ข้ามไปเนื้อหา

สวนโมกขพลาราม

พิกัด: 9��21′36.99″N 99°10′11.26″E / 9.3602750°N 99.1697944°E / 9.3602750; 99.1697944
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สวนโมกขพลาราม หรือ ชื่อเรียกทางการว่า วัดธารน้ำไหล จัดตั้งโดย พุทธทาสภิกขุ ตั้งที่เขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 บริเวณกิโลเมตรที่ 134 อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก[1] ปัจจุบันมี พระราชวัชรโพธิคุณ (โพธิ์ จนฺทสโร) เป็นเจ้าอาวาส

ท่านพุทธทาส หรือ พระมหาเงื่อม ในเวลานั้น พร้อมด้วยโยมน้องชาย คือ นายยี่เกย หรือ คุณธรรมทาส พานิช และเพื่อนในคณะธรรมทานประมาณ 4 - 5 คนเท่านั้น ที่ร่วมรับรู้ถึงปณิธานอันมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรมตามรอยพระอรหันต์ของท่าน ทุกคนเต็มอกเต็มใจ ที่จะหนุนช่วยด้วยความศรัทธา โดยพากันออกเสาะหาสถานที่ซึ่งคิดว่ามี ความวิเวก และเหมาะสมจะเป็นสถานที่เพื่อทดลองปฏิบัติธรรมตามรอยพระอรหันต์ สำรวจกันอยู่ประมาณเดือนเศษก็พบวัดร้าง เนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ ชื่อวัดตระพังจิก ซึ่งรกร้างมานาน บริเวณเป็นป่ารกครึ้ม มีสระน้ำใหญ่ ซึ่งร่ำลือกันว่ามีผีดุอาศัยอยู่ เมื่อเป็นที่พอใจแล้ว คณะอุบาสกดังกล่างก็จัดทำเพิงที่พักอยู่หลังพระพุทธรูปเก่าซึ่งเป็นพระประธานในวัดร้างนั้น แล้วท่านก็เข้าอยู่ในวัดร้างแห่งนี้ เมื่อวันทื่ 12 พฤษภาคม 2475 อันตรงกับวันวิสาขบูชา โดยมีอัฐบริขาร ตะเกียง และหนังสืออีกเพียง 2 - 3 เล่ม ติดตัวไปเท่านั้น เข้าไปอยู่ได้ไม่กี่วันวัดร้างนาม ตระพังจิก นี้ก็ได้รับการตั้งนามขึ้นใหม่ ซึ่งท่านเห็นว่า บริเวณใกล้ที่พักนั้นมีต้นโมก และต้นพลาขึ้นอยู่ทั่วไป จึงคิดนำคำทั้งสองมาต่อเติมขึ้นใหม่ให้มีความหมายในทางธรรม จึงเกิดคำว่า สวนโมกขพลาราม อันหมายถึงสวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นทุกข์ขึ้นในโลกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ประวัติ

[แก้]

ท่านพุทธทาสภิกขุกลับมายังพุมเรียงเมื่อปลายปี พ.ศ. 2474[2] โดยใช้วัดพุมเรียงเป็นที่อาศัยชั่วคราว ขณะเดียวกันก็เริ่มเสาะหาสถานที่เหมาะสมในการจะสร้างสถานปฏิบัติธรรม จนในที่สุดก็พบวัดตระพังจิก ซึ่งเป็นวัดร้าง และมีป่ารก ท่านพุทธทาสภิกขุเขียนถึงเรื่องการสร้างสถานปฏิบัติธรรม และเล่าถึงสภาพวัดตระพังจิตเอาไว้ว่า

ในปลายปี พ.ศ. 2474 ระหว่างที่ฉันยังศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้มีการติดต่อกับ นายธรรมทาส พานิช โดยทางจดหมายอยู่เสมอ ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการส่งเสริมปฏิบัติธรรม ตามความสามารถ ในที่สุดในตอนจะสิ้นปีนั่นเอง เราได้ตกลงกันถึงเรื่องจะจัดสร้างสถานที่ส่งเสริมปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะขึ้นสักแห่งหนึ่ง เพื่อความสะดวกแก่ภิกษุสามเณรผู้ใคร่ในทางนี้ ซึ่งรวมทั้งตัวเองด้วย โดยหวังไปถึงว่า ข้อนั้นจะเป็นการช่วยกันส่งเสริมความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ในยุคซึ่งเราสมมติกันว่า เป็นกึ่งพุทธกาลส่วนหนึ่งด้วย เมื่อไม่มีที่ใดที่เหมาะสำหรับพวกเราจะจัดทำยิ่งไปกว่าที่ไชยา เราก็ตกลงกันว่า จำเป็นที่เราจะต้องจัดสร้างที่นี่ [3]
เมื่อลงมาแล้วก็เริ่มหาที่ที่เหมาะสม โดยมีคณะอุบาสกธรรมทาน 4-5 คน เป็นคนออกไปสำรวจ ไม่นานนัก สักเดือนกว่า ๆ จึงตกลงกันว่าจะใช้วัดร้างชื่อวัดตระพังจิก เป็นวัดที่ผมไม่เคยรู้ด้วยซ้ำไป พวกนายเที่ยง นายกวย พวกนี้เขารู้มาอย่างไรก็ไม่ทราบ แล้วก็แนะกันไปดู ไปดูครั้งเดียวเห็นว่าพอใช้ได้ก็เอาเลย ต่อจากนั้นเขาก็ไปทำที่พักให้ง่าย ๆ หลังพระพุทธรูป
มันก็ไม่มีเรื่องอะไรนัก เป็นวัดร้างมานาน เป็นป่ารก ครึ้มไปหมด เป็นที่ ๆ ชาวบ้านเขาชอบไปเขี่ยเห็ดเผาะ เขาใช้เหล็กอันเล็ก ๆ เขี่ยดินหาเห็ดเผาะ แถวนั้นมันมีมาก ผู้หญิงจะไปหาเห็ดเผาะ ผู้ชายจะไปหาเห็ดโคน พวกชอบกินหมูป่าก็จะไปล่าหมูป่าที่แถวนั้น และเป็นที่กลัวผีของเด็ก ๆ พวกผู้หญิงที่ไม่มีลูก ก็ไปบนบานขอลูกกับพระพุทธรูปในโบสถ์ร้างที่เขาถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ในทางนั้น ในสระก็ว่ามีผีดุ มีผีอยู่ในสระ มีไม้หลักที่เรียกว่าเสาประโคนปักอยู่กลางสระ [4]

ท่านพุทธทาสภิกขุย้ายเข้าอยู่วัดตระพังจิตเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา[5] (ก่อนการเปลี่ยนระบอบการปกครองประมาณ 1 เดือน) ที่วัดตระพังจิก ท่านพุทธทาสภิกขุพบว่ามีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่ทั่วไป ซึ่งพ้องกับคำในภาษาบาลีคือ โมกข แปลว่าความหลุดพ้น และ พลา แปลว่ากำลัง ท่านพุทธทาสภิกขุจึงนำสองคำนี้มาต่อกัน และใช้ตั้งชื่อสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ว่า สวนโมกขพลาราม ซึ่งแปลว่า สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น

การดำเนินชีวิตในสวนโมกขพลาราม ท่านพุทธทาสภิกขุยึดคติที่ว่า เป็นอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง [6] โดยชีวิตประจำวันของท่านพุทธทาสภิกขุนั้นเป็นไปอย่างสันโดษและสมถะ สำหรับวัตถุสิ่งของภายนอก ท่านพุทธทาสภิกขุจะพึ่งพาก็แต่เพียงวัตถุสิ่งของที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้ และวัตถุสิ่งของที่จำเป็นในการเผยแพร่ธรรมะเท่านั้น โดยไม่พึ่งพาวัตถุสิ่งของฟุ้งเฟ้ออื่นใดที่เกินจำเป็นเลย เรียกได้ว่ามีความเป็นอยู่อย่างต่ำที่สุด หากแต่การกระทำในความเป็นอยู่นั้นเป็นการกระทำอย่างสูงที่สุด นั่นคือเป็นการกระทำเพื่อศึกษา ปฏิบัติ และเผยแพร่พระพุทธศาสนา การศึกษาและปฏิบัตินั้นเป็นการกระทำอันนำไปสู่มรรคผล และแม้กระทั่งนิพพาน ซึ่งเป็นอุดมคติที่สูงที่สุดที่ชีวิตมนุษย์ควรจะบรรลุถึง ส่วนการเผยแพร่นั้นเป็นการกระทำเพื่อนำกระแสธรรมอันบริสุทธิ์ให้อาบหลั่งไหลรินรดคนทั้งโลก และทุกโลก เป็นการชี้ทางสว่างให้เพื่อนมนุษย์ ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้บรรลุถึงอุดมคติที่สูงที่สุดของชีวิตมนุษย์ไปด้วยกัน หรืออย่างน้อย ก็จะทำให้มนุษย์เรานั้นได้ลดการเบียดเบียนตนเอง และลดการทำร้ายผู้อื่น อันจะก่อให้เกิดทั้งสันติสุขและสันติภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งตัวมนุษย์และโลกมนุษย์ปรารถนา

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2476 ท่านพุทธทาสยังได้เริ่มจัดทำหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา (ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์เผยแพร่หลักธรรมรายตรีมาศ) ด้วยเช่นกัน

โรงมหรสพทางวิญญาณ

[แก้]

บริเวณอันกว้างใหญ่ของสวนโมกขพลาราม เพื่อให้เข้าใจง่ายและไม่น่าเบื่อ ในปี พ.ศ. 2505 ท่านจึงได้สร้าง โรงมหรสพทางวิญญาณ หรือเรียกว่าโรงหนังสวนโมกข์ โดยนำแนวคิดจากการที่ได้ไปดูภาพในถ้ำอชันตา ที่ประเทศอินเดีย เป็นความคิดที่แปลกและน่าสนใจ เป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนในชาติและต่างชาติได้เป็นอย่างดี เป็นกลยุทธ์เบื้องต้นที่จะล่อให้คนหันมาสนใจศาสนาโดยไม่รู้ตัว

วัตถุประสงค์ที่ใช้โรงมหรสพทางวิญญาณ[7]

  1. บรรจุภาพวาดสอนธรรมะและเป็นที่รวบรวมภาพปริศนาธรรมต่าง ๆ
  2. ใช้เป็นที่ประชุมของนักธรรมทั่วไป
  3. ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม
  4. ใช้เป็นที่ฟังบรรยายธรรม เป็นห้องฉายสไลด์ภาพยนตร์ ประกอบการเรียนธรรมะ

อย่างไรก็ดีเมื่อถอดคำพูดจาก ท่านพุทธทาส ที่ได้กล่าวไว้ว่า สวนโมกข์ คือ มหรสพทางวิญญาณ เป็นสิ่งจำเป็นต้องมี สำหรับสัตว์ที่มีสัญชาตญาณแห่งการต้องมีสิ่งประเล้าประโลมใจ อันเป็นปัจจัยฝ่ายวิญญาณเพิ่มเป็นปัจจัยที่ห้า ให้แก่ปัจจัยทั้งสี่อันเป็นฝ่ายร่างกาย. ขอให้ช่วยกันจัดให้มีขึ้นไว้ สำหรับใช้สอยเพื่อประโยชน์ดังกล่าวแล้ว แก่คนทุกคน. จึงกล่าวได้ว่า สวนโมกขพลารามทั้งหมด คือ โรงมหรสพทางวิญญาณ โดยการใช้การถอดถ้อยคำจากฝ่ายจิตวิญญาณ[8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. โสมชยา ธนังกุล. มรดกธรรมจากท่านพุทธทาส. แสตมป์ & สิ่งสะสม. ปีที่ 1 (+42) ฉบับที่ 3. พฤษภาคม 2555. ISSN 2229-2780. หน้า 47
  2. นับตามการขึ้นปีใหม่ในสมัยนั้น ซึ่งกำหนดวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม เมื่อ พ.ศ. 2484
  3. พุทธทาสภิกขุ, สิบปีในสวนโมกข์ อัตชีวประวัติในวัยหนุ่มของพุทธทาสภิกขุ.
  4. พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
  5. ข้อมูลน่าจะคลาดเคลื่อน เนื่องจากวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ไม่ใช่วันวิสาขบูชา (ปีนั้นตรงกับวันที่ 19 พ.ค.)
  6. นอกจากนี้ยังมีคติอื่นอีกเช่น กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนในกุฏิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง หรือ กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่อย่างทาส มุ่งมาดความวาง เป็นอยู่อย่างตายแล้ว พบแก้วในมือ แจกของส่องตะเกียง
  7. ที่มาวิญญาณ ธัญญาภรณ์ ภู่ทอง,จาก พระธรรมโกศาจารย์ พุทธทาส อินฺทปญฺโญ พิมพ์ครั้งที่ 1, สำนักพิมพ์ วทพ. ,2541 (หน้า 42)
  8. มรดกที่ขอฝากไว้ ข้อที่ ๗ พุทธทาสภิกขุ

บรรณานุกรม

  • 1โสมชยา ธนังกุล. มรดกธรรมจากท่านพุทธทาส. แสตมป์ & สิ่งสะสม. ปีที่ 1 (+42) ฉบับที่ 3. พฤษภาคม 2555. ISSN 2229-2780. หน้า 47
  • นับตามการขึ้นปีใหม่ในสมัยนั้น ซึ่งกำหนดวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม เมื่อ พ.ศ. 2484
  • พุทธทาสภิกขุ, สิบปีในสวนโมกข์ อัตชีวประวัติในวัยหนุ่มของพุทธทาสภิกขุ.
  • พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
  • ข้อมูลน่าจะคลาดเคลื่อน เนื่องจากวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ไม่ใช่วันวิสาขบูชา (ปีนั้นตรงกับวันที่ 19 พ.ค.)
  • นอกจากนี้ยังมีคติอื่นอีกเช่น กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนในกุฏิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง หรือ กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่อย่างทาส มุ่งมาดความวาง เป็นอยู่อย่างตายสนิท กุมแก้วในมือ แจกของส่องตะเกียง
  • ที่มาวิญญาณ ธัญญาภรณ์ ภู่ทอง,จาก พระธรรมโกศาจารย์ พุทธทาส อินฺทปญฺโญ พิมพ์ครั้งที่ 1, สำนักพิมพ์ วทพ. ,2541(หน้า42)

มรดกที่ขอฝากไว้ ข้อที่ ๗ พุทธทาสภิกขุ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

9°21′36.99″N 99°10′11.26″E / 9.3602750°N 99.1697944°E / 9.3602750; 99.1697944