ข้ามไปเนื้อหา

วินัย สะมะอุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วินัย สะมะอุน (2483-30 ธันวาคม พ.ศ. 2565) มีชื่อมุสลิมว่า มัรฺวาน (مروان) อิหม่ามมัสยิดกมาลุลอิสลาม[1] นักวิชาการศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตสมาชิวุฒิสภา อดีตรองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อดีตผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นจุฬาราชมนตรีหลังจากนายประเสริฐ มะหะหมัดถึงแก่อ���ิจกรรม และได้รับการเสนอชื่ออีกครั้งเมื่อนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ถึงแก่อนิจกรรม

ประวัติ

[แก้]

วินัย สะมะอุน เป็นที่รู้จักกันดีในสังคมมุสลิมไทยโดยเรียกกันติดปากว่า อาจารย์มัรฺวาน บ้างก็เรียกว่า อาจารย์วินัย เกิดที่เขตมีนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2483 จบการศึกษาจากด้านศาสนาจากโรงเรียนมิฟตาฮุ่ลอุลูมิดดีนียะห์ สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร และเคยเรียนที่สถาบันปอเนาะเมาะโง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เป็นสถาบันการศึกษาด้านศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงในอดีตก่อนที่จะมีการจัดให้การศึกษาแบบปอเนาะให้อยู่ในระบบ รวมถึงท่านยังศึกษาศาสนาอิสลามตามอัธยาศัยอยู่เป็นเนืองนิจ ท่านจึงมีผลงานวิชาการเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในรูปของงานเขียนจำนวนมากที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมุสลิมไทย เช่น งานแปลคำภีร์อัลกุรอานจากภาษาอาหรับเป็นภาษาไทย งานแปลหะดิษจากภาษาอาหรับเป็นภาษาไทย งานบทความที่ได้รับลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารหลายฉบับ งานเขียนคุตบะฮฺเพื่อสันติสุข ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมทำคู่มือสอนอิสลามศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และงานเขียนอื่นอีกจำนวนมากที่เขียนด้วยตัวเองและร่วมกับนักวิชาการท่านอื่น เป็นต้น รวมถึงอาจารย์วินัยได้ร่วมกับนายประเสริฐ มะหะหมัด จุฬาราชมนตรีและนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ทำการตอบคำถามและให้คำเสนอแนะต่อแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมแก่ส่วนราชการไทยและประชาชนมุสลิมเนื่องจากปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างชาวไทยทั่วไปและชาวไทยมุสลิม[2] เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการตอบคำถามและเสนอแนะดังกล่าวได้ดำเนินการในปี พ.ศ. 2525 และได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องกระทั่งปัจจุบัน

นอกจากจากผลงานด้านศาสนาแล้วอาจารย์วินัยยังมีผลงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาท้องถิ่นอีกด้วย เช่น พัฒนาคลองแสนแสบจากวิกฤตจนสวยใส รวมถึงมีการส่งเสริมการพัฒนา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนท้องถิ่นได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว นอกจากนั้นอาจารย์วินัยยังเป็นผู้บริหารโรงเรียนสอนศาสนาประจำมัสยิด จัดตั้งศูนย์พัฒนาก่อนวัยเรียนประจำมัสยิดกมาลุลอิสลาม จัดตั้งโรงเรียนเอกชนสามัญชื่อโรงเรียนพิทยพัฒน์ศึกษา และจัดตั้งเสียงตามสายประจำมัสยิดจนแพร่หลายในชุมชน 700 ตัวเพื่อแผยแพร่ความรู้ ข่าวสาร และหลักธรรมแก่สมาชิกชุมชน ด้วยเหตุนี้อาจารย์วินัยจึงได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลเพชรกรุงเทพจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.พิจิต รัตกุล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยสาขาศาสนาจากสภาการศึกษา รางวัลเพชรสยามจากมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม รางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคลจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประกาศนียบัตรอื่น ๆ อีกจำนวนมาทางด้านการช่วยเหลือสังคม

ในด้านการเมืองอาจารย์วินัยได้มีโอกาสดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายตำแหน่งด้วยกัน เช่น สมาชิกวุฒิสภา 2 สมัย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2 ครั้ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายกษิต ภิรมย์) ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(นายอารีย์ วงศ์อารยะ) ที่ปรึกษาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ) มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2550 รวมถึงมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติและ พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม สำหรับในด้านการดำรงตำแหน่งทางศานานั้น อาจารย์วินัยเคยเป็นเลขาธิการสำนักจุฬาราชมนตรีสมัยนายประเสริฐ มะหะหมัดเป็นจุฬาราชมนตรี ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีสมัยนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์เป็นจุฬาราชมนตรี รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

อาจารย์วินัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ได้แก่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ เมื่อ พ.ศ. 2550 และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก เมื่อ พ.ศ. 2542 นอกจานั้นยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอื่นอีก ได้แก่ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์มงกุฎไทย[3]

นาย วินัย สะมะอุน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2565

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-27. สืบค้นเมื่อ 2010-03-07.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-07-15. สืบค้นเมื่อ 2010-03-07.
  3. http://www.muslimthai.com/main/1428/content.php?category=8&id=8768[ลิงก์เสีย]
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2010-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๙, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๓๒, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒