ปลากระเบนไฟฟ้า
ปลากระเบนไฟฟ้า ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยอีโอซีน-ปัจจุบัน 55.8–0Ma | |
---|---|
ปลากระเบนไฟฟ้าแปซิฟิก (Torpedo californica) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Chondrichthyes |
อันดับใหญ่: | Batoidea |
อันดับ: | Torpediniformes de Buen, 1926 |
วงศ์ | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลากระเบนไฟฟ้า (อังกฤษ: Electric rays, Numbfishes, Coffin rays, Sleeper rays, Crampfishes) เป็นปลากระเบนที่มีรูปร่างกลม จัดอยู่ในอันดับ Torpediniformes และมีอวัยวะคู่หนึ่งที่สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์รูปหกเหลี่ยมเรียงซ้อนกันเป็นกลุ่ม ตั้งอยู่ทางด้านข้างของตาถัดไปถึงครีบอก ภายในมีสารเป็นเมือกคล้ายวุ้น ทำหน้าที่ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยความแรงมีตั้งแต่ระดับต่ำ��พียง 8 โวลต์ไปจนถึง 220 โวลต์ ขึ้นอยู่กับชนิด กระแสไฟฟ้านี้ใช้เพื่อทำให้เหยื่อสลบหรือฆ่าเหยื่อ
ปลากระเบนไฟฟ้าทั้งหมดมีรูปร่างแบนกลม ตามีขนาดเล็กมาก (มีอยู่ 4 ชนิดที่ตาบอด) ส่วนหางพัฒนาอย่างสมบูรณ์แข็งแรง และไม่มีเงี่ยงหางแหลมคมเหมือนปลากระเบนในอันดับอื่น มีลำตัวหนาและอ่อนนุ่ม มีครีบหลัง 2 ตอน หรือไม่มีเลย
ปลากระเบนไฟฟ้ามีทั้งหมด 4 วงศ์ (ดูในตาราง) ประกอบด้วย 69 ชนิด 11 สกุล โดยทั้งหมดพบในทะเล พบในบริเวณอบอุ่นในเขตร้อนของมหาสมุทรแอตแลนติก, แปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย
ปลากระเบนไฟฟ้ามักหมกตัวอยู่ใต้พื้นทราย สามารถทำอันตรายต่อมนุษย์ได้หากเหยียบไปถูกเข้า ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการชาและจมน้ำเสียชีวิตได้[2]
ปลากระเบนไฟฟ้าในภาษาไทยมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ปลาเสียว"[3] โดยชนิดที่พบได้ในน่านน้ำไทย เช่น ปลากระเบนไฟฟ้าหลังเรียบ (Temera hardwickii), ปลากระเบนไฟฟ้าสีน้ำตาล (Narcine brunnea), N. indica และ Narke dipterygia ส่วนชนิดที่พบได้ในต่างประเทศและเป็นที่รู้จักดีได้แก่ ปลากระเบนไฟฟ้าแปซิฟิก (Torpedo californica), ปลากระเบนไฟฟ้าตาบอด (Typhlonarke aysoni) เป็นต้น
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ จาก ITIS.gov (อังกฤษ)
- ↑ ปลากระเบน มหันตภัยใต้ทะเล? จากสนุกดอตคอม
- ↑ [ลิงก์เสีย] ปลากระเบนไฟฟ้า, ปลาเสียว (ไทย)[ลิงก์เสีย]