ข้ามไปเนื้อหา

เลียว ศรีเสวก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เลียว ศรีเสวก
เกิด30 กันยายน พ.ศ. 2455
กรุงเทพ
เสียชีวิต15 ธันวาคม พ.ศ. 2521 (อายุ 66 ปี)
นามปากกาอรวรรณ, เรืองฤทธิ์, เรืองยศ, เรืองศักดิ์, เรืองเดช, สี่เรือง, กุลปราณี, ช่อลิลลี่-พริ้มเพรา, สุกัญญา, เทพ วีรวรรณ, ล. ศรีเสวก
อาชีพนักเขียน
คู่สมรสเอื��อน มิลินทวัต

เลียว ศรีเสวก (30 กันยายน พ.ศ. 2455 - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2521) นักเขียนชาวไทย ที่เขียนนวนิยายได้หลากหลายแนว ทั้งนิยายรัก โศก วัยรุ่น วาบหวาม โดยเฉพาะนิยายแนวต่อสู้ ที่ใช้นามปากกา "อรวรรณ" เช่นเรื่อง "ชาติอาชาไนย" "ไพรกว้าง" "มังกรแดง" "ชาติเสือ" "อกสามศอก" "กระทิงโทน" "จิ้งเหลนไฟ" "รอยเสือ"

เลียว ศรีเสวก เป็นบุตรชายคนโตของพระนรินทราภิรมย์ (เบียบ ศรีเสวก) กับนางละม้าย ศรีเสวก ชื่อ "เลียว" เป็นชื่อที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ประทานให้

เลียว ศรีเสวก ศึกษาที่โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนเทพศิรินทร์ ริเริ่มการเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้ และสนิทสนมกับ ส่ง เทภาสิต นักเขียนเรื่องสั้นแนวใหม่

ช่วงชีวิตในวัยหนุ่ม เลียว ศรีเสวก ผจญภัยอย่างโชกโชนทั่วประเทศ คบหาสนิทสนมทั้งกับนักเลง เจ้าพ่อ และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ทั้งสามพระองค์ โดยเฉพาะกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ซึ่งสนิทสนมกันเป็นพิเศษ

เลียว ศรีเสวก เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 เป็นนักเขียนประจำของสำนักพิมพ์ "วัฒนานุกูล" และ "เพลินจิตต์" ร่วมสมัยกับ มนัส จรรยงค์ และป. อินทรปาลิต เขียนนิยายได้หลากหลายแนว ทั้งแนวรักวาบหวาม ใช้นามปากกา "เทพ วีรวรรณ" แนวตื่นเต้น ใช้นามปากกา "ช่อลิลลี่-พริ้มเพรา" แนวรักหวาน ใช้นามปากกา "สุกัญญา" แนวรักเศร้า ใช้นามปากกา "กุลปราณี" และมีชื่อเสียงที่สุดกับแนวต่อสู้ ใช้นามปากกา "อรวรรณ"

เลียว ศรีเสวก สมรสกับ เอื้อน มิลินทวัต บุตรสาวของรองอำมาตย์โท ขุนวิพัฒน์พสุธา มีบุตรชายชื่อ เรือง ศรีเสวก ช่วงบั้นปลายชีวิตมีสุขภาพไม่ดี เพราะเที่ยว ดื่มสุรา และสูบบุหรี่จัดมาตั้งแต่วัยรุ่น ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2521 อายุ 66 ปี

อ้างอิง

[แก้]
  • ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย. กรุงเทพ : สุวีริยาสาส์น, 2542. หน้า 479. ISBN 974-8267-78-4