วัดลาดสิงห์
วัดลาดสิงห์ | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดลาดสิงห์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 35 ไร่
เอกสารประวัติวัดที่จัดส่งกรมการศาสนาระบุว่า วัดลาดสิงห์ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2009 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2494 มีเรื่องเล่าว่า บริเวณนี้คือที่พักทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ก่อนออกสงครามยุทธหัตถีกับพม่า การทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างอยุธยากับพม่า มีขึ้นในปี พ.ศ. 2135 ตรงกับเดือนยี่ วันจันทร์แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง สถานที่ยังให้น้ำหนักระหว่างอำเภอดอนเจดีย์ สุพรรณบุรีและอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ทรงยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ วันเดียวกันนี้ทรงทราบข่าวว่า พระสุพรรณกัลยา พระพี่นางในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ถูกจับเป็นตัวประกันที่เมืองพม่านั้นถูกประหารชีวิตเสียแล้ว โดยพระเจ้านันทบุเรง จึงมีพระราชดำริของสมเด็จพระนเรศวรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา ภายหลังวัดได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวร พระสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระเอกาทศรถ[1]
อาคารเสนาสนะ ได้แก่ อุโบสถเป็นอุโบสถไม้ที่ผสมอิฐปูน สีสันสวยงามและมีอิฐล้อมอยู่รอบ ๆ อุโบสถ ด้านหน้ามีรูปปั้นลายสิงห์คู่ มีใบเสมาหินทรายอยู่ตามทิศต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่แตกหักมากเป็นใบเสมาเรียบไม่มีลวดลายด้านนอกสุดมีกำแพงแก้วก่อล้อมรอบมีทางเข้าเฉพาะด้านหน้า โดยเป็นกำแพงแก้วของเดิมที่ยังไม่ได้มีการบูรณะซ่อมแซม นอกจากนี้ทางด้านหลังอุโบสถ บริเวณภายนอกกำแพงแก้วมีเนินดินปนอิฐขนาดใหญ่ สันนิษฐานอาจเป็นเจดีย์ตั้งอยู่ แต่มีเพียงฐานล่างที่พังทลายจนไม่ทราบรูปทรง ด้านบนมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายขาว พระเพลา แตกหักวางกองอยู่ จากรูปแบบศิลปกรรมที่ปรากฏสันนิษฐานว่าเป็นงานศิลปะอยุธยา ด้านในเป็นที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลาแลง ปางสะดุ้งมาร (มารวิชัย) เกตุบัวตูม อายุประมาณ 500 ปี[2] ศาลาการเปรียญ กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร หอสวดมนต์ กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2484 และกุฏิสงฆ์ จำนวน 5 หลัง[3]
รายนามเจ้าอาวาส
[แก้]- พระถึก
- พระเลียบ
- พระถวิล
- พระสวน
- พระบด
- พระบุญช่วย
- พระประวิทย์
- พระสุนทร
- พระครูเจริญ
- พระใบฎีกาคุณ
- พระครูกิจจาภรณ์ พ.ศ. 2530
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "เรื่องเล่าที่วัดลาดสิงห์สามชุก". เดลินิวส์.
- ↑ "วัดลาดสิงห์". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
- ↑ "วัดลาดสิงห์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.