สถาปัตยกรรมอิสลาม
สถาปัตยกรรมอิสลาม เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมช่วงหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งก่อสร้างในศาสนาอิสลาม อันเกิดจากการหลอมรวมทั้งศิลปะพื้นถิ่นและความเขื่อเข้าด้วยกัน ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมโรมัน, สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์, สถาปัตยกรรมเปอร์เซีย ซึ่งได้รับมาจากการเข้ายึดครองดินแดนต่าง ๆ ของมุสลิมระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7–8[1][2] ในโลกตะวันออกยังมีการผสมผสานกับสถาปัตยกรรมจีน สถาปัตยกรรมอินเดีย และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเอเชียอาคเนย์ ทั้งหมดล้วนหลอมรวมให้เกิดสถาปัตยกรรมรูปแบบที่มีความพิเศษและโดดเด่นนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตกแต่งพื้นผิวด้วยอักษรวิจิตรอิสลาม รูปร่างทางเรขาคณิตและลวดลายที่วิจิตร โดยทั่วไปสถาปัตยกรรมอิสลามใช้บรรยายสถาปัตยกรรมที่พบในมัสยิด สุสาน พระราชวัง และป้อมปราการ[3][4]
องค์ประกอบ
[แก้]สวนสวรรค์
[แก้]ในสถาปัตยกรรมอิสลาม สวนและน้ำเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และด้วยความวิจิตรตระการตานี้มักถูกเปรยบเทียบเป็นสวนของสวรรค์ (paradise garden) แนวคิดนี้เริ่มต้นครั้งแรกในอาณาจักรอะคีเมนิด[5]
ลานอเนกประสงค์ (เศาะหน์)
[แก้]ลานแบบอิสลามดั้งเดิมเรียกว่า เศาะหน์ (อาหรับ: صَحْن)
- ในที่พักอาศัย ลานมักต้องล้อมด้วยผนังหรือสวนเพื่อความเป็นส่วนตัว โดยทั่วไปใช้ปลูกพืชตกแต่งด้วยน้ำพุเพื่อให้อากาศเย็นลง หรือให้แสงธรรมชาติลอดเข้ามา และที่สำคัญมักปิดมิดชิด เพราะสตรีจะไม่ต้องสวมฮิญาบในเคหสถาน การปิดเพื่อสร้างความส่วนตัวนี้จึงจำเป็นมาก ในขณะเดียวกันก็ต้องผสมผสานให้มีแสงธรรมชาติและความโปร่งประกอบด้วย
- ในศาสนสถาน (มัสยิด) เศาะหน์เป็นองค์ประกอบหลักหนึ่ง เศาะหน์มักเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำใต้โดมที่ใช้ชำระร่างกายให้สะอาด "ที่อาบน้ำละหมาด"[6] (howz) ในประเทศที่มีอากาศร้อนมาก ๆ อาจพบการสร้างเป็นอาคารโถงแทนที่ลานได้เช่นกัน
การตกแต่ง
[แก้]การตกแต่งแบบอิสลามประกอบด้วยลวดลายเรขาคณิตอิสลาม ลวดลายไขว้อิสลาม ลวดลายดอกไม้อย่างอะราเบสก์ (arabesque) และอักษรวิจิตรอิสลามที่ซับซ้อน ส่วนมากมักแสดงข้อความที่เกี่ยวเนื่องหรือคัดลอกมาจากอัลกุรอาน[7] ด้วยแนวคิดแบบอิสลามที่ไม่ให้บูชารูปปั้น (ขัดหลักศาสนาหรือฮะรอม) การใช้ลวดลายต่าง ๆ รวมถึงการนำคำพูดหรือข้อความมาเขียนอย่างวิจิตรนี้จึงเข้ามาแทนที่และสร้างความสวยงามให้แทน
โครงสร้างอื่น ๆ
[แก้]- มินาเรตหรือหออะซาน[6] คือหอคอยที่ดั้งเดิมใช้จุดตะเกียงหรือสังเกตการณ์ โดยทั่วไปในปัจจุบันใช้เป็นหอคอยประกาศเรียกละหมาด[8][8]
- เมียะห์รอบ (อาหรับ: مِحْرَاب) คือซุ้มละหมาด เป็นผนังที่ตกแต่งโดยมีไว้สำหรับบอกว่าทิศทางใดที่หันหน้าไปทางนครเมกกะ
กิบละฮ์
[แก้]กิบละฮ์[6] (อาหรับ: قِبْلَة) คือทิศที่หันหน้าไปยังนครเมกกะ จากจุดใดก็ตามบนโลก ทิศกิบละฮ์จึงสำคัญมากในการกำหนดการวางทิศทางของการสร้างมัสยิดทั้งหลัง[9] เมืองอิสลามโบราณและเมียะห์รอบ จะสร้างหันหน้าไปยังทิศนี้ แต่จากการคำนวณในความเป็นจริง ล้วนไม่ได้หันไปในทิศเดียวกันเท่าไร[9] ด้วยว่าการตีความและคำนวณจากเอกสารต่าง ๆ ไม่สามารถระบุที่ตั้งของเมกกะได้อย่างชัดเจน แต่ในปัจจุบันมัสยิดส่วนมากนิยมสร้างโดยอาศัยการคำนวณและเทคโนโลยีที่แม่นยำมากขึ้น ในมัสยิดแห่งแรก ๆ บางแห่งพบการตีความทิศกิบละฮ์เป็นทิศใต้ไปโดยสิ้นเชิง โดยถือเอาว่าเป็นทิศที่มุฮัมมัดหันหน้าขณะละหมาดจากเมืองเมดินาซึ่งอยู่ทางเหนือของเมกกะ[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Krautheimer, Richard. Early Christian and Byzantine Architecture Yale University Press Pelican History of Art, Penguin Books Ltd., 1965, p. 285.
- ↑ Fletcher, Banister A History of Architecture on the Comparative Method 4th Edition, London, p. 476.
- ↑ Copplestone, p.149
- ↑ "A Tour of Architecture in Islamic Cities". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-17. สืบค้นเมื่อ 2018-12-10.
- ↑ Xenephon (January 1998). Oeconomicus. Gutenberg Press. สืบค้นเมื่อ 11 June 2015.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 คำศัพท์ที่ใช้ใน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน "องค์ประกอบของมัสยิด" เก็บถาวร 2016-04-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Sheila R. Canby, Islamic art in detail, page 26. Harvard University Press, 2005.
- ↑ 8.0 8.1 Titus Burckhardt, Art of Islam, Language and Meaning: Commemorative Edition. World Wisdom. 2009. p.128
- ↑ 9.0 9.1 9.2 King, David (Aug 1, 1995). "The Orientation of Medieval Islamic Religious Architecture and Cities". Journal for the History of Astronomy. 26 (3): 253–274. Bibcode:1995JHA....26..253K. doi:10.1177/002182869502600305 – โดยทาง ProQuest.