ข้ามไปเนื้อหา

จักรวรรดินิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
เดอะโรดส์โคลอสซัส การ์ตูนล้อเลียนเมื่อปี ค.ศ. 1892 เป็นภาพนายซีซิล โรดส์ นักล่าอาณานิคมชาวอังกฤษ ยืนอยู่บนทวีปแอฟริกา

จักรวรรดินิยม (อังกฤษ: Imperialism) คือ นโยบายขยายอำนาจในการเข้าควบคุมหรือมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือดินแดนต่างชาติ อันเป็นวิถีทางเพื่อการได้มาและ/หรือการรักษาจักรวรรดิให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ทั้งจากการขยายอำนาจเข้ายึดครองดินแดน โดยตรง และจากการเข้าคุมอำนาจทางอ้อมในด้านการเมือง และ/หรือทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ บางคนใช้คำศัพท์นี้เพื่ออธิบายถึงนโยบายของประเทศใดประเทศหนึ่งในการคงไว้ซึ่งอาณานิคม และอิทธิพลเหนือดินแดนอันไกลโพ้น โดยไม่คำนึงว่าประเทศนั้น ๆ จะเรียกตนเองว่าเป็นจักรวรรดิหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม มีการนำเอาคำว่า 'จักรวรรดินิยม' ไปใช้ในบริบทที่แสดงถึงความมีสติปัญญา/ความเจริญที่สูงกว่าด้วย ซึ่งในบริบทนี้คำว่า "จักรวรรดินิยม" มีนัยแสดงถึงความเชื่อที่ว่า การเข้าถือสิทธิยึดครองดินแดนต่างชาติและการคงอยู่ของจักรวรรดิเป็นสิ่งดีงาม เนื่องจากมีการประสมผสานรวมเอาหลักสมมุติฐานที่ว่า โดยธรรมชาติแล้วชาติมหาอำนาจจักรวรรดินิยมนั้นจะมีวัฒนธรรมและความเจริญด้านอื่น ๆ เหนือกว่าชาติที่ถูกรุกรานเข้าไว้ด้วย — โปรดดู ภาระคนขาว (The White Man's Burden)

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มวิพากษ์วิจารณ์กันมากยิ่งขึ้นว่า "ลัทธิจักรวรรดินิยม" นั้นไม่ได้มีบริบทจำกัดอยู่เพียงแค่ระดับของการเข้าครอบครองหรือครอบงำทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของชาติอื่นเท่านั้น แต่ยังขยายเข้าครอบคลุมไปถึงระดับวัฒนธรรมด้วย โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับอิทธิพลทางวัฒนธรรมอเมริกันที่แผ่ขยายไปทั่วโลก — โปรดดู ลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม หลายคนโต้แย้งการขยายคำจำกัดความดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลว่าเรื่องของ "วัฒนธรรม" นั้นเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน ยากที่จะแยกความแตกต่างให้เห็นชัดเจนได้ว่า การรับวัฒนธรรมของชาติใดชาติหนึ่งไปนั้น เป็นเรื่องของปฏิกิริยาที่ชนในชาติมีต่อกันและกันทั้งสองฝ่าย หรือเป็นเรื่องของอิทธิพลที่แผ่ขยายจนเกินขีดจำกัด นอกจากนี้แล้วการนำเอา "วัฒนธรรมจักรวรรดินิยม" ไปใช้ในการอธิบายหรือวิเคราะห์นั้น ยังมีการ "เลือกปฏิบัติ" ด้วย ตัวอย่าง เช่น "แฮมเบอร์เกอร์" ถูกจัดว่าเป็น "วัฒนธรรมจักรวรรดินิยม" ขณะที่ "น้ำชา" นั้นไม่ใช่. ความโต้แย้งในเรื่องนี้จึงยังมีอยู่ต่อไปในปัจจุบัน

จักรวรรดินิยมในเชิงนิรุกติศาสตร์

[แก้]

คำว่า "จักรวรรดินิยม" เป็นคำศัพท์ใหม่ เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ตามข้อมูลของพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซฟอร์ด (Oxford English Dictionary หรือ OED) ระบุว่าการใช้คำศัพท์นี้ปรากฏย้อนหลังไปถึงปี ค.ศ. 1858 โดยใช้อธิบายความหมายของสันติภาพที่อังกฤษใช้อำนาจบีบให้เกิดขึ้น (Pax Britannica) อย่างไรก็ตาม รากศัพท์ที่ทางปัญญาชนใช้กันจริงๆ นั้น สามารถสาวลึกลงไปถึงในช่วงยุคสมัยของดังเต้ (Dante) ได้เลยทีเดียว ในหนังสือ ราชาธิปไตย (Monarchia) ของเขาพรรณาถึงโลกที่มีจุดรวมศูนย์ทางการเมืองและการปกครองเป็นหนึ่งเดียวว่า "ลัทธิเหตุผลนิยม" (rationalism) ดังเต้ผู้นี้มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อ จอห์น ดี (John Dee), ซึ่งต่อมาเป็นผู้รังสรรค์ประดิษฐ์คำว่า จักรวรรดินิยมอังกฤษ (British Empire) ขึ้นมาใช้ในปลายศตวรรษที่ 16 จอห์น ดี นั้นเป็นผู้ที่ ช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของปัญญาชนและวิทยาศาสตร์ขึ้นในอังกฤษ ส่งผลให้นักเดินทะเลชาวอังกฤษอย่างเช่น ฮัมฟรี กิลเบอร์ต (Humphrey Gilbert), มาร์ติน โฟรบิเชอร์ (Martin Frobisher) และวอลเตอร์ ราเลจห์ (Walter Raleigh) สามารถวางรากฐานสำหรับการแผ่อำนาจของจักรวรรดินาวีอังกฤษในเวลาต่อมาได้

พจนานุกรมออกฟอร์ดฉบับภาษาอังกฤษ ระบุว่าในศตวรรษที่ 19 นั้น ตามปกติ คำว่า "จักรวรรดินิยม" จะมีความหมายจำกัดใช้เฉพาะเพียงแค่อธิบายถึงนโยบายของอังกฤษเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไม่นานนักหลังจากที่มีการประดิษฐ์คิดรังสรรค์ถ้อยคำขึ้นมาใช้เรียกขานกันใหม่ ความหมายของ คำว่า "จักรวรรดินิยม" ก็มีนัยยะแปรเปลี่ยน หวนกลับไปมีความหมายเหมือนกันกับคำว่า "จักรวรรดิโรมัน" (Roman Empire) แทน และต่อมาในศตวรรษที่ 20 คำว่า "จักรวรรดินิยม" นี้ยังถูกนำไปใช้ในการอธิบายถึงนโยบายทั้งของสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ด้วย แม้ว่าความเป็นจักรวรรดินิยมของทั้งสองชาตินี้จะมีความแตกต่างกันอย่างมาก และลักษณะของจักรวรรดินิยมในยุคสมัยนี้ก็แตกต่างจากจักรวรรดินิยมในสมัยศตวรรษที่ 19 ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า "จักรวรรดินิยม" ยังถูกขยายความนำไปใช้ในความหมายที่กว้างขวางครอบคลุมไปถึงกรณีทางประวัติศาสตร์ใด ๆ ที่เป็นการอวดใหญ่โต/แสวงหาผลประโยชน์และกำไร ของชาติมหาอำนาจโดยการเอารัดเอาเปรียบจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาติที่เล็กกว่ามีอำนาจน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและรัฐบริวารนั้น คำว่า "จักรวรรดินิยม" เกือบทั้งหมดจะถูกปรับระดับนำเอาไปใช้กับประเทศมหาอำนาจที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียวของโลก คือประเทศสหรัฐอเมริกา

ทฤษฎีมาร์กซิสต์เกี่ยวกับจักรวรรดินิยม

[แก้]

นักมาร์กซิสต์ใช้ศัพท์คำว่า "จักรวรรดินิยม" ในความหมายเช่นที่เลนินให้คำจำกัดความไว้คือ "สภาวะ/ขั้นตอนสูงสุดของลัทธิทุนนิยม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ทุนการเงินผูกขาดได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ในการบีบให้ประเทศจักรวรรนิยมทั้งหลายต้องแข่งขันระหว่างกันเองเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้สามารถเข้าควบคุมแหล่งทรัพยากร และตลาดทั่วโลกไว้ได้ การเข้าควบคุมนี้อาจอยู่ทั้งในรูปแบบของการใช้เครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์, การใช้กองกำลังทหารเข้ายึด หรือการยักย้ายถ่ายเททางการเงินก็ได้

สาระสำคัญของทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่เกี่ยวกับลัทธิจักรวรรดินิยม หรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ทฤษฎีพึ่งพา (dependency theory) นั้นต่างก็มุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ มากกว่าความสัมพันธ์ที่ชัดเจนทางการเมือง ดังนั้นลัทธิจักรวรรดินิยมในทฤษฎีของมาร์กซิสต์จึงไม่เพียงแต่ประกอบด้วยการเข้าควบคุมปกครองประเทศใดประเทศหนึ่งโดยตรงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการกดขี่ขูดรีด แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคหนึ่ง โดยภูมิภาคอื่น ๆ หรือโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจากนอกภูมิภาคด้วย ความหมายของจักรวรรดินิยมที่มาร์กซิสต์ใช้นี้ตรงกันข้ามกับความหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ซึ่งโดยปกติมักจะเข้าใจกันว่า "ลัทธิจักรวรรดินิยม" นั้นมีความหมายเกี่ยวข้องกับยุคสมัยที่ประเทศมหาอำนาจขยายอิทธิพลเข้าปกครองควบคุมเหนือดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลไว้โดยตรง มากกว่าที่จะเป็นการเข้าควบคุมครอบงำทางเศรษฐกิจ อันเป็นลักษณะเหมือนกันกับที่บางประเทศในโลกปัจจุบันนี้เข้ามีอิทธิพลครอบงำเหนือชาติอื่นๆ ซึ่งความเข้าใจในลักษณะนี้ เป็นผลมาจากการผนวกรวมเอาความหมายของลัทธิจักรวรรดินิยม เข้ากับคำว่า ลัทธิอาณานิคม ซึ่งเป็นการขยายอำนาจด้วยการเข้าไปตั้งดินแดนภายใต้ปกครองหรืออาณานิคมขึ้นในดินแดนโพ้นทะเล

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วมาร์กซิสต์จะพิจารณาว่ามหาอำนาจเจ้าจักรวรรดินั้นมักเป็นประเทศทุนนิยมแห่งโลกที่ 1 แต่ก็มีมาร์กซิสต์บางกลุ่ม (เบื้องต้นคือกลุ่มนิยมเหมาและกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม) ที่เชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้วสหภาพโซเวียต ก็จะพัฒนากลายไปเป็น "สังคม-จักรวรรดินิยม" (social-imperialist) ด้วย --- นั่นคือเป็น "สังคมนิยมโดยคำพูดแต่เป็นจักรวรรดินิยมโดยการกระทำ" ซึ่งหมายถึงการที่สหภาพโซเวียตใช้กำลังอำนาจและอิทธิพลเข้าครอบงำประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก และประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศ

จีน อินเดีย และประเทศขนาดใหญ่อื่น ๆ อีกหลายประเทศที่มีอิทธิพลโดดเด่นในแต่ละภูมิภาคของโลกนั้น บางครั้งก็ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมเป็นผู้นิยมในลัทธิจักรวรรดินิยม ด้วยเช่นกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า มาร์กซเองนั้น ไม่ได้ประกาศหรือเสนอ ทฤษฎีเกี่ยวกับลัทธิจักรวรรดินิยมไว้เลย และมีความเห็นตรงกันข้ามกับนักคิดมาร์กซิสต์รุ่นต่อๆมา ซึ่งโดยทั่วไปมองว่า ลัทธิอาณานิคม ของชาติมหาอำนาจยุโรปเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งในการแพร่ขยายลัทธิทุนนิยมออกไปทั่วโลก มากกว่าที่จะมองว่า เป็นการปล้นสะดมประเทศอาณานิคมเหล่านั้นเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ไปให้แก่ประเทศแม่ที่เป็นศูนย์กลางอยู่ในยุโรป

พัฒนาการใหม่ในแนวคิดของมาร์กซิสต์ศึกษาเกี่ยวกับลัทธิจักรวรรดินิยมได้ก่อกำเนิดขึ้นจาก การวางรากฐานครั้งสำคัญของหนังสือ "ยุคแห่งลัทธิจักรวรรดินิยม" (The Age of Imperialism) ซึ่งเขียนขึ้นโดย แฮร์รี แมกดอฟฟ์ (Harry Magdoff) ในปีค.ศ. 1969 ปัจจุบันนี้ มีความเห็นโดยทั่วไปด้วยว่า โลกาภิวัตน์ (Globalization) นั้น แท้จริงแล้วก็คือ การกลับชาติมาเกิดใหม่ของ ลัทธิจักรรดินิยมนั่นเอง

ลัทธิจักรวรรดินิยมสมัยใหม่

[แก้]

มีการถกเถียงกันมากในปัจจุบันเกี่ยวกับนโยบายและบทบาทของประเทศสหรัฐอเมริกาในประเด็นที่ว่า การใช้อำนาจและนโยบายกดดันโลกส่วนอื่นๆนั้น ในภาพรวมแล้ว ควรถือว่าเป็นปฏิบัติการของลัทธิจักรวรรดินิยมหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการเรียกขานสหรัฐอเมริกาในบางครั้งว่า "จักรวรรดินิยมอเมริกา" (American imperialism)

การล่มสลายของสหภาพโซเวียต (Soviet Union) และการสิ้นสุดของสงครามเย็น (Cold War) ซึ่งทำให้ สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศมหาอำนาจโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวของโลกอยู่ในขณะนี้ ก็ยิ่งทำให้ข้อถกเถียงโต้แย้งในประเด็น "จักรวรรดินิยมอเมริกัน" นี้เป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธได้มากยิ่งขึ้นไปอีก ประกอบกับในช่วงศตวรรษที่ผ่านมานั้น สหรัฐอเมริกาเองก็ได้ใช้ทั้งการเข้าแทรกแซงด้วยกำลังทหารและอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองในการจัดการกับประเทศใต้อิทธิพลของตน ในเขตซีกโลกตะวันตกมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า แม้ความคิดเห็นของกลุ่มอำนาจทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาจะมีความแตกต่างกันมากระหว่างกลุ่มสายเหยี่ยว (hawkish) กับกลุ่มสายพิราบ (dovish) แต่ก็มีสายเหยี่ยวจำนวนมากยิ่งขึ้นที่มองว่าลัทธิขยายอำนาจ ในแนวทางแบบจักรวรรดินิยมนั้นแท้จริงแล้ว ถือได้ว่าเป็น "ภาระหน้าที่" ส่วนหนึ่งในการรักษาผลประโยชน์หรือ "โชคชะตาที่สวรรค์กำหนดไว้แล้ว" ( Manifest Destiny) ของชนชาติอเมริกัน

คำว่า "จักรวรรดินิยม" นั้น โดยธรรมชาติแล้ว มีความขัดแย้งอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว --- นั่นคือ คนทั่วไปมองบริบทส่วนใหญ่ของ "จักรวรรดินิยม" ว่าจำกัดอยู่ในลักษณะเชิงประวัติศาสตร์ (มากกว่าที่จะเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน) เนื่องจากตัวอย่างของ "จักรวรรดิ" นั้นมักจะปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในประวัติศาสตร์จนทำให้เกิดความคุ้นเคยและเกิดแนวความคิดว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตเท่านั้น ขณะที่ตัวอย่างของจักรวรรดินิยมสมัยใหม่นั้นจะต้องมองในลักษณะที่แตกต่างออกไป จาก ในรูปของการกดขี่ข่มเหงและลัทธิการใช้อำนาจทางทหารเข้ารุกราน นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นก็เพิ่งจะครองตำแหน่ง "มหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว" ของโลกมาได้เพียงไม่กี่ปีมานี้เอง คือเมื่อ สหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นศัตรูคู่แข่งสำคัญทางการเมือง การทหาร และลัทธิอุดมการณ์ล่มสลายลง สงครามเย็น (Cold War) ซึ่งเป็นการต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ทางภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตนี้ถูกหล่อหลอมให้ปรากฏเป็นการต่อสู้ระหว่าง "เสรีภาพกับการกดขี่รังแก" ซึ่งมีผลทำให้ภาพของความเป็นจักรวรรดิของชาติมหาอำนาจทั้งสองลดน้อยถอยลง

นอกจากนี้ คำว่า "จักรวรรดินิยม" นั้นยังมีความหมายออกไปในเชิงลบ เป็นไปในลักษณะของทรราช และการกดขี่ข่มเหง/รังแกผู้อื่นมากกว่า ดังนั้น โดยธรรมชาติแล้ว พลเมืองในบังคับของชาติจักรวรรดิที่ไปอ้างสิทธิเหนือหัวชาติอื่นๆอยู่นั้น ย่อมไม่สมัครใจที่จะให้ใช้คำดังกล่าวในการพาดพิงหรือโยงใยเกี่ยวข้องกับตนเอง

ในต้นศตวรรษที่21 สหรัฐอเมริกาได้หันความทะเยอทะยานอยากของตน ทั้งทางการทหาร การเมืองและการเศรษฐกิจไปยังประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยน้ำมันในแถบเอเชียกลาง และ ตะวันออกกลาง เริ่มต้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2ยุติลง โดยสหรัฐเข้าสืบทอดบทบาทเด่นๆส่วนใหญ่ที่สหราชอาณาจักรเคยใช้ในการเข้าควบคุมตะวันออกกลาง การยุยงส่งเสริม รวมทั้งเข้าช่วยเหลือในการลอบสังหารและหนุนการก่อปฏิวัติรัฐประหารของสหรัฐอเมริกา ทำให้ชาติในตะวันออกกลางหลายประเทศได้รับรู้และประจักษ์ชัดแจ้ง ถึงอิทธิพลที่แข็งแกร่งของสังคมตะวันตกที่สยายปีกทะมึนเข้าสู่ภูมิภาคนี้ ทั้ง อียิปต์, อิรัก, ซาอุดีอาระเบีย, ซีเรีย, เลบานอน และ อิสราเอล ต่างก็ถูกนโยบายของสหรัฐอเมริกาแผ่อิทธิพลเข้าครอบงำ ไม่โดยตรงก็โดยเนื้อหาสาระกันถ้วนทั่วหน้า (แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะของลัทธิจักรวรรดินิยมสมัยใหม่เหล่านี้ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงช่วงที่จักรวรรดินิยมอังกฤษ เข้ายึดครองภูมิภาคนี้ในอดีตก่อนหน้านั้น รวมทั้งการคงอำนาจเจ้าอาณานิคมปกครองอินเดียและปากีสถาน อยู่ต่อไปของอังกฤษเข้าไว้ด้วย)

เมื่อมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีขีดความสามารถและแข็งแกร่งรอบด้านสูงมากอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา นักวิเคราะห์บางคนจึงชี้ว่า ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐอเมริกาบางส่วน หรือเกือบจะทั้งหมดนั้นก็คือปฏิบัติการของลัทธิจักรวรรดินิยมทหารนั่นเอง ขณะที่นักวิชาการอีกจำนวนหนึ่ง ระบุตรง ๆ เลยว่า ข้อกล่าวหา "จักรวรรดินิยมอเมริกัน" นี้ถูกนำมาใช้ โจมตีสหรัฐอเมริกาได้ตลอดเวลา และไม่ว่าอเมริกันนั้นจะเปิดปฏิบัติการทางทหารขึ้นในเวลาใดก็ตาม เนื่องจากมีข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครโต้แย้งได้เกี่ยวกับสหรัฐอเมริกา 2 ประการสนับสนุน นั่นคือ ประการแรก สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีกองทัพขนาดใหญ่กว่าและทันสมัยมากกว่าทุกประเทศในโลก สามารถเปิดปฏิบัติการได้จากฐานทัพจำนวนมากกว่า 100 แห่งทั่วโลกได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที และประการที่ 2 สหรัฐอเมริกาพร้อมที่จะใช้กองทัพของตนในการพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของชาติตนโดยลำพังฝ่ายเดียวได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยความร่วมมือของชาติอื่นๆ ดังนั้นประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่เกี่ยวกับ "จักรวรรดินิยมอเมริกัน" ขณะนี้ จึงเป็นเรื่องที่ว่า คุณสมบัติ/ลักษณะต่างๆเหล่านี้ โดยลำพังแล้ว เป็นปัจจัยที่เมื่อประกอบกันแล้วทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นชาติจักรวรรดินิยม ใช่หรือไม่ และ "ลัทธิจักรวรรดินิยม" ในลักษณะของอเมริกานี้มีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันมาก หรือเพียงพอแล้วที่จะชี้ชัดลงไปได้ว่า จักรวรรดินิยมอเมริกานั้นคือ การกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งของลัทธิจักรวรรดินิยม เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต --- ตั้งแต่ ยุคสมัยของโรมัน ตามต่อมาด้วยสมัยของอังกฤษ เยอรมัน และชาติจักรวรรดินิยมอื่น ๆ อีกหลายชาติตามที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

อ้างอิง

[แก้]
  • Anthony Brewer, Marxist Theories of Imperialism.
  • Harry Magdoff, Imperialism without colonies.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]