มุขนายกเกียรตินาม
มุขนายกเกียรตินาม (อังกฤษ: Titular bishop) หรือทับศัพท์ว่าทิทิวลาร์บิชอป ชาวไทยคาทอลิกเรียกว่าพระสังฆราชเกียรตินาม[1] คือบาทหลวงที่ได้รับแต่งตั้งจากพระสันตะปาปาให้เป็นมุขนายก แต่ไม่มีมุขมณฑลปกครองเพราะมุขมณฑลที่ได้รับดูแลนั้นไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน[2] การตั้งให้เป็นมุขนายกจึงเป็นการดำรงตำแหน่งไว้เป็นเกียรติในการทำงาน นอกจากนี้มุขนายกเกียรตินามยังใช้หมายถึงมุขนายกอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มุขนายกประจำมุขมณฑลด้วย[3]
ความเป็นมา
[แก้]ในอดีตมีหลายเมืองรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ประชาชนนับถือคริสต์ศาสนาโดยมีมุขนายกเป็นผู้นำทางศาสนา ต่อมาอาณาจักรอิสลามได้ขยายตัวเข้ามายึดครองพื้นที่เหล่านั้น ทำให้บรรดามุขนายกถูกขับออกจากมุขมณฑลของตน หลายท่านย้าย��ปช่วยงานมุขนายกประจำมุขมณฑลอื่นโดยหวังว่าวันข้างหน้าอาจจะได้กลับไปประจำที่มุขมณฑลเดิมของตน แม้มุขนายกเหล่านั้นจะไม่มีมุขมณฑลในความรับผิดชอบแล้ว แต่ก็ยังดำรงตำแหน่งมุขนายกอยู่จนตลอดชีวิต สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 10 จึงรักษานามมุขมณฑลต่าง ๆ ไว้ โดยการแต่งตั้งมุขนายกประจำมุขมณฑลนั้นสืบต่อมา (แม้ว่าตัวมุขมณฑลนั้นจะไม่มีอยู่แล้วก็ตาม)[4]
บาทหลวงที่ถือว่าเป็นมุขนายกเกียรตินามมีดังต่อไปนี้[4]
- บาทหลวงที่ดำรงตำแหน่งประมุขมิสซัง (apostolic vicar)
- บาทหลวงที่ดำรงตำแหน่งมุขนายกผู้ช่วย (auxiliary bishop)
- บาทหลวงที่ดำรงตำแหน่งมุขนายกรอง (coadjutor bishop)
- เอกอัครสมณทูต (nuncio) คือเอกอัครราชทูตของสันตะสำนักที่ถูกส่งไปประจำยังประเทศต่าง ๆ
- บาทหลวงที่มีตำแหน่งการบริหารในสันตะสำนักซึ่งเป็นองค์การบริหารส่วนกลางของคริสตจักรคาทอลิก
มุขนายกเกียรตินามในประเทศไทย
[แก้]ในช่วงที่คริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยยังอยู่ในยุคมิสซัง มีประมุขมิสซังสยามหลายท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นมุขนายกเกียรตินาม เช่น มุขนายก ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว เป็นมุขนายกเกียรตินามแห่งมาลลอส (Mallos)[5] ในช่วงแรกนั้นชาวคาทอลิกในไทยยังมีน้อย ประมุขมิสซังซึ่งเป็นมุขนายกเกียรตินามทั้งหมดจึงเป็นมิชชันนารีชาวตะวันตก ต่อมาจึงเริ่มมีการแต่งตั้งบาทหลวงชาวไทยขึ้นเป็นประมุขมิสซังและรับตำแหน่งมุขนายกเกียรตินาม โดยมีมุขนายก แจง เกิดสว่าง เป็นมุขนายกเกียรตินามคนแรกที่เป็นคนไทย มุขนายกเกียรตินามชาวไทยทั้งหมด มีลำดับดังนี้
ลำดับ | รายนาม | ประมุขมิสซัง | มุขนายกเกียรตินาม | ได้รับแต่งตั้ง |
---|---|---|---|---|
1 | มุขนายก ยาโกเบ แจง เกิดสว่าง | จันทบุรี | Barcusus | 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1944 |
2 | มุขนายก ฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี | จันทบุรี | Oenoanda Urci |
8 มกราคม ค.ศ. 1953 3 เมษายน ค.ศ. 1970 |
3 | มุขนายก มีคาแอล มงคล ประคองจิต | ท่าแร่-หนองแสง | Blaundus | 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 |
4 | มุขนายก มีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ | ท่าแร่-หนองแสง | Octaba | 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1959 |
5 | มุขนายก ยอแซฟ ยวง นิตโย | กรุงเทพฯ | Obba | 3 กันยายน ค.ศ. 1963 |
เมื่อมิสซังต่าง ๆ ในประเทศไทยถูกยกสถานะขึ้นเป็นมุขมณฑลแล้ว ก็ไม่มีบาทหลวงไทยคนใดได้รับตำแหน่งมุขนายกเกียรตินามอีก
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ บัญญัติศัพท์, สำนักมิสซังกรุงเทพฯ, หน้า 7
- ↑ Auxiliary Bishop. Catholic Encyclopedia. เรียกข้อมูลวันที่ 24 ก.พ. พ.ศ. 2554.
- ↑ ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร บรรพ ๒ ประชากรของพระเจ้า, กรุงเทพฯ: แผนกคำสอน เขตมิสซังกรุงเทพฯ, 2543, หน้า 100
- ↑ 4.0 4.1 สุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์, บาทหลวง, 50 คำถามเกี่ยวกับศาสนาคริสต์คาทอลิก", กรุงเทพฯ: แผนกคริสตศาสนธรรม เขตมิสซัง, 2551, หน้า 125-8
- ↑ มุขนายก ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว เก็บถาวร 2009-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. หอจดหมายเหตุ เขตมิสซังกรุงเทพฯ. เรียกข้อมูลวันที่ 24 ก.พ. พ.ศ. 2554.