วาฬหัวทุยแคระ
วาฬหัวทุยแคระ[1] ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไพลโอซีน ถึง ปัจจุบัน [2] | |
---|---|
ในที่เลี้ยง | |
ขนาดเมื่อเทียบกับมนุษย์ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Artiodactyla |
อันดับฐาน: | Cetacea |
อนุอันดับ: | Odontoceti |
วงศ์: | Kogiidae |
สกุล: | Kogia |
สปีชีส์: | K. sima |
ชื่อทวินาม | |
Kogia sima Owen, 1866 | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ | |
ชื่อพ้อง[4] | |
|
วาฬหัวทุยแคระ[5] หรือ วาฬสเปิร์มแคระ[6] (อังกฤษ: dwarf sperm whale; ชื่อวิทยาศาสตร์: Kogia sima) เป็นวาฬขนาดเล็กชนิดหนึ่ง จัดเป็นหนึ่งในสองชนิดเท่านั้นที่อยู่ในวงศ์วาฬสเปิร์มเล็ก (Kogiidae)
วาฬหัวทุยแคระมีลักษณะทั่วไปคล้ายวาฬหัวทุยเล็ก (K. breviceps) ที่อยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน แต่มีจำนวนฟันน้อยกว่าและมีครีบหลังสูงกว่าเล็กน้อย (ประมาณร้อยละ 5 ของความยาวลำตัว) ลำตัวสีเทาดำท้องขาว ปากขนาดเล็กด้านอยู่ล่าง ลักษณะแคบ มีฟันเป็นเขี้ยวแหลมโค้งจำนวน 7–11 คู่บนขากรรไกรล่าง ขากรรไกรบนไม่เห็นฟันออกมา แต่ในบางตัวที่มีอายุมาก ๆ จะมีฟันซ่อนอยู่ใต้เหงือก ลูกแรกเกิดยาวประมาณ 1 เมตร ขนาดโตเต็มที่ยาวเพียง 2.7 เมตร น้ำหนักประมาณ 210 กิโลกรัม จัดเป็นวาฬขนาดเล็กชนิดหนึ่ง กินอาหารได้แก่ กุ้ง, หมึก และปลา[7]
วาฬหัวทุยแคระพบกระจายพันธุ์ในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก ปกติจะอาศัยอยู่เป็นฝูงในทะเลเปิด จะเข้าใกล้ชายฝั่งเมื่อเวลาป่วยหรือใกล้ตายเท่านั้น ในน่านน้ำไทยพบรายงานเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น คือ ที่จังหวัดภูเก็ตใน พ.ศ. 2530, จังหวัดสตูลใน พ.ศ. 2540 ซึ่งเกยตื้นเป็นคู่แม่ลูก, ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 ที่หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เป็นซากตัวเมียเกยตื้น อายุราว 2 ปี หลังจากผ่าพิสูจน์การตายในช่องท้องแล้วพบว่า กินถุงพลาสติกและเศษขยะเข้าไปเป็นจำนวนมาก[5][7] และในปลายปี พ.ศ. 2557 ที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นซากตัวเมียเกยตื้น มีความยาว 2.12 เมตร น้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม เมื่อผ่าพิสูจน์ซากแล้วพบว่า มีทรายทะเลอุดอยู่ในหลอดอาหารและที่ช่องกล้ามเนื้อด้านขวา และส่วนหัวมีพยาธิอยู่จำนวนหนึ่ง โดยพยาธิแต่ละตัวมีลักษณะคล้ายหลอดน้ำแข็ง มีความยาวเฉลี่ยตัวละ 40–48 เซนติเมตร จึงสันนิษฐานว่า วาฬตัวดังกล่าวมีความอ่อนแอและป่วยอยู่แล้วจากพยาธิ เมื่อเข้ามาเกยตื้นจึงตายหลังจากทรายที่ชายหาดซัดเข้าไปในปากอุดหลอดอาหาร[8]
วาฬหัวทุยแคระจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2535[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Mead, J. G.; Brownell, R. L. Jr. (2005). "Order Cetacea". ใน Wilson, D. E.; Reeder, D. M. (บ.ก.). Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. p. 737. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494.
- ↑ Fossilworks works 2013. "fossilworks". fossilworks. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-28. สืบค้นเมื่อ 2020-09-07.
- ↑ Taylor, B.L., Baird, R., Barlow, J., Dawson, S.M., Ford, J., Mead, J.G., Notarbartolo di Sciara, G., Wade, P. & Pitman, R.L. (2008). Kogia sima. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 7 October 2008.
- ↑ จาก itis.gov
- ↑ 5.0 5.1 "กินขยะพลาสติก วาฬเกยตื้นตาย!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-12-08.
- ↑ 6.0 6.1 บัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนที่เป็นสัตว์น้ำ
- ↑ 7.0 7.1 วงศ์ Kogiidae : วาฬหัวทุยเล็ก[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สลด!พบซากวาฬหัวทุยแคระ สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ เกยหาด ชุมพร". ไทยรัฐ. 7 January 2015. สืบค้นเมื่อ 1 December 2014.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Kogia sima ที่วิกิสปีชีส์