์อื่น เช่น สักวาบาอี ไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำตาม เนื่องจากยังมีพระธิดาน้อยอยู่ การสวรรคตของศิวาจีมีข่าวลือว่าสวรรคตเพราะถูกนักบวชซูฟีชื่อ จัน มูฮัมหมัด แห่ง ชาลนา สาปแช่งไว้ บ้างก็ว่าถูกพระมเหสีอีกองค์พระนามว่า โสยาราบาอี ทรงวางยาพิษศิวาจี เพื่อจะให้พระโอรสพระนามว่า ราชาราม ขึ้นครองราชย์แทน หลังการเสด็จสวรรคต พระมเหสีโสยาบาอีทรงวางแผนกับกลุ่มเสนาบดีเพื่อพยายามนำเอาราชารามขึ้นครองราชย์แทนสัมภาจี ในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1680 ราชารามได้ขึ้นครองราชย์แทนพระบิดา อย่างไรก็ตาม สัมภาจีได้ยึดครองป้อมรายคัทหลังจากที่ได้สังหารผู้บัญชาการป้อมในวันที่ 18 มิถุนายน และขึ้นครองราชย์ในวันที่ 20 กรกฎาคม พร้อมทั้งรับสั่งให้จับกุมโสยาราบาอี ราชาราม และจันกีบาอี (พระมเหสีของราชาราม) และโสยาราบาอีก็ถูกสำเร็จโทษฐานกบฏในเดือนตุลาคม
จักรวรรดิมราฐาหลังการสวรรคต
[แก้]หลังการเสด็จสวรรคตของศิวาจีในปี ค.ศ. 1680 ซึ่งได้ทิ้งความขัดแย้งไว้กับจักรวรรดิมุคัล ปี ค.ศ. 1681 โอรังเซบได้เข้าพิชิตทางตอนใต้ และเข้ายึดแผ่นดินของพวกมราฐา รวมทั้งอาณาจักรอทิลศาห์และโคลโกณทา และสามารถกำจัดอาณาจักรสุลต่านเหล่านั้นได้สำเร็จ แต่กลับไม่สามารถปราบปรามจักรวรรดิมราฐาได้อีกเป็นเวลา 27 ปี ในช่วงเวลานั้น สัมภาจีถูกปลงพระชนม์ลงในสงคราม แต่พวกมราฐายังสามารถสืบทอดความแข็งแกร่งต่อไปด้วยผู้นำถัดมาอย่างราชาราม และ ตาราบาอี พระชายาม่ายของราชาราม แผ่นดินปกครองถูกแย่งชิงไป ๆ มา ๆ ระหว่างมราฐาและมุคัล ท้ายที่สุดจบลงด้วยชัยชนะของพวกมุคัลในปี ค.ศ. 1707
ศาหุจี พระนัดดาของศิวาจีและพระโอรสของสัมภาจี ถูกคุมขังในฐานะนักโทษโดยโอรังเซบเป็นเวลา 27 ปี หลังจากที่โอรังเซบสวรรคต จักรพรรดิองค์ต่อมาก็ได้ปล่อยตัวพระองค์ไป หลังจากที่ได้แย่งชิงอำนาจกับ ตาราบาอี พระมาตุจฉาของพระองค์ ท้ายที่สุด ศาหุก็ได้ปกครองจักรวรรดิมราฐาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1707 จนถึง ค.ศ. 1749 ระหว่างนั้นเอง พระองค์ได้แต่งตั้งบาฬจี วิศวนาถ ขึ้นเป็นเปชวาร์ (ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีของจักรวรรดิมราฐา หรือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน) ซึ่งลูกหลานของบาฬจีก็ได้ขึ้นเป็นเปชวาร์สืบต่ออีกหลายชั่วคน จักรวรรดิมราฐาจึงได้ยิ่งใหญ่ขึ้นด้วยการปกครองของเปชวาร์และทอดยาวลงถึงแผ่นดินทมิฬในทางตอนใต้ ถึงเมืองเปชวาร์ในทางตอนเหนือ และยาวถึงแผ่นดินบังคลา อย่างไรก็ตาม การรบที่ปานิปัตในครั้งที่ 3 กับจักรพรรดิ อาหมัด ชาห์ ทุรนี ส่งผลให้สูญเสียทหารมราฐาเป็นจำนวนมากและหยุดการขยายดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือไปสิบปี จนกระทั่งมาถะวราว เปชวาร์หนุ่มได้พิชิตอินเดียเหนืออีกครั้ง
ในการจัดการแผ่นดินอันยิ่งใหญ่ ศาหุและพวกเปชวาร์ได้มอบแผ่นดินในปกครองให้แก่กลุ่มนักรบที่แข็งแกร่งที่สุด และกลายเป็นกลุ่มพระราชาในแคว้นเล็กแคว้นน้อยในจักรวรรดิซึ่งสืบต่อมาจนถึงยุคอาณานิคม ในปี ค.ศ. 1775 พวกอังกฤษได้แทรกแซงและโจมตีที่เมืองปูเนจนกลายเป็นสงครามอังกฤษ-มราฐา ครั้งที่ 1 ซึ่งจักรวรรดิมราฐายังคงมีอำนาจต่อไปในอินเดียจนกระทั่งการพ่ายแพ้ในสงครามกับอังกฤษครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 3 หลังจากนั้นอังกฤษจึงสามารถอินเดียเกือบทั้งหมดได้ในที่สุด