ข้ามไปเนื้อหา

กรณีตากใบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรณีตากใบ
เป็นส่วนหนึ่งของ ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
แผนที่จังหวัดนราธิวาสจุดเกิดเหตุอำเภอตากใบ
แผนที่
สถานที่ตั้งของ สถานีตำรวจภูธรตากใบ (1) และค่ายอิงคยุทธบริหาร (2)
สถานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
วันที่25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 (20 ปีก่อน) (2547-10-25)
ประเภทการสังหารหมู่
ตาย85 คน[1][2][3]

กรณีตากใบ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยเริ่มต้นจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คนซึ่งถูกจับกุมตัวในข้อหาว่ามีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์ในเหตุปล้นปืนและก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้

ประชาชนในวันนั้นทยอยเดินทางมาเป็นจำนวนมาก เพื่อชุมนุมร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบุคคลทั้ง 6 คน ณ สถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้มีการเจรจาขอให้เลิกการชุมนุม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาถือศีลอดในศาสนาอิสลาม แต่การเจรจากลับไม่เป็นผล จึงเกิดการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น ทำให้มีประชาชนถูกควบคุมตัวกว่า 1,300 คน เสียชีวิต 85 คน และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์

[แก้]

เหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ชึ่ง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เริ่มขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เมื่อสมาชิกของกลุ่มมุสลิมติดอาวุธได้โจมตีที่ตั้งแห่งหนึ่งของกองทัพ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกาศขยายการใช้กฎอัยการศึกจากเดิมที่มีประกาศอยู่แล้วในบางพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี[4]

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งได้ชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการคุมขังประชาชน 6 คนที่ถูกกล่าวหาว่ามอบอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อผู้ชุมนุมขว้างปาก้อนหินและพยายามจะบุกสถานีตำรวจ กองกำลังความมั่นคงได้ใช้แก๊สน้ำตาและยิงตอบโต้ มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน และถูกจับกุมประมาณ 1,300 คน ก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่ซึ่งคนจำนวนมากถูกทุบตี ในจำนวนคนที่ถูกจับกุมมีคนอย่างน้อยอีก 79 คนเสียชีวิต[4] การชันสูตรพบว่าเกิดจากการหายใจไม่ออก หมดสติกระทันหันจากความร้อน และการชัก ซึ่งน่าจะเกิดจากสภาพที่แอดอัดเกินไประหว่างการเดินทางและอยู่ในรถบรรทุกทหารกว่า 6 ชั่วโมงและจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม เสียชีวิตรวม 85 คน คนที่เหลือส่วนใหญ่หลังถูกสอบสวนแล้วก็ถูกปล่อยโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่มี 58 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ารวมตัวชุมนุมโดยผิดกฎหมาย

ผลที่ตามมา

[แก้]

เหตุการณ์ดังกล่าวจุดประกายให้เกิดการประท้วงอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ[5] วีซีดีซึ่งจัดทำโดยกลุ่มมุสลิม ได้แสดงให้เห็นถึงภาพเหตุการณ์เช่นเดียวกับเสียง วีซีดีเหล่านี้ได้ถูกส่งเวียนไปตามกลุ่มมุสลิมในประเทศไทย[6] รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อ้างว่าเป็นการผิดกฎหมายในการครอบครองวีซีดีดังกล่าวและกล่าวว่ารัฐบาลสามารถฟ้องร้องผู้��ี่มีไว้ในครอบครองได้ โดยวีซีดีดังกล่าวมีเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อและมุ่งโจมตีรัฐบาลทักษิณ[6]

ไม่นานหลังจากเหตุการณ์ ปฏิกิริยาแรกของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ออกมากล่าวว่าชายเหล่านี้เสียชีวิต "เพราะพวกเขายังอ่อนแอจากการอดอาหารระหว่างเดือนรอมฎอน"

กระทั่งวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 ไม่มีสมาชิกกองกำลังความมั่นคงที่มีส่วนรับผิดชอบถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม[7] ต่อมานายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวแสดงความขอโทษอย่างเป็นทางการต่อเหตุการณ์ดังกล่าว[8]

ภาคประชาสังคมได้มีความพยายามเรียกร้องสันติภาพ[9][10][11][12][13][14] รวมทั้งต่อต้านการใช้ความรุนแรง[15][16][17]

คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง

[แก้]
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล หนึ่งในกรรมการคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง

รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 11 คนเพื่อสืบสวนหาความจริง ประกอบไปด้วย[18]

  1. พิเชต สุนทรพิพิธ ประธานคณะกรรมการ
  2. พลเรือตรี นายแพทย์ วิทุร แสงสิงแก้ว รองประธานกรรมการ
  3. เรวัต ฉ่ำเฉลิม กรรมการ
  4. ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ กรรมการ
  5. ขวัญชัย วศวงศ์ กรรมการ
  6. พลตำรวจเอก ดรุณ โสตถิพันธุ์ กรรมการ
  7. อิสมาแอ อาลี กรรมการ
  8. ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม กรรมการ
  9. อาศิส พิทักษ์คุมพล กรรมการ
  10. วีระยุค พันธุเพชร เลขานุการ
  11. นิพนธ์ ฮะกีมี ผู้ช่วยเลขานุการ

คณะกรรมการได้รายงานข้อค้นพบกับรัฐบาลในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 แต่ข้อค้นพบดังกล่าวไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ[4] โดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงสรุปว่าวิธีการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังติดอาวุธและใช้กระสุนจริง โดยเฉพาะใช้กำลังทหารเกณฑ์ และทหารพรานซึ่งมีวุฒิภาวะไม่สูงพอเข้าร่วมในการเข้าสลายการชุมนุมนั้นเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมไม่เป็นไปตามแบบแผน และวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล นอกจากนี้คณะกรรมการดังกล่าวยังพบว่าผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องละเลยไม่ควบคุมดูแลการลำเลียง และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมประท้วงที่ถูกควบคุมตัวให้แล้วเสร็จ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารระดับชั้นผู้น้อยที่มีข้อจำกัดด้านประสบการณ์[19]โดยผลสอบของคณะกรรมการเป็นดังนี้

  • พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา
  • พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ได้รับคำสั่งจากแม่ทัพภาคที่ 4 ให้จัดเตรียมน้ำ อาหาร และพื้นที่รองรับผู้ถูกควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ปฏิบัติงานไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา จากกรณีพบว่าในรถบรรทุกมีคนตาย แต่กลับมิได้มีคำสั่งหรือดำเนินการใดๆ กับผู้ควบคุมรถบรรทุกหรือผู้ถูกควบคุมที่จอดรออยู่ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้น
  • พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ผู้ควบคุมกำลังและเป็นหน่วยภาคยุทธวิธีในการสลายการชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ปฏิบัติงานไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา จากกรณีไม่อยู่ควบคุมดูแลภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วง แต่ได้ออกจากพื้นที่ไปพบนายกรัฐมนตรี ที่อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส โดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น[20]

การฟ้องร้องคดีความใน พ.ศ. 2547

[แก้]

จากกรณีที่เกิดขึ้น ได้เกิดกระบวนการฟ้องร้องตามกฎหมายในกรณีตากใบ โดยแบ่งออกเป็น 4 คดีความ[21] ได้แก่

  1. คดีแกนนำการชุมนุม: พนักงานอัยการได้ฟ้องร้องต่อแกนนำการชุมนุมจำนวน 59 คน (หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องร้องเสียชีวิต 1 คน) ในข้อหาปลุกปั่นยุยงให้เกิดความวุ่นวาย ต่อมารัฐบาลในยุคนั้น โดย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เลือกที่จะถอนฟ้องด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง คือ

    "การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ และอาจกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ…"

    ซึ่งสังเกตได้ว่าฝั่งรัฐต้องการจะประนีประนอมกับประชาชนในพื้นที่ คล้ายคลึงกับการนิรโทษกรรมตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 มากกว่าการใช้กฎหมายในการจัดการปัญหา รวมถึงไม่ทำให้ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นข้ออ้างในการสร้างแนวร่วมมุมกลับจากประชาชนในพื้นที่ และถูกนำมาใช้เป็นประเด็นการเมืองในการต่อต้านรัฐบาล[21]
  2. คดีแพ่งจากญาติผู้เสียชีวิต: ฝ่ายญาติผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บและทุพพลภาพได้รวมตัวกันยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการเสียชีวิตและการบาดเจ็บในการขนย้ายผู้ที่ถูกจับกุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ แบ่งออกเป็น 7 สำนวนช่วงปี พ.ศ. 2548 ถึง 2549 จากนั้นได้มีการเจรจาและประณีประนอมกันในใชั้นศาล จนผู้เสียหายได้รับการเยียวยาทางแพ่ง จึงถือว่าเป็นอันสิ้นสุดในส่วนของคดี[21]
  3. คดีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชุมนุม: ในระยะเวลาการสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชุมนุม 7 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่เองไม่สามารถระบุผู้ที่ทำให้บุคคลทั้ง 7 เสียชีวิตได้ เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม ทำให้พนักงานอัยการได้สั่งให้ยุติการสอบสวน เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต[21]
  4. คดีผู้เสียชีวิตจากการขนย้าย: ในการฟ้องร้องคดีที่เกิดผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายจากหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จำนวน 78 คน พนักงานอัยการได้ยื่นขอเปิดการไต่สวนการเสียชีวิตโดยศาล อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของผู้ที่ถูกควบคุมตัวจำนวนมากภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐได้อ้างว่าตนได้ปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา 150 การไต่สวนกินระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 โดยศาลได้สรุปสำนวนในคดีดังกล่าวว่า สาเหตุของการเสียชีวิตของทั้ง 78 คนนั้นเกิดจาก "การขาดอากาศหายใจ" ไม่ได้มีหลักฐานปรากฏว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานทำตามหน้าที่ ซึ่งในคดีดังกล่าวมี พลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นจำเลยด้วย พนักงานสอบสวนจึงได้ส่งสำนวนให้กับอัยการ ซึ่งในเวลานั้นอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่มีปรากฏพยานหลักฐาน ว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต ซึ่งในเวลานั้นผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นเช่นเดียวกับอัยการ จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีดังกล่าวสิ้นสุดลง[21]

โดยสรุป จากเหตุการณ์เมื่อมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ เป็นการตายผิดธรรมชาติที่ต้องชันสูตรพลิกศพและต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้ศาลไต่สวน โดยผู้เสียชีวิตจากการถูกยิง 7 คน ไม่มีการไต่สวนผลชันสูตรพลิกศพ โดยพบว่าปลายปี พ.ศ. 2549 มีหนังสือของอัยการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น ลงความเห็นว่าไม่พบผู้กระทำความผิด ให้งดการสอบสวน ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 78 คน ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งผลการไต่สวนสำนวนชันสูตรพลิกศพ ในปี พ.ศ. 2552 ว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผลการไต่สวนสำนวนการชันสูตรพลิกศพของศาล จะต้องถูกส่งไปให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาด ซึ่งปรากฏว่าสำนวนดังกล่าวไม่เคยถูกส่งถึงอัยการสูงสุดมาก่อน

การเยียวยา

[แก้]

หลังจากสิ้นสุดกระบวนการทางศาลทั้ง 4 คดี รัฐบาลในสมัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีตากใบ จำนวน 987 ราย วงเงินรวมกว่า 641 ล้านบาท ครอบคลุมกรณี[22]

  • การเสียชีวิต จำนวน 85 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท
  • การทุพพลภาพ จำนวน 1 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท
  • การบาดเจ็บ จำนวน 49 ราย รายละระหว่าง 2.25 แสนบาทจนถึง 4.5 ล้านบาท
  • การถูกดำเนินคดี จำนวน 30 ราย รายละ 3 หมื่นบาท
  • การถูกควบคุมตัวแต่มิได้ถูกดำเนินคดี จำนวน 794 ราย รายละ 1.5 หมื่นบาท

โดยการเยียวยาดังกล่าวกระทำผ่าน ระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2555[22] ซึ่งดำเนินการโดย พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวนการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ. บต.) ในเวลานั้น

คำขอโทษจากทักษิณ

[แก้]

ทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวคำขอโทษต่อกรณีตากใบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2565 หลังจากเกิดเหตุการณ์และผ่านไปถึง 18 ปี ระหว่างการตอบคำถามจากผู้สื่อข่าวในการพูดคุยผ่านแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ในเวลานั้นว่า ตนได้รับรายงานเหตุการณ์ในตอนนั้นว่ามีการไปปิดล้อมสถานีตำรวจเพื่อกดดันให้เกิดการปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ก่อความไม่สงบ ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้น้ำฉีดเพื่อสลายการชุมนุมและเกิดการปะทะกัน และดำเนินการสลายการชุมนุม จากนั้นได้ลำเลียงตัวผู้ชุมนุมและพบว่ามีผู้เสียชีวิตในระหว่างการลำเลียง[22]

เขากล่าวในคลับเฮาส์ต่อถึงรายงานที่ได้รับหลังเหตุการณ์ ว่ากระบวนการขนย้ายที่ผิดกับหลักการทั่วไป และสงสัยว่าทำไมถึงใช้วิธีการนอนซ้อนทับกันจนขาดอากาศหายใจ ผู้ปฏิบัติทำให้ตนถูกโกรธและเป็นที่เกลียดชังจากสังคม โดยเฉพาะชาติมุสลิมอย่างประเทศมาเลเซียซึ่งได้ทราบหลังจากได้ถูกรัฐประหารไปแล้ว ซึ่งมาเลเซียเข้าใจว่าเป็นคำสั่งของตน ซึ่งทักษิณได้พบภายหลังว่าเป็นกระบวนการของทหารที่ต้องการสร้างความเกลียดชังให้ตน เนื่องจากจะไม่เอาตนจนเกิดการยึดอำนาจ[22]

นอกจากนี้ทักษิณยังได้ย้ำว่าตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สั่งการ และกล่าวโทษว่า "เป็นเรื่องที่สั่งการโดยทหาร" เพื่อพาผู้ชุมนุมเหล่านี้ไปยังค่ายทหาร[22]

สุดท้ายเขาได้กล่าวขอโทษถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า[22]

"ถึงแม้ผมไม่ได้สั่งการ แต่ในฐานะที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ผมต้องขอโทษ ขออภัย แก่บรรดาญาติพี่น้องของผู้ที่สูญเสีย และผู้ที่ได้รับความเสียหายในครั้งนั้นด้วย... ถือเป็นความผิดพลาดอย่างแรงของการลำเลียงผู้ต้องหาแบบนั้น"

การรื้อฟื้นคดีความใน พ.ศ. 2567

[แก้]

วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 คดีนี้ได้กลับสู่กระบวนการอีกครั้ง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งสำนวนคดีอาญาของสถานีตำรวจภูธรหนองจิก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พร้อมสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพไปยังอัยการสูงสุด พร้อมมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจนถึงขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของอัยการสูงสุด โดยผู้เสียหายจำนวน 48 ครอบครัว เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ รวม 9 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวต่อศาลจังหวัดนราธิวาส[23]

การฟ้องร้องจากญาติผู้เสียชีวิต

[แก้]

กระทั่งวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งรับฟ้องคดีจำเลยรวม 7 คนในข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว และยกฟ้องจำเลยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำนวน 2 คน ได้แก่ พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และ พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรตากใบ ซึ่งครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 48 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง โดยศาลเห็นว่าคดีมีมูลตามที่โจทก์ยื่นพยานหลักฐานและมีเหตุการณ์สลายการชุมนุม และการเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นจริง[24] สำหรับจำเลย 7 คน ที่ศาลรับฟ้อง ประกอบด้วย

  • จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย
  • จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารรราบที่ 5
  • จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และอดีตสมาชิกวุฒิสภา
  • จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และอดีตสมาชิกวุฒิสภา
  • จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรตากใบ
  • จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
  • จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส[25]

ขณะที่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 7 เนื่องจาก[24]

  • จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนร่วมขณะเข้าจับกุมและควบคุมตัว เพียงแต่รอรับผู้ถูกคุมตัวไปยังค่ายอิงคยุทธ จึงไม่เข้าเงื่อนไงข้อหาตามมาตรา 288[24]
  • จำเลยทึ่ 7 ไม่ได้มีส่วนร่วม โดยปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สามแยกตากใบเพื่อตั้งจุดสกัด และถูกขอให้ไปดำเนินเรื่องปล่อยตัวชั่วคราวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน[24]

นอกจากนี้ยังมีการออกมาตอบโต้ประเด็นที่มีการออกมาสื่อสารว่ารัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ได้ดำเนินการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดแล้วนั้น กระบวนการดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นการสิ้นสุด แต่ยังคงต้องคืนความยุติธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบ อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความจากมูลนิธิทนายความมุสลิม ให้สัมภาษณ์กับ เดอะ โมเมนตัม ว่าการเยียวยาเป็นคนละประเด็นกับการนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐในเวลานั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม[26]

“การเยียวยาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รัฐจะต้องทำในฐานะผู้รับผิดชอบ แต่การเอาผู้กระทำผิดมารับโทษนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่ง การเยียวยาในคดีที่มีการเสียชีวิตของคนจำนวนมากมายขนาดนี้ ไม่สามารถเยียวยาด้วยเงินเพียงอย่างเดียวได้ มันไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ”
“ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2552-2555 ที่มีการเยียวยาคดีตากใบ รัฐบาลไม่มีการดำเนินการทางอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับคดีตากใบเลย แต่อยู่ๆ ก็ข้ามมาที่การเยียวยา ซึ่งผมมองว่ามันไม่ใช่สิ้นสุดคดีอย่างถูกต้อง”

— อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู, ทนายความจากมูลนิธิทนายความมุสลิม

การฟ้องร้องโดยอัยการ

[แก้]

ในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 อัยการสูงสุดได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพจากศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งหลังจากได้รับแล้วได้มีคำสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมในอีกหลายหัวข้อ กำหนดให้ทางตำรวจส่งภายในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ส่งผลการสอบสวนทั้งหมดให้กับอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2567[27] แม้ว่าฝ่ายตำรวจในชั้นสอบสวนจะยืนความเห็นว่าไม่สั่งฟ้อง อัยการสูงสุดได้พิจารณาให้ฟ้องร้องผู้ต้องหาจำนวน 8 คน ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2567[28] ประกอบด้วย

  • ผู้ต้องหาที่ 1 พล.อ. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ในฐานะผู้สั่งการ
  • ผู้ต้องหาที่ 2 ร.ต. ณัฐวุฒิ เลื่อมใส พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 3 พลทหาร วิษณุ เลิศสงคราม พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 4 ร.ท. วิสนุการณ์ ชัยสาร ร.น. พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 5 พลหทาร ปิติ ญาณแก้ว พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 6 พ.จ.ต. รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ พลขับ
  • ผู้ต้องหาที่ 7 พ.ท. ประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ควบคุมขบวนรถ
  • ผู้ต้องหาที่ 8 ร.ท. ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ พลขับ

อัยการสูงสุดให้เหตุผลว่า แม้ผู้ต้องหาทั้ง 8 คนจะขาดเจตนา แต่การจัดหารถสำหรับบรรทุกให้เหมาะสมนั้นควรจะเป็นสิ่งที่ผู้ต้องหาที่ 1-7 รับทราบ นอกจากนี้ ผู้ต้องหาที่ 2-6 และ 8 ควรจะเห็นสภาพรถดังกล่าว แต่ไม่ดำเนินการใด ๆ จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 78 คน ผู้ต้องหาทั้ง 8 คนจึงเข้าข่ายฐานความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่น ทำให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง ซึ่งจะแจ้งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประสานให้แจ้งข้อกล่าวหาและส่งตัวผู้ต้องหาไปที่อัยการจังหวัดปัตตานีต่อไป[28]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Tak Bai and Krue Se Report". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 29 August 2015.
  2. Nick Cumming-Bruce (11 November 2004). "In southern Thailand, a crossroads of terror". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 November 2012. สืบค้นเมื่อ 1 November 2012.
  3. Roger Hardy (15 February 2005). "Thailand: The riddle of the South". BBC News. สืบค้นเมื่อ 1 November 2012.
  4. 4.0 4.1 4.2 Amnesty International Annual Report 2005 รายงานประจำปีของแอมเนสตีอินเทอร์เนชันแนล บันทึกงานสิทธิมนุษยชนที่องค์กรดำเนินการระหว่างมกราคม-ธันวาคม 2004 นน. 249-250.
  5. เหตุการณ์ตากใบกับการแปลงเปลี่ยนที่ชะงักงัน
  6. 6.0 6.1 "2bangkok.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-23. สืบค้นเมื่อ 2011-01-03.
  7. "Amnesty Internation Report 2006". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-12. สืบค้นเมื่อ 2011-01-03.
  8. The Nation, PM Surayud issues apologies for Tak Bai Massacre, 3 November 2006
  9. การเรียกร้องสันติภาพกรณีตากใบ
  10. “พันแสงรุ้ง” สารคดีสร้างสรรค์เพื่อสันติภาพแดนใต้
  11. เพื่อสันติภาพชายแดนใต้[ลิงก์เสีย]
  12. เวทีถอดบทเรียน 10 ปี ตากใบ “คืนอากาศให้ตากใบ โอกาสกับสันติภาพ”
  13. วันสตรีสากล (3) "ผู้หญิงคือทุกๆ ความเป็นไปได้ แม้กระทั่งสร้างสันติภาพ"
  14. เหตุการณ์ตากใบ ประชาชนยังอยากเห็นสันติสุขที่แท้จริง
  15. รุมประณาม! เหตุระเบิด หน้าโรงเรียนตากใบ
  16. สภานักเรียน ร.ร.เอกชนฯ ออกแถลงการณ์ ต่อต้านผู้ก่อเหตุระเบิดตากใบ
  17. มาราปาตานีแถลงการณ์ประณามเหตุระเบิดที่-อ-ตากใบ-จ-นราธิวาส[ลิงก์เสีย]
  18. "เอกสารเกี่ยวกับ เหตุการณ์ ตากใบ สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดได้แล้ว". มูลนิธิผสานวัฒนธรรม. 2024-07-18.
  19. "รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการ 11 คนเพื่อสืบสวนหาความจริง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-01. สืบค้นเมื่อ 2017-11-11.
  20. สลายการชุมนุมตากใบ: ประสบการณ์ลืมไม่ลงของ “ไทยมุง” สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 ศูนย์ข่าวภาคใต้ (2024-10-23). "เปิดอีก 4 คดีตากใบ "คำตอบสุดท้าย" ผ่านกระบวนการยุติธรรม". สำนักข่าวอิศรา.
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 22.5 "คดีตากใบ: ความรับผิดชอบของเพื่อไทย หรือต้องไปไกลกว่าใบลาออกของ พล.อ.พิศาล?". BBC News ไทย. 2024-10-17.
  23. "แสงสุดท้าย "ตากใบ" โศกนาฏกรรม ในวันคดีใกล้หมดอายุความ". Thai PBS. 23 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2024.
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 "ศาลรับฟ้อง 7 จำเลยคดีตากใบ อดีต ขรก.ชั้นผู้ใหญ่ ล้วนแต่อายุ 70 อัพ". Thairath. 23 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2024.
  25. "เปิดชื่อ 7 จำเลย คดีตากใบ ศาลรับฟ้องคดีเลือดปี 47 ก่อนหมดอายุความ 2 เดือน". Matichon. 23 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2024.
  26. "เยียวยา ≠ ความยุติธรรม เมื่อรัฐตีค่า 'เหยื่อ' ตากใบ เป็นเงิน มากกว่าการเสาะหาความยุติธรรม" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2024-10-18.
  27. "อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหาคดีตากใบ". Thai PBS.
  28. 28.0 28.1 "คดีตากใบ 2547 กับวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลด้วยการหมดอายุความ - iLaw". www.ilaw.or.th. สืบค้นเมื่อ 2024-10-23.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]