ข้ามไปเนื้อหา

อาคารรัฐสภาไทย

พิกัด: 13°46′28″N 100°30′50″E / 13.7744°N 100.5140°E / 13.7744; 100.5140
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัฐสภาถนนอู่ทองใน
อาคารรัฐสภาไทยตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
อาคารรัฐสภาไทย
อาคารรัฐสภาไทย
ข้อมูลทั่วไป
สถาปัตยกรรมโมเดิร์น
เมือง2 ถนนอู่ทองใน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ประเทศประเทศไทย
พิกัด13°46′28″N 100°30′50″E / 13.7744°N 100.5140°E / 13.7744; 100.5140
เริ่มสร้าง5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513
แล้วเสร็จ19 กันยายน พ.ศ. 2517
ปิดใช้งาน28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562[1]
ลูกค้ารัฐสภาไทย (2517-2561)
เว็บไซต์
parliament.go.th

อาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 หรือ อาคารรัฐสภาถนนอู่ทองใน เป็นสถานที่ทำงานของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทย หรือเรียกว่ารัฐสภาไทย ใช้เป็นที่ประชุมร่วมกันหรือแยกกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยและวุฒิสภาไทย ทั้งยังใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา รวมตลอดถึงหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐสภาด้วย สื่อมวลชน เรียก อาคารรัฐสภาแห่งนี้ว่า สภาหินอ่อน เนื่องจากอาคารรัฐสภาแห่งนี้สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง เดิมตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทองใน ปัจจุบันได้ถูกทุบทิ้งและส่งคืนพื้นที่ให้กับสำนักพระราชวัง

ประวัติ

[แก้]

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังการปฏิวัติสยามและประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรก ผู้แทนราษฎรจำนวน 70 คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่า��ทหาร ได้ประกอบกันเป็นสภาผู้แทนราษฎรและประชุมกันเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศได้สำเร็จลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้สภาผู้แทนราษฎรประชุมกันที่พระที่นั่งนี้ได้ต่อไป

ครั้นจำนวนสมาชิกรัฐสภาเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของจำนวนประชากร และต้องมีที่ทำการของข้าราชการฝ่ายรัฐสภา จึงมีความจำเป็นในการสร้างอาคารรัฐสภาที่รับความต้องการดังกล่าวได้ ในปีพ.ศ. 2512 ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ เลขาธิการรัฐสภา ได้เสนอความเห็นต่อประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึงความจำเป็นที่ต้องมีที่ประชุมสภา ที่ประชุมกรรมาธิการ และส���นักงานของเจ้าหน้าที่ของสภานิติบัญญัติ เพราะสถานที่ที่ใช้ทำงานแยกกันอยู่และไม่เพียงพอแก่การปฏิบัติงาน ซึ่งประธานสภาทั้งสองได้เห็นชอบอนุมัติ และให้เร่งรัดไปทางคณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณาอนุมัติจัดสร้างอาคารรัฐสภาโดยด่วน คณะรัฐมนตรี จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2512 อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้าง ภายในวงเงิน 78,112,628 บาท[2] ในการนี้มีการวางโครงการสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ถึงสี่ครั้ง แต่สามครั้งแรกไปไม่ตลอดรอดฝั่งเพราะคณะรัฐมนตรีซึ่งริเริ่มโครงการต้องพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน ในครั้งที่สี่ เริ่มโครงการก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 มีกำหนดสร้างเสร็จภายใน 850 วัน มีบริษัทพระนครก่อสร้างจำกัดเสนอราคาก่อสร้าง เฉพาะอาคาร 3 หลัง ต่ำที่สุด 51,027,360 บาท[3] ในภายหลังใช้งบประมาณอาคารทั้งหมดและครุภัณฑ์ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการตกแต่งบริเวณโดยรอบอาคารคิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 100 ล้านบาท[2] ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ

  • อาคารห้องประชุมรัฐสภา (หลังที่ 1) เป็นตึก 3 ชั้น ใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา และที่ประชุมร่วมกันของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ และส่วนอื่นๆ เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ประธาน และรองประธานของสภาทั้งสอง
  • อาคารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (หลังที่ 2) เป็นตึก 7 ชั้น ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและโรงพิมพ์รัฐสภา
  • อาคารสโมสรรัฐสภา (หลังที่ 3) เป็นตึก 2 ชั้น

อาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 นี้ใช้ประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 สมัยรัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์ โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนแรกที่ได้ทำหน้าที่อาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 นี้ ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมจะถูกใช้แต่ในทางรัฐพิธีเกี่ยวกับรัฐสภา เช่น รัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และใช้ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นพิพิธภัณฑ์รัฐสภา[4]

ต่อมา ภายหลังมีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีกจำนวน 3 หลัง คืออาคารที่ทำการรัฐสภาและห้องประชุมกรรมาธิการ อาคารจอดรถ และอาคารกองรักษาการณ์ และฝ่ายอาคารสถานที่ ตามลำดับ[5]

อาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 ให้บริการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้ง 12 ชุด โดยชุดสุดท้ายคือ สภาผู้แทนราษฎร ลำดับที่ 24 ผ่านการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภามาแล้ว 17 คน จากทั้งหมด 30 คน[3] (ก่อนการย้ายไปยังอาคารใหม่ที่ย่านถนนเกียกกาย)

ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561 สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 ได้จัดประชุมเพื่อเลือกสถานที่ในการเป็นรัฐสภาชั่วคราวในระหว่างที่ สัปปายะสภาสถาน หรือรัฐสภาแห่งใหม่ที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จในขณะนั้น โดยคาดหมายว่าหอประชุมของบริษัท ทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ จะถูกใช้เป็นห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราวในระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562[6] อาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 ถนนอู่ทองใน ใช้ประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562[7] และในวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 พื้นที่รัฐสภาถูกส่งคืนให้ สำนักพระราชวัง ซึ่งมีอายุการใช้งานของอาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 นาน 44 ปี[8]

ในวันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งกำหนดให้หอประชุมของบริษัท ทีโอที เป็นอาคารรัฐสภาชั่วคราวโดยให้มีผลตั้งแต่วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 [9] ปัจจุบันได้ย้ายสถานที่ประชุมของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ และสำนักงานเลขาธิการไปยัง สัปปายะสภาสถาน เป็นการถาวร

ความสำคัญทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม

[แก้]

ตัวอาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 ออกแบบโดย พล จุลเส��ก นายช่างสถาปนิกเอกของกรมโยธาธิการ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยอาจได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากอาคารรัฐสภาบราซิลที่ออกแบบโดยออสการ์ นีเอไมเยร์ หรือ อาคารหลายแห่งที่ออกแบบโดยเลอกอร์บูซีเย มีโครงสร้างแบบ "เปลือกบาง" ไม่มีเสากลาง ครอบคลุมพื้นที่ราว 11,000 ตารางเมตร สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลังจึงมีชื่อเล่นว่า "สภาหินอ่อน" พื้นที่ทั้งหมดของอาคารรัฐสภาและอาคารบริวาร ราว 20 ไร่ มีบริษัทพระนครก่อสร้างจำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง[3][5]

ภูมิสถาปัตยกรรมรอบอาคารรัฐสภา อู่ทองใน ถูกออกแบบโดยสถาปนิก แสงอรุณ รัตกสิกร ประกอบด้วยประติมากรรมลอยตัว ตั้งอยู่ด้านซ้ายของหน้าอาคารหลัก 'ดอกไม้ทอง' ทำด้วยเหล็ก ซ่อนนัยยะผ่านกลีบที่เบ่งบานลดหลั่นกันไป มีเพียงหนึ่งกลีบที่ผลิแย้มชูชันเด่น เป็นสัญลักษณ์ความงอกงามของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ส่วนกลีบที่ลดหลั่นกันไปบ่งบอกถึงอุปสรรคการพัฒนาระบบการปกครองของวันวาน ซึ่งแต่เดิมตั้งอยู่ที่ลานด้านหน้าอาคารหลัก ต่อมาเมื่อประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 จึงย้ายประติมากรรมนี้ไปไว้ที่บ่อน้ำด้านข้างแทน

รอบด้านหน้าและหลังอาคารหลัก ทั้ง 4 มุม เป็นประติมากรรมหินอัด ไล่เรียงตามลำดับจากด้านหน้า คือ ประติมากรรมรูปหญิง สีขาว 'หญิงยืนแบกหม้อน้ำไว้บนไหล่' สื่อถึงน้ำ 'หญิงยืนแบกท่อนไม้' สื่อถึงดิน และประติมากรรมหินอัดด้านหลังอาคาร เป็น "รูปปั้นนก" สื่อถึงลม ความเย็น ความสงบ และสันติสุข และ "รูปปั้นไฟ" สื่อถึงพลังงาน ทั้ง 4 ด้านจึงสื่อความหมายถึง "ความแข็งแกร่ง ความเจริญรุ่งเรือง ความสงบสุข และความมั่นคงของรัฐสภา" [10]

นอกจากนี้ยังมีศิลปกรรมกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณของทั้ง 3 อาคาร ที่สะท้อนถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย จำนวน 50 ภาพ เช่น อาคารแรก มีภาพวาดติดผนังบันไดทางขึ้นชั้น 3 ช่วงทางเชื่อมไปอาคารรัฐสภา 2 "รูปเด็กในไข่ทอง" หมายถึง ประชาชนรุ่นใหม่ของประเทศ พร้อมพันธุ์ไม้ผลิดอกรับแสง และรังผึ้ง สะท้อนถึงความสมบูรณ์ และ ภาพติดผนังทางเข้าห้องฟังการประชุม เช่น "ภาพบ้านเมือง" มีพื้นสีแดงเรื่อ หมายถึง ความรุนแรงก่อนที่จะใช้ตึกแห่งนี้เป็นที่ประชุม เมื่อปลายปี 2517 "ภาพรัฐธรรมนูญ" อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ วางอยู่บนมัดของธัญพืชเป็นสัญลักษณ์ของสังคมและการกสิกรรมของประเทศไทย[10]

ระเบียงภาพ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ตรีสุวรรณ, หทัยกาญจน์ (2018-12-26). "44 ปี รัฐสภา ประวัติศาสตร์-ภาพจำก่อนปิดฉาก ก.พ. 2562". BBC News บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 2020-03-18.
  2. 2.0 2.1 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประวัติความเป็นมา สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563.
  3. 3.0 3.1 3.2 วอยส์ออนไลน์ ดูสถิติน่าจดจำอำลา 44 ปี รัฐสภาอู่ทองใน - สถาปัตยกรรมรับใช้ 'เลือกตั้ง - ลากตั้ง' สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563.
  4. พระที่นั่งอนันตสมาคมและรัฐสภา, รัฐสภาไทย .สืบค้นเมื่อ 20/05/2559
  5. 5.0 5.1 มติชน (7 ธันวาคม 2561) ย้อนตำนาน 44ปี รัฐสภาอู่ทองใน นับถอยหลังสู่สัปปายะสภาสถาน สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563.
  6. โพสต์ทูเดย์ (5 ธันวาคม 2561). "สนช.เตรียมหาที่ประชุมสภาชั่วคราวระหว่างรอสภาใหม่สร้างเสร็จ". www.posttoday.com. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. หอสมุดรัฐสภา อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563.
  8. เดลินิวส์ (2 มกราคม 2562). "แจ้งสนช.ใช้ห้องประชุมรัฐสภา-กรรมาธิการฯได้ถึง28ก.พ.นี้". www.dailynews.co.th. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. ประกาศสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง กำหนดสถานที่สำหรับใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นการชั่วคราว
  10. 10.0 10.1 หอสมุดรัฐสภา จิตรกรรมและประติมากรรมบริเวณอาคารรัฐสภา สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]