ยางรัก
ยางรัก คือน้ำยางที่เก็บได้จากไม้ในสกุล Gluta และ Toxicodendron ซึ่งเป็นสกุลไม้ยืนต้น ในวงศ์มะม่วง (Anacardiaceae) โดยยางที่ได้นำมาใช้ประโยชน์เป็นสารเคลือบในการผลิตเครื่องลงรัก ใช้ประโยชน์งานวิจิตรศิลป์เป็นตัวยึดติดในการปิดประดับทองคำเปลว เงินเปลว ผงทอง ผงโลหะมีค่าต่าง ๆ เป็นต้น หรือใช้เป็นกาวธรรมชาติในการซ่อมแซมเครื่องใช้เซรามิคที่ชำรุด ซึ่งเป็นเทคนิคของญี่ปุ่นเรียกว่า คินสึกิ (ญี่ปุ่น: 金継ぎ; โรมาจิ: kintsugi; ทับศัพท์: คินสึกิ)[1]
ชนิดของยางรัก
[แก้]ยางรักโดยทั่วไปที่นำมาใช้ในการทำงานรักมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด ซึ่งได้มาจากพืชต่างชนิดพรรณกันคือ
ยางรักใหญ่
[แก้]ยางรัก ยางรักดำ ยางรักใหญ่ ยางรักพม่า เป็นยางไม้ที่ได้จากต้นรักใหญ่ หรือต้นฮักหลวง (คำเมือง) (Gluta usitata) เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์มะม่วง (Anacardiaceae) สามารถพบได้ในป่าผสมพลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา รวมถึงป่าเขาหินปูน พบที่ความสูง 300-1,000 เมตรจากระดับทะเล พันธุ์นี้กระจายอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชียตั้งแต่อินเดียถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบมากในป่าเต็งรังและป่าเต็งรังผสมสน โดยเฉพาะในทางภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย[2]
ขนาดไม้ที่เริ่มเจาะยางรักได้นั้น วัดโดยรอบลำต้นตั้งแต่ 80 ซม. ขึ้นไป ฤดูเจาะยางรักเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมไปจนถึงสิ้นปี ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไปต้นรักจะเริ่มผลัดใบ เป็นระยะออกดอกออกผล อันเป็นระยะพักของการเจาะยางรัก เนื่องจากเพราะหน้าแล้ง ปริมาณน้ำน้อย จึงทำให้ได้ยางรักน้อย ฤดูพักตั้งแต่ปลายมกราถึงเดือนพฤษภาคม คุณภาพของยางรักขึ้นอยู่กับฤดูที่่เก็บเกี่ยวโดยยางที่เก็บเกี่ยวในฤดูหนาวจะเป็นยางที่คุณภาพดีที่สุด
ยางรักที่ได้จากต้นรักใหญ่มีสารสำคัญคือ thisiol ซึ่งมาจากคำว่า thitsi (သစ်စေ) ซึ่งเป็นคำเรียกยางรักรวมถึงต้นรักชนิดนี้ในภาษาพม่า ยางรักชนิดนี้เมื่อแรกเจาะจะมีสีเทาขุ่น เมื่อถูกอากาศจะกลายเป็นสีดำ มีความเป็นเงา[3]
ยางรักใหญ่แบ่งคุณภาพได้เป็น 3 ชั้น ซึ่งเป็นวิธีการจัดคุณภาพยางรักแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเป็นการแบ่งตามช่วงระยะเวลาที่เก็บเกี่ยว
- ฮักนาย - เป็นยางรักชั้นหนึ่งที่ได้จากการเก็บเกี่ยวในฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม มีลักษณะข้นเหนียว สะอาดกว่ายางรักที่เก็บได้ในฤดูอื่น จึงจัดเป็นยางรักที่มีคุณภาพดีมาก
- ฮักแซว - เป็นยางรักชั้นสองที่ได้จากการเก็บเกี่ยวในฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม น้ำยางมีปริมาณมาก มีลักษณะใสกว่าเพราะมักมีการปนเปื้อนกับน้ำฝน และมีเศษผงเศษฝุ่นจากเปลือกไม้ปะปนลงในยางรักด้วย
- ฮักเฮื้อ - เป็นยางรักชั้น 3 ที่ได้จากการเก็บเกี่ยวในฤดูปลายหนาวต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นหน้าแล้ง กรีดน้ำยางได้น้อย น้ำยางไหลช้า มักแห้งกรังติดรอบเจาะ จึงต้องขูดออก การขูดมักทำให้ผิวไม้และเปลือกไม้หลุดปนออกมากับยางด้วย ทำให้สกปรกมาก[3]
ยางรักจีน
[แก้]ยางรักจีน หรือ ยางรักญี่ปุ่น เป็นยางไม้ที่ได้จากต้นรักจีน (Toxicodendron vernicifluum) มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน และอนุทวีปอินเดีย ปลูกในภูมิภาคต่าง ๆ ของจีน ญี่ปุ่น และ เกาหลี[4] ลำต้นสูงได้ 20 เมตร มีใบขนาดใหญ่ แต่ละใบมีใบย่อยตั้งแต่ 7 ถึง 19 ใบ (ส่วนใหญ่มักจะเป็น 11–13 ใบ) ในญี่ปุ่นมีการปลูกมากทางแถบตะวันออกเฉียงเหนือกับทางเหนือและใต้ของประเทศญี่ปุ่น ในแง่คุณสมบัติแล้วยางรักจีนหรือยางรักญี่ปุ่นมีคุณภาพบริสุทธิ์เหนือกว่ายางรักชนิดอื่น ๆ[3]
ยางรักที่ได้จากต้นรักจีนมีสารสำคัญคือ urushiol ซึ่งมาจากคำว่า อุรุชิ (ญี่ปุ่น: 漆; โรมาจิ: urushi; ทับศัพท์: อุรุชิ) ซึ่งเป็นคำเรียกยางรักจีนและต้นรักจีนในภาษาญี่ปุ่น
ยางรักจีนหรือยางรักญี่ปุ่นแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะซึ่งแยกตามลักษณะการใช้งานคือ
- ยางรักดิบ - คือยางรักที่ได้จากการเก็บเกี่ยวผ่านขึ้นตอนการทำให้สะอาดปราศจากเศษฝุ่นผงอย่างเดียว ลักษณะน้ำยางเป็นสีน้ำตาลขุ่นคล้ายสีชานม
- ยางรักใส - คือยางรักที่ได้จากการนำยางรักดิบไปผ่านกระบวนการไล่ความชื้นออกจากน้ำยาง ส่งผลให้ลักษณะน้ำยางมีความใสโปร่งแสงขึ้นเป็นสีน้ำตาลอมแดง แบ่งย่อยเป็น 2 ประเภทคือ
- ยางรักใสผสมน้ำมัน - ผสมน้ำมันแห้ง (Drying oil) ลงในเนื้อยางรักเพื่อให้ยางรักเป็นเงามันมากขึ้นเมื่อแข็งตัว
- ยางรักใสไม่ผสมน้ำมัน
- ยางรักดำ - คือยางรักดิบที่ผ่านกระบวนการไล่ความชื้นเช่นเดียวกับยางรักใส แต่ในระหว่างขั้นตอนมีการเติมสารประกอบธาตุเหล็กเช่น เฟอร์รัส ซัลไฟด์ (ferrous sulfide)[5] หรือ ไอรอน ไฮดรอกไซด์ (iron hydroxide)[6]ลงไปทำให้น้ำยางรักที่ได้เป็นสีดำ[7]
- ยางรักสี - เกิดจากนำยางรักใสมาผสมกับรงควัตถุต่าง ๆ ให้เกิดเป็นยางรักสีขึ้นเช่น ยางรักสีแดง เกิดจากการนำผงชาดแดงมาผสมกับยางรักใสเป็นต้น[8]
ยางรักเวียดนาม
[แก้]ยางรักเวียดนาม เป็นยางไม้ที่ได้จากต้นรักเวียดนาม หรือ แกนมอ (Toxicodendron succedaneum) อยู่ในสกุลเดียวกันกับรักญี่ปุ่น ต้นรักอายุ 5-6 ปีจะมีความสูงประมาณ 5 เมตร การเก็บยางรักในประเทศเวียดนาม เริ่มทำได้ตั้งแต่รักอายุประมาณ 2 ปี 4 เดือน จนกระทั่งต้นรักอายุได้ 6-7 ปี การเก็บยางรักทำได้ตลอดปี ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง แต่การกรีดยางมักไม่นิยมทำกันในฤดูฝน
ยางรักที่ได้จากต้นรักเวียดนามมีสารสำคัญคือ laccol อยู่ในจำพวกเดียวกับ urushiol ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของรักญี่ปุ่น แต่เมื่อเทียบกันแล้วคุณภาพต่ำกว่ารักญี่ปุ่นเล็กน้อย รักที่เก็บได้มักมีเปลือกไม้และของอื่นเจือปนอยู่ด้วย[3]
ขั้นตอนการผลิต
[แก้]เก็บเกี่ยว
[แก้]การเก็บเกี่ยวยางรักทำได้โดยวิธีกรีดเจาะยางรักจากต้นรัก โดยมีวิธีกรีด 4 วิธีคือ
1. การกรีดแบบท้องถิ่น
[แก้]การกรีดแบบท้องถิ่น (ภาคเหนือ) เป็นวิธีที่นิยมใช้กันเป็นประจำในการเก็บเกี่ยวยางรักในภาคเหนือของไทย วิธีการคือเปิดปากแผลเป็นรูปตัววี (V) โดยแซะเปลือกให้เป็นร่องจนถึงกระพี้ ใช้กระบอกไม้ไผ่ตอกตอดกับต้องรักรองรับน้ำยางตรงจุดปลายแหลมของแผลรูปตัววี ให้น้ำยางไหลลงกระบอก ท้งไว้ 10 วัน จึงกลับมาเก็บน้ำยางรัก เมื่อเก็บแล้วทำการเปิดแผลให้กว้างขึ้นทางสูง ทิ้งไว้ 10 วันจึงกลับมาเก็บยางรัก แล้วเปิดปากแปลให้กว้างขึ้นไปข้างบนอี ทิ้งไว้อีก 10 วันจึงไปเก็บยางรัก ถ้าเห็นว่าต้นรักยังคงให้น้ำยางดีอยู่ให้เปิดแผลให้กว้างเต็มเนื้อที่ภายในรูปตัววี ทิ้งไว้ 10 วันจึงไปเก็บยางรักครั้งสุดท้าย รวมเวลาทั้งหมด 40 วัน
2. การกรีดแบบญี่ปุ่น
[แก้]เตรียมแผลโดยการค่อย ๆ เปิดเปลือกเพียงผิวไม่ให้ลึกเพื่อให้น้ำยางรักมาคั่งอยู่บริเวณรอบ ๆ แปล แต่ละแผลห่างกันประมาณ 4-5 ซม ให้เป็นระเบียบแล้วเปิดแผลรูปขีดขวางกับลำต้นยาวประมาณ 5-8 ซม กรีดซ้ำอีกครั้งแล้วทิ้งไว้ 4-5 วันจึงกลับมาใช้พายขูดน้ำยางที่ค้างอยู่ที่แผลที่เจาะไว้ นำไปใส่ภาชนะ พร้อมกับกรีดแผลใหม่เหนือแผลเดิมประมาณ 1-2 ซม แล้วเก็บน้ำยางรักพร้อมกับกรีดแผลใหม่แล้วทิ้งไว้ 4-5 วันทำเช่นนี้เรื่อยไปจนครบ 3 แผล รวมระยะเวลาการเจาะยางรักแบบญี่ปุ่นทั้งหมด 12 - 15 วัน การเจาะยางรักทำตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนจนถึงปลายเดือนตุลาคม
3. การกรีดแบบเวียดนาม
[แก้]เตรียมแผลปบบเดียวกับวิธีเจาะยางรักแบบญี่ปุ่น เพื่อให้ยางรักมาคั่งบริเวณแผลก่อน แล้วใช้เครื่องมือกรีดเป็นรูปตัววี รองรับน้อยยางด้วยกระบอกไม้ไผ่ทิ้งไว้ 5 วัน จึงกลับมาเก็บยางรักพร้อมกับเปิดแผลใหม่ให้เป็นรูปตัววี สูงขึ้นไปอีก 3 ซม. ทำเรื่อยไปจนครบ 3 แผล รวมระยะเวลาเจาะยางรักแบบเวียดนามทั้งหมด 15 วัน
4. การกรีดแบบผสม
[แก้]เตรียมแผลโดยแซะผิวให้เป็นรูปขีดขวางลำต้นลึกถึงกระพี้ เพื่อให้น้ำยางมาคั่งอยู่รอบ ๆ บริเวณแผลแล้วเปิดเปลือกเป็นรูปตัววี เหนือรอยขีดขวาง ใช้กระบอกไม้ไผ่รองรับ 5 วันจึงไปเก็บยางรัก พร้อมทั้งกรีดแผลเป็นรูปตัววใหม่เหนือแผลเดิมขึ้นไปประมาณ 3-4 ซม. หลังจากนั้น 5 วันก็ไปเก็ยน้ำยางรักพร้อมทั้งเจาะแผลรูปตัววีใหม่ แต่ต้องกรีดตรงกลางที่ระยะระหว่างปลายแปลมของรูปตัววีให้ติดต่อกันเพื่อเป็นทางไหลของน้ำรัก รวมเวลาทำการเจาะเก็บยางรักแบบผสมทั้งหมด 15 วัน[3]
การปรับปรุงคุณภาพ
[แก้]ในแต่ละวัฒนธรรมการใช้ยางรักก็มีวิธีการปรับปรุงคุณภาพยางรักก่อนนำไปใช้งานที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ก็มีวิธีการหลัก ๆ ร่วมกันอยู่ 2 วิธีการคือ การทำให้ตกตะกอนและการกรองแยกสิ่งสกปรก
การทำให้ตกตะกอน
[แก้]- ในวิถีท้องถิ่นไทยในการปรับปรุงคุณภาพยางรักด้วยการตกตะกอนนั้นจะทำกับน้ำยางชั้นสองและชั้นสามคือ ฮักแซว และ ฮักเฮื้อ โดยในส่วนยางรักชั้นสอง (ฮักแซว) ซึ่งมีน้ำฝนเจือปนอยู่มากเมื่อเก็บมาแล้วจะเทรวมกันแล้วใช้ไม้คน น้ำฝนที่ผสมมากับยางรักก็จะแยกตัวลงไปข้างล่าง และนำพาเอาของสกปรกต่าง ๆ ติดลงไปด้วย เพราะยางรักมีน้ำมันอยู่มากจึงลอยอยู่เหนือน้ำ ในส่วนของยางรักชั้นสาม (ฮักเฮื้อ) จะใช้วิธีเติมน้ำเข้าไปแล้วใช้ไม้คนให้น้ำพาเอาฝุ่นละอองต่าง ๆ ตกตะกอนลงไปอยู่ในน้ำ[9]
- ในส่วนของรักจีนหรือรักญี่ปุ่นมีวิธีการทำให้ตกตะกอนต่างออกไป โดยกรรมวิธีของการรักญี่ปุ่นจะนำยางรักที่เพิ่งได้มาจากการเก็บเกี่ยวผสมกับใยฝ้ายแล้วนำไปเข้าเครื่องเหวี่ยงตกตะกอน (Centrifuge)
การกรองแยกสิ่งสกปรก
[แก้]การกรองเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ปรับปรุงคุณภาพยางรัก โดยการกรองเอาเศษสิ่งสกปรกต่างที่เจือปนในยางรักออกโดยใช้ตะแกรงหรือผ้าในการกรอง ในการทำยางรักใหญ่นั้นชาวบ้านจะนำยางรักมากรองโดยการไล่ระดับเป็นชั้น ๆ เริ่มจากหยาบไปจนถึงละเอียด โดยการใช่ตาข่ายไนลอนและผ้าตาถี่เพื่อให้ได้น้ำยางรักที่สะอาดที่สุดในขั้นตอนสุดท้าย[10] ซึ่งยางรักที่ได้จากการกรองในชั้นนี้ใช้สำหรับทารองพื้น หลังจากนั้นจึงนำยางรักที่กรองในชั้นนี้ไปกรองต่อด้วยกระดาษสาอีกประมาณ 3 ครั้งเพื่อที่จะได้ยางรักที่ใช้สำหรับลงเงาขั้นสุดท้าย[11] ส่วนการกรองของยางรักจีนหรือรักญี่ปุ่นนั้นจะกรองโดยเยื่อกระดาษกรองเฉพาะที่มีความละเอียดสูง ทำให้น้ำยางรักที่ได้ในขั้นตอนสุดท้ายนั้นมีความสะอาดมากที่สุดก่อนนำไปใช้ โดยจะทำการกรองใหม่ทุกครั้งก่อนใช้
เทคนิคเฉพาะการทำยางรักญี่ปุ่น
[แก้]การทำยางรักใสและยางรักดำด้วยเทคนิคเฉพาะของญี่ปุ่นประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอนหลักคือ
- นายาชิ(なやし)- คือขั้นตอนการคนหรือกวนยางรักดิบ เพื่อให้น้ำยางรักเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งความเร็วและระยะเวลาในการกวนส่งผลต่อความเงาและการแห้งของยางรัก สามารถปรับตามความต้องการได้
- คูโรเมะ(くろめ)- คือขั้นตอนการไล่ความชื้นออกจากน้ำยางโดยการใช้ความร้อน ซึ่งระยะเวลาที่ให้ความร้อนส่งผลต่อความข้นและการแห้งของยางรัก[12] ซึ่งสามารถปรับตามความต้องการได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 วิธีย่อยคือ
- เท็มบิงูโรเมะ(天日ぐろめ)- เป็นขั้นตอนการกวนความชื้นกลางแสงแดด โดยการนำยางรักใส่ถาดกลมขนาดใหญ่ตั้งกลางแสงแดดแล้วใช้ไม้พายคนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ระดับที่ต้องการซึ่งใช้ระยะเวลานาน[13]
- คิไกงูโรเมะ (機会ぐろめ)- เป็นขั้นตอนการไล่ความชื้นด้วยเครื่องจักรทันสมัย โดยมีเป็นถังกวนที่ให้ความร้อนกับน้ำยางและมีไม้พายคนอยู่ตลอดเวลา ควบคุมด้วยไฟฟ้า[14]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Mugi Urushi". Kintsugi Oxford (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-14. สืบค้นเมื่อ 14 March 2023.
- ↑ ลักษวุธ, พิศุทธิ์; มังกิตะ, วรรณา; พงษ์การัณยภาส, กฤษดา; อาษานอก, แหลมไทย (2022). "ลักษณะสังคมพืชและศักยภาพถิ่นที่ขึ้นของรักใหญ่ (Gluta usitata (Wall.) Ding Hou) ในป่าเต็งรัง บริเวณโครงการอนุรักษ์ต้นรักและการพฒันาภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์จากยางรักอันเนื่องมาจากพระราชดาริจังหวัดเชียงใหม่" (PDF). วารสารวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้เมืองไทย. 6 (1): 63–81.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 พรหมโชติกุล, มนตรี. "ยางรัก และ เครื่องเขิน" (PDF). สำนักวิจัยและพัฒนาป่าไม้. สืบค้นเมื่อ 14 March 2023.
- ↑ "Toxicodendron vernicifluum". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA). สืบค้นเมื่อ 10 December 2013.
- ↑ "Types of urushi". Tamenuri Studio. 4 October 2022. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
- ↑ "Lacquer types". UrushiLAB (ภาษาอิตาลี). สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
- ↑ "Types of urushi". Tamenuri Studio. 4 October 2022. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
- ↑ "Types of urushi". Tamenuri Studio. 4 October 2022. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
- ↑ Charoenwong, Kaenmanee. A study of Thai Lacquer Resin: Augmenting Local Wisdon with a Sustainable Development. p. 30.
- ↑ "AP MAK OMKOI". AP MAK OMKOI. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
- ↑ Charoenwong, Kaenmanee. A study of Thai Lacquer Resin: Augmenting Local Wisdon with a Sustainable Development. p. 32.
- ↑ "INTRODUCING URUSHI LACQUER MAKING". Urushi Tsutsumi. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
- ↑ "Urushi – everything you always wanted to know (but didn't know whom to ask)". INKED HAPPINESS. 21 October 2019. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.
- ↑ "漆の濾過・精製(なやし・くろめ)について - Urushi Art Hariya" (ภาษาญี่ปุ่น). 24 November 2021. สืบค้นเมื่อ 15 March 2023.