ข้ามไปเนื้อหา

โรคชอบหยิบฉวย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรคชอบหยิบฉวย
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์, จิตวิทยา

โรคชอบหยิบฉวย หรือ โรคชอบขโมย (อังกฤษ: kleptomania หรือ pathological stealing) คือการไม่สามารถต้านทานความอยากขโมยสิ่งของได้ มักเป็นไปด้วยเหตุผลอื่นนอกเหนือจากการใช้ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ทางการเงิน โรคชอบหยิบฉวยได้รับการอธิบายครั้งแรกใน ค.ศ. 1816 ว่าเป็นโรคทางจิตเวชที่อยู่ในกลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ (impulse control disorder) [1] ลักษณะสำคัญบางประการของโรคชี้ให้เห็นว่าโรคชอบหยิบฉวยอาจเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำสเปกตรัม แต่ก็มีความคล้ายคลึงกับโรคเสพติดและโรคอารมณ์ผิดปกติด้วย[2][3]

โรคนี้มักไม่ได้รับการวินิจฉัยและมักเกี่ยวโยงกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ โดยเฉพาะโรควิตกกังวล ความผิดปกติของการรับประทานอาหาร โรคพิษสุรา และการใช้สารเสพติด โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวยจะเข้ารับการบำบัดรักษาในด้านอื่น ๆ อันเป็นผลจากโรคร่วมมากกว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโรคชอบหยิบฉวย[4]

ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการบำบัดทางจิตเวชไปสู่การบำบัดทางจิตเภสัชวิทยาสำหรับโรคชอบหยิบฉวย การบำบัดทางเภสัชวิทยาโดยใช้ยา selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) ยาควบคุมอารมณ์ และ opioid receptor antagonists รวมถึงยาต้านเศร้าชนิดอื่น ๆ ร่วมกับการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) ให้ผลลัพธ์เชิงบวก[5] อย่างไรก็ตาม ยังมีการรายงานถึงโรคชอบหยิบฉวยที่ถูกกระตุ้นโดยยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) ด้วย[6]

อาการและอาการแสดง

[แก้]

องค์ประกอบพื้นฐานของโรคชอบหยิบฉวย ได้แก่ ความคิดแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ การขาดความสามารถในการต้านทานแรงขับที่จะขโมย และการปลดปล่อยแรงกดดันภายในหลังจากการขโมย อาการเหล่านี้บ่งชี้ว่าโรคชอบหยิบฉวยอาจถือได้ว่าเป็นโรคในกลุ่มย้ำคิดย้ำทำ[7][8]

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคชอบหยิบฉวยมักมีความผิดปกติประเภทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความวิตกกังวล การรับประทานอาหาร การควบคุมแรงกระตุ้น และการใช้ยาร่วมด้วย พวกเขายังมีความเครียด ความรู้สึกผิด ความสำนึกผิด รวมถึงปัญหาความเป็นส่วนตัวที่มาพร้อมกับพฤติกรรมการขโมยของ อาการแสดงเหล่านี้ถือเป็นสาเหตุหรือตัวกระตุ้นให้โรคร่วมรุนแรงขึ้น ลักษณะของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขโมยอาจส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ อันประกอบไปด้วยการแบ่งแยกทางสังคมและการใช้สารเสพติด ความผิดปกติอื่น ๆ หลายประเภทที่มักเกิดขึ้นพร้อมกับโรคชอบหยิบฉวยทำให้การวินิจฉัยทางคลินิกมีความไม่แน่นอน[9]

ความแตกต่างระหว่างการขโมยธรรมดาและโรคชอบหยิบฉวยคือ "การขโมยธรรมดา (ไม่ว่าจะวางแผนไว้หรือด้วยอารมณ์ชั่ววูบ) เกิดขึ้นโดยเจตนาและมีแรงจูงใจจากประโยชน์หรือมูลค่าทางการเงินของวัตถุนั้น" ในขณะที่โรคชอบหยิบฉวยนั้นมี "ความล้มเหลวซ้ำ ๆ ในการต่อต้านแรงกระตุ้นที่จะขโมย แม้ว่าจะไม่ต้องการสิ่งของนั้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือมูลค่าทางการเงินก็ตาม"[10]

สาเหตุ

[แก้]

ตัวแบบเบื้องต้นของการพัฒนาโรคชอบหยิบฉวยมีที่มาจากสาขาจิตวิเคราะห์ ตัวแบบดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยตัวแบบทางการรู้คิดและพฤติกรรม ซึ่งผนวกเข้ากับตัวแบบทางชีววิทยาที่โดยส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากการศึกษาทางเภสัชบำบัด

แนวทางจิตวิเคราะห์และจิตพลศาสตร์

[แก้]

มีการนำเสนอคำอธิบายหลากหลายประการเกี่ยวกับกลไกของโรคชอบหยิบฉวย แนวทางสังคมร่วมสมัยเสนอว่าโรคชอบหยิบฉวยเป็นผลจากลัทธิบริโภคนิยมและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีอยู่มากมายในสังคม ทฤษฎีจิตพลศาสตร์อาศัยมุมมองที่หลากหลายในการให้คำจำกัดความโรค ส่วนนักจิตวิเคราะห์นิยามภาวะดังกล่าวว่าเป็นข้อบ่งชี้ถึงกลไกป้องกันตนเอง (defense mechanism) ที่เกิดขึ้นจากอัตตาไร้สำนึกเพื่อปกป้องจากความวิตกกังวล สัญชาตญาณหรือความปรารถนาที่ถูกยับยั้ง การดิ้นรนต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุดหรือแรงขับทางเพศที่ต้องห้าม ความกลัวการสูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์ ความตื่นตัวทางเพศ รวมถึงการเติมเต็มทางเพศและการถึงจุดสุดยอดตลอดการขโมย[11] แนวทางจิตวิเคราะห์และจิตพลศาสตร์สำหรับโรคชอบหยิบฉวยวางรากฐานให้การทำจิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์หรือแบบจิตพลศาสตร์อย่างต่อเนื่องเป็นวิธีการรักษาหลักของโรคดังกล่าวอยู่เป็นเวลาหลายปี เช่นเดียวกับความเจ็บป่วยทางจิตเวชส่วนใหญ่ โรคชอบหยิบฉวยมักจะถูกสังเกตด้วยมุมมองทางจิตพลศาสตร์ แทนที่จะถูกมองว่าเป็นโรคทางชีวการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ความแพร่หลายของแนวทางจิตวิเคราะห์มีส่วนสนับสนุนให้แนวทางอื่น ๆ เจริญเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในสาขาชีววิทยา[12]

นักทฤษฎีจิตวิเคราะห์หลายคนเสนอว่าโรคชอบหยิบฉวยเป็นความพยายามของบุคคล "เพื่อให้ได้มาซึ่งการชดเชยเชิงสัญลักษณ์สำหรับการสูญเสียที่เกิดขึ้นจริงหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น" และรู้สึกว่ากุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจสาเหตุของโรคนี้อยู่ที่ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งของที่ถูกขโมยไป[13] ทฤษฎีแรงขับ (drive theory) ถูกนำมาใช้เพื่อเสนอว่าการขโมยเป็นกลไกป้องกันตนเอง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมหรือป้องกันไม่ให้แสดงความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ออกมา[14] จิตแพทย์ชาวฝรั่งเศสบางคนแย้งว่าผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวยอาจแค่ต้องการสิ่งของที่พวกเขาขโมยและความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการขโมยเท่านั้น[15][16]

ตัวแบบทางความคิดและพฤติกรรม

[แก้]

ตัวแบบทางความคิดและพฤติกรรมได้เข้ามาแทนที่ตัวแบบทางจิตวิเคราะห์ในการอธิบายพัฒนาการของโรคชอบหยิบฉวย ผู้ปฏิบัติงานด้านความคิดและพฤติกรรมมักมองว่าความผิดปกตินี้เป็นผลมาจากการวางเงื่อนไขการกระทำ (operant conditioning) การผูกโยงทางพฤติกรรม (behavioral chaining) การรู้คิดที่บิดเบือน และกลไกการรับมือ (coping mechanism) ที่ไม่ดี[17][18] ตัวแบบทางความคิดและพฤติกรรมชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมได้รับการเสริมแรงเชิงบวกหลังจากที่บุคคลขโมยสิ่งของบางอย่าง หากบุคคลนี้ประสบกับผลกระทบเชิงลบ (การลงโทษ) เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย โอกาสที่พฤติกรรมนั้นจะเกิดขึ้นอีกก็จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่พฤติกรรมยังคงเกิดขึ้นต่อไป เงื่อนไขนำหรือสิ่งเร้าที่แข็งแกร่งกว่าอาจถูกเชื่อมโยงกับพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งในท้ายที่สุดจะกลายเป็นห่วงโซ่พฤติกรรมที่ทรงพลัง ตามทฤษฎีความคิดและพฤติกรรม (CBT) ทั้งเงื่อนไขนำและผลของการกระทำอาจอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือความคิดก็ได้ ตัวอย่างเช่น โคนและอันโตนูชิโอ (2002) บรรยายถึงความคิดอันเป็นเงื่อนไขนำของผู้ป่วย ซึ่งประกอบด้วยความนึกคิดเช่น "ฉันฉลาดกว่าคนอื่นและสามารถหนีรอดไปโดยไม่ถูกจับได้" "พวกเขาสมควรได้รับแล้ว" "ฉันต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าฉันทำได้" และ "ครอบครัวของฉันสมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้" ความนึกคิดเหล่านี้เป็นสิ่งเร้าที่มีพลังในการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการขโมย ความนึกคิดทั้งหมดนี้ถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นโดยเงื่อนไขนำอื่น ๆ ได้แก่ ความคิดเกี่ยวกับครอบครัว ความเครียดเรื่องเงินและการทำงาน หรือความรู้สึกซึมเศร้า ความคิดที่ดำเนินต่อเนื่องไปจะเพิ่มการเสริมแรงพฤติกรรมการขโมย รวมถึงความรู้สึกของการแก้แค้นและความภาคภูมิใจ เช่น "ชัยชนะของ 'คนตัวเล็ก' เหนือบริษัทยักษ์ใหญ่" แม้ว่าความคิดเหล่านั้นมักจะตามมาด้วยความรู้สึกสำนึกผิดในภายหลัง แต่ก็สายเกินกว่าจะทำหน้าที่เป็นบทลงโทษในการวางเงื่อนไขได้ ในที่สุด ผู้ที่เป็นโรคชอบหยิบฉวยก็จะพึ่งพาการขโมยเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดและความรู้สึกวิตกกังวล ซึ่งทำให้พฤติกรรมยังคงอยู่ต่อไปและลดจำนวนกลยุทธ์การรับมืออื่น ๆ ลง[19]

ตัวแบบทางชีววิทยา

[แก้]

ตัวแบบทางชีววิทยาที่อธิบายถึงต้นกำเนิดของโรคชอบหยิบฉวยนั้น ส่วนใหญ่อ้างอิงจากการศึกษาการรักษาด้วยยาที่ใช้ selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) ยาควบคุมอารมณ์ และ opioid receptor antagonists[20][21]

การศึกษาวิจัยบางงานที่ใช้ SSRIs พบว่า opioid antagonists ดูเหมือนจะสามารถลดความอยากขโมยและระงับ "ความพลุ่งพล่าน" ที่มักเกิดขึ้นทันทีหลังจากการขโมยในผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวยบางรายได้ ซึ่งอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าการควบคุมเซโรโทนิน โดพามีน และ/หรือสารโอปิออยด์ตามธรรมชาติในสมองที่ไม่ดีเป็นสาเหตุของโรคชอบหยิบฉวย และเชื่อมโยงโรคนี้เข้ากับโรคขาดความยับยั้งชั่งใจและความผิดปกติทางอารมณ์[14][20][21]

อีกคำอธิบายหนึ่งที่อิงจากการศึกษาเกี่ยวกับ opioid antagonists ระบุว่าโรคชอบหยิบฉวยมีลักษณะคล้ายกับตัวแบบ "การใช้ยารักษาตนเอง" (self-medication) ที่ซึ่งการขโมยจะกระตุ้นระบบโอปิออยด์ในร่างกายของบุคคลนั้น “การหลั่งสารโอปิออยด์ช่วย ‘ปลอบประโลม’ ผู้ป่วย รักษาความเศร้า หรือลดความวิตกกังวล ดังนั้น การขโมยจึงเป็นกลไกในการบรรเทาภาวะตื่นตัวมากเกินไปเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากเหตุการณ์ที่ตึงเครียดหรือกระทบกระเทือนจิตใจในอดีต และสามารถปรับสภาวะทางอารมณ์ได้ด้วยวิธีนั้นเอง”[20]: 354 

การวินิจฉัย

[แก้]

มีความขัดแย้งเกี่ยวกับวิธีการที่ใช้พิจารณาและวินิจฉัยโรคชอบหยิบฉวย นักวิจัยบางกลุ่มเชื่อว่าโรคชอบหยิบฉวยเป็นเพียงการลักขโมยธรรมดา และโต้แย้งข้อเสนอที่ว่ามีกลไกทางจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง ในขณะที่นักวิจัยกลุ่มอื่น ๆ สังเกตว่าโรคชอบหยิบฉวยเป็นส่วนหนึ่งของการติดสารเสพติด แต่ก็มีกลุ่มที่จัดประเภทโรคชอบหยิบฉวยเป็นรูปแบบหนึ่งของโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ เช่นเดียวกับโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือความผิดปกติของการรับประทานอาหาร[20]: 378–84 

ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 4 (DSM IV-TR) ซึ่งเป็นคู่มือที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต อาการและลักษณะดังต่อไปนี้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคชอบหยิบฉวย

  1. การขาดความสามารถในการต้านทานความอยากขโมยสิ่งของซึ่งไม่จำเป็นต่อการใช้ส่วนตัวหรือไม่ใช่เพื่อมูลค่าทางการเงิน
  2. ความรู้สึกกดดันที่เพิ่มสูงขึ้นทันทีก่อนที่จะขโมย
  3. ความพึงพอใจ ความสมใจอยาก หรือความเบาใจ ณ ช่วงเวลาที่ขโมย
  4. การขโมยนั้นไม่ได้กระทำเพื่อสื่อถึงการต่อต้านหรือการแก้แค้น และไม่ใช่การตอบสนองต่อการหลงผิดหรือจินตนาการ
  5. การขโมยนั้นไม่สามารถอธิบายได้ด้วยความผิดปกติทางพฤติกรรม ภาวะคลุ้มคลั่ง หรือโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (antisocial personality disorder) [22]

กลุ่มผู้กังขาได้วิพากษ์วิจารณ์โรคชอบหยิบฉวยว่าเป็นเพียงข้อคิดเห็นทางจิตวิทยาที่ไม่เป็นจริง ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายแก่หญิงร่ำรวยที่ลักขโมยของในร้านค้า ในช่วงศตวรรษที่ 20 โรคชอบหยิบฉวยมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับจำนวนห้างสรรพสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และ "คนชอบขโมยของในห้างสรรพสินค้า" ถือเป็นเจตคติเหมารวมทางสังคมที่ยึดถือกันเป็นวงกว้างโดยมีนัยทางการเมืองแฝงอยู่[23]

โรคร่วม

[แก้]

โรคชอบหยิบฉวยดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับความผิดปกติทางจิตเวชอื่น ๆ โดยเฉพาะอารมณ์แปรปรวน ความวิตกกังวล ความผิดปกติในการรับประทานอาหาร ตลอดจนการดื่มสุราและการใช้สารเสพติด พฤติกรรมการขโมยที่เกิดขึ้นร่วมกับความผิดปกติในการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะในโรคบูลิเมีย เนอร์โวซา (bulimia nervosa) มักถูกมองว่าเป็นสัญญาณบ่งบอกความรุนแรงของความผิดปกติในการรับประทานอาหารนั้น[24]

ตั้งแต่ ค.ศ. 1911 มีรายงานความเป็นไปได้ของความเชื่อมโยงระหว่างโรคซึมเศร้ากับโรคชอบหยิบฉวย นับแต่นั้นมา ความเชื่อมโยงดังกล่าวก็ได้รับการพิสูจน์อย่างกว้างขวางในการสังเกตทางคลินิกและรายงานผู้ป่วย โรคอารมณ์ผิดปกติอาจเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดร่วมกับการเริ่มเป็นโรคชอบหยิบฉวยก็ได้ ในกรณีที่รุนแรง โรคซึมเศร้าอาจส่งผลให้เกิดการทำร้ายตนเองและอาจถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ บางคนรายงานว่าอาการซึมเศร้าหรืออาการคลุ้มคลั่งทุเลาลงหลังจากการขโมย[25]

มีการเสนอว่าเนื่องจากโรคชอบหยิบฉวยเชื่อมโยงกับลักษณะพฤติกรรมตามแรงกดดันและความหุนหันพลันแล่นอย่างรุนแรง จึงอาจมองได้ว่าโรคนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของโรคย้ำคิดย้ำทำสเปกตรัม เช่นเดียวกับโรคติดการพนัน (pathological gambling) โรคเสพติดการซื้อของ (compulsive buying) โรคชอบจุดไฟ (pyromania) การกัดเล็บ (nailbiting) และโรคดึงผมตนเอง (trichotillomania) ข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานที่ว่าโรคย้ำคิดย้ำทำจะพบได้มากเป็นพิเศษในกลุ่มญาติใกล้ชิดของผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวย[26]

ความผิดปกติในการใช้สาร

[แก้]

โรคชอบหยิบฉวยและการติดสารเสพติดมีลักษณะสำคัญที่เหมือนกันหลายประการ ได้แก่

  • การกระทำพฤติกรรมตามแรงขับในจิตใจซ้ำ ๆ แม้พฤติกรรมนั้นจะนำมาซึ่งบทลงโทษที่ไม่พึงประสงค์ก็ตาม
  • การควบคุมพฤติกรรมก่อกวนที่อ่อนแอลง
  • สภาวะความต้องการหรือความปรารถนาก่อนที่จะลงมือกระทำพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
  • สภาวะแสวงหาความสุขตลอดการกระทำพฤติกรรมก่อกวน

ข้อมูลจากการศึกษาทางระบาดวิทยายังเสนอว่าโรคชอบหยิบฉวยกับความผิดปกติในการใช้สารมีความเกี่ยวข้องกัน โดยมีความสัมพันธ์ทิศทางเดียวในอัตราที่สูง ข้อมูลเชิงปรากฏการณ์วิทยายืนยันว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างโรคชอบหยิบฉวยและการติดสารเสพติด โรคชอบหยิบฉวยถูกพบในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นในอัตราร้อยละที่สูงกว่า ส่วนในผู้สูงอายุจะพบได้น้อยกว่า บ่งบอกถึงประวัติธรรมชาติที่คล้ายคลึงกันกับความผิดปกติในการใช้สาร ข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัวยังชี้ให้เห็นถึงปัจจัยทางพันธุกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับปัญหาการดื่มสุราและโรคชอบหยิบฉวยด้วย ความผิดปกติในการใช้สารพบในผู้ที่เป็นโรคชอบหยิบฉวยมากกว่าในประชากรทั่วไป นอกจากนี้ ข้อมูลทางเภสัชวิทยา (เช่น ประสิทธิศักย์ที่เป็นไปได้ของนาลเทรกโซน (naltrexone) ยาในกลุ่ม opioid antagonists ในการรักษาทั้งโรคชอบหยิบฉวยและความผิดปกติในการใช้สาร) อาจเป็นหลักฐานสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างโรคชอบหยิบฉวยและความผิดปกติในการใช้สารได้ จากแนวคิดที่ว่าโรคชอบหยิบฉวยและความผิดปกติในการใช้สารอาจมีสาเหตุร่วมกันบางประการ อาจสรุปได้ว่าโรคชอบหยิบฉวยจะตอบสนองในทางที่ดีต่อการรักษาแบบเดียวกัน อันที่จริงแล้ว วิธีการรักษาทั่วไป ซึ่งไม่ใช่วิธีทางการแพทย์ ที่ประสบความสำเร็จในการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดก็สามารถช่วยในการรักษาโรคชอบหยิบฉวยได้เช่นกัน[27]

โรคย้ำคิดย้ำทำ

[แก้]

โรคชอบหย��บฉวยมักถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) เนื่องจากการกระทำที่ไม่อาจต้านทานและไม่อาจควบคุมได้นั้นคล้ายคลึงกับพิธีกรรม (ritual) ที่เกินปกติ ไม่จำเป็น และไม่พึงประสงค์ของโรค OCD ผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวยบางรายอาจมีอาการชอบเก็บสะสมสิ่งของคล้ายกับผู้ป่วยโรค OCD ด้วย อัตราความชุกของโรคทั้งสองไม่ได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างโรคมากนัก การวิจัยที่สำรวจการเกิด OCD เป็นโรคร่วมในผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวยนั้นพบผลที่ไม่สอดคล้องกัน โดยบางงานพบอัตราการเกิดโรคร่วมค่อนข้างสูง (45%-60%) [22][23] ในขณะที่บางงานพบอัตราต่ำ (0%-6.5%) [24][25] ในทำนองเดียวกัน เมื่อสำรวจอัตราการเกิดโรคชอบหยิบฉวยในผู้ป่วยโรค OCD พบว่ามีการเกิดร่วมกันค่อนข้างต่ำ (2.2%-5.9%) [26][28]

โรคชอบจุดไฟ

[แก้]

โรคชอบจุดไฟเป็นโรคขาดความยับยั้งชั่งใจอีกชนิดหนึ่ง มีความเกี่ยวพันกับโรคชอบหยิบฉวยหลายประการ ผู้ที่เป็นโรคชอบจุดไฟหลายรายมักจุดไฟควบคู่ไปกับการขโมยของเล็ก ๆ น้อย ๆ คล้ายกับโรคชอบหยิบฉวย[29]

การรักษา

[แก้]

แม้ว่านักจิตวิทยาจะรู้จักโรคนี้มานานแล้วก็ตาม แต่สาเหตุของโรคชอบหยิบฉวยยังคงไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงมีการนำแนวทางการบำบัดที่หลากหลายมาใช้ในการรักษา การบำบัดดังกล่าวได้แก่ จิตบำบัดเชิงจิตวิเคราะห์ พฤติกรรมบำบัด และเภสัชบำบัด[21]

การแทรกแซงทางความคิดและพฤติกรรม

[แก้]

การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) ได้เข้ามาแทนที่แนวทางจิตวิเคราะห์และจิตพลศาสตร์ในการรักษาโรคชอบหยิบฉวย ในหลายกรณีศึกษา แนวทางพฤติกรรมหลากหลายแนวทางได้รับการแนะนำว่าเป็นประโยชน์ ได้แก่ การทำให้ไวต่อสิ่งเร้าแฝงด้วยภาพอันไม่พึงประสงค์ของการคลื่นไส้และอาเจียน การบำบัดด้วยวิธีไม่พึงประสงค์ (aversion therapy) (เช่น การบังคับให้กลั้นหายใจเพื่อให้รู้สึกเจ็บปวดเล็กน้อยทุกครั้งที่ปรารถนาจะขโมยหรือจินตนาการถึงการขโมย) และการลดความวิตกกังวลอย่างเป็นระบบ (systematic desensitisation) [30] ในบางกรณี มีการผสมผสานหลายวิธีเข้าด้วยกัน เช่น การทำให้ไวต่อสิ่งเร้าแฝงพร้อมกับการเผชิญและการป้องกันการตอบสนอง (exposure and response prevention) แม้ว่าแนวทางที่ใช้ใน CBT จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยและตรวจสอบเพิ่มเติมสำหรับโรคชอบหยิบฉวย แต่การผสมผสานวิธีการเหล่านี้เข้ากับการใช้ยาก็ประสบความสำเร็จในการรักษาอย่างประจักษ์ชัดมากกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว[31]

การรักษาด้วยยา

[แก้]

ความคล้ายคลึงกันทางปรากฏการณ์วิทยาและพลวัตทางชีววิทยาพื้นฐานที่อาจมีร่วมกันของโรคชอบหยิบฉวยและโรคย้ำคิดย้ำทำ โรคติดการพนัน และโรคดึงผมตนเอง ทำให้เกิดทฤษฎีที่ว่ากลุ่มยาที่คล้ายกันสามารถใช้กับการเจ็บป่วยเหล่านี้ได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ จึงมีการใช้ยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) ซึ่งเป็นยาต้านเศร้ารูปแบบหนึ่ง ในผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวยและโรคขาดความยับยั้งชั่งใจอื่น ๆ เช่น โรคกินไม่หยุด (binge eating disorder) และโรคย้ำคิดย้ำทำ การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (ECT) ยาลิเธียม และกรดวาลโปรอิก (โซเดียมวาลโปรเอท) ก็ถูกนำมาใช้เช่นกัน[32]

การใช้ยา SSRI เกิดจากการสันนิษฐานว่าพลวัตทางชีววิทยาของการเจ็บป่วยเหล่านี้มาจากระดับเซโรโทนินในไซแนปส์ของสมองที่ต่ำ และประสิทธิภาพของการรักษาประเภทนี้จะสัมพันธ์กันในโรคชอบหยิบฉวยและโรคร่วมอื่น ๆ [33]

Opioid receptor antagonists สามารถบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องกับแรงกระตุ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโรคขาดความยับยั้งชั่งใจได้ ด้วยเหตุนี้ ยาดังกล่าวจึงถูกนำมาใช้ในการบำบัดการติดสารเสพติด คุณสมบัติเช่นนี้ทำให้ยามีประโยชน์ในการรักษาโรคชอบหยิบฉวยและโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ โดยยาที่ใ���้บ่อยที่สุดคือนาลเทรกโซน ซึ่งเป็นตัวยับยั้งแบบแข่งขัน (competitive antagonist) ที่ออกฤทธิ์นาน นาลเทรกโซนทำงานที่ μ-receptors แต่ก็เป็นตัวยับยั้ง κ และ λ-receptors ด้วย[34]

ยังไม่มีการทดลองที่มีกลุ่มควบคุมเกี่ยวกับการรักษาทางจิตเภสัชวิทยาของโรคชอบหยิบฉวย อาจเป็นเพราะโรคชอบหยิบฉวยเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ไม่บ่อยและยากที่จะหากลุ่มตัวอย่างให้เพียงพอต่อการทดลอง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคนี้ส่วนใหญ่มาจากรายงานผู้ป่วยหรือจากข้อมูลเล็กน้อยที่รวบรวมมาจากกรณีศึกษาจำนวนไม่มากที่รวมอยู่ในกลุ่มของกรณีอื่น ๆ [21]

ประวัติ

[แก้]

ในศตวรรษที่ 19 จิตแพทย์ชาวฝรั่งเศสเริ่มสังเกตพฤติกรรมชอบหยิบฉวย แต่ถูกจำกัดด้วยแนวคิดของพวกเขาเอง[35] ใน ค.ศ. 1890 มีการพัฒนากรณีศึกษาเกี่ยวกับโรคชอบหยิบฉวยขึ้นเป็นจำนวนมาก โรคฮิสทีเรีย (hysteria) ความบกพร่องทางสติปัญญา ความบกพร่องทางสมอง และวัยหมดประจำเดือน (menopause) ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นทฤษฎีที่ใช้ในการอธิบายพฤติกรรมที่ดูเหมือนไร้เหตุผลเหล่านี้ และหลายคนยังเชื่อมโยงโรคชอบหยิบฉวยเข้ากับการขาดวุฒิภาวะ เนื่องจากเด็กเล็ก ๆ มักจะหยิบฉวยสิ่งของทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ ข้อสังเกตของชาวฝรั่งเศสและชาวเยอรมันเหล่านี้ ในเวลาต่อมาได้กลายมาเป็นหัวใจสำคัญของคำอธิบายทางจิตวิเคราะห์ของโรคชอบหยิบฉวย[36]

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

คำว่า Kleptomania เป็นคำที่มาจากภาษากรีก คือ κλέπτω (klepto) แปลว่า "ขโมย" และ μανία (mania) แปลว่า "ความปรารถนาอันบ้าคลั่ง, แรงผลักดันทางจิตใจ" ความหมายโดยคร่าวตรงกับ “แรงผลักดันที่จะขโมย” หรือ “การขโมยเป็นนิสัย” (compulsive stealing) [37]

จิตวิเคราะห์รุ่นแรก

[แก้]

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โรคชอบหยิบฉวยถูกมองว่าเป็นเพียงข้อแก้ตัวทางกฎหมายของหญิงชนชั้นกระฎุมพีที่เอาแต่ใจตัวเอง มากกว่าจะเป็นความเจ็บป่วยทางจิตเวชที่ค้นพบโดยจิตแพทย์ชาวฝรั่งเศส[38][39]

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ผู้สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก เชื่อว่าพลวัตเบื้องหลังของพฤติกรรมมนุษย์นั้นเกี่ยวเนื่องมาจากคนเถื่อนที่ไร้อารยธรรม แต่แรงกระตุ้นนั้นถูกระงับไว้โดยการหักห้ามใจเพื่อให้ใช้ชีวิตในสังคมได้ ฟรอยด์ไม่เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์มีเหตุผล เขาได้รวบรวมงานเขียนเชิงทฤษฎีเอาไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเหล่าสาวกของเขาได้นำไปประยุกต์ใช้กับปัญหาทางจิต เช่น โรคชอบหยิบฉวย ใน ค.ศ. 1924 วิลเฮล์ม สตีเคิล (Wilhelm Stekel) ลูกศิษย์คนหนึ่งของฟรอยด์ อ่านรายงานผู้ป่วยของหญิงที่เป็นโรคชอบหยิบฉวย ซึ่งถูกผลักดันด้วยความต้องการทางเพศที่เก็บกดเอาไว้ทำให้เธอต้องฉกฉวย "สิ่งต้องห้ามโดยไม่มีผู้รู้เห็น" สตีเคิลสรุปว่าโรคชอบหยิบฉวยคือ "ความปรารถนาทางเพศที่ถูกยับยั้งและแทนที่ ซึ่งดำเนินการผ่านสื่อกลางอันเป็นสัญลักษณ์หรือการกระทำเชิงสัญลักษณ์ ทุกแรงขับในจิตใจล้วนเกิดจากการเก็บกดทั้งสิ้น"[40]

จิตวิเคราะห์รุ่นที่สอง

[แก้]

ฟริทซ์ วิทเทิลส์ (Fritz Wittels) แย้งว่าผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวยเป็นกลุ่มคนที่พัฒนาการทางเพศไม่เจริญเต็มที่ รู้สึกขาดความรัก และด้อยประสบการณ์ในด้านความสัมพันธ์ทางเพศ การขโมยคือชีวิตทางเพศของพวกเขา ทำให้พวกเขารู้สึกตื่นเต้นเร้าใจมากจนไม่อยากรับการรักษาให้หายขาด ในความเห็นของวิทเทิลส์ ผู้ชายที่เป็นโรคชอบหยิบฉวยมักจะเป็นคนรักร่วมเพศหรือเป็นมีลักษณะเหมือนผู้หญิง[41][42]

การวิเคราะห์ขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับโจรขโมยของตามร้านค้าในสหราชอาณาจักรทับถมแนวคิดของสตีเคิลในเรื่องสัญลักษณ์ทางเพศ และอ้างว่าหนึ่งในห้าของโจรขโมยของตามร้านค้านั้นเป็น "จิตเวช"[43]

มุมมองใหม่

[แก้]

บทความเชิงมโนทัศน์ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับแย้งว่าโรคชอบหยิบฉวยเริ่มจะพบได้บ่อยมากกว่าที่เคยคิดไว้ และเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แนวคิดเหล่านี้เป็นแนวคิดใหม่ในช่วงไม่นานมานี้ แต่เป็นการกล่าวเช่นเดียวกับแนวคิดที่ปรากฏในช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 19[14]: 986–996 

อ้างอิง

[แก้]
  1. Shulman, Terrence Daryl (2004). Something for Nothing: Shoplifting Addiction & Recovery. Haverford, PA: Infinity Publishing. ISBN 0741417790.
  2. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders IV.
  3. Grant, Jon (2006). "Understanding and Treating Kleptomania: New Models and New Treatments". The Israel Journal of Psychiatry and Related Sciences. 43 (2): 81–7. PMID 16910369. ProQuest 236926707.
  4. Grant, JE (2004). "Co-occurrence of personality disorders in persons with kleptomania: a preliminary investigation". Journal of the American Academy of Psychiatry and the Law. 32 (4): 395–8. PMID 15704625.
  5. Aizer, A.; Lowengrub, K.; Dannon, P.N. (2004). "Kleptomania after head trauma: two case reports and the combination treatment strategies". Clinical Neuropharmacology. 27 (5): 211–5. doi:10.1097/01.wnf.0000144042.66342.d3. PMID 15602100.
  6. Kindler, Seth; Dannon, Pinhas N.; Iancu, Iulian; Sasson, Yehuda; Zohar, Joseph (1997-04-01). "Emergence of Kleptomania During Treatment for Depression with Serotonin Selective Reuptake Inhibitors". Clinical Neuropharmacology (ภาษาอังกฤษ). 20 (2): 126–129. doi:10.1097/00002826-199704000-00003. ISSN 0362-5664. PMID 9099464.
  7. Gürlek Yüksel, E.; Taşkin, E.O.; Yilmaz Ovali, G.; Karaçam, M.; Esen Danaci, A. (2007). "Case report: kleptomania and other psychiatric symptoms after carbon monoxide intoxication". Türk Psikiyatri Dergisi (Turkish Journal of Psychiatry) (ภาษาตุรกี). 18 (1): 80–6. PMID 17364271.
  8. Grant, J.E. (2006). "Understanding and treating kleptomania: new models and new treatments". The Israel Journal of Psychiatry and Related Sciences. 43 (2): 81–7. PMID 16910369.
  9. Hollander, Eric; Stein, Dan (2006).
  10. American Psychiatric Association, บ.ก. (2000). DSM-IV-TR (4th ed.). Arlinton, VA: American Psychiatric Association. pp. 667–668.
  11. "From stack-firing to pyromania: medico-legal concepts of insane arson in British, US and European contexts, c. 1800-1913".
  12. Levy, Sidney (2007).
  13. Cupchik, W.; Atcheson, D.J. (1983). "Shoplifting: An Occasional Crime Of The Moral Majority". The Bulletin of the American Academy of Psychiatry and the Law. 11 (4): 343–54. PMID 6661563.
  14. 14.0 14.1 14.2 Goldman, Marcus J. (1991). "Kleptomania: Making Sense of the Nonsensical". American Journal of Psychiatry. 148 (8): 986–96. doi:10.1176/ajp.148.8.986. PMID 1853988.
  15. Fullerton, Ronald A. (2016-08-11). "Psychoanalyzing kleptomania". Marketing Theory (ภาษาอังกฤษ). 7 (4): 335–352. doi:10.1177/1470593107083160.
  16. And Son, And Son, Thomas Murray, J. Smith (1886). The Journal of Jurisprudence. the University of California: T.T. Clark. p. 607.
  17. Gauthier & Pellerin, 1982.
  18. Kohn & Antonuccio, 2002.
  19. John, C.S.; Kalal, D. M.; Kastell, K.; Viera, J. (2006). "Kleptomania". ใน Fisher, J. E.; O'Donohue, W. T. (บ.ก.). Practitioner's guide to evidence-based psychotherapy. New York: Springer.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 Grant, J.E.; Kim, S.W. (2002). "Clinical characteristics and associated psychopathology of 22 patients with kleptomania". Comprehensive Psychiatry. 43 (5): 378–84. doi:10.1053/comp.2002.34628. PMID 12216013.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 Durst, Rimona; Katz, Gregory; Teitelbaum, Josef Zislin; Dannon, N.P. (2001). "Kleptomania: Diagnosis and Treatment Options". CNS Drugs. 15 (3): 185–195. doi:10.2165/00023210-200115030-00003. PMID 11463127.
  22. 22.0 22.1 Presta, S.; Marazziti, D.; Dell'Osso, L.; Pfanner, C.; Pallanti, S.; Cassano, G.B. (2002). "Kleptomania: clinical features and comorbidity in an Italian sample". Comprehensive Psychiatry. 43 (1): 7–12. doi:10.1053/comp.2002.29851. PMID 11788913.
  23. 23.0 23.1 McElroy, S.L.; Pope, H.G.; Hudson, J.I.; Keck, P.E.; White, K.L. (1991). "Kleptomania: a report of 20 cases". The American Journal of Psychiatry. 148 (5): 652–7. doi:10.1176/ajp.148.5.652. PMID 2018170.
  24. 24.0 24.1 Baylé, F.J.; Caci, H.; Millet, B.; Richa, S.; Olié, J.P. (2003). "Psychopathology and comorbidity of psychiatric disorders in patients with kleptomania". The American Journal of Psychiatry. 160 (8): 1509–13. doi:10.1176/appi.ajp.160.8.1509. PMID 12900315.
  25. 25.0 25.1 Grant, J.E. (2003). "Family history and psychiatric comorbidity in persons with kleptomania". Comprehensive Psychiatry. 44 (6): 437–41. doi:10.1016/S0010-440X (03) 00150-0. PMID 14610719. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่า |doi= (help)
  26. 26.0 26.1 Matsunaga, H.; Kiriike, N.; Matsui, T.; Oya, K.; Okino, K.; Stein, D.J. (2005). "Impulsive disorders in Japanese adult patients with obsessive-compulsive disorder". Comprehensive Psychiatry. 46 (1): 43–9. doi:10.1016/j.comppsych.2004.07.001. PMID 15714194.
  27. Grant, J.E.; Grant, M.P.H.; Odlaug, Brian L.; Kim, S.W. (2010). "Kleptomania: Clinical Characteristics and Relationship to Substance Use Disorders". The American Journal of Drug and Alcohol Abuse. 36 (5): 291–295. doi:10.3109/00952991003721100. PMID 20575650.
  28. Fontenelle, L.F.; Mendlowicz, M.V.; Versiani, M. (2005). "Impulse control disorders in patients with obsessive-compulsive disorder". Psychiatry and Clinical Neurosciences. 59 (1): 30–37. doi:10.1111/j.1440-1819.2005.01328.x. PMID 15679537.
  29. Sadock, Benjamin J; Sadock, Virginia A (21 April 2008). Kaplan and Sadock's Concise Textbook of Clinical Psychiatry. Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 9780781787468.
  30. "Historical Research in the Journal of Macromarketing, 1981-2005".
  31. "Introduction to the Special Issue on the History of Marketing Thought".
  32. "Consumer Misbehavior: The Rise of Self-Service Grocery Retailing and Shoplifting in the United Kingdom c. 1950-1970".
  33. "Sources of Immoderation and Proportion in Marketing".
  34. Fullerton, Ronald A.; Punj, Girish N. (June 2004). "Shoplifting as Moral Insanity: Historical Perspectives on Kleptomania". Journal of Macromarketing. 24 (1): 8–16. doi:10.1177/0276146704263811.
  35. Abelson, Elaine S. (1989). When Ladies Go A-Thieving: Middle-Class Shoplifters in the Victorian Department Store (ภาษาEnglish) (1st ed.). New York: Oxford University Press. ISBN 978-0195071429.{{cite book}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  36. Juqueller, Paul; Vinchon, Jean (1914). "Revue de Psychiatrie et de Psychologies Experimental". L'Historie de la Kleptomanie: 47–64.
  37. "Drug Suppresses The Compulsion To Steal, Study Shows".
  38. A., Antheaume (1925). "L'Encéphale". La Légende de la Kleptomanie Affection Mental Fictive. 20: 368–388.
  39. Friedemann, Max; Willard, Clara (trans.) (1930). "Psychoanalytical Review". Cleptomanis: The Analytic and Forensic Aspects. 17: 452–470.
  40. Wilhelm, Stekel; Teslaar, James S. Van (trans.) (1924). "Sexual root of kleptomania". Peculiarities of Behaviour. 2. 2 (Journal of the American Institute of Criminal Law and Criminology): 239–246.
  41. Fritz, Wittels (1942). Kleptomania and Other Psychopathology. 2. 4: 205–216. {{cite journal}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  42. Wittels, Fritz (1929). "Some remarks on kleptomania". The Journal of Nervous and Mental Disease. 3. 29 (3): 241–251. doi:10.1097/00005053-192903000-00001.
  43. Gibbens, T.C.N.; Prince, Joyce (1961). "Shoplifting". London: The Institute for the Study and Treatment of Delinquency.