พระเมตตาวิหารีเถร (ปัด ธมฺมสโร)
พระเมตตาวิหารีเถร (ปัด รัตตาคม , ธมฺมสโร) | |
---|---|
คำนำหน้าชื่อ | ท่านเจ้าคุณ |
ชื่ออื่น | หลวงพ่อปัด , ท่านเจ้าคุณปัด |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 (81 ปี) |
มรณภาพ | 10 เมษายน พ.ศ. 2507 |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | - ภาษาจีน - คณิตศาสตร์ (ลูกคิด) - พระธรรมวินัย - อักษรสมัย - พระปริยัติธรรม - สมถกรรมฐาน - วิปัสสนากรรมฐาน |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดคูหาสวรรค์วรวิหาร แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 |
พรรษา | 60 พรรษา |
ตำแหน่ง | - เจ้าคณะตำบลคูหาสวรรค์ - เจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร |
พระเมตตาวิหารีเถร (ปัด ธมฺมสโร) นิยมเรียกว่า “หลวงพ่อปัด” หรือ "ท่านเจ้าคุณปัด" เป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงของฝั่งธนบุรี อดีตเจ้าคณะตำบลคูหาสวรรค์ อดีตเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันแขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร)
ประวัติ
[แก้]ชาติภูมิ
[แก้]ชื่อ ปัด นามสกุล เกิดวัน ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น รัตตาคม ชาตะ วันพุธ ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 (วันพระ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีมะแม) ณ บ้านเตาอิฐ แขวงเมืองสุพรรณบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตหมู่ที่ 5 ตำบลวังหว้า อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี)
เป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวน 2 คน ของนายคอยเกี้ยน (ชาวจีน) นามสกุล แซ่จู[1] กับนางแดง (ชาวไทย) นามสกุล เกิดวัน ครอบครัวบิดาประกอบอาชีพค้าขาย ส่วนมารดาประกอบอาชีพเกษตรกร[2]
วัยเยาว์ - วัยหนุ่ม
[แก้]วัยเยาว์ได้รับการศึกษาเบื้องต้น ภาษาจีน และคณิตศาสตร์ (ลูกคิด) จากบิดา มีหน้าที่ช่วยเลี้ยงดูน้องที่ยังเล็ก เนื่องจากมารดาต้องประกอบอาชีพเกษตรกร ส่วนบิดามีอาชีพค้าขายข้าว ต้องนำเรือบรรทุกข้าวขึ้นล่องระหว่างเมืองสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร[2]
จวบจนเติบโตเป็นหนุ่มจึงช่วยบิดาทำการค้าขายข้าว กระทั่งบิดาป่วยหนักแล้วถึงแก่กรรม จึงหยุดลง
อุปสมบท
[แก้]วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 (วันเสาร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 8 หลัง ปีมะโรง) บรรพชาและอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดพร้าว อำเภอเมือง เมืองสุพรรณบุรี โดยมี[3]
พระครูปลื้ม เจ้าคณะแขวงศรีประจันต์ เจ้าอาวาสวัดพร้าว (หลวงพ่อปลื้มเล็ก วัดพร้าว) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระปลื้ม วัดพร้าว (หลวงพ่อปลื้มใหญ่ วัดพร้าว) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระสมุห์พริ้ง วชิรสุวณฺโ�� เจ้าอาวาสวัดจันทร์ (หลวงพ่อพริ้ง วัดวรจันทร์) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า ธมฺมสโร[4] [ทำ - มะ - สะ - โร]
การศึกษา
[แก้]อุปสมบทแล้วศึกษาพระธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐาน และอักษรสมัย รวมเป็นระยะเวลา 3 พรรษา (พ.ศ. 2447 - 2449) โดยจำพรรษาอยู่ที่วัดพร้าว อำเภอเมือง เมืองสุพรรณบุรี สมัยพระครูปลื้มเป็นเจ้าอาวาส และจำพรรษาอยู่ที่วัดเกาะ[5] อำเภอศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี อันเป็นวัดในถิ่นกำเนิด สมัยพระอธิการพลายเป็นเจ้าอาวาส
พ.ศ. 2450 ย้ายมาศึกษาพระปริยัติธรรมและจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร ในสมัยพระธรรมเจดีย์ (แก้ว) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) เป็นเจ้าอาวาส
ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระภิกษุสด จนฺทสโร (พระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ) เป็นเพื่อนพระภิกษุชาวเมืองสุพรรณบุรี ได้ชักชวนศึกษาสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน จากพระอาจารย์ต่างๆ
เคยออกธุดงค์ไปถึงเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า และจำพรรษาอยู่ที่นั่นเป็นระยะเวลา 1 พรรษา
สหธรรมิก
[แก้]- สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
- พระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชีโชติการาม กรุงเทพมหานคร
- พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
- พระครูสังวรสมาธิวัตร (ชอุ่ม ผาสุโก) วัดคูหาสวรรค์วรวิหาร กรุงเทพมหานคร
- พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ) วัดเกาะ จังหวัดสุพรรณบุรี
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
- พระธรรมเสนานี (ฟุ้ง ปุณฺณโก) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
ศิษย์
[แก้]- พระครูสุวรรณปัญญารัต (เซ้ง , สกล ปญฺญาพโล) วัดเกาะ จังหวัดสุพรรณบุรี
ตำแหน่ง
[แก้]งานปกครอง
[แก้]- พ.ศ. 2465 เป็นเจ้าอาวาสวัดชัยฉิมพลี[6]
- พ.ศ. 2470 เป็นพระอุปัชฌาย์[2]
- พ.ศ. 2472 เป็นเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร พระอารามหลวง[7]
- พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล เป็นเจ้าคณะตำบลคูหาสวรรค์[2]
เจ้าอาวาสวัดชัยฉิมพลี
[แก้]พระราชสุธี (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เจ้าคณะแขวงอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ส่งพระฐานานุกรมของท่านไปปกครองวัดต่างๆ ดังนี้
- ส่งพระครูปลัดป่วน เกสโร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนางชีโชติการาม อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี
- ส่งพระครูสมุห์สด จนฺทสโร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี
- ส่งพระครูใบฎีกาปัด ธมฺมสโร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดชัยฉิมพลี อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี
รวมเวลาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชัยฉิมพลี ตั้งแต่ พ.ศ. 2465 ถึง พ.ศ. 2472 เป็นระยะเวลา 7 ปี
เจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร
[แก้]วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ ให้พระครูสมุห์ปัด วัดชัยฉิมพลี เป็นพระครูเมตตาวิหารี ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร พระอารามหลวง ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี[7]
รวมเวลาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร ตั้งแต่ พ.ศ. 2472 ถึง พ.ศ. 2507 เป็นระยะเวลา 35 ปี
เกียรติคุณ
[แก้]เป็นพระราชาคณะ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ได้รับพระราชทานพัดงาสาน เป็นพัดซึ่งสร้างจากงาช้างทั้งเล่ม หน้านาง งาสาน ขอบงา คาบตับงา ด้ามงาต่อ ส้นและคอแกะเป็นบัวกลุ่ม ยอดเป็นเม็ดทรงมัณฑ์ ซึ่งพระราชทานเฉพาะพระราชาคณะผู้ทรงคุณในทางวิปัสสนาเท่านั้น
สมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2464 เป็นพระฐานานุกรมใน พระราชสุธี (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) ที่ พระครูใบฎีกาปัด ธมฺมสโร[8]
- พ.ศ. 2469 เป็นพระฐานานุกรมใน พระธรรมปิฎก (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) ที่ พระครูสมุห์ปัด ธมฺมสโร[9]
- พ.ศ. 2472 เป็นพระครูสัญญาบัตร ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระครูเมตตาวิหารี[7]
- พ.ศ. 2493 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระเมตตาวิหารีเถร[10]
มรณภาพ
[แก้]พระเมตตตาวิหารีเถร (ปัด ธมฺมสโร) มรณภาพด้วยโรคชรา วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2507 เวลา 01.10 น. สิริอายุ 81 ปี 4 เดือน 26 วัน อุปสมบทได้ 60 พรรษา[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ภมรพล). (2560). เจ้าคุณสุพรรณ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: หจก.สามลดา.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 อุสุม เมืองถ้ำ. (2518, กันยายน). เหรียญดีที่ยังพอหาได้. สิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระเครื่อง. 1(18): 31 - 35.
- ↑ พีระศักดิ์ สุนทรวิภาต. (2563). ที่ระลึก 125 ปีชาตกาล 40 ปีมรณภาพ พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: กุศลบุญการพิมพ์.
- ↑ กรมธรรมการ. (2473). ทำเนียบสมณศักดิ์ กับ ทำเนียบเปรียญ พ.ศ.2473. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
- ↑ พระปลัดสกล ปญฺญาพโล. (2523). ประวัติพระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ). กรุงเทพฯ: อาทรการพิมพ์.
- ↑ ประวัติวัดชัยฉิมพลี วัดชัยฉิมพลี Watchaichimphli
- ↑ 7.0 7.1 7.2 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่ม 46 ง, 17 พฤศจิกายน 2472, หน้า 2659
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การสถาปนาและเลื่อนสมณศักดิ์, เล่ม 38, ตอน 0 ง, 2 ตุลาคม 2464, หน้า 1833
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 43, ตอน 0 ง, 26 2469, หน้า 3074
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ , เล่ม 67, ตอนที่ 67 ง, 12 ธันวาคม 2493, หน้า 6321
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ก่อนหน้า | พระเมตตาวิหารีเถร (ปัด ธมฺมสโร) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระอธิการนิ่ม | เจ้าอาวาสวัดชัยฉิมพลี (พ.ศ. 2465 — พ.ศ. 2472) |
พระอธิการเตียบ ฉนฺโท | ||
พระวิสุทธิสารเถร (ผ่อง ธมฺมโชติโก) | เจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์ (พ.ศ. 2472 – พ.ศ. 2507) |
พระครูสังวรสมาธิวัตร (ชอุ่ม ผาสุโก) รักษาการ | ||
ไม่พบข้อมูล | เจ้าคณะตำบลคูหาสวรรค์ (พ.ศ. ไม่พบข้อมูล – พ.ศ. 2507) |
ไม่พบข้อมูล
|