วัดบ้านกร่าง (จังหวัดสุพรรณบุรี)
วัดบ้านกร่าง | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดบ้านกร่าง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณบุรี ในตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ปัจจุบันจำนวน 29 ไร่
วัดบ้านกร่างเป็นวัดเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ประกาศตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2410 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2529[1] ได้รับยกย่องจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อ พ.ศ. 2536 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นเมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2451 กล่าวถึงวัดบ้านกร่างว่า "พลับพลาที่พักนี้ตั้งที่ตำบลบ้านกร่าง ใกล้ที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ฝั่งตะวันออก ตรงกับวัดที่ชื่อเดียวกันข้าม มีพระเจดีย์กลางน้ำองค์ 1 เป็นพระเจดีย์ไม้สิบสอง อยู่ข้างจะเขื่อง ว่าเป็นที่ราษฎรประชุมกันไหว้พระทุกปี"
อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถและวิหาร สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ ศิลปะอู่ทอง ใบเสมารอบอุโบสถมีที่มาจากการนำพระวัดกร่างพิมพ์ทรงพลใหญ่มาจำลองให้มีขนาดเท่าใบเสมา ส่วนวิหารภายในมีหลวงพ่อแก้วและพระประธาน ถัดมาเป็น มณฑป ด้านในมีรอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2476 ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระเครื่องตระกูลวัดบ้านกร่าง (พระขุนแผน) ภายในเจดีย์ เคยพบพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์จำนวน 20–30 องค์ รวมไปถึงพระเครื่องซึ่งมีลักษณะเป็นแก้วสีเขียว[2] นอกจากนั้นยังมีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศอิสรภาพ แกะสลักจากไม้ตะเคียนขนาดใหญ่[3]
กรุพระขุนแผนบ้านกร่างมีชื่อเสียง เป็นพระเครื่องเนื้อดินเผาศิลปะอยุธยา เชื่อกันว่าจะแคล้วคลาดคงกระพัน สันนิษฐานกันว่า น่าจะสร้างขึ้นหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราช เมื่อตอนยกทัพกลับผ่านอำเภอศรีประจันต์ ได้พักทัพริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ทรงรับสั่งให้ทหารสร้างพระเครื่อง ว่ากันว่าเป็นจำนวนถึง 84,000 องค์ แล้วบรรจุในกรุวัดบ้านกร่าง[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดบ้านกร่าง". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
- ↑ "วัดบ้านกร่าง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-11. สืบค้นเมื่อ 2023-02-25.
- ↑ "วัดบ้านกร่าง". สำนักงานคณะสงฆ์ภาค ๑๔.
- ↑ "วัดบ้านกร่าง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).