งูหางกระดิ่ง
งูเห่าหางกระดิ่ง เป็นชื่อสามัญของงูพิษจำพวกหนึ่ง ที่อยู่ในวงศ์งูแมวเซา (Viperidae) จัดอยู่ใน 2 สกุล คือ Crotalus และSistrurus ในวงศ์ย่อย Crotalinae (Crotalus มาจากภาษากรีก มี��วามหมายว่า "Castanet" ส่วนคำว่า Sistrurus นั้นเป็นภาษาละตินที่มีความหมายในภาษากรีกว่า "Tail rattler" และมีความหมายตามรากศัพท์เดิมว่า "เครื่องดนตรี")[1] [2]
งูหางกระดิ่ง มีลักษณะเด่น คือ เกล็ดที่ปลายหางที่เป็นสารประกอบเคอราติน ที่เป็นอวัยวะที่สามารถทำให้เกิดเสียงได้ โดยเสียงนั้นเกิดจากการสั่นสะเทือนถี่ ๆ ของปล้องเกล็ดเป็นข้อ ๆ ที่หาง ซึ่งปล้องเกล็ดนี้พัฒนามาจากเกล็ดหางส่วนปลายนั่นเอง ทุกครั้งที่มีการลอกคราบปล้องเกล็ดนี้ก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นด้วย 1 ปล้องต่อการลอกคราบ 1 ครั้ง การลอกคราบนั้นอาจเกิดขึ้นหลายครั้งใน 1 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับอาหารที่ได้รับและอัตราการเติบโต สำหรับลูกงูที่เกิดใหม่นั้นจะมีปล้องเกล็ดที่หาง 1 ปล้อง ซึ่งยังไม่สามารถสั่นให้เกิดเสียงได้ แต่เมื่อผ่านการลอกคราบครั้งแรกไปแล้วก็สามารถสั่นให้เกิดเสียงได้ การสั่นให้เกิดเสียงนั้นก็เพื่อเป็นการข่มขู่เมื่อพบศัตรูเข้ามาใกล้นั่นเอง[3]
งูหางกระดิ่ง ปัจจุบันพบกว่า 30 ชนิด ทุกชนิดพบได้ในทวีปอเมริกาเหนือจนถึงอเมริกากลาง เช่น เม็กซิโก โดยมากจะอาศัยและหากินในที่ ๆ แห้งแล้ง เช่น ทะเลทราย และหากินบนพื้นดินมากกว่าจะขึ้นต้นไม้ ออกหากินในเวลากลางคืน โดยใช้การตรวจจับคลื่นความร้อนจากรังสีอินฟาเรดจากตัวเหยื่อด้วยอวัยวะรับคลื่นความร้อนที่เป็นแอ่งระหว่างช่องเปิดจมูกกับตา เป็นงูที่มีพิษร้ายแรงทำให้มนุษย์ที่ถูกกัดเสียชีวิตได้ สำหรับภูมิภาคอื่นที่ไม่มีงูหางกระดิ่ง แต่ก็มีงูบางชนิดในวงศ์เดียวกันนี้ ที่เกล็ดตามลำตัวสามารถเสียดสีทำให้เกิดเสียงดังได้เพื่อขู่ศัตรู เช่น งูพิษเกล็ดเลื่อย (Echis carinatus) ในประเทศอินเดีย เป็นต้น[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Howard, W. E. (1994). Prevention and Control of Wildlife Damage. F-21-26.
- ↑ Kardong, K. V. and Bels, V. L. (1998). Rattlesnake Strike Behavior: Kinematics. The Journal of Experimental Biology. 201: 837-850.
- ↑ 3.0 3.1 หน้า 410, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดย วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "Climate Changes Faster Than Species Can Adapt, Rattlesnake Study Finds", Science Daily, Dec. 05, 2011