ข้ามไปเนื้อหา

กองพันทหารม้าที่ 3 กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กองพันทหารม้าที่ 3 กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์
กองพันทหารม้าที่ 3 กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์
ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ม.พัน.3 ม.1 รอ.)
ประจำการ25 เมษายน พ.ศ. 2470
ประเทศ ไทย
เหล่า กองทัพบกไทย
รูปแบบทหารม้ารักษาพระองค์
ขึ้นกับกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์
กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์
กองบัญชาการเลขที่ 1158 ถนนทหาร แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ผู้อุปถัมภ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันสถาปนา25 เมษายน พ.ศ. 2470
ผู้บังคับบัญชา
ผู้บัญชาการปัจจุบันพันโท สุดเขตต์ แคล้วภัย

กองพันทหารม้าที่ 3 กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหน่วยทหารม้ารักษาพระองค์ซึ่งขึ้นตรงต่อกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ในกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์

ประวัติหน่วย

[แก้]

ชื่อของ "กองพันทหารม้าที่ 3" (ม.พัน.3 รอ.) ได้ก่อกำเนิดขึ้นมา 2 ระยะ กล่าวคือ ในครั้งแรกเป็นการพัฒนาและเปลี่ยนชื่อจาก "กรมทหารบกม้านครราชสีมาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ" มาเป็น "กองพันทหารม้าที่ 3 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ" เมื่อ พ.ศ. 2470 มีที่ตั้งอยู่ในค่ายสุรนารี ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยมีพันตรีหลวงรณเร่งรบ (เยื้อน ม้าเร็ว) เป็นผู้บังคับกองพันท่านแรก และได้ใช้นามหน่วยนี้ติดต่อกันเรื่อยมาเป็นเวลา 26 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2495 กองพันทหารม้าที่ 3 จึงแปรสภาพเป็น "กองพันทหารม้าที่ 6" ชื่อของ "กองพันทหารม้าที่ 3" จึงได้สลายไปในระยะแรก

นาม "กองพันทหารม้าที่ 3" ได้ก่อกำเนิดอีกครั้งในปีเดียวกัน (พ.ศ. 2495) นั่นเอง แต่เป็นคนละหน่วยกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กล่าวคือ เป็นหน่วยที่แปรสภาพจาก "กองพันรถรบที่ 1" มาเป็น "กองพันทหารม้าที่ 3 ยานเกราะ" โดยมีสถานะเป็นหน่วยขึ้นตรงของ "กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ฯ" (ม.1 รอ.) เรียกนามย่อว่า "ม.1 รอ.พัน.3" มีที่ตั้งอยู่ ณ ถนนทหาร เกียกกาย แขวงถนนนครชัยศรี เขตดุสิต กทม. เมื่อครั้งแรกที่แปรสภาพ "ม.1 รอ. พัน.3" หน่วยยังคงใช้ยานเกราะของกองพันรถรบเดิมเป็นยานรบหลักเรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2503 จึงได้แปรสภาพเป็นหน่วยในโครงการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐอเมริกามีสภาพเป็น "กองพันทหารม้า (ยานยนต์)" โดยใช้รถเกราะและรถถังแบบเก่าๆ ��ึ่งตกค้างมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยานรบหลัก

ต่อมา พ.ศ. 2504 มีการปรับปรุงแก้ไขอัตราอีกครั้งโดยรวมเอา "ม.1 รอ. พัน.2" และ "ม.1 รอ. พัน.3" เป็นกองพันเดียวกัน เรียกว่า "ม.1 รอ. พัน.3" ใช้ อจย.17 - 55 ก. ลงวันที่ 26 ก.ค. 2503 (กองพันทหารม้ายานยนต์) ตามคำสั่งกองทัพบกที่ 91/4957 ลงวันที่ 25 เม.ย. 2504 ใช้ยานยนต์ล้อ ตามโครงการช่วยเหลือทางการทหารที่ซ่อมสร้างจากประเทศญี่ปุ่น และได้ใช้ยานยนต์ประเภทนี้เป็นยานรบหลักอยู่เป็นเวลาถึง 15 ปี

ต่อมา พ.ศ. 2519 มีเปลี่ยนแปลงอัตราการจัดหน่วยใหม่มาใช้ อจย.17-55 ก. ลงวันที่ 19 พ.ค. 2518 หรือ พัน.ม.(ยานยนต์) ใช้รถเกราะคอมมานโด v - 150 ซึ่งมีทั้งแบบติดตั้งปืนใหญ่ ขนาด 90 มิลลิเมตร ,แบบลำเลียงพล และแบบ ติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด 81 มิลลิเมตร เป็นยานรบหลัก ตามคำสั่งกองทัพบก ที่ 58/19 ลงวันที่ 6 ก.ค. 2519

ต่อมา พ.ศ. 2531 กองพลทหารม้าที่ 2 รายงานขออนุมัติกองทัพบกแปรสภาพ/ปรับการจัดไปเป็น "กองพันทหารม้า-บรรทุกยานเกราะ" (พัน.ม.(ก.)) โดยใช้ อจย.17-25 พ. ลงวันที่ 10 มิ.ย. 2528 ตามคำสั่งกองทัพบก ที่ 212/2531 ซึ่งใช้รถสายพานลำเลียงพลแบบ 85 (รสพ.85 ประกอบด้วย รถสายพานบังคับการ, รถสายพานติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 82 มิลลิเมตร, รถสายพานติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิด ��นาด 120 มิลลิเมตร) เป็นยานรบหลักเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติธงชัยเฉลิมพลของหน่วย

[แก้]

กองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล 2 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่กองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2496 โดย พ.ต. สมศักดิ์ ปัญจมานนท์ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 3 เป็นผู้รับพระราชทาน

ครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานธงเฉลิมพลให้กับหน่วยทหาร ณ พระบรมมหาราชวัง ซึ่งกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ ฯ ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล (ผืนใหม่) เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2549 โดย พ.ท.ธัชพล เปี่ยมวุฒิ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ฯ (ในขณะนั้น) เป็นผู้รับพระราชทาน

เกียรติประวัติของหน่วย

[แก้]
  • พ.ศ.2471 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระมหากรุณาดำรงตำแหน่ง "ผู้บัญชาการพิเศษ" เพื่อเป็นเกียรติยศแห่ง “กองพันทหารม้าที่ 3” ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล
  • พ.ศ.2496 : ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพลจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2496 โดย พ.ต. สมศักดิ์ ปัญจมานนท์ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 3 เป็นผู้รับพระราชทาน
  • พ.ศ.2523 : กองทัพบกได้รายงานขอพระราชทานสถาปนาให้ “กองพันทหารม้าที่ 3” (ม.พัน.3) เป็นหน่วยรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ สร 0201/10520 ลงวันที่ 4 มิ.ย. 2523 ได้นำกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงแปรสภาพหน่วย “กองพันทหารม้าที่ 3” (ม.พัน.3) เป็น กอง “กองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” (ม.พัน.3 รอ.) ประดับพระปรมาภิไธยย่อ “รร.6” ไว้ที่หน้าอกเสื้อเบื้องขวา แจ้งความ ณ วันที่ 7 ก.ค.2523 จนถึงปัจจุบัน
  • พ.ศ.2539 : จัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าร่วมพิธีสวนสนามแสดงแสนยานุภาพกองทัพไทยเนื่องในวโรกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อ 23 มิ.ย.39

โดยมี พ.ท.วรายุทธ ด้วงกลัด ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ฯ (ในขณะนั้น) เป็นผู้ควบคุม

  • พ.ศ.2542 : จัดกำลัง 1 หมู่ธง เข้าร่วมพิธีสวนสนามสาบานตนของทหารรักษาพระองค์ฯ ณ ลานพระราชวังดุสิต ในวโรกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงพระเจริญพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา โดยมี พ.ท.วรายุทธ ด้วงกลัด ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ฯ (ในขณะนั้น) เป็นผู้ควบคุม
  • พ.ศ.2549 : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานธงเฉลิมพลให้กับหน่วยทหาร ณ พระบรมมหาราชวัง ซึ่งกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ ฯ ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล (ผืนใหม่) เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2549 โดยมี พ.ท.ธัชพล เปี่ยมวุฒิ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ฯ (ในขณะนั้น) เป็นผู้รับราชทาน
  • พ.ศ.2549 : จัดกำลัง 1 หมู่ธง เข้าร่วมพิธีสวนสนามสาบานตนของทหารรักษาพระองค์ ณ ลานพระราชวังดุสิต ในวโรกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยมี พ.ท.ธัชพล เปี่ยมวุฒิ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ฯ (ในขณะนั้น) เป็นผู้ควบคุม
  • พ.ศ.2553 : สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงเยี่ยมทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติภารกิจ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งมีกำลังพลของหน่วยได้รับบาดเจ็บ ได้รับพระราชทานวโรกาสเฝ้ารับเสด็จฯ จำนวน 1 นายคือ พ.ท.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ฯ (ในขณะนั้น)
  • พ.ศ.2554 : จัดกำลัง 1 หมู่ธง เข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ ต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศ์ ณ พระบรมมหาราชวังเนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมี พ.ท.วชรนันท์ กองศรี ผู้บังคับกองพัน เป็นผู้ควบคุม

การปฏิบัติการรบ

[แก้]
  • พ.ศ.2483 : กองพันทหารม้าที่ 3 โดยการนำของ พ.ต.หลวงชำนาญจักรศิลป์ผู้บังคับกองพัน (ในขณะนั้น) ได้ออกปฏิบัติราชการสนามกรณีพิพาทอินโดจีน ณ อำเภอเดชอุดม และอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี
  • พ.ศ.2484 : กองพันทหารม้าที่ 3 เป็นกำลังส่วนหนึ่งของ กรมทหารม้าเฉพาะกิจที่ 35 (ม.35) ซึ่งได้รับมอบภารกิจให้ทำการลาดตระเวนและตรึงกำลังข้าศึกมิให้ล่วงล้ำแนวชายแดน บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี พ.ต.หม่อมหลวงสุบรรณเสนีย์ เป็นผู้บังคับกองพัน (ในขณะนั้น)
  • พ.ศ.2485 : กองพันทหารม้าที่ 3 โดยการนำของ พ.ต. จรัญ วาทยานนท์ ผู้บังคับกองพัน (ในขณะนั้น) เป็นส่วนหนึ่งของกองพลทหารม้า (พล.ม.) มีภารกิจในการเข้าตียึดเมืองมะ เมืองลา ในกรณีพิพาทอินโดจีน
  • พ.ศ.2494 : กองพันทหารม้าที่ 3 ส่งกำลัง 1 กองร้อยไปร่วมปราบจลาจล ภายในพระนคร (กรุงเทพมหานคร) โดยมี ร.ท. อุดม อุณหเลขกะ เป็นผู้บังคับกองร้อย (ผบ.ร้อย.)
  • พ.ศ.2512 : กองพันทหารม้าที่ 3 จัดกำลัง 1 กองพันทหารม้าบรรทุกยานเกราะ (พัน.ม. (ก.)) ด้วยการสนธิกำลังโดยมี พ.ท. ชัยชนะ ธารีฉัตร ผบ.ม.1 รอ. พัน.3 เป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าบรรทุกยานเกราะ (ผบ.พัน.ม.ยานเกราะ) กองพลทหารอาสาสมัคร (พล.อสส.) ร่วมปฏิบัติการรบ ณ ประเทศเวียดนามใต้
  • พ.ศ.2522-2528 : กองพันทหารม้าที่ 3 จัดกำลังสมทบหน่วยเฉพาะกิจกองพลทหารม้าที่ 2 ปฏิบัติการผลักดันและตรึงกำลังกรณีกองกำลังต่างชาติล่วงล้ำอธิปไตยและบูรณภาพดินแดนแห่งราชอาณาจักรบริเวณพื้นที่ด้านตะวันออก จังหวัดปราจีนบุรี
  • พ.ศ.2545-2554 : กองพันทหารม้าที่ 3 จัดกำลังสมทบกองทัพภาคที่ 3 ในการตรึงกำลัง ปกป้องอธิปไตยแห่งราชอาณาจักร และจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน ด้านจังหวัดตาก จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่

การปฏิบัติงานความมั่นคงภายใน

[แก้]
  • พ.ศ.2546/2547/2552 : กองพันทหารม้าที่ 3 จัดกำลังสมทบกองอำนวยรักษาความมั่นคงภายใน กองพันทหารม้าที่ 3 ในการปฏิบัติการการสกัดกั้นปัญหายาเสพติดบริเวณพื้นที่ชายแดน ด้านจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่
  • พ.ศ.2548 : กองพันทหารม้าที่ 3 จัดกำลังสมทบศูนย์เสริมสร้างสันติสุข กองทัพภาคที่ 4 ในการปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จังหวัดปัตตานี
  • พ.ศ.2551 : กองพันทหารม้าที่ 3 จัดกำลังฝึกปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ บริเวณอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
  • พ.ศ.2554-2555 : กองพันทหารม้าที่ 3 จัดกำลังสมทบ กกล.ผาเมือง กองทัพภาคที่ 3 ในการปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศ ณ จังหวัดเชียงใหม่

ภารกิจพิเศษ

[แก้]
  • การถวายความปลอดภัยให้กับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ หน่วย และรอง ผบ.หน่วย ปฏิบัติหน้าที่ราชองครักษ์เวร (รอ.) จัดกำลังปฏิบัติหน้าที่กองกำลังรักษาการณ์ภายนอก พระบรมมหาราชวัง

เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์ของหน่วย

[แก้]

เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์ในโอกาสปกติ

[แก้]
ประเภทเครื่องแบบ ภาพด้านหน้า ภาพด้านหลัง ลักษณะ
สำหรับนายทหารสัญญาบัตร
ตามกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 77 ข้อ 1 (8)
นายทหารโอกาสปกติ (ด้านหน้า) นายทหารโอกาสปกติ (ด้านหลัง)

หมวก: หมวกยอดสีขาว มีพู่สีน้ำเงินหม่น หน้าหมวกมีตราครุฑพ่าห์ ยอดหมวกและสายรัดคางโซ่ถักทำด้วยโลหะสีทอง หรือหมวกทรงหม้อตาลสีน้ำเงินหม่น (หมวกทรงหม้อตาลสีน้ำเงินหม่นให้ใช้ในโอกาสอื่นที่มิได้ประจำแถวทหาร)
เสื้อ: สักหลาดหรือเสิร์จสีน้ำเงินหม่น ที่แนวอกมีดุมโลหะสีทองขนาดใหญ่ 2 แถว แถวละ 6 ดุม ที่ปลายปลอกคอโดยรอบมีแถบไหมทอง 1 แถบ
คันชีพ: สายสะพาย ทำด้วยหนังสีน้ำเงินดำ ด้านนอกมีแถบไหมทอง
ประคต: ไหมทอง มีหัวเกี่ยวเป็นโลหะสีทอง
กางเกง: สักหลาดหรือเสิร์จสีน้ำเงินหม่น มีเส้นสักหลาดสีเหลืองที่แนวตะเข็บข้างละ 1 เส้น
รองเท้า: หุ้มข้อหนังสีดำ
กระเป๋าคันชีพ: ทำด้วยหนังสีน้ำเงินดำ มีแถบไหมทอง 1 แถบ มีครุฑพ่าห์ทำด้วยโลหะสีทองติดที่ฝากระเป๋า
ชายเสื้อด้านหลัง: ที่เอวด้านหลังมีดุมโลหะสีทอง ขนาดกลาง จำนวน 2 แถว แถวละ 3 ดุม มีแถบไหมทอง กว้าง 1 ซม. ข้างละ 1 แถบ ลงมาจรดชายเสื้อ
แขนเสื้อด้านข้าง: ข้อมือด้านนอกทั้ง 2 ข้าง โดยรอบมีแถบไหมทอง ขนาด 1 ซม. ใต้แถบประดับอักษรพระปรมาภิไธยย่อ รร.6 ภายใต้พระมหามงกุฎ ทำด้วยโลหะสีทอง

สำหรับนายทหารประทวนและพลทหาร
ตามกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 77 ข้อ 2 (8)
นายสิบ/พลทหารโอกาสปกติ (ด้านหน้า) นายสิบ/พลทหารโอกาสปกติ (ด้านหลัง)

หมวก: หมวกยอดสีขาว มีพู่สีน้ำเงินหม่น หน้าหมวกมีตราครุฑพ่าห์ ยอดหมวกและสายรัดคางโซ่ถักทำด้วยโลหะสีทอง
เสื้อ: สักหลาดหรือเสิร์จสีน้ำเงินหม่น ที่แนวอกมีดุมโลหะสีทองขนาดใหญ่ 2 แถว แถวละ 6 ดุม ที่ปลายปลอกคอโดยรอบมีแถบไหมสีเหลือง 1 แถบ
คันชีพ: สายสะพาย ทำด้วยหนังสีน้ำตาล
ประคต: ไหมสีเหลือง มีหัวเกี่ยวเป็นโลหะสีทอง
กางเกง: สักหลาดหรือเสิร์จสีน้ำเงินหม่น มีเส้นสักหลาดสีเหลืองที่แนวตะเข็บข้างละ 1 เส้น
รองเท้า: หุ้มข้อหนัง���ีดำ
กระเป๋าคันชีพ: ทำด้วยหนังสีน้ำตาล มีครุฑพ่าห์ทำด้วยโลหะสีทองติดที่ฝากระเป๋า
ชายเสื้อด้านหลัง: ที่เอวด้านหลังมีดุมโลหะสีทอง ขนาดกลาง จำนวน 2 แถว แถวละ 3 ดุม มีแถบไหมสีเหลือง กว้าง 1 ซม. ข้างละ 1 แถบ ลงมาจรดชายเสื้อ
แขนเสื้อด้านข้าง: ข้อมือด้านนอกทั้ง 2 ข้าง โดยรอบมีแถบไหมสีเหลือง ขนาด 1 ซม. ใต้แถบประดับอักษรพระปรมาภิไธยย่อ รร.6 ภายใต้พระมหามงกุฎ ทำด้วยโลหะสีทอง
* หมายเหตุ เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์สำหรับนายทหารประทวนชั้นนายสิบและพลทหาร มีลักษณะเช่นเดียวกันกับเครื่องแบบเต็มยศของนายทหารประทวนชั้นจ่านายสิบ เว้นแต่ให้ใช้เสื้อสักหลาดหรือเสิร์จสีน้ำเงินหม่น มีอินทรธนูอ่อนขัดดุมสีทองขนาดเล็ก

เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์ในโอกาสขี่ม้า

[แก้]
ประเภทเครื่องแบบ ภาพ ลักษณะ
สำหรับนายทหารสัญญาบัตร
ตามกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 76 ข้อ 1 (5)
นายทหารโอกาสขี่ม้า

เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์สำหรับนายทหารสัญญาบัตรในโอกาสขี่ม้า ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเช่นเดียวกันกับ เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์สำหรับนายทหารสัญญาบัตร เว้นแต่
หมวก : ให้ใช้หมวกยอด มีตัวหมวกเป็นโลหะทรงสูงสีเงินยอดหมวกเป็นรูปดอกบัวตูมทำด้วยโลหะสีทอง มีพู่สีน้ำเงินหม่น ด้านหน้าหมวกมีตราครุฑพ่าห์ มีรูปช่อชัยพฤกษ์และสายรัดคางโซ่ถักทำด้วยโลหะสีทอง ปลายสายรัดคางมีดุมโลหะสีทองรูปดอกมะเขือติดที่ริมขอบหมวกข้างละ 1 ดุม ด้านหลังหมวกจากกึ่งกลางหมวกถึงขอบหมวกมีแนวดอกมะเขือทำด้วยโลหะสีทอง
กางเกง : ใช้กางเกงแถบขี่ม้า ทำด้วยสักหลาดหรือเสิร์จสีน้ำเงินหม่น มีเส้นสักหลาดสีเหลืองที่แนวตะเข็บข้างละ 1 เส้น
รองเท้า : สูงหนังสีดำ ติดเดือยโลหะ

สำหรับนายทหารประทวนและพลทหาร
ตามกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 76 ข้อ 1 (5)
นายสิบ/พลทหารโอกาสขี่ม้า

เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์สำหรับนายทหารประทวนและพลทหารในโอกาสขี่ม้า ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเช่นเดียวกันกับ เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์สำหรับนายทหารประทวนและพลทหาร เว้นแต่ ให้ใช้หมวกและกางเกงเช่นเดียวกันกับเครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์สำหรับนายทหารสัญญาบัตรในโอกาสขี่ม้า ส่วนรองเท้าใช้รองเท้าหุ้มข้อหนังสีดำติดเดือยโลหะประกอบกับสนับแข้งหนังสีดำ และนายทหารชั้นประทวนจะใช้รองเท้าสูงหนังสีดำติดเดือยโลหะก็ได้

อ้างอิง

[แก้]
  • สมุดภาพเครื่องแบบทหารบก กรมกำลังพลทหารบก พ.ศ. 2541

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]