สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ) | |
---|---|
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
ดำรงพระยศ | 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2505 (2 ปี 44 วัน) |
สถาปนา | 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ |
ถัดไป | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) |
พรรษา | 53 |
สถิต | วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร |
นิกาย | มหานิกาย |
ประสูติ | 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2432 ปล��� |
สิ้นพระชนม์ | 17 มิถุนายน พ.ศ. 2505 (73 ปี) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร |
พระชนก | ขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ เกตุทัต) |
พระชนนี | ปลั่ง เกตุทัต |
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระนามเดิม ปลด เกตุทัต ฉายา กิตฺติโสภโณ เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2503 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 2 ปี 1 เดือน 13 วัน สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2505 สิริพระชันษา 73 ปี 21 วัน
พระประวัติ
พระกำเนิด
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเดิมว่า ปลด เกตุทัต ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2432 ตรงกับแรม 13 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู ณ บ้านในตรอกหลังตลาดพาหุรัด ติดกับวัดราชบุรณราชวรวิหาร เป็นบุตรขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ เกตุทัต) กับนางปลั่ง พระชนกของพระองค์เป็นเจ้ากรมคนแรกในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ แต่ด้วยปัญหาสุขภาพจึงได้กราบทูลลาออกก่อนที่จะทรงกรมหลวง
บรรพชา
ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. 2444 ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เริ่มเรียนภาษาบาลีตั้งแต่พระชนมายุ 8 ปี เรียนมูลกัจจายน์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้ประโยค 1 ได้รับโปรดเกล้า ฯ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้อยู่ที่วัดเบญจมบพิตร ต่อมาได้เข้าแปลประโยค 2 และประโยค 3 ได้ สอบได้ประโยค 4 เมื่อพระชันษาได้ 13 ปี ประโยค 5 ถึงประโยค 7 เมื่อพระชันษาได้ 14, 15, 16 ปี ตามลำดับ สอบประโยค 8 ได้เมื่อพระชันษาได้ 19 ปี[1] และประโยค 9 เมื่อพระชันษาได้ 20 ปี[2] ในปี พ.ศ. 2451
อุปสมบท
ทรงอุปสมบทเป็นนาคหลวงสายเปรียญธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี พ.ศ. 2452 สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมวโรดม (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมเจดีย์ (เข้ม ธมฺมสโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า "กิตฺติโสภโณ"[3]
ตำแหน่ง
- พ.ศ. 2463 เป็นพระคณาจารย์โท ในทางภาษาบาลี[4]
- พ.ศ. 2468 เป็นเจ้าคณะแขวงกลาง จังหวัดพระนคร
- พ.ศ. 2470 เป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพ[5]
- พ.ศ. 2471 เป็นเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร[6] และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
- พ.ศ. 2494 เป็นสังฆนายก[7]
- พ.ศ. 2501 เป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และรักษาการในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
สมณศักดิ์
ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช | |
---|---|
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | เกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน |
การขานรับ | เกล้ากระหม่อม พะย่ะค่ะ/เพคะ |
- พ.ศ. 2457 เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีวิสุทธิวงษ์[8]
- พ.ศ. 2466 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที ตรีปิฎกภูษิต ธรรมบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[9]
- พ.ศ. 2469 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพมุนี ศรีวิสุทธศีลาจารย์ ญาณนายก ตรีปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี[10]
- พ.ศ. 2473 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก ตรีปิฎกธรรมภูษิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[11]
- พ.ศ. 2482 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองหนกลางที่ พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการวิภูษิต มัชฌิมคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี สังฆนายก[12]
- พ.ศ. 2490 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระวันรัต ปริยัติพิพัฒนพงศ์ วิสุทธิสงฆปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาคณะปธานาดิศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี[13]
- พ.ศ. 2503 เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส ภูมิพลมหาราชอนุศาสนาจารย์ กิตติโสภณาภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมโศภน วิมลศีลสมาจารวัตร พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช[14]
พระกรณียกิจ
พระองค์ทรงกระทำกิจทางพระศาสนามาโดยตลอด ด้วยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก ตลอดพระชนมชีพ พอประมวลสรุปได้ดังนี้
- ด้านการปกครอง เริ่มตั้งแต่เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส เจ้าคณะแขวง เจ้าคณะมณฑล กรรมการเถรสมาคม ประธานคณะบัญชาการคณะสงฆ์ แทนองค์สมเด็จพระสังฆราช สังฆนายก และรักษาการในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
- ด้านการศึกษา เริ่มตั้งแต่การศึกษาในสำนักวัดเบญจมบพิตร ฯ การศึกษาในมณฑลพายัพ ทั้ง 7 จังหวัด และแขวงกลางจังหวัดพระนคร เป็นกรรมการสอบพระปริยัติธรรมในสนามหลวง เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา
- ด้านการเผยแผ่ มีหนังสือธรรมที่ทรงนิพนธ์ พิมพ์ออกเผยแผ่ เป็นอันมาก เช่น มงคลภาษิต ปราภวภาษิต ศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งงานพระธรรมเทศนา ในโอกาสต่าง ๆ ที่ได้รับการยอย่องว่า มีสำนวนโวหารง่าย ๆ เป็นที่เข้าใจซาบซึ้ง
- ด้านการต่างประเทศ ได้เสด็จไปต่างประเทศเพื่อการพระศาสนาหลายครั้ง คือ
- พ.ศ. 2482 ไปตรวจการณ์คณะสงฆ์ ไทรบุรี และปีนัง แทนสมเด็จพระสังฆราช
- พ.ศ. 2498 เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมงานฉัฎฐสังคายนาจตุตถสันนิบาต (สมัยไทย) โดยเป็นประธาน กระทำพิธีเปิดประชุมสังคายนา ณ สหภาพพม่า
- พ.ศ. 2499 เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมพิธีฉลอง พุทธชยันตี 25 ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ณ ประเทศลังกา และไปสังเกตการพระศาสนาในประเทศอินเดีย
- พ.ศ. 2501 เป็นหัวหน้าคณะไปเป็นประธานประกอบพิธีบรรจุพระบรมธาตุ ณ วัดบุปผาราม เมืองปีนัง สหพันธรัฐมาลายา
- พ.ศ. 2502 เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมพิธีฉลองพระพุทธชยันตี 25 ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ณ ประเทศญี่ปุ่น และในปีเดียวกันนี้ ได้นำพระสงฆ์ไทยไปอยู่ ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย และได้เสด็จไปมนัสการสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง ที่อินเดีย
- พ.ศ. 2504 เสด็จไปสังเกตการพระศาสนา ในสหรัฐอเมริกา ตามคำทูลอาราธนาของมูลนิธิเอเซีย
ผลงาน
งานด้านวิชาการและงานพิเศษ มีงานสำคัญคือ
- ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับมอบให้เป็นผู้ชำระคัมภีร์อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย 4 คัมภีร์ คือ อรรถกถาอุทาน อิติวุตตก มหานิเทศ และจุลนิเทศ
- ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับมอบให้เป็นผู้ชำระคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย 3 คัมภีร์ คือ มหานิเทศ จุลนิเทศ และชาดก และได้ชำระคัมภีร์ สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย
- ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เป็นประธานกรรมาธิการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทย จนจบพิมพ์���ป็นเล่มได้จำนวน 80 เล่ม เมื่อปี พ.ศ. 2500
- เมื่อปี พ.ศ. 2500 ได้เป็นประธานสงฆ์ในงานรัฐพิธีฉลอง 25 พุทธศตวรรษของไทย
สิ้นพระชนม์
หลังจากเสวยภัตตาหารเพลในงานทำบุญบ้านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2505 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงกลับวัด ถึงเวลา 15.00 น. หลังสรงน้ำ ทรงปวดพระเศียรอย่างรุนแรง พระอุปฐากเชิญแพทย์มาดูพระอาการ พระองค์ตรัสกับแพทย์ได้ไม่กี่คำก็สิ้นพระชนม์ แพทย์ลงความเห็นว่าเส้นพระโลหิตใหญ่ในพระมัตถลุงค์แตก[15] เมื่อเวลา 16.27 น. สิริพระชันษาได้ 73 ปี 21 วัน สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศให้สถานที่ราชการลดธงครึ่งเสา 3 วัน และข้าราชการไว้ทุกข์ 15 วัน เพื่อถวายความอาลัย และได้มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส[16]
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี [เรื่อง การสอบไล่พระปริยัติธรรมประจำ ศก ๑๒๖ กับรายนามพระสงฆ์สามเณรที่สอบไล่ได้], เล่ม 25, 12 เมษายน ร.ศ. 127, หน้า 35
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี [เรื่อง รายนามพระภิกษุสามเณรที่สอบไล่พระปริยัติธรรมได้], เล่ม 25, 28 มีนาคม ร.ศ. 127, หน้า 1489
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การอุปสมบทสามเณรปลด ปเรียญ ๙ ประโยค, เล่ม ๒๖, ๑๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๘, หน้า ๖๒๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง ตั้งพระคณาจารย์โทในทางบาลี, เล่ม 37, ตอน 0, วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2463, หน้า 2834
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ เรื่อง ตั้งเจ้าคณะมณฑลพายัพ, เล่ม 44, ตอน 0 ง, วันที่ 24 เมษายน 2470, หน้า 259
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง ตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง, เล่ม 45, ตอน 0 ง, วันที่ 4 พฤศจิกายน 2471, หน้า 2300-1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งสังฆนายก, เล่ม 68, ตอนที่ 50, วันที่ 31 กรกฎาคม 2494, หน้า 3085-6
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรพระสงฆ์, เล่ม 31, วันที่ 11 พฤศจิกายน 2457, หน้า 1844
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณะศักดิ์, เล่ม 40, วันที่ 25 พฤศจิกายน 2466, หน้า 2597
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่ม 43, วันที่ 26 พฤศจิกายน 2469, หน้า 3047
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่ม 47, วันที่ 9 พฤศจิกายน 2473, หน้า 2907
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 56, วันที่ 4 มีนาคม 2482, หน้า 3529-3532
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, ตอนที่ 27, เล่ม 64, วันที่ 17 มิถุนายน 2490, หน้า 430-434
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช, เล่ม ๗๗, ตอน๓๘ ก ฉบับพิเศษ, ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓, หน้า ๑
- ↑ พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๙ พระองค์, หน้า 211
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์, เล่ม 79 ฉบับพิเศษ, ตอนที่ 55, 18 มิถุนายน 2505, หน้า 1
- บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. ISBN 974-417-530-3
- วัดบวรนิเวศวิหาร. พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๙ พระองค์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อุดมศึกษา, 2552. ISBN 978-974-235-262-2
- สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3
ก่อนหน้า | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ |
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2505) |
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) | ||
พระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี) | สังฆนายก (พ.ศ. 2494 - พ.ศ. 2503) |
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) | ||
พระพรหมมุนี (อ้วน ติสฺโส) | เจ้าคณะรองหนกลาง (พ.ศ. 2482 - พ.ศ. 2484) |
(ตำแหน่งถูกยกเลิกตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484) | ||
สมเด็จพระวันรัต (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) | เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (พ.ศ. 2471 - พ.ศ. 2505) |
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) |