ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี
ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี | |
---|---|
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ชื่อเกิด | ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี |
รู้จักในชื่อ | เล็ก |
เกิด | 23 มกราคม พ.ศ. 2493 |
ที่เกิด | อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี |
แนวเพลง | เพื่อชีวิต |
เครื่องดนตรี | ขลุ่ย, แซกโซโฟน, คีย์บอร์ด |
ช่วงปี | พ.ศ. 2526 - ปัจจุบัน |
คู่สมรส | จุฬาลักษณ์ ศรีกลิ่นดี (เสียชีวิต) |
เว็บไซต์ | http://www.thanis.net/ |
ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป็นอดีตสมาชิกวงคาราบาว และเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. 2559 ปัจจุบันจัดรายการวิทยุประจำที่คลื่นความคิด F.M.96.5 ของอสมท และเป็นวิทยากรประจำรายการคุณพระช่วย ของเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์
ประวัติ
ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี หรือที่นิยมเรียกและรู้จักกันดีในชื่อ อาจารย์ ดร.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2493 ที่ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จบการศึกษาจากวิทยาลัยการศึกษาปทุมวันและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ[1]
ด้วยความที่เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและวิทยาลัยครูจันทรเกษม[2] จึงถูกเรียกติดปากว่า อาจารย์ธนิสร์ ได้เข้าร่วมวงคาราบาว ในปี พ.ศ. 2526 พร้อมกับ เทียรี่ เมฆวัฒนา และเป้า - อำนาจ ลูกจันทร์ ในการเป็นนักดนตรีแบ๊คอัพในห้องอัดของอโซน่า เมื่อคาราบาว โดยแอ๊ด - ยืนยง โอภากุล ได้มาอัดเสียงที่นี่ และชักชวนเข้าร่วมวง
บทบาทของอ.ธนิสร์ในวงคาราบาวนั้นนับว่าโดดเด่นมาก โดยจะเป็นผู้เล่นในตำแหน่ง คีย์บอร์ด และการประสานเสียง แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และความสามารถเฉพาะก็คือการเป่าขลุ่ย โดยเฉพาะในเพลง เมด อิน ไทยแลนด์ ที่อยู่ในอัลบั้มประวัติศาสตร์ของวงนั้น อ.ธนิสร์ได้เป่าทั้งเพลง รวมทั้งการส่งเสียงแซวในเนื้อเพลงด้วย จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ที่เรียกสีสันประจำตัวเมื่อมักจะแซวสมาชิกในวงคนอื่น ๆ โดยเฉพาะแอ๊ดเมื่อเล่นคอนเสิร์ตเสมอ ๆ ทำให้อ.ธนิสร์เปรียบเสมือนสีสันของวง
อ.ธนิสร์ได้แยกตัวออกจากวง เมื่อปี พ.ศ. 2531 ภายหลังวงคาราบาวออกอัลบั้มชุดที่ 9 คือ ทับหลัง โดยขัดแย้งในความเห็นกับแอ๊ด นับเป็นสมาชิกคนแรกที่แยกตัวออกไป จากนั้นเทียรี่และเป้าก็แยกออกจากวงคาราบาวตามอ.ธนิสร์ไปด้วย หลังจากนั้นทั้งสามคนได้ร่วมกันออกอัลบั้มชุดแรกของพวกเขาในปี พ.ศ. 2532 ชื่อชุด ขอเดี่ยวด้วยคนนะ มีเพลงที่ได้รับความนิยม ซึ่งร้องโดย อ.ธนิสร์และเทียรี่ คือ วันเกิด และ เงินปากผี
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2535 อ.ธนิสร์ก็ได้ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของตนเองชื่อชุด ลมไผ่[3] มีเพลงที่เป็นที่จดจำ มีเอกลักษณ์ของตนเอง และมีความไพเราะมาก คือ ทานตะวัน ที่นำเนื้อร้องมาจากบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งแต่งไว้เมื่อได้รับแรงบันดาลใจจากการชมทุ่งทานตะวัน ที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งเดินทางไปพร้อมกับวงคาราบาวในการทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศ ซึ่งเป็นการร้องประสานเสียงพร้อมเสียงขลุ่ย
และนับแต่นั้น อ.ธนิสร์ก็ได้ทำงานที่ชื่นชอบและถนัดของตนเอง มีผลงานออกมาหลายชุด ซึ่งโดยมากเป็นทำนองเพลงพื้นบ้านหรือเพลงไทยประยุกต์ให้เข้ากับดนตรีร่วมสมัย หลายชุดก็เป็นการร่วมงานกับศิลปินเพื่อชีวิตคนอื่น ๆ เช่น สุรชัย จันทิมาธร หรือ วิสา คัญทัพ เป็นต้น และในปี พ.ศ. 2538 ก็ได้กลับมาร่วมงานกับคาราบาวอีกครั้ง ในชุด หากหัวใจยังรักควาย อันเป็นการกลับมาร่วมทำงานด้วยกันของสมาชิกวงในยุคคลาสสิกทั้ง 7 คน
ในปี พ.ศ. 2547 อ.ธนิสร์ได้ร่วมกับ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และหมู - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ออกอัลบั้มร่วมกันในชุด "เพลงแผ่นดิน จาก 3 คีตกานต์กวี" ซึ่งก็ได้นำเพลงทานตะวันมาทำดนตรีและร้องใหม่โดยหมูด้วย
อ.ธนิสร์มีชื่อเล่นว่า เล็ก ซึ่งไปซ้ำกับชื่อของเล็ก - ปรีชา ชนะภัย สมาชิกอีกคนของวง ดังนั้น อ.ธนิสร์เมื่ออยู่ในวงจึงไม่ถูกเรียกชื่อเล่นเหมือนสมาชิกคนอื่น ๆ โดยผลงานสุดท้ายที่ทำร่วมกับคาราบาว คือ การเป่าขลุ่ยในเพลง เดือนแรม ในอัลบั้ม "สาวเบียร์ช้าง" ในปี พ.ศ. 2544 แต่ในการแสดงสดนั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 อ.ธนิสร์ได้ขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่ร่วมกับคาราบาวถึง 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือในคอนเสิร์ต 35 ปี คาราบาว เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559
อ.ธนิสร์ได้รับการยอมรับว่า เป็นนักดนตรีที่มีความสามารถและความชำนาญอย่างมากในการเล่นดนตรีประเภทเครื่องเป่า โดยเฉพาะขลุ่ย จนได้รับฉายาว่า จอมยุทธขลุ่ย นอกจากนี้แล้ว ยังสนใจในแนวดนตรีแจ๊สอีกด้วย โดยนำแนวทางการเล่นแบบแจ๊สมาประยุกต์ใช้ในการเป่าขลุ่ย จนได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award จาก Thailand International Jazz 2016 จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2559[4] ปัจจุบัน จัดรายการวิทยุประจำที่คลื่นความคิด F.M.96.5 ขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และเป็นวิทยากรประจำรายการคุณพระช่วย ของเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ เดิมออกอากาศทางช่อง 9 ปัจจุบันออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์
ชีวิตส่วนตัว สมรสกับนางจุฬาลักษณ์ ศรีกลิ่นดี (เสียชีวิตแล้ว) มีบุตรด้วยกันสองคนชื่อ ศศิวรรณ และ สมวุฒิ ศรีกลิ่นดี
ผลงานด้านบทเพลง
คาราบาว
- ท.ทหารอดทน (พ.ศ. 2526; แบ็คอัพ)
- เมด อิน ไทยแลนด์ (พ.ศ. 2527)
- อเมริโกย (พ.ศ. 2528)
- ประชาธิปไตย (พ.ศ. 2529)
- เวลคัมทูไทยแลนด์ (พ.ศ. 2530)
- ทับหลัง (พ.ศ. 2531)
- หากหัวใจยังรักควาย (พ.ศ. 2538)
- สาวเบียร์ช้าง (พ.ศ. 2544)
อัลบั้มเดี่ยว
- กัมพูชา ร่วมกับ แอ๊ด คาราบาว (พ.ศ. 2527)
- ลมไผ่ (พ.ศ. 2533)
- กระดี่ได้น้ำ ร่วมกับ อัสนี-วสันต์ (พ.ศ. 2531)
- ธนิสร์ กับ ชาวบ้าน / ชุด ก. (พ.ศ. 2534)
- ลมชีวิต WIND OF LIFE (พ.ศ. 2536)
- ดอกไม้เปลี่ยนสี ร่วมกับ เล็ก อรวี (พ.ศ. 2538)
- ลมไผ่ 1-3 (พ.ศ. 2541)
- บรรเลงขลุ่ยกับธรรมชาติ (พ.ศ. 2541)
- ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี Woodwind quartet (พ.ศ. 2541)
- Non Electric Project ร่วมกับ โบ สุนิตา (พ.ศ. 2544)
- ขวานไทยใจหนึ่งเดียว (พ.ศ. 2547)
- ความฝันอันสูงสุด
- เสียงขลุ่ยแห่งความหลัง
- เสียงขลุ่ยแห่งท้องทุ่ง อัลบั้มพิเศษ
- เดือนเพ็ญ
- ไผ่พริ้ว อิ่มอุ่น อัลบั้มพิเศษ
- ขลุ่ยบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์
อัลบั้มร่วม
- ขอเดี่ยวด้วยคนนะ (พ.ศ. 2532; ร่วมกับเทียรี่และเป้า)
- รัตติกาล (พ.ศ. 2537) ร่วมกับ สุรชัย จันทิมาธร
- เพลงแผ่นดิน จาก 3 คีตกานต์กวี (พ.ศ. 2547; ร่วมกับพงษ์เทพ กระโดนชำนาญและเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
- รำลึก 15 สีบสาน 20 ปี วีรชนพฤษภา 35 พ.ศ. 2555
- มาลีฮวนน่า ชุด ยรรโฟล์ค (Yann folk) พ.ศ. 2562
คอนเสิร์ต
- คอนเสิร์ต ทำโดยคนไทย 9 กุมภาพันธ์ 2528
- คอนเสิร์ต เวลคัม ทู อิสานเขียว 27 ธันวาคม 2530
- คอนเสิร์ต 10 ปี คาราบาว 25-26 พฤษภาคม 2534
- คอนเสิร์ต ปิดทองหลังพระ 25 พฤษภาคม 2539
- คอนเสิร์ต 3 ตำนานเพื่อชีวิต (2541) รับเชิญ
- คอนเสิร์ต คาราบาว 15 ปี เมดอินไทยแลนด์ 25 ธันวาคม 2542
- คอนเสิร์ต 15 ปี คำภีร์ เต็มขั้น (2545)
- คอนเสิร์ต สหาย พงษ์สิทธิ์, ธนิสร์, ศุ, ฤทธิพร (2546)
- คอนเสิร์ต เก็บตะวัน A Tribute To อิทธิ พลางกูร (2547)
- คอนเสิร์ต 19 เข้า 20 พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ "เสือออกลาย" (2549)
- คอนเสิร์ต จุดประกายครั้งที่ 40 ฅนนอกคอก วันที่ 15 สิงหาคม 2553
- คอนเสิร์ต พันธุ์เล วันที่ 12 สิงหาคม 2553
- คอนเสิร์ต แสงดาวแห่งศรัทธา วันที่ 25 กันยายน 2553
- คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรี 30 ปี คาราบาว 2554-2555
- คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต ครั้งที่ 15 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554
- คอนเสิร์ต Do for Dad วันที่ 3 มีนาคม 2555
- คอนเสิร์ต jazz & blue folks of folk วันที่ 7 ตุลาคม 2555
- คอนเสิร์ต 40 ปี มิตรภาพบนถนนดนตรี สุรชัย จันทิมาธร วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2556
- คอนเสิร์ต หนึ่งก้าว 60 พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2556
- คอนเสิร์ต แคมป์ไฟดนตรี มาลีฮวนน่า ครั้งที่ 6 วันที่ 6 ธันวาคม 2557
- คอนเสิร์ต คนไทย ตั้งใจทำอะไร ไม่แพ้ชาติใดในโลก วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558
- คอนเสิร์ต แคมป์ไฟดนตรี มาลีฮวนน่า ครั้งที่ 7 วันที่ 6 ธันวาคม 2558
- คอนเสิร์ต 35 ปี คาราบาว วันที่ 27 สิงหาคม 2559
- คอนเสิร์ต มาลีฮวนน่า Exclusive กอดดินถิ่นพ่อ วันที่ 9 กรกฎาคม 2560
- คอนเสิร์ต Still On My Mind The Acoustic Night (Tribute To The Great King) วันที่ 14 ตุลาคม 2560
- คอนเสิร์ต เพื่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไว้ให้ลูกหลาน วันที่ 11 มกราคม 2561
- คอนเสิร์ต Master of Voices 3 ตำนานเพลงรักแห่งสยาม วันที่ 13 - 14 ธันวาคม 2561
- คอนเสิร์ต คิดถึงหว่อง วันที่ 14 กันยายน 2562
- คอนเสิร์ต 70 ปีที่โลกไม่ลืม วันที่ 10 - 11 ตุลาคม 2563
ผลงานภาพยนตร์
- เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ (2528)
ละคร
- ห้าแยกลำปางหนา (2558)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. ไม่ปรากฎ – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)
อ้างอิง
- ↑ ประวัติจากเว็บไซต์ส่วนตัว
- ↑ ประวัติจากเว็บไซต์ส่วนตัว
- ↑ "ศรีกลิ่นดี-ลมไผ่". คมชัดลึก. 15 มีนาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ หน้า 07 จุดประกาย ดนตรี, 'ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ในด้านดนตรีแจ๊ส' . "มิวสิค คอร์เนอร์" โดย ประทักษ์ ใฝ่ศุภการ. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 9988: วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์ส่วนตัว
- เพลงทานตะวัน ฉบับอัลบั้มลมไผ่ เก็บถาวร 2007-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ฟังเพลงจากอัลบั้มลมไผ่ ทั้งอัลบั้ม เก็บถาวร 2010-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แฟนเพจอย่างเป็นทางการของคาราบาว
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- นักแซกโซโฟน
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2494
- บุคคลจากจังหวัดสิงห์บุรี
- นักดนตรีเพื่อชีวิต
- นักดนตรีชาวไทย
- นักดนตรีไทย
- บุคคลจากสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
- บุคคลจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
- คาราบาว
- นักจัดรายการวิทยุ
- ศิลปินที่เป็นแนวร่วมกปปส.
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จ.ภ.